รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4/2563 และแนวโน้มไตรมาสที่ 1/2564 และรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนมกราคม 2564

ข่าวการเมือง Wednesday April 7, 2021 18:30 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4/2563 และแนวโน้มไตรมาสที่ 1/2564 และรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนมกราคม 2564 ดังนี้ สาระสำคัญ

ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 4/2563 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) หดตัวร้อยละ 0.9 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับในไตรมาสที่ 3/2563 ที่หดตัวร้อยละ 8.1 อุตสาหกรรมสำคัญที่หดตัวในไตรมาสที่ 4/2563 อาทิ การผลิตน้ำตาล ภาวะการผลิตลดลง เนื่องจากปีนี้เปิดหีบช้ากว่าปีก่อน เนื่องจากชาวไร่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณอ้อยเข้าหีบน้อยกว่าปีก่อน การผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย การผลิตลดลงเกือบทุกรายการสินค้า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจทั่วโลก ผู้บริโภคลดการซื้อสินค้าที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะในกลุ่มเสื้อผ้า การผลิตผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ ที่มิใช่ยางล้อ ภาวะการผลิตลดลงจากสินค้ายางแท่ง เนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวทำให้มีคำสั่งซื้อเข้ามาน้อย รวมถึงมีการเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในช่วงต้นเดือนธันวาคม 2563 ทำให้วัตถุดิบ (น้ำยาง) ออกสู่ตลาดลดลง สำหรับอุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวดีในไตรมาสที่ 4/2563 อาทิ การผลิตรถยนต์ การผลิตเพิ่มขึ้นทุกรายการสินค้า เนื่องจากไตรมาสสุดท้ายของปีมีการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ ออกสู่ตลาดหลายรุ่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้นตามความต้องการใช้ในตลาดโลกเพื่อนำไปใช้ร่วมกับกลุ่มสินค้าขั้นปลาย เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ

ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเดือนมกราคม 2564 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) หดตัวร้อยละ 2.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศ

อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI เดือนมกราคม 2564 หดตัวเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน คือ

1. การกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม หดตัวร้อยละ 11.92 จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงมีอยู่ส่งผลให้การเดินทางลดลงทั้งการเดินทางในประเทศและการเดินทางระหว่างประเทศ

2. น้ำตาล หดตัวร้อยละ 13.18 เนื่องจากปีนี้เปิดหีบช้าและด้วยสภาพอากาศแห้งแล้งไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกส่งผลให้ปริมาณอ้อยเข้าหีบมีน้อยกว่าปีก่อน

3. รถยนต์ และเครื่องยนต์ หดตัวร้อยละ 3.9 จากความกังวลของผู้บริโภคที่มีต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ในประเทศ ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

อุตสาหกรรมสำคัญที่ยังขยายตัวในเดือนมกราคม 2564 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

1. เม็ดพลาสติก เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.86 จากการหยุดซ่อมบำรุงของผู้ผลิตบางรายในปีก่อน และความต้องการใช้ในกลุ่มสินค้าต่อเนื่อง เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า บรรจุภัณฑ์ ถุงอาหาร ขวด และเครื่องใช้ในครัวเรือน

2. เหล็กและเหล็กกล้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.44 ตามความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และบรรจุภัณฑ์อาหาร อีกปัจจัยหนึ่งมาจากราคาเหล็กปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากประเทศจีนนำเข้าสินค้าเหล็กเพิ่มสูงขึ้นมากจนเกิดภาวะขาดแคลนสินค้า ส่งผลให้ราคาเหล็กปรับตัวสูงขึ้น ผู้ผลิตจึงเร่งผลิตเพื่อขายทำกำไรในช่วงนี้ แนวโน้มอุตสาหกรรมสาขาสำคัญ ไตรมาสที่ 1/2564

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะมีดัชนีผลผลิตและมูลค่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ 3.2 และ 4.7 ตามลำดับ เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ Work from Home และการเรียนออนไลน์ของนักเรียนนักศึกษา ทำให้มีการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ยังคงเป็นที่ต้องการในการพัฒนาระบบเทคโนโลยี 5G และผลิตภัณฑ์สำหรับโครงสร้างพื้นฐานทาง IT

อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ คาดว่าผลิตภัณฑ์กระดาษ (กระดาษแข็ง กระดาษลูกฟูก และกระดาษคราฟต์) ที่ใช้ผลิตกล่องบรรจุภัณฑ์ จะขยายตัวเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวในกลุ่มอาหาร ขณะเดียวกันบรรจุภัณฑ์กระดาษในยุค New Normal จะขยายตัวค่อนข้างมากแบบก้าวกระโดดและยังได้อานิสงส์ตามการใช้งานสำหรับส่งสินค้าทางออนไลน์ ในขณะที่การส่งออกจะขยายตัวต่อเนื่องในกลุ่มเยื่อกระดาษ สำหรับกลุ่มหนังสือและสิ่งพิมพ์จะยังคงหดตัวต่อเนื่อง

อุตสาหกรรมยา คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.0 ตามแนวโน้มการขยายตัวที่ดีของตลาดทั้งในและต่างประเทศ สำหรับการส่งออกคาดว่าจะขยายตัวได้ดีในตลาดอาเซียน โดยเฉพาะ เมียนมา เวียดนาม และกัมพูชา

อุตสาหกรรมอาหาร คาดว่าดัชนีผลผลิตในภาพรวมน่าจะขยายตัว เนื่องจากปริมาณผลผลิตทางการเกษตรที่ใช้แปรรูปในอุตสาหกรรมอาหาร เช่น มันสำปะหลัง สับปะรด เพิ่มขึ้น ประกอบกับการบริโภคในประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคจากภาครัฐ สำหรับมูลค่าการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวเช่นกัน โดยสินค้าอาหารที่ได้อานิสงส์จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง เช่น อาหารสำเร็จรูป (ทูน่ากระป๋อง ผักและผลไม้กระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป) สิ่งปรุงรส และอาหารสัตว์เลี้ยงสำเร็จรูป

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 เมษายน 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ