โครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Loan) ภายใต้มาตรการพิเศษเพื่อขับเคลื่อน SMEs สู่ยุค 4.0 (มาตรการด้านการเงิน)

ข่าวการเมือง Tuesday January 19, 2021 18:38 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอดังนี้

1. ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2563 ที่ได้เคยมีมติเห็นชอบกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของโครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Loan) โดยเห็นชอบกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ดังนี้

จากเดิม

(1) ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลในกลุ่มเป้าหมาย ดังนี้

  • SMEs ที่ดำเนินธุรกิจเกษตรแปรรูป (Food/Non-food)
  • SMEs ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว หรือธุรกิจท่องเที่ยวชุมชน หรือธุรกิจเกี่ยวเนื่องการท่องเที่ยว หรือธุรกิจที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Village : CIV)
  • SMEs ผู้ประกอบการใหม่ หรือมีนวัตกรรม หรือธุรกิจผลิต หรือบริการอื่น ๆ หรือธุรกิจค้าส่ง ค้าปลีก

(2) เป็นผู้ประกอบการ SMEs ที่ไม่เคยได้รับการอนุมัติและใช้วงเงินสินเชื่อโครงการที่ มติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ดำเนินการ ดังนี้ (1) โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Policy Loan) และ (2) โครงการสินเชื่อ SMEs Transformation Loan

(3) เป็นการให้สินเชื่อใหม่ ทั้งลูกค้าเดิมหรือลูกค้าใหม่ และไม่ใช่ลูกหนี้ที่โอนหนี้ (Re-Finance) มาจากสถาบันการเงินอื่น

(4) เป็นผู้ประกอบการ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อรวมทุกสถาบันการเงินต่อราย (ไม่รวมกิจการในกลุ่ม) สินเชื่อไม่เกิน 50 ล้านบาท ณ วันยื่นคำขอกู้

เป็น

(1) ผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นบุคคลธรรมดา และนิติบุคคลในกลุ่มเป้าหมาย ดังนี้

  • SMEs ที่ดำเนินธุรกิจเกษตรแปรรูป (Food/Non-food)
  • SMEs ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว หรือธุรกิจท่องเที่ยวชุมชน หรือธุรกิจเกี่ยวเนื่องการท่องเที่ยว หรือธุรกิจที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (CIV)
  • SMEs ผู้ประกอบการใหม่ หรือมีนวัตกรรม หรือธุรกิจผลิต หรือบริการอื่น ๆ หรือ ธุรกิจค้าส่ง ค้าปลีก

(2) เป็นการให้สินเชื่อใหม่ ทั้งลูกค้าเดิมหรือลูกค้าใหม่ และไม่ใช่ลูกหนี้ที่โอนหนี้ (Re-Finance) มาจากสถาบันการเงินอื่น

ทั้งนี้ รายละเอียดและเงื่อนไขอื่น ๆ ของโครงการคงเดิม

2. เห็นชอบการขยายระยะเวลาโครงการโดยให้มีผลการรับคำขอกู้ ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2563 และสิ้นสุดวันรับคำขอกู้ภายในวันที่ 18 ธันวาคม 2564 หรือจนกว่าจะหมดวงเงินสินเชื่อรวมของโครงการ แล้วแต่ระยะเวลาใดจะถึงก่อน

สาระสำคัญของเรื่อง

อก. รายงานว่า

1. อก. ได้บูรณาการกับ ธพว. และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Loan) ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2563 โดยมีรายละเอียดโครงการฯ ดังนี้

วัตถุประสงค์

เพื่อช่วยเหลือ ส่งเสริม และพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ขนาดเล็ก เพื่อสร้างและกระจายรายได้สู่ผู้ประกอบการในชุมชนอย่างทั่วถึง รวมทั้งเป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวชุมชน ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว และเกษตรแปรรูป (Food/Non-food) ซึ่งเป็นการยกระดับเศรษฐกิจชุมชนตามนโยบาย Local Economy ของรัฐบาล

วงเงินสินเชื่อรวม 50,000 ล้านบาท

วงเงินสินเชื่อต่อราย

วงเงินสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อราย (แบ่งเป็นบุคคลธรรมดา วงเงินสูงสุดไม่เกิน 2 ล้านบาท และบุคคลธรรมดาที่มีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและนิติบุคคล วงเงินสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาท)

กลุ่มเป้าหมาย

1. ผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลในกลุ่มเป้าหมาย ดังนี้

1.1 SMEs ที่ดำเนินธุรกิจเกษตรแปรรูป (Food/Non-food)

1.2 SMEs ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว หรือธุรกิจท่องเที่ยวชุมชนหรือธุรกิจเกี่ยวเนื่องการท่องเที่ยว หรือธุรกิจที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (CIV)

1.3 SMEs ผู้ประกอบการใหม่ หรือมีนวัตกรรม หรือธุรกิจผลิตหรือบริการอื่นๆ หรือธุรกิจค้าส่ง ค้าปลีก

2. เป็นผู้ประกอบการ SMEs ที่ไม่เคยได้รับการอนุมัติและใช้วงเงินสินเชื่อโครงการ ที่มติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ ธพว. ดำเนินการ ได้แก่ โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Policy Loan) และโครงการสินเชื่อ SMEs Transformation Loan

3. เป็นการให้สินเชื่อใหม่ ทั้งลูกค้าเดิมหรือลูกค้าใหม่ และไม่ใช่ลูกหนี้ที่โอนหนี้(Re-Finance) มาจากสถาบันการเงินอื่น

4. เป็นผู้ประกอบการ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อรวมทุกสถาบันการเงินต่อราย (ไม่รวมกิจการในกลุ่ม) ไม่เกิน 50 ล้านบาท ณ วันยื่นคำขอกู้

ระยะเวลาการกู้ยืม ระยะเวลาการกู้ยืมสูงสุดไม่เกิน 7 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 1 ปี

ระยะเวลาดำเนินโครงการ

สิ้นสุดรับคำขอกู้ภายในวันที่ 18 ธันวาคม 2563 หรือจนกว่าจะหมดวงเงินสินเชื่อ รวมของโครงการ แล้วแต่ระยะเวลาใดจะถึงก่อน

อัตราดอกเบี้ย

คิดอัตราดอกเบี้ยจากผู้กู้แตกต่างกัน เพื่อเป็นมาตรการจูงใจให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าสู่ระบบนิติบุคคลปรับตัวเข้าสู่ระบบบัญชีเดียว ดังนี้

(1) กรณีผู้กู้เป็นบุคคลธรรมดาปีที่ 1 - 3 คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ MLR-1.875 ต่อปี (ปัจจุบัน MLR = 6.875) ปีที่ 4 ? 7 ให้เป็นไปตามอัตราดอกเบี้ยที่ ธพว. กำหนด

(2) กรณีผู้กู้เป็นนิติบุคคล ปีที่ 1 - 3 คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ MLR ? 3.875 ต่อปี (ปัจจุบัน MLR = 6.875) ปีที่ 4 - 7 ให้เป็นไปตามอัตราดอกเบี้ยที่ ธพว. กำหนดการคิดอัตราดอกเบี้ยระหว่างบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลมีความแตกต่างกันเนื่องจากบุคคลธรรมดามีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านสินเชื่อ (Credit Risk Cost) สูงกว่านิติบุคคลถึงร้อยละ 2.27 ประกอบกับต้นทุนทางการเงินของ ธพว. มีแนวโน้มสูงขึ้น

การขอรับงบประมาณชดเชยจากรัฐบาล

1. รัฐบาลชดเชยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยให้แก่ ธพว. ในอัตราร้อยละ 2 ต่อปี ใน 3 ปีแรก รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 3,000 ล้านบาท (วงเงิน 50,000 ล้านบาท X อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 2 ต่อปี X ระยะเวลา 3 ปี)

2. ธพว. สามารถนำส่วนต่างระหว่างค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เกิดขึ้นจริง และค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่ได้รับชดเชย เพื่อบวกกลับในการคำนวณโบนัสประจำปีของพนักงานได้ และเป็นส่วนหนึ่งในการปรับตัวชี้วัดทางการเงินที่เกี่ยวข้องตามบันทึกข้อตกลงประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจได้

3. ให้ ธพว. แยกบัญชีการดำเนินงานตามโครงการนี้ออกจากการดำเนินงานปกติ (Public Account Service : PSA)

ผลเชิงเศรษฐกิจที่คาดว่าจะได้รับ

ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงิน 50,000 ล้านบาท โดยช่วยให้ SMEsเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ประมาณ 15,000 ราย (วงเงินเฉลี่ยต่อราย 3.33 ล้านบาท)

รักษาการจ้างงานได้ไม่น้อยกว่า 75,000 คน (อัตราการจ้างเฉลี่ยต่อราย 5 คน)และ สร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ได้ประมาณ 229,000 ล้านบาท (ปัจจุบัน อก. ยังไม่ได้มีการประเมินผลสำเร็จว่าเป็นไปตามเป้าหมายเพียงใด)

2. ผลการดำเนินโครงการฯ ณ วันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 มียอดอนุมัติสินเชื่อแล้ว จำนวน 24,606 ราย วงเงินจำนวน 40,440.86 ล้านบาท (เป้าหมาย 50,000 ล้านบาท) และมียอดเบิกจ่าย จำนวน 24,353 ราย วงเงินจำนวน 40,087.22 ล้านบาท โดยมีปัญหาและอุปสรรคจากการดำเนินงาน ดังนี้

2.1 เนื่องจากผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มเป้าหมายได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจซึ่งเป็นอุปสรรคในการช่วยเหลือ ทำให้ผู้ประกอบการ SMEs ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้

2.2 ในช่วงดำเนินโครงการ กลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่ไม่มีหลักประกัน จึงใช้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกัน แต่ บสย. มีวงเงินไม่เพียงพอในการค้ำประกัน ทำให้ผู้ประกอบการกลุ่มเป้าหมายไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ จึงเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ SMEs เนื่องจากมีหลักเกณฑ์กำหนดให้กลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งจะต้องไม่ได้รับการอนุมัติและใช้วงเงินสินเชื่อโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Policy Loan) และโครงการสินเชื่อ SMEs Transformation Loan รวมทั้งต้องมีวงเงินสินเชื่อรวมทุกสถาบันการเงินต่อราย (ไม่รวมกิจการในกลุ่ม) ไม่เกิน 50 ล้านบาท ณ วันยื่นคำขอกู้ ทำให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่ขัดกับหลักเกณฑ์ดังกล่าวไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ และกลุ่มเป้าหมายเดิมไม่สามารถ ยื่นขอกู้ได้

3. โดยที่โครงการฯ ยังมีวงเงินคงเหลือ 9,500 ล้านบาท ซึ่งสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ประมาณ 5,760 ราย (วงเงินเฉลี่ยต่อราย1.65 ล้านบาท) รักษาการจ้างงานได้ไม่น้อยกว่า 28,800 คน (อัตราการจ้างเฉลี่ยต่อราย 5 คน) และสร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ประมาณ 43,510 ล้านบาท ทั้งนี้ โครงการฯ จะสิ้นสุดระยะเวลาการดำเนินโครงการในวันที่ 18 ธันวาคม 2563 แต่ยังมีวงเงินโครงการคงเหลืออยู่ และยังมีความจำเป็นต่อผู้ประกอบการ SMEs ดังนั้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น อก. (ธพว.) จึงขอขยายระยะเวลาโครงการต่อไปอีก 1 ปี (ให้มีผลการรับคำขอกู้ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2563 และสิ้นสุดวันรับคำขอกู้ภายในวันที่ 18 ธันวาคม 2564) และขอปรับปรุงหลักเกณฑ์กลุ่มเป้าหมาย โดยตัดหลักเกณฑ์ (ซึ่งเป็นปัญหาอุปสรรคในการดำเนินโครงการตามข้อ 2.1 และ 2.2) ที่กำหนดให้กลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ประกอบการ SMEs จะต้องไม่ได้รับการอนุมัติและใช้วงเงินสินเชื่อโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Policy Loan) และโครงการสินเชื่อ SMEs Transformation Loan และต้องมีวงเงินสินเชื่อรวม ทุกสถาบันการเงินต่อราย (ไม่รวมกิจการในกลุ่ม) ไม่เกิน 50 ล้านบาท ณ วันยื่นคำขอกู้

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 มกราคม 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ