ขออนุมัติจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการจัดสรรที่ดินแปลงอพยพในโครงการเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์

ข่าวการเมือง Tuesday March 2, 2021 17:59 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ ดังนี้

1. อนุมัติในหลักการให้มีการจ่ายเงินชดเชยพิเศษแทนการจัดสรรที่ดินแปลงอพยพ (เงินชดเชย พิเศษฯ) ให้แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ตามผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงการจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการจัดสรรที่ดินแปลงอพยพในโครงการเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ (คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ) และคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงของผู้ร้องเรียนขอรับค่าชดเชยพิเศษแทนการจัดสรรที่ดินแปลงอพยพในโครงการเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จำนวน 118 ราย เป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 34.34 ล้านบาท

2. อนุมัติแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและกำกับดูแลการจ่ายเงินโดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรีเป็นประธานกรรมการ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักชลสิทธิ์เป็นกรรมการและเลขานุการ และกรรมการอื่นอีก 11 คน เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลการจ่ายเงินและจำนวนเงินค่าชดเชยพิเศษฯ โดยให้มีอำนาจหน้าที่พิจารณาและควบคุมการโอนจ่ายเงินชดเชยพิเศษฯ ให้ถูกต้องครบถ้วนตรงตามบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับเงินชดเชยพิเศษฯ ที่ผ่านการรับรองของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ

3. ในการจ่ายเงินเห็นสมควรให้จ่ายโดยวิธีโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร (จ่ายตรง) ตามบัญชีรายชื่อบุคคลผู้มีสิทธิหรือทายาทของบุคคลดังกล่าว

สำหรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเห็นสมควรให้ใช้จ่ายจากการปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 หรือโอนเงินจัดสรร หรือเปลี่ยนแปลงเงินจัดสรร ตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณ พ.ศ. 2562 แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ การจ่ายเงินจะต้องเป็นไปอย่างถูกต้อง โปร่งใส ไม่ซ้ำซ้อน โดยสอดคล้องกับข้อเท็จจริงและประโยชน์ที่ภาครัฐและประชาชนจะได้รับอย่างรอบคอบ ตามความเห็นของ สำนักงบประมาณ

สาระสำคัญของเรื่อง

กษ. รายงานว่า

1. เมื่อปี พ.ศ. 2547 กลุ่มราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี นำโดยนายฬมริณฆ์ สุดสวาทรัก ได้ร้องเรียนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ปฏิบัติตามบัญชาของนายกรัฐมนตรีที่ให้ติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงการจ่ายเงินชดเชย พิเศษฯ ซึ่งมีการทุจริตในการดำเนินงานและเลือกปฏิบัติของเจ้าหน้าที่หลายฝ่าย เป็นเหตุให้ราษฎรไม่ได้รับเงินชดเชยพิเศษฯ หรือได้รับเงินชดเชยพิเศษฯ ไม่ครบตามจำนวนที่มีสิทธิจะได้รับ (2,525 ราย)

2. กษ. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาให้แก่ราษฎรที่ร้องเรียนว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในการจ่ายค่าทดแทนทรัพย์สินของกรมชลประทาน หรือการจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการจัดสรรที่ดินแปลงอพยพของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเรื่อยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 จนถึงปัจจุบันแล้วทั้งสิ้น จำนวน 10 ครั้ง ครั้งล่าสุด ตามคำสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ 2384/2562 ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2562 และคำสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ 762/2563 ลงวันที่ 17มิถุนายน 2563 มีพลเอก สุรินทร์ พิกุลทอง ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของกองทัพบก เป็นประธานกรรมการ และผู้อำนวยการส่วนกรรมสิทธิ์ที่ดิน สำนักกฎหมายและที่ดิน กรมชลประทานเป็นกรรมการและเลขานุการ

3. คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ได้พิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหาให้แก่ราษฎรตามอำนาจหน้าที่โดยมีการจัดประชุมคณะกรรมการตามข้อ 2 เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบสิทธิเงินชดเชยพิเศษฯ จำนวน 76 ครั้ง โดยปัจจุบันยังมีราษฎรที่ยังไม่ได้รับการพิจารณาสิทธิขอรับเงินชดเชยพิเศษฯ จนเป็นที่ยุติ จำนวน 1,309 ราย (รวมถึงราษฎรรายที่ กษ. เสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้มีการจ่ายเงินชดเชยพิเศษฯ ในครั้งนี้) ซึ่งแตกต่างจากข้อมูลที่ กษ. เคยรายงานในคราวเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2558 ว่า มีราษฎรส่วนที่เหลือที่อยู่ระหว่างพิจารณา จำนวน 1,330 ราย ซึ่งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ประสานขอข้อเท็จจริงกับ กษ. อย่างไม่เป็นทางการแล้วได้รับแจ้งว่าจำนวนราษฎรดังกล่าวเป็นเพียงการประมาณการ โดยข้อมูลในปัจจุบันจำแนกได้ ดังนี้

3.1 คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ มีมติยังไม่รับพิจารณาสิทธิขอรับเงินชดเชยพิเศษฯ ของราษฎร เนื่องจากยังไม่ผ่านการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการสำรวจความต้องการระดับอำเภอ และคณะกรรมการพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และจำนวนเงินชดเชยพิเศษแทนการจัดสรรที่ดินแปลงอพยพจังหวัด จำนวน 591 ราย

3.2 คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ มีมติรับพิจารณาสิทธิขอรับเงินชดเชยพิเศษฯ ของราษฎร แต่การพิจารณายังไม่เป็นที่ยุติ จำนวน 718 ราย

4. คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ มีมติในคราวประชุมครั้งที่ 1/2563 (76) เมื่อวันพุธที่ 29 มกราคม 2563 รับรองรายชื่อราษฎรที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วเสร็จ จำนวน 118 ราย ให้เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินชดเชยพิเศษฯ และได้รายงานผลการดำเนินงานต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งได้เห็นชอบให้ กษ. โดยกรมชลประทานนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติจ่ายเงินชดเชยพิเศษฯ แก่ราษฎร จำนวน 118 ราย ตามที่คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ เสนอ มีรายละเอียด ดังนี้

สิทธิเงินชดเชย/ จำนวนราย

ที่อยู่อาศัย97

ที่ดินทำกิน34

รวม118

สิทธิเงินชดเชย/ เงินชดเชยพิเศษต่อราย (บาท)

ที่อยู่อาศัย170,000

ที่ดินทำกิน30,000 ? 600,000

รวม170,000 ? 770,000

สิทธิเงินชดเชย/รวมทั้งสิ้น (ล้านบาท)

ที่อยู่อาศัย16.49

ที่ดินทำกิน17.85

รวม34.34

หมายเหตุ :

(1) ราษฎรได้รับเงินชดเชยพิเศษฯ รายละ 170,000 บาท จำนวน 84 ราย

ราษฎรได้รับเงินชดเชยพิเศษฯ รายละ 300,000 ? 578,000 บาท จำนวน 11 ราย

ราษฎรได้รับเงินชดเชยพิเศษฯ รายละ 600,000 บาท จำนวน 15 ราย

ราษฎรได้รับเงินชดเชยพิเศษฯ รายละ 770,000 บาท จำนวน 8 ราย

(2) ราษฎรได้รับเงินชดเชยพิเศษฯ เฉลี่ยรายละ 291,013.10 บาท

(3) ราษฎรบางรายได้รับทั้งเงินชดเชยที่อยู่อาศัยและเงินชดเชยที่ดินทำกิน

5. หากคณะรัฐมนตรีมีมติตามที่ กษ. เสนอในครั้งนี้ จะส่งผลให้ราษฎรที่ยังไม่ได้รับการพิจารณาสิทธิขอรับเงินชดเชยพิเศษฯ จนเป็นที่ยุติ คงเหลือ จำนวน 1,191 ราย จำแนกได้ ดังนี้

5.1 คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ มีมติยังไม่รับพิจารณาสิทธิขอรับเงินชดเชยพิเศษฯ ของราษฎร จำนวน 591 ราย (คงเดิมตามข้อ 3.1)

5.2 คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ มีมติรับพิจารณาสิทธิขอรับเงินชดเชยพิเศษฯ ของราษฎร แต่การพิจารณายังไม่เป็นที่ยุติ คงเหลือ จำนวน 600 ราย แบ่งเป็นราษฎรที่อยู่ระหว่างรอการพิจารณาสิทธิขอรับเงินชดเชยพิเศษฯ จากคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ จำนวน 593 ราย และราษฎรที่คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ มีมติเห็นชอบให้สิทธิเงินชดเชยพิเศษฯ แล้ว แต่คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ยังไม่ได้พิจารณารับรองสิทธิ จำนวน 7 ราย

6. เพื่อให้การจ่ายเงินเป็นไปอย่างถูกต้อง โปร่งใส และป้องกันมิให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบจากราษฎร กษ. จึงเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและกำกับดูแลการจ่ายเงิน เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลการจ่ายเงินและจำนวนเงินค่าชดเชยพิเศษฯ โดยให้มีอำนาจหน้าที่พิจารณาและควบคุมการโอนจ่ายเงินชดเชยพิเศษฯ ให้ถูกต้องครบถ้วนตรงตามบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับเงินชดเชยพิเศษฯ ที่ผ่านการรับรองของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ มีองค์ประกอบ ดังนี้

6.1 ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี เป็นประธานกรรมการ

6.2 อัยการจังหวัดลพบุรี เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดลพบุรี ปฏิรูปที่ดินจังหวัดลพบุรี ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 10 นายอำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี นายอำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี นายอำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี นายสมภาค วิวะรินทร์นายฬมริณฆ์ สุดสวาทรัก และนายวิศณุ แพรเมือง เป็นกรรมการ

6.3 ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักชลสิทธิ์ เป็นกรรมการและเลขานุการ

6.4 หัวหน้าฝ่ายจัดหาที่ดินที่ 2 ฝ่ายจัดหาที่ดินที่ 3 เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 มีนาคม 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ