มาตรการด้านการเงินเพื่อดูแลและเยียวยาผลกระทบจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

ข่าวการเมือง Tuesday January 12, 2021 20:34 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงการคลังเสนอมาตรการด้านการเงินเพื่อดูแลและเยียวยาผลกระทบจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ดังนี้

สาระสำคัญ
กระทรวงการคลังได้ดำเนินมาตรการด้านการเงินเพื่อดูแลและเยียวยาผลกระทบจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ประกอบด้วยมาตรการเสริมสภาพคล่อง (สินเชื่อและค้ำประกันสินเชื่อ) และมาตรการบรรเทาภาระหนี้สิน (พักชำระหนี้) โดยมีมาตรการที่สำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. มาตรการเสริมสภาพคล่อง (สินเชื่อและค้ำประกันสินเชื่อ)

เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ให้มีสภาพคล่องสำหรับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและการดำเนินธุรกิจ กระทรวงการคลังร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสถาบันการเงินเฉพาะกิจได้ดำเนินมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำและมาตรการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการและประชาชน โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1.1 มาตรการเสริมสภาพคล่องสำหรับผู้ประกอบการ

1) พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก. Soft Loan ธปท.) วงเงินโครงการ 500,000 ล้านบาท ณ วันที่ 4 มกราคม 2564 มีวงเงินคงเหลือประมาณ 370,000 ล้านบาท โดย ธปท. สนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำให้แก่สถาบันการเงินในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี และสถาบันการเงินให้สินเชื่อใหม่แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SMEs) ซึ่งรวมถึงบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (MAI) ที่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินแต่ละแห่งไม่เกิน 500 ล้านบาท ในอัตราไม่เกินร้อยละ 20 ของยอดสินเชื่อคงค้างของลูกหนี้ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562 คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 18 เมษายน 2564

2) ธนาคารออมสิน ได้ดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับผู้ประกอบการ ดังนี้

2.1) โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) สำหรับผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง (Soft Loan ท่องเที่ยว) วงเงินโครงการ 10,000 ล้านบาท ณ วันที่ 4 มกราคม 2564 มีวงเงินคงเหลือประมาณ 7,600 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำให้สถาบันการเงินในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี และสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 100 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี ระยะเวลา 2 ปี รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564

2.2) โครงการสินเชื่อฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย วงเงินโครงการ 5,000 ล้านบาท ณ วันที่ 4 มกราคม 2564 มีวงเงินคงเหลือประมาณ 4,200 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ขนาดเล็ก และผู้ประกอบการรายย่อยในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและ Supply Chain เช่น ร้านอาหาร ธุรกิจสปา นวดแผนไทย รถรับจ้างนำเที่ยว เกสต์เฮ้าส์ โฮสเทล เป็นต้น วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 500,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.99 ต่อปี ระยะเวลากู้ 5 ปี ปลอดชำระเงินต้น 1 ปี รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564

2.3) โครงการสินเชื่อออมสิน SMEs มีที่ มีเงิน วงเงินโครงการ 10,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ SMEs โดยใช้หลักประกันสินเชื่อเป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และไม่ต้องผ่านการตรวจเครดิตบูโร วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกินร้อยละ 70 ของราคาประเมินที่ดินของทางราชการสูงสุดไม่เกิน 50 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5.99 ต่อปี ระยะเวลากู้ 3 ปี รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564

3) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ได้ดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) หรือสินเชื่อ Extra Cash วงเงินโครงการ 10,000 ล้านบาท ณ วันที่ 4 มกราคม 2564 มีวงเงินคงเหลือประมาณ 5,900 ล้านบาท โดย ธพว. ให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ SMEs ขนาดย่อมในธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 3 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี สำหรับ 2 ปีแรก ระยะเวลาการกู้ยืมสูงสุดไม่เกิน 5 ปี รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564

4) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ได้ดำเนินโครงการ ค้ำประกันสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อย ดังนี้

4.1) โครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ไทยสู้ภัยโควิด วงเงินโครงการ 5,000 ล้านบาท (ภายใต้โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 9 วงเงิน 150,000 ล้านบาท) โดย บสย. ค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เพิ่มระดับการจ่ายค่าประกันชดเชยตลอดอายุโครงการเป็นร้อยละ 35 (จากเดิมอยู่ที่ร้อยละ 30) วงเงิน ค้ำประกันสินเชื่อสูงสุด 20 ล้านบาทต่อราย ค่าธรรมเนียมการค้ำประกันร้อยละ 1.5 ต่อปี โดยรัฐบาลรับ ภาระค่าธรรมเนียมแทนผู้ประกอบการ SMEs ในระยะเวลา 2 ปีแรก ระยะเวลาค้ำประกัน 10 ปี รับคำขอค้ำประกันสินเชื่อถึงวันที่ 31 มกราคม 2564

4.2) โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro ไทยสู้ภัยโควิด วงเงินโครงการ 5,000 ล้านบาท (ภายใต้โครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ Micro Entrepreneurs ระยะที่ 4 วงเงิน 25,000 ล้านบาท) โดย บสย. ค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เพิ่มระดับการจ่ายค่าประกันชดเชยตลอดอายุโครงการเป็นร้อยละ 40 (จากเดิมอยู่ที่ร้อยละ 35) วงเงินค้ำประกันสินเชื่อสูงสุด 100,000 บาทต่อราย คิดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันในปีที่ 1-3 อัตราร้อยละ 1 ต่อปี และในปีที่ 4-10 อัตราร้อยละ 1.5 ต่อปี โดยรัฐบาลรับภาระค่าธรรมเนียมแทนผู้ประกอบการรายย่อยในระยะเวลา 3 ปีแรก ระยะเวลาค้ำประกัน 10 ปี รับคำขอค้ำประกันสินเชื่อถึงวันที่ 31 มกราคม 2564

4.3) โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS Soft Loan พลัส วงเงินโครงการ 57,000 ล้านบาท ณ วันที่ 4 มกราคม 2564 มีวงเงินคงเหลือประมาณ 54,000 ล้านบาท โดย บสย. ค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีคุณสมบัติตาม พ.ร.ก. Soft Loan ธปท. และ Soft Loan ท่องเที่ยวของธนาคารออมสิน ค่าธรรมเนียมค้ำประกันร้อยละ 1.75 ต่อปี ระยะเวลาค้ำประกัน 8 ปี โดย บสย. จะเริ่ม ค้ำประกันและเก็บค่าธรรมเนียมในต้นปีที่ 3 นับจากวันที่ผู้ประกอบการ SMEs แต่ละรายได้รับสินเชื่อตามโครงการรับคำขอค้ำประกันสินเชื่อตามระยะเวลารับคำขอสินเชื่อของแต่ละโครงการ

1.2 มาตรการเสริมสภาพคล่องสำหรับประชาชน

1) ธนาคารออมสิน ได้ดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับประชาชน ดังนี้

1.1) โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) หรือสินเชื่อฉุกเฉิน วงเงินโครงการ 20,000 ล้านบาท ณ วันที่ 4 มกราคม 2564 มีวงเงินคงเหลือประมาณ 2,600 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบอาชีพอิสระ วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 10,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat Rate) ร้อยละ 0.10 ต่อเดือน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 2 ปี 6 เดือน ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน โดยกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรีขยายเวลารับคำขอสินเชื่อออกไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564

1.2) โครงการสินเชื่อเสริมพลังฐานราก วงเงินโครงการ 10,000 ล้านบาท ณ วันที่ 4 มกราคม 2564 มีวงเงินคงเหลือประมาณ 7,300 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อครอบคลุมถึงผู้ประกอบการรายย่อย ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ผู้มีรายได้ประจำ รวมถึงบุคคลในครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ภัยทางเศรษฐกิจ และภัยทางธรรมชาติ วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat Rate) ร้อยละ 0.35 ต่อเดือน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน โดยกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรีปรับเพิ่มวงเงินอีกประมาณ 3,000 ล้านบาท และขยายเวลารับคำขอสินเชื่อออกไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564

2) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับประชาชน ดังนี้

2.1) โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) หรือสินเชื่อฉุกเฉิน วงเงินโครงการ 20,000 ล้านบาท ณ วันที่ 4 มกราคม 2564 มีวงเงินคงเหลือประมาณ 11,000 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้แก่เกษตรกรรายย่อย วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 10,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat Rate) ร้อยละ 0.10 ต่อเดือน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 2 ปี 6 เดือน ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน โดยกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรีขยายเวลารับคำขอสินเชื่อออกไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564

2.2) โครงการสินเชื่อพอเพียงเพื่อเลี้ยงชีพ (Sufficient Loan : SL) วงเงินโครงการ 10,000 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้เกษตรกรลูกค้าหรือทายาทเกษตรกร หรือบุคคลในครัวเรือนเกษตรกร หรือบุคคลทั่วไปที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ให้สามารถประกอบอาชีพเพื่อยังชีพ สร้างรายได้จุนเจือตนเองและครอบครัววงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ต่อปีใน 3 เดือนแรก ตั้งแต่เดือนที่ 4 เป็นต้นไปคิดอัตราดอกเบี้ยลูกค้า รายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate : MRR) (ปัจจุบัน MRR ของ ธ.ก.ส. อยู่ที่ร้อยละ 6.5 ต่อปี) สิ้นสุดการจ่ายเงินกู้วันที่ 30 มิถุนายน 2564

2.3) โครงการสินเชื่อ New Gen Hug บ้านเกิด วงเงินโครงการ 60,000 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้คนรุ่นใหม่ที่ต้องการกลับไปประกอบอาชีพในภูมิลำเนาบ้านเกิดให้ได้มีแหล่งเงินทุนในการประกอบอาชีพหรือธุรกิจใหม่ รวมทั้งสร้างงานสร้างอาชีพที่มีลักษณะเป็นการพัฒนาหรือ ต่อยอดไปสู่ธุรกิจชุมชน วงเงินสินเชื่อสูงสุดต่อรายเป็นไปตามความจำเป็นหรือแผนงานโครงการกรณีเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ต่อปีในเดือนที่ 1-3 ตั้งแต่เดือนที่ 4 เป็นต้นไป คิดอัตราดอกเบี้ย MRR และกรณีเพื่อเป็นค่าลงทุนคิดอัตราดอกเบี้ยปีที่ 1-3 ร้อยละ 4 ต่อปี ตั้งแต่ปีที่ 4 เป็นต้นไป คิดอัตราดอกเบี้ย MRR สิ้นสุดการจ่ายเงินกู้วันที่ 30 มิถุนายน 2564

2.4) โครงการสินเชื่อระยะสั้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Jump Start Credit) วงเงิน 100,000 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียนในการประกอบอาชีพและสามารถกลับมาทำการผลิตได้ตามปกติ เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้นำไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี ในเดือนที่ 1-12 ตั้งแต่เดือนที่ 13 เป็นต้นไปคิดอัตราดอกเบี้ยปกติตามชั้นลูกค้า สิ้นสุดการจ่ายเงินกู้วันที่ 30 มิถุนายน 2564 2. มาตรการบรรเทาภาระหนี้สิน (พักชำระหนี้)

สถาบันการเงินเฉพาะกิจแต่ละแห่งได้มีการจัดกลุ่มลูกหนี้ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ (1) กลุ่มสีเขียว คือกลุ่มที่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ปกติ (2) กลุ่มสีเหลือง คือกลุ่มที่กลับมาชำระหนี้ได้บางส่วนไม่เต็มจำนวนที่ต้องจ่าย และ (3) กลุ่มสีแดง คือกลุ่มที่มีปัญหาไม่สามารถชำระหนี้ได้ โดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจจะมีการพิจารณามาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้แต่ละรายเพิ่มเติมเป็นการเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นการขยายเวลาการชำระหนี้ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และการให้สินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง รวมถึงมีการติดต่อลูกค้าเพื่อช่วยเหลือในเชิงรุก สำหรับลูกค้าที่อยู่ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดตามประกาศของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) โดยมีรายละเอียด ดังนี้

2.1 มาตรการบรรเทาภาระหนี้สินสำหรับผู้ประกอบการ

1) ธพว. ได้ดำเนินการพักชำระหนี้เงินต้นครั้งละ 6 เดือน และสามารถขยายได้สูงสุดไม่เกินเดือนธันวาคม 2564 สำหรับกลุ่มลูกค้าปกติ ในส่วนของกลุ่มลูกค้าที่ยังมีการค้างชำระหรือความสามารถชำระหนี้ลดลงจะมีการประเมินสถานการณ์ วิเคราะห์ เพื่อกำหนดแนวทางการให้ความช่วยเหลือตามความสามารถในการดำเนินธุรกิจและการชำระหนี้เป็นการเฉพาะราย เช่น ปรับลดค่างวดผ่อนชำระ ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ เป็นต้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความจำเป็นและความเหมาะสมของแต่ละกิจการ

2) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) โดย ธสน. มีการสนับสนุนผู้ประกอบการตามความต้องการของผู้ประกอบการแต่ละราย เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยมีแนวทางการให้ความช่วยเหลือ ได้แก่ (1) ส่งเสริมผู้ประกอบการที่ยังสามารถชำระหนี้ได้ทั้งหมด โดยให้วงเงินเพิ่มเติมเพื่อเสริมสภาพคล่อง (2) ผ่อนปรนให้ผู้ประกอบการที่สามารถชำระเงินต้นและดอกเบี้ยได้บางส่วน โดยขยายระยะเวลาการชำระหนี้ออกไประยะหนึ่งและให้สินเชื่อเสริมสภาพคล่องเพิ่มเติม (3) ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบมากออกไปไม่เกิน 2 ปี และ (4) ประคับประคองผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบรุนแรงโดยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามสภาพธุรกิจ โดยมีระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564

3) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs โดยการชะลอการชำระหนี้สินเชื่อสำหรับบัญชีสินเชื่อที่ได้รับการพักชำระหนี้ตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ก. Soft Loan ธปท. โดยมีแนวทาง ได้แก่ (1) สินเชื่อที่มีกำหนดระยะเวลา พักชำระเงินต้นโดยให้ชำระเฉพาะกำไรเป็นระยะเวลา 6-12 เดือน หรือพักชำระเงินต้นและกำไรเป็นระยะเวลา 6 เดือน (2) สินเชื่อตั๋วสัญญาใช้ เงิน พักชำระกำไรค้างรับจนถึงวันที่ตั๋วสัญญาใช้เงินครบกำหนดหรือวันที่ปิดตั๋วสัญญาใช้เงิน และ (3) วงเงินเบิกถอนเงินสด พักชำระกำไรค้างรับเฉพาะส่วนเกินที่เกินวงเงิน ณ วันที่ปรับปรุงบัญชีสินเชื่อ ทั้งนี้ ธอท. จะพิจารณาให้ความช่วยเหลือลูกหนี้เป็นรายกรณีและมีระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือถึงเดือนมิถุนายน 2564

4) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ผู้ประกอบการ SMEs ประเภทสินเชื่อแฟลตโดยมีแนวทาง ได้แก่ (1) ลดภาระการผ่อนชำระเป็นเวลา 6 เดือน โดยให้ลูกหนี้สามารถพิจารณาเลือกแผนในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่เหมาะสมกับตนเอง สำหรับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้รายได้ลดลงและไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามสัญญาเดิม และ (2) พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยต่อไปอีกไม่เกิน 6 เดือนนับจากสิ้นปี 2563 สำหรับลูกหนี้ที่โครงการไม่มีรายได้จากอาคารแฟลตให้เช่าอันเนื่องมาจากกิจการของลูกหนี้ยังไม่สามารถดำเนินการได้ตามปกติหรือธนาคารยังไม่สามารถประเมินกระแสเงินสดของลูกหนี้ได้ โดยสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการภายในวันที่ 31 มีนาคม 2564

2.2 มาตรการบรรเทาภาระหนี้สินสำหรับประชาชน

1) ธนาคารออมสิน ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ในพื้นที่จังหวัดที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดที่ต้องมีมาตรการเข้มงวด รวม 28 จังหวัด ตามคำสั่งของ ศบค. โดยจะพิจารณาให้ลูกหนี้สามารถขอพักชำระเงินต้น โดยจ่ายเฉพาะดอกเบี้ย หรือขอลดการจ่ายดอกเบี้ยบางส่วนได้ แล้วแต่กรณี ขึ้นอยู่กับความหนักเบาของผลกระทบที่ได้รับ เป็นระยะเวลา 3 - 6 เดือน

2) ธ.ก.ส. ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ ดังนี้

2.1) โครงการพักชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) โดยการพักชำระต้นเงินและดอกเบี้ยที่ถึงกำหนดชำระตั้งแต่งวดเดือนเมษายน 2563 ถึงงวดเดือนมีนาคม 2564 ระยะเวลา 1 ปี

2.2) โครงการชำระดีมีคืน สำหรับหนี้เงินกู้จัดชั้นปกติ โดยการโอนคืนดอกเบี้ยเงินกู้เข้าบัญชีเงินฝากให้แก่ (1) ลูกค้าเกษตรกรและบุคคลในอัตราร้อยละ 20 ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง รายละไม่เกิน 5,000 บาท และ (2) ลูกค้ากลุ่มบุคคล กลุ่มเกษตร สหกรณ์ นิติบุคคล กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองในอัตราร้อยละ 10 ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง รายละไม่เกิน 50,000 บาท

2.3) โครงการลดภาระหนี้สำหรับลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loans: NPLs) หรือมีดอกเบี้ยค้างชำระเกิน 15 เดือน โดยการนำดอกเบี้ยที่คืนให้มาตัดชำระต้นเงินให้แก่ (1) ลูกค้าเกษตรกรและบุคคลในอัตราร้อยละ 20 ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง และ (2) ลูกค้ากลุ่มบุคคล กลุ่มเกษตร สหกรณ์ นิติบุคคล กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ในอัตราร้อยละ 10 ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง

3) ธอส. ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือประชาชน ดังนี้

3.1) ขยายระยะเวลาการพักชำระเงินต้นเป็นเวลา 3 เดือน และให้จ่ายเฉพาะดอกเบี้ยรายเดือน ที่สิ้นสุดระยะเวลาการได้รับความช่วยเหลือจาก ธอส. ในระยะที่ 1 โดยมีระยะเวลาการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการสิ้นสุดในวันที่ 29 มกราคม 2564 และสิ้นสุดระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือวันที่ 30 เมษายน 2564

3.2) พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าที่อยู่ระหว่างการใช้โครงการ ธอส. ช่วยคนไทย ร่วมสร้างชาติ เป็นรายกรณี โดยมีระยะเวลาการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการสิ้นสุดในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564 และสิ้นสุดระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือวันที่ 31 กรกฎาคม 2564

3.3) ลดเงินงวดผ่อนชำระในปัจจุบันให้แก่ (1) ลูกหนี้ที่มีสถานะชั้นปกติ (2) ลูกหนี้ NPLs และ (3) ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เป็นครั้งแรก เป็นจำนวนร้อยละ 25 ร้อยละ 50 หรือร้อยละ 75 ของเงินงวดผ่อนชำระในปัจจุบัน โดยประชาชนสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้ผ่านแอพพลิเคชัน GHB ALL ของ ธอส.

4) ธอท. ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยโดยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดยการปรับลดอัตรากำไรและขยายระยะเวลาการชำระหนี้สำหรับสินเชื่ออเนกประสงค์แบบไม่มีหลักประกันที่มีภาระหนี้คงเหลือไม่เกินส่วนต่างมูลค่าหลักประกันของสินเชื่อที่อยู่อาศัย ทั้งนี้ ธอท. คิดอัตรากำไรประเภทลูกค้ารายย่อยชั้นดีตามประกาศของธนาคาร และ/หรือ ให้ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ออกไปอีกไม่เกิน 5 ปีจากสัญญาเดิมและไม่เกินระยะเวลาคงเหลือตามสัญญาสินเชื่อที่อยู่อาศัยของลูกหนี้

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะประสาน ธปท. เพื่อให้มีการดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนในส่วนของธนาคารพาณิชย์ในลักษณะเช่นเดียวกันกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจต่อไป

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 12 มกราคม 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ