รายงานตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ประจำปี 2562

ข่าวการเมือง Tuesday January 12, 2021 19:59 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ รายงานตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ประจำปี 2562 และให้เสนอรัฐสภาทราบต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง
พม. เสนอว่า โดยที่พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550มาตรา 17 บัญญัติให้ พม. จัดทำรายงานประจำปีแสดงจำนวนคดีการกระทำความรุนแรงในครอบครัว จำนวนคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ และจำนวนการละเมิดคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ของพนักงานเจ้าหน้าที่และศาลและจำนวนการยอมความ และรายงานต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาเพื่อทราบ ปีละครั้ง ดังนั้น เพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติดังกล่าว พม. จึงได้จัดทำรายงานตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำฯ ประจำปี 2562 ประกอบด้วยเนื้อหา 3 ส่วน ดังนี้
1. ส่วนที่ 1 ข้อมูลสถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ปี 2562 ที่รวบรวมจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 1) ศูนย์พึ่งได้ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 2) สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร 3) สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร 4) ศูนย์พึ่งได้ โรงพยาบาลตำรวจ 5) ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 6) บ้านพักเด็กและครอบครัวกรมกิจการเด็กและเยาวชน 7) สมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประทศไทยฯ 8) มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล 9) ศูนย์บริการปรึกษา สภาสังคมสงเคระห์แห่งประทศไทย 10) สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีในพระอุปถัมภ์ฯ 11) มูลนิธิปวีณา หงสกุลเพื่อเด็กและสตรี (องค์กรสาธารณประโยชน์) 12) มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก 13) มูลนิธิศุภนิมิตรแห่งประเทศไทย 14) มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว 15) โรงพยาบาลรามาธิบดี 16) กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทั้งนี้ ข้อมูลที่ พม. ใช้อ้างอิงในการดำเนินงานมาจาก 2 หน่วยงาน ได้แก่

1. กระทรวงสาธารณสุข

ผู้ถูกกระทำความรุนแรง เข้ารับบริการที่ศูนย์พึ่งได้ในโรงพยาบาล จำนวน 512 แห่ง หรือจำนวน 15,797 ราย ในจำนวนนี้ ผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงมากที่สุดเป็นเพศหญิง จำนวน 14,523 ราย รองลงมาเป็นเพศชาย จำนวน 1,265 ราย และเพศทางเลือก จำนวน 9 ราย โดยมีค่าเฉลี่ยผู้ถูกกระทำความรุนแรง จำนวน 43 รายต่อวัน

2. กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว พม.

  • ตามระบบฐานข้อมูลความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ภายใต้เว็บไซต์ www.violence.in.th แสดงจำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวที่เข้าสู่กระบวนการตามพระราชบัญญัติฯ โดยจำแนกตามความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ ช่วงอายุ ประเภท สาเหตุ และสถานที่ เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวที่บันทึกในปี 2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,532 เหตุการณ์
2. ส่วนที่ 2 ข้อมูลความรุนแรงในครอบครัวตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ได้แก่ จำนวนคดีความรุนแรงในครอบครัว จำนวนคำสั่งกำหนด มาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ จำนวนการละเมิดคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ของพนักงานเจ้าหน้าที่และศาลและจำนวนการยอมความ โดยป็นข้อมูลที่รวบรวมจากหน่วยงานและแหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ได้แก่

ข้อมูลความรุนแรงในครอบครัวตามมาตรา 17

1. หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้อง 3 หน่วยงาน

  • สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีจำนวนคดีการกระทำความรุนแรงในครอบครัว 52 คดี ร้องทุกข์ 51 คดี ไม่ร้องทุกข์ 1 คดี คำสั่งกำหนดมาตรการ ฯ 8 คำสั่ง มีการละเมิดคำสั่งกำหนดมาตรการ/วิธีการบรรเทาทุกข์ 2 คำสั่ง และการยอมความชั้นสอบสวน 9 คำสั่ง
  • สำนักงานอัยการสูงสุดมีจำนวนคดีสั่งฟ้อง 145 เรื่อง ไม่ฟ้อง 13 เรื่อง ยุติคดี (ยอมความ) 16 เรื่อง และใช้มาตรการ 16 เรื่อง
  • สำนักงานศาลยุติธรรมมีคดีฟ้องต่อศาล 52 คดี โดยศาลยุติธรรมมีคำสั่งกำหนดมาตรการ ฯ 1 คำสั่ง และยอมความในชั้นพิจารณาคดี 4 เรื่อง

2. การให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว

ในปี 2562 มีการช่วยเหลือ จำนวน 1,739 ความช่วยเหลือ โดยมีการจัดให้ได้รับการเข้ารักษาจากแพทย์ 250 ราย

การจัดให้ได้รับคำปรึกษาแนะนำจากจิตแพทย์ นักจิตวิทยานักสังคมสงเคราะห์ จำนวน 502 ราย การจัดให้ร้องทุกข์และดำเนินคดี 227 ราย การระงับเหตุและสอบถามผู้กระทำ/ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว จำนวน 495 ราย และการให้ความช่วยเหลือด้านอื่น ๆ จำนวน 265 ราย

3. ส่วนที่ 3 บทวิเคราะห์สถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว และข้อเสนอแนะเชิงมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและต่อการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ในปี 2563 สำหรับข้อเสนอแนะเชิงมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ได้แก่ การส่งเสริมสหวิชาชีพและเครือข่าย ด้านครอบครัวไทยปลอดความรุนแรง การเสริมสร้างเครือข่ายในระดับพื้นที่ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว การสนับสนุนกระบวนการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 การสร้างทัศนคติความรู้ความเข้าใจต่อประชาชนเพื่อยุติความรุนแรงต่อ เด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว และการผลิตสื่อเพื่อเผยแพร่และเอกสารวิชาการ

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 12 มกราคม 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ