ขอความเห็นชอบยุติการดำเนินงานสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เครือข่ายที่ 2 เพื่อการศึกษา ภายใต้โครงการพัฒนาวิทยุกระจายเสียงเพื่อการศึกษา

ข่าวการเมือง Wednesday April 7, 2021 17:55 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักนายกรัฐมนตรี (นร.) [กรมประชาสัมพันธ์ (กปส.)] เสนอให้ยุติการดำเนินงานสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยเครือข่ายที่ 2 เพื่อการศึกษา (โครงการวิทยุเครือข่ายที่ 2) ภายใต้โครงการพัฒนาวิทยุกระจายเสียงเพื่อการศึกษาจำนวน 11 สถานี ที่ นร. (กปส.) เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ

สาระสำคัญของเรื่อง

นร. (กปส.) รายงานว่า
1. กปส. ได้ดำเนินงานตามโครงการวิทยุเครือข่ายที่ 2 ภายใต้โครงการ คพศ. 5 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2522 และวันที่ 10 เมษายน 2522 ซึ่งที่ผ่านมา กปส. ได้ดำเนินงาน ดังนี้

การจัดตั้งสถานีและการกระจายเสียง

การดำเนินงาน

กปส. ได้จัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยเครือข่ายที่ 2 เพื่อการศึกษา รวม 11 สถานี สามารถส่งออกอากาศได้ครอบคลุมร้อยละ 90 ของพื้นที่ประเทศไทย ดังนี้

ระยะแรกปีการศึกษา 2526

การดำเนินงานออกอากาศ

ออกอากาศได้ 6 สถานี ได้แก่ สถานีกรุงเทพมหานคร (เป็นแม่ข่ายที่สามารถส่งออกอากาศ) สถานีลำปาง สถานีขอนแก่น สถานีอุบลราชธานี สถานีสุราษฎร์ธานี และสถานีสงขลา

ระยะที่สองปีการศึกษา 2527

การดำเนินงานออกอากาศ

ออกอากาศเพิ่มเติมอีก 5 สถานี ได้แก่ สถานีนครสวรรค์ สถานีจันทบุรี สถานีกระบี่ สถานีแม่ฮ่องสอน และสถานีระนอง

เนื้อหารายการ

รายการที่ออกอากาศ รวม 7 รายการ ได้แก่ 1) รายการวิทยุโรงเรียน 2) รายการการศึกษานอกโรงเรียนทางวิทยุและไปรษณีย์ 3) รายการกระจายเสียงของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 4) รายการเสริมความรู้วิชาชุดครูทางไปรษณีย์ 5) รายการส่งเสริมทางการเกษตร 6) รายการสุขภาพและอนามัย และ 7) การถ่ายทอดข่าวจากสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย โดยมีคณะกรรมการพิจารณาการใช้สถานีวิทยุกระจายเสียงเครือข่ายที่ 2 เพื่อการศึกษารับผิดชอบการบริหารงานของสถานี 2. ต่อมาได้มีการประกาศใช้กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2545 โดยปรับให้สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยเครือข่ายที่ 2 เพื่อการศึกษา เป็นหน่วยงานภายในอยู่ภายใต้การบริหารของสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ภายใต้ชื่อ ?สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยเพื่อการศึกษา (สวศ.)? (หมายเหตุ : กปส. ได้ดำเนินโครงการวิทยุเครือข่ายที่ 2 ตั้งแต่เดือนกันยายน 2522 - มิถุนายน 2527 และสิ้นสุดการเบิกจ่ายเงินตามโครงการในเดือนพฤศจิกายน 2528 อย่างไรก็ดี ภายหลังสิ้นสุดโครงการดังกล่าว สวศ. ได้ดำเนินภารกิจตามโครงการดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องโดยใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ) 3. ปัจจุบัน กปส. ได้รับอนุญาตให้ใช้งานคลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการกระจายเสียง ตามมาตรา 83 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 จำนวน 145 คลื่นความถี่ (รวมถึงคลื่นความถี่ของ สวศ. ทั้ง 11 สถานี จำนวน 11 คลื่นความถี่) โดยสถานะการได้รับอนุญาตให้ใช้งานคลื่นความถี่ดังกล่าวจะสิ้นสุดลงในวันที่ 3 เมษายน 2565 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ได้ขอให้ กปส. ยื่นความประสงค์หากจะให้บริการกระจายเสียงต่อไปภายหลังการสิ้นสุดการได้รับอนุญาตให้ใช้งานดังกล่าว โดยให้ กปส. ยื่นแผนประกอบกิจการกระจายเสียงและคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงต่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ภายในวันที่ 3 เมษายน 2564 เพื่อเตรียมปรับเข้าสู่การประกอบกิจการให้บริการกระจายเสียงภายใต้ระบบใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมและกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ 4. กปส. ได้พิจารณาทบทวนในมิติต่าง ๆ ครอบคลุมถึงความพร้อมของอุปกรณ์เครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงและอุปกรณ์ส่วนควบต่าง ๆ ตามโครงการพัฒนาวิทยุกระจายเสียงเพื่อการศึกษา ที่ สวศ. ดำเนินการอยู่ พบว่า มีอายุการใช้งานนานกว่า 35 ปี โดยบางสถานีมีสภาพชำรุดเสื่อมสภาพตามอายุการใช้งาน และหากจะพัฒนาประสิทธิภาพของสถานีต่อไปจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ซึ่งอาจไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน ประกอบกับสภาพแวดล้อมด้านเทคโนโลยีดิจิทัลมีการเปลี่ยนแปลงไป โดยมีการสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่าวิทยุกระจายเสียง และอาจมีความเหมาะสมต่อวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษามากกว่าวิทยุกระจายเสียง จึงเห็นควรดำเนินการ ดังนี้

4.1 ยุติการดำเนินงานสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยเครือข่ายที่ 2 เพื่อการศึกษา (รวม 11 สถานี)

4.2 ยื่นแผนประกอบกิจการกระจายเสียงและคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงในภาพรวม สรุปได้ ดังนี้

จำนวนคลื่นความถี่ (145 คลื่นความถี่)

104

1) การคงสถานีไว้ : เพื่อผลิตและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของรัฐ ให้สอดคล้องต่อบริบทสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปและสอดคล้องกับภารกิจของ กปส. ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงโครงสร้างองค์กร

  • ครอบคลุมคลื่นความถี่ของ สวศ. ที่มีอยู่เดิม 4 คลื่นความถี่ เนื่องจากได้พัฒนาประสิทธิภาพของสถานีไปบ้างแล้ว

41

2) ยุติออกอากาศและส่งคืนคลื่นความถี่ต่อ กสทช. : เพื่อนำไปพิจารณาจัดสรรแก่หน่วยงานต่าง ๆ ต่อไป

  • ครอบคลุมคลื่นความถี่ของ สวศ. 7 คลื่นความถี่

หมายเหตุ : กปส. ได้ประสานขอยื่นแผนประกอบกิจการกระจายเสียงและคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงไปยังสำนักงาน กสทช. แล้ว 5. กปส. ได้จัดประชุมหารือร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วไม่ขัดข้องต่อการยุติการดำเนินงานสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยเครือข่ายที่ 2 เพื่อการศึกษา ภายใต้โครงการพัฒนาวิทยุกระจายเสียงเพื่อการศึกษา เฉพาะในส่วนที่ กปส. รับผิดชอบ เนื่องจากปัจจุบันศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษามีช่องทางใหม่ ๆ ในการสื่อสารให้กับผู้เรียนหรือประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้มากกว่าวิทยุกระจายเสียง รวมทั้งการบำรุงรักษาต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ซึ่งอาจไม่คุ้มค่า ประกอบกับ ศธ. พิจารณาแล้วไม่ขัดข้องต่อการขอยุติการดำเนินงานสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยเครือข่ายที่ 2 เพื่อการศึกษา แต่ กปส. ควรระบุให้ชัดเจนว่า จะยุติการดำเนินงานเฉพาะโครงการวิทยุ เครือข่ายที่ 2 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวัน 2 มกราคม 2522 และ 10 เมษายน 2522

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 เมษายน 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ