ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….

ข่าวการเมือง Tuesday January 19, 2021 18:26 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและรับทราบดังนี้

1. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ?. ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามความในร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเสนอ

ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ?. เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 โดยกำหนดเพิ่มเติมการคุ้มครองผู้เสียหายให้ครอบคลุมทุกความผิดมูลฐาน รวมทั้งกำหนดการคุ้มครองสิทธิผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่พนักงานอัยการร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดิน ตลอดจนกำหนดกระบวนการดำเนินการบังคับคดีกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดซึ่งถูกรวมเข้ากับทรัพย์สินอื่น

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. กำหนดให้ยกเลิกความในวรรคหกของมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปราม การฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2558 เพื่อให้การขอคืนหรือชดใช้คืนทรัพย์สินให้แก่ผู้เสียหายครอบคลุมทุกความผิดมูลฐาน (เดิม ไม่มีบทบัญญัติที่คุ้มครองผู้เสียหายในความผิดมูลฐาน ซึ่งได้รับความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ เสรีภาพ อนามัย หรือชื่อเสียง ไว้อย่างชัดเจน)

2. กำหนดให้เลขาธิการขอให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไปคืนหรือชดใช้คืนให้แก่ผู้เสียหาย โดยให้ยื่นก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน และเมื่อศาลมีคำสั่งให้คืนหรือชดใช้ทรัพย์สินให้แก่ผู้เสียหายแล้ว ให้สำนักงาน ปปง. ดำเนินการให้เป็นไป ตามคำสั่งศาลโดยเร็ว และกำหนดให้ผู้เสียหายในความผิดมูลฐานที่ได้รับความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ เสรีภาพ อนามัย หรือชื่อเสียง ได้รับการชดใช้ค่าเสียหายด้วย

3. กำหนดให้ผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่พนักงานอัยการร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดินอาจยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิของตนก่อนศาลมีคำสั่ง โดยแสดงให้ศาลเห็นว่าตนเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน หรือได้มาซึ่งส่วนได้เสียโดยสุจริตและตามสมควรในทางศีลธรรมอันดี หรือในทางกุศลสาธารณะ

4. กำหนดกระบวนการดำเนินการบังคับคดีกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดซึ่งถูกรวมเข้ากับทรัพย์สินอื่น โดยให้ศาลมีอำนาจสั่งให้สำนักงาน ปปง. นำทรัพย์สินที่รวมเข้ากันนั้นออกขายทอดตลาดและให้นำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินตามมูลค่าทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 มกราคม 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ