รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน

ข่าวการเมือง Wednesday February 10, 2021 00:09 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

ศธ. รายงานว่า

1. เนื่องจากผู้ตรวจการแผ่นดินได้พิจารณาเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 54 บัญญัติให้รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย และรัฐต้องดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาตามวรรคหนึ่งเพื่อพัฒนาร่างกาย จิตใจอารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัย โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วย แต่การดำเนินงานด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัยของประเทศไทยในปัจจุบันยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้รัฐพยายามระดมทรัพยากรและการลงทุนเพื่อการพัฒนาเด็กเล็กอย่างต่อเนื่อง แต่พบว่ายังมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้การพัฒนาเด็กเล็กไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินและผู้ตรวจการแผ่นดินได้พิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายพร้อมทั้งปรึกษาหารือและเห็นชอบร่วมกัน มีความเห็นโดยสรุปว่า เพื่อให้การดำเนินการจัดการศึกษาของเด็กเล็กสอดคล้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงเสนอแนะต่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องให้ขจัดหรือระงับความเดือดร้อนของประชาชน และได้มีหนังสือกราบเรียนนายกรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบ และพิจารณารายงานของผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีที่หน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เรื่อง การจัดการศึกษาเด็กเล็ก

2. นายกรัฐมนตรีได้พิจารณาและมีบัญชามอบหมาย ศธ. นำความเห็นและข้อเสนอของผู้ตรวจการแผ่นดินไปพิจารณาดำเนินการเพื่อจัดทำประเด็นเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา ต่อมา ศธ. โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เป็นประธาน ได้นำเสนอเรื่องข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2563 ที่ประชุมมีมติรับทราบและมอบให้ฝ่ายเลขานุการฯ จัดทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเพื่อรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน

3. ศธ. ได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินใน 6 ประเด็น สรุปได้ ดังนี้

ประเด็นข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน

1) เสนอให้เร่งรัดติดตามการดำเนินการสรรหาแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ตามมาตรา 9 (3) แห่งพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562 เพื่อให้ได้ผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญมีความเหมาะสมเป็นที่ยอมรับมาปฏิบัติหน้าที่ และมีอำนาจในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย เพื่อจัดทำนโยบายระดับชาติด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัยและให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย

ความก้าวหน้าการดำเนินงานของ ศธ.

สกศ. ได้ดำเนินการสรรหาแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยแล้วเสร็จ ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 96/2563 เรื่อง แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ลงวันที่ 30 มีนาคม 2563 และได้มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยในปี 2563 จำนวน 3 ครั้ง

2) เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมุ่งเน้นให้เกิดการจัดทำแผนพัฒนาเด็กปฐมวัยที่มีประสิทธิภาพ และจัดทำฐานข้อมูลเด็กปฐมวัยโดยเร็ว โดยแผนการพัฒนาเด็กปฐมวัยต้องมีการกำหนดกรอบการบริหารจัดการตามแนวทางการพัฒนาเด็กปฐมวัย ติดตามผลในเรื่องที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สนับสนุนแผนงานและโครงการการพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างเป็นระบบ บูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานเพื่อขับเคลื่อนตามแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย ส่งเสริมและสนับสนุนหน่วยงานที่ดำเนินการด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย

ความก้าวหน้าการดำเนินงานของ ศธ.

ประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2563 และครั้งที่ 9/2563 เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2563 เห็นชอบในหลักการของ (ร่าง) แผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2563 - 2570 และมอบให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำ (ร่าง) แผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2563 - 2570 เสนอต่อคณะรัฐมนตรี ตามขั้นตอนการเสนอแผนระดับที่ 3 ต่อไป ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอเรื่องไปที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อพิจารณาตามลำดับ

3) เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงาน ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวถือเป็นมาตรฐานขั้นพื้นฐานของประเทศและเป็นมาตรฐานกลางของประเทศเพื่อให้ทุกหน่วยงาน และสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศใช้เป็นแนวทางในการประเมินผลการดำเนินงานและยกระดับคุณภาพ สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561 ? 2580 ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ที่มีเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญ เพื่อการพัฒนาคนในทุกมิติและทุกช่วงวัยให้เป็นคนดี เก่ง และมีคุณภาพ

ความก้าวหน้าการดำเนินงานของ ศธ.

ภายหลังคณะรัฐมนตรีมีมติ (2 มกราคม 2562) เห็นชอบ (ร่าง) มาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ สกศ. ได้แจ้งมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกกระทรวง รวมถึงจัดประชุมสร้างความรู้ความเข้าใจและจัดพิมพ์มาตรฐานฯ พร้อมคู่มือเผยแพร่ อย่างไรก็ตาม ยังมีบางหน่วยงานที่ยังไม่สามารถนำมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติไปใช้ได้ เนื่องจากข้อจำกัดบางประการ เช่น การพัฒนาบุคลากรครู/ผู้ดูแลเด็กเพื่อรองรับการดำเนินงานตามมาตรฐานฯ การดำเนินการตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง ให้ใช้มาตรฐานการศึกษาระดับปฐมวัย ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานศูนย์การศึกษาพิเศษ ฉบับลงวันที่ 6 สิงหาคม 2561 เป็นต้น ด้วยเหตุนี้การขับเคลื่อนการดำเนินงานจึงยังไม่สามารถทำได้ครบทุกสังกัด รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช) จึงได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานทำการปรับปรุงมาตรฐานการศึกษาระดับปฐมวัยของ ศธ. ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติเพื่อขับเคลื่อนการใช้มาตรฐานฯ ร่วมกันต่อไป

4) เสนอให้มีการกำหนดบทบาท อำนาจหน้าที่ของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กปฐมวัยและส่งเสริมการบูรณาการงานด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยเฉพาะการให้บริการและการจัดสวัสดิการในด้านต่าง ๆ เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน ควรกำหนดให้แต่ละหน่วยงานมีบทบาทอำนาจหน้าที่ที่ชัดเจนและกำหนดแผนปฏิบัติการทำงานร่วมกันระหว่าง 4 กระทรวงหลักที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย ได้แก่ ศธ. กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ควรให้มีการดำเนินการแบบบูรณาการในหน่วยงานเดียวกัน (One Stop Service)

ความก้าวหน้าการดำเนินงานของ ศธ.

หาก (ร่าง) แผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2563 ? 2570 ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี หน่วยงานที่มีบทบาทอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยเฉพาะกระทรวงหลักทั้ง 4 แห่ง (ศธ. มท. สธ. และ พม.) จะต้องจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อให้การดำเนินงานสอดคล้องและเป็นไปตามที่แผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2563 - 2570 กำหนด ซึ่ง สกศ. ในฐานะฝ่ายเลขานุการฯ จะเป็นหน่วยงานในการประสานงานและติดตามการดำเนินงานเป็นระยะ ๆ ต่อไป

5) เสนอให้ ศธ. ส่งเสริมและปลูกฝังให้ความสำคัญกับการผลิตครูและพัฒนาบุคลากรที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัย โดยมุ่งเน้นให้มีการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรที่มีการเสริมสร้างจิตวิญญาณของความเป็นครู โดยการพัฒนาและเสริมสร้างจริยธรรมครู ปลูกฝังให้ครูปฐมวัยสามารถอดทนทำงานหนักและเสียสละกำลัง เวลา และทุนทรัพย์ต่าง ๆ เพื่อช่วยทำประโยชน์ให้กับเด็กปฐมวัย เพื่อให้เติบโตเป็นบุคคลที่มีคุณภาพต่อสังคม และส่งเสริมให้วิชาชีพครูเป็นที่ยอมรับ ได้รับความชื่นชม เพื่อยกระดับวิชาชีพครูให้เป็นอาชีพที่ได้รับการยอมรับ มีเกียรติ และเป็นที่ไว้วางใจ

ความก้าวหน้าการดำเนินงานของ ศธ.

ศธ. มีนโยบายการส่งเสริมการผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพตรงตามความต้องการของประเทศ รวมทั้งมีเป้าหมายในการพัฒนาครูและผู้บริหารในระบบปัจจุบันให้มีความรู้ ทักษะ และชุดความคิดใหม่ในการจัดการศึกษา โดยคณะกรรมการขับเคลื่อนการผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ของ ศธ. ได้มีคำสั่ง ที่ คส 1/2563 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการศึกษารูปแบบ แนวทาง และวิธีการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ระดับการศึกษาปฐมวัย และการศึกษาพิเศษ เพื่อส่งเสริมการผลิตและพัฒนาครูโดยใช้กรอบการทำงานตามข้อมูล ความรู้และผลการวิจัยที่มีอยู่ในส่วนต่าง ๆ นำมาสู่แผนปฏิบัติการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ได้จัดทำ (ร่าง) รายละเอียดความรู้ สมรรถนะ และวิธีการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ระดับการศึกษาปฐมวัย การศึกษาพิเศษ ประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯ

6) เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเสริมการบูรณาการร่วมกันระหว่างองค์กรภาครัฐภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ตลอดจนพัฒนาการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างเป็นระบบ การพัฒนางานด้านเด็กปฐมวัยควรเป็นหน้าที่ร่วมกันของทุกภาคส่วนในสังคม โดยเฉพาะภาครัฐ ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันพัฒนาและส่งเสริมให้มีการพัฒนาและดูแลเด็กปฐมวัยอย่างถูกต้องตามมาตรฐาน และแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย ทุกภาคส่วนของสังคม ร่วมกันสร้างเสริมเจตคติและค่านิยมที่ดีในสังคมโดยมีมาตรการส่งเสริมการมีส่วนร่วม และความร่วมมือกับภาคเอกชน และชุมชน และการแลกเปลี่ยนเพื่อจัดการองค์ความรู้ระหว่างกัน

ความก้าวหน้าการดำเนินงานของ ศธ.

ตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562 ได้กำหนดให้มีคณะอนุกรรมการบูรณาการการพัฒนาเด็กปฐมวัย ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจในการจัดทำแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย กำหนดแนวทางบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย รวมทั้งการบูรณาการการจัดบริการในแต่ละช่วงรอยต่อของเด็กปฐมวัย จัดทำแผนงบประมาณและแผนการดำเนินงานประจำปีแบบบูรณาการของหน่วยงานของรัฐ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง กำหนดแนวทางการติดตามผลการดำเนินงาน รวมทั้งจัดทำมาตรฐานและแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย สมรรถนะและตัวชี้วัดการพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยอำนาจและหน้าที่ของคณะอนุกรรมการฯ มีความสอดคล้องตามข้อเสนอของผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งหากมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ เรียบร้อยแล้วก็สามารถดำเนินการตามข้อเสนอแนะได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น (ขณะนี้ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ เสร็จเรียบร้อยแล้ว)

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ