ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5

ข่าวการเมือง Tuesday March 9, 2021 19:03 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ของคณะกรรมาธิการการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย สภาผู้แทนราษฎร

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ของคณะกรรมาธิการการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย สภาผู้แทนราษฎร ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทราบต่อไป

เรื่องเดิม

1. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (สผ.) ได้เสนอรายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ของคณะกรรมาธิการการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย สภาผู้แทนราษฎร มาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้มีข้อสังเกตรวม 6 ประเด็น ได้แก่ (1) ควรกำหนดให้มีหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 (2) ควรกำหนดให้การตรวจวัดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 มีมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพของข้อมูล (3) ควรดำเนินการแจ้งเตือนภัยฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 (4) ควรมีการพัฒนาและการวิจัยหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 (5) ควรมีการจัดทำพื้นที่ปลอดฝุ่นหรือห้องปลอดฝุ่น (Safety Zone) และ (6) ควรกำหนดให้มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5

2. รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี พิจารณาแล้วมีคำสั่งให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานและข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงคมนาคม (คค.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานและข้อสังเกตดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

ข้อเท็จจริง

มท. ได้ร่วมประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามข้อ 2. โดยมีสรุปผลการพิจารณาในเรื่องดังกล่าว ดังนี้

ข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ

1. การกำหนดให้มีหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เห็นว่า มท. ในฐานะที่เป็นส่วนราชการที่ทำหน้าที่หลักในการบริหารราชการแผ่นดินในพื้นที่ และใกล้ชิดกับประชาชน ควรเป็นหน่วยงานหลักในการบังคับใช้กฎหมาย นโยบาย เพื่อจัดการปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ผ่านระบบ Single Command ที่มีอยู่ และ ทส. ควรต้องทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุนข้อมูล

ผลการพิจารณา

เนื่องจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (12 กุมภาพันธ์ 2562) เห็นชอบให้การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองเป็นวาระแห่งชาติ และให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเป็นกลไกหลักร่วมกับ ทส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ประกอบกับแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ซึ่งผ่านการเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (1 ตุลาคม 2562) ได้กำหนดให้ มท. จังหวัด และ กทม. เป็นหน่วยงานหลักตามมาตรการที่ 1 การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ จึงควรถือเป็นหลักในการดำเนินการต่อไป

2. ระบบการวัดค่า การพยากรณ์คุณภาพอากาศและการแจ้งเตือนฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่ยังไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ควรกำหนดการตรวจวัดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ให้มีมาตรฐานเดียวกันทั้งในรูปแบบการพยากรณ์และแจ้งเตือนในภาวะวิกฤต

ผลการพิจารณา

เห็นว่า ปัจจุบันกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เป็นหน่วยงานหลักในการกำหนดค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศติดตามตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 โดยได้มีการร่วมมือกับกรมอุตุนิยมวิทยา สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) กทม. และสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลสำหรับการวิจัยและพัฒนาระบบการตรวจอย่างต่อเนื่อง และได้มีช่องทางการแจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ผ่านแอปพลิเคชันและเว็บไซต์โดยมีการรายงานข้อมูลแบบตอบสนองทันทีและสรุปรายงานต่อสถานการณ์ฝุ่นละอองผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในช่วงวิกฤตเพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบสถานการณ์และนำไปใช้ประโยชน์หรือสื่อสารข้อมูลต่อไป ทั้งนี้ อก. เห็นว่าการติดตั้งเครื่องตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ยังไม่มีกฎหมายรองรับ และดำเนินการได้ยากเนื่องจากปล่องออกแบบไม่ได้รองรับการติดตั้งเครื่องตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5

3. การส่งเสริมอาชีพในชุมชน โดยให้ชุมชนเป็นผู้ผลิตหน้ากากอนามัยในราคาที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ ควรพัฒนาและวิจัยหน้ากากอนามัยเพื่อการป้องกันปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5

ผลการพิจารณา

เห็นว่า หน้ากากอนามัยที่ใช้สำหรับป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในทางเทคนิคมีขั้นตอนการผลิตที่ยากกว่าการผลิตหน้ากากผ้า รวมถึงต้องพิจารณาประเด็นต้นทุนการผลิตด้วย โดยการผลักดันประเด็นดังกล่าวต่อไปในอนาคต หน่วยงานต่าง ๆ อาทิ สธ. มท. กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) อก. ต้องร่วมกันดำเนินการให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งในส่วนของมาตรฐานการผลิต การเสริมสร้างทักษะ การควบคุมราคา การส่งเสริมด้านการตลาด รวมถึงพัฒนาระบบข้อมูลให้ประชาชนสามารถสืบค้นสถานที่จำหน่ายได้ง่าย

4. การประกาศเขตควบคุมมลพิษ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 แทนการประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ควรจัดทำพื้นที่ปลอดฝุ่นหรือห้องปลอดฝุ่น

ผลการพิจารณา

เห็นว่า การประกาศเขตควบคุมมลพิษตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มีขั้นตอนกระบวนการที่ใช้ระยะเวลามากเนื่องจากต้องมีข้อมูลประกอบเหตุผลในการประกาศที่ชัดเจน และเห็นว่าการประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 สามารถดำเนินการได้เร็วกว่า เนื่องจากเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ซึ่งกรมอนามัยได้จัดทำรายละเอียดเป็นคำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุข เรื่อง การควบคุมป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละออง พ.ศ. 2562 เพื่อเป็นคำแนะนำต่อส่วนราชการท้องถิ่นในการออกข้อบัญญัติท้องถิ่นและเจ้าพนักงานท้องถิ่นในการปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นพร้อมที่จะประชาสัมพันธ์ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดตั้ง Safe Zone ตามความจำเป็น โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ สธ. พิจารณา

5. การออกกฎหมายเพิ่มเติมเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ควรสนับสนุนให้มีการศึกษาเพื่อจัดทำร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาด

ผลการพิจารณา

เห็นว่า ทส. และกรมอุตุนิยมวิทยาเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าวโดยตรง จึงควรรับความเห็นในประเด็นดังกล่าวไปผลักดันและขยายผลให้เกิดเป็นรูปธรรมต่อไป

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 มีนาคม 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ