รายงานผลการพิจารณาตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

ข่าวการเมือง Wednesday April 7, 2021 18:49 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง รายงานผลการพิจารณาตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการพิจารณาตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป

เรื่องเดิม
1. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเสนอว่า ในคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 2 ครั้งที่ 2 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤศจิกายน 2563 ที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบด้วยกับข้องสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีข้อสังเกตเกี่ยวกับคำนิยามของสินค้าและบริการควรต้องมีความชัดเจน และควรแยกกลุ่มของการจัดเก็บภาษี และเห็นควรที่กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพากรจะได้ออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อกำหนดกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ในการดำเนินการเกี่ยวกับทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มให้มีความชัดเจน รวมถึงประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจให้แก่ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องได้รับทราบถึงหลักเกณฑ์ต่าง ๆ อย่างทั่วถึง
2. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเสนอว่า ในคราวประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 8 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) วันจันทร์ที่ 7 ธันวาคม 2563 ที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ของวุฒิสภา ซึ่งได้ตั้งข้อสังเกต ดังนี้

2.1 การใช้คำว่า ?ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักร? และ ?ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการจากต่างประเทศ? ตามร่างพระราชบัญญัตินั้น เนื่องจากตามประมวลรัษฎากรได้มีการนิยามคำว่า ?ประเทศไทย? หรือ ?ราชอาณาจักร? ไว้ว่า ให้หมายความรวมถึงเขตไหล่ทวีปที่เป็นสิทธิของประเทศไทยตามกฎหมายระหว่างประเทศที่ยอมรับนับถือกันโดยทั่วไปและตามความตกลงกับต่างประเทศด้วย แต่ไม่มีการนิยามคำว่า ?ต่างประเทศ? ไว้ กรณีนี้จึงอาจทำให้เกิดปัญหาการตีความได้ว่าการให้บริการจากต่างประเทศนั้นหมายความรวมถึงการให้บริการนอกเขตไหล่ทวีปหรือไม่ เนื่องจากมีการใช้คำว่า ?ต่างประเทศ? ในหลายบทบัญญัติมาตรา จึงเห็นควรให้ กค. พิจารณาปรับปรุงคำนิยามดังกล่าวให้ชัดเจนต่อไป

2.2 กค. โดยกรมสรรพากรควรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข เพื่อกำหนดกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ในการดำเนินการเกี่ยวกับทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มให้มีความชัดเจนและง่ายต่อการใช้งาน รวมทั้งต้องประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ ให้แก่ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องได้รับทราบอย่างทั่วถึง

2.3 การจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับปรุง เห็นควรเร่งรัดให้มีผลในทางปฏิบัติโดยเร็ว ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศ 3. รองนายกรัฐมนตรี (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ กค. เป็นหน่วยงานหลักรับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาดังกล่าว ไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสม และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

ข้อเท็จจริง

กค. รายงานว่า ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อสังเกตฯ แล้ว สรุปได้ ดังนี้

ข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯของสภาผู้แทนราษฎร (สผ.)
1. แนวทางในการปฏิบัติและบังคับใช้กฎหมายจะต้องมีการออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อกำหนดกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ในการดำเนินการเกี่ยวกับทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มให้มีความชัดเจน รวมถึงประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจให้แก่ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องได้รับทราบถึงหลักเกณฑ์ต่าง ๆ อย่างทั่วถึง

รายงานผลการพิจารณาตามข้อสังเกตฯ

  • กค. ได้เตรียมการรองรับการบังคับใช้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ. 2564 ดังนี้

1. จัดทำกฎหมายลำดับรอง ได้แก่

(1) กฎกระทรวงจำนวน 2 ฉบับ ซึ่งออกตามความในมาตรา 3 และมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ. 2564

(2) ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายตาม (1)

2. จัดทำคู่มือเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติดังกล่าว 2. คำนิยามของสินค้าและบริการควรต้องมีความชัดเจนและควรแยกกลุ่มของการจัดเก็บภาษี ซึ่งได้กำหนดคำนิยามเกี่ยวกับการบริการอิเล็กทรอนิกส์ไว้ในร่างมาตรา 5 แล้ว เพื่อให้เกิดความชัดเจนและไม่สับสนในการใช้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ และไม่ต้องมีการแก้ไขกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการใช้กับสินค้าและบริการทั่วไป

รายงานผลการพิจารณาตามข้อสังเกตฯ

  • การแก้ไขนิยามคำว่า ?สินค้า? และกำหนดนิยาม คำว่า ?บริการทางอิเล็กทรอนิกส์? และ ?อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม? เพิ่มเติมตามร่างมาตรา 4 และร่างมาตรา 5 ทำให้เกิดความชัดเจนในการใช้กฎหมาย และลดปัญหาในการตีความของผู้เสียภาษีและเจ้าหน้าที่

3. ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จะเป็นการวางรากฐานการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบการจากต่างประเทศและจะนำไปสู่แนวคิดในการจัดเก็บภาษีรายได้หรือยอดขายของผู้ประกอบการเหล่านี้ต่อไปในอนาคต รวมถึงจะเป็นการลดช่องว่างความไม่เท่าเทียมกันในการเสียภาษีของผู้ประกอบการที่อยู่ในประเทศไทยและผู้ประกอบการที่อยู่ในต่างประเทศ

รายงานผลการพิจารณาตามข้อสังเกตฯ

  • กค. โดยกรมสรรพากรได้มีส่วนร่วมพิจารณาแนวทางการจัดเก็บภาษีจากรายได้ของผู้ประกอบการดิจิทัลในต่างประเทศ โดยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ Inclusive Framework on BEPS ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางการจัดเก็บภาษีจากรายได้ของผู้ประกอบการดิจิทัลเพื่อนำไปใช้ในอนาคต รวมทั้งยังได้ติดตามแนวทางของประเทศอื่นอย่างต่อเนื่อง

ข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯของวุฒิสภา (สว.)

1. การใช้คำว่า ?ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักร? และ ?ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการจากต่างประเทศ? ตามร่างพระราชบัญญัตินั้น เนื่องจากตามประมวลรัษฎากรได้มีการนิยามคำว่า ?ประเทศไทย? หรือ ?ราชอาณาจักร? ไว้ว่า ให้หมายความรวมถึงเขตไหล่ทวีปที่เป็นสิทธิของประเทศไทยตามกฎหมายระหว่างประเทศที่ยอมรับนับถือกันโดยทั่วไป และตามความตกลงกับต่างประเทศด้วย แต่ไม่มีการนิยามคำว่า ?ต่างประเทศ? ไว้ กรณีนี้จึงอาจทำให้เกิดปัญหาการตีความได้ว่าการให้บริการจากต่างประเทศนั้นหมายความรวมถึงการให้บริการนอกเขตไหล่ทวีปหรือไม่ เนื่องจากมีการใช้ถ้อยคำว่า ?ต่างประเทศ? ในหลายบทบัญญัติมาตรา จึงเห็นควรให้ กค. พิจารณาปรับปรุงคำนิยามดังกล่าวให้ชัดเจนต่อไป

รายงานผลการพิจารณาตามข้อสังเกตฯ

  • มาตรา 2 แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดนิยามคำว่า ?ประเทศไทย? หรือ ?ราชอาณาจักร? หมายความรวมถึงเขตไหล่ทวีปที่เป็นสิทธิของประเทศไทยตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่ยอมรับนับถือกันโดยทั่วไป และตามความตกลงกับต่างประเทศด้วย ดังนั้น คำว่า ?ต่างประเทศ? ที่ปรากฏในบทบัญญัติแห่งมาตราต่าง ๆ ในประมวลรัษฎากร จึงมีความหมายที่ตรงข้ามกับคำว่า ?ประเทศไทย? หรือ ?ราชอาณาจักร? ทั้งนี้ อำนาจในการจัดเก็บภาษีของประเทศไทยในเรื่องของการให้บริการตามประมวลรัษฎากร ต้องเป็นบริการที่ทำในราชอาณาจักร โดยไม่คำนึงว่าการใช้บริการนั้นจะอยู่ในต่างประเทศหรือในราชอาณาจักร ซึ่งรวมถึงการให้บริการที่ทำในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร โดยกรมสรรพากรได้วางแนวทางปฏิบัติในประเด็นดังกล่าวไว้แล้ว
  • การปรับปรุงถ้อยคำว่า ?ต่างประเทศ? ตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ นั้น จะต้องตราเป็นพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร และต้องดำเนินการศึกษาร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อความรอบคอบต่อไป

2. กค. โดยกรมสรรพากรควรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อกำหนดกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ในการดำเนินการเกี่ยวกับทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มให้มีความชัดเจนและง่ายต่อการใช้งาน รวมทั้งต้องประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจให้แก่ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องได้รับทราบอย่างทั่งถึง

รายงานผลการพิจารณาตามข้อสังเกตฯ

  • กค. โดยกรมสรรพากรจะดำเนินการออกกฎกระทรวงและประกาศที่เกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าว รวมถึงจัดทำระบบเพื่อรองรับการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่สะดวกและง่ายต่อการใช้งานของผู้ประกอบการ และประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึงเพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้แก่ผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป
3. การจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับปรุง เห็นควรเร่งรัดให้มีผลในทางปฏิบัติโดยเร็ว ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้ประกอบการทั้งในประเทศและต่างประเทศ

รายงานผลการพิจารณาตามข้อสังเกตฯ

  • กค. โดยกรมศุลกากรอยู่ระหว่างการพิจารณาศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีดังกล่าว

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 เมษายน 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ