สรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรีชุด พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 มิถุนายน 2564

ข่าวการเมือง Tuesday June 8, 2021 18:30 —มติคณะรัฐมนตรี

http://www.thaigov.go.th

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

		วันนี้ (8 มิถุนายน 2564)  เวลา 09.00 น. พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี                    เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีผ่านระบบ Video Conference ณ ห้อง PMOC ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า                     ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้

กฎหมาย

1. 	เรื่อง 	ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปราบการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐาน 					พ.ศ. ....
2. 	เรื่อง  	ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี พ.ศ. ....
3. 	เรื่อง 	ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมต้องเป็นไปตามมาตรฐาน 					รวม 2 ฉบับ (ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์					ปอร์ตแลนด์ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงกำหนดให้					ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ขาวต้องเป็นไปตามมาตรฐาน 					พ.ศ. ....)
4. 	เรื่อง 	ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ ยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง 						กำหนดให้เครื่องพิมพ์สามมิติเป็นสินค้าที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการจัดระเบียบ
ในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2559 พ.ศ. ....

เศรษฐกิจ สังคม

5. 	เรื่อง 	หลักเกณฑ์การกำหนดอัตราเงินเดือนและประโยชน์ตอบแทนอื่นของรอง					ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม
6. 	เรื่อง 	สรุปผลการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดน					ภาคใต้ (กพต.) ครั้งที่ 1/2564
7. 	เรื่อง 	สรุปมติการประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2564
8. 	เรื่อง 	แผนปฏิบัติการภาค ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 แผนพัฒนาจังหวัดและ					กลุ่มจังหวัด พ.ศ. 2561 ? 2565 ฉบับทบทวน และแผนปฏิบัติราชการประจำปี					งบประมาณ พ.ศ. 2565 ของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด
9. 	เรื่อง 	สรุปรายงานการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการ					นายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 (ระหว่างวันที่ 1 มกราคม ? 31 มีนาคม
2564)
10. 	เรื่อง 	รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนมีนาคม 2564
11. 	เรื่อง 	ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการประกอบธุรกิจ					ออนไลน์และการทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ของคณะกรรมาธิการ					วิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการประกอบธุรกิจออนไลน์และการทำ					ธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ สภาผู้แทนราษฎร
12. 	เรื่อง 	การยกเลิกคำสั่งการเลื่อนและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้นของข้าราชการ
ที่เสียชีวิต
13. 	เรื่อง 	ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การพัฒนาเศรษฐกิจการ					เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวฝั่งอันดามันสู่อ่าวไทย ของคณะกรรมาธิการการพัฒนา					เศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร
14. 	เรื่อง 	ผลการพิจารณาญัตติกรณีชาวต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งตรวจพบ					การติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เพื่อเป็นแนวทางและมาตรการแก้ไข					ปัญหาอย่างเป็นระบบ ของสภาผู้แทนราษฎร
15. 	เรื่อง 	ขออนุมัติก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 - 2565 สำหรับโครงการ					จ้างที่ปรึกษาเพื่อติดตามประเมินผลแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราช					กำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟู					เศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส
โคโรนา 2019 พ.ศ. 2563
16. 	เรื่อง	ข้อเสนอแนวทางการจัดสรรกรอบอัตรากำลังและกลไกการบริหารจัดการ					พนักงานราชการเฉพาะกิจ เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์
การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19)
17. 	เรื่อง 	ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุม					ครั้งที่ 19/2564
18. 	เรื่อง 	ขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อใช้ในการ					ดำเนินโครงการจัดซื้อครุภัณฑ์เครื่องจักรกลสำหรับรองรับการแก้ไขปัญหา					อุทกภัยและภัยแล้ง
19. 	เรื่อง 	การขยายระยะเวลาการดำเนินการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
ในคนต่างด้าวที่ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563
20.	เรื่อง	ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาด
ของโรคโควิด 19 (วัคซีน)
21. 	เรื่อง 	สรุปผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบ
ของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 2/2564

ต่างประเทศ

22. 	เรื่อง 	ความตกลงว่าด้วยกรอบข้อบังคับด้านความปลอดภัยอาหารอาเซียน
(ASEAN Food Safety Regulatory Framework Agreement : AFSRF 					Agreement)
23. 	เรื่อง 	การลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวง					ยุติธรรมแห่งราชอาณาจักรไทย และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงความ					มั่นคงสาธารณะ สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการ					และความร่วมมือทางนิติวิทยาศาสตร์
24. 	เรื่อง 	การขอความเห็นชอบร่างปฏิญญาสมัยพิเศษของการประชุมรัฐมนตรีกลาโหม					อาเซียน ครั้งที่ 15 และการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรี					กลาโหมประเทศคู่เจรจา ครั้งที่ 8
25.  	เรื่อง  	รายงานการทบทวนการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 					ระดับชาติ โดยสมัครใจของไทย พุทธศักราช 2564
26.  	เรื่อง 	ขอความเห็นชอบร่างปฏิญญาเมืองและการขนส่ง: ความปลอดภัย
ความมีประสิทธิภาพ และความยั่งยืน

แต่งตั้ง

27. 	เรื่อง 	การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ
ระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)
28. 	เรื่อง 	การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ
ระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงศึกษาธิการ)
29. 	เรื่อง 	การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง 					(สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน)
30. 	เรื่อง 	การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี




สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

































กฎหมาย

1. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปราบการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐาน พ.ศ. ....
		คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติดังนี้
 		1. อนุมัติให้สำนักงานอัยการสูงสุดถอนร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปราบการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐาน พ.ศ. .... ที่อยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตามที่สำนักงานอัยการสูงสุดเสนอ
 		2. อนุมัติหลักการให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ในส่วนที่เกี่ยวกับการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐาน เพื่อให้สอดคล้องและอนุวัติการเพื่อรองรับพิธีสารเพื่อต่อต้านการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐานทางบก ทางทะเล และทางอากาศ เพิ่มเติมอนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กรตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2) โดยไม่ต้องทำเป็นกฎหมายขึ้นมาใหม่ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ โดยให้รับความเห็นของสำนักงานอัยการสูงสุดไปประกอบการพิจารณาด้วย และให้เชิญผู้แทนกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เข้าร่วมชี้แจงในการพิจารณา รวมทั้งเมื่อดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมเสร็จแล้ว ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาดำเนินการตามมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป และ
		3. มอบหมายให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเร่งดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ในส่วนของการกำหนดความผิดมูลฐานฟอกเงินที่เกี่ยวข้องกับการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐาน และนำเสนอคณะรัฐมนตรีโดยด่วนต่อไป

2. เรื่อง  ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี พ.ศ. ....
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ ดังนี้
          1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้พิจารณาในประเด็นตามข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และให้รับความเห็นของกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
          2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอ
          3. ให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เร่งเสนอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และให้รับความเห็นของสำนักงบประมาณ สำนักงาน ก.พ. และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
                   ทั้งนี้ร่างพระราชบัญญัติที่ อว. เสนอ เป็นการปรับปรุงการบริหารมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี โดยเปลี่ยนสถานะของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีจากเดิมเป็นส่วนราชการเป็นมหาวิทยาลัยที่มีฐานะเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ (สถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ) ที่ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการ อว. กฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ และกฎหมายอื่น เพื่อปรับปรุงการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม และเป็นไปตามแนวทางการปฏิรูปมหาวิทยาลัยและนโยบายของรัฐบาลซึ่งสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ด้วยแล้ว
                   สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
                   1. กำหนดให้มหาวิทยาลัยเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น
                   2. กำหนดให้กิจการของมหาวิทยาลัยไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน และกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ แต่พนักงานมหาวิทยาลัยต้องได้รับการคุ้มครองและประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน
                   3. กำหนดให้มหาวิทยาลัยมีอำนาจหน้าที่กระทำการต่าง ๆ ตามวัตถุประสงค์ที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่น อำนาจในการซื้อ ขาย จ้าง รับจ้าง สร้าง จัดหา โอน รับโอน เช่า ให้เช่า เช่าซื้อ ให้เช่าซื้อ จำหน่าย และแลกเปลี่ยน หรือทำนิติกรรมใด ๆ เพื่อประโยชน์แก่กิจการของมหาวิทยาลัย ตลอดจนถือกรรมสิทธิ์ มีสิทธิครอบครอง มีสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา หรือมีทรัพยสิทธิต่าง ๆ ในทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย อำนาจในการกู้ยืมเงินและให้กู้ยืมเงินโดยมีหลักประกันด้วยบุคคลหรือทรัพย์สิน ถือหุ้น เข้าเป็นหุ้นส่วน และลงทุนหรือร่วมลงทุน และอำนาจในการออกพันธบัตรหรือตราสารอื่นใดเพื่อการลงทุนโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี และอำนาจในการกำหนดค่าตอบแทนหรือค่าตอบแทนพิเศษ รวมทั้งสวัสดิการ สิทธิประโยชน์ และประโยชน์อย่างอื่นให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย
                   4. กำหนดให้รายได้ของมหาวิทยาลัยไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง กฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐหรือกฎหมายอื่น
                   5. กำหนดให้ทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยที่ใช้เพื่อประโยชน์เกี่ยวกับการศึกษา การวิจัย การให้บริการทางวิชาการและวิชาชีพ และการทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมโดยตรงไม่อยู่ในความรับผิดชอบแห่งการบังคับคดีทั้งปวง รวมทั้งการบังคับทางปกครอง บุคคลใดจะยกอายุความหรือระยะเวลาในการครอบครองขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับมหาวิทยาลัยในเรื่องทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยมิได้
                   6. กำหนดให้มีสภามหาวิทยาลัยเป็นองค์กรบริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัยกำหนดการดำเนินการ            ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยทั้งด้านการบริหารงานบุคคล การเงิน และวิชาการ ซึ่งมีองค์ประกอบเป็นบุคคลภายนอกมหาวิทยาลัยมากกว่าบุคลากรในมหาวิทยาลัย โดยนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปี และจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งหรือได้รับแต่งตั้งใหม่อีกได้
                   7. กำหนดให้มีอธิการบดีเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดและรับผิดชอบการบริหารงานของมหาวิทยาลัย และอาจมีรองอธิการบดี หรือผู้ช่วยอธิการบดี หรือจะมีทั้งรองอธิการบดีและผู้ช่วยอธิการบดีตามจำนวนที่สภามหาวิทยาลัยกำหนด เพื่อทำหน้าที่และรับผิดชอบตามที่อธิการบดีมอบหมายก็ได้ โดยอธิการบดีมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปี และจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งใหม่อีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระมิได้
                   8. กำหนดให้มหาวิทยาลัยต้องจัดให้มีการประกันคุณภาพการศึกษาและการประเมินส่วนงานเพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของมหาวิทยาลัยตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของมหาวิทยาลัย และต้องจัดให้มีการตรวจสอบระบบบัญชี และให้มีการเผยแพร่บัญชีที่ได้รับรองแล้วในรายงานประจำปี รวมทั้งกำหนดให้รัฐมนตรีมีหน้าที่กำกับดูแลกิจการของมหาวิทยาลัยให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย
                   9. กำหนดให้โอนบรรดาข้าราชการ ลูกจ้างของส่วนราชการ พนักงานราชการ พนักงานมหาวิทยาลัย และลูกจ้างของมหาวิทยาลัยนเรศวรตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี พ.ศ. 2548 มาเป็นข้าราชการ ลูกจ้างของส่วนราชการ พนักงานราชการ พนักงานมหาวิทยาลัย และลูกจ้างของมหาวิทยาลัยตามพระราชบัญญัตินี้
                   10. กำหนดเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนสถานภาพข้าราชการและลูกจ้างประจำของส่วนราชการ เป็นพนักงานมหาวิทยาลัย โดยกำหนดให้ต้องแสดงเจตนาเปลี่ยนสถานภาพมาเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยหรือลูกจ้างของมหาวิทยาลัยตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้แต่หากข้าราชการหรือลูกจ้างประจำของส่วนราชการ ซึ่งมิได้รับการบรรจุเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยหรือลูกจ้างของมหาวิทยาลัย ให้ยังคงสถานะความเป็นข้าราชการหรือลูกจ้างประจำของส่วนราชการต่อไปตามกฎหมายหรือระเบียบว่าด้วยการนั้น
                   11. กำหนดให้พนักงานมหาวิทยาลัยและลูกจ้างของมหาวิทยาลัยต้องได้รับเงินเดือน ค่าจ้าง สวัสดิการ และประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่น ไม่น้อยกว่าที่เคยได้รับอยู่ก่อนเข้าเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยหรือลูกจ้างของมหาวิทยาลัย

3. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมต้องเป็นไปตามมาตรฐาน รวม 2 ฉบับ (ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ขาวต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. ....)
 		คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ขาวต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
		ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวง รวม 2 ฉบับ ที่ อก. เสนอ เป็นการออกกฎกระทรวงเพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยปรับปรุงมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ และปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ขาว ให้มีความทันสมัยและสอดคล้องกับการใช้งานในปัจจุบัน และเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภคในการใช้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมดังกล่าว ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวง รวม 2 ฉบับดังกล่าวแล้ว
	 	สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
 		1. ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. .... มีสาระสำคัญกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน
 		2. ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ขาวต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. .... มีสาระสำคัญกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ขาว ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน
		ทั้งนี้ กำหนดให้ร่างกฎกระทรวงทั้ง 2 ฉบับมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

4. เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ ยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้เครื่องพิมพ์สามมิติเป็นสินค้าที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการจัดระเบียบในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2559 พ.ศ. ....
		คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ ยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้เครื่องพิมพ์สามมิติเป็นสินค้าที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการจัดระเบียบในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2559 พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้ พณ. รับความเห็นของกระทรวงการคลังไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
		ทั้งนี้ ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ที่ พณ. เสนอ เป็นการยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้เครื่องพิมพ์สามมิติเป็นสินค้าที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการจัดระเบียบในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2559 เนื่องจากปัจจุบันเครื่องพิมพ์สามมิติเป็นสินค้าที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของพระราชบัญญัติการควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ. 2562 แล้ว อีกทั้งยังเป็นการยกเลิกกฎหมายที่หมดความจำเป็นและลดความซ้ำซ้อนของกฎหมายด้วย
 		สาระสำคัญของร่างประกาศ
		ยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้เครื่องพิมพ์สามมิติเป็นสินค้าที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการจัดระเบียบในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2559 ลงวันที่ 4 เมษายน 2559 โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา



เศรษฐกิจ สังคม

5. เรื่อง หลักเกณฑ์การกำหนดอัตราเงินเดือนและประโยชน์ตอบแทนอื่นของรองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม
		คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติร่างหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราเงินเดือนและประโยชน์ตอบแทนอื่นของรองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. 2562 (พระราชบัญญัติฯ) ตามที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม (สวส.) เสนอ
		สาระสำคัญของเรื่อง
		สวส. รายงานว่า
		1. คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมในคราวประชุมครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม 2563 [รองนายกรัฐมนตรี (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) เป็นประธานการประชุม] มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราเงินเดือนและประโยชน์ตอบแทนอื่นของรองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม ตามมาตรา 40 ของพระราชบัญญัติฯ โดยเทียบเคียงกับหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราเงินเดือนและประโยชน์ตอบแทนอื่นของผู้อำนวยการองค์การมหาชน กลุ่มที่ 3 บริการสาธารณะทั่วไป (คณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชนในคราวประชุมครั้งที่ 6/2561 เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2561 ได้ประเมินให้ สวส. จัดอยู่ในกลุ่มที่ 3 บริการสาธารณะทั่วไป) ดังนี้
ค่าตอบแทนพื้นฐาน	ผู้อำนวยการ
องค์การมหาชน กลุ่มที่ 3	รองผู้อำนวยการสำนักงาน
ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม
อัตราเงินเดือน (บาท) 	100,000 - 200,000	80,000 - 160,000
(ห่างจากช่วงอัตราเงินเดือนผู้อำนวยการฯ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20)
ประโยชน์ตอบแทนอื่นที่เป็นตัวเงินและจ่ายเป็นรายเดือน เช่น ค่าพาหนะ ค่าประกันชีวิตหรืออุบัติเหตุ ค่าประกันสังคม เงินช่วยเหลือการศึกษาของบุตร เงินสำรองเลี้ยงชีพ สวัสดิการค่ารักษาพยาบาล และเงินช่วยเหลืออื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการฯ กำหนด	ไม่เกินร้อยละ 25 ของเงินเดือนประจำ
		2. สวส. ได้เคยเสนอหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราเงินเดือนและประโยชน์ตอบแทนอื่นของรองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมข้างต้น เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงาน ก.พ. และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) พิจารณาแล้วเห็นชอบด้วย แต่โดยที่นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งให้ สวส. พิจารณาทบทวนการเสนอเรื่องดังกล่าว และให้รับข้อสังเกตของสำนักงาน ก.พ.ร. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชนไปประกอบพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย ซึ่ง สวส. ได้ทบทวนหลักเกณฑ์ฯ ตามข้อสังเกตของสำนักงาน ก.พ.ร. แล้ว โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ความเห็นสำนักงาน ก.พ.ร.	หลักเกณฑ์ที่ สวส. ปรับแก้ไข
1. ควรกำหนดเงินเดือนของรองผู้อำนวยการฯ ในระยะเริ่มแรกในอัตราที่เหมาะสม โดยไม่กำหนดให้ใกล้เคียงกับอัตราขั้นสูงสุด เพื่อให้สามารถทยอยปรับขึ้นเงินเดือนให้สอดคล้องกับผลการปฏิบัติงานตลอดวาระการดำรงตำแหน่ง	1. เงินเดือนประจำ ในอัตราขั้นต่ำและขั้นสูงต่อเดือนระหว่าง 80,000 - 160,000 บาท โดยการกำหนดเงินเดือนประจำของรองผู้อำนวยการฯ ในระยะเริ่มแรก ไม่ควรกำหนดไว้ให้ใกล้เคียงกับอัตราขั้นสูง เพื่อให้สามารถปรับขึ้นเงินเดือนประจำให้สอดคล้องกับผลการปฏิบัติงานตลอดวาระการดำรงตำแหน่ง โดยเงินเดือนประจำภายหลังจากการปรับขึ้นเงินเดือนจะต้องไม่เกินอัตราเงินเดือนขั้นสูง
2. ควรกำหนดขอบเขตของประโยชน์ตอบแทนอื่นให้ชัดเจนเพื่อมิให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ ทั้งนี้ กรณีที่กำหนดประโยชน์ตอบแทนอื่นของรองผู้อำนวยการฯ ดดยเทียบเคียงกับผู้อำนวยการฯ เช่น ค่าพาหนะ ค่าประกันชีวิตหรืออุบัติเหตุ เงินช่วยเหลือการศึกษาของบุตรเงินสำรองเลี้ยงชีพให้ได้รับเป็นการเฉพาะตัว และเงินช่วยเหลืออื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมกำหนด รองผู้อำนวยการฯ ต้องไม่ได้รับสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นสำหรับเจ้าหน้าที่และลูกจ้างของสำนักงานฯ เช่นเดียวกับผู้อำนวยการฯ	2. ประโยชน์ตอบแทนอื่นที่เป็นตัวเงินและจ่ายเป็นรายเดือน ซึ่งครอบคลุมถึงค่าพาหนะ (รถยนต์ประจำตำแหน่ง) ค่าประกันชีวิตหรืออุบัติเหตุ เงินช่วยเหลือการศึกษาของบุตร เงินสำรองเลี้ยงชีพ ให้ได้รับเป็นการเฉพาะตัว และเงินช่วยเหลืออื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการกำหนด เช่น การรักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายในการติดต่อสื่อสาร โดยจ่ายในอัตราไม่เกินร้อยละ 25 ของเงินเดือนประจำ
ทั้งนี้ รองผู้อำนวยการฯ ไม่ได้รับสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นสำหรับเจ้าหน้าที่และลูกจ้างตามที่กำหนดในระเบียบหรือข้อบังคับของ สวส.
3. ควรกำหนดค่าใช้จ่ายอื่นในการปฏิบัติหน้าที่รองผู้อำนวยการฯ เช่น ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปปฏิบัติงานภายในประเทศและต่างประเทศ เป็นต้น ทั้งนี้ หากเทียบเคียงกับผู้อำนวยการองค์การมหาชนที่มีสิทธิเบิกค่าใช้จ่ายในอัตราที่ราชการกำหนดสำหรับข้าราชการพลเรือนประเภทบริหารระดับสูง (เทียบเท่าอธิบดี) แล้ว รองผู้อำนวยการฯ มีสิทธิเบิกค่าใช้จ่ายในอัตราสำหรับข้าราชการพลเรือนประเภทบริหารระดับต้น	3. ค่าใช้จ่ายอื่นในการปฏิบัติงานของ สวส. เช่น ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าเช่าที่พัก ค่าพาหนะ ให้รองผู้อำนวย   การฯ เพื่อสังคมเบิกจ่ายในอัตราที่ราชการกำหนดสำหรับข้าราชการพลเรือนประเภทบริหารระดับต้น ซึ่งเป็นการเบิกจ่ายตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง
4. ควรกำหนดให้สัญญาจ้างรองผู้อำนวยการฯ มีรายละเอียดเกี่ยวกับประโยชน์ตอบแทนอื่นและค่าใช้จ่ายอื่นตามข้อ 2 และ 3 รวมถึงการประเมินผลการปฏิบัติงานเพื่อประกอบการพิจารณาปรับขึ้นเงินเดือนด้วย	-
		3. สำนักงาน ก.พ.ร. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชนพิจารณาแล้วเห็นว่า หลักเกณฑ์ดังกล่าวได้ปรับโดยมีขอบเขตและรายละเอียดเกี่ยวกับประโยชน์ตอบแทนอื่นที่จ่ายเป็นเงินรายเดือนและค่าใช้จ่ายอื่นในการปฏิบัติงาน ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ให้ข้อสังเกตไว้แล้ว

6. เรื่อง สรุปผลการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ครั้งที่ 1/2564
		คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต) เสนอสรุปผลการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 [เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553 มาตรา 7 (6) ที่บัญญัติให้ กพต. มีอำนาจหน้าที่เสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อคณะรัฐมนตรี] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
เรื่อง	การดำเนินการ/ข้อสั่งการประธาน กพต./มติ กพต.
เรื่องเพื่อทราบ (1 เรื่อง)
ความคืบหน้าการช่วยเหลือและพัฒนาแรงงานไทยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้กลุ่มที่เดินทางกลับจากต่างประเทศภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)	- การดำเนินการ ศอ.บต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินการที่สำคัญ เช่น (1) สำรวจรายละเอียดสถานภาพรายบุคคล 4 กลุ่มหลัก คือ (1.1) ภาคเกษตร (1.2) ค้าขาย (1.3)  บริการ/งานช่าง และ (1.4) ภาคอุตสาหกรรม/โรงงาน และจัดทำฐานข้อมูลโดยละเอียดในเขตพื้นที่ 3 จังหวัด (ไม่รวมเขตเทศบาล) จำนวน 12,000 คน และ (2) ดำเนินการช่วยเหลือ สร้างงาน และสร้างอาชีพ แรงงานไทยกลุ่มแรกประมาณ 5,000 คน ได้แก่ (2.1) ผู้ที่พร้อมไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมนอกพื้นที่ และ (2.2) ผู้ที่ประสงค์จะประกอบอาชีพในภูมิลำเนาเดิม
- ข้อสั่งการประธาน กพต. มอบหมายให้กระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับ ศอ.บต. ในการแก้ไขปัญหาเรื่องดังกล่าวให้มีความเป็นรูปธรรม เพื่อให้เป็นไปตามมติ กพต. และมติคณะรัฐมนตรีและให้รายงานความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องด้วย
- มติ กพต. รับทราบความคืบหน้าฯ
เรื่องเพื่อพิจารณา (4 เรื่อง)
1. การแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพาราในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้	- ข้อสั่งการประธาน กพต. ให้ทุกหน่วยงานเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคใบร่วงชนิดใหม่ฯ เป็นการเร่งด่วน และให้สำนักงบประมาณให้การสนับสนุนการทำงานอย่างเต็มที่ โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ ศอ.บต. ประสานงาน จัดทำข้อมูลการทำงานที่เป็นระบบและติดตามการทำงานอย่างใกล้ชิด พร้อมรายงานความก้าวหน้าในการประชุม กพต. ครั้งต่อไป
- มติ กพต. 1) เห็นชอบกรอบแนวทางการแก้ไขปัญหาโรคใบร่วงชนิดใหม่ฯ โดยกำหนดเป้าหมายดำเนินการในระยะเร่งด่วน ระยะต่อเนื่องและระยะยั่งยืน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการแผนงาน โครงการ และงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โดยให้ ศอ.บต. เป็นหน่วยงานเจ้าภาพอำนวยการประสานงานในภาพรวมร่วมกับการยางแห่งประเทศไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการโดยเร็ว หากประเมินสถานการณ์แล้วไม่สามารถยับยั้งการระบาดของโรคให้ยุติลงได้ตามเป้าหมายระยะเร่งด่วน ในระยะเวลา 3 เดือน (มีนาคม-พฤษภาคม 2564) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนงานโครงการเร่งด่วน/พิเศษเพิ่มเติม และเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณที่จำเป็นตามขั้นตอนต่อไป และ 2) เห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจบูรณาการแก้ปัญหาโรคใบร่วงชนิดใหม่ฯ ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อเร่งรัดการแก้ปัญหาอย่างทันท่วงที เป็นระบบ และครบวงจร ทั้งนี้ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อสังเกตของกระทรวงยุติธรรมที่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมหากเกิดกรณีโรคระบาดในพืชเศรษฐกิจชนิดอื่น เช่น ทุเรียน ไปดำเนินการด้วย
2. การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อความยั่งยืน	- มติ กพต. 1) เห็นชอบกรอบแนวทางการแก้ปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในเขตลุ่มน้ำปัตตานี เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปจัดทำแผนงานโครงการ หรือกิจกรรมเพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบและยั่งยืน และให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาตินำแนวทางการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อความยั่งยืน ไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง และให้เสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป และ 2) เห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการบูรณาการความร่วมมือในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อความยั่งยืน เพื่อบูรณาการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ครบวงจร
3. ข้อเสนอการแก้ไขปัญหาสุขภาวะและภาวะโภชนาการต่ำของเด็กเล็กในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้	- ข้อสั่งการประธาน กพต. ให้ทุกภาคส่วนดำเนินการเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนให้มีสุขภาพที่ดี โดยอาจเชื่อมโยงการทำงานไปยังศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของกระทรวงมหาดไทย (มท.) เพื่อให้เกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกัน และให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาไทยให้กับเด็กเล็กทุกระดับเพื่อให้สามารถใช้ภาษาไทยในการสื่อสารได้อย่างเป็นรูปธรรมนำไปสู่การเรียนรู้ที่เหมาะสมของประเทศ
- มติ กพต. ให้ มท. ไปหารือร่วมกับ ศอ.บต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ได้แนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความซ้ำซ้อนของงานและงบประมาณ รวมทั้งให้รายงานข้อสรุปผลการหารือดังกล่าวให้ประธาน กพต. และคณะรัฐมนตรีทราบ และดำเนินการตามข้อสรุปเป็นการเร่งด่วนในพื้นที่ต่อไป
4. ขอทบทวนมติ กพต. เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2562 เรื่อง แผนการขับเคลื่อนการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส	- มติ กพต. ให้ ศอ.บต. มท. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยไปพิจารณาวางแผนการขับเคลื่อนนโยบายการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษให้มีความชัดเจน โดยให้นำมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 [คณะรัฐมนตรีรับทราบมติคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2561 ที่เห็นชอบให้ ศอ.บต. จัดซื้อที่ดินเอกชน 1,730 ไร่ กรอบวงเงิน 390 ล้านบาท เพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส] และวันที่ 21 มกราคม 2563 (คณะรัฐมนตรีรับทราบมติ กพต. เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2562 ที่เห็นชอบแผนบริหารจัดการที่ดินในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส) เป็นแนวทางการขับเคลื่อนและให้เสนอแผนดังกล่าวในการประชุม กพต. ครั้งต่อไป

7. เรื่อง สรุปมติการประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2564
		คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) เสนอสรุปมติการประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2564 (ซึ่งเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ พ.ศ. 2551 ข้อ 7 (1) ที่กำหนดให้ กนป. มีอำนาจและหน้าที่กำหนดนโยบายเกี่ยวกับปาล์มน้ำมัน และเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบหรือพิจารณาเพื่อให้ส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติ) โดยมีสรุปผลการประชุมที่สำคัญ ดังนี้
		1. มาตรการรองรับเพื่อลดปริมาณสต็อกน้ำมันปาล์มดิบส่วนเกินและรักษาเสถียรภาพราคาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มในประเทศ
 			1.1 มอบหมายให้กรมการค้าภายในและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดรายงานปริมาณการผลิต การใช้ และสต็อกน้ำมันปาล์มคงเหลือ ตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการให้รวดเร็ว ถูกต้อง และทันต่อสถานการณ์มากยิ่งขึ้น รวมทั้งให้เร่งรัดการดำเนินโครงการติดตั้งเครื่องมือวัดปริมาณน้ำมันปาล์มเพื่อบริหารจัดการและควบคุมสต็อกปาล์มน้ำมันตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว (กรมการค้าภายในแจ้งว่า มีผู้อุทธรณ์ผลการประกวดราคาโครงการติดตั้งเครื่องมือวัดปริมาณน้ำมันปาล์มเพื่อบริหารจัดการและควบคุมสต็อกปาล์มน้ำมัน และขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อพิจารณาผลการอุทธรณ์ดังกล่าว)
			1.2 รับทราบความคืบหน้าในการจัดทำ ?โครงการจ้างที่ปรึกษาในการศึกษาวิเคราะห์โครงสร้างราคาผลปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม? ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างแก้ไขและปรับปรุงรายงานฉบับสมบูรณ์ และมอบหมายให้กรมการค้าภายในจัดประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาโครงสร้างราคาผลปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มเพื่อให้ได้ข้อยุติเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ก่อนเสนอ กนป. ต่อไป รวมทั้งให้กรมการค้าภายในและพาณิชย์จังหวัดกวดขันให้โรงงานและลานเทรับซื้อผลปาล์มน้ำมันตามโครงสร้างราคาอย่างเข้มงวดเพื่อไม่ให้เกิดการกดราคาในการรับซื้อผลปาล์มน้ำมันของเกษตรกร
			1.3 รับทราบผลการดำเนินการขับเคลื่อนแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม 5 จังหวัดภาคใต้ (จังหวัดสุราษฎร์ธานี กระบี่ พังงา นครศรีธรรมราช และชุมพร) และมอบหมายให้คณะอนุกรรมการและคณะทำงานขับเคลื่อนแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม 5 จังหวัดภาคใต้ ติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการบูรณาการในการแก้ไขปัญหาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างเป็นระบบทั้งในส่วนกลางและในระดับจังหวัด
		2. แนวทางดำเนินการด้านปาล์มน้ำมันของกรมป่าไม้ เห็นชอบแผนปฏิบัติการฟื้นฟูสภาพป่าในบริเวณที่ทางราชการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อปลูกปาล์มน้ำมันที่หมดอายุการอนุญาต เพื่อลดผลผลิตปาล์มน้ำมันจากพื้นที่ปลูกที่ผิดกฎหมาย ในส่วนของกรอบรายละเอียดของโครงการและกรอบวงเงินงบประมาณ ให้กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหารือร่วมกับสำนักงบประมาณก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป ทั้งนี้ ให้รับข้อสังเกตจากที่ประชุมในประเด็นความคุ้มค่าและมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจไปประกอบการพิจารณาด้วย
		3. มาตรการและแนวทางขับเคลื่อนการเพิ่มมูลค่าปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม เห็นชอบผลิตภัณฑ์เป้าหมายและมาตรการและแนวทางขับเคลื่อนการเพิ่มมูลค่าปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม เช่น การส่งเสริมผลิตภัณฑ์สารหล่อลื่นพื้นฐาน และการส่งเสริมน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ โดยให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบ ประสานติดตาม เร่งรัด ให้เป็นไปตามมติที่ประชุม และให้รายงานความก้าวหน้า ปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะ ในการดำเนินงานให้ กนป. ทราบเป็นระยะ
		4. การขยายระยะเวลาดำเนินโครงการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อลดผลผลิตส่วนเกิน ปี 2564 เห็นชอบขยายระยะเวลาการส่งออกจากเดิมภายในเดือนมีนาคม 2564 เป็นเดือนกันยายน 2564 และระยะเวลาการดำเนินโครงการฯ จากเดิมสิ้นสุดเดือนสิงหาคม 2564 เป็นเดือนธันวาคม 2564 โดยคงหลักการตามมติ กนป. เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2563 และให้ใช้กรอบวงเงินจ่ายขาดที่คณะกรรมการบริหารกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรได้มีมติอนุมัติไว้จำนวน 618 ล้านบาท ทั้งนี้ ในการดำเนินการโครงการฯ จะพิจารณาสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการสำหรับการส่งออกเฉพาะน้ำมันปาล์มดิบ ในอัตราไม่เกิน 2 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อระดับสต็อกน้ำมันปาล์มดิบในประเทศสูงกว่า 300,000 ตัน และราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศสูงกว่าราคาตลาดโลก

8. เรื่อง แผนปฏิบัติการภาค ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 แผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด พ.ศ. 2561 ? 2565 ฉบับทบทวน และแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด
		คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการบูรณาการนโยบายพัฒนาภาค (ก.บ.ภ.) เสนอผลการประชุม ก.บ.ภ. ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2564 [เป็นการดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. 2560 ข้อ 5 (4) ที่กำหนดให้ ก.บ.ภ. มีหน้าที่และอำนาจให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาจังหวัด แผนพัฒนากลุ่มจังหวัด แผนพัฒนาภาค แผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัด แผนปฏิบัติราชการประจำปีของกลุ่มจังหวัด คำของบประมาณของจังหวัด กลุ่มจังหวัด และงบประมาณของส่วนราชการที่จะดำเนินการตามแผนพัฒนาภาค ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ แล้วเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ] สรุปได้ ดังนี้
		1. เห็นชอบแผนปฏิบัติการภาค ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ทั้ง 6 ภาค จำนวน 505 โครงการ วงเงินงบประมาณ 63,595.76 ล้านบาท ดังนี้
แผนปฏิบัติการภาค	จำนวน
(โครงการ)	วงเงิน
(ล้านบาท)
ภาคเหนือ	62	13,688.47
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ	154	22,278.40
ภาคกลางและพื้นที่กรุงเทพมหานคร	90	9,684.14
ภาคตะวันออก	61	4,866.81
ภาคใต้	87	10,226.53
ภาคใต้ชายแดน	51	2,851.41
รวม	505	63,595.76
		2. เห็นชอบแผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด พ.ศ. 2561 - 2565 ฉบับทบทวนจำนวน 76 จังหวัด และ 18 กลุ่มจังหวัด โดยให้จังหวัดและกลุ่มจังหวัดนำความเห็นและข้อเสนอแนะของฝ่ายเลขานุการฯ ไปทบทวนและปรับปรุงแผนเพื่อให้มีความสมบูรณ์ในระยะต่อไป เช่น (1) ควรนำเสนอข้อมูลเพื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของข้อมูลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยให้มีความสอดคล้องกับข้อมูลปัจจุบันมากที่สุด (2) ควรจัดลำดับความสำคัญของปัญหาและความต้องการของประชาชนพร้อมทั้งระบุพื้นที่เป้าหมายและกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน และ (3) ควรกำหนดตัวชี้วัดให้สอดคล้องกับเป้าหมายและประเด็นการพัฒนา พร้อมทั้งกำหนดค่าฐานเพื่อให้สามารถกำหนดค่าเป้าหมายที่เหมาะสมและมีความเป็นไปได้
		3. เห็นชอบแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด จำนวน 76 จังหวัด และ 18 กลุ่มจังหวัด รวมทั้งสิ้น 1,757 โครงการ งบประมาณรวม 42,882.33 ล้านบาท ประกอบด้วย
รายการ	สนับสนุนภายในกรอบวงเงิน	สนับสนุนเกินกรอบวงเงิน
	จำนวน
(โครงการ)	งบประมาณ
(ล้านบาท)	จำนวน
(โครงการ)	งบประมาณ
(ล้านบาท)
คำของบประมาณจังหวัด	1,126	20,145.05	404	11,127.69
คำของบประมาณกลุ่มจังหวัด	177	8,940.77	50	2,668.82
ส่วนที่ 1 สำหรับขับเคลื่อนการพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพที่เป็นความต้องการและแก้ไขปัญหาประเด็นร่วมของกลุ่มจังหวัด	120	4,488.70	50	2,668.82
ส่วนที่ 2 เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาในลักษณะ Cluster หรือตอบสนองนโยบายเชิงพื้นที่	57	4,452.07	-	-
รวม	1,303	29,085.82	454	13,796.51

9. เรื่อง สรุปรายงานการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 (ระหว่างวันที่ 1 มกราคม ? 31 มีนาคม 2564)
		คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่คณะกรรมการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี (กตน.) เสนอสรุปรายงานการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 (ระหว่างวันที่ 1 มกราคม ? 31 มีนาคม 2564) สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
		1. นโยบายหลัก เช่น
นโยบายหลัก	มาตรการ/การดำเนินการ
1) การปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์	(1) ฝึกอบรมชุดปฏิบัติการจิตอาสากับภัยพิบัติประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในพื้นที่ 76 จังหวัด 4,610 แห่ง 235,538 ราย และจัดกิจกรรมด้านจิตอาสา
(2) พัฒนาศักยภาพครูตามโครงการในพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยสนับสนุนและส่งเสริมทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ให้แก่ครูผู้สอนโรงเรียนในท้องถิ่นทุรกันดารและครูตำรวจตระเวนชายแดน
2) การสร้างความมั่นคง
และความปลอดภัยของประเทศ และความสงบสุขของประเทศ	สกัดกั้นยาเสพติด โดยบูรณาการและประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานในพื้นที่ชายแดน มีผลการดำเนินการ เช่น ยาเสพติดประเภทยาบ้า สามารถจับกุมได้ 151.92 ล้านเม็ด และสกัดกั้นได้ 192.38 ล้านเม็ด
3) การทำนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม	เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ครั้งที่ 2 โดยจัดกิจกรรมบรรยายเรื่อง ?พระพุทธศาสนากับความมั่นคงของชาติ? เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2564
4) การสร้างบทบาทของไทยในเวทีโลก	จัดส่งชุดตรวจโควิด-19 ให้แก่ประเทศสมาชิกอาเซียน โดยนายกรัฐมนตรีได้ประกาศมอบชุดตรวจโควิด-19 แบบ RT-PCR ให้แก่ประเทศสมาชิกอาเซียนที่ประสงค์จะรับชุดตรวจฯ ประเทศละ 10,000 ชุด
5) การพัฒนาเศรษฐกิจ
และความสามารถในการแข่งขันของไทย	เรื่อง 	มาตรการ/การดำเนินการ
(1) เศรษฐกิจมหภาคการเงินและการคลัง	เร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 มีการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำ 1,410.85 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายร้อยละ 3.49 และมีการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุน 371.39 ล้านบาท (รวมก่อหนี้) ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายร้อยละ 12.2 (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564)
(2) การพัฒนา
ภาคอุตสาหกรรม	(2.1) โครงการส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยนวัตกรรมตามแนวคิด BCG Economy (BCG N.E.W.S. Project 2021) ผ่านช่องทางออนไลน์
(2.2) ยกระดับอุตสาหกรรมเข้าสู่อุตสาหกรรม
สีเขียว (Green Industry) โดยมีสถานประกอบการอุตสาหกรรมได้รับใบรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวแล้วประมาณ 20,000 ราย
(3) การพัฒนา
ภาคเกษตร	อบรมและพัฒนาเกษตรกรให้เป็น Young Smart Farmer และพัฒนาให้เป็นเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) จำนวน 14,802 ราย (เป้าหมาย 20,000 ราย) คิดเป็นร้อยละ 74.01
(4) การพัฒนา
ภาคการท่องเที่ยว	ผลักดันการท่องเที่ยวระหว่างประเทศภายใต้สถานการณ์โควิด-19 เช่น การดำเนินการสถานกักกันในกิจการกอล์ฟ (Golf Quarantine) 6 ราย
(5) การพัฒนา
สาธารณูปโภคพื้นฐาน	โครงการ Land Bridge ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้สู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำของภูมิภาค เชื่อมโยงท่าเรือระนองแห่งใหม่ และท่าเรือชุมพร

6) การพัฒนาพื้นที่
เศรษฐกิจและการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค	พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ (EEC Project list) ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก
7) การพัฒนาสร้างความเข้มแข็งของฐานราก	สร้างความเข้มแข็งหมู่บ้านตามแนวทาง ?แผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง? โดยดำเนินกิจกรรมในหมู่บ้านแล้วร้อยละ 80
8) การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพของคนไทยทุกช่วงวัย	จัดทำ Project 14 : โครงการสอนออนไลน์นำสู่ความปกติใหม่ โดยพัฒนาคลิปการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านระบบออนไลน์กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์และกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับประถมศึกษาปีที่ 1 - มัธยมศึกษาปีที่ 6 กว่า 1,000 คลิป
9) การพัฒนา
ระบบสาธารณสุข
และหลักประกันสังคม	โครงการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิ ได้ขับเคลื่อนนโยบาย ?คนไทยทุกครอบครัวมีหมอประจำตัว 3 คน? ครอบคลุมการดูแลประชาชน 23,672,821 ครอบครัว
10) การฟื้นฟู
ทรัพยากรธรรมชาติและการรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน	(1) แก้ไขปัญหาฝุ่นละอองจากไฟป่าและการเผาในที่โล่ง โดยจัดทำแผนบริหารจัดการเชื้อเพลิงใน 17 จังหวัดภาคเหนือ
(2) ป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เช่น ควบคุมการเผาในพื้นที่ปลูกอ้อยอย่างเข้มงวด และให้โรงงานน้ำตาลรับซื้ออ้อยไฟไหม้ได้ไม่เกินร้อยละ 20 ต่อวัน
11) การปฏิรูปการบริหารจัดการภาครัฐ	โครงการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลของรัฐ เช่น การจัดทำมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการใช้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ Digital ID และการใช้ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ของหน่วยงานภาครัฐ
12) การป้องกัน
และปราบปรามทุจริต
และประพฤติมิชอบ
และกระบวนการยุติธรรม	ขับเคลื่อนงานไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 มีผลการดำเนินการไกล่เกลี่ยสามารถยุติได้ 395 คดี (เป้าหมาย 500 คดี) คิดเป็นร้อยละ 75
		2. นโยบายเร่งด่วน เช่น
นโยบายเร่งด่วน	มาตรการ/การดำเนินการ
1) การแก้ไขปัญหาในการดำรงชีวิตของประชาชน	โครงการ ม  33 เรารักกัน โดยจ่ายเงิน 4,000 บาทต่อราย ด้วยวิธีการโอนวงเงินผ่านแอปพลิเคชัน ?เป๋าตัง? (G-wallet) มีผู้ประกันตนเข้าร่วมโครงการฯ 8.21 ล้านราย
2) การปรับปรุงระบบสวัสดิการและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน	(1) จ่ายเงินสวัสดิการสังคมและเงินอื่นผ่านระบบบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม (e-Social Welfare)
(2) บูรณาการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางรายครัวเรือน
3) มาตรการเศรษฐกิจเพื่อรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก	(1) เร่งรัดขยายตลาดส่งออกและธุรกิจในต่างประเทศเชิงรุก
(2) จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)
4) การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและพัฒนานวัตกรรม	โครงการประกันรายได้เกษตรกรปี การผลิต 2563/64 ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
5) การยกระดับศักยภาพของแรงงาน	พัฒนาทักษะเพื่อรองรับตลาดแรงงานหลังวิกฤติโควิด-19 โดยจัดหลักสูตร
ระยะสั้นสำหรับอาชีพตามความต้องการของตลาดแรงงาน 50 หลักสูตร เป้าหมาย 858,000 ราย
6) การวางรากฐานระบบเศรษฐกิจของประเทศสู่อนาคต	พัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ทุกภูมิภาคและพัฒนาต้นแบบแพลตฟอร์มข้อมูลระดับเมือง (City Data Platform) แล้ว 40 พื้นที่ เช่นเมืองอัจฉริยะวังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง และกระบี่เมืองอัจฉริยะ จังหวัดกระบี่
7) การเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21	(1) ขับเคลื่อนการศึกษาด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรมสู่ความปกติใหม่ทางการศึกษา
(2) โครงการพัฒนายุวทูตความดีสู่วิถีพลเมืองโลกในศตวรรษที่ 21
8) การแก้ไขปัญหายาเสพติดและสร้างความสงบสุขในพื้นที่ชายแดนภาคใต้	โครงการตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตรในจังหวัดชายแดนภาคใต้
9) การพัฒนาระบบการให้บริการประชาชน	(1) พัฒนาระบบการจองคิวหรือระบบการนัดหมายล่วงหน้าแบบออนไลน์ในการขอรับบริการงานทะเบียนและบัตรประจำตัวประชาชน
(2) ลดข้อจำกัดด้านกฎหมายที่เป็นปัญหาอุปสรรคต่อการทำธุรกิจและการดำรงชีวิตของประชาชน แก้ไขกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ล้าสมัย ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ
10) การจัดเตรียมมาตรการรองรับภัยแล้งและอุทกภัย	(1) เตรียมน้ำเพื่อรับมือในภาวะภัยแล้ง
(2) โครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังภัยพิบัติ (โทรมาตร)
(3) สนับสนุนปฏิบัติการฝนหลวงและบริการด้านการบิน

10. เรื่อง รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนมีนาคม 2564
		คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนมีนาคม 2564 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ดังนี้
		สาระสำคัญ
		ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเดือนมีนาคม 2564 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม  (MPI) ขยายตัวร้อยละ 4.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวครั้งแรกในรอบ 23 เดือน หลังจากได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าและการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์จากผลของฐานต่ำในปี 2563 อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI เดือนมีนาคม 2564 ขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนเดียวของปีก่อน คือ
		1. รถยนต์และชิ้นส่วน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.53 จากฐานต่ำในปีก่อนที่เศรษฐกิจถูกกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ทั้งในประเทศ และประเทศคู่ค้าหลักต่าง ๆ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง
		2. เหล็กและเหล็กกล้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.19 จากฐานต่ำในปีก่อนที่ความต้องการใช้หดตัว ลูกค้าชะลอคำสั่งซื้อหลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รุนแรงขึ้น และปีนี้ได้รับอานิสงส์จากปริมาณเหล็กในตลาดโลกลดลง ทำให้ราคาเหล็กโลกปรับตัวสูงจึงยังมีการเร่งผลิตเพื่อขายทำกำไรในช่วงที่ยังมีภาวะขาดแคลนสินค้า
		3. น้ำตาล เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.89 เนื่องจากปีนี้ปิดหีบช้ากว่าปีก่อน และผลผลิตอ้อยสดปีนี้ มีคุณภาพสามารถหีบสกัดเป็นน้ำตาลได้สูงกว่า ทำให้ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยโดยเฉลี่ยสูงขึ้นกว่าปีก่อน
		4. เฟอร์นิเจอร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.76 จากเครืองเรือนทำด้วยไม้เป็นหลัก เนื่องจากคำสั่งซื้อโต๊ะและเก้าอี้เพื่อส่งออกไปสหรัฐอเมริกาที่มีอย่างต่อเนื่อง
		5. อาหารสัตว์สำเร็จรูป เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.48 จากอาหารสัตว์เลี้ยง สุกร ปลา อาหาร กุ้งสำเร็จรูป และคำสั่งซื้ออาหารแมวส่งออกไปสหรัฐอเมริกาที่มีต่อเนื่อง รวมถึงผู้ผลิตขยายตลาดช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีความต้องการต่อเนื่องจากกลุ่มเกษตรกรเพาะเลี้ยงจิ้งหรืด

11. เรื่อง ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการประกอบธุรกิจออนไลน์และการทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการประกอบธุรกิจออนไลน์และการทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ สภาผู้แทนราษฎร
		คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการประกอบธุรกิจออนไลน์และการทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการประกอบธุรกิจออนไลน์และการทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ สภาผู้แทนราษฎร ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทราบต่อไป
		เรื่องเดิม
		1. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการประกอบธุรกิจออนไลน์และการทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการประกอบธุรกิจออนไลน์และการทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ สภาผู้แทนราษฎร มาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้มีข้อเสนอแนะและข้อสังเกต ได้แก่ 1) ผลกระทบจากการประกาศใช้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) พ.ศ. 2562 ประเด็นการทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (e - Payment) 2) ผลกระทบจากการประกอบธุรกิจออนไลน์ในประเทศไทยผ่านแพลตฟอร์มต่างประเทศ และปัญหาผลกระทบการค้าตรงและการซื้อขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ (e - Commerce) ต่อเศรษฐกิจชุมชน 3) ควรทบทวนและประเมินผลการดำเนินการตามมาตรการของกฎกระทรวง ฉบับที่ 355 (พ.ศ. 2562) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการรายงานข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะ 4) ควรสื่อสารและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบเหตุผลในการจัดเก็บข้อมูลการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์            5) ควรติดตามข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ e - Payment ในภาพรวมที่เกิดขึ้นภายหลังการประกาศและบังคับใช้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) พ.ศ. 2562 6) ควรสนับสนุนการดำเนินการของ Startup ไม่ว่าจะเป็นมาตรการด้านกฎหมาย ภาษี รวมถึงส่งเสริมภาคธุรกิจ และ 7) ควรเน้นการส่งเสริมสนับสนุนให้เกิด Digital infrastructure ควรหาแนวทางส่งเสริมผู้ประกอบธุรกิจ Startup โดยการออกมาตรการทางด้านภาษี
		2. รองนายกรัฐมนตรี (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้กระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานหลักรับรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะและข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะและข้อสังเกตดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
		ข้อเท็จจริง
		กค. เสนอว่าได้ดำเนินการพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ดศ. พณ. สธ. สกท. สคบ. สสว. และ ธปท. โดยพิจารณาข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ตามข้อ 1 แล้ว สรุปผลการพิจารณาได้ ดังนี้
ข้อเสนอแนะและข้อสังเกต	ผลการพิจารณาศึกษา
1. ผลกระทบจากการประกาศใช้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) พ.ศ. 2562 ประเด็นการทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (e - Payment) เช่น
	1.1 หน่วยงานต่าง ๆ ควรบูรณาการเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมร่วมกันในการกำหนดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าต่าง ๆ
	1.2 ควรพิจารณาอนุสัญญาภาษีซ้อนซึ่งเป็นกฎหมายระหว่างประเทศสำหรับการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนในต่างประเทศซึ่งมีรายได้จากการประกอบธุรกิจในประเทศไทย
	1.3 ควรหาแนวทางการดำเนินการทางด้านภาษีเพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำภายในสังคม
	1.4 ควรมีมาตรการทางด้านภาษีเพื่อเพิ่มแรงจูงใจในการเสียภาษี และรายงานข้อมูลต่าง ๆ
	?	หน่วยงานใน กค. ได้บูรณาการร่วมกันในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีนำเข้าสำหรับการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ สำหรับการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจากผู้ประกอบการจดทะเบียนในต่างประเทศที่มีรายได้จากการประกอบธุรกิจในประเทศไทย
?	กค. ได้ดำเนินการตามบทบัญญัติที่กำหนดไว้ในประมวลรัษฎากรประกอบความตกลงหรืออนุสัญญาเพื่อยกเว้นการเก็บภาษีซ้อน
?	กค. มีมาตรการที่มุ่งเน้นการลดความเหลื่อมล้ำทางภาษี เช่น การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ (e - Service) ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ. 2564
?	กค. มีมาตรการเพื่อเพิ่มแรงจูงใจในการเสียภาษี โดยได้พัฒนาการให้บริการในรูปแบบดิจิทัล เช่น Tax From Home ซึ่งให้บริการจดทะเบียน ยื่นแบบแสดงรายการชำระภาษีและคืนภาษีผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์
?	กค. มีการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาษีผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากรและโซเชียลมีเดียอย่างต่อเนื่องแล้ว
2. ผลกระทบจากการประกอบธุรกิจออนไลน์ในประเทศไทยผ่านแพลตฟอร์มต่างประเทศ และปัญหาผลกระทบการค้าตรงและการซื้อขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ (e - Commerce) ต่อเศรษฐกิจชุมชน เช่น
	2.1 ควรเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มโลจิสติกส์ในการจำหน่ายและจัดส่งสินค้าสำหรับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่มีการรวมตัวกันเพื่อนำเสนอขายสินค้าและควรส่งเสริมและสนับสนุนให้ SMEs และผู้ประกอบการชุมชนสามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้ด้วยการให้คำแนะนำเรื่องการขายสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์ควบคู่กันไป
	2.2 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ควรพิจารณาทบทวนกฎหมายในแต่ละฉบับให้เหมาะสมกับปัจจุบัน
	2.3 ควรกำหนดวิธีการยืนยันตัวตนของผู้ขายสินค้า โดยการตรวจสอบข้อมูลบัตรประชาชนไว้เป็นหลักฐาน และเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานราชการ และสร้างช่องทางตรวจสอบความปลอดภัยในการทำธุรกรรมออนไลน์ และหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลธุรกิจออนไลน์ควรสร้างแพลตฟอร์มเฉพาะของหน่วยงานตนเองขึ้น เพื่อมีข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มมิจฉาชีพและจัดเก็บไว้เป็นศูนย์กลางสำหรับให้ผู้บริโภคได้เข้าถึง
	2.4 ควรกำหนดเงื่อนไขเพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ Startup ของประเทศไทยให้มีศักยภาพ และมีมาตรการภาษีที่เหมาะสม	?	พณ. ได้สนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ด้วยการเข้าไปแนะนำการขายสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น โครงการและกิจกรรมพัฒนาศักยภาพ ผู้ประกอบการให้ใช้ e - Commerce เป็นช่องทางในการขยายตลาดโครงการพัฒนาชุมชนอิจฉริยะออนไลน์ และโครงการพัฒนาสินค้าชุมชนเข้าสู่ตลาดออนไลน์ อย่างไรก็ตาม สสว. ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมจากการสำรวจข้อมูลผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในปีงบประมาณ 2563 พบว่า ผู้ประกอบการรายย่อยส่วนใหญ่ไม่มีความพร้อมในการปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล และผู้ประกอบการต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือ
?	สธ. โดย อย. ได้มีแผนปรับปรุงกฎหมายให้ทันต่อสถานการณ์
?	สคบ. ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบธุรกิจออนไลน์และการทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ให้กับผู้บริโภคโดยใช้กลไกตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 และในด้านการติดตามข้อมูลการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์
?	กค. ได้มีมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ (New Start-up) ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 658) พ.ศ. 2561 กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับกำไรสุทธิของผู้ประกอบการรายใหม่ที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2561 เป็นระยะเวลา 5 รอบระยะเวลาบัญชี นับแต่วันที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดี
3. ควรทบทวนและประเมินผลการดำเนินการตามมาตรการของกฎกระทรวง ฉบับที่ 355 (พ.ศ. 2562) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการรายงานข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะ	?	กค. จะพิจารณาทบทวนและประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายโดยให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 ต่อไป
4. ควรสื่อสารและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบเหตุผลในการจัดเก็บข้อมูลการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อลดความกังวลเกี่ยวกับแนวทางและเหตุผลในการจัดเก็บข้อมูลทางด้านการเงิน	?	ธปท. ได้จัดทำคู่มือสำหรับประชาชนชี้แจงรายละเอียดและขั้นตอนในการขออนุญาตประกอบธุรกิจ รวมถึงกรอบเวลาในการพิจารณา และได้พัฒนาระบบ e - Application เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ประกอบธุรกิจในการติดต่อสื่อสารและการนำส่งเอกสารคำขอ
5. ควรติดตามข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ e - Payment ในภาพรวมที่เกิดขึ้นภายหลังการประกาศและบังคับใช้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) พ.ศ. 2562	?	ข้อมูลของ ธปท. พบว่าปริมาณการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e - Payment) ในปี 2563 ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกเดือน เนื่องจากการทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบันสะดวกและช่วยเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการในการเข้าถึงผู้บริโภค อีกทั้งสร้างประวัติทางการเงินที่ดีของผู้รับเงินและผู้จ่ายเงินซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสของผู้ประกอบการในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ทั้งนี้ ในปี 2564 หน่วยงานที่มีหน้าที่รายงานธุรกรรมลักษณะเฉพาะตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) พ.ศ. 2562 จะต้องจัดทำรายงานธุรกรรมลักษณะเฉพาะของปี 2563 ตามข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 และรายงานต่อกรมสรรพากรอันจะทำให้กรมสรรพากรได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์สมตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
6. รัฐบาลควรสนับสนุนการดำเนินการของ Startup ไม่ว่าจะเป็นมาตรการด้านกฎหมาย ภาษี รวมถึงส่งเสริมภาคธุรกิจ	?	สกท. ได้ส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล เช่น กิจการพัฒนา Embedded Software กิจการพัฒนา Enterprise Software และ/หรือ Digital Content กิจการพัฒนาซอฟแวร์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูง (High Value-added Software) กิจการให้บริการเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Services) กิจการศูนย์บ่มเพาะด้านนวัตกรรม (Innovation Incubation Center) และกิจการ Maker Space หรือ Fabrication Laboratory เป็นต้น โดยให้สิทธิและประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 5 ถึง 8 ปี ทั้งยังได้กำหนดวีซ่าประเภทพิเศษ (SMART Visa) เพื่อดึงดูดผู้ประกอบการ Startup ต่างชาติให้มาดำเนินธุรกิจในประเทศไทย และให้สิทธิและประโยชน์ทางภาษีเงินได้นิติบุคคลแก่ผู้ประกอบการ SMEs ด้วย
7. รัฐบาลควรเน้นการส่งเสริมสนับสนุนให้เกิด Digital infrastructure ควรหาแนวทางส่งเสริมผู้ประกอบธุรกิจ Startup โดยการออกมาตรการทางด้านภาษี	?	ดศ. ได้ดำเนินมาตรการที่เน้นการสร้าง Digital Infrastructure รวมทั้งจัดกิจกรรมส่งเสริมผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชนตั้งแต่ปี 2562 ด้วยหลักสูตรความรู้ ซึ่งปัจจุบันได้นำไปขยายผลกับสถาบันการศึกษา



12. เรื่อง การยกเลิกคำสั่งการเลื่อนและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้นของข้าราชการที่เสียชีวิต
		คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการพิจารณาข้อหารือ เรื่อง การยกเลิกคำสั่งการเลื่อนและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้นของข้าราชการที่เสียชีวิต ของคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง (เรื่องเสร็จที่ 497/2564) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เสนอ และให้สำนักงาน ก.พ. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาให้มีการกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการขององค์กรกลางบริหารงานบุคคลข้าราชการประเภทต่าง ๆ ให้เป็นไปด้วยความรวดเร็วทำนองเดียวกับที่มีการกำหนดระยะเวลาการสอบสวนทางวินัย การพิจารณาอุทธรณ์ หรือการร้องทุกข์ ตามที่คณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองเสนอ
		ข้อเท็จจริง
		สคก. เสนอว่า
		1. สืบเนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ขอให้ สคก. ให้ความเห็นในปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการยกเลิกคำสั่งการเลื่อนและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้นของข้าราชการที่เสียชีวิต โดยสรุปข้อเท็จจริงได้ดังนี้
 			1.1 นางวรรณารัตน์ สุคนธนิตย์ ตำแหน่งนิติกร 7 ว ได้รับการเลื่อนตำแหน่งและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนิติกร 8 ว ตามคำสั่งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครปฐม เขต 2 ที่ 142/2552 เรื่อง เลื่อนบุคลากรทางการศึกษาอื่น ลงวันที่ 20 เมษายน 2552 และต่อมาได้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2556 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฯ จึงได้สั่งจ่ายเงินบำเหน็จตกทอดให้แก่ทายาทในอัตราเงินเดือนเดือนสุดท้ายของตำแหน่งนิติกร 8 ว
 			1.2 สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (สำนักงาน ก.ค.ศ.) ได้มีหนังสือถึงสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฯ เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2557 แจ้งว่า การเลื่อนและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนิติกร 8 ว ของนางวรรณารัตน์ฯ ไม่ถูกต้อง เนื่องจากนางวรรณารัตน์ฯ มีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กำหนด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฯ จึงได้ยกเลิกคำสั่งเลื่อนและแต่งตั้งนางวรรณารัตน์ฯ ให้ดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้นตามข้อ 1.1 และได้ออกคำสั่งแก้ไขการเลื่อนเงินเดือนของนางวรรณารัตน์ฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 ? 2556 และได้มีหนังสือถึงกรมบัญชีกลาง เมื่อวันที่                 17 พฤศจิกายน 2557 เพื่อหารือเกี่ยวกับการออกคำสั่งแก้ไขการเลื่อนเงินเดือนของนางวรรณารัตน์ฯ
				กรมบัญชีกลางได้ตอบข้อหารือดังกล่าวไปยังสำนักงาน ก.ค.ศ. เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2558 ว่า สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฯ ต้องแก้ไขการจ่ายเงินบำเหน็จตกทอดให้แก่ทายาทโดยคำนวณบำเหน็จตกทอดจากอัตราเงินเดือนเดือนสุดท้ายที่มีการแก้ไขใหม่ คูณด้วยเวลาราชการของผู้ตาย และหากได้จ่ายบำเหน็จตกทอดให้กับทายาทไปแล้ว ส่วนราชการก็ต้องเรียกเงินบำเหน็จตกทอดที่ได้จ่ายให้กับทายาทในส่วนที่เกินสิทธิคืน
			1.3 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฯ ได้มีหนังสือแจ้งทายาทของนางวรรณารัตน์ฯ เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2559 ให้ส่งคืนเงินบำเหน็จตกทอดที่ได้รับเกินสิทธิ และได้ทวงถามอีกครั้งเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2561 และต่อมาทายาทของนางวรรณารัตน์ฯ ได้มีหนังสือถึงสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฯ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2561 โต้แย้งว่าการยกเลิกคำสั่งเลื่อนตำแหน่งตามข้อ 1.2 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย สพฐ. จึงได้หารือปัญหาดังกล่าวต่อ สคก. เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564
		2. สคก. โดยคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองได้พิจารณาข้อเท็จจริงตามข้อ 1. แล้วมีความเห็นสรุปได้ดังนี้
			2.1 คำสั่งเลื่อนและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้นของนางวรรณารัตน์ฯ เป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ซึ่งเมื่อปรากฏว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงต้องถูกเพิกถอนตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ที่บัญญัติให้คำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอาจถูกเพิกถอนทั้งหมดหรือบางส่วน โดยจะให้มีผลย้อนหลังหรือไม่ย้อนหลัง หรือมีผลในอนาคตไปถึงขณะใดขณะหนึ่งตามที่กำหนดได้ อย่างไรก็ตาม มาตรา 50 ไม่ได้กำหนดห้ามเพิกถอนคำสั่งในกรณีที่คู่กรณีตามคำสั่งดังกล่าวเสียชีวิตไปก่อนแล้ว ดังนั้น การยกเลิกคำสั่งเลื่อนและแต่งตั้งนางวรรณารัตน์ฯ ให้ดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้นตามข้อ 1.2 จึงสามารถกระทำได้
 			2.2 โดยที่มาตรา 30 (6) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ประกอบกับ (1) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 กำหนดให้การออกคำสั่งในกรณีที่ให้พ้นจากตำแหน่งได้รับยกเว้นไม่ต้องแจ้งให้คู่กรณีทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมีโอกาสโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐาน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฯ จึงไม่จำต้องแจ้งให้นางวรรณารัตน์ฯ ในฐานะคู่กรณีทราบข้อเท็จจริงและมีโอกาสโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานแต่อย่างใด ประกอบกับมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้คำสั่งทางปกครองให้มีผลใช้ยันต่อบุคคลตั้งแต่ขณะที่ผู้นั้นได้รับแจ้งเป็นต้นไป
 				เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฯ ได้มีหนังสือแจ้งการยกเลิกคำสั่งเลื่อนและแต่งตั้งนางวรรณารัตน์ฯ ให้ดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้นตามข้อ 1.2 ไปพร้อมกับการเรียกให้ทายาทของนางวรรณารัตน์ฯ คืนเงินบำเหน็จที่ได้รับไปเกินสิทธิ จึงถือว่าสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฯ ได้แจ้งคำสั่งให้แก่ผู้สืบสิทธิของนางวรรณารัตน์ฯ ทราบแล้วตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง ดังนั้น คำสั่งยกเลิกคำสั่งเลื่อนและแต่งตั้งนางวรรณารัตน์ฯ ให้ดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้น จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้ สำหรับกรณีที่หนังสือดังกล่าวไม่มีการแจ้งสิทธิในการอุทธรณ์ให้ทายาทของนางวรรณารัตน์ฯ ทราบนั้น ไม่มีผลกระทบต่อความสมบูรณ์ของคำสั่งทางปกครองแต่อย่างใด เพียงแต่ส่งผลให้ระยะเวลาสำหรับการอุทธรณ์ขยายเป็นหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งทางปกครองตามมาตรา 40 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวเท่านั้น ดังนั้น เมื่อคำสั่งยกเลิกคำสั่งเลื่อนและแต่งตั้งนางวรรณารัตน์ฯ ให้ดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้นตามข้อ 1.2 เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฯ จึงสามารถเรียกคืนเงินบำเหน็จตกทอดส่วนที่เกินสิทธิจากทายาทของนางวรรณารัตน์ฯ ได้
		3. คณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า การดำเนินการของหน่วยงานผู้รับผิดชอบเรื่องนี้มีความล่าช้ามาก กล่าวคือ เมื่อรวมระยะเวลาตั้งแต่เลื่อนและแต่งตั้งนางวรรณารัตน์ฯ โดยไม่ถูกต้อง จนกระทั่ง สพฐ. มีหนังสือหารือมายังคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ใช้ระยะเวลาถึง 12 ปี การที่หน่วยงานผู้มีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการล่าช้าเช่นนี้ ส่งผลให้เกิดปัญหาที่เป็นที่มาของข้อหารือนี้ ซึ่งหากดำเนินการโดยรวดเร็ว ปัญหาก็จะไม่เกิดขึ้น
			คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้มีการกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการขององค์กรกลางบริหารงานบุคคลข้าราชการประเภทต่าง ๆ ให้เป็นไปด้วยความรวดเร็วทำนองเดียวกับที่มีการกำหนดระยะเวลาการสอบสวนทางวินัย การพิจารณาอุทธรณ์ หรือการร้องทุกข์ไว้ด้วย

13. เรื่อง ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การพัฒนาเศรษฐกิจการเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวฝั่งอันดามันสู่อ่าวไทย ของคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร
		คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การพัฒนาเศรษฐกิจการเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวฝั่งอันดามันสู่อ่าวไทย ของคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทราบต่อไป
		เรื่องเดิม
		1. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (สผ.) ได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การพัฒนาเศรษฐกิจการเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวฝั่งอันดามันสู่อ่าวไทย ของคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร มาเพื่อดำเนินการโดยคณะกรรมาธิการฯ ได้มีข้อสังเกต รวม 6 ประเด็น ได้แก่ 1) แนวทางการพัฒนากลไกภาครัฐที่เกี่ยวข้อง (2) แนวทางการพัฒนาความพร้อมด้านเส้นทางคมนาคม (3) แนวทางการพัฒนาสื่อและช่องทางการประชาสัมพันธ์ (4) แนวทางการกำหนดสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการ และชุมชนท้องถิ่น (5) แนวทางการกำหนดเส้นทางการท่องเที่ยวเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวฝั่งอันดามันสู่อ่าวไทย (6) แนวทางการท่องเที่ยวยุค New Normal
		2. รองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ คค. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานและข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานและข้อสังเกตดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
		ข้อเท็จจริง
		คค. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณารายงานและข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ โดยสรุปผลการพิจารณาดังนี้
ข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ	ผลการพิจารณา
1. แนวทางการพัฒนากลไกภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
	ควรมีการกำหนดแผนบูรณาการเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวฝั่งอันดามันสู่อ่าวไทย โดยมีลักษณะเป็นแผนภาพรวมที่มีการวิเคราะห์ สังเคราะห์ ความสอดคล้องของแผนที่ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด		เห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ โดย กก. เห็นว่าควรมีการศึกษาเพิ่มเติมในประเด็น ?สร้างความหลากหลายด้านการท่องเที่ยว? เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 - 2580) โดยเน้นการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ และวัฒนธรรม และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (จากน้ำพุร้อนอันดามัน สู่สปา ณ อ่าวไทย) อันจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมและพัฒนาการเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวฝั่งอันดามันสู่อ่าวไทยมากยิ่งขึ้น
2. แนวทางการพัฒนาความพร้อมด้านเส้นทางคมนาคม
	ควรเร่งรัดผลักดันโครงการสร้างถนนสายรอง เพื่อเชื่อมต่อกับทางหลวงแผ่นดินสู่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญในภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดชุมพรถึงจังหวัดสงขลา		เห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ โดย สศช. เห็นว่า การพัฒนาระบบคมนาคมต้องคำนึงถึงความสะดวก และความเชื่อมโยงของรูปแบบการคมนาคมในระบบต่าง ๆ โดยต้องดำเนินการให้เชื่อมโยงไปสู่แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม การพัฒนาระบบคมนาคมอาจต้องพิจารณาถึงวัตถุประสงค์อื่นนอกเหนือจากการท่องเที่ยวด้วย เช่น การเดินทางของคนในพื้นที่และการขนส่งสินค้าระหว่างพื้นที่
3. แนวทางการพัฒนาสื่อและช่องทางการประชาสัมพันธ์
	ควรมีการพัฒนารูปแบบการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวจากฝั่งอันดามันสู่ฝั่งอ่าวไทยให้เข้าสู่สากล		เห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ  โดย สศช. เห็นว่า การกำหนดแนวทางการส่งเสริมผู้ประกอบการให้พัฒนาศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวควรควบคู่ไปกับการเชื่อมโยงพื้นที่ท่องเที่ยว เนื่องจากปัจจุบันการท่องเที่ยวฝั่งอ่าวไทยยังไม่แพร่หลาย และมีจำนวนนักท่องเที่ยวไม่มากนัก จึงอาจไม่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวจำนวนมากได้
4. แนวทางการกำหนดสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการ และชุมชนท้องถิ่น
	ควรกำหนดนโยบายในการสนับสนุนและกระตุ้นการท่องเที่ยวในรูปแบบของการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี 		เห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ โดย สศช. เห็นว่า การให้สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการอาจต้องพิจารณากำหนดระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ที่แน่นอน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวมในระยะยาวได้
5. แนวทางการกำหนดเส้นทางการท่องเที่ยวเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวฝั่งอันดามันสู่อ่าวไทย
	ควรมีการศึกษาและรวบรวมข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวสำคัญตามเส้นทางเชื่อมโยงการท่องเที่ยวฝั่งอันดามันสู่อ่าวไทย		เห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ โดย คค. ได้ดำเนินการบูรณะเส้นทางคมนาคมสายหลักในการเดินทางสู่ภาคใต้ คือทางหลวงหมายเลข 4 และ 41 เริ่มต้นจาก อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ - อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง มาตั้งแต่ปี 2558
6. แนวทางการท่องเที่ยวยุค New Normal 	ควรมีมาตรการรักษาความสะอาด ความปลอดภัยในทุกขั้นตอนของสายการบิน โรงแรมที่พักต่าง ๆ และสถานที่ท่องเที่ยว		เห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ โดย คค. เห็นควรเร่งรัดปรับปรุงรักษาโครงข่ายถนนให้อยู่ในสภาพดี มีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยว พร้อมทั้งยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยให้อยู่ในระดับสากล
ทั้งนี้ คค. มีความเห็นเพิ่มเติมว่า คค. มีแผนงาน/โครงการ ที่จะสนับสนุนให้เกิดการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมจากฝั่งอันดามันสู่อ่าวไทย ด้วยระบบการขนส่งทางบก (ถนนและราง) ทางน้ำ ด้วยการผลักดันการพัฒนาท่าเทียบเรือทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทย และทางอากาศด้วยการสนับสนุนให้มีการเพิ่มสายการบินและเที่ยวบินจากต่างพื้นที่ (ในประเทศและต่างประเทศ) มายังพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอันดามันและอ่าวไทย ซึ่ง คค. จะได้ใช้ข้อมูลในรายงานการศึกษาฯ ดังกล่าว เพื่อกำกับและเร่งรัดติดตามการดำเนินโครงการของหน่วยงานในสังกัดต่อไป

14. เรื่อง ผลการพิจารณาญัตติกรณีชาวต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งตรวจพบการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เพื่อเป็นแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ของสภาผู้แทนราษฎร
		คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณาญัตติกรณีชาวต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งตรวจพบการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เพื่อเป็นแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ของสภาผู้แทนราษฎร ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทราบต่อไป
		เรื่องเดิม
		1. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้เสนอญัตติกรณีชาวต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งตรวจพบการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เพื่อเป็นแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ของสภาผู้แทนราษฎร มาเพื่อดำเนินการ โดยสภาผู้แทนราษฎรได้มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกรณีชาวต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งตรวจพบการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เพื่อเป็นแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ดังนี้ 1) มาตรการในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 2) มาตรการให้ความช่วยเหลือ และการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และ 3) ข้อเสนอแนะอื่น ๆ เช่น รัฐบาลโดยศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ควรมีการซักซ้อมแผนเนื่องจากการควบคุมโรคจะต้องมีกิจกรรมที่ต้องกระทำระหว่างหน่วยงานจำนวนมาก อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ กองทัพอากาศ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด
		2. รองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี พิจารณาแล้วมีคำสั่งให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นหน่วยงานหลักรับข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของสภาผู้แทนราษฎร ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงกลาโหม (กห.) กระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงคมนาคม (คค.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงแรงงาน (รง.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อสังเกตและข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
		ข้อเท็จจริง
		สธ. ได้ดำเนินการตามคำสั่งรองนายกรัฐมนตรีตามข้อ 2 โดยสรุปผลการพิจารณาได้ ดังนี้
ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ	ผลการพิจารณา
1. มาตรการในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
	1.1 ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ต้องไม่ปิดบังข้อมูลเพราะจะสร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชน ต้องสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นความจริง สร้างความรู้ ความเข้าใจ และแนวทางการปฏิบัติที่ถูกต้องให้กับประชาชน




	1.2 ไม่ควรยกเลิกข้อกำหนดซึ่งออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 12) เพราะจะนำไปสู่การปิดประเทศ แต่ควรทบทวนถึงความผิดพลาด บกพร่องของข้อกำหนดดังกล่าวที่ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานไม่ทราบหรือไม่เข้าใจ


	ศบค. ได้มีการชี้แจงสร้างการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชนเกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามหลักการด้านสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย อีกทั้งเพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนก กรณีถ้าพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในพื้นที่โดยการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ กรมประชาสัมพันธ์และศูนย์ปฏิบัติการต่าง ๆ ได้จัดทำเนื้อหา (Content) หรืออินโฟกราฟฟิก (Infographic) ในประเด็นที่ต้องการชี้แจงประชาชนเป็นการเร่งด่วน ซึ่งมีเนื้อหาที่ถูกต้องและเพียงพอที่จะทำให้ประชาชนมีความเข้าใจที่ถูกต้องและทันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในทุกเวลา เพื่อให้ประชาชนคลายความตระหนกและเป็นการป้องกันการเผยแพร่และขยายผลของข่าวปลอมอีกช่องทางหนึ่ง
	ศบค. ได้มีการทบทวนและปรับปรุงมาตรการป้องกันโรคสำหรับผู้ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรให้มีความชัดเจนและรัดกุมมากยิ่งขึ้น ซึ่งประกาศเป็นข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 13) ประกาศ ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2563 และคำสั่ง ศบค. ที่ 8/2563 สั่ง ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2563 มาจนถึงปัจจุบัน

2. มาตรการให้ความช่วยเหลือและการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ
	2.1 รัฐบาลจะต้องเยียวยาดูแลผู้ได้รับผลกระทบไม่ว่าจะเป็นประชาชน ผู้ประกอบการ และผู้ประกอบธุรกิจ และจะต้องเล็งเห็นความสำคัญในการกระตุ้นการท่องเที่ยว โดยดำเนินการไปพร้อมกับการป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดของโรค
	2.2 การเยียวยาของภาครัฐที่ยังไม่ครอบคลุมทั่วถึงกลุ่มเปราะบาง ผู้พิการ ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งปัจจุบันยังรอเงินเยียวยาจากรัฐบาลที่ประกาศว่าจะเยียวยาให้ ขอให้เร่งดำเนินการตามที่ประกาศไว้

	กก. ได้จัดกิจกรรมเพื่อเป็นการเรียกความเชื่อมั่นแก่นักท่องเที่ยวและฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยการสร้างบรรยากาศในการเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ อาทิ กิจกรรม Happy Bike ไร้โควิดปั่นจักรยานท่องเที่ยว ?ตามประแส? ส่งเสริมให้กลุ่มชาวต่างชาติที่ทำงานและพำนักในไทยท่องเที่ยวมากขึ้น พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมและขับเคลื่อนการเปิดประเทศ การท่องเที่ยวแบบชีวิตวิถีใหม่ เพื่อขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจภายใต้ความปลอดภัยตามมาตรการทางสาธารณสุขอย่างสมดุล
	กค. โดยกรมศุลกากร มีมาตรการในการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และผู้ประกอบการผลิตในประเทศ รวมถึงลดต้นทุนการผลิตในประเทศ โดยเสนอแก้ไขประกาศกระทรวงการคลังฯ เพื่อยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับสินค้าหน้ากากและวัตถุดิบที่นำมาใช้ผลิตของดังกล่าว ได้แก่ หน้ากากชนิดที่ใช้ในห้องผ่าตัด หน้ากากกรองฝุ่น หมอกควัน หรือสารพิษ รวมทั้งอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยและวัตถุดิบที่นำเข้ามาผลิตเป็นหน้ากากและอุปกรณ์ดังกล่าวตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ กค. กำหนด
	พม. ได้มีมาตรการให้ความช่วยเหลือเยียวยากลุ่มเป้าหมาย เช่น การช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคมกรณีฉุกเฉิน การสงเคราะห์ครอบครัวคนพิการ การฝึกทักษะอาชีพแก่ผู้มีรายได้น้อย สตรี หรือผู้สนใจ รวมถึงการปรับปรุง ซ่อมแซมที่อยู่อาศัยแก่คนพิการหรือผู้สูงอายุ การช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัย โดยการเคหะแห่งชาติ พักชำระค่าเช่าซื้อ ระยะเวลา 3 เดือน การปลอดค่าเช่าสำหรับลูกค้าอาคารเช่ารายย่อย รวมทั้งลูกค้าที่เช่าแผงตลาดและร้านค้ารายย่อย ส่วนลดค่าเช่าแผงร้อยละ 50 (ระยะเวลา 3 เดือน)
3. ข้อเสนอแนะอื่น ๆ โดยเห็นว่ารัฐบาลโดย ศบค. ควรมีการซักซ้อมแผน เนื่องจากการควบคุมโรคจะต้องมีกิจกรรมที่ต้องกระทำระหว่างหน่วยงานจำนวนมาก และมาตรการของ ศบค. ทั้ง 11 ข้อที่เป็นเอกสิทธิ์ให้กับชาวต่างชาติ หากรัฐบาลเห็นว่าสมควรจะต้องมีการแก้ไขเพื่อไม่ให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน ก็ขอให้รัฐบาลเร่งแก้ไข		กรมควบคุมโรคจะได้เสนอให้มีการซักซ้อมแผนการดำเนินงานในภาวะฉุกเฉิน แบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานระดับกระทรวง เพื่อให้ทราบบทบาทหน้าที่ที่ชัดเจน และเกิดความเข้าใจในการเรียกใช้แผนตอบโต้ภาวะฉุกเฉินในแต่ละด้าน โดยมีการเชื่อมโยงการดำเนินงานในทุกมิติ ได้แก่ มิติด้านสุขภาพ มิติด้านความมั่นคง มิติด้านสังคม และมิติด้านเศรษฐกิจ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถตอบโต้ภาวะฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทันต่อสถานการณ์
	รัฐบาล โดย ศบค. ได้มีการทบทวนและปรับปรุงมาตรการสำหรับผู้ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ทั้ง 11 ประเภท โดยประกาศเป็นข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 13)

15. เรื่อง ขออนุมัติก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 - 2565 สำหรับโครงการจ้างที่ปรึกษาเพื่อติดตามประเมินผลแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563
		คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 - 2565 สำหรับโครงการจ้างที่ปรึกษาเพื่อติดตามประเมินผลแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พระราชกำหนดกู้เงินฯ พ.ศ. 2563) ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ในกรอบวงเงิน 37.967 ล้านบาท โดยผูกพันปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 - 2565 ดังนี้
ปีงบประมาณ พ.ศ.	งบประมาณ (ล้านบาท)
2564	7.593
2565	30.374
รวมทั้งสิ้น	37.967
		สาระสำคัญของเรื่อง
		กค. รายงานว่า
		1. ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการประเมินผลการใช้จ่ายเงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 ข้อ 4 และข้อ 5 (3) กำหนดให้มีคณะกรรมการประเมินผลการใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนด (คณะกรรมการประเมินผล) โดยมี สบน. รับผิดชอบงานวิชาการและธุรการของคณะกรรมการประเมินผล และให้คณะกรรมการประเมินผลมีหน้าที่และอำนาจจัดให้มีการประเมินผลโครงการภายใต้พระราชกำหนดกู้เงินฯ พ.ศ. 2563 และจัดทำรายงานการประเมินผลโครงการดังกล่าวเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบทุก           6 เดือน รวมถึงรายงานการกู้เงินตามมาตรา 10 แห่งพระราชกำหนดกู้เงินฯ พ.ศ. 2563 ที่กระทำในปีงบประมาณที่ล่วงมาแล้วให้รัฐสภาทราบต่อไป ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่บัญญัติให้เมื่อใดมีการใช้จ่ายเงินกู้ของรัฐบาลนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ หรือการกู้เงินเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินนอกเหนือจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีแล้ว ให้มีการติดตามประเมินผล และรายงานผลการใช้จ่ายเงินกู้
		2. กค. (สบน.) จึงได้จัดทำโครงการจ้างที่ปรึกษาเพื่อติดตามประเมินผลแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดกู้เงินฯ พ.ศ. 2563 เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการประเมินผลตามระเบียบกระทรวงการคลังข้างต้น และเพื่อให้ กค. สามารถดำเนินการติดตาม ประเมินผลการใช้จ่ายเงินกู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถรายงานผลการประเมินโครงการดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการวางนโยบายของรัฐบาล ทั้งนี้ ข้อมูล ณ วันที่ 12 พฤษภาคม 2564 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการภายใต้พระราชกำหนดกู้เงินฯ พ.ศ. 2563 แล้ว จำนวน 287 โครงการ วงเงินรวม 833,475.355 ล้านบาท และโครงการทั้งหมดมีการกำหนดแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 โดยโครงการจ้างที่ปรึกษาดังกล่าวมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ	รายละเอียดโดยสรุป
1. วัตถุประสงค์	1) เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการ รวมทั้งรายงานปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินโครงการ
2) เพื่อประเมินผลโครงการ แผนงานหรือโครงการ รวมทั้งประเมินผลลัพธ์หรือผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในภาพรวม
3) จัดทำข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานในภาพรวม แผนงานหรือโครงการ รวมทั้งถอดบทเรียนจากผลลัพธ์ของการดำเนินการเพื่อเป็นกรอบนโยบายและการกำหนดมาตรการของรัฐบาลในอนาคต
2. ขอบเขตการดำเนินงาน	1) จัดทำกรอบแนวคิดในการประเมินผล โดยครอบคลุมประเด็นที่จะประเมินหลักเกณฑ์ แนวทาง รูปแบบ วิธีการและเครื่องมือที่เหมาะสม รวมทั้งหลักเกณฑ์การประเมินผลเป็นไปตามมาตรฐานสากล 5 ด้าน ได้แก่ ความสอดคล้อง ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ผลกระทบ และความยั่งยืนตามความเหมาะสมของการประเมินในระดับต่าง ๆ ได้แก่
	(1.1) ระดับผลกระทบ (Impact) ของการใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดกู้เงินฯ พ.ศ. 2563 ต่อเศรษฐกิจและสังคมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
	(1.2) ระดับผลผลิต (Output) ผลลัพธ์ (Outcome) ของการดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดกู้เงินฯ พ.ศ. 2563
	(1.3) ระดับโครงการ โดยประเมินความเชื่อมโยงระหว่างปัจจัยนำเข้า (Input) กิจกรรมหรือกระบวนการ (Process) ผลผลิต (Output) และผลลัพธ์ (Outcome) ของโครงการ ทั้งนี้ ผลการประเมินจะต้องสามารถแสดงให้เห็นถึงความคุ้มค่าของการใช้จ่ายเงินกู้ด้วย
2) จัดเก็บข้อมูลเพื่อใช้ในการศึกษา วิเคราะห์ รวมทั้งการติดตามและประเมินผลการดำเนินแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดกู้เงินฯ พ.ศ. 2563 โดยจัดเก็บข้อมูล 2 ประเภท ดังนี้
	(2.1) จัดเก็บ/รวบรวมข้อมูลทุติยภูมิของโครงการจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ฐานข้อมูลในระบบ eMENSCR ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
	(2.2) จัดเก็บ/รวบรวมข้อมูลปฐมภูมิของโครงการด้วยการสำรวจโครงการต่าง ๆ จากการลงพื้นที่ศึกษาหรือจากกลุ่มเป้าหมายจริง
3) ประเมินผลโครงการ โดยยึดหลักการและกรอบแนวทางตามข้อ 1) และเป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด
4) จัดทำรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการ และการใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดกู้เงินฯ พ.ศ. 2563 รวมถึงปัญหาอุปสรรคและเสนอแนวทางแก้ไข เป็นราย 3 เดือน
5) จัดทำรายงานประเมินผลโครงการและผลสัมฤทธิ์ ประกอบด้วย รายงานประเมินผลโครงการภายใต้พระราชกำหนดกู้เงินฯ พ.ศ. 2563 ราย 6 เดือน และรายงานการประเมินผลลัพธ์หรือผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวม
6) จัดทำแบบจำลองที่ใช้ประเมินผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
7) นำเสนอข้อมูลการติดตามและประเมินผลภาพรวมในรูปแบบการสรุปข้อมูลในหน้าเดียวและเป็นข้อมูลที่ทันสมัย (Dashboard) ภาพเคลื่อนไหว (VDO Animation) และการเล่าเรื่องหรืออธิบายข้อมูลโดยใช้ภาพในการสื่อสาร (Infographics)
8) จัดประชุมและลงพื้นที่ดำเนินโครงการ
9) จัดทำแผนบริหารความเสี่ยงในการดำเนินงานเพื่อให้สามารถส่งมอบงานได้ตามขอบเขตการดำเนินงานและกรอบระยะเวลาที่กำหนด
3. งบประมาณรายจ่าย ระยะเวลาและกิจกรรม	งบประมาณรวม 37.967 ล้านบาท ระยะเวลา 14 เดือน (ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564 - กันยายน 2565) แบ่งเป็น
ปีงบประมาณ	งบประมาณ
(ล้านบาท)	รายละเอียดกิจกรรมที่สำคัญ
พ.ศ. 2564*	7.593	- จัดจ้างที่ปรึกษา (เดือนพฤษภาคม - กรกฎาคม 2564) โดยคาดว่าจะลงนามในสัญญาจ้างในเดือนกรกฎาคม 2564
- การดำเนินโครงการจ้างที่ปรึกษา (เดือนสิงหาคม 2564 - กันยายน 2565) เช่น ลงพื้นที่ดำเนินโครงการ (เดือนกันยายน 2564 - กันยายน 2565) รายงานประเมินโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จทุก 6 เดือน (รายงานครั้งแรกในเดือนกันยายน 2564) รายงานการประเมินผลฉบับสมบูรณ์ (เดือนกันยายน 2565) เป็นต้น
พ.ศ. 2565**	30.374
หมายเหตุ 	* ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น
	** ผูกพันงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
		กค. แจ้งว่า สำนักงบประมาณ (สงป.) พิจารณาแล้ว เห็นชอบให้ กค. (สบน.) ดำเนินโครงการจ้างที่ปรึกษาเพื่อติดตามและประเมินผล แผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดกู้เงินฯ พ.ศ. 2563 ในกรอบวงเงิน 37.967 ล้านบาท และ สงป. ได้นำเรื่องดังกล่าวกราบเรียนนายกรัฐมนตรีทราบด้วยแล้ว โดยให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 7.593 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการดังกล่าวข้างต้นในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 สำหรับค่าใช้จ่ายในปีต่อไป จำนวน 30.374 ล้านบาท ให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ซึ่ง สงป. ได้เสนอตั้งงบประมาณในขั้นร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 รองรับไว้แล้ว แต่เนื่องจากโครงการดังกล่าวมีระยะเวลาการดำเนินงานเกินกว่าหนึ่งปีงบประมาณจึงเป็นกรณีที่จะต้องก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ ตามนัยมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 จึงขอให้ สบน. นำเสนอเรื่องดังกล่าว พร้อมจัดทำรายละเอียดตามนัยมาตรา 27 ของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 เพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติตามขั้นตอนต่อไป

16. เรื่อง ข้อเสนอแนวทางการจัดสรรกรอบอัตรากำลังและกลไกการบริหารจัดการพนักงานราชการเฉพาะกิจ เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19)
		คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอดังนี้
		1. เห็นชอบข้อเสนอแนวทางการจัดสรรกรอบอัตรากำลังและกลไกการบริหารจัดการพนักงานราชการเฉพาะกิจ และผลการจัดสรรกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการเฉพาะกิจ จำนวน 10,000 อัตรา เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
		2. อนุมัติการขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 2,254.32 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างพนักงานราชการเฉพาะกิจเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID - 19 ตามนโยบายของรัฐบาลให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
		เรื่องเดิม
		คณะรัฐมนตรีมีมติ (1 กันยายน 2563) รับทราบรายงานสภาพการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานในราชการพลเรือนในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID - 19 ซึ่งรวมถึงแนวทางเพิ่มโอกาสการจ้างงานผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID - 19 ด้วยระบบพนักงานราชการ ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ โดยมีหลักการสำคัญ คือ ไม่ใช่การจ้างงานประจำ เป็นการจ้างงานระยะสั้น และบรรจุบุคคลเข้าปฏิบัติงานให้เร็วที่สุด ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ (คพร.) จะพิจารณาจัดสรรกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการเป็นกรณีพิเศษให้แก่ส่วนราชการเพื่อจ้างพนักงานราชการได้ไม่เกิน 2 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 - 2565) เน้นการกระจายการจ้างงานลงสู่ระดับพื้นที่ ตลอดจนกำหนดรูปแบบการจ้าง อัตราค่าตอบแทน วิธีการสรรหาและการบริหารการจ้างเป็นการเฉพาะ
		สาระสำคัญของเรื่อง
		สำนักงาน ก.พ. รายงานว่า
		1. สำนักงาน ก.พ. ได้จัดทำแนวทางและวิธีดำเนินการจ้างพนักงานราชการรวมทั้งข้อเสนอแนวทางการจัดสรรกรอบอัตรากำลังและกลไกการบริหารจัดการพนักงานราชการเฉพาะกิจ เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID ? 19 เป็นกรณีเฉพาะ และเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและบรรเทาการว่างงานของบัณฑิตจบใหมในระยะสั้น (1 ปี) เสนอต่อ คพร.
		2. คพร. ในการประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2564 และครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2564 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เป็นประธาน มีมติเห็นชอบข้อเสนอแนวทางการจัดสรรกรอบอัตรากำลังและกลไกการบริหารจัดการพนักงานราชการเฉพาะกิจ และอนุมัติจัดสรรกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการฯ จำนวน 10,000 อัตรา รวมทั้งเห็นชอบงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้าง จำนวน 2,254.32 ล้านบาท และแผนการดำเนินการตามที่ฝ่ายเลขานุการ คพร. เสนอ โดยมอบหมายให้สำนักงาน ก.พ. ดำเนินการขอใช้งบประมาณรายจ่าย งบกลาง และเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
		3. รายละเอียดการดำเนินการ
			3.1 แนวทางการจัดสรรกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการเฉพาะกิจให้ยกเว้นการดำเนินการจัดทำกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการ ในข้อ 16 และข้อ 17 ตามประกาศคณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ เรื่อง การกำหนดลักษณะงานและคุณสมบัติเฉพาะของกลุ่มงานและการจัดทำกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการ พ.ศ. 2554 [เป็นการยกเว้นการดำเนินการตามประกาศฯ ที่กำหนดให้ส่วนราชการจัดทำกรอบอัตรากำลัง แต่ในครั้งนี้ คพร. ได้พิจารณาจัดสรรกรอบอัตรากำลังให้แก่ส่วนราชการเอง โดยส่วนราชการไม่ได้เป็นผู้เสนอขอกรอบอัตรากำลัง] โดยมีรายละเอียดการดำเนินการสรุปได้ ดังนี้
ประเด็น	รายละเอียดการดำเนินการ
1) หลักเกณฑ์การพิจารณาจัดสรรกรอบอัตรากำลังให้แก่ส่วนราชการ	- เป็นหน่วยงานในราชการบริหารส่วนภูมิภาค ระดับจังหวัด หรือหน่วยงานในราชการบริหารส่วนกลางที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคที่เป็นหน่วยปฏิบัติ รวม 14 กระทรวง (28 ส่วนราชการ) ซึ่งมีภารกิจ/งานที่สามารถปฏิบัติให้แล้วเสร็จได้ภายในระยะเวลา 1 ปี
- เป็นส่วนราชการที่มีภารกิจสำคัญ เร่งด่วน ที่ส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง รวมทั้งส่วนราชการที่ให้บริการประชาชน
- พิจารณาตามขนาดของจังหวัด (ขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่) เพื่อให้เกิดการกระจายการจ้างงานและสอดคล้องกับพื้นที่
- ให้ส่วนราชการที่ได้รับจัดสรรกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการเฉพาะกิจสามารถเกลี่ยกรอบอัตรากำลังระหว่างหน่วยงานในราชการบริหารส่วนภูมิภาคระดับจังหวัด หรือหน่วยงานในราชการบริหารส่วนกลางที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคที่เป็นหน่วยปฏิบัติตามที่ คพร. มีมติอนุมัติ เพื่อให้สอดคล้องกับภาระงานที่ต้องปฏิบัติโดยจะต้องรายงานการจัดสรรและการจ้างพนักงานราชการเฉพาะกิจให้ทันตามกำหนดระยะเวลาที่ คพร. กำหนดด้วย
- เพื่อให้การบริหารจัดการกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการเฉพาะกิจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กรณีที่ส่วนราชการไม่สามารถดำเนินการได้ในกรณีใดหรือมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนอื่นใด ให้เป็นอำนาจของ คพร. ในการพิจารณาเห็นชอบแนวทางดำเนินการ หรือกลไกการบริหารจัดการได้ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา
- ให้นำคำขอรับการจัดสรรกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการ รอบที่ 5 (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 - 2567) ของส่วนราชการต่าง ๆ [คณะรัฐมนตรีมีมติ (26 มกราคม 2564) รับทราบ] และลักษณะงานที่ปฏิบัติ รวมทั้งจำนวนอัตรากำลังตามโครงสร้างของหน่วยงานในภูมิภาคมาใช้ประกอบการพิจารณา
2) การกำหนดกลุ่มเป้าหมายและคุณสมบัติของผู้สมัคร	พิจารณาจัดสรรกรอบอัตรากำลังเฉพาะในกลุ่มงานบริหารทั่วไป เพื่อให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายและคุณสมบัติของผู้สมัครที่กำหนดว่า ?จะต้องเป็นผู้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี? [กำหนดตามประกาศคณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ เรื่อง การกำหนดลักษณะงานและคุณสมบัติเฉพาะของกลุ่มงานและการจัดทำกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการ พ.ศ. 2554]
			3.2 การสรรหาและการจ้างงาน
ประเด็น	รายละเอียดการดำเนินการ
1) การสรรหาและเลือกสรรพนักงานราชการเฉพาะกิจ ให้ยกเว้นการดำเนินการตามประกาศคณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการสรรหาและการเลือกสรรพนักงานราชการ และแบบสัญญาจ้างของพนักงานราชการ พ.ศ. 2552 [เป็นการยกเว้นการดำเนินการตามประกาศฯ เฉพาะในส่วนของข้อ 6 (1) วรรคหนึ่ง ที่กำหนดให้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ในการรับสมัคร เช่น ลักษณะงาน กลุ่มงานตามลักษณะงาน เป็นต้น แต่ในครั้งนี้สามารถระบุรายละเอียดดังกล่าวได้อย่างกว้าง ๆ และข้อ 8 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดให้บัญชีรายชื่อผู้ผ่านการเลือกสรรมีอายุต้องไม่เกิน  2 ปี แต่ในครั้งนี้บัญชีรายชื่อพนักงานราชการดังกล่าว ให้มีอายุไม่เกิน 1 ปี สรุปได้ ดังนี้
- การประกาศรับสมัคร










- การขึ้นบัญชีรายชื่อผู้ผ่านการเลือกสรร



- ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการสรรหาและเลือกสรรพนักงานราชการเฉพาะกิจ	- จัดทำประกาศรับสมัคร ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับลักษณะงาน กลุ่มงานตามลักษณะงาน ชื่อตำแหน่ง ความรับผิดชอบของตำแหน่ง ระยะเวลาการจ้าง ค่าตอบแทนที่จะได้รับ คุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัคร และเงื่อนไขการจ้างอื่น ๆ ตลอดจนกำหนดวันและเวลาของกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยอาจระบุหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาและเลือกสรรไว้ในประกาศรับสมัครไว้อย่างกว้าง ๆ (เช่น วิธีการประเมินความรู้ ความสามารถ และทักษะ/สมรรถนะ เป็นต้น) อาจเลือกใช้วิธีใดวิธีหนึ่งหรือหลายวิธี (เช่น การสอบข้อเขียน การสัมภาษณ์ การทดสอบการปฏิบัติ และการพิจารณาแฟ้มผลงาน เป็นต้น) ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้สมัคร เพื่อให้ส่วนราชการพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาให้เหมาะสมกับจำนวนผู้สมัครได้
- ประกาศรับสมัคร สรรหา และบรรจุบุคคลเข้าเป็นพนักงานราชการตามจำนวนกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการฯ ที่ได้รับการจัดสรร โดยให้กำหนดอายุบัญชีไม่เกิน 1 ปี โดยไม่เกินวันที่ 30 กันยายน 2565 ทั้งนี้ บัญชีดังกล่าวกำหนดให้ใช้สำหรับการบรรจุพนักงานราชการเฉพาะกิจเท่านั้น
- อาจดำเนินการสรรหาและเลือกสรรขึ้นกับความพร้อมของส่วนราชการ ได้แก่ (1) ส่วนราชการดำเนินการเอง (2) ส่วนราชการมอบอำนาจให้หน่วยงานประจำจังหวัดดำเนินการ และ (3) หน่วยงานประจำจังหวัดร่วมกับสำนักงานจังหวัดของแต่ละจังหวัดบูรณาการการทำงาน โดยกำหนดวันประกาศและรับสมัครในช่วงระยะเวลาเดียวกันและจัดทำบัญชีแนบท้ายประกาศรับสมัครจากทุกหน่วยงานในคราวเดียวกัน เพื่อให้ผู้สมัครเลือกสมัครในหน่วยงานใดก็ได้ที่มีคุณสมบัติตรงตามประกาศรับสมัคร ทั้งนี้ อาจขอความร่วมมือจากกระทรวงมหาดไทยเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจและเตรียมพร้อมในการประกาศเผยแพร่และรับสมัครพนักงานราชการเฉพาะกิจพร้อมกันทั่วประเทศ
2) การทำสัญญาจ้างพนักงานราชการฯ	- ไม่เกิน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ทำสัญญาจ้าง หรือไม่เกินวันที่ 30 กันยายน 2565 ตามที่ คพร. กำหนด และไม่มีการต่อสัญญาจ้าง
- ให้สรรหาพนักงานราชการเฉพาะกิจรายใหม่ได้ในกรณีที่ตำแหน่งว่างลงระหว่างปี และยังไม่ครบระยะเวลาสิ้นสุดของกรอบอัตรากำลัง โดยมีระยะเวลาที่เหลือจะต้องไม่น้อยกว่า 1 เดือน นับถึงวันสิ้นสุดระยะเวลาของกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการเฉพาะกิจ ณ วันที่ 30 กันยายน 2565
3) การติดตามการจ้างงาน	- ให้รายงานผลการจ้างงาน ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 พร้อมทั้ง
สภาพปัญหาและอุปสรรคที่ทำให้ไม่สามารถจ้างพนักงานราชการเฉพาะกิจได้มายังสำนักงาน ก.พ. ภายในวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 เพื่อฝ่ายเลขานุการ คพร. จะได้รวบรวมเสนอ คพร. ทราบต่อไป
4) การประเมินผลการปฏิบัติงาน	- เมื่อครบรอบการประเมิน ให้ส่วนราชการพิจารณาผลงานและพฤติกรรมการปฏิบัติงานของพนักงานราชการ หากไม่เหมาะสมหรือไม่เป็นไปตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง (เช่น ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยพนักงานราชการ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) อาจเลิกจ้างได้ทันที
5) เงื่อนไขการจ้างงาน	- เป็นไปตามที่ คพร. กำหนด เช่น (1) กรอบอัตรากำลังพนักงานราชการเฉพาะกิจถือเป็นกรอบอัตรากำลังเฉพาะกิจจะไม่นำไปรวมกับกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการปกติหรือกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการเพื่อรองรับการทดแทนอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการด้วยการจ้างงานรูปแบบอื่น ทั้งนี้ เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการจ้าง ณ วันที่ 30 กันยายน 2565 ให้ส่วนราชการยุบเลิกกรอบอัตรากำลังดังกล่าวทันที (2) ห้ามเปลี่ยนแปลงกลุ่มงานใด ๆ ทุกกรณี (3) พนักงานราชการที่ได้รับการจัดสรรในครั้งนี้ไม่สามารถเรียกร้องหรือขอปรับเปลี่ยนสถานภาพเป็นบุคลากรภาครัฐประเภทอื่น และ (4) สิทธิประโยชน์ของพนักงานราชการตามกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการเฉพาะกิจ ให้เป็นไปตามที่ คพร. กำหนด
			3.3 ค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์
ประเด็น	รายละเอียดของการดำเนินการ
1) การกำหนดค่าตอบแทน	- ให้ได้รับค่าตอบแทน 18,000 บาทต่อเดือน ตลอดสัญญาการจ้างงาน [กำหนดตามบัญชีค่าตอบแทนพนักงานราชการในอัตราแรกบรรจุของกลุ่มงานบริหารทั่วไป คุณวุฒิปริญญาตรี ตามนัยประกาศคณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ เรื่อง ค่าตอบแทนของพนักงานราชการ (ฉบับที่ 9)  พ.ศ. 2561]
2) การให้ได้รับสิทธิประโยชน์	- ให้ดำเนินการตามประกาศคณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ เรื่อง สิทธิประโยชน์ของพนักงานราชการ พ.ศ. 2554 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยยกเว้นเฉพาะในส่วนของสิทธิการลาเพื่อไปอุปสมบท หรือประกอบพิธีฮัจญ์ ซึ่งกำหนดไว้ไม่เกิน 120 วัน
		4. แผนการดำเนินการ
			4.1 สำนักงาน ก.พ. แจ้งผลการจัดสรรกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการเฉพาะกิจ ภายในกลางเดือนพฤษภาคม 2564 และให้ส่วนราชการทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ (สงป.)
			4.2 ส่วนราชการเริ่มดำเนินการสรรหาบุคคลเพื่อจ้างเป็นพนักงานราชการเฉพาะกิจ ระหว่างเดือนพฤษภาคม ? มิถุนายน 2564
			4.3 ส่วนราชการรายงานผลการจ้างงาน ภายในวันที่ 16 กรกฎาคม 2564
			4.4 ส่วนราชการรายงานผลสัมฤทธิ์ของการจ้างงาน (ผลผลิต/ผลลัพธ์ของงาน) ภายในวันที่ 30 กันยายน 2565
		5. งบประมาณและแหล่งเงินที่ใช้ในการดำเนินการ ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 2,254.32 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างพนักงานราชการเฉพาะกิจ จำนวน 10,000 อัตรา สรุปได้ ดังนี้
รายการ	ค่าใช้จ่ายในการจ้างพนักงานราชการเฉพาะกิจ
	บาท/คน	ล้านบาท/เดือน	ล้านบาท/ปี
1) ค่าตอบแทนพนักงานราชการ	18,000	180	2,160
2) เงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม 	750	7.5	90
3) เงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทน	36	0.36	4.32
รวมเป็นเงินทั้งสิ้น	18,768	187.86	2,254.32
		6. สงป. แจ้งว่า นายกรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบให้หน่วยรับงบประมาณใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นภายใต้กรอบวงเงินดังกล่าว โดย สงป. มีความเห็นเพิ่มเติม ดังนี้
			6.1 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งมีฐานะเป็นหน่วยรับงบประมาณตามกฎหมายวิธีการงบประมาณและรับผิดชอบการจ้างพนักงานราชการเฉพาะกิจดังกล่าวเป็นผู้เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ตามขั้นตอนของระเบียบต่อไป
			6.2  ให้หน่วยรับงบประมาณที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอน วิธีดำเนินการจ้างพนักงานราชการ และแผนการดำเนินงานที่ คพร. มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2564 อย่างเคร่งครัด โดยปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณภายใต้แผนงานบุคลากรภาครัฐของแต่ละหน่วยรับงบประมาณก่อนเป็นลำดับแรก  รวมทั้งจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อขอทำความตกลงในรายละเอียดกับ สงป. ตามขั้นตอนต่อไป ตลอดจนเร่งดำเนินการจ้างพนักงานราชการเฉพาะกิจให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2564 โดยคำนึงประโยชน์สูงสุดของทางราชการและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ และเห็นสมควรให้สำนักงาน ก.พ. ในฐานะฝ่ายเลขานุการ คพร. ติดตามประเมินผลการดำเนินการ รวมถึงสรุปผลสัมฤทธิ์ ที่ได้รับจากการดำเนินการจ้างและรายงานผลการดำเนินการต่อคณะรัฐมนตรีต่อไปด้วย
การจัดสรรกรอบอัตราพนักงานราชการเฉพาะกิจ

หน่วยงาน	ส่วนกลาง
ที่ตั้งในภูมิภาค (หน่วยงาน)	ส่วนราชการ
ในภูมิภาค
ระดับจังหวัด (หน่วยงาน)	รวม (หน่วยงาน)	การจัดสรร (อัตรา)
กระทรวงการคลัง	205	-		205	1,045
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 	-	76	76	406
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 	-	76	76	406
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 	10	300	310	1,644
กระทรวงคมนาคม 	29	76	105	546
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 	-	76	76	406
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 	-	76	76	406
กระทรวงพลังงาน 	-	76	76	406
กระทรวงมหาดไทย 	-	228	228	1,218
กระทรวงยุติธรรม	-	94	94	505
กระทรวงแรงงาน 	25	304	329	1,774
กระทรวงวัฒนธรรม 	-	76	76	406
กระทรวงสาธารณสุข	-	76	76	406
กระทรวงอุตสาหกรรม	-	76	76	406
รวมทั้งสิ้น	10,000

17. เรื่อง ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุมครั้งที่ 19/2564
		คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุมครั้งที่ 19/2564 เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2564 ที่ได้พิจารณากลั่นกรองความเหมาะสมของข้อเสนอแผนงานหรือโครงการเพื่อขอใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ การพิจารณากลั่นกรองความเหมาะสมของการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้ใช้จ่ายจากเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พระราชกำหนดฯ) และการพิจารณากลั่นกรองความเหมาะสมของการขอยกเลิกโครงการของจังหวัด ดังนี้
		1. อนุมัติโครงการยกระดับการให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชนเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กรอบวงเงิน 101.3936 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงานที่ 1.5 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดฯ และมอบหมายให้กรมการแพทย์เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการ ดำเนินการตามมติคณะกรรมการฯ โดยเคร่งครัด
		2. อนุมัติโครงการยกระดับหน่วยบริการกรมอนามัยรองรับการระบาดของโรค COVID-19 ของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กรอบวงเงิน 128.2432 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงานที่ 1.4 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดฯ และมอบหมายให้กรมอนามัยเป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการ ดำเนินการตามมติคณะกรรมการฯ โดยเคร่งครัด
		3. อนุมัติโครงการจัดหาวัสดุครุภัณฑ์ทางการแพทย์ ของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กรอบวงเงิน 54.8820 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงานที่ 1.2 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดฯ และมอบหมายให้กรมสุขภาพจิตเป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการ ดำเนินการตามมติคณะกรรมการฯ โดยเคร่งครัด
		4. รับทราบผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2564 พร้อมทั้งอนุมัติให้กรมควบคุมโรค ขยายระยะเวลาดำเนินโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับบริการประชาชนในประเทศไทย เพิ่มเติมจำนวน 35 ล้านโดส จากเดิม 5 เดือน (เดือนพฤษภาคม - กันยายน 2564) เป็นระยะเวลา 7 เดือน (เดือนมิถุนายน - ธันวาคม 2564) เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในการจัดซื้อจัดหาและส่งมอบวัคซีน
		5. อนุมัติโครงการปรับปรุง พัฒนาแหล่งน้ำเพื่ออุปโภค บริโภค และการเกษตร ของกรมทรัพยากรน้ำ กรอบวงเงิน 1,826.5307 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงานที่ 3.4 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดฯ และมอบหมายให้กรมทรัพยากรน้ำ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการดำเนินตามมติคณะกรรมการฯ โดยเคร่งครัด
		6. อนุมัติโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ กรอบวงเงิน 601.7511 ล้านบาท และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบกระจายน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ กรอบวงเงิน 497.9658 ล้านบาท ของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรอบวงเงินรวม 1,099.7169 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงานที่ 3.4 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดฯ และมอบหมายให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการดำเนินการตามมติคณะกรรมการฯ โดยเคร่งครัด
		7. อนุมัติให้จังหวัดยโสธรเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของโครงการส่งเสริมการเกษตรแบบผสมผสานโดยจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำในไร่นา โดยเพิ่มพื้นที่หมู่บ้านดำเนินการจากเดิมทั้งหมด 12 หมู่บ้าน เป็น 13 หมู่บ้าน โดยเปลี่ยนแปลงจำนวนหมู่บ้านในพื้นที่ดำเนินการอำเภอเลิงนกทา ตำบลสามัคคี จากเดิมดำเนินการใน 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านไทยเจริญ หมู่ที่ 3 บ้านโคกสะอาด หมู่ที่ 8 และบ้านเกษตรพัฒนา หมู่ที่ 11 เป็น ดำเนินการใน 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านสามัคคี หมู่ที่ 1 บ้านหวาย หมู่ที่ 4 และ15 และบ้านคอนสาย หมู่ที่ 5 และยกเลิกกิจกรรมย่อยแปรรูปข้าว เพื่อสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตและจำหน่ายข้าวเม่า ตำบลสามัคคี อำเภอเลิกนกทา วงเงิน 200,000 บาท ภายใต้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและแปรรูปสินค้าเกษตร ทำให้กรอบวงเงินโครงการปรับลดจาก 3,980,850 บาท เป็น 3,780,850 บาท ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้เห็นชอบตามขั้นตอนแล้ว ทั้งนี้ เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามผลการพิจารณาของคณะกรรมการฯ แล้ว เห็นควรให้จังหวัดยโสธรเร่งดำเนินการแก้ไขข้อมูลโครงการในระบบ eMENSCR โดยเร็ว

18. เรื่อง ขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อใช้ในการดำเนินโครงการจัดซื้อครุภัณฑ์เครื่องจักรกลสำหรับรองรับการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง
		คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 426.472 ล้านบาท ให้กรมชลประทาน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการจัดซื้อครุภัณฑ์เครื่องจักรกลสำหรับรองรับการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง โดยรายละเอียดของแผนการใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เสนอ
		สาระสำคัญ
		1. กรมชลประทานแจ้ง สทนช. ว่าเนื่องจากปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยที่เกิดขึ้นเป็นประจำ และมีแนวโน้มการเกิดซ้ำมากขึ้นทุกปี จึงมีความจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมเครื่องมือเพื่อให้การบริหารจัดการน้ำมีประสิทธิภาพ โดยได้เสนอแผนงาน/โครงการที่มีความพร้อม และมีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อบริหารจัดการน้ำ และเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเกิดภัยแล้งและอุทกภัย ซึ่งเป็นการจัดซื้อครุภัณฑ์เครื่องจักรกล ได้แก่ เครื่องสูบน้ำแบบเคลื่อนที่เร็วขนาดต่าง ๆ เรือกำจัดวัชพืช และรถขุด รวมทั้งสิ้น 38 รายการ วงเงิน 1,468.000 ล้านบาท
		2. สทนช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้พิจารณาข้อมูลแผนงาน/โครงการ ในส่วนวัตถุประสงค์และความจำเป็นของโครงการจัดซื้อครุภัณฑ์เครื่องจักรกลสำหรับรองรับการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง ตามที่กรมชลประทานเสนอ มีความเห็นว่า แผนงานดังกล่าวมีความจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อเตรียมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในฤดูแล้งปี 2563/2564 และเพื่อให้การเตรียมการรองรับปริมาณน้ำฝนในช่วงฤดูฝนปี 2564เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล รวมทั้งเป็นการป้องกันสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ในช่วงต้นเตือนธันวาคม 2563 ซึ่งรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ได้ให้ความเห็นชอบตามที่ สทนช. เสนอ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2563 รวมทั้งกรมชลประทานได้ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดำเนินการตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เรื่องแหล่งงบประมาณที่จะนำมาใช้ในการดำเนินการ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของสำนักงบประมาณด้วยแล้ว
		3. สำนักงบประมาณได้นำกราบเรียนนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2562 ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้กรมชลประทานใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 426.472 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการจัดซื้อครุภัณฑ์เครื่องจักรกลสำหรับรองรับการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง รวม 24 รายการ จำนวน 32 เครื่อง ประกอบด้วย
			(1) เครื่องสูบน้ำแบบเคลื่อนที่เร็ว ขับด้วยระบบไฮดรอลิค ขนาด 24 นิ้ว 8 รายการ จำนวน 8 เครื่อง งบประมาณ 62.848 ล้านบาท
			(2) เครื่องสูบน้ำแบบเคลื่อนที่เร็ว ขับด้วยระบบไฮดรอลิค ขนาด 30 นิ้ว 8 รายการ จำนวน 16 เครื่อง งบประมาณ 188.544 ล้านบาท
			(3) เครื่องสูบน้ำแบบเคลื่อนที่เร็ว ขับด้วยระบบไฮดรอลิค ขนาด 42 นิ้ว 8 รายการ จำนวน 8 เครื่อง งบประมาณ 175.080 ล้านบาท
		สำหรับส่วนที่เหลือ จำนวน 89 เครื่อง/ลำ/คัน ขอให้กรมชลประทานเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป รวมทั้งพิจารณาใช้จ่ายจากเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการชลประทานที่จะจัดเก็บได้ในอนาคตในโอกาสแรกด้วย

19. เรื่อง การขยายระยะเวลาการดำเนินการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในคนต่างด้าวที่ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563
		คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการการขยายระยะเวลาการดำเนินการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 การประกันสุขภาพ และการขออนุญาตทำงาน ในคนต่างด้าวที่ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 เรื่อง การผ่อนผันให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นกรณีพิเศษ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 เรื่อง ทบทวนแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ และการบริหารจัดการผู้ต้องกัก และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564 เรื่อง การขยายระยะเวลาการดำเนินการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และการจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคลในคนต่างด้าว ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้
		1. กระทรวงมหาดไทย ดำเนินการ ดังนี้
			1.1 กระทรวงมหาดไทย ออกประกาศปรับปรุงแก้ไขประกาศกระทรวงมหาดไทยซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่                 29 ธันวาคม 2563 (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 และประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2564 เพื่อให้คนต่างต้าวดำเนินการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 การประกันสุขภาพ และการขออนุญาตทำงาน ได้ถึงวันที่               13 กันยายน 2564
		ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยได้ยกร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 (ฉบับที่ ...)
			1.2 ให้กรมการปกครองและกรุงเทพมหานคร ดำเนินการจัดทำทะเบียนประวัติให้กลุ่มคนต่างด้าวที่ลงทะเบียนไม่มีงานทำ ได้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565
		2. กระทรวงแรงงาน ดำเนินการ ดังนี้
			2.1  กระทรวงแรงงาน ออกประกาศปรับปรุงแก้ไข ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ซึ่งแก้โขเพิ่มเติมโดย ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26มกราคม 2564 (ฉบับที่ 2)               ลงวันที่ 8 เมษายน พ ศ. 2564 เพื่อให้คนต่างด้าวดำเนินการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 การประกันสุขภาพ                      และการขออนุญาตทำงาน ได้ถึงวันที่ 13 กันยายน 2564 และกรณีคนต่างด้าวซึ่งยังไม่มีงานทำแต่ประสงค์จะทำงาน ให้ยื่นคำร้องขอจัดทำทะเบียนประวัติตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรที่สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร                ศูนย์บริหารการทะเบียนภาค สาขาจังหวัดหรือสถานที่อื่นที่กรมการปกครองกำหนด ได้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565
		ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้ยกร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะสำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 (ฉบับที่ ..)
			2.2 ให้กรมการจัดหางาน ดำเนินการพิจารณาอนุญาตการทำงานของคนต่างด้าว                  ตามแนวทางที่กรมการจัดหางานกำหนด
		3. กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการ
			3.1 ให้สถานพยาบาลที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด สถานพยาบาลที่กรมการแพทย์กำหนด สถานพยาบาลที่สำนักการแพทย์กรุงเทพมหานครกำหนด และสถานพยาบาลเอกชนที่ได้รับการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 13 กันยายน 2564
			3.2  ให้สถานพยาบาลที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด สถานพยาบาลที่กรมการแพทย์กำหนด สถานพยาบาลที่สำนักการแพทย์กรุงเทพมหานครกำหนด รับขึ้นทะเบียนประกันสุขภาพแก่คนต่างด้าวที่ได้ดำเนินการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กับสถานพยาบาลเอกชนที่ได้รับการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้ว รวมถึงรับตรวจโรคต้องห้าม 6 โรค ได้แก่ โรคเรื้อน วัณโรคในระยะอันตราย โรคเท้าช้าง ในระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม โรคติดยาเสพติดให้โทษ โรคพิษสุราเรื้อรัง และโรคซิฟิลิส ในระยะที่ 3
			3.3 ให้คนต่างด้าวในจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ควบคุม ที่ได้ดำเนินการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เรียบร้อยแล้วและได้รับผลการตรวจที่แสดงว่าไม่เป็นผู้ติดเชื้อ ก่อนที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ พ.ศ. 2564 ลงวันที่ 3มีนาคม พ.ศ. 2564 จะมีผลบังคับใช้สามารถไปขอรับขึ้นทะเบียนประกันสุขภาพรวมถึงรับตรวจโรคต้องห้าม 6 โรค กับ สถานพยาบาลที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องดำเนินการตรวจหาซื้อไวรัสโคโรนา 2019 อีกครั้ง
		4. หลังสิ้นสุดระยะเวลาการอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษแล้ว ให้หน่วยงานด้านความมั่นคงดำเนินการตรวจสอบ ปราบปราม จับกุมดำเนินคดี คนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายหรือทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต และผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
		สาระสำคัญ
		จำนวนคนต่างด้าวที่ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 จำนวน 654,864 คน ในจำนวนนี้ได้ดำเนินการลงทะเบียนเพื่อขอรับการจ้างงาน จำนวน 601,027 คน และกระทรวงแรงงานได้คัดกรองข้อมูลคนต่างด้าวที่ไม่สามารถดำเนินการขออนุญาตทำงานตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ได้ทั้งสิ้นจำนวน 104,972 คน ได้แก่ 1) กลุ่มที่ลงทะเบียนซ้ำซ้อน 2) กลุ่มที่ทำงานตามฤดูกาลบริเวณแนวชายแดนในช่วงระยะเวลา สั้น ๆ และมาลงทะเบียนเพื่อให้ตนได้สิทธิ์การอยู่เพื่อทำงานเพียงชั่วคราว เมื่อสิ้นสุดการทำงานจะเดินทางกลับ และ 3 กลุ่มผู้ติดตามที่ลงทะเบียนพร้อมกับบิดาหรือมารดา จึงคงเหลือจำนวนคนต่างด้าวที่จะดำเนินการขออนุญาตทำงานได้ต่อไปจำนวน 496,055 คน โดยข้อมูล ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 คนต่างด้าวมีการจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล (Biometrics) แล้วจำนวน 485,263 คน ผ่านการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แล้วจำนวน 339,331 คน และได้รับอนุญาตทำงานแล้วจำนวน 239,654 คน ซึ่งหลังจากวันที่ 16 มิถุนายน 2564 หากคนต่างด้าวจำนวนที่เหลือยังมิได้เข้ารับการตรวจหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ขึ้นทะเบียนประกันสุขภาพ รวมถึงการขออนุญาตทำงานการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษและการอนุญาตให้ทำงานของคนต่างด้าวดังกล่าวจะสิ้นสุดลง ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์จำเป็นต้องปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกัน ยับยั้ง รวมถึงการให้การรักษากับประชาชนที่ได้รับเชื้อโรคดังกล่าว จึงไม่สามารถดำเนินการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้แล้วเสร็จภายใน 16 มิถุนายน 2564 ให้กับคนต่างด้าว ที่ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2563 ได้ ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการของคนต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว เป็นไปด้วยความเรียบร้อย คนต่างด้าวสามารถอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากแรงงานยังคงเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนกิจการของนายจ้างสถานประกอบการในสภาวะยากลำบากได้ต่อไป ตลอดจนไม่เป็นการเพิ่มภาระหน้าที่แก่บุคลากรทางการแพทย์จนเกินควร ในขณะเดียวกันคนต่างด้าวยังคงอยู่ในการกำกับของหน่วยงานภาครัฐอันจะทำให้การบริหารจัดการความเสี่ยงของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวมถึงการบริหารจัดการคนต่างด้าวที่ลักลอบอยู่ในราชอาณาจักรอย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีความจำเป็นต้องขยายระยะเวลาการดำเนินการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และการขออนุญาตทำงานให้กับคนต่างด้าวที่ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 ดังนี้
		1. ขยายระยะเวลาให้คนต่างด้าวดำเนินการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 การประกันสุขภาพ และการขออนุญาตทำงาน จากเดิมภายในวันที่ 16 มิถุนายน 2564 เป็นวันที่ 13 กันยายน 2564
		2. ขยายระยะเวลาให้กลุ่มคนต่างด้าวที่ลงทะเบียนไม่มีงานทำไปจัดทำทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (ทร. 38/1) จากเดิมภายในวันที่ 16 มิถุนายน 2564 เป็นวันที่ 31 มีนาคม 2565
		3. ขั้นตอนอื่นตามที่กำหนดไว้ในมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564 ให้ดำเนินการตามที่แนวทางที่กำหนดเดิม

20. เรื่อง ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 (วัคซีน)
		คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 (วัคซีน)  ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอ ดังนี้
		สาระสำคัญ
		กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 (วัคซีน) เพื่อให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฯลฯ) นำไปใช้ในการติดตามประเมินผล และวางแผนบริหารจัดการวัคซีนให้บริการประชาชนได้อย่างรวดเร็ว ครอบคลุมทุกพื้นที่ และสร้างความเชื่อมั่นในการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน และลดความสับสนของข้อมูลข่าวสารการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 รวมทั้งการกำหนดนโยบาย/มาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยส่งเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสถิติแห่งชาติไปสัมภาษณ์สมาชิกในครัวเรือนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปทุกจังหวัดทั่วประเทศ ครัวเรือนละ 1 คน ได้จำนวนตัวอย่างทั้งสิ้น 46,000 คน ระหว่างวันที่ 17-22 พฤษภาคม 2564 มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
		1. ประชาชนร้อยละ 75.2 ต้องการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 (ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้ต้องการฉีดและพร้อมที่จะฉีดวัคซีนร้อยละ 47.7 และผู้ต้องการฉีดแต่ขณะนี้ยังไม่พร้อมฉีดวัคซีนร้อยละ 27.5) ส่วนร้อยละ 5.5 ฉีดวัคซีนแล้ว
		ขณะที่ร้อยละ 19.3 ไม่ต้องการฉีดวัคซีน โดยให้เหตุผล 5 อันดับแรก คือ กลัวผลข้างเคียง (ร้อยละ 16.4) ไม่เชื่อมั่นว่าวัคซีนจะสามารถป้องกันได้ (ร้อยละ 4.9) มีข้อจำกัดทางด้านร่างกาย เช่น พิการ มีโรคประจำตัว ตั้งครรภ์ เป็นต้น (ร้อยละ 4.6) สามารถป้องกันตัวเองได้ (ร้อยละ 3.6) และไม่มีข้อมูลหรือข้อมูลไม่เพียงพอสำหรับการตัดสินใจ (ร้อยละ 3.2)
		สำหรับผู้ที่ต้องการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ระบุว่าวัคซีนที่ต้องการฉีดมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ วัคซีนตามที่รัฐบาลจัดหาให้ (ร้อยละ 54.6) วัคซีนยี่ห้อไฟเซอร์ (Pfizer) (ร้อยละ 12.5) วัคซีนยี่ห้อโมเดอร์นา (Moderna) (ร้อยละ 3.0) วัคซีนยี่ห้อจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (Johnson & Johnson) (ร้อยละ 2.5) และวัคซีนยี่ห้อโนวาแวกซ์ (Novavax) (ร้อยละ 0.9)
		เมื่อพิจารณาเป็นรายจังหวัด พบว่า มี 6  จังหวัดที่มีผู้ฉีดวัคซีนไปแล้วและผู้ที่พร้อมจะฉีดวัคซีนสูงกว่าร้อยละ 70 ได้แก่ ภูเก็ต (ร้อยละ 80.2) ตรัง (ร้อยละ 80.0) ระนอง (ร้อยละ 78.8)  บุรีรัมย์ (ร้อยละ 73.3) ชลบุรี (ร้อยละ 71.8) และนนทบุรี (ร้อยละ 71.2) ขณะที่กรุงเทพมหานคร และอีก 70 จังหวัด ที่รัฐควรกระตุ้นให้ประชาชนกลุ่มที่ไม่ต้องการฉีดวัคซีนและไม่พร้อมที่จะฉีดวัคซีนหันมาฉีดวัคซีนให้ได้มากกว่าร้อยละ 70 เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่
		เมื่อพิจารณากลุ่มอายุพบว่า ผู้ที่มีอายุ 18-29 ปี ไม่ต้องการฉีดวัคซีนและไม่พร้อมที่จะฉีดวัคซีนในสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มอายุ 30 ปีขึ้นไป ขณะที่นักเรียน/นักศึกษาและผู้ว่างงาน/ไม่มีงานทำระบุว่าไม่ต้องการฉีดวัคซีนและไม่พร้อมที่จะฉีดวัคซีนมีสัดส่วนสูงกว่ากลุ่มอาชีพอื่น ทั้งนี้ทุกกลุ่มอายุ และกลุ่มอาชีพ ให้เหตุผลที่ไม่ต้องการ              ฉีดวัดซีนและไม่พร้อมที่จะฉีดวัคซีน เนื่องจากกลัวผลข้างเคียงเป็นสำคัญ
		2. ประชาชนร้อยละ 45.3 มีความเชื่อมั่นต่อคุณภาพของวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ที่รัฐบาลให้บริการกับประชาชน ขณะที่ร้อยละ 54.7  ไม่เชื่อมั่น โดยให้เหตุผลว่า กลัวผลข้างเคียง (ร้อยละ 41.3) วัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ที่รัฐบาลจัดหาให้ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าวัคซีนที่จะเลือกใช้เอง (ร้อยละ 7.0) ได้รับข้อมูลข่าวสารของวัคซีนที่มีความขัดแย้งกัน (ร้อยละ 5.7) และอื่น ๆ เช่น การผลิตใช้เวลาสั้น เป็นต้น (ร้อยละ 0.7)
		สำหรับกลุ่มอายุที่ไม่ต้องการฉีดวัคซีนและไม่พร้อมที่จะฉีดวัคซีน พบว่า อายุ 18-29 ปี ไม่เชื่อมั่นต่อคุณภาพของวัคซีนฯ ในสัดส่วนที่สูงกว่าผู้ที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป เช่นเดียวกับนักเรียน/นักศึกษา และผู้ว่างงาน/ไม่มีงานทำไม่เชื่อมั่นต่อคุณภาพของวัคซีนฯ ในสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มอาชีพอื่น ทั้งนี้ ทุกกลุ่มอายุ และทุกกลุ่มอาชีพ ให้เหตุผลที่ไม่เชื่อมั่นต่อคุณภาพของวัคซีนฯ 3 เรื่องแรกไม่แตกต่างกัน คือ กลัวผลข้างเคียง วัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ที่รัฐบาลจัดหาให้ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าวัคซีนที่จะเลือกใช้เองและได้รับข้อมูลข่าวสารของวัคซีนที่มีความขัดแย้งกัน
		เมื่อพิจารณาเป็นรายจังหวัด พบว่า มี 6 จังหวัดที่ไม่เชื่อมั่นต่อคุณภาพของวัคซีนสูงกว่าร้อยละ 70ได้แก่ กาฬสินธุ์ (ร้อยละ 80.5) ปัตตานี (ร้อยละ 78.5) นราธิวาส (ร้อยละ 74.0) เชียงใหม่ (ร้อยละ 72.2) ขอนแก่น (ร้อยละ 71.3) และสตูล (ร้อยละ 70.4)
		3. ประชาชนร้อยละ 56.6 ระบุว่าการที่รัฐให้เงินชดเชยเป็นหลักประกันการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 มีผลต่อการตัดสินใจฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 (ซึ่งในจำนวนนี้ให้เหตุผลที่สำคัญว่า ไม่คุ้มกับการสูญเสีย ไม่มั่นใจว่าจะได้รับเงินชดเชยดังกล่าว และค่าชดเชยยังไม่เพียงพอ เป็นต้น) และ             ร้อยละ 43.4 ระบุว่าไม่มีผลต่อการตัดสินใจ
		เมื่อพิจารณากลุ่มอายุ พบว่า ผู้ที่มีอายุ 18 - 29 ปีที่ไม่ต้องการฉีดวัคซีนและไม่พร้อมที่จะฉีดวัคซีน เห็นว่าการที่รัฐให้เงินชดเชยเป็นหลักประกันการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 มีผลต่อการตัดสินใจฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ในสัดส่วนที่สูงกว่าผู้ที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป เช่นเดียวกับ นักเรียน/นักศึกษาและผู้ว่างงาน/ไม่มีงานทำที่ไม่ต้องการฉีดวัคซีนและไม่พร้อมที่จะฉีดวัคซีน เห็นว่าการที่รัฐให้เงินชดเชยเป็นหลักประกันดังกล่าว มีผลต่อการตัดสินใจสูงกว่ากลุ่มอาชีพอื่น โดยทุกกลุ่มอายุและทุกกลุ่มอาชีพให้เหตุผลที่สำคัญ             3 เรื่องแรกไม่แตกต่างกัน คือ ไม่คุ้มกับการสูญเสีย ไม่มั่นใจว่าจะได้รับเงินชดเชยดังกล่าว และค่าชดเชยยังไม่เพียงพอ
		เมื่อพิจารณาเป็นรายจังหวัด พบว่า มี 9 จังหวัด ที่ประชาชนเห็นว่าการที่รัฐให้เงินชดเชยเป็นหลักประกันฯ มีผลต่อการตัดสินใจมากกว่าร้อยละ 70 ได้แก่ นครพนม (ร้อยละ 78.9) มุกดาหาร (ร้อยละ 77.8) มหาสารคาม (ร้อยละ 76.6) ร้อยเอ็ด (ร้อยละ 74.2) น่าน (ร้อยละ 73.9) อุบลราชธานี (ร้อยละ 73.8) ขอนแก่น  (ร้อยละ 71.7) ยะลา (ร้อยละ 70.9) และชัยภูมิ (ร้อยละ 70.7)
		4. ประชาชนร้อยละ 80.9 เห็นว่าควรเพิ่มสถานที่ให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 โดยให้เหตุผลว่า มีประชาชนเข้ารับบริการจำนวนมาก เสี่ยงการติดเชื้อจากโรคโควิด 19 (ร้อยละ 37.6) มีผู้สูงอายุ/ผู้พิการ/เด็กเล็กในบ้าน เดินทางไปรับบริการไม่สะดวก (ร้อยละ 27.7) และที่พักอาศัยอยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาล/สถานพยาบาล (ร้อยละ 12.2) เป็นต้น
		ขณะที่ร้อยละ 19.1 ระบุว่าไม่ควรเพิ่มสถานที่ให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 โดยให้เหตุผลว่า กังวลความปลอดภัยของคนไข้กรณีเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงหลังฉีดวัคซีน (ร้อยละ 9.4) บุคลากรทางการแพทย์มีจำนวนไม่เพียงพอต่อการให้บริการพร้อม ๆ กันในหลายแห่ง (ร้อยละ 7.4) และความสะอาดของเครื่องมือ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ (ร้อยละ 1.5) เป็นต้น
		ขณะเดียวกัน ประชาชนเห็นว่าสถานที่เหมาะสมในการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ใน 5 อันดับแรก ได้แก่ สถานีอนามัย/โรงพยาบาลประจำตำบล (ร้อยละ 52.4) จัดรถ mobile พร้อมเจ้าหน้าที่ลงไปในพื้นที่ชุมชนตามวันเวลาที่กำหนด (ร้อยละ 18.2) โรงเรียน อาคารอเนกประสงค์ สนามกีฬา วัด (ร้อยละ 9.8) ที่ทำการกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน (ร้อยละ 9.6) และสถานที่ราชการ เช่น ศาลากลางจังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัด อำเภอ เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (ร้อยละ 6.9)
		5. ประชาชนเห็นว่ารัฐบาลควรสร้างความเชื่อมั่นในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 และลดความสับสนของข่าวสารการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ให้แก่ประชาชน ดังนี้ ให้ผู้มีความรู้ ประสบการณ์ หรือผู้มีวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง เป็นผู้นำเสนอประโยซน์ของวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นอย่างต่อเนื่อง (ร้อยละ 48.3) ให้มีหน่วยงานรับผิดชอบตรวจสอบข้อมูลและสกัดกั้นข่าวเท็จที่เผยแพร่จากสื่อสาธารณะ หรือโซเชียลมีเดีย อย่างรวดเร็ว (ร้อยละ 20.4) ให้หน่วยงานเพียงหน่วยงานเดียวเป็นผู้รับผิดชอบเป็นผู้ให้ข้อมูลข่าวสาร (ร้อยละ 18.8) และจัดให้มีขั้นตอนการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ที่ชัดเจนโดยอยู่ในความรับผิดชอบและสื่อสารของหน่วยงานเดียว (ร้อยละ 12.5)
		6. หากรัฐจะจัดเจ้าหน้าที่หรืออาสาสมัครเพื่ออำนวยความสะดวกในการรับลงทะเบียนฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 พบว่า ประชาชนร้อยละ 45.3 ระบุว่าต้องการ และร้อยละ 54.7 ระบุว่าไม่ต้องการ
		สำหรับผู้ที่ต้องการให้รัฐอำนวยความสะดวกฯ 3 อันดับแรก คือ ลงทะเบียนที่สถานีอนามัย/โรงพยาบาลประจำตำบล (ร้อยละ 17.3) จัดรถ mobile พร้อมเจ้าหน้าที่ลงไปในพื้นที่ชุมชนตามวันเวลาที่กำหนด (ร้อยละ 9.6) และลงทะเบียนที่ทำการกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน (ร้อยละ 9.4)
		7. ประชาชนร้อยละ 90.5 ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยเรื่องที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ รายได้ที่มีไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย (ร้อยละ 49.3) ค่าใช้จ่าย/ค่าครองชีพเพิ่มขึ้น (ร้อยละ 44.2) รายได้ลดลง (ร้อยละ 40.1) ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น การสวมหน้ากากผ้า/หน้ากากอนามัย การนั่งรถสาธารณะ เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล เป็นต้น (ร้อยละ 37.6) และปัญหาการเดินทางไม่สะดวก หรือไม่สามารถเดินทางได้ (ร้อยละ 36.3)
		8. เรื่องที่ประชาชนต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ใน 5 อันดับแรก คือ ช่วยเหลือค่าครองชีพ ได้แก่ โครงการคนละครึ่ง/ไทยชนะ/ม.33 เรารักกัน (ร้อยละ 67.8) ลดภาระค่าสาธารณูปโภค ได้แก่ ไฟฟ้า/ประปา/ค่าเดินทาง (ร้อยละ 63.1) จ่ายเงินชดเชย/เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ (ร้อยละ 57.7) พักชำระหนี้/ลดอัตราดอกเบี้ย (ร้อยละ 34.8) และจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 (ร้อยละ 33.2) เป็นต้น
		ประชาชนในทุกกลุ่มอาชีพ (ยกเว้น ข้าราชการ/พนักงานลูกจ้างของรัฐ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ) ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือมากที่สุดในเรื่องปัญหาปากท้อง คือ ช่วยเหลือค่าครองชีพ ได้แก่ โครงการคนละครึ่ง/ไทยชนะ/ม.33 เรารักกัน
		ขณะที่ข้าราชการ/พนักงานลูกจ้างของรัฐ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือมากที่สุดในเรื่อง ลดภาระค่าสาธารณูปโภค ได้แก่ ไฟฟ้า/ประปา/ค่าเดินทาง ทั้งนี้ อาจเนื่องจากนโยบายที่ให้บุคลากรปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการ (Work from home) และการป้องกันตนเองจากการเดินทางโดยการหันมาใช้บริการรถสาธารณะรับจ้าง เช่น แท็กซี่ แกร็บคาร์ เป็นต้น เพื่อหลีกเลี่ยงการให้บริการที่แออัด
		ทั้งนี้ ได้มีการนำเสนอข้อมูลในระดับจังหวัด สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไชต์สำนักงานสถิติแห่งชาติ และสำนักงานสถิติจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อนำข้อมูลไปกำหนดมาตรการหรือนโยบายเชิงพื้นที่ได้
		ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
		จากการสำรวจดังกล่าว สำนักงานสถิติแห่งชาติจึงมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
		1. ควรประชาสัมพันธ์เพิ่มเติมความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับคุณภาพของวัคซีนและผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีน ด้วยพรีเซนเตอร์ที่มีความรู้ ประสบการณ์ หรือผู้ที่ได้รับการยอมรับจากสังคม/ประชาชน รวมทั้งผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและไว้วางใจจากประชาชนทั้ง 2 กลุ่ม (ร้อยละ 46.8) คือ ผู้ที่ไม่ต้องการฉีดวัคซีน (ร้อยละ 19.3) และผู้ที่ยังไม่พร้อมฉีด (ร้อยละ 27.5) เนื่องจากวัคซีนนี้เป็นวัคซีนใหม่จึงทำให้ประชาชนเกิดความกังวลในด้านความปลอดภัยของวัคซีนเป็นพิเศษ ดังนั้นรัฐควรจะมีการกระตุ้นให้ฉีดวัคซีนโดยด่วน เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายภูมิคุ้มกันหมู่ ร้อยละ 70 ของประชาชนทั้งหมด
		2. ควรตรวจสอบและสกัดกั้นข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือบิดเบือนจากความเป็นจริงอย่างรวดเร็ว
		3. ควรมีหน่วยงานเพียงหน่วยงานเดียวเป็นผู้ให้ข้อมูลข่าวสาร และชี้แจงขั้นตอนการเข้าถึง
วัคซีนที่ชัดเจน เพื่อลดความสับสนให้กับประชาชน
		4. ควรเพิ่มเงินชดเชยและเร่งให้มีการประชาสัมพันธ์หลักประกันความมั่นใจเกี่ยวกับการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีน ซึ่งเป็นมาตรการที่รัฐได้มีการจัดทำไว้แล้ว เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในการจะได้รับเงินชดเชยอย่างแน่นอน เนื่องจากมาตรการดังกล่าวนี้มีผลต่อการตัดสินใจฉีดวัคซีนของประชาชนมากถึงร้อยละ 56.6
		5. ควรเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนสามารถเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ได้หลากหลายยี่ห้อ นอกเหนือจากวัคซีนที่รัฐบาลจัดหาให้ เช่น ไฟเซอร์ (Pfizer) โมเดอร์นา (Moderna) เป็นต้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนที่ยังไม่พร้อมฉีดวัคนหรือไม่ต้องการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 หันมาฉีดวัคซีนเพิ่มมากขึ้น
		6. ควรเพิ่มสถานที่ให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 กระจายในชุมชน/หมู่บ้าน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว เช่น สถานีอนามัย/โรงพยาบาลประจำตำบล           จัดรถ mobile พร้อมเจ้าหน้าที่ลงไปในพื้นที่ชุมชนตามวันเวลาที่กำหนด เป็นต้น
		7. ควรจัดให้มีเจ้าหน้าที่/อาสาสมัครหรือขอความร่วมมือภาคเอกชน อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการลงทะเบียนเพื่อให้สามารถเข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ได้ เช่น การลงทะเบียนฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิต 19 ที่ห้างสรรพสินค้า Operator เป็นต้น
		8. ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิ์ลงทะเบียนและจองนัดวัน เวลา การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 เพื่อที่จะเข้าถึงวัคซีนได้เร็วที่สุด โดยคำนึงถึงพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 รุนแรงเป็นหลัก ซึ่งจากผลการสำรวจจะเห็นได้ว่าผู้ที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไปมีความต้องการฉีดวัคซีนในสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มอายุ 18-29 ปี  ดังนั้น การให้ผู้ที่ต้องการฉีดวัคซีนเข้าถึงวัคซีนได้อย่างรวดเร็วจะเป็นแรงจูงใจ และสนับสนุนให้ผู้ที่ไม่ต้องการฉีดวัคซีนหันมาฉีดวัคซีนเพิ่มมากขึ้น เช่น การเปิดรับลงทะเบียนผ่าน Application ของจังหวัด/หน่วยงาน การเปิดจุดรับลงทะเบียนที่ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ หรือจัดรถ mobile เข้าไปรับลงทะเบียนในชุมชน/หมู่บ้าน เป็นต้น
		9. ควรให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในแต่ละพื้นที่และกลุ่มอาชีพ ผ่านมาตรการต่าง ๆ เช่น ง่ายเงินชดเชย/เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ช่วยเหลือค่าครองชีพ (ได้แก่ โครงการคนละครึ่ง/ไทยชนะ/ม.33 เรารักกัน) ลดภาระค่าสาธารณูปโภค (ได้แก่ ไฟฟ้า/ประปา/ค่าเดินทาง) พักชำระหนี้/ลดอัตราดอกเบี้ย เป็นต้น


21. เรื่อง สรุปผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติด
เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 2/2564
		คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบสรุปผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 2/2564  เมื่อวันศุกร์ที่ 4 มิถุนายน 2564 ตามที่คณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เสนอ ดังนี้
			1.	เรื่องเพื่อทราบ
				1.1 ที่ประชุมได้รับทราบเรื่องที่สำคัญ ดังต่อไปนี้
	 				1.1.1	สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และสถานการณ์เศรษฐกิจเสนอโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ข้อมูลการแพร่ระบาดของโรค
โควิด-19 ล่าสุด ณ วันที่ 3 มิถุนายน 2564 มีผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลก 172,424,472 คน เป็นผู้ติดเชื้อ
รายใหม่ 489,890 คน และผู้เสียชีวิตสะสม 3,706,561 คน ขณะที่ สัดส่วนการฉีดวัคซีนต่อประชากร 100 คนในประเทศสำคัญ ๆ ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร อิสราเอล และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 3 มิถุนายน 2564 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,886 คน ผู้หายป่วย 3,626คน และผู้เสียชีวิต 39คน ส่งผลให้ผู้ติดเชื้อสะสมรวม 168,118 คน โดยเป็นผู้ติดเชื้อสะสมจากการระบาดระรอกใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 จำนวน 140,485 คน และมีผู้เสียชีวิตสะสม 1,052 คน ทั้งนี้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นล่าสุดส่วนใหญ่มาจากการตรวจเชิงรุกในแคมป์คนงานก่อสร้าง โรงงานการผลิตภาคอุตสาหกรรม รวมถึงเรือนจำและทัณฑสถาน โดย 10 จังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงสุดในระลอกนี้ (ไม่รวมจำนวนผู้ติดเชื้อในเรือนจำและทัณฑสถาน) ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี เพชรบุรี ชลบุรี เชียงใหม่ ปทุมธานี สมุทรสาคร สุราษฎร์ธานี และประจวบคีรีขันธ์
			สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจไทย เครื่องชี้ทางเศรษฐกิจไทยในเดือนเมษายน 2564 เมื่อพิจารณาเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ด้านการใช้จ่าย ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนและดัชนีการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า โดยเป็นผลจากฐานของการขยายตัวที่ต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดในช่วงเดือนมีนาคม 2563 และมีการดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดอย่างเข้มงวด ส่วนมูลค่าการส่งออก (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวร้อยละ 37.0 เร่งขึ้นจากร้อยละ 22.1 ในเดือนมีนาคม 2564 เป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ห้า และเป็นอัตราขยายตัวที่สูงที่สุดในรอบ 130 เดือน ด้านการผลิต ดัชนีผลผลิตการเกษตรและดัชนีราคาสินค้าเกษตรขยายตัวส่งผลให้รายได้เกษตรกรยังคงขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 ขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 18.5 เป็นอัตราขยายตัวสูงที่สุดในรอบ 99 เดือน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานของการขยายตัวที่ต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 59.6 ลดลงต่ำสุดในรอบ 9 เดือน เมื่อพิจารณาเครื่องชี้เทียบกับเดือนก่อนหน้าภายหลังจากปรับปัจจัยฤดูกาลแล้ว พบว่าเครื่องชี้ด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนลดลงจากเดือนก่อน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดในระลอกใหม่ในเดือนเมษายน สอดคล้องกับการลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลงต่ำสุดในรอบ 11 เดือน และดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่เริ่มปรับตัวลดลง อย่างไรก็ดี มูลค่าการส่งออกขยายตัวดีขึ้นตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกส่งผลให้ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า สำหรับภาวะตลาดแรงงานและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ พบว่า เครื่องชี้ที่สำคัญสะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของตลาดแรงงานที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ โดยอัตราการว่างงานในไตรมาสที่ 1 ปี 2564 อยู่ที่ร้อยละ 2.0 เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับร้อยละ 1.9 และร้อยละ 1.0 ในไตรมาสก่อนและในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เช่นเดียวกับจำนวนผู้มีงานทำและจำนวนชั่วโมงทำงานที่ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า นอกจากนี้ จำนวนผู้ใช้สิทธิได้รับเงินชดเชยจากการหยุดกิจการชั่วคราวตามมาตรา 75 ในเดือนเมษายน 2564 อยู่ที่ 173,260 คน สูงกว่า 23,495 ในเดือนมีนาคม ขณะที่ สัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ต่อสินเชื่อทั้งหมดในไตรมาสแรกลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3.09 เทียบกับร้อยละ 3.11 ในไตรมาสก่อน เช่นเดียวกับสัดส่วนสินเชื่อชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SML) ต่อสินเชื่อรวมทั้งหมดอยู่ที่ร้อยละ 6.44 ลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 6.65 ในไตรมาสก่อน  เมื่อพิจารณาเครื่องชี้ข้อมูลความถี่สูง
(High-frequency data) ล่าสุดในเดือนพฤษภาคม 2564 พบว่าการเดินทางภายในประเทศเพื่อออกไป
ทำกิจกรรมต่าง ๆ ลดลงมาอยู่ในระดับต่ำใกล้เคียงกับการระบาดระลอกแรกในเดือนมีนาคม 2563
อย่างไรก็ตาม เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ของการเดินทางภายในประเทศนับตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ส่วนหนึ่งเป็นผลเนื่องจากในพื้นที่หลายจังหวัดไม่พบผู้ติดเชื้อส่งผลให้เริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมในหลายจังหวัดมากขึ้น (ข้อมูล ณ วันที่ 28 พฤษภาคม ถึง 3 มิถุนายน 2564 พบว่าจังหวัดที่
ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ มีจำนวน 8 จังหวัด และจังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อตั้งแต่ 1 รายถึง 10 ราย
มีจำนวน 23 จังหวัด)
					1.1.2	ความคืบหน้าการดำเนินมาตรการด้านเศรษฐกิจ เสนอโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มีรายละเอียด ดังนี้
							1.1.2.1 โครงการเราชนะ ความคืบหน้าล่าสุด จากข้อมูลของกระทรวงการคลัง
ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2564 มีรายละเอียด ดังนี้ กลุ่มประชาชน มีจำนวนผู้ได้รับสิทธิ์ทั้งหมด 33.1 ล้านคน
ใช้จ่ายครบวงเงิน 17.6 ล้านคน มีมูลค่าการใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยแล้วรวมทั้งสิ้น 257,997 ล้านบาท แบ่งเป็น (1) กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 13.7 ล้านคน ซึ่งได้มีการใช้จ่ายตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นมา คิดเป็นมูลค่าการใช้จ่าย 97,367 ล้านบาท (2) กลุ่มผู้ใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง จำนวน 17.0 ล้านคน แบ่งเป็น กลุ่มผู้มีแอปพลิเคชันเป๋าตัง 8.4 ล้านคน และกลุ่มผู้ไม่ได้อยู่ในระบบฐานข้อมูลของแอปพลิเคชันเป๋าตัง 8.6 ล้านคน ซึ่งได้มีการใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์สะสมตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นมา คิดเป็นมูลค่าการใช้จ่าย 141,254 ล้านบาท และ (3) กลุ่มผู้ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ อาทิ ผู้ที่เข้าไม่ถึงอินเตอร์เน็ต ผู้ที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือ ผู้ป่วยติดเตียง และผู้พิการ จำนวน 2.4 ล้านคน ซึ่งได้มีการใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์สะสมตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2564 เป็นต้นมา จำนวน 19,376 ล้านบาท สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการมีจำนวนรวม 1.3 ล้านกิจการ โดยมีมูลค่าใช้จ่ายแยกตามประเภทร้านค้า ดังนี้ (1) ร้านค้าทั่วไปและอื่น ๆ 104,156 ล้านบาท (2) ร้านธงฟ้า 88,850 ล้านบาท (3) ร้านอาหารและเครื่องดื่ม 49,194 ล้านบาท (4) ร้าน OTOP 10,685 ล้านบาท (5) ร้านค้าบริการ 4,944 ล้านบาท และ (6) ขนส่งสาธารณะ 168 ล้านบาท
					1.1.2.2 มาตรการด้านแรงงาน ความคืบหน้าล่าสุด จากข้อมูลของกระทรวงแรงงาน ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ประกอบด้วย
						1.1.2.2.1	 มาตรการ ม33 เรารักกัน มีผู้ลงทะเบียนทั้งหมด 8,208,286 คน (ระหว่างวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ? 7 มีนาคม 2564) เป็นผู้ไม่ผ่านการตรวจสอบข้อมูลกับกรมการปกครอง 622,172 คน ผู้ไม่ผ่านเงื่อนไขเงินฝากเกิน 500,000 บาท 168,679 คน ส่งผลให้มีผู้ได้รับสิทธิ์โครงการรวมทั้งสิ้น 8,138,627 คน คิดเป็นมูลค่าวงเงินสิทธิ์ 48,831.8 ล้านบาท แบ่งเป็น (1) ผู้ได้รับสิทธิ (ผ่านเกณฑ์) รอบแรกและผ่านการทบทวนสิทธิรวม 8,079,742 คน และมีผู้ยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังค์แล้ว 8,032,420 คน (2) ผู้ผ่านการลงทะเบียนกรณีไม่มีสมาร์ทโฟน 30,503 คน และ (3) ผู้ผ่านการทบทวนสิทธิ ระยะที่ 2 จำนวน 28,382 คน สำหรับข้อมูลการใช้จ่ายสะสมของโครงการ ม33 เรารักกัน ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 มีผู้ประกันตนใช้จ่ายไปแล้วทั้งสิ้น 8,040,416 ราย มีร้านค้าที่ให้บริการ 1,069,838 ราย และมีมูลค่ารวมยอดการใช้จ่ายทั้งหมด 39,317.2 ล้านบาท โดยกระทรวงแรงงานรายงานข้อมูลเพิ่มเติมว่าโครงการ ม33 เรารักกัน ส่งผลให้ผู้ประกันตนที่ว่างงานกลายเป็นผู้ประกอบการรายใหม่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 96,830 ราย และส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่จบระดับปริญญาตรีและประกาศนียบัตรขั้นสูงจำนวน 33,390 ราย
						1.1.2.2.2	 โครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐและเอกชน (Co-Payment) มีรายละเอียด ดังนี้ ผลการอนุมัติจ้างงาน แบ่งเป็น การอนุมัติจ้างงานก่อนปรับปรุง จำนวน 6,240 คน ( 1 ตุลาคม 2563 ? 29 ธันวาคม 2563) และเป็นการอนุมัติจ้างงานหลังจากการปรับปรุงเงื่อนไข ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 จำนวน 20,348 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ธันวาคม 2563 ถึง 31 พฤษภาคม 2564) เมื่อจำแนกตามวุฒิการศึกษา พบว่า เป็นระดับปริญญาตรี จำนวน 15,748 คน ระดับ ปวส. จำนวน 4,335 คน ระดับ ปวช. จำนวน 2,491 คน และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 4,014 คน ทั้งนี้ ในส่วนปัญหาและอุปสรรคสำคัญในการดำเนินโครงการฯ ได้แก่ (1) การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกที่ 3 (2) การชะลอการจ้างงานใหม่ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และ (3) ความต้องการจ้างงาน อุปสงค์และอุปทาน (Demand & Supply) ไม่สอดคล้องกัน โดยส่วนใหญ่สถานประกอบการมีความต้องการจ้างงานด้านการผลิตและบริการ แต่ผู้จบการศึกษาใหม่ต้องการทำงานในสำนักงาน สำหรับวงเงินและแผนดำเนินโครงการในปัจจุบัน มีการปรับลดเป้าหมายและวงเงินดำเนินโครงการฯ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 จากเดิมกำหนดเป้าหมายไว้ที่ 260,000 คน ปรับลดลงเป็นจำนวน 50,000 คน ทั้งนี้ คาดว่าจากงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร จำนวน 1,9462.0017 ล้านบาท จะมีการใช้จ่ายตามเป้าหมายที่ปรับลดจนสิ้นสุดโครงการฯ จำนวน 3,209.7989 ล้านบาท ส่งผลให้คาดว่าจะมีงบประมาณคงเหลือจำนวน 16,252.2028 ล้านบาท สำหรับแผนการดำเนินโครงการฯ ให้บรรลุตามเป้าหมาย ประกอบด้วย (1) การลงพื้นที่ในสถานศึกษาเชิญชวนผู้จบการศึกษาใหม่และสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการฯ (2) เพิ่มตำแหน่งงานที่หลากหลาย โดยการลงพื้นที่เข้าพบนายจ้างและสถานประกอบการ สำรวจความต้องการจ้างงานที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขเพื่อเชิญชวนเข้าร่วมโครงการฯ และ (3) ประสานสำนักงานประกันสังคมตรวจสอบข้อมูลผู้ประกันตนรายใหม่ตามมาตรา 33 ที่มีคุณสมบัติและเงื่อนไขตรงตามที่กำหนดไว้ใน โครงการฯ โดยเชิญชวนนายจ้างและสถานประกอบการที่แจ้งการส่งเงินสมทบประกันสังคมให้แก่ผู้ประกันตนรายใหม่ เข้าร่วมโครงการฯ
					1.1.2.2.3 ความคืบหน้าการบรรจุงานจากโครงการ Job Expo Thailand 2020 และโครงการอื่น ๆ ของภาครัฐ พบว่า มีการบรรจุงานทั้งหมด 1,291,479 ราย ประกอบด้วย (1) การบรรจุงานของภาครัฐ 645,183 ราย แบ่งเป็น ตำแหน่งงานที่ใช้งบประมาณภายใต้ พ.ร.ก. เงินกู้จำนวน 169,798 ราย และตำแหน่งงานที่ใช้งบประมาณประจำปี พ.ศ. 2564 จำนวน 475,385 ราย (2) การบรรจุงานภาคเอกชนจำนวน 621,864 ราย โดยเป็นการบรรจุงานผ่านจากแพลตฟอร์มไทยมีงานทำ 193,126 ราย และการบรรจุงานภาคต่างประเทศจำนวน 24,432 ราย
			1.1.2.3	มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจและมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ ความคืบหน้าล่าสุด จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ประกอบด้วย (1) โครงการสินเชื่อฟื้นฟู มีสินเชื่อฟื้นฟูที่อนุมัติแล้วทั้งสิ้น 20,839.3 ล้านบาท มีจำนวนผู้ได้รับความช่วยเหลือ 8,218 ราย คิดเป็นวงเงินอนุมัติเฉลี่ยจำนวน 2.54 ล้านบาทต่อราย สำหรับประเภทของลูกหนี้ แบ่งตามวงเงินสินเชื่อเดิม ประกอบด้วย (1.1) วิสาหกิจขนาดย่อมและขนาดเล็ก (SMEs) วงเงินสินเชื่อเดิม 5 ? 50 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 44.1 ของยอดรวมสินเชื่อทั้งหมด (1.2) บริษัทวงเงินสินเชื่อเดิม 50 ? 500 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 42.7 (1.3) วิสาหกิจขนาดย่อย (Micro) วงเงินสินเชื่อเดิมไม่เกิน 5 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 12.1 และ (1.4) ลูกหนี้ใหม่ คิดเป็นร้อยละ 1.2 และหากแบ่งตามประเภทธุรกิจพบว่า สินเชื่อสำหรับกลุ่มธุรกิจการพาณิชย์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 43.7 ของยอดรวมสินเชื่อทั้งหมด อุตสาหกรรมการผลิต คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 29.4 การก่อสร้าง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7.7 และภาคบริการ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 9.6 และ (2) โครงการพักทรัพย์พักหนี้ (Asset Warehousing) มีจำนวนผู้ได้รับความช่วยเหลือแล้วทั้งสิ้น 4 ราย คิดเป็นมูลค่าสินทรัพย์ที่รับโอน 909.68 ล้านบาท
		1.2 มติคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจฯ
ที่ประชุมรับทราบสถานการณ์เศรษฐกิจล่าสุด และความคืบหน้ามาตรการเศรษฐกิจที่สำคัญ ประกอบด้วย (1) โครงการเราชนะ (2) มาตรการด้านแรงงาน และ (3) มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจและมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้
		1.3 ข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี
				1.3.1 มอบหมายให้ทุกกระทรวงและทุกหน่วยงานบริหารงบประมาณอย่างเหมาะสม และนำข้อมูลต่าง ๆ มาใช้ประกอบการวิเคราะห์และติดตามการดำเนินการของหน่วยงาน และประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างใกล้ชิด อาทิ หนี้ครัวเรือน การจ้างงาน และรายได้
ของประชาชน รวมทั้งต้องเน้นการสื่อสารข้อมูลที่ชัดเจนและเข้าใจง่ายเพื่อให้สาธารณชนเข้าใจถึงสถานการณ์
ที่เกิดขึ้นอย่างถูกต้อง
				1.3.2 มอบหมายให้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้า
แห่งประเทศไทย เร่งรัดรวบรวมข้อมูลความต้องการแรงงานต่างด้าวของภาคธุรกิจเอกชน เพื่อประสานกระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการใช้ประกอบการพิจารณาอนุญาตให้คนต่างด้าวเดินทางเข้ามาทำงานตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงานกรณีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
				1.3.3 มอบหมายให้กระทรวงแรงงานและกระทรวงพาณิชย์ ประสาน
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อ
บูรณาการฐานข้อมูลด้านแรงงานและสถานประกอบการ อาทิ ความต้องการแรงงาน รวมทั้งข้อมูลการจัดตั้งบริษัทใหม่ และบริษัทที่เลิกกิจการ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการวางแนวทางบริหารเศรษฐกิจ และเพื่อ
สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสาธารณชนต่อไป
				1.3.4 มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย พิจารณาผ่อนปรนการเดินทางระหว่างจังหวัดของแรงงานในกรณีที่มีความจำเป็น อาทิ ความต้องการใช้แรงงานข้ามจังหวัดเพื่อการเก็บผลผลิต
ทางการเกษตร โดยให้สอดคล้องกับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด และข้อกำหนดของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)
				1.3.5 มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการเกษตร รวมทั้งแนวทางการยกระดับขีดความสามารถและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของภาคเกษตรกรรม
	2.	เรื่องเพื่อพิจารณา
		2.1 แผนการเปิดพื้นที่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติของจังหวัดนำร่องในไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 เสนอโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)
			2.1.1 แผนการเปิดพื้นที่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติของจังหวัดภูเก็ต (Phuket sandbox) มีรายละเอียด ดังนี้
				2.1.1.1	แผนเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุข ประกอบด้วย
					2.1.1.1.1 แผนการกระจายวัคซีน ความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 มีผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มแรก จำนวน 279,943 คน ครอบคลุมประชากรประมาณร้อยละ 60 ของประชากรทั้งหมด และมีผู้ได้รับวัคซีน 2 เข็มแล้ว จำนวน 98,795 คน ครอบคลุมประชากรร้อยละ 21.2 ของประชากรทั้งหมด โดยมีจำนวนประชากรที่ยังไม่ได้รับวัคซีนอีก 186,644 คน สำหรับ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในจังหวัดภูเก็ตในปัจจุบันไม่มีความรุนแรง โดยมีจำนวนผู้ติดเชื้ออยู่ในระดับต่ำเฉลี่ยประมาณ 3.9 คนต่อวัน (ค่าเฉลี่ย 7 วัน ข้อมูล ณ วันที่ 3 มิถุนายน 2564)
					2.1.1.1.2 แผนเดินทางของนักท่องเที่ยว แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 Pre-arrival (1) ผู้ที่เดินทางซึ่งได้รับวัคซีนครบโดสอย่างน้อย 14 วันก่อนการเดินทางแต่ไม่เกิน 1 ปี โดยวัคซีนจะต้องขึ้นทะเบียนตามกฎหมายของประเทศไทย หรือได้รับการรับรองโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) และเป็นผู้เดินทางจากประเทศเสี่ยงต่ำและปานกลาง (ตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข) (2) เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปีที่มาพร้อมกับผู้ปกครองที่ได้รับวัคซีนแล้วให้เดินทางเข้ามาได้พร้อมผู้ปกครอง (3) เด็กที่อายุระหว่าง 6 ? 18 ปี จะต้องได้รับการตรวจเชื้อโควิด-19 เมื่อเดินทางมาถึงพร้อมรับผิดชอบค่าใช้จ่าย (4) มีผลตรวจ RT-PCR ก่อนการเดินทางไม่เกิน 72 ชั่วโมง และประกันสุขภาพครอบครองเชื้อโควิด-19 ไม่น้อยกว่า 100,000 เหรียญดอลลาร์ สรอ. รวมถึงหลักฐานจองที่พักซึ่งผ่านมาตรฐาน SHA+ และ (5) อนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ประสงค์พักอาศัยต่ำกว่า 14 วันได้ แต่จะต้องเดินทางออกไปต่างประเทศเมื่อครบกำหนดนั้น ระยะที่ 2 Arrival (1) ผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากร และผ่านการคัดกรองอาการทางเดินหายใจ และวัดไข้ผู้เดินทาง ณ จุดตรวจ (2) ติดตั้งแอบพลิเคชันแจ้งเตือน และ (3) พำนักในโรงแรมที่พักที่ได้รับมาตรฐาน SHA+ ที่จองไว้ล่วงหน้าเท่านั้น อย่างน้อย 14 คืนก่อนออกเดินทางไปยังจังหวัดอื่นในประเทศไทย ระยะที่ 3 Stay (1) ให้มีการตรวจ RT-PCR ตามมาตรฐานป้องกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข (2) นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปยังพื้นที่ต่าง ๆ และดำเนินกิจกรรม หรือใช้บริการสถานประกอบการที่ได้รับมาตรฐาน SHA+ ภายใต้มาตรการ D-M-H-T-T-A (3) กรณีเจ็บป่วยให้ประสานงานโรงแรมที่พักหรือโรงพยาบาลใกล้ที่พำนัก และ (4) เจ้าของสถานที่พัก มีหน้าที่รายงานชื่อ และสถานภาพของนักท่องเที่ยวต่างชาติให้จังหวัดทราบทุกวัน และ ระยะที่ 4 Departure (1) จากจังหวัดภูเก็ตเดินทางไปยังจังหวัดอื่น ๆ ให้แสดงผลการตรวจเชื้อโควิด-19 และเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน และ (2) กรณีเดินทางไปต่างประเทศอื่นให้ถือปฏิบัติตามเกณฑ์ของประเทศปลายทางนั้น ๆ
					2.1.1.1.3 แผนการรองรับด้านสาธารณสุข จังหวัดภูเก็ตมีโรงพยาบาลรัฐ จำนวน 5 แห่ง และโรงพยาบาลเอกชน จำนวน 4 แห่ง สำหรับการควบคุมและคัดกรองนักท่องเที่ยวประกอบด้วย 3 จุดหลัก ได้แก่ ทางอากาศ ผ่านท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต ทางบก ผ่านด่านตรวจท่าฉัตรไชย และทางน้ำ ผ่านท่าเทียบเรือรวม 38 แห่ง โดยผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทยจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดและมีแอปพลิเคชัน ThailandPlus ในการติดตามตำแหน่ง ทั้งนี้ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบ eHealth Certificate เพื่อรองรับการตรวจสอบ Vaccine Certificate จากประเทศต่าง ๆ โดยมีกรมควบคุมโรคเป็นผู้ควบคุมข้อมูล
				2.1.1.2	แผนพัฒนาเมือง (Better Phuket Initiatives) ประกอบด้วย (1) การปรับปรุงภูมิทัศน์ อาทิ การนำสายไฟฟ้าลงดินในย่านเมืองเก่าภูเก็ต รวมทั้งการเร่งรัดโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ได้แก่ แผนการปรับปรุงเส้นทาง มาตรฐานราคาและการให้บริการ การเร่งรัดโครงสร้างด้านขนส่งมวลชน การเร่งรัดโครงการด้านการขยายถนนและพื้นผิวจราจร การปรับปรุงการให้บริการ การสร้างมาตรฐานความปลอดภัยการเดินทางและการท่องเที่ยวทางทะเล การประเมินประสิทธิภาพระบบบำบัดน้ำเสียทั้งจังหวัด การดำเนินงานด้านการจัดการแหล่งน้ำและการประปาให้เพียงพอ (2) โครงการสร้างคุณค่าและประสบการณ์โดยการท่องเที่ยววิธีชุมชนเพื่อให้ชาวบ้านได้รับผลประโยชน์ และการมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมและกระจายรายได้สู่ชุมชน (3) การพัฒนาทักษะให้กับบุคลากรทางการท่องเที่ยว และ (4) การดูแลรักษาความปลอดภัยบริเวณพื้นที่ท่องเที่ยว
				2.1.1.3	แผนการตลาด ททท.ตั้งเป้าหมายการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนแล้ว ในไตรมาสที่ 3 (กรกฎาคม ? กันยายน 2564) จำนวน 129,000 คน และคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ 11,492 ล้านบาท โดยมีกลุ่มเป้าหมายตลาดระยะใกล้ ได้แก่ เวียดนาม ฮ่องกง เกาหลีใต้ ไต้หวัน และญี่ปุ่น (ยกเว้น จีน) และกลุ่มเป้าหมายระยะไกล ได้แก่ อังกฤษ เยอรมนี รัสเซีย อิสราเอล กลุ่มประเทศ GCC ฝรั่งเศส นอร์ดิก และสหรัฐอเมริกา ในส่วนของแผนการบินในปัจจุบันพบว่าสายการบินพาณิชย์ของต่างประเทศหลายสายการบินแสดงความต้องการที่จะเพิ่มเส้นทางการบินมายังจังหวัดภูเก็ตมากขึ้น
			2.1.2 แผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของพื้นที่นำร่องอื่น ๆ แบบไม่กักตัว และให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่และพำนักในที่พักตามมาตรฐาน SHA+ และมาตรฐาน DMHTTA โดยให้มีการตรวจหาเชื้อตามระยะเวลาที่แต่ละจังหวัดกำหนด ประกอบด้วย
				2.1.2.1	เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เสนอขอให้นักท่องเที่ยวไม่ต้องกักตัว และท่องเที่ยวแบบจำกัดพื้นที่ในระบบปิด (0+3+4 คืน) ในเดือนกรกฎาคม โดยมีขั้นตอนดังนี้ วันที่ 0 ตรวจหาเชื้อครั้งที่ 1 และพักผ่อนในห้องพักเท่านั้น วันที่ 1-3 สามารถใช้บริการและทำกิจกรรมต่าง ๆ นอกห้องพักบริเวณโรงแรมได้ วันที่ 4-7 ท่องเที่ยวในอำเภอเกาะสมุยได้ตามเส้นทางและโปรแกรมที่กำหนดไว้ และตรวจหาเชื้อครั้งที่ 2 ในวันที่ 7 วันที่ 8-14 ท่องเที่ยวได้ภายในเกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า หากออกนอกพื้นที่จะต้องขออนุญาต ศปก. พื้นที่เท่านั้น
				2.1.2.2	จังหวัดกระบี่ เสนอขอให้นักท่องเที่ยวไม่ต้องกักตัวในพื้นที่เกาะพีพี ไร่เลย์ เกาะไหง ในเดือนกรกฎาคม และในพื้นที่เกาะลันตา อ่าวนาง และทับแขก ในเดือนสิงหาคม
				2.1.2.3	จังหวัดพังงา เสนอขอไม่กักตัวในพื้นที่เขาหลัก ในเดือนสิงหาคม
				2.1.2.4	จังหวัดเชียงใหม่ เสนอขอไม่กักตัวในเดือนสิงหาคม แต่ต้องอยู่ในโรงแรมเป็นเวลา 7 คืน โดยสามารถออกนอกห้องพักและออกไปทำกิจกรรมในเส้นทางและโปรแกรมที่กำหนดไว้ได้ อาทิ อำเภอเมือง แม่ริม แม่แตง และดอยเต่า
				2.1.2.5	จังหวัดชลบุรี (พัทยา) เสนอขอไม่กักตัวในเดือนตุลาคมเป็นต้นไป
			2.1.3 มติคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจฯ
				2.1.3.1 เห็นชอบในหลักการแนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำและปานกลางของจังหวัดภูเก็ต (Phuket Sandbox) ตามข้อเสนอของ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และมอบหมายให้ ททท. นำเสนอต่อ ศบค. และคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป
				2.1.3.2 มอบหมายให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หารือร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานในพื้นที่ภาครัฐและเอกชน เพื่อพิจารณาความเหมาะสมของแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วในพื้นที่นำร่องอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความพร้อมในการเปิดรับนักท่องเที่ยวและขีดความสามารถของพื้นที่ในการควบคุมการแพร่ระบาด และจัดทำรายละเอียดแนวทางการดำเนินการเสนอต่อคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจฯ เพื่อพิจารณาต่อไป
		2.2 มาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้าสู่ประเทศไทย เสนอโดยทีมปฏิบัติการเชิงรุกทาบทามทั้งบริษัทเอกชนไทยและต่างประเทศ
(ทีมปฏิบัติการเชิงรุกฯ)
			2.2.1 รายละเอียดมาตรการ
			 การดึงดูดผู้พำนักระยะยาวจะสามารถสร้างรายได้จำนวนมากให้ประเทศไทย รวมถึงช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ การลงทุน และการจ้างงานในอนาคต มีเป้าหมายเพื่อดึงดูดผู้พำนักระยะยาวจำนวน 1 ล้านรายเข้าสู่ประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะสร้างเม็ดเงินจากการใช้จ่ายภายในประเทศ 1 ล้านล้านบาท เกิดการลงทุน 8 แสนล้านบาท สร้างรายได้จากภาษีเพิ่มขึ้น 2.5 แสนล้านบาท รวมทั้งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมเป้าหมาย มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ใหม่ ๆ และเพิ่มโอกาสการจ้างงานในประเทศ โดยมีรายละเอียดข้อเสนอการดำเนินการใน 4 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ (1) กลุ่มประชากรโลกที่มีความมั่งคั่งสูง (Wealthy global citizen) (2) ผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ (Wealthy pensioner) (3) กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย (Work-from-Thailand professional) และ (4) กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ (High-skilled professional) ทั้งนี้ มีข้อเสนอมาตรการใน 2 มาตรการที่สำคัญ ประกอบด้วย (1) มาตรการด้านการกำหนดวีซ่าสำหรับผู้พำนักระยะยาวใหม่ (LTR Visa) และ (2) มาตรการการจัดตั้งหน่วยบริการผู้พำนักระยะยาว (LTR sevice unit) ในรูปแบบองค์กรเอกชนที่ได้รับสัปทานจากกระทรวงการคลังเพื่อบริหารจัดการเกี่ยวกับโครงการนี้โดยเฉพาะ
			2.2.2 มติคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจฯ
	 	 		2.2.2.1 เห็นด้วยกับข้อเสนอของทีมปฏิบัติการเชิงรุกฯ เนื่องจากมาตรการดังกล่าวจะก่อให้เกิดประโยชน์ในการกระตุ้นการลงทุนภายในประเทศในระยะต่อไป
		 		2.2.2.2 มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) เป็นประธานในการประชุมหารือร่วมกับทีมปฏิบัติการเชิงรุกฯ และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันพิจารณารายละเอียดของแผนการดำเนินงานด้านต่าง ๆ และการทบทวนแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบที่จำเป็น และนำเสนอคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจฯ พิจารณาต่อไป
				2.2.2.3 มอบหมายให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ประสานทีมปฏิบัติการเชิงรุกฯ ในส่วนของรายละเอียดหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์เพื่อรองรับกลุ่มนักลงทุนต่างชาติที่มีคุณภาพและกำลังซื้อสูงภายใต้มาตรการ Thailand Flexible Plus Program ให้มีความสอดคล้องกับแผนการดึงดูดกลุ่มประชากรที่มีความมั่งคั่งสูงตามข้อเสนอของทีมปฏิบัติการเชิงรุกฯ โดยเมื่อได้ข้อยุติแล้ว ให้ ททท. นำเสนอมาตรการช่วยเหลืออสังหาริมทรัพย์ภายใต้ Elite Flexible Program ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป

ต่างประเทศ

22. เรื่อง ความตกลงว่าด้วยกรอบข้อบังคับด้านความปลอดภัยอาหารอาเซียน (ASEAN Food Safety Regulatory Framework Agreement : AFSRF Agreement)
		คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ ดังนี้
		1. เห็นชอบและอนุมัติการลงนามความตกลงว่าด้วยกรอบข้อบังคับด้านความปลอดภัยอาหารอาเซียน (ASEAN Food Safety Regulatory Framework Agreement : AFSRF Agreement) ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดแนวทางการดำเนินการทั้งหมดที่ครอบคลุมและมีการบูรณาการเกี่ยวกับความปลอดภัยอาหารของประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองสุขภาพของผู้บริโภคและอำนวยความสะดวกการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีของอาหารปลอดภัยในอาเซียน
		2. มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ลงนามใน AFSRF Agreement ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขถ้อยคำที่มิใช่สาระสำคัญใน AFSRF Agreement ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้ผู้ลงนามเป็นผู้ใช้ดุลยพินิจพิจารณาตามสถานการณ์ตามความเหมาะสมที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยต่อไป และรายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบ
		3. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศจัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายอื่นเป็นผู้ลงนาม AFSRF Agreement
		4. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการมอบสัตยาบันสารของ AFSRF Agreement ดังกล่าวให้แก่เลขาธิการอาเซียนเพื่อรับทราบการให้สัตยาบัน AFSRF Agreement เมื่อรัฐสภามีมติเห็นชอบ AFSRF Agreement


		สาระสำคัญ
		อาเซียนจัดทำนโยบายความปลอดภัยอาหารของอาเซียน (ASEAN Food Safety Policy) เพื่อกำหนดทิศทางให้กับหน่วยงานอาเซียนที่เกี่ยวข้องและประเทศสมาชิกอาเซียนในการปกป้องสุขภาพของผู้บริโภคในอาเซียน และได้จัดทำกรอบข้อบังคับด้านความปลอดภัยอาหารอาเซียน (ASEAN Food Safety Regulatory Framework) เพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดทำ AFSRF Agreement โดยอาเซียนได้แต่งตั้งคณะ Task Force on Development of ASEAN Food Safety Regulatory Framework Agreement (TF AFSRF) โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านเศรษฐกิจและด้านสุขภาพเข้าร่วมการประชุมคณะ TF AFSRF และร่วมพิจารณาร่าง AFSRF Agreement มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561   ร่าง AFSRF Agreement ฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบจากการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ (Senior Officials Meeting of the ASEAN Ministers on Agriculture and Forestry; SOM-AMAF) เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน (Senior Economic Officials Meeting: SEOM) เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2563 และการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการพัฒนาสาธารณสุข (Senior Officials Meeting on Health Development; SOMHD) เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2563 แล้ว
		สาระสำคัญของความตกลง ฯ เป็นการกำหนดแนวทางการดำเนินการทั้งหมดที่ครอบคลุมและมีการบูรณาการเกี่ยวกับความปลอดภัยอาหารของประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองสุขภาพของผู้บริโภคและอำนวยความสะดวกการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีของอาหารปลอดภัยในอาเซียน โดยมีการกำหนดหน้าที่ให้รัฐสมาชิกต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกัน การทำให้อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้าอาหารภายในอาเซียนเหลือน้อยที่สุด  และการลดความแตกต่างของระบบการควบคุมของประเทศสมาชิกอาเซียน
ทั้งนี้ ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากการลงนาม AFSRF Agreement โดยที่การจัดทำ AFSRF Agreement จะเป็นเครื่องมือทางกฎหมายในการดำเนินงานตามนโยบายความปลอดภัยของอาหารอาเซียน สร้างความร่วมมือและการบูรณาการงานด้านความปลอดภัยอาหารเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการคุ้มครองสุขภาพของผู้บริโภคและการอำนวยความสะดวกการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีของอาหารปลอดภัยภายในอาเซียน การทำให้อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้าอาหารภายในอาเซียนเหลือน้อยที่สุด และการลดความแตกต่างของระบบการควบคุมของประเทศสมาชิกอาเซียน

23. เรื่อง การลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรมแห่งราชอาณาจักรไทย และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงความมั่นคงสาธารณะ สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการและความร่วมมือทางนิติวิทยาศาสตร์
		คณะรัฐมนตรีรับทราบการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรมแห่งราชอาณาจักรไทย และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงความมั่นคงสาธารณะ สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการและความ่รวมมือทางนิติวิทยาศาสตร์ ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ ทั้งนี้ เพิ่มเติมถ้อยคำในข้อ 2 และข้อ 3 ซึ่งเป็นการปรับแก้ภาษาและเพิ่มเติมถ้อยคำเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินกิจกรรมภายใต้ร่างบันทึกความเข้าใจฯ โดยไม่กระทบต่อสาระสำคัญโดยรวม ดังนี้
ฉบับปรับปรุง
2. The Participants will strengthen cooperative assistance in the fields of capacity building, academic and technical knowledge development, including but not limited to:
     a. Biometrics database and Matching System technical and knowledge Development
     b. DNA Analysis methods techniques, technology, technical expertise and laboratory
         capacity enhancement
     c. Digital Forensic, Technology, Standard, tools and knowledge enhancement
3. The Participants agree that the costs incurred from operations under the Memorandum of Understanding will be borne by either Participant, unless otherwise stated.
		เพิ่มข้อ 10 และข้อ 11 ตามข้อเสนอแนะของกระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้เกิดความชัดเจนต่อความเป็นเจ้าของสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินกิจกรรมภายใต้ร่างบันทึกความเข้าใจฯ ดังนี้
ฉบับปรับปรุง
10. The intellectual Property Rights (IPRs) in any work(s) under this Memorandum of Understanding will belong to the Participant that creates the work, unless otherwise agreed in writing
11. Any difference that may arise between the Participants on the interpretation or application of the provisions of this Memorandum of Understanding will be settled amicably by means of negotiation and consultations between the Participants
		สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ได้จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจฯ ในรูปแบบการประชุมทางไกล (Virtual Meeting) เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2564 ซึ่งเป็นการลงนามความร่วมมือครั้งแรกระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนในด้านการพัฒนางานนิติวิทยาศาสตร์ ที่จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการพัฒนางาน             นิติวิทยาศาสตร์และพัฒนาบุคลากรสาขานิติวิทยาศาสตร์ระหว่าง 2 สถาบัน โดยบันทึกความเข้าใจดังกล่าวมีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 5 ปี (ตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2564) และจะได้รับการต่ออายุอีก 5 ปี เมื่อทั้งสองฝ่ายยินยอมร่วมกันเป็นลายลักษณ์อักษร

24. เรื่อง การขอความเห็นชอบร่างปฏิญญาสมัยพิเศษของการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน ครั้งที่ 15 และการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา ครั้งที่ 8
		คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างปฏิญญาสมัยพิเศษของการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน ครั้งที่ 15 (15th ASEAN Defence Minister?s Meeting: 15th ADMM) และการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา ครั้งที่ 8 (8th ASEAN Defence Minister?s Meeting Plus: 8th ADMM ? Plus)             (ร่างปฏิญญาสมัยพิเศษฯ) จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่
		1. ร่างปฏิบัญญาบันดาร์ เสรี เบกาวัน เนื่องในโอกาสการฉลองครบรอบ 15 ปี ของการก่อตั้งกลไกการประชุม ADMM เพื่อส่งเสริมการเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต สันติภาพ และความมั่งคั่งของอาเซียน (ร่างปฎิญญาฯ ADMM)
		2. ร่างปฏิญญาบันดาร์ เสรี เบกาวัน ของการประชุม ADMM ? Plus เนื่องในโอกาสการฉลองครบรอบ 15 ปี ของการก่อตั้งกลไกการประชุม ADMM เพื่อส่งเสริมการเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต สันติภาพ และความมั่งคั่งของอาเซียน (ร่างปฏิญญาฯ ADMM - Plus)
		ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของร่างปฏิญญาสมัยพิเศษฯ ทั้ง 2 ฉบับ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงกลาโหมดำเนินการได้ โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก โดยให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หรือผู้แทนเป็นผู้รับรองร่างปฏิญญาสมัยพิเศษฯ (กระทรวงกลาโหมมีกำหนดการรับรองร่างปฏิญญาสมัยพิเศษฯ ทั้ง 2 ฉบับ ระหว่างวันที่ 15 ? 16 มิถุนายน 2564)
		สาระสำคัญ
		นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมีกำหนดการเข้าร่วมการประชุม ADMM ครั้งที่ 15 และการประชุม ADMM ? Plus ครั้งที่ 8 ด้วยระบบการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ระหว่างวันที่ 15 ? 16 มิถุนายน 2564 โดยมีกระทรวงกลาโหม เนการาบรูไนดารุสซาลาม เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ซึ่งในห้วงการประชุมดังกล่าวจะมีการรับรองเอกสาร จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ ร่างปฏิญญาฯ ADMM และร่างปฏิญญาฯ ADMM ? Plus
		ร่างปฏิญญาสมัยพิเศษฯ ทั้ง 2 ฉบับ เป็นการแสดงเจตนารมณ์เชิงนโยบายร่วมกันในโอกาสฉลองครบรอบ 15 ปี การก่อตั้งกลไกการประชุม ADMM ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน และระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาในการส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจ และความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม ซึ่งจะเป็นการพัฒนาและส่งเสริมความร่วมมือให้อาเซียนสามารถตอบสนองต่อภัยคุกคามด้านความมั่นคงของภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุมในทุกมิติ รวมทั้งเป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาคมอาเซียนอย่างยั่งยืน โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
ร่างปฏิญญาฯ ADMM	ร่างปฏิญญาฯ ADMM ? Plus
 - มุ่งมั่นที่จะดำเนินการตามวิสัยทัศน์ของประชาคมอาเซียน ปี ค.ศ. 2025 อย่างเต็มรูปแบบและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มีความตระหนักถึงการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ ทำเพื่อประโยชน์ของประชาชน และมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง รวมทั้งส่งเสริมขีดความสามารถในการรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ และเป็นภูมิภาคที่มีวิสัยทัศน์ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก โดยยังรักษาความเป็นแกนกลางของอาเซียน
 - ให้ความสำคัญต่อการประชุม ADMM และ ADMM ? Plus ซึ่งเป็นเวทีการประชุมที่สำคัญสำหรับการหารือทางด้านยุทธศาสตร์และความร่วมมือในทางปฏิบัติในด้านการทหาร โดยมีอาเซียนเป็นศูนย์กลาง และให้คำมั่นสัญญาแก่ภาคีทุกฝ่ายร่วมกันแก้ปัญหาในประเด็นทะเลจีนใต้อย่างสร้างสรรค์และสันติ ผ่านการบังคับใช้ปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้และประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ นอกจากนี้ ยังยึดมั่นในการสนับสนุนความมั่นคงทางทะเล ความปลอดภัยเสรีภาพการเดินเรือและการบินข้ามน่านฟ้า เพื่อนำไปสู่การแก้ไขข้อพิพาททะเลจีนใต้อย่างสันติ
 - เสริมสร้างความร่วมมือในการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระหว่างหน่วยงานด้านความมั่นคงของอาเซียนและภาคีภายนอก ผ่านศูนย์แพทย์ทหารอาเซียนและเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้านเคมี ชีวภาพ และรังสี ในรูปแบบการปรึกษาหารือ การแลกเปลี่ยนการปฏิบัติ การถอดบทเรียน และแสวงหารูปแบบใหม่ของการทำงานร่วมกัน รวมทั้งความร่วมมือข้ามเสาประชาคมและข้ามสาขาเพื่อสนับสนุนขีดความสามารถและการเตรียมความพร้อมของอาเซียนในการรับมือกับเหตุฉุกเฉินด้านสาธารณสุข
 - รับรองร่างเอกสารความร่วมมือริเริ่มใหม่ในปี พ.ศ. 2564 ซึ่งเสนอโดยประเทศสมาชิกอาเซียน จำนวน 8 ฉบับ
 - เห็นชอบการเสนอการจัดประชุมเฉพาะกิจในกรอบการประชุม ADMM ? Plus ว่าด้วยภัยคุกคามด้านเคมี ชีวภาพ และรังสี เพื่อสนับสนุนความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เกิดจากสารเคมี ชีวภาพ และรังสีจากเหตุการณ์การก่อการร้ายในภูมิภาค ผ่านการแบ่งปันด้านข้อมูลข่าวสาร การแลกเปลี่ยนการปฏิบัติ การส่งเสริมความร่วมมือ และการเตรียมพร้อม ในการรับมือกับภัยคุกคามดังกล่าว รวมทั้งการจัดตั้งเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้านเคมี ชีวภาพ และรังสีในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ
 - ต้อนรับการเป็นประธานอาเซียนและการเป็นเจ้าภาพการประชุม ADMM ครั้งที่ 16 ณ ราชอาณาจักรกัมพูชา ในปี พ.ศ. 2565 	 - ให้ความสำคัญต่อการประชุม ADMM และ ADMM ? Plus ซึ่งเป็นเวทีการประชุมที่สำคัญสำหรับการหารือทางด้านยุทธศาสตร์และดำเนินความร่วมมือในเชิงปฏิบัติของกรอบความร่วมมือด้านความมั่นคง โดยเน้นย้ำความเชื่อมั่นและความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันและยกระดับการหารือและความร่วมมือในการเผชิญหน้ากับความท้าทายในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อจัดการกับปัญหาระดับภูมิภาคและระดับโลกที่เร่งด่วน รวมทั้งเพื่อสนับสนุนกฎระเบียบระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศตามที่ระบุในกฎหมายระหว่างประเทศ
 - ยินดีต้อนรับต่อความสนใจจากพันธมิตรอาเซียนและประเทศคู่เจรจาในการสนับสนุนการดำเนินงานของการประชุม ADMM เพื่อส่งเสริมความมั่นคงและเสถียรภาพในภูมิภาค และยินดีต่อการมีส่วนร่วมในเชิงบวกที่สอดคล้องกันของประเทศคู่เจรจาเพื่อสนับสนุนประเทศสมาชิกอาเซียนในการรับมือกับความท้าทายด้านความมั่นคงในปัจจุบันและที่เกิดขึ้นใหม่ รวมทั้งภัยพิบัติทางธรรมชาติภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข โรคระบาด และการบรรเทาผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจ
 - เสริมสร้างการมีส่วนร่วมของหน่วยงานด้านความมั่นคงในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และเน้นย้ำถึงความสำคัญของการใช้ขีดความสามารถของคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ทหาร ศูนย์แพทย์ทหารอาเซียน และเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้านเคมี ชีวภาพ และรังสี ของอาเซียน
 - สนับสนุนการแสวงหาความร่วมมือและความคิดริเริ่มด้านความมั่นคงในทางปฏิบัติที่มีส่วนส่งเสริมขีดความสามารถของหน่วยงานด้านความมั่นคงและทางทหาร เพื่อการเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยคุกคามต่าง ๆ ของภูมิภาค รวมทั้งสนับสนุนการเจรจาทางยุทธศาสตร์เกี่ยวกับประเด็นด้านความมั่นคงและการทหารของภูมิภาคระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศคู่เจรจา
 - สนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียนการเคารพในอธิปไตย และบรูณภาพแห่งดินแดนกระบวนการตัดสินใจผ่านฉันทามติ ความยืดหยุ่นบนพื้นฐานของความสมัครใจและไม่มีผลผูกพัน รวมทั้งการสนับสนุนทรัพยากรของประเทศสมาชิกภายใต้การควบคุมและสั่งการแห่งชาติ
 - ต้อนรับการจัดประชุม ADMM ? Plus ครั้งที่ 9
ณ ราชอาณาจักรกัมพูชา ในปี พ.ศ. 2565
		ร่างปฏิญญาสมัยพิเศษฯ ทั้ง 2 ฉบับ มีสาระสำคัญเป็นการแสดงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน และระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาโดยไม่มีถ้อยคำหรือบริบทใดที่มุ่งจะก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ

25.  เรื่อง  รายงานการทบทวนการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ระดับชาติ โดยสมัครใจของไทย พุทธศักราช 2564
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อรายงานการทบทวนการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ระดับชาติ โดยสมัครใจของไทย พุทธศักราช 2564 (Thailand?s Voluntary National Review on the Implementation of the 2030 Agenda for Sustainable Development 2021 - VNR) และอนุมัติให้กระทรวงการต่างประเทศจัดส่งรายงานให้ United Nations Department of Economic and Social Affairs (UN DESA) ภายในวันที่ 11 มิถุนายน 2564 โดยอนุญาตให้กระทรวงการต่างประเทศปรับปรุงแก้ไขร่างรายงานฯ ทั้งฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยไม่กระทบต่อสาระสำคัญของร่างรายงานฯ และ/หรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย หากมีความจำเป็น รวมทั้งเห็นชอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายนำเสนอรายงานฯ และตอบข้อซักถาม (ถ้ามี) ต่อที่ประชุม High-level Political Forum on Sustainable Development (HLPF) ประจำปี 2564 ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
                   สาระสำคัญ
                   1. วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ให้ความสำคัญกับการติดตามและทบทวนการดำเนินการตามวาระการพัฒนาฯ อย่างเป็นระบบ โดยวรรค 79 ของข้อมติสมัชชาสหประชาชาติ ที่ 70/1 เรื่อง Transforming our world: the 2030 Agenda for Sustainable Development ซึ่งได้รับการรับรองโดยที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 70    เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2558 สนับสนุนให้ประเทศต่าง ๆ ทบทวนความคืบหน้าการดำเนินการในระดับชาติเป็นประจำ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และวรรค 84 ระบุให้ที่ประชุม HLPF จัดการทบทวนการดำเนินการตามวาระการพัฒนาฯ ของประเทศต่าง ๆ เป็นประจำ โดยเป็นการทบทวนโดยสมัครใจเป็นกระบวนการที่นำโดยประเทศ (State-led) ทั้งประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา และเป็นเวทีเพื่อส่งเสริมความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
                   2. รายงาน VNR ประจำปี 2564 มีสาระครอบคลุมการดำเนินงานด้าน SDGs ของไทยในทั้ง 17 เป้าหมาย โดยให้ความสำคัญและคำนึงถึงผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต่อการขับเคลื่อน SDGs ความท้าทายที่ประสบและการดำเนินการขั้นต่อไปเพื่อฟื้นฟูให้กลับมาดีขึ้นกว่าเดิมโดยรัฐบาลไทยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาของไทย (home-grown development approach) ที่มุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถของมนุษย์ การสร้างภูมิต้านทาน และการรักษาสมดุลระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม มาปรับใช้เพื่อสร้างขีดความสามารถในการรับมือกับความท้าทายด้านการพัฒนาต่าง ๆ รวมทั้งโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่รัฐบาลประกาศใช้เป็นแนวทางการฟื้นฟูประเทศภายหลังจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
                   3. รายงาน VNR ย้ำความสำคัญของการขับเคลื่อนการดำการตาม SDGs อย่างบูรณาการโดยทุกภาคส่วนในประเทศและความเชื่อมโยงระหว่าง SDGs แต่ละเป้าหมาย โดยนำเสนอตัวอย่างทบทวนของภาคเอกชน             ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ ภาคเครือข่ายเยาวชน และประชาชนทั่วไปในการขับเคลื่อน SDGs อย่างเป็นรูปธรรม                   ทั้งนี้ ในกระบวนการจัดทำรายงาน VNR ยังเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่าง ๆ ให้ข้อคิดเห็นต่อร่างรายงานฯ เพื่อให้รายงานมีความครอบคลุม สมดุล และสะท้อนความเห็นจากทุกภาคนส่วน

26.  เรื่อง ขอความเห็นชอบร่างปฏิญญาเมืองและการขนส่ง: ความปลอดภัย ความมีประสิทธิภาพ และความยั่งยืน
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างปฏิญญาเมืองและการขนส่ง: ความปลอดภัย ความมีประสิทธิภาพ และความยั่งยืน (Draft Declaration on the ?City and Transport: Safety, Efficiency and Sustainability?) ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างปฏิญญาฯ ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย ให้อยู่ในดุลพินิจของผู้แทนไทยโดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองร่างปฏิญญาเมืองและการขนส่ง: ความปลอดภัย ความมีประสิทธิภาพ และความยั่งยืน ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ
                   สาระสำคัญของร่างปฏิญญาฯ มีวัตถุประสงค์ในการให้ประเทศสมาชิกได้แสดงเจตนารมณ์ในการสนับสนุนการพัฒนาระบบการขนส่งภายในเมืองที่ยั่งยืนซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจภายในเมืองและคุณภาพชีวิตของประชาชนในการพัฒนาสู่ความเป็นเมือง การแก้ไขปัญหาการใช้เครื่องยนต์ที่มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นจากการจราจรภายในเมือง การพัฒนาระบบการขนส่งสาธารณะที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนเพื่อลดต้นทุนการเดินทาง ปัญหาการจราจรหนาแน่น การลดอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเขตเมืองที่รองรับยานพาหนะที่มีขนาดเบา (micromobility) และการขนส่งที่ไร้เครื่องยนต์ การส่งเสริมการใช้ยานพาหนะพลังงานไฟฟ้า การพัฒนาระบบการขนส่งแบบดิจิทัลและสามารถเข้าถึงได้ ตลอดจนการมุ่งมั่นในการพัฒนาระบบการขนส่งภายในเมืองที่ยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าอาจต้องมีการปรับเปลี่ยนแนวทางในการดำเนินการอันเป็นผลมาจากผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือสภาวะวิกฤติต่าง ๆ ที่คล้ายกันซึ่งอาจเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงเข้าร่วมการประชุมหารือด้านการขนส่งภายในเมืองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมภายใต้กรอบเอสแคปอย่างต่อเนื่องพร้อมประสานงานกับองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องในการจัดการประชุมระดับนานาชาติที่สอดคล้องกับหัวข้อ City and Transport: Safety, Efficiency and Sustainability ต่อไป

แต่งตั้ง

27. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)
		คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้
 		1. นายมรกต จรูญวรรธนะ นักวิชาการอาหารและยาเชี่ยวชาญ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ดำรงตำแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิด้านความปลอดภัยและประสิทธิผลของผลิตภัณฑ์และการใช้ผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข (นักวิชาการอาหารและยาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2563
 		2. นายบุญส่ง วนิชเวชารุ่งเรือง นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรม สาขาจักษุวิทยา) กลุ่มงานจักษุวิทยา ภารกิจด้านวิชาการและการแพทย์ โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรม สาขาจักษุวิทยา) โรงพยาบาลสงฆ์ กรมการแพทย์ ตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2563
		ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

28. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงศึกษาธิการ)
		คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอแต่งตั้ง นางลาวัณย์ ตรีเนตร ศึกษานิเทศก์ (วิทยฐานะศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรปราการ เขต 1 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านพัฒนากระบวนการเรียนรู้ (นักวิชาการศึกษาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน 2563 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

29. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน)
		คณะรัฐมนตรีมติอนุมัติตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เสนอแต่งตั้ง นางนวลจันทร์ โพธิ์ช่วย ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ให้ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

30. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี
		คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอการแต่งตั้ง นางสาวณัฐธ์ภัสส์ ยงใจยุทธ เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศแต่งตั้ง


          ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 มิถุนายน 2564

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ