มาตรการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจในระยะเร่งด่วน (เดือนมกราคม ถึงเดือนมีนาคม 2564) จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในระลอกใหม่

ข่าวการเมือง Tuesday January 12, 2021 20:29 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอดังนี้

1. รับทราบการดำเนินมาตรการบรรเทาผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ดำเนินการอยู่ และมอบหมายให้กระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ที่ดำเนินการอยู่ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

2. เห็นชอบในหลักการของมาตรการบรรเทาผลกระทบของประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจในระยะเร่งด่วน (เดือนมกราคมถึงมีนาคม 2564) จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในระลอกใหม่ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง
ข้อเสนอมาตรการบรรเทาผลกระทบของประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจในระยะเร่งด่วน (เดือนมกราคมถึงมีนาคม 2564) จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในระลอกใหม่
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ ช่วงปลายเดือนธันวาคม 2563 ยังคงขยายขอบเขตอย่างรวดเร็วและครอบคลุมเป็นวงกว้างในหลายพื้นที่ของประเทศ ส่งผลให้มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโดยเฉพาะในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด 28 จังหวัด ตามที่ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 16 ลงวันที่ 3 มกราคม 2564 และฉบับที่ 17 ลงวันที่ 4 มกราคม 2564 ตามลำดับ ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ดังนั้น สำนักงานฯ ได้ประสานกับกระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันพิจารณามาตรการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจในระยะเร่งด่วน (เดือนมกราคมถึงมีนาคม 2564) จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในระลอกใหม่เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในเบื้องต้น รวมทั้งป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ รวมไปถึงการใช้ชีวิตของประชาชนที่ได้รับผลกระทบเพื่อช่วยให้เศรษฐกิจไทยในภาพรวมสามารถขับเคลื่อนได้ในระยะต่อไป โดยสรุปได้ดังนี้
1. มาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน (ไฟฟ้า น้ำประปา และอินเทอร์เน็ต) สำหรับประชาชนทั่วไป

1.1 ค่าไฟฟ้า เสนอให้สิทธิค่าไฟฟ้าสำหรับบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) โดยมอบหมายหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทยดำเนินการ ดังนี้

1.1.1 ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้สิทธิใช้ไฟฟ้าฟรี 90 หน่วยแรก

1.1.2 ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้ส่วนลดค่าไฟฟ้า ดังนี้

(1) กรณีหน่วยการใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าหรือเท่ากับใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนธันวาคม 2563 ให้คิดค่าไฟฟ้าตามหน่วยการใช้ไฟฟ้าจริง

(2) กรณีหน่วยการใช้ไฟฟ้ามากกว่าใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนธันวาคม 2563 ให้คิดค่าไฟฟ้าตามหน่วยการใช้ ดังนี้ (2.1) สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วย การใช้ไฟฟ้าของใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนธันวาคม 2563 (2.2) สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ามากกว่า 500 หน่วยต่อเดือน แต่ไม่เกิน 1,000 หน่วยต่อเดือน ให้คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยการใช้ไฟฟ้าของใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนธันวาคม 2563 บวกด้วยหน่วยการใช้ไฟฟ้าที่มากกว่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนธันวาคม 2563 ในอัตราร้อยละ 50 และ (2.3) สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ามากกว่า 1,000 หน่วย ให้คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยการใช้ไฟฟ้าของใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนธันวาคม 2563 บวกด้วยหน่วยการใช้ไฟฟ้าที่มากกว่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าของใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนธันวาคม 62563 ในอัตรา ร้อยละ 70 โดยให้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าก่อนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม

1.1.3 ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) ให้สิทธิใช้ไฟฟ้าฟรี 50 หน่วยแรก

ทั้งนี้ มาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านค่าไฟฟ้าสำหรับบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก กำหนดให้ดำเนินการเป็นระยะเวลา 2 เตือน สำหรับใบแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้าประจำเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2564

1.2 ค่าน้ำประปา เสนอให้ลดค่าน้ำประปาลงร้อยละ 10 เฉพาะบ้านที่อยู่อาศัย และกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) เป็นระยะเวลา 2 เดือน สำหรับใบแจ้งหนี้ค่าน้ำประปาประจำเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2564 โดยมอบหมายหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทยดำเนินการต่อไป

1.3 ค่าอินเทอร์เน็ต มอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ประสานขอความร่วมมือกับผู้ให้บริการเครือข่ายระบบโทรคมนาคมในการพิจารณากำหนดมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายอินเทอร์เน็ตของครัวเรือน รวมทั้งดูแลระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตให้มีเสถียรภาพสูงสุดเพื่อรองรับการใช้งานได้อย่างเต็มที่ 2. มาตรการจัดหาอุปกรณ์ป้องกันโรคโควิด - 19 อาทิ หน้ากากอนามัย หน้ากากผ้า เจลแอลกอฮอล์ ชุดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล เป็นต้น โดยมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ ประสานกระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งจัดหาอุปกรณ์ป้องกันโรคโควิด - 19 ให้เพียงพอและครอบคลุมทั่วถึงโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อจำนวนมากและในกลุ่มผู้มีกำลังซื้อน้อย 3. มาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการที่ใช้โรงงานของตนเองเป็นสถานที่ในการกักตัวแรงงานในพื้นที่โรงงาน (Factory quanrantine) โดยมอบหมายให้กระทรวงแรงงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทยโดย ผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร ชลบุรี ระยองจันทบุรี และตราด ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการยินดีให้ความร่วมมือในการใช้พื้นที่โรงงานของตนเองเป็นสถานที่กักตัวแรงงาน หรือผู้ปฏิบัติงานในโรงงานเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 ภายในโรงงานและป้องกันการปนเปื้อนในกระบวนการผลิต 4. มาตรการปรับปรุงเงื่อนไขของโครงการเราเที่ยวด้วยกัน มอบหมายให้การท่องเที่ยว แห่งประเทศไทยดำเนินการให้ผู้ใช้สิทธิ์ในโครงการเราเที่ยวด้วยกันที่ได้มีการจองที่พักในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 สามารถเลื่อนการเดินทางออกไปได้จนถึงเดือนเมษายน 2564 โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และมอบหมายให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยพิจารณาแนวทางในการขยายระยะเวลาของโครงการที่เหมาะสม และปรับปรุงโครงการให้มีความรัดกุม เพื่อให้โครงการเราเที่ยวด้วยกันสามารถเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาสแรกของปี 2564 5. มาตรการช่วยเหลือด้านสภาพคล่องและลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ โดยมอบหมายให้กระทรวงการคลังประสานธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อพิจารณาเตรียมมาตรการช่วยเหลือด้านสภาพคล่องและลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์เพิ่มเติมเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบอย่างเหมาะสม 6. มาตรการส่งเสริมการจ้างงานและรักษาระดับการจ้างงาน โดยมอบหมายให้กระทรวงแรงงานติดตามและเร่งรัดการดำเนินโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐและเอกชน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพโดยเร็ว รวมทั้งพิจารณาปรับปรุงเงื่อนไขต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดและผลกระทบที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและในระยะต่อไป อาทิ พิจารณาขยายกลุ่มเป้าหมายจากเดิมที่จำกัดเฉพาะเด็กจบใหม่ ให้ครอบคลุมกลุ่มแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 เพื่อส่งเสริมการรักษาระดับการจ้างงานของผู้ประกอบการโดยเฉพาะในธุรกิจ SMEs นอกจากนี้ มอบหมายให้กระทรวงแรงงานประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณามาตรการดูแลแรงงานที่อยู่นอกระบบประกันสังคม ควบคู่ไปกับมาตรการส่งเสริมให้แรงงานกลุ่มดังกล่าวเข้าเป็นสมาชิกของกองทุนประกันสังคมภาคสมัครใจให้มากขึ้น รวมทั้งพิจารณามาตรการช่วยเหลือผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ในกรณีส่งเงินสมทบไม่ครบ 6 ใน 15 เดือน และผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และมาตรา 40 ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดด้วยเช่นกัน

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 12 มกราคม 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ