ร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง มาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในพื้นที่อำเภอปะเหลียน อำเภอหาดสำราญ อำเภอย่านตาขาว

ข่าวการเมือง Tuesday March 16, 2021 16:59 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง มาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในพื้นที่อำเภอปะเหลียน อำเภอหาดสำราญ อำเภอย่านตาขาว อำเภอกันตัง และอำเภอสิเกา จังหวัดตรัง พ.ศ. ?.

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง มาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในพื้นที่อำเภอปะเหลียน อำเภอหาดสำราญ อำเภอย่านตาขาว อำเภอกันตัง และอำเภอสิเกา จังหวัดตรัง พ.ศ. ?. ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา ให้รับความเห็นของกระทรวงคมนาคม (คค.) ไปประกอบการพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้ ทส. รับความเห็นของ คค. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

สาระสำคัญของร่างประกาศฯ

เป็นการกำหนดพื้นที่ให้ใช้มาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในพื้นที่อำเภอ ปะเหลียน อำเภอหาดสำราญ อำเภอย่านตาขาว อำเภอกันตัง และอำเภอสิเกา จังหวัดตรัง รายละเอียด ดังนี้

1. คำนิยาม

กำหนดคำนิยามคำว่า แนวชายฝั่งทะเล ชายหาด อธิบดี และกรม เพื่อให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น

2. กำหนดพื้นที่ที่ได้มีการกำหนดให้เป็นเขตอนุรักษ์ และพื้นที่ภายในแนวเขตตามแผนที่เป็นพื้นที่ที่ให้ใช้มาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

(1) พื้นที่น่านน้ำทะเล ชายหาด ป่าชายเลน แม่น้ำ และเกาะ ภายในแนวเขตตามพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าคลองไหโล๊ะ ป่าคลองปอ ป่าคลองกันตัง ในท้องที่ตำบลไม้ฝาด อำเภอสิเกา ตำบลบ่อน้ำร้อน ตำบลบางสัก ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2524

(2) พื้นที่น่านน้ำทะเล ชายหาด ป่าชายเลน และเกาะ เฉพาะที่อยู่ในจังหวัดตรัง ภายในแนวเขตตามพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าเกาะเภตรา เกาะเขาใหญ่ และหมู่เกาะใกล้เคียง ในท้องที่ตำบลเกาะสุกร อำเภอ ปะเหลียน จังหวัดตรัง ตำบลขอนคลาน อำเภอทุ่งหว้า ตำบลแหลมสน และตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล ให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2527

(3) พื้นที่น่านน้ำทะเล ชายหาด ป่าชายเลน และเกาะ ภายในแนวเขตตามประกาศ กษ. เรื่อง กำหนดเขตห้าม ล่าสัตว์ป่า ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 ลงวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2522

(4) พื้นที่ภายในแนวเขตตามประกาศจังหวัดตรัง เรื่อง กำหนดห้ามใช้เครื่องมือประมงบางชนิด ทำการประมงในบริเวณแหล่งหญ้าทะเลภายในพื้นที่ที่กำหนด พ.ศ. 2535 ลงวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2535

3. กำหนดพื้นที่ให้เป็นเขตพื้นที่ให้ใช้มาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกำหนดหลักเกณฑ์มิให้ดำเนินการในเขตพื้นที่ดังกล่าว

(1) บริเวณที่ 1 พื้นที่ชายหาดทั้งบริเวณชายฝั่งและบนเกาะ โดยกำหนดห้ามทำให้เกิดมลพิษและเททิ้งขยะที่มีผลทำให้คุณภาพชายหาดเสื่อมโทรม ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กำหนดห้ามกระทำการใด ๆ ที่ก่อเกิดการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางธรณีสัณฐาน หรือสภาพทางธรรมชาติของชายหาด หรือทำให้ทัศนียภาพของชายหาดเสียไป ห้ามก่อสร้างเพิงพัก ศาลา อาคาร หรือสิ่งปลูกสร้างใด ๆ รวมทั้งการจัดวางร่ม โต๊ะ เตียง หรือที่นั่งบริเวณชายหาด และการขับขี่ยานพาหนะบริเวณชายหาด และกำหนดห้ามเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่และการปรับภูมิทัศน์ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อชายหาด ต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันตะกอนดินไหลลงทะเล รวมทั้งมาตรการป้องกันการปนเปื้อนของฝุ่นและวัสดุลงสู่ชายฝั่ง ชายหาด และทะเล

(2) บริเวณที่ 2 พื้นที่น่านน้ำ ภายในแนวเขตตามแผนที่แนบท้าย โดยกำหนดห้ามทำให้เกิดมลพิษ ขยะ สารแขวนลอย ตะกอนแขวนลอย และสารปนเปื้อนจากการเดินเรือ การจอดเรือ การขนส่งหรือการขนถ่าย ที่มีผลทำให้คุณภาพน้ำทะเลเสื่อมโทรมหรือเสียสภาพความเป็นธรรมชาติ กำหนดห้ามทำการประมงอวนปลากระเบนเบ็ดราไวย์ อวนชักหรืออวนทับตลิ่ง อวนล้อมหรืออวนล้อมหิน อวนถ่วงหมึกที่วางในแหล่งหญ้าทะเล หรือการทำการประมงด้วยวิธีการอื่นใดที่เป็นอันตรายต่อพะยูน โลมา และเต่าทะเล กำหนดห้ามการขุดลอกและการทิ้งดินตะกอนจากการขุดลอกที่ก่อให้เกิดความเสียหาย หรือความเปลี่ยนแปลงต่อระบบนิเวศของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกำหนดการประกอบการท่องเที่ยวเพื่อชมพะยูน โลมา เต่าทะเล หรือการท่องเที่ยวในแนวหญ้าทะเล ต้องเป็นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ กำหนดให้การนำเรือเข้าไปในแหล่งหญ้าทะเลและที่อยู่อาศัยของพะยูน ต้องนำเรือเข้า ? ออกได้เฉพาะตามเส้นทางที่กรมประกาศกำหนด และต้องไม่ก่อให้เกิดความเสียหายหรือเป็นอันตรายต่อแหล่งหญ้าทะเลและที่อยู่อาศัยของพะยูน

(3) บริเวณที่ 3 พื้นที่เกาะซึ่งอยู่ภายในเส้นเขตตามแผนที่แนบท้ายประกาศนี้ โดยกำหนดให้การก่อสร้างอาคาร การดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารและสิ่งก่อสร้าง ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อชายหาดและชายฝั่งที่น้ำทะเลท่วมถึง ต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันตะกอนดินไหลลงชายฝั่ง ชายหาด และทะเล รวมทั้งมาตรการป้องกันการปนเปื้อนของฝุ่นและวัสดุลงสู่ชายฝั่ง ชายหาด และทะเล ทั้งจากการก่อสร้าง และการขนส่งวัสดุเพื่อการก่อสร้าง

4. กำหนดให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเล

(1) จัดทำแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยอย่างน้อยต้องประกอบด้วยแนวทางการอนุรักษ์และคุ้มครองสัตว์ทะเลหายาก การดูแลและฟื้นฟูแหล่งที่อยู่อาศัยหรือแหล่งหากิน การคุ้มครองและการดูแลรักษาสภาพธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ การติดตามและประเมินผล

(2) สนับสนุนโครงการส่งเสริมองค์ความรู้ท้องถิ่นหรือกิจกรรมแก่ชุมชน ในการดำเนินโครงการหรือกิจกรรม เพื่อการบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตามระเบียบ หรือหลักเกณฑ์ที่กรมประกาศกำหนด

(3) ให้คำปรึกษาข้อมูลแก่ชุมชน หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

(4) กำกับดูแล ติดตาม ตรวจสอบการบังคับใช้มาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง การบังคับใช้มาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

5. การบังคับใช้กฎหมาย

  • พื้นที่ตามข้อ 2 หากมีกฎหมายใดกำหนดมาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเรื่องใดไว้โดยเฉพาะ และเป็นมาตรการที่ไม่ต่ำกว่ามาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หรือมีมาตรการที่ดีกว่าในการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ ก็ให้เป็นไปตามมาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่กำหนดไว้ในกฎหมายนั้น

6. วันบังคับใช้

  • ให้ใช้บังคับนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป และมีระยะเวลาบังคับใช้ 5 ปี นับแต่วันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 มีนาคม 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ