ผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ [ASEAN Economic Ministers (AEM) Retreat] ครั้งที่ 27 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง

ข่าวการเมือง Tuesday April 27, 2021 18:48 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ [ASEAN Economic Ministers (AEM) Retreat] ครั้งที่ 27 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 2 ? 3 มีนาคม 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล (VDO Conference) ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ได้มอบหมายให้ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ (นายสรรเสริญ สมะลาภา) เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. การประชุม AEM Retreat ครั้งที่ 27

1.1 การดำเนินการเพื่อฟื้นฟูจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ประชุมฯ ได้แลกเปลี่ยนแนวทางการรับมือและฟื้นฟูประเทศจากสถานการณ์โควิด-19 และเร่งรัดการดำเนินงานตามกรอบฟื้นฟูของอาเซียนและแผนการดำเนินการในการส่งเสริมความร่วมมือและประสานงานระหว่างองค์กรรายสาขารวมทั้งได้เห็นชอบการขยายรายการสินค้าจำเป็นภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการดำเนินมาตรการที่มิใช่ภาษีและสินค้าจำเป็นภายใต้แผนปฏิบัติการฮานอยว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานของอาเซียนให้เข้มแข็งในการตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ไปหารือเพิ่มเติมเพื่อให้ครอบคลุมสินค้าอาหารและเกษตรโดยเฉพาะอาหารหลักอย่างน้อย 200 รายการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อภาคเอกชน

1.2 ประเด็นด้านเศรษฐกิจที่บรูไนดารุสซาลามในฐานะประธานอาเซียนผลักดันให้ร่วมกันดำเนินการให้บรรลุผลสำเร็จในปี 2564 (Priority Economic Deliverables: PEDs) ที่ประชุมฯ เห็นชอบ PEDs ของอาเซียนภายใต้แนวคิด "We care, we prepare, we prosper " ประกอบด้วยยุทธศาสตร์หลัก 3 ด้าน 10 ประเด็น และรับทราบประเด็นที่เสนอเพิ่มเติมอีก 3 ประเด็น ได้แก่ (1) การลงนามของพิธีสารอนุวัติข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงินภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน ฉบับที่ 9 (2) การจัดประชุมให้ความรู้ด้านการเงินของอาเซียน และ (3) ข้อริเริ่มการจัดทำมาตรฐานและเกณฑ์การจัดหมวดหมู่ด้านการเงินที่ยั่งยืนของอาเซียน และให้องค์กรรายสาขาดำเนินการให้สำเร็จในปีนี้

1.3 ความตกลงด้านเศรษฐกิจ ที่ประชุมฯ ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับความตกลงที่มีการ ลงนามแล้วแต่ยังไม่มีผลบังคับใช้ซึ่งอาจล้าสมัยไปแล้ว โดยมีจำนวน 12 ฉบับ เช่น กรอบความตกลงด้านอิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน และกรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจและคณะกรรมการสาขาที่เกี่ยวข้องไปทบทวนความจำเป็นของความตกลงดังกล่าว นอกจากนี้ สำนักเลขาธิการอาเซียนได้เสนอ 3 ทางเลือก เพื่อแก้ไขปัญหา ได้แก่ 1) กำหนดให้มีผลบังคับใช้ทันทีเมื่อมีการลงนาม 2) กำหนดให้มีผลบังคับใช้ในวันที่กำหนด และ 3) กำหนดจำนวนขั้นต่ำของประเทศที่ให้สัตยาบัน โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจศึกษาและหาแนวทางที่เหมาะสมและนำเสนอต่อที่ประชุมในครั้งต่อไป

1.4 การทบทวนความตกลงการค้าสินค้าภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย (ASEAN-India Trade in Goods Agreement: AITIGA) และปัญหาจากประกาศศุลกากรของสาธารณรัฐอินเดีย (อินเดีย) ด้านกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (CAROTAR 2020) ที่ประชุมฯ ได้รับทราบสถานะล่าสุดของการดำเนินการเพื่อริเริ่มทบทวนความตกลง AITIGA โดยสำนักเลขาธิการอาเซียนได้จัดส่งร่างขอบเขตการทบทวนฯ ของอาเซียนให้ฝ่ายอินเดียพิจารณา เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้แสดงความกังวลต่อประกาศ CAROTAR 2020 ว่ามีผลต่อการค้ากับอาเซียนและอาจเป็นการละเมิดAITIGA และขอให้รัฐมนตรีของประเทศมาเลเซียในฐานะประเทศผู้ประสานงานส่งจดหมายถึงอินเดียเพื่อแจ้งข้อกังวลดังกล่าว

1.5 การจัดทำร่างกรอบกำหนดขอบเขตความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-สหภาพยุโรป ที่ประชุมฯ รับทราบความคืบหน้าการจัดทำร่างกรอบขอบเขตความตกลงฯ รวมถึงประเด็นที่อาเซียนและสหภาพยุโรปยังคงมีความเห็นที่แตกต่าง โดยที่ประชุมฯ ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจเร่งหารือการจัดทำความเห็นของอาเซียนต่อร่างกรอบกำหนดขอบเขตฯ ภายในเดือนมีนาคม 2564 เพื่อใช้ประกอบการหารือ กับฝ่ายสหภาพยุโรปต่อไป (จากการประสานข้อมูลเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2564 ทราบว่ากระทรวงพาณิชย์ได้มีการจัดประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจฝ่ายอาเซียนแล้วเมื่อวันที่ 30มีนาคม 2564)

1.6 ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ที่ประชุมฯ รับทราบความคืบหน้าในการให้สัตยาบันความตกลง RCEP ของแต่ละประเทศ และได้ย้ำว่าการให้สัตยาบันจะต้องเป็นไปตามมเงื่อนไขที่มีประเทศอาเซียน 6 ประเทศ และประเทศภาคีอื่น 3 ประเทศ ภายในเดือนตุลาคม 2564 เพื่อให้ความตกลง RCEP มีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2564 2. การหารือระหว่างรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN Business Advisory Council: ASEAN-BAC) ที่ประชุมฯ รับทราบประเด็นที่ภาคธุรกิจของอาเซียนให้ความสำคัญและจะดำเนินการในปี 2564 เช่น การสร้างสภาพแวดล้อมและเสริมสร้างความสามารถของแรงงานในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล การให้โอกาสนักธุรกิจเดินทางในช่วงนี้ และการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากมาตรการที่มิใช่ภาษี จนก่อให้เกิดการบิดเบือนเจตจำนงที่จะเร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดจากมาตรการที่มิใช่ภาษีและขอให้ภาคเอกชนทางการค้าด้วย ทั้งนี้ รัฐมนตรีเศรษฐกิจกล่าวสนับสนุนการดำเนินการของภาคเอกชน พร้อมแสดงเจตจำนงที่จะเร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดจากมาตรการที่มิใช่ภาษีและขอให้ภาคเอกชนเร่งรับมือกับยุคดิจิทัลตลอดจนประสานความร่วมมือกับคณะทำงานภายใต้คณะมนตรีประสานงานอาเซียนว่าด้วยสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขและองค์กรรายสาขาที่เกี่ยวข้อง 3. การหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสาธารณรัฐสิงคโปร์ สิงคโปร์แจ้งว่าสนใจที่จะหาแหล่งลงทุนเพิ่มเติมและได้สอบถามภาวะเศรษฐกิจประเทศไทย โดยไทยแจ้งว่าการส่งออกของไทยฟื้นตัวดีขึ้น รวมทั้งได้ให้ข้อมูลเรื่องการลงทุนในธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศยานที่สิงคโปร์ได้เคยแสดงความสนใจว่าปัจจุบันไทยเปิดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนและถือหุ้นในธุรกิจดังกล่าวได้ถึงร้อยละ 100 ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 27 เมษายน 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ