สรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรีชุด พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 สิงหาคม 2564

ข่าวการเมือง Tuesday August 3, 2021 18:45 —มติคณะรัฐมนตรี

http://www.thaigov.go.th

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

                    วันนี้ (3 สิงหาคม 2564)  เวลา 09.00 น. พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี                    เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีผ่านระบบ Video Conference ณ ห้อง PMOC ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า                              ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้


กฎหมาย

                    1.           เรื่อง           ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พ.ศ. ?.
                    2.           เรื่อง           ขอถอนร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งศูนย์รับคำขออนุญาต พ.ศ. ?.
                    3.           เรื่อง           ร่างกฎกระทรวงยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่อง                                                  เสียง วีดิทัศน์ และเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ที่คล้ายกัน : คุณลักษณะที่ต้องการ                                                  ด้านความปลอดภัยต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. 2564 พ.ศ. ....
                    4.           เรื่อง           ร่างประกาศกฎกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์การ                                                  เก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ พ.ศ. ....
                    5.           เรื่อง           ร่างพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์                                        ที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. ....

เศรษฐกิจ สังคม

                    6.          เรื่อง           ขอความเห็นชอบปรับลดหน่วยโครงการบ้านเอื้ออาทรจังหวัดสมุทรปราการ

(เทพารักษ์ 4) และเพิ่มกรอบงบลงทุน ?โครงการบ้านเคหะสุขเกษม?

                    7.           เรื่อง           โครงการทุนอุดหนุนนักเรียนเรียนดีมีความสามารถในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
                    8.           เรื่อง           ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง                                         รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินงานโครงการอบรม                                        และส่งเสริมการพัฒนายกระดับทักษะอาชีพในภาคเกษตรกรรม
                    9.           เรื่อง           การขับเคลื่อนการให้บริการประชาชนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e - Service)

ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565

                    10.           เรื่อง           รายงานผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย                                         ประจำปี 2563
                    11.           เรื่อง           รายงานผลการดำเนินงานของระบบประกันภัยและพัฒนาการที่สำคัญ รอบ 12                                         เดือน ปี 2563
                    12.           เรื่อง           ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง บทบาทและทิศทางการ                                                  ประกันภัยและนัยเชิงนโยบายเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ของ                                                            คณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง วุฒิสภา
                    13.           เรื่อง           รายงานผลการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.                                         2563 ในประเด็นสนับสนุนการแก้ไขปัญหาสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ของรัฐบาล                                         ของ อ.ค.ต.ป. คณะต่าง ๆ และ ค.ต.ป. ประจำกระทรวง และรายงานผลการ                                                  ประเมินตนเองของคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการคณะ

ต่าง ๆ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2

                    14.           เรื่อง           รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนพฤษภาคม 2564
                    15.           เรื่อง           ขยายขอบเขตมาตรการบรรเทาผลกระทบอันเนื่องมาจากข้อกำหนดออกตาม                                                  ความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน                                         พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 30)
                    16.           เรื่อง           มาตรการบรรเทาผลกระทบของประชาชนในการติดต่อราชการเพื่อขออนุญาต
                                        กับหน่วยงานของรัฐจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา                                         2019
                    17.           เรื่อง           ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้พระราช                                                  กำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2564
                    18.          เรื่อง          มาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ

ไวรัสโคโรนา 2019

ต่างประเทศ

                    19.           เรื่อง           รายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทย (Universal Periodic Review:                                         URP) รอบที่ 3
                    20.           เรื่อง           รายงานความก้าวหน้าโครงการอาคารแสดงประเทศไทย งาน  World Expo                                                   2020 Dubai และสถานะด้านงบประมาณ
                    21.           เรื่อง           การประชุมรัฐมนตรีกลุ่มเคร์นส์อย่างไม่เป็นทางการ (Informal Gathering of                                                   Cairns Group Ministers)
                    22.           เรื่อง           บันทึกความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขแห่งราชอาณาจักรไทย กระทรวง                                        การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งราชอาณาจักรไทย และ                                                  กระทรวงอุตสาหกรรมแห่งราชอาณาจักรไทย และสำนักงานนโยบายด้านการดูแล                                        สุขภาพ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแห่งญี่ปุ่น กระทรวงกิจการภายในและการ                                        สื่อสารแห่งญี่ปุ่น กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการแห่งญี่ปุ่น และ                                                  กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมแห่งญี่ปุ่น สาขาการดูแลสุขภาพ
                    23.           เรื่อง           ร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 27 แผนงานการพัฒนา                                        เขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย - มาเลเซีย - ไทย (IMT-GT)
                    24.           เรื่อง           ร่างถ้อยแถลงร่วมกลุ่มมิตรประเทศลุ่มน้ำโขง

แต่งตั้ง

                    25.           เรื่อง           การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับ                                                  ทรงคุณวุฒิ (กระทรวงการคลัง)
                    26.           เรื่อง           การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชการระดับ                                                  ทรงคุณวุฒิ (สำนักนายกรัฐมนตรี)
                    27.           เรื่อง           การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง                                                   (สำนักนายกรัฐมนตรี)
                    28.           เรื่อง           การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง                                                             กระทรวงมหาดไทย
                    29.           เรื่อง           การต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

(ครั้งที่ 1)

                    30.          เรื่อง           การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
                    31.           เรื่อง           แต่งตั้งกรรมการอื่นในคณะกรรมการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร
                    32.           เรื่อง           ขอความเห็นชอบแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทน                                                  ผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญานำเสนอ                                                            คณะรัฐมนตรีพิจารณา
                    33.           เรื่อง           การขอความเห็นชอบการต่อเวลาการดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี
                                        ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ผู้ว่าราชการจังหวัด                                                  พัทลุง และผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396





































กฎหมาย

1. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พ.ศ. ?.
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบ ดังนี้
                     1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พ.ศ. ?. ตามที่ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงบประมาณและสำนักงาน ก.พ.ร. ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
                     2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่ อว. เสนอ
                     3. ให้ อว. รับความเห็นของสำนักงบประมาณ สำนักงาน ก.พ. และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
                     ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติที่ อว. เสนอ เป็นการปรับปรุงพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พ.ศ. 2533 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยเปลี่ยนสถานะของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีที่เป็นส่วนราชการ เป็นมหาวิทยาลัยที่มีฐานะเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ และกฎหมายอื่น เพื่อปรับปรุงการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งสอดคล้องกับแนวนโยบายการพัฒนาประเทศของรัฐบาล ซึ่งสภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ด้วยแล้ว
                     สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
                      1. กำหนดให้มหาวิทยาลัยเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ และกฎหมายอื่น
                     2. กำหนดให้กิจการของมหาวิทยาลัยไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน และกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ แต่พนักงานมหาวิทยาลัยต้องได้รับการคุ้มครองและประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน
                     3. กำหนดให้มหาวิทยาลัยมีอำนาจหน้าที่กระทำการต่าง ๆ ตามวัตถุประสงค์ที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่น อำนาจในการซื้อ ขาย จ้าง รับจ้าง สร้าง จัดหา โอน รับโอน เช่า ให้เช่า เช่าซื้อ ให้เช่าซื้อ จำหน่าย และแลกเปลี่ยน หรือทำนิติกรรมใด ๆ เพื่อประโยชน์แก่กิจการของมหาวิทยาลัย ตลอดจนถือกรรมสิทธิ์ มีสิทธิครอบครอง มีสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา หรือมีทรัพยสิทธิต่าง ๆ ในทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย อำนาจในการกู้ยืมเงินและให้กู้ยืมเงินโดยมีหลักประกันด้วยบุคคลหรือทรัพย์สิน ถือหุ้น เข้าเป็นหุ้นส่วน และลงทุนหรือร่วมลงทุน และอำนาจในการออกพันธบัตรหรือตราสารอื่นใดเพื่อการลงทุนโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี และอำนาจในการกำหนดค่าตอบแทนหรือค่าตอบแทนพิเศษ รวมทั้งสวัสดิการ สิทธิประโยชน์ และประโยชน์อย่างอื่นให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย
                     4. กำหนดให้รายได้ของมหาวิทยาลัยไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง กฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ หรือกฎหมายอื่น
                     5. กำหนดให้ทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยไม่อยู่ในความรับผิดชอบแห่งการบังคับคดีทั้งปวง รวมทั้งการบังคับทางปกครอง บุคคลใดจะยกอายุความหรือระยะเวลาในการครอบครองขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับมหาวิทยาลัยในเรื่องทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยมิได้
                     6. กำหนดให้มีสภามหาวิทยาลัยเป็นองค์กรบริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัย กำหนดการดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยทั้งด้านการบริหารงานบุคคล การเงิน และวิชาการ ซึ่งมีองค์ประกอบเป็นบุคคลภายนอกมหาวิทยาลัยมากกว่าบุคลากรในมหาวิทยาลัย โดยนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปี และจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งหรือได้รับแต่งตั้งใหม่อีกได้
                    7. กำหนดให้มีอธิการบดีเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดและรับผิดชอบการบริหารงานของมหาวิทยาลัย และอาจมีรองอธิการบดี หรือผู้ช่วยอธิการบดี หรือจะมีทั้งรองอธิการบดีและผู้ช่วยอธิการบดีตามจำนวนที่สภามหาวิทยาลัยกำหนด เพื่อทำหน้าที่และรับผิดชอบตามที่อธิการบดีมอบหมายก็ได้ โดยอธิการบดีมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปี และจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งใหม่อีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระมิได้
                     8. กำหนดให้มหาวิทยาลัยต้องจัดให้มีการประกันคุณภาพการศึกษาและการประเมินส่วนงานเพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของมหาวิทยาลัยตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของมหาวิทยาลัย และต้องจัดให้มีการตรวจสอบระบบบัญชี และให้มีการเผยแพร่บัญชีที่ได้รับรองแล้วในรายงานประจำปี รวมทั้งกำหนดให้รัฐมนตรีมีหน้าที่กำกับดูแลกิจการของมหาวิทยาลัยให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย
                     9. กำหนดให้โอนบรรดาข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานมหาวิทยาลัย ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พ.ศ. 2533 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาเป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ลูกจ้าง และพนักงานมหาวิทยาลัยตามร่างพระราชบัญญัตินี้
                     10. กำหนดเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนสถานภาพข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานมหาวิทยาลัย เป็นพนักงานของมหาวิทยาลัยหรือลูกจ้างของมหาวิทยาลัย โดยกำหนดให้ต้องแสดงเจตนาเปลี่ยนสถานภาพมาเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยหรือลูกจ้างของมหาวิทยาลัยตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้  แต่หากข้าราชการหรือลูกจ้างของส่วนราชการ ซึ่งมิได้รับการบรรจุเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยหรือลูกจ้างของมหาวิทยาลัย ให้ยังคงสถานะความเป็นข้าราชการหรือลูกจ้างของส่วนราชการต่อไปตามกฎหมายหรือระเบียบว่าด้วยการนั้น
                    11. กำหนดให้พนักงานมหาวิทยาลัยและลูกจ้างของมหาวิทยาลัยต้องได้รับเงินเดือน ค่าจ้าง สวัสดิการ และประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่น ไม่น้อยกว่าที่เคยได้รับอยู่ก่อนเข้าเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยหรือลูกจ้างของมหาวิทยาลัย

2. เรื่อง ขอถอนร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งศูนย์รับคำขออนุญาต พ.ศ. ?.
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้สำนักงาน ก.พ.ร. ถอนร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งศูนย์รับคำขออนุญาต พ.ศ. ?. ที่อยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ และแจ้งให้สำนักงานคณะกรรมการฤษฎีกา (สคก.) ทราบต่อไป
                     ทั้งนี้ สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอว่า คณะกรรมการพัฒนากฎหมาย สคก. ได้พิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งศูนย์รับคำขออนุญาต พ.ศ. ?. ที่คณะรัฐมนตรีมีมติ (14 สิงหาคม 2561) อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาฯ แล้วเห็นว่า โดยที่สำนักงาน ก.พ.ร. อยู่ระหว่างการปรับปรุงพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 และ สคก. ได้ขอให้สำนักงาน ก.พ.ร. ทบทวนความจำเป็นในการศึกษาแนวทางการจัดตั้งศูนย์รับคำขออนุญาต เนื่องจากเห็นว่าสถานการณ์ปัจจุบันการบริการเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนได้ปรับเปลี่ยนไปสู่การให้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการจัดตั้งศูนย์รับคำขออนุญาตว่าจะดำเนินการในรูปแบบแพลตฟอร์มออนไลน์หรือรูปแบบใด
                     สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ทบทวนความจำเป็นในการศึกษาแนวทางการจัดตั้งศูนย์รับคำขออนุญาตตามความเห็นของคณะกรรมการพัฒนากฎหมายแล้วเห็นว่า ในปัจจุบันการบริการเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนได้ปรับเปลี่ยนไปสู่การให้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งประชาชนสามารถเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา รวมทั้งหน่วยงานของรัฐสามารถเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันเพื่อใช้ข้อมูลประกอบการพิจารณาอนุมัติ อนุญาต และสามารถติดตามสถานะการดำเนินการได้ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้น รูปแบบการให้บริการของภาครัฐที่รองรับกับสถานการณ์ในปัจจุบันซึ่งรวมถึงการเตรียมความพร้อมไปสู่การบริการที่รองรับต่อภาวะวิกฤติ เช่น การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จึงอาจไม่จำเป็นต้องกำหนดให้มีการเดินทางไปติดต่อ ณ สถานที่ใดสถานที่หนึ่ง แต่ประชาชนสามารถรับบริการได้อย่างสะดวกผ่านช่องทางออนไลน์ ประกอบกับแนวทางการจัดตั้งศูนย์รับคำขออนุญาตตามร่างพระราชกฤษฎีกาในเรื่องนี้เป็นการจัดตั้งส่วนราชการใหม่ ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับบริบทการให้บริการของภาครัฐที่มุ้งเน้นการใช้ดิจิทัลเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน รวมทั้งไม่สอดคล้องกับทิศทางในการพัฒนาภาครัฐที่กำหนดให้ภาครัฐมีขนาดเล็กลง รวมทั้งปัจจุบันสำนักงาน ก.พ.ร. อยู่ระหว่างปรับปรุงพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 จึงเห็นสมควรให้มีการศึกษาเพื่อปรับปรุงพระราชบัญญัติดังกล่าวเสียก่อน แล้วจึงจะพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวต่อไปได้ และขอถอนร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวที่อยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของ สคก.

3. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องเสียง วีดิทัศน์ และเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ที่คล้ายกัน : คุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัยต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. 2564                พ.ศ. ....
                    คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องเสียง วีดิทัศน์ และเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ที่คล้ายกัน : คุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัย ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. 2564 พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกาตรวจพิจารณาโดยด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้
                    ทั้งนี้ อก. เสนอว่า
                    1. เนื่องจากกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องเสียง วีดิทัศน์ และเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ที่คล้ายกัน : คุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัยต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. 2564 กำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องเสียง วีดิทัศน์ และเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ที่คล้ายกัน ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน เลขที่ มอก. 1195-2561 ซึ่งเป็นการรับ IEC 60065 Edition 7.2 (2011-02) Audio,video and similar electronic apparatus - Safety requirements มาใช้โดยวิธีแปล (translation) ในระดับเหมือนกันทุกประการ (identical)  แต่ปัจจุบันผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมในกลุ่มเครื่องเสียงและวีดิทัศน์เริ่มมีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเข้ามาเป็นส่วนประกอบ ได้แก่ มาตรฐาน IEC 62368 ที่เป็นมาตรฐานด้านความปลอดภัยของเครื่องเสียง วีดิทัศน์ บริภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยพัฒนามาเพื่อรองรับผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นใหม่ ซึ่ง IEC 62368 นั้นมีข้อกำหนดครอบคลุมทั้งมาตรฐาน IEC 60065 ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องเสียง วีดิทัศน์ และมาตรฐาน และIEC 60950-1 ที่เกี่ยวข้องกับบริภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ
                    2. เลขานุการคณะกรรมการวิชาการ 639 ได้รับทราบข้อมูลว่า IEC/TC108 ซึ่งเป็นคณะกรรมการวิชาการระหว่างประเทศที่กำหนดมาตรฐาน IEC ได้พัฒนามาตรฐาน IEC 62368 มาใช้แทนมาตรฐาน IEC 60065 และมาตรฐาน IEC 60950-1 โดยจะไม่พัฒนา IEC 60065 และ IEC 60950-1 ต่อไปแล้ว เนื่องจากเทคโนโลยีในปัจจุบันผลิตภัณฑ์หนึ่งประเภทจะมีหน้าที่การทำงานทั้งสองกลุ่มอยู่ในผลิตภัณฑ์เดียวอยู่แล้ว
                    3. สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) พิจารณาแล้วเห็นว่ากฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องเสียง วีดิทัศน์ และเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ที่คล้ายกัน : คุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัย ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. 2564 ที่กำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องเสียง วีดิทัศน์ และเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ที่คล้ายกัน : คุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัย ต้องเป็นไปตาม มาตรฐานเลขที่ มอก.1195-2561 ซึ่งรับ IEC 60065 มาใช้โดยวิธีแปล (translation) ไม่มีความทันสมัย และไม่สอดคล้องกับเทคโนโลยีในปัจจุบันการที่ประเทศไทยจะบังคับมาตรฐานดังกล่าวย่อมไม่เกิดประโยชน์และต่างประเทศไม่ให้การยอมรับเนื่องจากมีขอบข่ายควบคุมอย่างกว้างขวาง ไม่ชัดเจนและไม่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ
                    4. คณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ในการประชุมครั้งที่ 700-5/2564 เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2564 เห็นชอบให้ยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องเสียง วีดิทัศน์ และเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ที่คล้ายกัน : คุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัย ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. 2564 และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของตัวแทนกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้มีประโยชน์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการออกกฎกระทรวงยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องเสียง วีดิทัศน์ และเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ที่คล้ายกัน : คุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัย ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. 2564 ต่อไป
                    5. อก. โดย สมอ. ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 ผ่านเว็บไซต์ของ สมอ. (www.tisi.go.th) พร้อมแจ้งไปยังกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้ทำ ผู้นำเข้า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมต่าง ๆ ตลอดจนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งครบกำหนดแสดงความคิดเห็นเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2564 ปรากฎว่าไม่มีผู้แสดงความคิดเห็น
                    สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
                    ยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องเสียง วีดิทัศน์ และเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ที่คล้ายกัน : คุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัย ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. 2564 โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

4. เรื่อง ร่างประกาศกฎกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์การเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ พ.ศ. ....
                    คณะรัฐมนตรีรับทราบร่างประกาศกฎกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์การเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ โดยให้รับข้อสังเกตของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีไปประกอบการพิจารณาด้วย และให้ดำเนินการต่อไปได้
                    ทั้งนี้ ดศ. เสนอว่า
                    1. ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 117/2564 ลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานกรรมการ และต่อมาได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ รวม 3 คณะ ได้แก่ 1) คณะอนุกรรมการปรับปรุงกฎหมายลำดับรองตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม 2) คณะอนุกรรมการพิจารณาแนวทางและหลักเกณฑ์การดูแลการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) และ 3) คณะอนุกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการใช้สื่อสังคมออนไลน์
                    2. คณะอนุกรรมการปรับปรุงกฎหมายลำดับรองตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้จัดให้มีการประชุมเพื่อพิจารณาปรับปรุงประกาศกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เรื่อง หลักเกณฑ์การเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ พ.ศ. 2550 ซึ่งได้ใช้บังคับเป็นเวลานานแล้ว และไม่สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีในปัจจุบัน ที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากและรวดเร็ว จึงได้จัดทำร่างประกาศกฎกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์การเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ พ.ศ. .... เพื่อให้มีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับหน้าที่และความรับผิดชอบในการเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการที่ชัดเจน สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีการให้บริการของผู้ให้บริการในปัจจุบัน รวมทั้งจะเป็นการแก้ไขข้อกังวลของผู้ให้บริการ และช่วยส่งเสริมการลงทุนเกี่ยวกับการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์อีกทางหนึ่งด้วย
                    3. ร่างประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับแก่ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และภาคเอกชนโดยทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการเป็นผู้ให้บริการแก่บุคคลอื่นในการเข้าสู่อินเทอร์เน็ต หรือให้สามารถติดต่อถึงกันโดยประการอื่นโดยผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์ หรือเป็นผู้ให้บริการเก็บรักษาข้อมูลคอมพิวเตอร์เพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น อันมีสภาพเป็นกฎที่มีผลให้เกิดภาระแก่ประชาชนและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการไม่ปฏิบัติตามจะมีผลให้ต้องได้รับโทษตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
                    สาระสำคัญของร่างประกาศ
                    1. กำหนดขอบเขตการบังคับใช้ โดยกำหนดให้ในกรณีที่มีกฎหมายว่าด้วยการใดบัญญัติเกี่ยวกับการจัดเก็บข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ในลักษณะใด กิจการใดหรือหน่วยงานใดไว้โดยเฉพาะแล้ว ให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการนั้น เว้นแต่บทบัญญัติเกี่ยวกับการบันทึกเหตุการณ์เข้าใช้งานในระบบคอมพิวเตอร์ (Event Logging) การเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ (Protection of Log Information) รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของผู้ดูแลระบบคอมพิวเตอร์ และผู้บริหารจัดการระบบคอมพิวเตอร์ (Log Information Administration and Operation) และการตั้งค่าระบบเวลาให้เชื่อมต่อกับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และระบบคอมพิวเตอร์ ให้เป็นระบบสากล (Clock Synchronization) ให้บังคับตามประกาศนี้ไม่ว่าจะซ้ำกับบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการนั้นหรือไม่ก็ตาม
                    2. กำหนดนิยาม ?ผู้ให้บริการ? ?ระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล? ?การพิสูจน์และยืนยันตัวตน? ?ข้อมูลคอมพิวเตอร์? ?ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์? ?สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media)?
                    3. กำหนดประเภทของผู้ให้บริการที่มีหน้าที่ต้องเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ เช่น               ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมและการกระจายภาพและเสียง (Telecommunication and Broadcast Carrier)              ผู้ให้บริการการเข้าถึงระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (Assess Service Provider) ผู้ให้บริการเช่าระบบคอมพิวเตอร์ หรือให้เช่าบริการโปรแกรมประยุกต์ต่าง ๆ (Host Service Provider) ผู้ให้บริการร้านอินเทอร์เน็ต ผู้ให้บริการโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ แอพพลิเคชันที่ทำให้บุคคลสามารถติดต่อสื่อสารข้อมูลระหว่างกันได้ (Online Application Store) ผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ รวมถึงผู้ให้บริการในฐานะสื่อกลางในการรับส่งข้อมูลผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ผู้ให้บริการข้อมูลคอมพิวเตอร์ผ่านแอพลิเคชันต่าง ๆ (Content and Application Service Provider) เป็นต้น
                    4. กำหนดหน้าที่ของผู้ให้บริการในการจัดให้มีระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลสำหรับผู้ใช้บริการทุกคน รวมถึงมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลในระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตน ซึ่งครอบคลุมถึงมาตรการป้องกันด้านการบริหารจัดการ (administrative safeguard) มาตรการป้องกันด้านเทคนิค (technical safeguard) และมาตรการป้องกันทางกายภาพ (physical safeguard) ในเรื่องการเข้าถึงหรือควบคุมการใช้งานข้อมูลในระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตน (access control)
                    5.กำหนดวิธีการที่มั่นคงปลอดภัยในการเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ โดยให้มีระบบการเก็บรักษาความลับของข้อมูลที่จัดเก็บ และให้จัดเก็บในอุปกรณ์คอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่สามารถรักษาความครบถ้วนถูกต้องแท้จริงของข้อมูล รวมทั้งกำหนดระยะเวลาในการเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์
                    6. กำหนดหน้าที่ของผู้ให้บริการในกรณีที่ผู้ให้บริการมีข้อตกลง สัญญา หรือมีการว่าจ้างบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่ผู้ให้บริการให้ทำหน้าที่หรือเกี่ยวข้องกับการเก็บรักษาข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์แทนหน้าที่ของตนเองที่ต้องดำเนินการตามประกาศฉบับนี้ โดยให้ผู้บริการยังคงมีหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องเก็บรักษา ทำสำเนาข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ และครอบครองไว้ซึ่งข้อมูลสำเนาที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ซึ่งสามารถระบุตัวตนได้ และส่งมอบให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทันทีเมื่อพนักงงานเจ้าหน้าที่ร้องขอ

5. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง               พ.ศ. ....
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบดังนี้
                    1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงานอัยการสูงสุดไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
                    2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ต้องออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ
                    3. ให้กระทรวงยุติธรรมรับความเห็นของสำนักงานตำรวจแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
                    ทั้งนี้ ยธ. เสนอว่า
                    1. ที่ผ่านมาได้จัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจเฝ้าระวังความปลอดภัยของประชาชนเพื่อแก้ไขปัญหาการก่ออาชญากรรมสะเทือนขวัญโดยการเฝ้าระวังผู้พ้นโทษที่มีลักษณะพิเศษ จำนวน 7 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ที่ต้องโทษในฐานความผิด 1) ฆ่าหรือข่มขืนเด็ก 2) ฆ่าข่มขืน 3) ฆาตรกรต่อเนื่อง 4) ฆาตรกรโรคจิต 5) สังหารหมู่ 6) ชิงทรัพย์หรือปล้นทรัพย์โดยการฆ่า และ 7) นักค้ายาเสพติดรายสำคัญ พบว่า ผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์บางประเภทที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรง เช่น การฆาตกรรม การข่มขืนกระทำชำเรา การกระทำความผิดทางเพศกับเด็ก การทำร้ายจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย การทำร้ายร่างกายสาหัส รวมทั้งการนำตัวบุคคลไปเรียกค่าไถ่ เมื่อได้รับการจำคุกจนพ้นโทษแล้วจะได้รับการปล่อยตัวสู่สังคมโดยอิสระ แม้จะมีการติดตามจากเจ้าพนักงานตำรวจหรือฝ่ายปกครองบ้างแต่ก็ไม่มีสภาพบังคับเป็นกฎหมายและไม่มีประสิทธิผลในการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ ผู้กระทำความผิดเหล่านี้ส่วนหนึ่งยังมีความเสี่ยงที่จะไปกระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรงซ้ำในรูปแบบเดียวกันหรือรูปแบบใกล้เคียงกัน ซึ่งประเทศไทยยังขาดกฎหมายเพื่อป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดให้มีการเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษ หรือการคุมขังภายหลังพ้นโทษ
                    2. ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกฎหมายเฉพาะเพื่อรองรับมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาการก่ออาชญากรรมสะเทือนขวัญหรือการกระทำความผิดในคดีอุกฉกรรจ์และลดอัตราการกระทำผิดซ้ำของผู้พ้นโทษ เพื่อป้องกันสังคมและผู้เสียหายจากการกระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่อาจเกิดขึ้นอีก และเพื่อส่งเสริมการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง โดยคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องคำสั่งดังกล่าวอย่างเหมาะสม รวมทั้งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติงานด้านพัฒนาพฤตินิสัยและบริหารความยุติธรรม จึงเป็นความท้าทายต่อกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ทั้งในการดำเนินคดี การพิจารณาตัดสินคดี การบังคับโทษ การบำบัดฟื้นฟู และการพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง รวมถึงการติดตามสอดส่องและการสงเคราะห์ผู้พ้นโทษ ซึ่งเกี่ยวข้องกับส่วนราชการในกระบวนการยุติธรรมทุกภาคส่วน
                    3. ยธ. ได้ศึกษา ค้นคว้า ข้อมูลทางวิชาการและสถิติที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งศึกษาเปรียบเทียบกับกฎหมายของประเทศออสเตรเลียและประมวลกฎหมายอาญาของประเทศฝรั่งเศส จึงยกร่างพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. .... ขึ้น ซึ่งมีความสอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 28 มกราคม 2563 และ วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของ ยธ. ครั้งที่ 3/2564 วันพุธที่ 30 มิถุนายน 2564 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว
                    4. ยธ. ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง จากหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม องค์กรอิสระ นักวิชาการจากสถาบันการศึกษาภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป โดยมีการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนากฎหมายและการบังคับใช้ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2564 วันที่ 14 มิถุนายน 2564 ผ่านระบบ Cisco Webex Meetings และรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ www.oja.go.th ระหว่างวันที่ 11 - 26 มิถุนายน 2564 รวมทั้งสำรวจความคิดเห็นของประชาชน (Poll) จำนวน 2,000 คนทั่วประเทศ และจัดทำสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์ผลกระทบซึ่งอาจเกิดขึ้นจากกฎหมายดังกล่าว พร้อมเปิดเผยเอกสารดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์ www.oja.go.th และได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายตามแนวทางมติคณะรัฐมนตรี (19 พฤศจิกายน 2562) เรื่อง การดำเนินการเพื่อรองรับและขับเคลื่อนการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 และได้เผยแพร่ผลการรับฟังความคิดเห็นพร้อมการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายผ่านทางเว็บไซต์ดังกล่าวให้ประชาชนได้รับทราบแล้ว
                    สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
                    กำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง ได้แก่ ให้มีคณะกรรมการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ กำหนดมาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดเฉพาะราย การเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษ (supervision order) การคุมขังภายหลังพ้นโทษ (detention order) การคุมขังฉุกเฉิน (emergency detention order) และการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยที่มีประวัติเป็นผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง รายละเอียด ดังนี้
                    1. กำหนดบทนิยาม ?ความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง? เช่น ความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์จนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส เป็นต้น ?ผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง? หมายความว่า ผู้ซึ่งกระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรงที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปี ขึ้นไป ?การเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษ? ?การคุมขังภายหลังพ้นโทษ? ?มาตรการทางการแพทย์เพื่อป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ? เป็นต้น
                    2. กำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง ได้แก่
                              2.1 ให้มีคณะกรรมการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานกรรมการ และอธิบดีกรมคุมประพฤติ เป็นกรรมการและเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายและทิศทางในการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง กำหนดมาตรฐานการดำเนินงานต่าง ๆ ของพนักงานคุมประพฤติ เป็นต้น
                              2.2 กำหนดมาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดเฉพาะราย โดยในคดีที่จำเลยถูกฟ้องในข้อหาความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง ก่อนมีคำพิพากษาให้ศาลเรียกสำนวนการสอบสวนจากพนักงานอัยการและสั่งให้พนักงานคุมประพฤติดำเนินการสืบเสาะและพินิจเกี่ยวกับอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ ภาวะแห่งจิต นิสัย อาชีพ สิ่งแวดล้อม สภาพความผิด การรู้สึกความผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายที่เกิดขึ้น เหตุอื่นอันควรปรานี และเรื่องอื่นใดที่เกี่ยวกับจำเลย แล้วทำรายงานและความเห็นให้ศาลเพื่อประกอบการพิจารณาพิพากษา เพื่อประกอบดุลพินิจในการกำหนดโทษ และเพื่อการกำหนดมาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดเฉพาะราย ทั้งนี้ เมื่อศาลพิพากษาลงโทษจำเลยซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง ศาลมีอำนาจออกคำสั่งให้ใช้มาตรการฟื้นฟูผู้กระทำความผิดเฉพาะรายก็ได้
                              2.3 กำหนดการเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษ (supervision order) ก่อนที่กรมราชทัณฑ์จะปล่อยตัวนักโทษเด็ดขาดที่เป็นผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรงให้กรมราชทัณฑ์ส่งรายชื่อนักโทษเด็ดขาดที่เป็นผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรงให้กรมควบคุมประพฤติพิจารณาดำเนินมาตรการเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษ ได้แก่ ผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรงได้รับการปล่อยตัวเพราะเหตุต้องโทษจำคุกครบกำหนดตามคำพิพากษา อภัยโทษ พักการลงโทษตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์ ให้กรมคุมประพฤติจัดทำสำนวนการเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษสำหรับนักโทษเด็ดขาดแต่ละราย พร้อมทั้งเสนอความเห็นว่าควรจะเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษหรือไม่ แล้วเสนอพนักงานอัยการ ให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลสั่งให้มีการเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษ
                              2.4 กำหนดการคุมขังภายหลังพ้นโทษ (detention order) ให้ศาลมีอำนาจสั่งคุมขังผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรงได้ ไม่เกิน 3 ปี นับแต่วันที่ผู้นั้นพ้นโทษ เพื่อป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ
                              2.5 กำหนดการคุมขังฉุกเฉิน (emergency detention order) ในกรณีที่ปรากฏต่อพนักงานคุมประพฤติหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบแล้วแต่กรณี ว่าผู้ถูกเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษแสดงพฤติการณ์ใกล้ที่จะกระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง และไม่มีมาตรการอื่นใดที่ยับยั้งได้ ให้พนักงานคุมประพฤติหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบร้องขอต่อศาลเพื่อออกคำสั่งคุมขังฉุกเฉิน
                              2.6 การพิจารณาปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยที่มีประวัติเป็นผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง ให้ศาลพิจารณารายงานการสืบเสาะและพินิจรายงานผลการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดเฉพาะราย และสำนวนการเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษประกอบการพิจารณาด้วย

เศรษฐกิจ สังคม

6. เรื่อง ขอความเห็นชอบปรับลดหน่วยโครงการบ้านเอื้ออาทรจังหวัดสมุทรปราการ (เทพารักษ์ 4) และเพิ่มกรอบงบลงทุน ?โครงการบ้านเคหะสุขเกษม?
                    คณะรัฐมนตรีพิจาณาเรื่อง ขอความเห็นชอบปรับลดหน่วยโครงการบ้านเอื้ออาทรจังหวัดสมุทรปราการ (เทพารักษ์ 4) และเพิ่มกรอบงบลงทุน ?โครงการบ้านเคหะสุขเกษม? ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ แล้วมีมติเห็นชอบตามความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่เห็นควรให้การเคหะแห่งชาติ (กคช.) ปรับลดหน่วยโครงการบ้านเอื้ออาทรจังหวัดสมุทรปราการ (เทพารักษ์ 4) จำนวน 45 หน่วย เพื่อจัดทำโครงการอาคารต้นแบบของโครงการบ้านเคหะสุขเกษม จำนวน 1 อาคาร กรอบวงเงิน 11 ล้านบาท และให้ กคช. เร่งจัดทำรายงานการวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการบ้านเคหะสุขเกษม และรายงานผลการดำเนินโครงการต้นแบบโครงการบ้านเคหะสุขเกษม จำนวน 45 หน่วย รวมทั้งรายงานผลการดำเนินโครงการบ้านเอื้ออาทร ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2552 และในกรณีที่ กคช. พิจารณาแล้วเห็นว่า มีทรัพย์สินรอการพัฒนา (Sunk Cost) ของโครงการบ้านเอื้ออาทรจำนวนมากให้เสนอแผนการใช้ประโยชน์ทรัพย์สินดังกล่าวเพื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาในคราวเดียวกัน
                      โครงการบ้านเคหะสุขเกษมมีรายละเอียดโครงการสรุปได้ ดังนี้

หัวข้อ          รายละเอียด
วัตถุประสงค์          เพื่อพัฒนาเป็นอาคารเช่าสำหรับผู้สูงอายุและข้าราชการเกษียณ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ
กลุ่มเป้าหมาย          สำหรับข้าราชการ พนักงานของรัฐ ลูกจ้างเกษียณอายุที่ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง สามารถอยู่อาศัยในรูปแบบเช่าระยะยาว ที่อยู่อาศัยถูกสุขลักษณะ เป็นรูปแบบอารยสถาปัตยกรรม มีสภาวะแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดี ส่งเสริมสุขภาพ
สถานที่ตั้งโครงการ          ซอยที่ดินไทย ถนนเทพารักษ์ ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่รวมประมาณ 126.5 ไร่
เป้าหมาย และแผนการ
ดำเนินงาน          แบ่งออกเป็น 4 ระยะ รวม 4,089 หน่วย

รูปแบบโครงการ          อาคารสูง 5 ชั้น ทุกอาคารติดตั้งลิฟต์โดยสาร
พื้นที่พักอาศัย 2 ขนาด
    - ขนาดพื้นที่ 33 ตารางเมตรต่อหน่วยพักอาศัย
    - ขนาดพื้นที่ 27 ตารางเมตรต่อหน่วยพักอาศัย
พร้อมศูนย์ดูแลสุขภาพ พื้นที่ส่วนกลางและพื้นที่จัดกิจกรรมสำหรับผู้อาศัย เช่น คลินิกอายุรกรรม ศูนย์สุขภาพ พื้นที่สันทนาการและออกกำลังกาย เป็นต้น
อัตราค่าเช่า          ประมาณ 2,500 ? 3,000 บาทต่อหน่วย
ระยะเวลา          3 ปี (พ.ศ. 2564 ? 2566)

7. เรื่อง โครงการทุนอุดหนุนนักเรียนเรียนดีมีความสามารถในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการโครงการทุนอุดหนุนนักเรียนเรียนดีมีความสามารถในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 - 2572 ภายในกรอบวงเงิน 181,500,000 บาท โดยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาใช้จ่ายจากงบประมาณที่ได้เสนอตั้งรองรับไว้แล้วเป็นลำดับแรก หากไม่เพียงพอให้พิจารณาปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณตามความจำเป็นและเหมาะสม สำหรับค่าใช้จ่ายในปีต่อ ๆ ไป ให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณพร้อมรายละเอียดค่าใช้จ่ายให้ชัดเจน เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็น เหมาะสม และสอดคล้องกับข้อเท็จจริงตามขั้นตอนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    ศธ. รายงานว่า
                    1. ศธ. โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้เห็นถึงความสำคัญของนโยบายรัฐบาลด้านการศึกษาเพื่อความมั่นคงให้เยาวชนมีอาชีพ มีงานทำ และนโยบายของ ศธ. ในการเพิ่มจำนวนนักเรียนสายอาชีพให้มากขึ้น แต่เนื่องด้วยนักเรียน นักศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีฐานะยากจนไม่สามารถศึกษาต่อในระดับที่สูงได้ทำให้ขาดโอกาสทางการศึกษา ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว สอศ. จึงได้จัดสรรทุนการศึกษาให้กับนักเรียนที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 มัธยมศึกษาปีที่ 6 และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ในพื้นที่ดังกล่าว ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 จนถึงปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เพื่อสร้างแรงจูงใจในการเรียนสายอาชีพและช่วยเหลือเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีผู้ได้รับทุนโครงการฯ ในระดับ ปวช. ประมาณ 3,000 คน และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ประมาณ 900 คน ทั้งนี้ ศธ. แจ้งข้อมูลเพิ่มเติมว่าไม่ได้ดำเนินการรับสมัครนักเรียนในโครงการฯ ในปีการศึกษา พ.ศ. 2562 ? 2564 เนื่องจากอยู่ระหว่างขั้นตอนนำกรอบวงเงินงบประมาณโครงการฯ เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา (ที่ผ่านมาเป็นการใช้งบประมาณภายใต้แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โครงการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ งบเงินอุดหนุน เงินอุดหนุนทั่วไป รายการเงินอุดหนุนโครงการนักเรียนเรียนดีมีความสามารถในจังหวัดชายแดนภาคใต้ศึกษาต่อสายอาชีพ ของ สอศ. ในการดำเนินโครงการฯ)
                    2. เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปอย่างต่อเนื่อง คณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ [รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นประธาน] ในการประชุมครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2563 มีมติเห็นชอบในหลักการโครงการฯ ของ สอศ. และให้ สอศ. เสนอโครงการฯ ต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป โดยสาระสำคัญของโครงการฯ สรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ          รายละเอียดโครงการฯ
วัตถุประสงค์          (1) เพื่อสนับสนุนทุนการศึกษาให้กับนักเรียนเรียนดีมีความสามารถในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 มัธยมศึกษาปีที่ 6 และระดับ ปวช. ได้เข้าศึกษาต่อจนสำเร็จการศึกษาระดับ ปวช. และ ปวส. ในสถานศึกษาสังกัด สอศ. ในจังหวัดชายแดนภาคใต้
(2) เพื่อเพิ่มสัดส่วนปริมาณผู้เรียนอาชีวศึกษาในสถานศึกษาสังกัด สอศ.
(3) เพื่อสนับสนุนให้นักเรียน นักศึกษา เมื่อจบการศึกษาระดับ ปวช. และระดับ ปวส. แล้วมีงานทำ
ระยะเวลาดำเนินการ          ปีการศึกษา พ.ศ. 2563 - 2571 รวม 8 ปีการศึกษา (อยู่ในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 - 2572)
หน่วยงานที่รับผิดชอบ          สอศ. และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ศูนย์พัฒนาการศึกษาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้)
งบประมาณ
และเป้าหมาย
ในการจัดสรรทุน
          181.50 ล้านบาท เพื่อจัดสรรทุนการศึกษา จำนวน 2,400 ทุน ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 - 2572 ดังนี้
(1) ระดับ ปวช. จำนวน 1,800 ทุน ทุนละ 30,000 บาท/คน/ปี ระยะเวลาการศึกษา 3 ปี รวม 139.50 ล้นบาท
(2) ระดับ ปวส. จำนวน 600 ทุน ทุนละ 40,000 บาท/คน/ปี ระยะเวลาการศึกษา 2 ปี รวม 42 ล้านบาท
คุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์
ได้รับทุน เช่น          (1) ต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดสงขลา 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอจะนะ อำเภอนาทวี อำเภอเทพา อำเภอสะบ้าย้อย และอำเภอสะเดา ไม่น้อยกว่า 2 ปี นับถึงวันแรกของการรับสมัคร
(2) สำหรับทุน ปวช. ต้องสำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หรือเทียบเท่าในสถานศึกษาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และสำหรับทุน ปวส. ต้องสำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือระดับ ปวช. หรือเทียบเท่าในสถานศึกษาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
(3) มีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์ แข็งแรง ไม่มีโรคที่เป็นอุปสรรคต่อการศึกษาและการฝึกปฏิบัติ
(4) เป็นผู้ผ่านการสอบคัดเลือกและมีรายชื่อในประกาศผลการสอบคัดเลือก
(5) หากเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือเป็นบุตร หรือผู้ที่อยู่ในอุปการะของผู้ที่ได้รับผลกระทบจะพิจารณาเป็นกรณีพิเศษ

8. เรื่อง ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินงานโครงการอบรมและส่งเสริมการพัฒนายกระดับทักษะอาชีพในภาคเกษตรกรรม
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินงานโครงการอบรมและส่งเสริมการพัฒนายกระดับทักษะอาชีพในภาคเกษตรกรรม (โครงการอบรมฯ) ภายในกรอบวงเงิน 407,229,585 บาท ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    อว. รายงานว่า
                    1. การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ในประเทศไทยทำให้ประชาชนในภาคเกษตรกรรมเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างทั่วทุกภาคของประเทศ ประกอบกับที่ผ่านมาภาคการเกษตรถูกควบคุมการผลิต และระบบเกษตรและอาหารตลอดห่วงโซ่ ทำให้เกษตรกรได้รับผลกระทบซ้ำเติมจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ด้วยเหตุนี้เกษตรกรรมและอาหารในอนาคตควรจะเป็นการผลิตเพื่อเป้าหมาย ?ความมั่นคงทางอาหาร? ที่จะเป็นทางออกและทางรอดของเกษตรกรไทย โดยจะต้องมีการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนเพื่อรองรับการเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรและเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารต่อไป ดังนั้น เครือข่ายหมู่บ้านวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่นจึงได้ดำเนินการรวบรวมกลุ่มสมาชิกที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด 19 และต้องการกลับสู่ถิ่นฐานเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาการเกษตรของชุมชน พร้อมทั้งเป็นการทำงานเชิงบูรณาการอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานภาครัฐ โดยได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร. อีสาน) (อว.) นำเสนอโครงการอบรมฯ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานรากของชุมชน เป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหาร และทางเศรษฐกิจฐานรากประเทศไทย ซึ่งมียุทธศาสตร์คือ เสริมสร้างชุมชนนวัตกรรม (Communities of Innovation) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและรายได้ของชุมชนในพื้นที่โดยสร้างหรือการใช้นวัตกรรม/บริการวิชาการด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน
                    2. โครงการอบรมฯ มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ          รายละเอียด
วัตถุประสงค์          1. เพื่ออบรมและส่งเสริมการพัฒนายกระดับทักษะอาชีพในภาคเกษตรกรรม ด้านปศุสัตว์ ด้านประมง สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) พืชและเห็ดเศรษฐกิจ หมอดิน New Normal และพืชสมุนไพร
2. เพื่อรองรับแรงงานคืนถิ่น พลิกฟื้นทักษะอาชีพด้านเกษตรกรรมด้วยศาสตร์พระราชาเพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขเยียวยาแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ รวมถึงวิกฤตของโรคโควิด 19 เพื่อเป็นทางรอดและสร้างภูมิคุ้มกันให้กับชุมชน
3. เพื่อสร้างต้นแบบศูนย์เรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยี และส่งเสริมการพัฒนายกระดับทักษะอาชีพในภาคเกษตรกรรม
กลุ่มเป้าหมาย          เครือข่ายหมู่บ้านวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่น ภาคเหนือ 9 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ภาคกลาง 21 จังหวัด ภาคตะวันออก 7 จังหวัด ภาคตะวันตก 5 จังหวัด ภาคใต้ 14 จังหวัด (รวมจำนวน 2,574 กลุ่ม ประมาณ 25,740 ราย)
วิธีดำเนินการ          1. จัดประชุมชี้แจงเรื่องการจัดส่งข้อเสนอโครงการ ภายใต้แผนงาน/โครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563
2. วางกรอบและแนวทางเพื่อจัดอบรมและส่งเสริมการพัฒนายกระดับทักษะอาชีพในภาคเกษตรกรรม โดยแยกเป็น 6 ด้าน ดังนี้
    1) ด้านปศุสัตว์ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร และเศรษฐกิจฐานราก
    2) ด้านประมง เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร และเศรษฐกิจฐานราก
    3) การผลิตสินค้า OTOP เพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน
    4) ด้านพืชและเห็ดเศรษฐกิจ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร และเศรษฐกิจฐานราก
    5) หมอดิน New Normal เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในชุมชน และเศรษฐกิจฐานราก
    6) ด้านพืชสมุนไพร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างสวนสมุนไพรต้นแบบเพื่อความมั่นคงยั่งยืนของชุมชน
3. ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างวัสดุอุปกรณ์ตามโครงการ เพื่อสนับสนุนปัจจัยการผลิตให้กับเครือข่ายหมู่บ้านวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่น
ระยะเวลา          ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 - 2565 (เริ่มเดือนกรกฎาคม 2564)
งบประมาณ          วงเงินรวม 407,229,585 บาท
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ          สามารถรองรับแรงงานคืนถิ่น พลิกฟื้นทักษะอาชีพในภาคเกษตรกรรม เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขเยียวยาแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ รวมถึงวิกฤตของโรคโควิด 19 และสร้างภูมิคุ้มกันให้เครือข่ายหมู่บ้านวิสาหกิจชุมชน และคาดว่าสามารถจะสร้างรายได้รวม 514,800,000 บาท หรือคิดเป็นรายได้เฉลี่ย 200,000 บาท /ปี/ครัวเรือน หรือต่อเครือข่าย
                    3. สำนักงบประมาณได้นำเรื่องดังกล่าวเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นชอบให้ อว. โดย มทร. อีสาน ใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ภายในกรอบวงเงิน 407,229,585 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการอบรมดังกล่าว

9. เรื่อง การขับเคลื่อนการให้บริการประชาชนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e - Service) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เสนอ ดังนี้
                    1. รายชื่องานบริการ Agenda จำนวน 12 งานบริการ และกำหนดให้เป็นตัวชี้วัดตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ของส่วนราชการที่ได้รับมอบหมาย
                    2. มอบหมายให้ ก.พ.ร เป็นผู้พิจารณางานบริการ Agenda และงานบริการรายส่วนราชการเพิ่มเติม ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
                    โดยให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) และ ก.พ.ร. ยึดแนวทาง FVS ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เป็นหลักแทน Digital ID ในการพัฒนาระบบพิสูจน์ตัวตนฯ และให้ ก.พ.ร. เร่งกำหนดประเภทบริการที่ควรทำ Digitalize ในแต่ละช่วงเวลาเพื่อเป็นตัวชี้วัดให้หน่วยงานดำเนินการต่อไป (ภายใน 1 เดือน)
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    ก.พ.ร. รายงานว่า
                    1. ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ขับเคลื่อนการให้บริการประชาชนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e ? Service) ซึ่งเป็นการดำเนินการตามนัยมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 31 มีนาคม 2563 และ 25 สิงหาคม โ2563 โดยให้ส่วนราชการพัฒนาระบบการให้บริการในรูปแบบ e ? Service และกำหนดเป็นตัวชี้วัดตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการของส่วนราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีส่วนราชการเสนองานบริการเพื่อนำมาพัฒนาเป็นการให้บริการในรูปแบบ e ? Service จำนวน 78 หน่วยงาน รวม 80 งานบริการ (ข้อมูล ณ วันที่ 30 เมษายน 2564) ดังนี้
          ระบบการพัฒนา e ? Service (งานบริการ)          รวม
          L1*          L2*          L3*
1) พัฒนาระบบเสร็จแล้ว          12          6          4          22
2) ระบบเสร็จ และอยู่ระหว่างทดสอบการใช้งาน           14          1          -          15
3) อยู่ระหว่างพัฒนาระบบ          16          11          10          37
4) ยังไม่เริ่มพัฒนาระบบ          5          1          -          6
รวม          47          19          14          80
* L1 หมายถึง การให้บริการยื่นเรื่อง/ยื่นคำขอผ่านระบบ e - Service (สะดวดยื่น)
  L2 หมายถึง การให้บริการยื่นเรื่อง/ยื่นคำขอ และชำระเงินผ่านระบบ e-Service (สะดวกจ่าย)
  L3 หมายถึง การให้บริการแบบเบ็ดเสร็จผ่านระบบ e-Service (สะดวกรับ)
ทั้งนี้ การดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เกิดปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนางานบริการเป็นรูปแบบ e-Service ที่สำคัญ คือ ส่วนราชการยังขาดองค์ความรู้ในการพัฒนา e-Service ทั้งในด้านวิชาการและด้านเทคนิค ขาดงบประมาณ กฎหมายยังไม่เอื้อต่อการพัฒนา e-Service และปัญหาการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน
                    2. อย่างไรก็ดี สถานการณ์ของโลกมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและรุนแรงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 หรือภัยพิบัติทางธรรมชาติต่าง ๆ รวมทั้งการเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้ประชาชนเปลี่ยนไปสู่ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ดังนั้น หน่วยงานของรัฐซึ่งมีบทบาทหลักในการขับเคลื่อนการให้บริการสาธารณะจำเป็นต้องเร่งพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานและงานบริการของรัฐให้ประชาชนสามารถติดต่อขอรับบริการจากหน่วยงานของรัฐได้ทุกที่ ทุกเวลา ไม่ต้องเดินทางไปติดต่อ ณ สำนักงาน โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการให้บริการสาธารณะตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ
                    3. ก.พ.ร. ในการประชุมครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ได้เห็นชอบแนวทางการดำเนินการเพื่อการขับเคลื่อนการให้บริการประชาชนผ่านระบบ e-Service ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
                              3.1 การจัดกลุ่มงานบริการเป้าหมายเพื่อนำมาพัฒนาเป็นระบบการให้บริการประชาชนในรูปแบบ e-Service เป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มงานบริการเป้าหมาย          แนวทางการพิจารณางานบริการ
1) งานบริการ Agenda หมายถึงงานบริการที่มีความเชื่อมโยงหรือเกี่ยวข้องหลายส่วนราชการแล้วมีผลกระทบให้คุณภาพชีวิตประชาชนดีขึ้นหรือสนับสนุนช่วยเหลือให้ภาคเศรษฐกิจและสังคมที่ประสบปัญหาในภาวะสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ฟื้นตัวได้เร็วขึ้นและยั่งยืน          งานบริการที่กำหนดไว้ในแผนต่าง ๆ ดังนี้
1.1) แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง)
1.2) แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2563 - 2565
1.3) แนวทางการยกระดับประเทศไทยสู่ 10 อันดับประเทศที่ประกอบธุรกิจได้ง่ายที่สุด (Ease of Doing Business)
2) งานบริการรายส่วนราชการ หมายถึง
งานบริการเฉพาะตามภารกิจหน้าที่ของแต่ละส่วนราชการที่ไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานใด รวมทั้งเป็นงานที่มีการให้บริการ/การทำธุรกรรมต่อปีจำนวนมาก
ใช้เวลาและขั้นตอนในการดำเนินการมากมาดำเนินการพัฒนาเป็นระบบบริการ e-Service          2.1) งานบริการที่เป็นระบบบริการ e-Service แล้ว แต่ยังพัฒนาได้ไม่เต็มรูปแบบ (fully digital)
2.2) งานบริการภายใต้แผนระบบการให้บริการกลางภาครัฐเพื่อประชาชน (Citizen Portal) 3 ปี ที่ยังไม่มีระบบออนไลน์/งานที่ยังพัฒนาได้ไม่เต็มรูปแบบ (fully digital)
2.3) งานบริการเป้าหมายของระบบการให้บริการกลางภาครัฐเพื่อธุรกิจ (Biz Portal) ที่ต้องการขับเคลื่อนให้เป็น fully digital
2.4) งานจดแจ้งออนไลน์ * ตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีในการประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2564
เฉพาะงานที่ยังไม่ได้ดำเนินการ
หมายเหตุ : * สำนักงาน ก.พ.ร. แจ้งข้อมูลเพิ่มเติมว่า งานจดแจ้งออนไลน์เป็นงานบริการรับแจ้ง เช่น จดแจ้งเพื่อให้ข้อมูลจดแจ้ง และเปลี่ยนแปลงข้อมูล (เช่น การเปลี่ยนประเภทเรือ การรับแจ้งเลิกกิจการ และการขอต่ออายุหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบอาคาร กรณีนิติบุคคล และบุคคลธรรมดา)
                              3.2 งานบริการ Agenda ที่กำหนดให้ส่วนราชการดำเนินการขับเคลื่อนฯ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 12 งานบริการ และกำหนดให้เป็นตัวชี้วัดตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ของส่วนราชการที่ได้รับมอบหมาย มีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
รายชื่องานบริการ          หน่วยงานหลัก
1) ระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (DOPA-Digital ID) : เป็นระบบระบุตัวตนแทนการใช้บัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งช่วยลดภาระให้แก่ประชาชนในการจัดเตรียมเอกสาร โดยสามารถทำธุรกรรมออนไลน์กับภาครัฐได้          กรมการปกครอง
2) ระบบการรับชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง : เป็นระบบบริการในการยื่นชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้ทุกที่ ทุกเวลาผ่านระบบออนไลน์          กรมที่ดิน
3) ระบบการแจ้งเตือนสิทธิและช่วยเหลือในการรับสวัสดิการของประชาชนตลอดช่วงชีวิต : เป็นระบบบริการที่ช่วยให้ประชาชนได้รับทราบเกี่ยวกับสิทธิที่พึงได้รับจากรัฐ รวมทั้งการได้รับการแจ้งเตือน และเป็นช่องทางในการขอรับสิทธิสวัสดิการต่าง ๆ          สำนักงาน
ปลัดกระทรวง
กระทรวงการพัฒนา
สังคมและความมั่นคง
ของมนุษย์
4) ศูนย์การร้องเรียนแบบเบ็ดเสร็จ : เป็นระบบศูนย์กลางการรับเรื่องร้องเรียนแบบเบ็ดเสร็จที่ประชาชนสามารถยืนเรื่องร้องเรียน ติดตาม ตรวจสอบสถานะ และรับแจ้งผลการร้องเรียนได้ ณ จุดเดียว          สำนักงาน
ปลัดสำนัก
นายกรัฐมนตรี
5) ระบบการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เดินทาง (Ease of traveling) : เป็นแพลตฟอร์มบริการที่อำนวยความสะดวกผู้เดินทางเข้าออกประเทศไทยแบบครบวงจรครอบคลุมตั้งแต่การขอวีซ่า การขอหนังสือรับรองสถานภาพการเข้าประเทศไทย การให้ข้อมูลด้านการท่องเที่ยว และการช่วยเหลือและบริการอื่น ๆ          สำนักงาน
ปลัดกระทรวง
กระทรวง
การท่องเที่ยวและกีฬา
6) ระบบการออกบัตรสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ : เป็นระบบการขอและการรับออกเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนอิเล็กทรอนิกส์          กรมควบคุมโรค
7) ระบบช่วยเหลือผู้ว่างงานให้กลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน : เป็นระบบให้ความช่วยเหลือผู้ว่างงานให้ได้รับความสะดวกในการขอรับบริการและขอรับความช่วยเหลือผ่านระบบออนไลน์ช่องทางเดียว เช่น การขอรับสิทธิต่าง ๆ จากการว่างงาน และการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาฝีมือ          กรมการจัดหางาน
8) หนึ่งรหัส หนึ่งผู้ประกอบการ (One Identification: ID One SMEs) : เป็นระบบให้บริการแก่ผู้ประกอบการผ่านหมายเลข ID เพียงตัวเดียว ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการได้รับความสะดวกและลดภาระค่าใช้จ่ายในการจัดทำเอกสารหลายชุดซ้ำ ๆ กัน เพื่อใช้ในการติดต่อขอรับบริการ             ต่าง ๆ          สำนักงาน
ส่งเสริมวิสาหกิจ
ขนาดกลาง
และขนาดย่อม
9) ระบบขออนุญาตวัตถุอันตรายแบบครบวงจร (Hazardous Substance Single Submission: HSSS) : เป็นระบบรับคำขออนุญาตวัตถุอันตรายแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร ณ จุดเดียว ผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งจะช่วยลดความยุ่งยากและซ้ำซ้อนในการจัดเตรียมเอกสารในการขออนุญาตประกอบกิจการเกี่ยวกับวัตถุอันตราย          กรมโรงงานอุตสาหกรรม
10) ระบบรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร (Good Agricultural Practices: GAP) พืช ประมง และปศุสัตว์ : เป็นระบบให้การรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร End-to-End Process อยู่บนแพลตฟอร์มเดียวกันของทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ตั้งแต่การยื่นคำขอจนได้รับการรับรอง GAP          สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ
11) ระบบการขึ้นทะเบียนเกษตรกรและการขอรับความช่วยเหลือด้านการเกษตร : เป็นแพลตฟอร์มในการขอขึ้นทะเบียนเกษตรกรทุกประเภท
(พืช ปศุสัตว์ ประมง และยางพารา) และการขอรับความช่วยเหลือด้านการเกษตร          สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
12) ระบบเชื่อมโยงสินค้าข้ามแดนทางบกของกลุ่มประเทศ Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy (ACMECS) ผ่านระบบ National Single Window (NSW) : เป็นระบบช่วยให้ผู้ส่งออกและนำเข้าสินค้ายื่นเรื่องขออนุมัติอนุญาตผ่านพิธีการศุลกากรทางระบบ NSW ที่สามารถลดขั้นตอน ลดเวลาในการตรวจสอบเอกสาร และลดต้นทุนการจัดทำเอกสาร ค่าบริการต่าง ๆ จากการติดต่อผ่านหลายหน่วยงาน          กรมศุลกากร
ทั้งนี้ งานบริการดังกล่าวต้องพิจารณาถึงการพัฒนาความมั่นคงปลอดภัยของระบบ (Cyber Security) ควบคู่ไปด้วย
                    4. สำนักงาน ก.พ.ร. แจ้งข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในส่วนของรายชื่องานบริการรายส่วนราชการ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ขณะนี้ยังไม่มีการกำหนดรายชื่อ เนื่องจากอยู่ระหว่างสำนักงาน ก.พ.ร. ประสานและหารือกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ดี ปัจจุบันส่วนราชการได้เสนอรายชื่องานบริการรายส่วนราชการมายังสำนักงาน ก.พ.ร. แล้วบางส่วน และจะเสนอต่อ ก.พ.ร. พิจารณา เพื่อกำหนดเป็นตัวชี้วัดตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ของส่วนราชการที่ได้รับมอบหมายต่อไป ดังนั้น เพื่อให้การขับเคลื่อนการให้บริการประชาชนผ่านระบบ e ? Service เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ก.พ.ร. ขอให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้ ก.พ.ร เป็นผู้พิจารณางานบริการ Agenda และงานบริการรายส่วนราชการเพิ่มเติม ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565

10. เรื่อง รายงานผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ประจำปี 2563
                    คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอรายงานผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ประจำปี 2563 [เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 40 ที่บัญญัติให้ พม. จัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับสถานการณ์ จำนวนคดี การดำเนินการของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และแนวทางการดำเนินงานในอนาคตเกี่ยวกกับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เสนอต่อคณะรัฐมนตรี] ซึ่งคณะกรรมการป้องกกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ในคราวประชุม ครั้งที่ 4/2563 เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2563 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นประธานได้เห็นชอบรายงานฯ ด้วยแล้ว สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
เรื่อง          สาระสำคัญ
1. การจัดสรรงบประมาณ          รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ทั้งระบบจำนวน 4,029.35 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.85 (จากที่ได้รับในปี 2562 จำนวน 3,806.82 ล้านบาท)
2. ผลการพิจารณาคดีสำคัญ          เช่น คดีสถานอาบอบนวดวิคตอเรีย ซีเครท ศาลอุทธรณ์ได้กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยวินิจฉัยว่า สถานอาบอบนวดวิคตอเรีย ซีเครท เป็นสถานที่ทำการค้ามนุษย์และค้าประเวณี จึงพิพากษาให้จำเลยทั้ง 7 คนในคดีดังกล่าว มีความผิดฐานค้ามนุษย์และเป็นธุระจัดหาเพื่อให้กระทำการค้าประเวณี โดยให้ลงโทษจำคุกจำเลยและลงโทษปรับห้างหุ้นส่วน นิติบุคคลเจ้าของใบอนุญาตสถานอาบอบนวดและบริษัทนิติบุคคลผู้ให้เช่าสถานที่ และให้ริบของกลางทั้งหมด อีกทั้งให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เสียหาย 2 คน ที่ถูกบังคับให้ค้าประเวณี เป็นเงินรายละ 80,000 บาท
3. สถิติคดีค้ามนุษย์          สถิติคดีค้ามนุษย์ลดลง โดยมีคดีค้ามนุษย์ 132 คดี ลดลงต่ำสุดเมื่อเทียบกับในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งรูปแบบที่พบมากที่สุด คือ การแสวงหาประโยชน์ทางเพศ (ค้าประเวณี สื่อลามก และทางเพศอย่างอื่น) 118 คดี และได้มีการจับกุมผู้กระทำผิดได้ 180 คน อีกทั้งสามารถช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ได้ 230 คน
4. การคุ้มครองช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และจากการถูกบังคับใช้แรงงานหรือบริการ          ยังคงยึดหลักการให้ผู้เสียหายเป็นศูนย์กลางและคำนึงถึงบาดแผลทางจิตใจ รวมถึงให้อิสระแก่ผู้เสียหายในการเลือกทำกิจกรรมตามความสมัครใจ มีอิสระในการใช้เครื่องมือสื่อสารเพื่อติดต่อกับครอบครัว และในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สถานคุ้มครองได้เพิ่มมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดสำหรับผู้เสียหายที่รับเข้าใหม่และผู้เสียหายกลุ่มเดิม เพื่อสร้างความมั่นใจในการคุ้มครองผู้เสียหายให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
5. การเข้ารับการคุ้มครองในสถานคุ้มครอง          ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์และการถูกบังคับใช้แรงงานหรือบริการจำนวน 229 คน สมัครใจเข้ารับการคุ้มครองจำนวน 148 คน โดยแบ่งเป็นสถานคุ้มครองของรัฐ 140 คน และในสถานคุ้มครองเอกชน 8 คน
6. การได้รับเงินเยียวยาจากกองทุนเพื่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์          มีการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ จำนวน 21.71 ล้านบาท โดยค่าใช้จ่ายที่มากที่สุดเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการเยียวยาช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์จำนวน 7.64 ล้านบาท
7. การเตรียมการรองรับการดูแลผู้เสียหายที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQI)          รัฐบาลได้พิจารณาให้สถานคุ้มครองที่จังหวัดเชียงรายเป็นสถานคุ้มครองที่ให้บริการทางเลือก (Alternative Care) แก่ผู้เสียหายกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ และได้ร่วมกับองค์กร Winrock International ในการศึกษารูปแบบและแนวทางที่เหมาะสมในการดูแลผู้เสียหายกลุ่มดังกล่าว
8. การออกกฎหมายลำดับรอง          ได้ออกกฎหมายลำดับรองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ. 2562 เพื่อกำหนดมาตรฐานที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวกในเรือประมง และการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว รวมทั้งออกกฎหมายลำดับรองตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 เพื่อประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกออกหนังสือคนประจำเรือ การอนุญาตให้คนต่างด้าวที่ประสงค์ทำงานในเรือประมงอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และการอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในเรือประมงที่จะออกไปทำการประมงในทะเล
9. แนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19          คณะรัฐมนตรีมีมติ (4 สิงหาคม 2563) เห็นชอบให้คนต่างด้าวซึ่งเดิมได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่การอนุญาตนั้นสิ้นสุดลงและไม่ได้เดินทางกลับออกนอกราชอาณาจักรสามารถอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานได้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565 โดยมีแรงงานต่างด้าวได้รับอนุญาตทำงานทั้งสิ้น 240,572 คน (กัมพูชา 70,994 คน ลาว 13,311 คน และเมียนมา 156,267 คน)
10. ค่าธรรมเนียมการจัดหางานให้กับแรงงานต่างด้าว          กำหนดให้นายจ้างเป็นผู้จ่ายเงินค่าธรรมเนียมการจัดหางานให้กับแรงงานต่างด้าวและห้ามนายจ้างเรียกรับเงินเกี่ยวกับการนำคนต่างด้าวมาทำงานจากคนต่างด้าว รวมทั้งให้นายจ้างใช้สัญญาจ้าง 3 ภาษา เพื่อใช้เป็นเอกสารประกอบการต่อใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าว ประกอบด้วย ภาษาของแรงงานต่างด้าว ภาษาไทย และภาษาอังกฤษไว้ในฉบับเดียวกัน โดยให้เก็บสัญญาจ้างไว้ที่ทำการของนายจ้างเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้และสำเนาสัญญาจ้าง 1 ฉบับ ให้ลูกจ้างเก็บรักษาไว้ ซึ่งเป็นมาตรการสำคัญในการคุ้มครองแรงงานต่างด้าวให้ได้รับค่าจ้างและสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย

11. เรื่อง รายงานผลการดำเนินงานของระบบประกันภัยและพัฒนาการที่สำคัญ รอบ 12 เดือน ปี 2563
                    คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอรายงานผลการดำเนินงานของระบบประกันภัยและพัฒนาการที่สำคัญ รอบ 12 เดือน ปี 2563 ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) [เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย พ.ศ. 2550 มาตรา 20 (10) ที่บัญญัติให้สำนักงาน คปภ. จัดทำรายงานประจำปีแสดงผลงานและอุปสรรคในการดำเนินงานของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และสำนักงาน คปภ. ต่อคณะรัฐมนตรี] โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
                    1. ภาพรวมธุรกิจประกันภัยของไทย รอบ 12 เดือน ปี 2563 ธุรกิจประกันภัยเดือนมกราคม - ธันวาคม 2563 มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวมทั้งสิ้น 852,729 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 0.22 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. คาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตของธุรกิจประกันภัยของปี 2564 จะอยู่ที่ร้อยละ (-0.87) ถึง 1.13
                    2. ผลการดำเนินงานที่สำคัญตามนโยบายรัฐบาลและแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2559 - 2563)
การดำเนินการ          ปัญหา/อุปสรรค/แนวทางการแก้ไข
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมประกันภัย
1) เสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการ เช่น ปรับปรุงการลงทุนประกอบธุรกิจอื่นเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถกระจายความเสี่ยงในการลงทุนได้ดียิ่งขึ้น
2) ยกระดับมาตรฐานการดำเนินธุรกิจประกันภัย เช่น ทบทวนและปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลและบริหารจัดการความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของบริษัทประกันชีวิต/วินาศภัย
3) คุ้มครองสิทธิประโยชน์ผู้เอาประกันภัยและยกระดับพฤติกรรมทางตลาดของระบบประกันภัย เช่น ให้บริษัทประกันภัยเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัยที่เสนอขายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์          ควรมีการติดตามและทบทวนการประเมินความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ส่งผลให้ธุรกิจประกันภัยมีโอกาสได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ รวมถึงความผันผวนของระบบเศรษฐกิจการเงินโลกได้อย่างรุนแรงและรวดเร็ว
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การเสริมสร้างความรู้และการเข้าถึงประกันภัย
1) เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัย เช่น การประชาสัมพันธ์ความรู้เกี่ยวกับการประกันภัย
2) ส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้สอดคล้องกับความต้องการและความเสี่ยงของประชาชน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยรายย่อยสำหรับผู้มีรายได้น้อย เช่น การประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองโควิด-19 และกรมธรรม์ประกันภัยกลุ่มปีใหม่ 10 บาท นิวนอร์มอลพลัส
3) ส่งเสริมการเข้าถึงประกันภัยเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ โดยปรับปรุงสัญญาประกันภัยสุขภาพมาตรฐานให้สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐเกี่ยวกับการปฏิรูประบบสาธารณสุข
4) ขยายช่องทางการเข้าถึงประกันภัยของประชาชน โดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์มาประกอบการเสนอขายการออกกรมธรรม์ และการชดใช้เงินหรือค่าสินไหมทดแทน           1) ประชาชนบางส่วนยังไม่เข้าใจเงื่อนไขความคุ้มครองที่เพียงพอ โดยเฉพาะกรณีเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน
2) การปรับปรุงสัญญาประกันสุขภาพมาตรฐานให้รองรับกับเทคโนโลยีและวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อให้เป็นแนวทางเดียวกัน จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแข่งขัน
1) เสริมสร้างการแข่งขัน ผ่านการผ่อนคลายการกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย โดยพัฒนากระบวนการให้ความเห็นชอบผลิตภัณฑ์ประกันภัย
2) พัฒนาการกำกับและกระบวนการให้ความเห็นชอบ/อนุมัติผลิตภัณฑ์ประกันภัย โดยพัฒนาระบบการขอรับความเห็นชอบกรมธรรม์ประกันภัยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์
3) ส่งเสริมการเชื่อมโยงตลาดประกันภัยในภูมิภาคอาเซียน เช่น แลกเปลี่ยนประสบการณ์ธุรกิจประกันภัยกับต่างประเทศ และสร้างความร่วมมือและพัฒนาการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยกับหน่วยงานกำกับดูแลในต่างประเทศ          1) ควรประเมินสถานการณ์และผลกระทบของบริษัทประกันภัยจากโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การผ่อนคลายการกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัยมีระบบและสอดคล้องกับสถานการณ์
2) ควรพิจารณาประเด็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อไม่ให้เป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงตลาดประกันภัยในประเทศอื่น
ยุทธศาสตร์ที่ 4 การเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการประกันภัย
1) พัฒนาและยกระดับบุคลากรประกันภัยให้เป็นมืออาชีพผ่านการจัดอบรมและสัมมนา
2) ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาในระบบประกันภัย โดยศึกษาและพัฒนาฐานข้อมูลด้านสถิติประกันภัย
3) เสริมสร้างศักยภาพระบบเทคโนโลยี เช่น เชื่อมโยงข้อมูลกับกรมการขนส่งทางบกเพื่อตรวจสอบการจัดทำประกันภัยรถภาคบังคับ
4) ผลักดันให้การประกันภัยเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยง เช่น แก้ไขปรับปรุงมาตรฐานกลางของรายการค่ารักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายอื่นเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลที่บริษัทประกันภัยหรือกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยต้องจ่ายให้แก่ผู้ประสบภัยจากรถ
5) เสริมสร้างศักยภาพของหน่วยงานกำกับ เช่น ผลักดันร่างกฎหมายแม่บทว่าด้วยการประกันภัย และทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายอนุบัญญัติต่าง ๆ          ข้อมูลด้านการประกันภัยมีความซับซ้อนและเชื่อมโยงกับหลายภาคส่วน จึงจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการทำความเข้าใจและระดมความคิดเห็นในการจัดทำโครงสร้างฐานข้อมูลเพื่อพัฒนาระบบ
                    3. การประเมินผลการดำเนินงานตามมาตรการและแผนการดำเนินงานปี 2563 ของสำนักงาน คปภ. ซึ่งประกอบด้วย 16 ตัวชี้วัด มีค่าคะแนนถ่วงน้ำหนักรวมอยู่ที่ 4.625 จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ซึ่งได้ 3.625 คะแนน
                    4. ผลการสำรวจความพึงพอใจของผู้รับบริการด้านประกันภัยกับสำนักงาน คปภ. ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคในปี 2563 จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 2,340 ราย โดยประเมินผลความพึงพอใจ 3 ด้าน ได้แก่ ความเป็นธรรม คุณภาพการให้บริการ และการเข้าถึงบริการมีระดับความพึงพอใจในภาพรวมอยู่ที่ระดับความพึงพอใจมากที่สุด คือ อยู่ที่ร้อยละ 92.20 ลดลงจากปี 2562 ซึ่งได้ร้อยละ 93.20

12. เรื่อง ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง บทบาทและทิศทางการประกันภัยและนัยเชิงนโยบายเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ของคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง วุฒิสภา
                    คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง บทบาทและทิศทางการประกันภัยและนัยเชิงนโยบายเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ของคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจการเงิน การคลัง วุฒิสภา ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
                    เรื่องเดิม
                    1. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง บทบาทและทิศทางการประกันภัยและนัยเชิงนโยบายเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง วุฒิสภา มาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการฯ เห็นว่าปัจจุบันธุรกิจประกันภัยมีการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ทั้งปัจจัยจากภายในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยกำลังประสบกับปัญหากับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นความผันผวนของเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) รวมถึงเหตุการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจประกันภัย ทิศทางการกำกับดูแล และการส่งเสริมธุรกิจประกันภัยที่จะต้องปรับตัวและพัฒนาให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จึงมีข้อเสนอแนะ ดังนี้ 1) บูรณาการเชิงนโยบายของภาครัฐในด้านการบริหารความเสี่ยงของภาคเกษตรกรรมผ่านระบบประกันภัย 2) ยกระดับมาตรฐานการประกันสุขภาพและการออมผ่านระบบประกันภัยให้สอดคล้องกับสังคมผู้สูงอายุ 3) สนับสนุนการลงทุนที่มีความหลากหลายและกระจายความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ 4) ปรับปรุงกฎเกณฑ์และกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมการเติบโตของเทคโนโลยีประกันภัย 5) เพิ่มศักยภาพการรับประกันภัยเพื่อบริหารความเสี่ยงของประเทศ 6) ส่งเสริมให้ภาครัฐมีการใช้ระบบประกันภัยในการบริหารความเสี่ยงทรัพย์สินของรัฐและบุคลากรภาครัฐ 7) ส่งเสริมการขยายธุรกิจและเชื่อมโยงตลาดประกันภัยเพื่อเป็นศูนย์กลางด้านการประกันภัยในกลุ่มประเทศ CLMVT (กัมพูชา ลาว สหภาพเมียนมาร์ และเวียดนาม) และ 8) ส่งเสริมความรู้ด้านประกันภัย
                    2. รองนายกรัฐมนตรี (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้ กค. รับรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการดังกล่าว ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
                    ข้อเท็จจริง
                    กค. เสนอว่าได้พิจารณารายงานพร้อมทั้งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามข้อ 2 แล้ว โดยเห็นด้วยกับรายงานและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการดังกล่าว สรุปผลการพิจารณาได้ ดังนี้
ข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ          ผลการพิจารณาตามข้อเสนอแนะฯ
1. การบูรณาการเชิงนโยบายของภาครัฐในด้านการบริหารความเสี่ยงของภาคเกษตรกรรมผ่านระบบประกันภัย เช่น ควรผลักดันให้มีการบูรณาการนโยบายการประกันภัยพืชผลร่วมกัน โดยให้ทุกหน่วยงานมีนโยบายการประกันภัยพืชผลที่เป็นแนวทางเดียวกัน มีกระบวนการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การรับประกันภัย การประกันภัยต่อ การจ่ายค่าสินไหมทดแทนที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งจะเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงให้แก่ภาครัฐและเกษตรกร          1. สำนักงาน คปภ. อยู่ระหว่างการศึกษากฎหมายประกันภัยทางด้านเกษตรกรรมจากหลายประเทศ และยกร่างกฎหมายการประกันภัยทางด้านเกษตรกรรมให้มีรูปแบบที่ชัดเจน มีความยืดหยุ่น รวมไปถึงให้เกษตรกรมีเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงทั้งสถานการณ์โรคระบาด หรือภัยธรรมชาติ
2. สำนักงาน คปภ. ได้ส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้ครอบคลุมภาคเกษตรกรรมหลักของประเทศ เช่น กรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และกรมธรรม์ประกันภัยลำไย
3. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ควรให้มีคณะกรรมการประกันภัยการเกษตรระดับประเทศ และคณะกรรมการขับเคลื่อนการประกันภัยการเกษตรระดับจังหวัด เพื่อให้เกิดการบูรณาการในการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ให้ชัดเจนมากขึ้น และขอให้มีตัวแทนภาคเกษตรกรเข้ามามีส่วนร่วมในคณะกรรมการทุกระดับ
2. ยกระดับมาตรฐานการประกันสุขภาพและการออมผ่านระบบประกันภัยให้สอดคล้องกับสังคมผู้สูงอายุและเป็นเครื่องมือในการบริหารงบประมาณภาครัฐ โดยควรส่งเสริมและผลักดันให้มีกฎหมายว่าด้วยการประกันสุขภาพภาคสมัครใจและส่งเสริมให้มีระบบการประกันภัยที่มีการให้บริการการประกันสุขภาพอย่างครบวงจร          1. สำนักงาน คปภ. อยู่ระหว่างการดำเนินการศึกษาจัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านสุขภาพด้วยการประกันภัย เพื่อศึกษากฎหมายประกันภัยสุขภาพ รูปแบบการประกันสุขภาพและมาตรการภาครัฐเกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านสุขภาพของประเทศต่าง ๆ เพื่อพัฒนากฎหมายแม่บทที่เกี่ยวกับการประกันสุขภาพ (ภาคสมัครใจ)
2. สมาคมประกันวินาศภัยไทยเห็นว่า การประกันสุขภาพอ้างอิงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อยู่แล้ว และไม่ควรมีกฎหมายมากำหนดเฉพาะเรื่องการประกันสุขภาพ เนื่องจากไม่ได้มีความแตกต่างจากการประกันภัยประเภทอื่น ๆ นอกจากนี้ การประกันสุขภาพภาคสมัครใจไม่สามารถรองรับระบบสังคมผู้สูงอายุได้ทั้งหมด ยกเว้นว่ามีการเริ่มทำประกันภัยตั้งแต่วัยทำงาน ทั้งนี้ การดูแลผู้สูงอายุควรเป็นสวัสดิการของภาครัฐเป็นหลัก
3. กค. ได้ศึกษาความเป็นไปได้ของการนำระบบประกันสุขภาพมาใช้กับข้าราชการ ปรากฏว่าระบบประกันสุขภาพเอกชนในประเทศไทยมีรูปแบบการบริหารในลักษณะการจ่ายค่าสินไหมทดแทน (Indemnity health insurance) ซึ่งคล้ายคลึงกับการจ่ายค่ารักษาพยาบาลของระบบสวัสดิการการรักษาพยาบาลข้าราชการในปัจจุบัน ดังนั้น กรมบัญชีกลางควรใช้แนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพของการบริหารระบบสวัสดิการด้วยการปรับวิธีการให้บริการผู้ป่วยยของสถานพยาบาล โดยมุ่งเน้นผลลัพธ์ของการดูแลและให้บริการแบบบูรณาการ รวมทั้งเพิ่มความสามารถในการดูแลตัวเองและปรับรูปแบบพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้มีสิทธิ
3. สนับสนุนการลงทุนที่มีความหลากหลายและกระจายความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ โดยควรสนับสนุนให้อุตสาหกรรมประกันภัยมีศักยภาพในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศมากขึ้น          1. สำนักงาน คปภ. ได้ดำเนินการปรับปรุงประกาศว่าด้วย เรื่องการลงทุนของบริษัทประกันภัยเพื่อสนับสนุนการลงทุนที่มีความหลากหลายและกระจายความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ
2. กค. ควรสนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศผ่านรูปแบบการลงทุนต่าง ๆ เช่น การลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมการประกันภัยได้รับผลตอบแทนสูงกว่าการฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์หรือการลงทุนในพันธบัตรระยะยาวซึ่งจะเป็นการกระจายการลงทุนให้หลากหลายเพื่อลดความเสี่ยงของพอร์ทการลงทุน อีกทั้งช่วยลดภาระการลงทุนของรัฐบาลและหนี้สาธารณะของประเทศ นอกจากนี้ ยังช่วยให้รัฐบาลมีเงินเพื่อลงทุนในโครงสร้างอื่นที่มีความจำเป็นและความเหมาะสมเพิ่มเติม
4. ปรับปรุงกฎเกณฑ์เพื่อส่งเสริมการเติบโตของเทคโนโลยีประกันภัย (InsurTech) เช่น การนำเทคโนโลยีมาใช้ในช่องทางการเสนอขายและให้บริการและควรกำหนดมาตรฐานการดำเนินธุรกิจประกันภัยรูปแบบดิจิทัลเป็นการเฉพาะ          1. สำนักงาน คปภ. ได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการประกันภัยเพื่อส่งเสริมการดำเนินธุรกิจประกันภัยขับเคลื่อนธุรกิจสู่ Digital Transformation เพื่อให้อุตสาหกรรมประกันภัยของไทยมีโครงสร้างพื้นฐานด้านการประกันภัยและรูปแบบในการกำกับดูแลที่รองรับการดำเนินธุรกิจประกันภัย และสนับสนุนการนำเทคโนโลยีมาใช้ในช่องทางการเสนอขายและให้บริการ โดยการเสนอขายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์และโครงการ OIC Gateway เพื่อเป็นแพลตฟอร์มกลางหรือตัวกลางในการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างธุรกิจประกันภัย สำนักงาน คปภ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
2. สำนักงาน คปภ. มีแผนการพัฒนาหลักเกณฑ์และแนวทางในการออกใบอนุญาตรูปแบบใหม่เพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจภายใต้สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีแผนการศึกษาแนวทางและความเหมาะสมในการเปิดโอกาสให้ Virtual Insurer เข้ามาดำเนินธุรกิจเพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค บริษัทประกันภัย และอุตสาหกรรมประกันภัยของไทย
5. สนับสนุนการบริหารจัดการความเสี่ยงภัยจากภัยพิบัติของประเทศไทยและกลไกในการเพิ่มศักยภาพการรับประกันภัยเพื่อบริหารความเสี่ยงประเทศ          1. สำนักงาน คปภ. มีแผนการดำเนินการเสริมสร้างศักยภาพในการรับความเสี่ยงภัยของประเทศ โดยพิจารณาถึงระดับความเสี่ยงและเงินกองทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม รวมถึงการศึกษาแนวทางของบริษัทประกันภัยต่อแห่งชาติ (National Reinsurer)
2. สมาคมประกันวินาศภัยเห็นว่า การส่งเสริมการจัดตั้งองค์กรหรือบริษัทเพื่อรองรับการประกันภัยด้านภัยพิบัติ ควรเป็นการจัดตั้งกองทุนภัยพิบัติของรัฐบาล โดยเฉพาะการประกันภัยพืชผล
6. ส่งเสริมให้ภาครัฐมีการใช้ระบบประกันภัยในการบริหารความเสี่ยงทรัพย์สินของรัฐและบุคลากรภาครัฐ เช่น การประกันภัยทรัพย์สินของรัฐ การประกันภัยอุบัติเหตุการเดินทางของข้าราชการในการปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศ          1. สำนักงาน คปภ. อยู่ระหว่างนำเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองการจัดให้มีการเอาประกันภัยทรัพย์สินของรัฐ เพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์การประกันภัยทรัพย์สินภาครัฐและรถยนต์ราชการ ให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผลักดันให้นำการประกันภัยไปใช้ในการบริหารความเสี่ยงของภาครัฐ
2. กระทรวงสาธารณสุขเห็นว่าการนำระบบประกันภัยในการเดินทางของข้าราชการผู้เดินทางไปปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศ ควรครอบคลุมถึงอุบัติเหตุหรือเหตุการณ์   ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้
7. ส่งเสริมการขยายธุรกิจและเชื่อมโยงตลาดประกันภัยเพื่อเป็นศูนย์กลางด้านการประกันภัยในกลุ่มประเทศ CLMVT (กัมพูชา ลาว สหภาพเมียนมาร์ และเวียดนาม)          สำนักงาน คปภ. มีแผนในการพัฒนาและส่งเสริมขีดความสามารถของธุรกิจประกันภัย และ ecosystem เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็น InsurTech Hub และ Capacity Center และขยายบทบาทของศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีด้านการประกันภัย
8. ส่งเสริมความรู้ด้านประกันภัย (Insurance Literacy) ให้เป็นวิถีชีวิตใหม่ของคนไทย          1. สำนักงาน คปภ. ได้ดำเนินโครงการอบรมความรู้ประกันภัย ?Training for the Trainers? มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดัน และส่งเสริมความรู้ให้เกษตรกรนำการประกันภัยมาใช้เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ
2. กระทรวงศึกษาธิการได้เน้นกระบวนการเรียนการสอนและจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมเรื่องการประกันภัยและส่งเสริมความรู้เรื่องการประกันภัยให้กับนักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง ประชาชนทั่วไป
          ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม
          กค. เห็นว่า โครงการที่อยู่ในระหว่างการศึกษา เช่น การศึกษากฎหมายประกันภัยสุขภาพ และศึกษาแนวทางของบริษัทประกันภัยแห่งชาติ (National Reinsurer) ควรรอผลการศึกษาของโคนงการดังกล่าวเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนก่อน รวมทั้งเห็นควรให้สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานหลักในการดำเนินการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้ข้อยุติก่อน

13. เรื่อง รายงานผลการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ในประเด็นสนับสนุนการแก้ไขปัญหาสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ของรัฐบาล ของ อ.ค.ต.ป. คณะต่าง ๆ และ ค.ต.ป. ประจำกระทรวง และรายงานผลการประเมินตนเองของคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการคณะต่าง ๆ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2
                    คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่คณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ (ค.ต.ป.) เสนอดังนี้
                    1. รับทราบรายงานผลการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 และเห็นชอบข้อเสนอแนะของ ค.ต.ป. โดยให้รัฐมนตรี หัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง กรม และจังหวัด ที่มีประเด็นสมควรปรับปรุงแก้ไข รับข้อเสนอแนะไปพิจารณาดำเนินการ พร้อมทั้งรายงานผลความก้าวหน้าในการดำเนินการต่อ ค.ต.ป. คณะต่าง ๆ ต่อไป
                    2. รับทราบรายงานผลการประเมินตนเองของ ค.ต.ป. คณะต่าง ๆ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    1. ค.ต.ป. ในคราวประชุม ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2564 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี   (นายวิษณุ เครืองาม) เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบรายงานผลการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ในประเด็นสนับสนุนการแก้ไขปัญหาสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ของรัฐบาล ของ                อ.ค.ต.ป. คณะต่าง ๆ และ ค.ต.ป. ประจำกระทรวงซึ่งได้มีการวิเคราะห์เชื่อมโยงประเด็นการตรวจสอบระดับนโยบายกับระดับกระทรวง และจำแนกปัญหาเป็น 3 ระดับ เพื่อให้เห็นถึงกลุ่มของปัญหาที่จะนำไปสู่การแก้ไขที่ตรงเป้าหมาย และเป็นรูปธรรม สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
                              1.1 ระดับที่ 1 ปัญหาและข้อเสนอแนะในระดับนโยบาย
ประเด็น/ข้อค้นพบ          ข้อเสนอแนะในภาพรวม          หน่วยงานที่รับผิดชอบ
ประเด็นที่ 1 การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชนระดับฐานรากในพื้นที่ผ่านโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 400,000 ล้านบาท
(1) การอนุมัติโครงการภายใต้แผนงานโครงการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 400,000 ล้านบาท ยังมีความล่าช้า ส่วนราชการ และจังหวัดเร่งเสนอโครงการในลักษณะเดิมจึงไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ความเร่งด่วนและปัญหาในปัจจุบัน ทำให้ไม่เกิดการจ้างงาน และสร้างรายได้ให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย และไม่เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง
(2) การนำเสนอโครงการของส่วนราชการทั้งส่วนกลางและจังหวัดยังขาดกระบวนการมีส่วนร่วม และต้องมีการผลักดันให้เกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนมากขึ้น เนื่องจากพบว่าการนำเสนอโครงการยังไม่สะท้อนความต้องการของประชาชนในพื้นที่          (1) ปรับเกณฑ์การจัดสรรเงินกู้โดยให้เป็นวงเงินรวม (Block Grant) เพื่อนำไปสนับสนุนโครงการในพื้นที่ โดยมอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินโครงการภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด เช่น ต้องก่อให้เกิดการจ้างงานในระดับพื้นที่ไม่เป็นการเลือกปฏิบัติแก่ผู้ประกอบการรายหนึ่งรายใด และต้องสามารถยกระดับผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (Gross Provincial Product: GPP) ให้สูงขึ้น
2) ศึกษาการจัดสรรงบประมาณในลักษณะวงเงินรวม (Block Grant) ให้แต่ละจังหวัดสามารถกำหนดเป้าหมายและการดำเนินงานในพื้นที่ได้ตรงกับความต้องการ
3) การจัดสรรงบประมาณผ่านแผนงานโครงการหน่วยงานภาครัฐต้องให้ความสำคัญกับโครงการที่เสนอโดยภาคประชาชนเป็นลำดับแรก หรือโครงการที่ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนและเกิดประโยชน์ได้อย่างแท้จริง
4) ปรับวิธีการทำงานของภาครัฐให้คำนึงถึงความชัดเจนในการกำหนดและถ่ายทอดนโยบายลงสู่การปฏิบัติงานในระดับพื้นที่โดยผ่านกลไกการสื่อสารสร้างการรับรู้เชิงรุกกับทุกภาคส่วนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการ ตั้งแต่การจัดทำโครงการและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งจะเกิดประโยชน์อย่างแท้จริงในการบรรลุผลสัมฤทธิ์ตามวัตถุประสงค์ของการแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19          - สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)









- สำนักงบประมาณ (สงป.)





- สศช. และ สงป.









- สศช. และ สงป.
ประเด็นที่ 2 การบริหารงานของภาครัฐในช่วงวิกฤต
(1) ภาครัฐยังไม่มีระบบฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงกัน โดยเฉพาะการเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก เมื่อภาครัฐมีมาตรการต่าง ๆ จึงทำให้เกิดความซ้ำซ้อน
(2) ระบบการทำงานของภาครัฐยังไม่เป็นออนไลน์ทั้งระบบจึงเป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล ซึ่งพบปัญหาอุปสรรคจากการที่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ และแนวทางที่จะให้แต่ละหน่วยงานนำไปปฏิบัติยังไม่ชัดเจน          1) ควรมีหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพหลักขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลในภาพรวมเพื่อให้ส่วนราชการมีแนวทางในการดำเนินการที่ชัดเจน สามารถนำไปปฏิบัติได้
2) ปรับระบบการทำงานของภาครัฐให้เป็นดิจิทัลเพื่อรองรับกับระบบงานที่สามารถปฏิบัติงานได้ทุกที่ ทุกเวลา และทบทวนแนวทาง
การปรับระบบการทำงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์ทั้งระบบเพื่อให้เกิดความคล่องตัว ไม่ติดขัด          - กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน)(สพร.)

- ดศ. และ กพร.
                              1.2 ระดับที่ 2 ปัญหาและข้อเสนอแนะของการจัดสรรงบประมาณทั้งในส่วนของเงินงบประมาณรายจ่ายและเงินนอกงบประมาณ
ประเด็น/ข้อค้นพบ          ข้อเสนอแนะในภาพรวม          หน่วยงานที่รับผิดชอบ
ประเด็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ประชาชนฐานรากในพื้นที่ผ่านกลไกการเกษตร
(1) การดำเนินโครงการส่วนใหญ่มีความล่าช้า ส่งผลให้การเบิกจ่ายงบประมาณมีความล่าช้า ทำให้ไม่มีการจ้างงานในพื้นที่ ซึ่งมีผลต่อการช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 และเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง
(2) เงื่อนไขต่าง ๆ ที่กำหนดในโครงการกลายเป็นข้อจำกัดต่อการบรรลุเป้าหมายที่กำหนด
(3) โครงการส่วนใหญ่ที่ได้รับการจัดสรรจากวงเงินกู้ 400,000 ล้านบาท เน้นการจ้างงานในระยะสั้นเป็นหลัก ส่งผลให้การแก้ไขปัญหาที่มุ่งเป้าเรื่องการมีอาชีพ มีรายได้ไม่เกิดความยั่งยืน          1) ในกรณีที่จะมุ่งเป้าเพื่อช่วยเหลือปัญหาเร่งด่วนควรมีการกำหนดรูปแบบการพิจารณากลั่นกรองงบประมาณที่ไม่ได้มาจากส่วนกลางเพียงอย่างเดียว และควรกำหนดระยะเวลาการดำเนินการที่เพียงพอและเหมาะสมเพื่อให้ส่วนราชการสามารถพิจารณาทบทวนเพื่อเสนอโครงการที่เหมาะสมสอดคล้องกับปัญหา
2) ควรกำหนดแนวทางการพัฒนาและขยายผลโครงการที่ได้รับจัดสรรจากเงินกู้เพื่อให้เกิดการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งต้องกำหนดหลักเกณฑ์แนวทางการพิจารณาให้ชัดเจนโดยให้มีการถอดบทเรียนผลการดำเนินโครงการประกอบการพิจารณาเพื่อให้สะท้อนถึงประโยชน์ที่จะได้รับอย่างแท้จริง และเกิดการต่อยอดการสร้างองค์ความรู้ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาในระยะยาว          - สศช. และ สงป.










- สศช. และ สงป.
                              1.3 ระดับที่ 3 ปัญหาและข้อเสนอแนะในระดับปฏิบัติ
ประเด็น/ข้อค้นพบ          ข้อเสนอแนะในภาพรวม          หน่วยงานที่รับผิดชอบ
ประเด็นที่ 1 การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ประชาชนฐานรากในพื้นที่ผ่านกลไกการเกษตร
(1) โครงการตามพระราชกำหนดเงินกู้ที่ลงไประดับพื้นที่ เพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วนเป็นโครงการที่กำหนดจากส่วนกลางและมีระยะเวลาจำกัดทำให้มีความเสี่ยงที่โครงการอาจไม่สำเร็จตามเป้าหมาย เช่น โครงการโคก หนอง นาโมเดล และโครงการ 1 เกษตร 1 ทฤษฎีใหม่ ยังไม่มีการดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นกระบวนการ
(2) การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กโดยเฉพาะที่อยู่นอกเขตชลประทานจะทำให้มีน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้น สามารถกระจายน้ำไปยังส่วนการผลิตภาคการเกษตรได้ และช่วยลดการอพยพย้ายถิ่น          1) เร่งขยายผลและต่อยอดการดำเนินโครงการของมูลนิธิปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ
เนื่องจากเป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือของประชาชนในพื้นที่ตั้งแต่ต้นทาง สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ เกิดความเป็นเจ้าของสร้างการยอมรับ และสร้างการมีส่วนร่วมในการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
2) กำกับดูแลให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบริหารจัดการและซ่อมแซมแหล่งน้ำที่อยู่นอกเขตชลประทาน ทั้งที่เป็นแหล่งน้ำขนาดเล็ก น้ำใต้ดิน น้ำผิวดิน ให้สามารถใช้งานได้ เพื่อให้มีน้ำเพียงพอในการอุปโภค บริโภค และการเกษตร เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างต่อเนื่อง เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน และลดภาระการจัดสรรงบประมาณในการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่
3) ให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องกับโครงการในแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมเพื่อสร้างการจ้างงานและรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่มีการบริหารจัดการอย่างบูรณาการ ทั้งข้อมูลในการอนุมัติ อนุญาต และการจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มขึ้น เช่น การขุดบ่อ การสร้างฝาย และการขอใช้พื้นที่ในการดำเนินงานเพื่อให้เกิดการทำงานแบบครบวงจร และเกิดผลสำเร็จตามเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม          - กระทรวงมหาดไทย (มท.) (กรมการพัฒนาชุมชน)









- มท. (กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น)










- กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.)
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)
มท. กระทรวงแรงงาน
(รง.) และกระทรวงการอุดมศึกษา
วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)


ประเด็นที่ 2 การลดผลประทบของประชาชนทางด้านเศรษฐกิจผ่านมาตรการเราไม่ทิ้งกันและมาตรการเยียวยาเกษตรกร
(1) ภาครัฐยังไม่มีระบบฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงกัน ข้อมูลไม่เป็นปัจจุบัน
(2) มาตรการช่วยเหลือเยียวยาของภาครัฐก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ประชาชนบางส่วนเข้าไม่ถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล
(3) ไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบในการจัดการข้อมูลสำหรับประชาชน ตามมาตรการของหน่วยงานรัฐ ทำให้ต้องลงทะเบียนใหม่          1) ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินโครงการตามมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาล เพื่อพัฒนา
ระบบฐานข้อมูลให้มีความถูกต้อง ครบถ้วนเป็นปัจจุบัน มีความเพียงพอ และมีความพร้อมในการเชื่อมโยง ซึ่งต้องมีการจัดระเบียบ
ฐานข้อมูลของประชาชนตั้งแต่ต้นทาง เช่น ข้อมูลบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ข้อมูลเกษตรกร ข้อมูลประกันสังคม และการเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลหน่วยงานภาครัฐที่ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย
2) เร่งรัดให้ทุกส่วนราชการบูรณาการข้อมูลภาครัฐภายใต้มาตรฐานของ สพร. เพื่อเชื่อมโยงและใช้ข้อมูลร่วมกันในระบบเดียว รวมทั้ง
การเปิดเผยข้อมูล ปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้พร้อมในการบูรณาการข้อมูล
3) กำหนดแนวทางและมาตรฐานความปลอดภัยของข้อมูลเพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจและยินยอมให้ใช้ฐานข้อมูลเลข 13 หลัก ในการเชื่อมโยงข้อมูลได้อย่างเป็นระบบ          - สพร.













- มท. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กษ. และ รง.




- ดศ.
ประเด็นที่ 3 ผลกระทบและมาตรการเยียวยาเพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ (EEC)
(1) สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายเปลี่ยนไป ส่งผลให้ต้องมีการปรับวางตำแหน่งของอุตสาหกรรมใหม่ (Repositioning) และจัดลำดับความสำคัญ (Prioritize) จุดเน้นที่จะพัฒนาพื้นที่ EEC
(2) การไม่มีข้อมูลอุปสงค์และอุปทานที่สะท้อนให้เห็นตัวเลขความต้องการที่แท้จริงของภาคอุตสาหกรรม          1) ดำเนินการ repositioning and prioritize ในอุตสาหกรรมที่เป็น New S-Curve เพื่อรองรับกับเป้าหมายของประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป โดยศึกษาวิเคราะห์และวางแผนกำลังคนที่ต้องคำนึงถึงความต้องการของตลาดแรงงาน และกำลังการผลิตผู้ที่จบการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของแรงงานในอุตสาหกรรมที่เป็น New S-Curve
2) กำหนดรูปแบบใหม่ของการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เช่น การสร้างความร่วมมือในลักษณะ partnership ที่ชุมชนเข้ามาร่วมเป็นเจ้าของผ่านการถือหุ้นและร่วมกำหนดแนวทางการทำงาน เพื่อลดผลกระทบเชิงลบจากประชาชน
3) ศึกษา วิเคราะห์โมเดลการลงทุนใหม่ โดยกำหนดรูปแบบการลงทุนที่คาดการณ์ไปยังอนาคต เพื่อรองรับ New S-Curve ให้สามารถดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุน และให้มีมาตรการที่จะอำนวยความสะดวกสอดรับกับ 10 ข้อเสนอ เพื่อยกระดับประเทศไทยสู่ 10 อันดับประเทศที่ประกอบธุรกิจได้ง่ายที่สุด (Ten for Ten)          - สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
(สกพอ.)








- สกพอ.







- สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.)

ประเด็นที่ 4 กฎระเบียบในการบริหารงานของภาครัฐช่วงวิกฤต
(1) กฎระเบียบในการบริหารงานภาครัฐยังไม่เอื้อให้สามารถทำงานแบบออนไลน์ทุกขั้นตอน ส่งผลให้ขาดความคล่องตัวในการทำงานที่บ้าน          1) ดำเนินการตรวจสอบ กำกับการประเมิน Application ที่ใช้สำหรับการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ให้มีคุณภาพ เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ได้จริง          ดศ.
(2) ระบบการทำงานของภาครัฐยังไม่เป็นดิจิทัลในการรองรับระบบงานที่เปลี่ยนไปในสถานการณ์วิกฤต          2) ศึกษาและทบทวนระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐพ.ศ. 2560 ให้สามารถดำเนินการแบบออนไลน์ ครบวงจร และเร่งรัดพัฒนาระบบบริหารงบประมาณ การเงิน บัญชี และพัสดุ (Agency Financial Management Information System: AFMIS) เพื่อนำมาใช้เป็นต้นแบบและสนับสนุนการดำเนินงาน back office รวมทั้งประสาน ดศ. ทบทวนกฎหมายให้สามารถจัดการประชุมออนไลน์ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างได้ (ปัจจุบันกรมบัญชีกลางได้แก้ไขระเบียบดังกล่าวแล้ว และแจ้งเวียนแนวทางให้ส่วนราชการถือปฏิบัติแล้ว)
3) เตรียมความพร้อมทั้งเครื่องมือและอุปกรณ์ให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด รวมทั้งกำลังคนเพื่อรองรับนโยบาย Work From Home
4) ให้หน่วยงานภาครัฐจัดทำแผนการบริหารความพร้อมต่อสภาวะวิกฤตครอบคลุมความเสี่ยงทุกประเภททั้งในระดับหน่วยงาน ส่วนกลาง และหน่วยปฏิบัติ รวมทั้งกำหนดมาตรการกำกับให้มีการปฏิบัติตามแผน          - กระทรวงการคลัง (กรมบัญชีกลาง) และ ดศ.


















- ทุกส่วนราชการ




- ทุกส่วนราชการ
ประเด็นที่ 5 การดำเนินงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) ในสภาวะวิกฤต
(1) การติดตามและประเมินผลด้าน ววน. ในภาพรวมของประเทศไม่มีการเชื่อมโยงและส่งต่อระหว่างหน่วยงานภายใน และภายนอก อว.
(2) การขาดกลไกการติดตามประเมินผลที่เข้มข้นและเป็นระบบ โดยเฉพาะการดำเนินงานจากงบประมาณที่ไม่ได้จัดสรรผ่านกองทุนส่งเสริม ววน. ทำให้ไม่สามารถนำผลการประเมินไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาต่อได้          1) สนับสนุนงานวิจัยทางด้าน ววน. ให้มีลักษณะวิจัยแบบเร่งด่วนที่สามารถเห็นผลได้ในระยะสั้นหรือเร่งด่วนที่สามารถตอบโจทย์ในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว
2) สนับสนุนทุนวิจัยเกี่ยวกับนวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการแข่งข้นของประเทศนำไปสู่การต่อยอดและขยายผลได้
3) ควรมีการทบทวนและประเมินผลงานนวัตกรรมที่ได้ดำเนินการในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต          - อว.







- อว.



- อว.

                    2. ค.ต.ป. ในคราวประชุม ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2563 และครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2563 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบรายงานผลการประเมินตนเองของ ค.ต.ป. คณะต่าง ๆ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 สรุปได้ดังนี้
                              2.1 ผลการประเมินตนเองของ ค.ต.ป. อ.ค.ต.ป. คณะต่าง ๆ และ ค.ต.ป. ประจำกระทรวง ใน 4 ด้าน ได้แก่ 1) องค์ประกอบและแนวปฏิบัติของคณะกรรมการ (skill) 2) ความรู้ ความเข้าใจในการดำเนินการ (knowledge) 3) การรายงานผลจากการตรวจสอบฯ (output) และ 4) การบรรลุเป้าหมายของการดำเนินการ (outcome) มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
                                        (1) สรุปผลการประเมินตนเองฯ ครั้งที่ 1 ค.ต.ป. มีผลการปฏิบัติงานเฉลี่ยรวมอยู่ในระดับดีเยี่ยม โดยด้านองค์ประกอบและแนวปฏิบัติของคณะกรรมการมีผลการประเมินสูงที่สุด และภาพรวมผลการประเมินตนเองของ อ.ค.ต.ป. คณะต่าง ๆ และ ค.ต.ป. ประจำกระทรวง มีผลการปฏิบัติงานเฉลี่ยรวมอยู่ในระดับดีมาก โดยด้านองค์ประกอบและแนวปฏิบัติของคณะกรรมการ มีผลการประเมินสูง
                                        (2) สรุปผลการประเมินตนเองฯ ครั้งที่ 2 ค.ต.ป. มีผลการปฏิบัติงานเฉลี่ยรวมอยู่ในระดับดีมาก โดยด้านองค์ประกอบและแนวปฏิบัติของคณะกรรมการ มีผลการประเมินสูงที่สุด และภาพรวมผลการประเมินตนเองของ อ.ค.ต.ป. คณะต่าง ๆ และ ค.ต.ป. ประจำกระทรวง ผลการปฏิบัติงานเฉลี่ยรวมอยู่ในระดับดีมาก โดยด้านองค์ประกอบและแนวปฏิบัติของคณะกรรมการมีผลการประเมินสูงที่สุด
                              2.2 ความเห็นและข้อเสนอแนะของ ค.ต.ป. คณะต่าง ๆ ที่มีต่อแนวทางการตรวจสอบและกลไกการดำเนินงาน เช่น ควรมีกระบวนการติดตามความคิดเห็นของประชาชนที่เกี่ยวข้องถึงความพึงพอใจต่อการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ ค.ต.ป. คณะต่าง ๆ การจัดประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และการประชาสัมพันธ์งาน ค.ต.ป. เพื่อให้เกิดการรับรู้ ความเข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญของการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ นอกจากนี้ การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลควรมุ่งเน้นการตรวจติดตามและประเมินผลภาคราชการในลักษณะที่เป็นการส่งสัญญาณเตือนล่วงหน้า (early warning) ให้มากขึ้น เพื่อให้ได้ข้อเสนอแนะที่สามารถนำไปปรับปรุง แก้ไขปัญหาได้ทันที และลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น
                              2.3 ฝ่ายเลขานุการ ค.ต.ป. ได้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะดังกล่าว โดยได้จัดทำแผนประชาสัมพันธ์การดำเนินงานที่สำคัญของ ค.ต.ป. ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจการดำเนินงานของ ค.ต.ป. ผ่านช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ การสร้างกลุ่มไลน์เพื่อเป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนความรู้ และเป็นช่องทางการติดต่อระหว่าง อ.ค.ต.ป. คณะต่าง ๆ และ ค.ต.ป. ประจำกระทรวง นอกจากนี้ ได้มีการกำหนดแผนเพื่อให้มีการติดตามในลักษณะที่เป็นการส่งสัญญาณเตือนล่วงหน้า (early warning) โดย อ.ค.ต.ป. คณะต่าง ๆ ได้เสนอประเด็นการตรวจสอบที่เห็นว่า มีความสำคัญเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการกำหนดมาตรการหรือแนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อให้ทันสถานการณ์ เช่น ประเด็นการพัฒนาเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจให้เป็นเมืองน่าอยู่เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก (OTOP/SME) การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และประสิทธิภาพของระบบฐานข้อมูลในการดำเนินงานสวัสดิการภาครัฐ : ระบบหลักประกันสุขภาพ


14. เรื่อง รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนพฤษภาคม 2564
                    คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนพฤษภาคม 2564 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ ดังนี้
                    สาระสำคัญ
                    ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคม 2564 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ขยายตัวร้อยละ 25.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์จากฐานเปรียบเทียบในเดือนพฤษภาคม 2563 ที่ต่ำ ซึ่งเป็นเดือนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดในระลอกแรก รวมถึงในปีนี้การส่งออกมีการขยายตัวได้ดี
                    อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI เดือนพฤษภาคม 2564 ขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน คือ
                    1. รถยนต์และชิ้นส่วน เพิ่มขึ้นร้อยละ 151.44 จากฐานต่ำ เนื่องจากปีก่อนอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกแรกและเพิ่งเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์
                    2. เครื่องปรับอากาศ และชิ้นส่วน เพิ่มขึ้นร้อยละ 90.25 จากฐานต่ำในปีก่อนตามผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และมาตรการล็อกดาวน์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยปีนี้ผู้ผลิตได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่ตอบสนองและจูงใจผู้บริโภค (ประหยัดพลังงานและกรองอากาศจากฝุ่นและเชื้อโรค) รวมถึงตลาดส่งออกขยายตัวดี หลังประสบปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และเรือขนส่งสินค้าในเดือนก่อน
                    3. ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.35 จากความต้องการของตลาดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของโลกที่มีทิศทางเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามปัจจัยบวกของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วและมีความต้องการใช้ในหลากหลายผลิตภัณฑ์มากขึ้น
                    4. เหล็กและเหล็กกล้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 40.28 ตามความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ที่เติบโตได้มากขึ้นหลังจากชะลอตัวตามสถานการณ์โควิด-19 จากมาตรการล็อกดาวน์และการหยุดผลิตชั่วคราวของผู้ผลิตอุตสาหกรรมปลายน้ำในช่วงปีก่อน (ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า) รวมถึงการเร่งดำเนินการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานต่าง ๆ ในปีนี้
                    5. ยางรถยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 167.86 จากฐานต่ำในปีก่อน ในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกแรก ทำให้ประเทศคู่ค้า อย่างเช่น จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์และสหรัฐอเมริกา ล็อกดาวน์ประเทศและชะลอคำสั่งซื้อ รวมถึงปีนี้ผู้ผลิตมีการปรับลดราคาสินค้าเพื่อกระตุ้นตลาดด้วย

15. เรื่อง ขยายขอบเขตมาตรการบรรเทาผลกระทบอันเนื่องมาจากข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 30)
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอดังนี้
                    1. เห็นชอบการขยายขอบเขตมาตรการบรรเทาผลกระทบและให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่สถานการณ์ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 และมอบหมายให้สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ดำเนินการจัดทำรายละเอียดและนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป
                    2. มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม พิจารณาจัดทำข้อเสนอโครงการเพื่อให้ความช่วยเหลือกลุ่มอาชีพผู้ขับรถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่) และรถจักรยานยนต์สาธารณะที่มีอายุเกิน 65ปี ที่ไม่สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ฉบับแก้ไข โดยพิจารณาจากฐานข้อมูลการจดทะเบียนอนุญาตผู้ขับรถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่) และรถจักรยานยนต์สาธารณะ เพื่อให้ความช่วยเหลือเป็นไปอย่างเหมาะสม และสามารถยืนยันตัวตน ตรวจสอบได้ และนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป
                    สาระสำคัญ
                    1. การขยายขอบเขตมาตรการบรรเทาผลกระทบและให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่สถานการณ์ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564
                    สืบเนื่องจากข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 (ฉบับที่ 30) ได้มีการปรับปรุงเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเพิ่มเติมจากข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 28 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ จากเดิม 13 จังหวัด เป็น 29 จังหวัด และกำหนดมาตรการควบคุมแบบบูรณาการที่กำหนดเงื่อนไขสำหรับสถานประกอบการต่าง ๆ โดยสรุปการขยายขอบเขตมาตรการบรรเทาผลกระทบได้ดังนี้
                              1.1. พื้นที่ดำเนินการ : ขยายพื้นที่จากเดิม 13 จังหวัด เป็น 29 จังหวัด โดยเพิ่มเติมจังหวัดกาญจนบุรี ตาก นครนายก นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี เพชรบุรี เพชรบูรณ์ ระยอง ราชบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี สมุทรสงคราม สระบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง
                              1.2 กลุ่มเป้าหมายให้ความช่วยเหลือ : คงเดิม โดยครอบคลุมถึงกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการในกิจการที่ได้รับผลกระทบ ทั้งในส่วนที่อยู่ในระบบประกันสังคมและไม่อยู่ในระบบประกันสังคม
                              1.3 ประเภทกิจการที่ให้ความช่วยเหลือ : กิจการในระบบประกันสังคมจะครอบคลุม                9 สาขา และในกลุ่มผู้ประกอบการในระบบ ?ถุงเงิน? ภายใต้โครงการคนละครึ่งและโครงการเราชนะในปัจจุบันที่ผ่านการคัดกรองแล้วและไม่เป็นผู้ถูกตัดสิทธิ์จากกระทรวงการคลัง จำนวน 5 กลุ่ม
                              1.5 รูปแบบการให้ความช่วยเหลือ : รูปแบบการให้ความช่วยเหลือเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 เรื่องขอขยายขอบเขตมาตรการบรรเทาผลกระทบและการปรับปรุงรายละเอียดของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 เรื่องมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการอันเนื่องมาจากข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 27)
                              1.5 ระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือ : ขยายการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการและแรงงานที่ได้รับผลกระทบในกลุ่ม 13 จังหวัดแรกจากเดิมที่กำหนดไว้ในเดือนกรกฎาคม 2564 เป็นจากเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม ๒๕๖๔ จำนวน 2 เดือน และกลุ่ม 16 จังหวัดที่เพิ่มเติมตามข้อกำหนด ฉบับที่ 30 จำนวน                 1 เดือน (สิงหาคม)
                              1.6 ขยายกรอบวงเงินการให้ความช่วยเหลือ จากเดิมประมาณ 30,000 ล้านบาท เป็นประมาณ 60,000 ล้านบาท
                    3. การพิจารณามาตรการให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มอาชีพผู้ขับรถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่) และรถจักรยานยนต์สาธารณะที่มีอายุเกิน 65 ปี ที่ไม่สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ฉบับแก้ไข ทำให้ไม่สามารถได้รับความช่วยเหลือตามมาตรการลดผลกระทบและให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่สถานการณ์ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 รวมถึงพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเพิ่มเติมจากข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 28 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ จากเดิม 13 จังหวัด เป็น 29 จังหวัด ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 (ฉบับที่ 30) ได้ ดังนั้น เพื่อให้การช่วยเหลือตามมาตรการลดผลกระทบและให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่สถานการณ์ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเป็นไปอย่างครอบคลุมและทั่วถึง จึงเห็นควรมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม พิจารณาจัดทำข้อเสนอโครงการเพื่อให้ความช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายดังกล่าว โดยพิจารณาจากฐานข้อมูลการจดทะเบียนอนุญาตผู้ขับรถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่) และรถจักรยานยนต์สาธารณะ เพื่อให้ความช่วยเหลือเป็นไปอย่างเหมาะสม และสามารถยืนยันตัวตนตรวจสอบได้

16. เรื่อง มาตรการบรรเทาผลกระทบของประชาชนในการติดต่อราชการเพื่อขออนุญาตกับหน่วยงานของรัฐจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการบรรเทาผบกระทบของประชาชนในการติดต่อราชการเพื่อขออนุญาตกับหน่วยงานของรัฐจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ ดังนี้
                    สาระสำคัญ
                    1. สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ศึกษากระบวนงานอนุญาตของหน่วยงานของรัฐที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อติดต่อราชการ (www.info.go.th) พบว่า กระบวนงานอนุญาตของหน่วยงานของรัฐที่ส่งผลให้เกิดภาระค่าปรับ เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม หรือเงินอื่นใดที่กฎหมายกำหนดให้ต้องชำระเพิ่มเติมในกรณีดำเนินการล่าช้า และ/หรือการเสียสิทธิในการกระทำของประชาชน มีจำนวน 311 กระบวนงาน โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
                              (1) การขอต่ออายุใบอนุญาต จำนวน 295 กระบวนงาน อาทิ การขอต่ออายุใบขับขี่ การขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าว การขอต่ออายุใบอนุญาตเกี่ยวกับยา
                              (2) การชำระภาษี หรือเงินอื่นใด จำนวน 11 กระบวนงาน อาทิ การชำระภาษีรถ การชำระภาษีป้าย รวมถึงการชำระเงินสมทบกองทุนประกันสังคม และกองทุนเงินทดแทน
                              (3) การรับแจ้ง จำนวน 5 กระบวนงาน อาทิ การรับแจ้งที่พักอาศัยของคนต่างด้าว กรณีอยู่ในราชอาณาจักรเกิน 90 วัน การขออยู่ต่อในราชอาณาจักรของบุคคลต่างด้าว
                    2. ปัจจุบันมีหน่วยงานของรัฐหลายแห่งได้ออกมาตรการบรรเทาผลกระทบของประชาชนที่เกี่ยวข้องกับกรณีข้างต้น เช่น กระทรวงคมนาคมและสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีมาตรการผ่อนผันการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ถือใบอนุญาตขับรถและใบอนุญาตเป็นผู้ประจำรถที่หมดอายุแล้วให้สามารถใช้แสดงต่อเจ้าหน้าที่ได้จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 หรือจนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง กระทรวงการคลังมีมาตรการขยายระยะเวลาการยื่นภาษีประจำปี กระทรวงแรงงานมีมาตรการผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวตามกลุ่มมติคณะรัฐมนตรีต่าง ๆ และกลุ่มที่ใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวสิ้นสุดลงเพราะผลของกฎหมาย สามารถอยู่ในราชอาณาจักรต่อได้เป็นกรณีพิเศษ กระทรวงมหาดไทยมีมาตรการขยายระยะเวลาดำเนินการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสำหรับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจำปี พ.ศ. 2564  ออกไปอีก 2 เดือน กระทรวงสาธารณสุขมีมาตรการขยายระยะเวลายกเว้นค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพรายปี เป็นต้น ซึ่งควรผลักดันให้หน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการอนุญาตทุกแห่งพิจารณาการมีมาตรการบรรเทาผลกระทบของประชาชนในการติดต่อราชการเพื่อการขออนุญาตต่าง ๆ
                    3. สำนักงาน ก.พ.ร. ในฐานะหน่วยงานกลางซึ่งมีภารกิจหลักในการพัฒนาประสิทธิภาพในการบริหารราชการและให้บริการประชาชนของหน่วยงานภาครัฐ เห็นว่า เพื่อเป็นการสนับสนุนการดำเนินการตามข้อกำหนดและข้อปฏิบัติต่าง ๆ รวมถึงลดผลกระทบของประชาชนจากการติดต่อหน่วยงานของรัฐ จึงเห็นควรกำหนดมาตรการบรรเทาผลกระทบของประชาชนในการติดต่อราชการเพื่อขออนุญาตกับหน่วยงานของรัฐจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ดังนี้
                              3.1 ให้หน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการอนุญาต การรับแจ้ง การรับชำระภาษี หรือเงินอื่นใด พิจารณาขยายระยะเวลาการต่ออายุใบอนุญาต การแจ้ง การชำระภาษีหรือเงินอื่นใด ที่บุคคลต้องชำระให้แก่หน่วยงานของรัฐ ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ในเบื้องต้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยให้พิจารณางดหรือยกเว้นค่าปรับ เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม หรือเงินอื่นใดที่กฎหมายกำหนดให้ต้องชำระเพิ่มเติมในกรณีดำเนินการล่าช้า ภายใต้กรอบอำนาจตามกฎหมาย หากมีปัญหาอุปสรรคว่ากฎหมายมิได้เปิดช่องหรือให้อำนาจหน่วยงานของรัฐในการงดหรือยกเว้นค่าปรับ เบี้ยปรับ หรือเงินเพิ่มแล้ว ให้รายงานปัญหาอุปสรรคดังกล่าวมายังสำนักงาน ก.พ.ร. ภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2564 เพื่อที่สำนักงาน ก.พ.ร. จะได้รวบรวมเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป
                              ทั้งนี้ เมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามข้อ 3.1 ให้หน่วยงานของรัฐพิจารณาชะมาตรการบรรเทาผลกระทบของประชาชนดังกล่าวอย่างต่อเนื่องและให้สอดคล้องกับระยะเวลาตามประกาศ เรื่อง การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ในแต่ละคราว) จนกว่าจะมีการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
                              3.2 ให้หน่วยงานของรัฐเร่งพัฒนาประสิทธิภาพการทำงาน และงานบริการของภาครัฐให้ประชาชนสามารถติดต่อขอรับบริการจากหน่วยงานของรัฐได้ทุกที่ ทุกเวลา ไม่ต้องเดินทางไปติดต่อ ณ สำนักงาน โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการให้บริการสาธารณะตั้งแต่ต้นจนเสร็จสิ้นกระบวนการ

17. เรื่อง ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้พระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2564
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 (พระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564) ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่                 30 กรกฎาคม 2564 ได้มีมติที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณากลั่นกรองความเหมาะสมของข้อเสนอแผนงานหรือโครงการเพื่อขอใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ดังนี้
                    1. อนุมัติโครงการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ตามมาตรการที่ 1 โดยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา จำนวน 2,000 บาทต่อคน ในภาคการศึกษาที่ 1/2564 กรอบวงเงิน 21,905.9200 ล้านบาท โดยใช้จ่ายเงินกู้ภายใต้แผนงาน/โครงการกลุ่มที่ 2 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ทั้งนี้ เห็นควรมอบหมายให้ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พิจารณากำหนดกลไกการตรวจสอบยืนยันตัวตนของผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือที่ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดการให้ความช่วยเหลือที่ซ้ำซ้อนของนักเรียน/นักศึกษาในสถานศึกษาทั้งหมดในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการทั้งสถานศึกษาของรัฐและสถานศึกษาเอกชน และนอกสังกัดกระทรวงศึกษาธิการควบคู่กับการกำหนดหลักเกณฑ์และระบบการจัดเก็บเอกสารและหลักฐานต่าง ๆ ที่ใช้ในการเบิกจ่ายอย่างชัดเจน เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้
                    2. เห็นควรมอบหมายให้ หน่วยงานต้นสังกัดของสถานศึกษาเป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการ ดำเนินการจัดทำความต้องการใช้จ่ายเป็นรายสัปดาห์ เพื่อให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะสามารถจัดหาเงินกู้เพื่อใช้จ่ายโครงการตามแผนการใช้จ่ายเงินที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายทางการเงินของภาครัฐ พร้อมทั้งปฏิบัติตามข้อ 15 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 พ.ศ. 2564 (ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564) โดยเคร่งครัดตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ เห็นควรให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ทำหน้าที่เบิกจ่ายแทนกันให้สถานศึกษาในสังกัด องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล
                    3. มอบหมายให้สถานศึกษาของรัฐ เบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการจัดการเรียนการสอนและการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามระเบียบของทางราชการ และในกรณีที่สถานศึกษามีความจำเป็นต้องขอรับความช่วยเหลือค่าใช้จ่ายดังกล่าวเพิ่มเติมจากภาครัฐให้เสนอขอรับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายดังกล่าวจากแหล่งเงินอื่น ๆ อาทิ เงินกองทุนต่าง ๆ เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ได้ตามความเหมาะสมและความจำเป็นตามขั้นตอนของระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ กรณีสถานศึกษาที่อยู่ภายใต้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรพิจารณาใช้แหล่งเงินอุดหนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นลำดับแรก
                    4. อนุมัติโครงการมาตรการการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของนิสิต นักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐและเอกชน ของสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กรอบวงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงานที่ 2 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ทั้งนี้เห็นควรมอบหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เร่งประสานกับกรมบัญชีกลาง เกี่ยวกับการกำหนดแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการเบิกจ่ายเงินแทนกันของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ และสถาบันอุดมศึกษาในกำกับและหน่วยงานในกำกับอื่นของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อให้การเบิกจ่ายเงินตามโครงการฯ เป็นไปโดยถูกต้องตามระเบียบของทางราชการและสามารถตรวจสอบได้ นอกกจากนี้ เห็นควรให้สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พิจารณากำหนดกลไกการตรวจสอบยืนยันตัวตนของผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือที่ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนของนิสิต นักคึกษาระดับอุดมศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐและเอกชนในภาคเรียนที่ 1 ที่ได้รับความช่วยเหลือ ควบคู่กับการกำหนดหลักเกณฑ์และระบบการจัดเก็บเอกสารและหลักฐานต่าง ๆ ที่ใช้ในการเบิกจ่ายอย่างชัดเจน เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปอย่างโปร่งใส และ ตรวจสอบได้
                    5. เห็นควรมอบหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการ ดำเนินการจัดทำความต้องการใช้จ่ายเป็นรายสัปดาห์ เพื่อให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ สามารถจัดหาเงินกู้เพื่อใช้จ่ายโครงการตามแผนการใช้จ่ายเงินที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายทางการเงินของภาครัฐ พร้อมทั้งปฏิบัติตามข้อ 15 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 โดยเคร่งครัดตามขั้นตอนต่อไป

18. เรื่อง มาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
                    คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้
                     ความเป็นมา
                    1. ด้วยนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 26/2563 ลงวันที่ 11 สิงหาคม 2563 เรื่อง การบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีรองนายกรัฐมนตรี รวมทั้งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นกรรมการในคณะกรรมการดังกล่าวด้วย ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจ (1) จัดทำข้อเสนอและกรอบแนวทางการดำเนินมาตรการเศรษฐกิจ โดยแบ่งเป็นสองระยะ ประกอบด้วย (1.1) ระยะเร่งด่วน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และ (1.2) ระยะปานกลางและระยะยาวเพื่อยกระดับศักยภาพและวางรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคตภายหลังจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สิ้นสุด (2) สั่งการส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งขอความร่วมมือภาคเอกชน ให้ดำเนินการเป็นไปตามนโยบายและมาตรการเร่งด่วนที่กำหนด ... ฯลฯ ...
                    2. ข้อเท็จจริง มีดังนี้
                              2.1 ตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 102 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ?การงดหรือลดค่าปรับให้แก่คู่สัญญา หรือการขยายเวลาทำการตามสัญญาหรือข้อตกลง ให้อยู่ในดุลพินิจของผู้มีอำนาจที่จะพิจารณาได้ตามจำนวนวันที่มีเหตุเกิดขึ้นจริง เฉพาะในกรณีดังต่อไปนี้ (1) เหตุเกิดจากความผิดหรือความบกพร่องของหน่วยงานของรัฐ (2) เหตุสุดวิสัย (3) เหตุเกิดจากพฤติการณ์อันหนึ่งอันใดที่คู่สัญญาไม่ต้องรับผิดตามกฎหมาย และ (4) เหตุอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง? ซึ่งกฎหมายบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของหัวหน้าหน่วยงานของรัฐใช้ดุลพินิจให้ความช่วยเหลือเป็นรายสัญญาได้ตามจำนวนวันที่มีเหตุเกิดขึ้นจริง
                              2.2 เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 กรมบัญชีกลางได้ดำเนินการ ดังนี้
                                        (1) กำหนดให้ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เป็นเหตุสุดวิสัยตามพระราชบัญญัติฯ มาตรา 102 วรรคหนึ่ง (2) และกำหนดแนวทางการบริหารสัญญาที่ได้รับผลกระทบจากกรณีโรคโควิด 19 ตามหนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) 0405.2/ว  ลงวันที่ 24 เมษายน 2563
                                        (2) กำหนดแนวทางการใช้ดุลพินิจเกี่ยวกับการพิจารณางดหรือลดค่าปรับให้แก่คู่สัญญาหรือการขยายระยะเวลาทำการตามสัญญาหรือข้อตกลง ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีโรคโควิด 19 พร้อมหลักฐานหรือเอกสารที่ใช้ประกอบการพิจารณาตามพระราชบัญญัติฯ มาตรา 102 วรรคหนึ่ง ตามหนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) 0405.2/ว 423 ลงวันที่ 10 กันยายน 2563
                    3. เนื่องจากพระราชบัญญัติฯ มาตรา 102 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของหัวหน้าหน่วยงานของรัฐที่ใช้ดุลพินิจพิจารณา แต่หัวหน้าหน่วยงานของรัฐใช้ดุลพินิจตามพระราชบัญญัติฯ มาตรา 102 วรรคหนึ่ง พิจารณาและมีความเห็นไม่ตรงกันกับผู้ประกอบการที่เป็นคู่สัญญา หรือในบางกรณีหัวหน้าหน่วยงานของรัฐไม่พิจารณาให้แก่คู่สัญญาเลยเนื่องจากเป็นการใช้ดุลพินิจที่ปลอดภัยจากการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งคู่สัญญาไม่เห็นด้วยกับการใช้ดุลพินิจดังกล่าว จึงทำให้สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และผู้ประกอบการก่อสร้างรวมตัวกัน โดยได้มีหนังสือขอความเป็นธรรมเหตุอันเกิดจากโรคโควิด 19 มายังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อธิบดีกรมบัญชีกลาง ผู้ตรวจการแผ่นดิน รวมทั้งร้องเรียนผ่านรองประธานวุฒิสภาถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่มีผลทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถดำเนินการได้ตามสัญญา เช่น การขาดแคลนแรงงาน ขาดวัสดุก่อสร้างบางชนิดที่นำเข้าจากต่างประเทศทำให้งานล่าช้า มีผลทำให้ผู้ประกอบการได้รับความเดือดร้อน และมีความประสงค์ขอให้รัฐบาลมีแนวทางการช่วยเหลือซึ่งเป็นการคิดในลักษณะเหมารวม เหมือนเช่นก่อนที่พระราชบัญญัติฯ จะมีผลใช้บังคับ (วันที่ 23 สิงหาคม 2560)
                    ทั้งนี้ แนวทางการดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 26/2563 ลงวันที่ 11 สิงหาคม 2563 เรื่อง การบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    กระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว เห็นควรมีแนวทางการช่วยเหลือเป็น 4 แนวทาง ดังนี้
                    1. มาตรการช่วยเหลือโดยการหักกลบจำนวนค่าปรับ
                              1.1 หลักการ : ตามพระราชบัญญัติฯ มาตรา 102 วรรคหนึ่ง ไม่สามารถนำมาเป็นเครื่องมือเพื่อให้ความช่วยเหลือฯ ได้ จึงจะอาศัยระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกเงินจากคลัง การรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน และการนำเงินส่งคลัง พ.ศ. 2562 ข้อ 35 มาเป็นเครื่องมือ ทั้งนี้ ภายใต้วิธีคิดว่าจะไม่ใช้เงินงบประมาณ และไม่ควรให้ความช่วยเหลือกับผู้ประกอบการที่ปกติก็ทำงานล่าช้าอยู่แล้ว
                              1.2 หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือ
                                        (1) การให้ความช่วยเหลือให้หน่วยงานของรัฐพิจารณาจำนวนวันให้ความช่วยเหลือตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 จนถึงวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความช่วยเหลือในครั้งนี้
                                        (2) สัญญาซื้อหรือจ้างที่ได้รับความช่วยเหลือตามมาตรการให้ความช่วยเหลือในครั้งนี้ มีดังนี้
                                                  (2.1) สัญญาซื้อหรือจ้างยังมีนิติสัมพันธ์อยู่ ณ วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความช่วยเหลือในครั้งนี้ และสัญญาดังกล่าวมีค่าปรับเกิดขึ้นแต่ไม่ใช่ค่าปรับที่เข้าเงื่อนไขการงดหรือลดค่าปรับตามมาตรา 102 แห่งพระราชบัญญัติฯ โดยพิจารณาให้ความช่วยเหลือสำหรับสัญญาซื้อหรือจ้าง ซึ่ง ณ วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติได้มีค่าปรับเกิดขึ้นแล้วแต่ไม่เกินร้อยละ 25 ของวงเงินค่าพัสดุหรือค่าจ้าง
                                                  (2.2) สัญญาซื้อหรือจ้าง ซึ่ง ณ วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ ได้มีค่าปรับเกินกว่าร้อยละ 25 ของวงเงินค่าพัสดุหรือค่าจ้าง ไม่ได้รับการให้ความช่วยเหลือตามมาตรการให้ความช่วยเหลือในครั้งนี้
                                        (3) ให้หน่วยงานของรัฐพิจารณาจำนวนค่าปรับตามสัญญา หลังจากนั้นให้นำจำนวนวันที่ให้ความช่วยเหลือตามข้อ (2.1) มาหักกลบ และเมื่อหักกลบแล้วยังมีค่าปรับเหลืออยู่ให้หน่วยงานของรัฐปรับและนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินหรือเป็นรายได้ของหน่วยงานของรัฐต่อไป
                                        (4) วิธีการ กรมบัญชีกลางเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบมาตรการฯ
                                        (5) ข้อดี ข้อเสีย
                                                  ข้อดี : แนวทางนี้รัฐบาลไม่มีภาระทางการคลัง เนื่องจากมาตรการนี้เป็นการนำจำนวนค่าปรับตามสัญญามาหักกลบตามมาตรการให้ความช่วยเหลือ หากจำนวนวันที่หักกลบตามมาตรการนี้มากกว่าจำนวนค่าปรับตามสัญญา กรณีนี้จะไม่มีค่าปรับใด ๆ อีก แต่หากเป็นกรณีเมื่อหักกลบแล้วยังมีค่าปรับเหลืออยู่ให้หน่วยงานของรัฐปรับและนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินหรือเป็นรายได้ของหน่วยงานของรัฐต่อไป
                                                  ข้อเสีย : แนวทางนี้อาจขัดต่อหลักการรับเป็นรับ จ่ายเป็นจ่าย ตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลัง
                    2. เสนอให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้มีอำนาจที่จะพิจารณาการงด หรือลดค่าปรับให้แก่คู่สัญญาหรือการขยายเวลาทำการตามสัญญา ตามพระราชบัญญัติฯ มาตรา 102 วรรคหนึ่ง ด้วย
                              2.1 หลักการ : เพื่อให้คณะรัฐมนตรี เป็นผู้มีอำนาจที่จะพิจารณาการงดหรือลดค่าปรับให้แก่คู่สัญญา หรือการขยายเวลาทำการตามสัญญา ด้วย เพื่อจะสามารถออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการภายใต้มาตรา 102 วรรคหนึ่ง ต่อไปได้
                              2.2 วิธีการ : กรมบัญชีกลางจะดำเนินการแก้ไขระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 6 จากเดิม ?ผู้มีอำนาจดำเนินการตามระเบียบนี้ ได้แก่ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าหน่วยงานของรัฐ? เป็น ?ผู้มีอำนาจดำเนินการตามระเบียบนี้ ได้แก่ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าหน่วยงานของรัฐ หรือ คณะรัฐมนตรี?
                              2.3 ข้อดี ข้อเสีย
                                        ข้อดี : แนวทางนี้รัฐบาลไม่มีภาระทางการคลัง
                                        ข้อเสีย : เนื่องจากกฎหมายยังมีความไม่ชัดเจน จึงอาจมีปัญหาในการแปลความเรื่องอำนาจตามกฎหมายที่อาจจะขัดกับเจตนารมณ์ที่แท้จริงของบทบัญญัติกฎหมายได้ กล่าวคือ การพิจารณาตีความพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 102 วรรคหนึ่ง ว่า ผู้มีอำนาจที่จะพิจารณาการงดหรือลดค่าปรับให้แก่คู่สัญญา หรือการขยายเวลาทำการตามสัญญา หรือข้อตกลงตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 102 วรรคหนึ่ง จะสามารถขยายความรวมถึงคณะรัฐมนตรี ได้หรือไม่ รวมทั้งการกำหนดจำนวนวันที่มีเหตุเกิดขึ้นจริงจะสามารถกำหนดระยะเวลาตามประกาศศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ฉบับแรกนับเวลาต่อเนื่องมาจนถึงประกาศฉบับปัจจุบัน ได้หรือไม่ และหากจำเป็นต้องพิจารณาถึงเจตนารมณ์ในการยกร่างพระราชบัญญัติฯ มาตรา 102 วรรคหนึ่ง ในขณะนั้น กรมฯ อาจต้องมีหนังสือหารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อพิจารณาต่อไป
                    3. การนำเงินงบประมาณหรือเงินอื่นมาช่วยเหลือผู้ประกอบการ
                              3.1 หลักการ : นำเงินงบประมาณหรือเงินอื่นมาจ่ายเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการรับเป็นรับ จ่ายเป็นจ่ายตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลัง
                              3.2 วิธีการ
                                        (1) กรมบัญชีกลางเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติงบประมาณเพื่อจ่ายเงินช่วยเหลือชดเชยให้แก่ผู้ประกอบการเท่ากับจำนวนวันที่รัฐบาลชดเชย กรมบัญชีกลางเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติงบประมาณเพื่อจ่ายเงินช่วยเหลือชดเชยให้แก่ผู้ประกอบการเท่ากับจำนวนวันที่รัฐบาลชดเชย จำนวนประมาณ 10,659.276 ล้านบาท โดยประมาณการมาจากข้อมูลในระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (e-GP) ซึ่งมีจำนวนสัญญา 6,889.472 สัญญา รวมมูลค่าสัญญาเป็นจำนวนทั้งสิ้น 1.973 ล้านล้านบาท เมื่อคิดค่าปรับในอัตราร้อยละ 10 เป็นเวลา 180 วัน โดยประมาณ
                                        (2) หน่วยงานของรัฐยังคงมีหน้าที่ปรับตามสัญญาและนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินหรือรายได้ของหน่วยงานของรัฐตามปกติ
                                        (3) ข้อดี ข้อเสีย
                                                  ข้อดี : ไม่ขัดต่อหลักการรับเป็นรับ จ่ายเป็นจ่ายตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลัง
                                                  ข้อเสีย : มีภาระต่องบประมาณของรัฐบาล และเนื่องจากยังมีการปรับตามปกติ หากผู้ประกอบการได้รับเงินช่วยเหลือล่าช้า อาจส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของผู้ประกอบการต่อไปได้
                      4. การกำหนดอัตราค่าปรับเป็นอัตราร้อยละ 0
                                4.1 หลักการ : เมื่ออัตราค่าปรับเป็นอัตราร้อยละ 0 ผู้ประกอบการก็จะไม่มีค่าปรับ ซึ่งเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการได้
                                4.2 หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือ มีดังนี้
                                          (1) สัญญาที่ได้ลงนามก่อนวันที่ 26 มีนาคม 2563 ซึ่งยังมีนิติสัมพันธ์อยู่ และสัญญาดังกล่าวมีค่าปรับเกิดขึ้นแต่ไม่ใช่ค่าปรับที่เข้าเงื่อนไขการงดหรือลดค่าปรับตามมาตรา 102 แห่งพระราชบัญญัติฯ หากจำนวนค่าปรับที่เกิดขึ้นมีมูลค่าเกินกว่าร้อยละ 25 ของวงเงินค่าพัสดุหรือค่าจ้างก่อนวันที่ 26 มีนาคม 2563 กรณีดังกล่าวไม่เข้าเกณฑ์ที่จะได้รับความช่วยเหลือ
                                         สัญญาที่ได้ลงนามก่อนวันที่ 26 มีนาคม 2563 ซึ่งยังมีนิติสัมพันธ์อยู่ และยังมิได้ส่งมอบงานงวดสุดท้าย หรือได้มีการส่งมอบงานงวดสุดท้ายก่อนวันที่มีประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงทั่วราชอาณาจักรอันเนื่องมาจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แต่ยังมิได้มีการตรวจรับพัสดุ และไม่เข้าตามเงื่อนไขตามวรรคหนึ่งให้คิดค่าปรับในอัตราร้อยละ 0
                                          (2) สัญญาที่ได้ลงนามหลังวันที่ 26 มีนาคม 2563 ซึ่งยังมีนิติสัมพันธ์อยู่และยังมิได้ส่งมอบงานงวดสุดท้าย หรือได้มีการส่งมอบงานงวดสุดท้ายก่อนวันที่มีประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงทั่วราชอาณาจักรอันเนื่องมาจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แต่ยังมิได้มีการตรวจรับพัสดุ ให้คิดค่าปรับในอัตราร้อยละ 0
                                          (3) สัญญาที่ได้ลงนามหลังวันที่มีประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงทั่วราชอาณาจักรอันเนื่องมาจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แล้ว จะไม่ได้รับความช่วยเหลือตามมาตรการนี้
                                         ทั้งนี้ การคิดค่าปรับในอัตราร้อยละ 0 ให้คิดตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 จนถึงก่อนวันที่มีประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงทั่วราชอาณาจักรอันเนื่องมาจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และกรณีที่หน่วยงานของรัฐได้พิจารณางดหรือลดค่าปรับให้แก่คู่สัญญา หรือการขยายระยะเวลาทำการตามสัญญาหรือข้อตกลงแล้ว ก็ให้นำจำนวนวันดังกล่าวมาหักออกจากจำนวนวันตามมาตรการนี้ และจำนวนวันที่เหลือ ให้คิดค่าปรับในอัตราร้อยละ 0
                                         สำหรับค่าปรับส่วนที่เกินจำนวนวันตามมาตรการนี้ ให้คิดในอัตราที่กำหนดในสัญญาหรือข้อตกลงตามปกติ โดยให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 183 ต่อไป
                                4.3 วิธีการ
                                          กรมบัญชีกลางจะเสนอคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ (คณะกรรมการวินิจฉัย) โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 29 วรรคหนึ่ง (4) เพื่ออนุมัติยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 162 ในเรื่องอัตราค่าปรับตามสัญญาหรือข้อตกลง ซึ่งกำหนดว่า ให้สัญญาหรือข้อตกลงกำหนดค่าปรับเป็นรายวันในอัตราตายตัวระหว่างร้อยละ 0.01 ? 0.20 ของราคาพัสดุที่ยังไม่ได้รับมอบ หรือกรณีการจ้างซึ่งต้องการผลสำเร็จของงานทั้งหมดพร้อมกันให้กำหนดค่าปรับเป็นรายวันเป็นจำนวนเงินตายตัวในอัตราร้อยละ 0.01 ? 0.10 ของราคางานจ้างนั้น แต่จะต้องไม่ต่ำกว่าวันละ 100 บาท โดยยกเว้นกรณีสัญญายังมีนิติสัมพันธ์อยู่ หากยังมิได้ส่งมอบงานงวดสุดท้าย หรือได้มีการส่งมอบงานงวดสุดท้าย แต่ยังมิได้มีการตรวจรับพัสดุ ให้คิดค่าปรับในอัตราร้อยละ 0 และรายงานคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐเพื่อทราบต่อไป
                                4.4 ข้อดี ข้อเสีย
                                          ข้อดี : แนวทางนี้รัฐบาลไม่มีภาระทางการคลัง และสามารถดำเนินการได้เลย เนื่องจากอยู่ในอำนาจของคณะกรรมการวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างฯ มาตรา 29 วรรคหนึ่ง (4)
                                           ข้อเสีย : ไม่มี
                     กระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว เห็นว่า แนวทางตามข้อ 4. การกำหนดอัตราค่าปรับเป็นอัตราร้อยละ 0 เป็นแนวทางที่เหมาะสมที่สุด เนื่องจากกรมบัญชีกลางสามารถเสนอเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยพิจารณาอนุมัติยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 162 และรายงานคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐเพื่อทราบต่อไป ดำเนินการได้อย่างไม่ล่าช้า และไม่มีภาระต่อเงินงบประมาณแต่อย่างใด

ต่างประเทศ

19. เรื่อง รายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทย (Universal Periodic Review: URP) รอบที่ 3
                    คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบเกี่ยวกับความคืบหน้าของกระบวนการจัดทำและนำเสนอรายงานประเทศตามกลไก Universal Periodic Review (URP) (รายงาน URP) ของประเทศไทยและสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดผลักดันประเด็นสำคัญที่ยังคั่งค้างให้แล้วเสร็จก่อนการนำเสนอรายงานดังกล่าวในช่วงเดือนสิงหาคม - ตุลาคม 2564 และให้ความเห็นชอบต่อร่างรายงาน URP รอบที่ 3 และอนุมัติให้กระทรวงการต่างประเทศสามารถแก้ไขรายงาน URP รอบที่ 3 ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญ ก่อนจัดส่งรายงานดังกล่าวให้กับคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ) ภายในวันที่ 9 สิงหาคม 2564 ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ ได้กำหนดให้ประเทศไทยจัดส่งรายงาน URP รอบที่ 3 ภายในวันที่ 9 สิงหาคม 2564 และเข้าร่วมการนำเสนอรายงานดังกล่าวในช่วงการประชุมคณะทำงาน URP สมัยที่ 39 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10 ? 12 พฤศจิกายน 2564 ณ สมาพันธรัฐสวิส โดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ ได้กำหนดให้จัดทำรายงานเป็นภาษาอังกฤษให้มีจำนวนคำไม่เกิน 10,700 คำ และมีเนื้อหาสาระครอบคลุมสิทธิมนุษยชนทุกประเภท ทั้งนี้ ต้องมีการกล่าวถึงพัฒนาการ ความสำเร็จ ตลอดจนความท้าทายต่าง ๆ รวมทั้งวิกฤติโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และความพยายามของรัฐบาลในการแก้ไขพร้อมกับทิศทางในอนาคต รวมทั้งกำหนดให้สำนักงานสหประชาชาติในพื้นที่และภาคประชาสังคม (ซึ่งรวมถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ) ส่งรายงานคู่ขนานเพื่อประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทยจากมุมมองของหน่วยงานดังกล่าวด้วย ดังนั้น ในการนำเสนอรายงาน URP รอบที่ 3 คณะทำงานจะพิจารณารายงานของทั้งภาครัฐ หน่วยงานภายใต้สหประชาชาติ และภาคประชาสังคมควบคู่กัน เพื่อให้รายงาน URP ของภาครัฐมีสาระที่ไม่ตรงกันข้ามหรือแตกต่างกับข้อมูลในรายงานที่จัดทำโดยภาคส่วนอื่น ๆ จนเกินไป ซึ่งสามารถสรุปสาระสำคัญรายงานดังกล่าวในแต่ละหัวข้อได้ ดังนี้
หัวข้อ          รายละเอียด
ประเด็นสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยให้ความสำคัญ: ความสำเร็จและความท้าทายบนเส้นทางของการเสริมพลังและการพัฒนาที่ยั่งยืน          - ความยั่งยืน คือ หัวใจของทุกสิ่งที่ประเทศไทยพยายามทำ โดยเชื่อมโยงกับประชาธิปไตย สันติภาพ และสิทธิมนุษยชน เพื่อสื่อถึงมุมมองในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่ครอบคลุมทุกด้าน บทบาทของภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน อาสาสมัคร ผู้หญิงและเด็ก และภาคส่วนอื่น ๆ ซึ่งความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทุกคนได้รับการส่งเริมและมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายในสังคมและการปกครอง โดยหลักการนี้ได้เคยสะท้อนไว้ในรายงานผลการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับชาติโดยสมัครใจ (Voluntary National Review: VNR) ฉบับแรกของประเทศไทย ณ เวทีหารือทางการเมืองระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (High-Level Political Forum on Sustainable Development: HLPF) ในปี พ.ศ. 2560 และ พ.ศ. 2564 นอกจากนี้ จากปัญหาการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ตระหนักว่า ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการฟื้นตัวของสังคมและเศรษฐกิจสะท้อนอยู่ในทุกมิติ รวมทั้งสิทธิมนุษยชนด้วย
- หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นพื้นฐานของแนวทางการดำเนินการของประเทศไทย โดยเน้นการเสริมสร้างความยืดหยุ่นและการส่งเสริมความยั่งยืนในการตอบสนองต่อวิกฤติในระดับบุคคล ชุมชน และประเทศ ซึ่งประเทศไทยได้แบ่งปันประสบการณ์ในการปรับใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับประเทศอื่นด้วย
กลไกด้านสิทธิมนุษยชน          คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็นองค์กรอิสระที่ดำเนินงานตาม รธน. และพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 รวมทั้งสอดคล้องกับหลักการปารีส ซึ่ง กสม. มีอำนาจหน้าที่ เช่น ตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในทุกกรณี จัดทำรายงานการประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศ แก้ไขและปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความสำคัญของสิทธิมนุษยชนให้แก่ทุกภาคส่วนของสังคม เป็นต้น นอกจากนี้ กสม. ได้เห็นชอบให้จัดตั้งสำนักงานภูมิภาคแห่งแรกในจังหวัดสงขลา ซึ่งมีภารกิจครอบคลุม 14 จังหวัด รวมทั้งจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย ซึ่งความคิดริเริ่มนี้สอดคล้องกับหลักการปารีสที่กำหนดให้สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพิ่มการเข้าถึงสำหรับสาธารณะ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล
การดำเนินการและทิศทางในอนาคต          - รัฐบาลได้สนับสนุนแพลตฟอร์มการสื่อสารที่เปีดกว้างและเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น เพื่อประโยชน์ของประชาชนและยังคงรักษาสิทธิของประชาชนในเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก ซึ่งส่งผลให้การส่งเสริมการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพและการสร้างความไว้วางใจระหว่างรัฐบาลกับสาธารณชนมีความสำคัญยิ่งขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลยังพยายามปรับปรุงกฎหมายและแนวปฏิบัติเพื่อให้แรงงานโยกย้ายถิ่นฐานมีสิทธิเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานเทียบเท่ากับคนไทย รวมทั้งสร้างความตระหนักรู้ให้กับหน่วยงานภาครัฐและประชาชนเกี่ยวกับความสำคัญของการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของสังคม
- ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านสิทธิมนุษยชนผ่านกลไกระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชนและกรอบอื่น ๆ ในอาเซียน รวมทั้งเครือข่ายความมั่นคงของมนุษย์และกลุ่มเพื่อนต่อความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งกลไกเหล่านี้รวมถึงกลไกที่จะสร้างขึ้นใหม่จะมีความสำคัญในการรักษาผลสำเร็จที่ได้มาแล้วและในการแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนอย่างมีประสิทธิภาพในขณะเดียวกันก็จะส่งเสริมความร่วมมือและเสริมสร้างศักยภาพเพื่อพัฒนาสิทธิมนุษยชนในประเทศ ภูมิภาค และทั่วโลก
- การระบาดใหญ่ของโรค COVD - 19 ได้เผยให้เห็นถึงความไม่แข็งแรง
และความเปราะบางของสังคมเมืองและผู้อาศัยต่อความยากจนและความเหลื่อมล้ำที่ขยายตัว ทั้งนี้ ประเทศไทยได้เข้าร่วมกลุ่มประเทศแกนนำที่สนับสนุน Sustainable Recovery Pledge: Building a better future for all, with human rights at its heart ซึ่งเน้นย้ำถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาที่ยั่งยืนในการดำเนินมาตรการฟื้นฟูจากโรค COVID - 19 โดยการดำเนินการดังกล่าวควรเป็นไปในลักษณะความร่วมมือกับทุกคนในสังคม ซึ่งเป็นแนวทางที่ประเทศไทยใช้มาโดยตลอด

                    ภายหลังจัดส่งรายงาน UPR รอบที่ 3 ต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ แล้ว  กระทรวงการต่างประเทศจะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมความพร้อมเรื่ององค์ประกอบคณะผู้แทนไทยที่จะเข้าร่วมการนำเสนอรายงานดังกล่าว ตลอดจนท่าทีของประเทศไทยในการตอบรับหรือไม่รับข้อเสนอแนะจากประเทศต่าง ๆ รวมทั้งเร่งผลักดันประเด็นที่ยังคั่งค้างให้แล้วเสร็จก่อนการนำเสนอรายงานดังกล่าวในช่วงเดือนกันยายน - ตุลาคม 2564 (เช่น การเข้าเป็นภาคี หรือการถอนข้อสงวนต่อสนธิสัญญาบางฉบับที่ประเทศไทยเป็นภาคี) ทั้งนี้ ในการนำเสนอรายงาน UPR ซึ่งเป็นการนำเสนอด้วยวาจา ดังนั้น หัวหน้าคณะผู้แทนและคณะผู้แทนไทยสามารถแจ้งความคืบหน้าเพิ่มเติมหรือพัฒนาการสำคัญอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นภายหลังการส่งรายงาน UPR ได้

20. เรื่อง รายงานความก้าวหน้าโครงการอาคารแสดงประเทศไทย งาน  World Expo 2020 Dubai และสถานะด้านงบประมาณ
                    คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานความก้าวหน้าโครงการอาคารแสดงประเทศไทยงาน World Expo 2020 Dubai และสถานะด้านงบประมาณ เพื่อให้การวางแผนการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ สามารถดำเนินการได้สอดคล้องตามกรอบเวลากำหนดจัดงานใหม่ [เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (17 กรกฎาคม 2561) ที่เห็นชอบแผนการดำเนินงานและกรอบงบประมาณเพื่อใช้จัดงานนิทรรศการ World Expo 2020 Dubai และมติคณะรัฐมนตรี (23 มิถุนายน 2563) ที่รับทราบการลงคะแนนรับรองข้อเสนอเลื่อนกำหนดจัดงาน  World Expo 2020 Dubai ซึ่งเดิมมีกำหนดจัดในวันที่ 20 ตุลาคม 2563-10 เมษายน 2564 เป็นวันที่ 1  ตุลาคม 2564-31มีนาคม 2565 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
ด้าน          ความก้าวหน้า
1. การก่อสร้างอาคารแสดงประเทศไทย          1.1 ปรับแผนงานให้สอดคล้องกับกำหนดจัดงานใหม่และแนวทางที่ประเทศเจ้าภาพกำหนด โดยขยายระยะเวลาโครงการจากเดิม 1,000 วัน เป็น 1,354 วัน รวมทั้งดำเนินการตามมาตรการด้านสาธารณสุขของประเทศเจ้าภาพในการควบคุมโรค
ทำให้เกิดค่าใช้จ่าย ณ เมืองดูไบที่นอกเหนือจากแผนงานเดิม ได้แก่
(1) ค่าสาธารณูปโภค (2) ค่าผู้คุมและแรงงานที่ได้รับใบอนุญาต (3) ค่าดูแลรักษาสภาพอาคาร (4) ค่าโกดังเก็บวัสดุและ (5) ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับมาตรการด้านสาธารณสุขและสวัสดิการแรงงาน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 11,111,850 บาท (ไม่รวมภาษีท้องถิ่นและภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งค่าใช้จ่ายดังกล่าวมีกำหนดชำระหลังสิ้นสุดโครงการและอยู่ในแผนงานที่จะยื่นขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2565
1.2 งานโครงสร้างหลักของอาคารแล้วเสร็จสมบูรณ์เมื่อเดือนมิถุนายน 2563 ปัจจุบันอยู่ในช่วงการติดตั้งงานระบบวิศวกรรมและงานสถาปัตยกรรมภายใน
โดยการก่อสร้างทั้งหมดมีกำหนดแล้วเสร็จเพื่อยื่นขอเอกสารรับรองอาคาร
ภายในเดือนสิงหาคม 2564 และพร้อมสำหรับเปิดทดลองใช้อาคาร
ในเดือนกันยายน 2564 ตามข้อกำหนดของประเทศเจ้าภาพ

2. การจัดทำนิทรรศการ          2.1 แบ่งการนำเสนอออกเป็น 4 ห้อง ได้แก่ (1) จัดแสดงเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์จำลองและราชรถจำลอง (2) ภาพยนต์มัลติมีเดียที่สะท้อนถึงประวัติศาสตร์ไทยและพระอัจฉริยภาพของพระมหากษัตริย์ไทย (3) ภาพยนต์มัลติมีเดียเกี่ยวกับความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และภาพในอนาคตของประเทศไทยและ (4) ภาพยนตร์สั้นบอกเล่าเสน่ห์ของประเทศไทยผ่านสายตาของชาวต่างชาติ
2.2 ปรับปรุงเนื้อหาภายในห้องนิทรรศการให้มีความทันสมัยและเพิ่มเติมเนื้อหาด้านการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของประเทศไทยเพื่อแสดงศักยภาพในด้านดังกล่าวสู่สายตานานาชาติ และเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานการควบคุมโรคอาคารแสดงประเทศไทยจึงจำเป็นต้องลดความจุของผู้เข้าชมอาคารต่อรอบจากเดิมประมาณ 120-150 คนต่อรอบ เป็นไม่เกิน 70 คนต่อรอบ ในทุก 4 นาที

3. การเข้าร่วมจัดกิจกรรมพิเศษและสถานภาพงบประมาณของหน่วยงาน          3.1 หน่วยงานพันธมิตรได้ยืนยันเข้าร่วมจัดกิจกรรมพิเศษตามกำหนดการใหม่
จำนวน 10 หน่วยงาน ได้แก่ (1) สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ(องค์การมหาชน) (2) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (3) กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) (4) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ (5) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.)(6) สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูดาบี และ สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองดูไบ กระทรวงการต่างประเทศ (7) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) (9) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กระทรวงพลังงาน และ (10) สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองดูไบ กระทรวงพาณิชย์
3.2 หน่วยงานพันธมิตร 3 หน่วยงานแจ้งว่าแผนงานในการขอรับการจัดสรร
งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นพ.ศ. 2565  ได้แก่ (1) กรมส่งเสริมการเกษตร กษ. กรอบวงเงิน 4,000,000 บาท(2) วธ. กรอบวงเงิน 4,000,000 บาท และ (3) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมอก. กรอบวงเงิน 4,500,000  บาท รวมกรอบวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น12,500,000 บาท

4. การประชาสัมพันธ์           4.1 เน้นการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ไปยังกลุ่มเป้าหมาย
ทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยมีประเด็นในการประชาสัมพันธ์ ได้แก่
ความก้าวหน้าในการก่อสร้างอาคาร ศักยภาพของประเทศไทย การเฉลิมฉลอง
ในโอกาสต่าง ๆ ของไทยและนานาชาติ ตลอดจนการมีส่วนร่วมในเครือข่าย
สื่อสังคมออนไลน์ของอาคารแสดงประเทศอื่น ๆ
4.2 ริเริ่มกรอบความร่วมมือเฉพาะกิจในระดับภูมิภาคเพื่อเพิ่มช่องทาง
ในการจัดกิจกรรมและการประชาสัมพันธ์ โดยจัดตั้ง ASEAN Coordination Groupเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนที่เข้าร่วมงาน
World Expo 2020 Dubai โดยที่ผ่านมาประธานของประเทศสมาชิก
(Commissioner General และ/หรือ ผู้แทน) ได้มีการจัดประชุมทางไกล
เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือในอนาคต โดยกรอบความร่วมมือดังกล่าว
จะขับเคลื่อนโดยการเป็นประธานร่วมกันระหว่างผู้แทนของประเทศเจ้าภาพ
และ Commissioner General ของประเทศประธานอาเซียนในปีนั้น


21. เรื่อง การประชุมรัฐมนตรีกลุ่มเคร์นส์อย่างไม่เป็นทางการ (Informal Gathering of Cairns Group Ministers)
                    คณะรัฐมนตรีรับทราบ (1) การเปลี่ยนแปลงชื่อการประชุมจากการประชุมรัฐมนตรีกลุ่มเคร์นส์ ครั้งที่ 42 เป็นการประชุมรัฐมนตรีกลุ่มเคร์นส์อย่างไม่เป็นทางการ (2) ผลการประชุมรัฐมนตรีกลุ่มเคร์นส์อย่างไม่เป็นทางการ และ (3) แถลงการณ์ของรัฐมนตรีกลุ่มเคร์นส์ วันที่ 23 มิถุนายน 2564 [คณะรัฐมนตรีมีมติ (22 มิถุนายน 2564) เห็นชอบในหลักการต่อร่างแถลงการณ์ของการประชุมรัฐมนตรีกลุ่มเคร์นส์ ครั้งที่ 42 และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเข้าร่วมรับรองร่างแถลงการณ์ดังกล่าว] โดยเป็นการประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกล ซึ่งมีผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ (นายสรรเสริญ สมะลาภา) เป็นหัวหน้าผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุม  สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
                    1. ผลการประชุมในภาพรวม
                    ที่ประชุมเห็นพ้องว่า การลดการอุดหนุนสินค้าเกษตรที่บิดเบือนการค้าควรเป็นผลลัพธ์ด้านการเจรจาสินค้าเกษตรที่ยอมรับได้ในการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก ครั้งที่ 12 โดยกรอบการเจรจาเรื่องการอุดหนุนภายในสินค้าเกษตรที่จัดทำโดยกลุ่มเคร์นส์สามารถนำไปเป็นพื้นฐานสำหรับการเจรจาเพื่อลดการอุดหนุนที่บิดเบือนการค้าสำหรับประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลกได้ รวมทั้งการให้ความสำคัญกับการปฏิรูปทุกสาขาของการเจรจาสินค้าเกษตรอย่างเท่าเทียม เช่น  การเปิดตลาดสินค้าเกษตร การยกเว้นการใช้มาตรการห้ามและจำกัดการส่งออกสำหรับอาหารที่ซื้อโดยโครงการอาหารโลก อีกทั้ง กลุ่มเคร์นส์ต้องขยายความร่วมมือและความสัมพันธ์กับสมาชิกนอกกลุ่มด้วย เช่น สหภาพยุโรปและกลุ่มแอฟริกา ทั้งนี้ ผู้อำนวยการองค์การการค้าโลกได้เน้นย้ำให้มีการปฏิรูปการเจรจาสินค้าเกษตรให้เป็นรูปธรรมหลังการเจรจามายาวนานกว่า 20 ปี และเห็นว่าความร่วมมือระหว่างกลุ่มเคร์นส์และกลุ่มแอฟริกาจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ช่วยให้สมาชิกองค์การการค้าโลกสามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้อย่างเป็นรูปธรรมและเป็นประโยชน์ต่อทุกประเทศสมาชิก โดยเฉพาะประเทศด้อยพัฒนาและประเทศกำลังพัฒนา
                    2. บทบาทและท่าทีของประเทศไทย (ไทย)
                    ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ (นายสรรเสริญฯ) ได้กล่าวถ้อยแถลงเพื่อแสดงเจตนารมณ์ของไทยในการผลักดันให้เกิดการปฏิรูปการค้าสินค้าเกษตรภายใต้องค์การการค้าโลก เช่น การสนับสนุนให้การค้าสินค้าเกษตรเป็นไปอย่างเสรีและเป็นธรรมการลดการบิดเบือนทางการค้า และการลดอุปสรรคทางการค้า โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และได้เสนอให้กลุ่มเคร์นส์สร้างพันธมิตร ?เพื่อนกลุ่มเคร์นส์? เพื่อผลักดันให้ข้อเสนอของกลุ่มได้รับการสนับสนุนมากยิ่งขึ้น
                    3. การรับรองแถลงการณ์ของรัฐมนตรีกลุ่มเคร์นส์
                    ที่ประชุมได้รับรองแถลงการณ์ของรัฐมนตรีกลุ่มเคร์นส์ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงชื่อเอกสารตามชื่อการประชุม แต่ยังคงมีสาระสำคัญตามหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (22 มิถุนายน 2564) เห็นชอบแล้ว โดยมีการเพิ่มเติมประเด็น ดังนี้
                              3.1 เน้นย้ำถึงการปฏิรูปการเจรจาสินค้าเกษตร ได้แก่ การอุดหนุนภายในการเปิดตลาด และการแข่งขันการส่งออก ให้มีความก้าวหน้าและเป็นไปอย่างสมดุล
                              3.2 เรียกร้องให้มีข้อตัดสินใจของรัฐมนตรีในการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก ครั้งที่ 12 เกี่ยวกับการปฏิรูปการอุดหนุนภายในสินค้าเกษตรที่บิดเบือนรวมทั้งผลักดันให้ข้อเสนอของกลุ่มเคร์นส์เรื่องกรอบการเจรจาการอุดหนุนภายในเป็นพื้นฐานให้สมาชิกนำไปหารือต่อไป
                              3.3 ยืนยันถึงความสำคัญในการส่งเสริมการดำเนินการตามพันธกรณีด้านความโปร่งใส โดยเฉพาะมาตรา 18 ของความตกลงว่าด้วยการเกษตรที่เกี่ยวข้องกับการแจ้งการอุดหนุนภายใน ที่กำหนดให้ประเทศสมาชิกแจ้งการใช้มาตรการการอุดหนุนในระยะเวลาที่เหมาะสมต่อสำนักเลขาธิการองค์การการค้าโลกเพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการเจรจาการปฏิรูปการค้าสินค้าเกษตร โดยให้สำนักเลขาธิการองค์การการค้าโลกปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันและพัฒนาเครื่องมือวิเคราะห์การอุดหนุนภายในของประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก
                    4. ผลกระทบ
                              4.1 การเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีกลุ่มเคร์นส์อย่างไม่เป็นทางการของไทยถือเป็นการส่งสัญญาณและประกาศเจตนารมณ์ในระดับนโยบายที่สำคัญในการผลักดันให้เกิดผลลัพธ์การเจรจาสินค้าเกษตรสำหรับการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก ครั้งที่ 12
                              4.2 แถลงการณ์ของการประชุมรัฐมนตรีกลุ่มเคร์นส์ เป็นการมุ่งเน้นการปฏิรูปการเจรจาสินค้าเกษตรให้มีความสมดุลและเป็นธรรม ซึ่งหากประเด็นเหล่านี้มีความคืบหน้าจะเป็นประโยชน์ต่อการขยายตลาดสินค้าเกษตรของไทยในฐานะประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญของโลก เนื่องจากที่ผ่านมามีหลายประเทศที่ใช้นโยบายอุดหนุนการเกษตรที่บิดเบือนการค้า ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกผันผวน และกระทบต่อไทยซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตร

22. เรื่อง บันทึกความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขแห่งราชอาณาจักรไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงอุตสาหกรรมแห่งราชอาณาจักรไทย และสำนักงานนโยบายด้านการดูแลสุขภาพ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแห่งญี่ปุ่น กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารแห่งญี่ปุ่น กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการแห่งญี่ปุ่น และกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมแห่งญี่ปุ่น สาขาการดูแลสุขภาพ
                    คณะรัฐมนตรีเห็นชอบต่อบันทึกความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขแห่งราชอาณาจักรไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงอุตสาหกรรมแห่งราชอาณาจักรไทย และสำนักงานนโยบายด้านการดูแลสุขภาพ สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแห่งญี่ปุ่น กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารแห่งญี่ปุ่น กระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการแห่งญี่ปุ่น และกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมแห่งญี่ปุ่น สาขาการดูแลสุขภาพ และอนุมัติให้เอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย เป็นผู้ลงนามในบันทึกความร่วมมือฯ ทั้งนี้ หากมีการแก้ไขถ้อยคำหรือประเด็นที่มิใช่สาระสำคัญของบันทึกความร่วมมือดังกล่าว ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ใช้ดุลยพินิจในเรื่องนั้น ๆ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก ตามที่กระทรวงสาธารณสุข เสนอ
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    บันทึกความร่วมมือดังกล่าวมีสาระสำคัญในการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในด้านการดูแลสุขภาพ ได้แก่ การให้บริการด้านการแพทย์ การฟื้นฟูสมรรถภาพ การดูแลผู้สูงอายุ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุข วัคซีน และอุปกรณ์การแพทย์และผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ การประกันสุขภาพถ้วนหน้า และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้งจะเป็นการบูรณาการความร่วมมือในการดูแลสุขภาพระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองประเทศ

23. เรื่อง ร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 27 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย - มาเลเซีย - ไทย (IMT-GT)
                    คณะรัฐมนตรีเห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 27 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย - มาเลเซีย - ไทย (IMT-GT) (Joint Statement  the 27th Ministerial Meeting of Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle (IMT-GT))  และหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติสามารถดำเนินการได้โดยนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบในภายหลัง หากมีการปรับปรุงแก้ไขพร้อมด้วยเหตุผลประกอบ
                    สาระสำคัญร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมฯ
1.          ตระหนักถึงความท้าทายระดับโลกในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ
ไวรัสโคโรนา (โควิด-19) โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือระดับอนุภูมิภาคเพื่อรับมือผลกระทบ
ดังกล่าว
                    2. ยินดีต่อผลการดำเนินงานของคณะทำงานแต่ละสาขาในปี 2564 และความสำเร็จของการประชุมคณะทำงานด้านสิ่งแวดล้อมครั้งแรก โดยรับทราบการดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้ การลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) ระหว่างอุทยานธรณีโลกลังกาวี (มาเลเซีย) อุทยาธรณีโลกสตูล (ไทย) และอุทยานธรณีโลกทะเลสาบโตบา (อินโดนีเซีย) การดำเนินโครงการแพลตฟอร์มการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของ IMT-GT การจัดทำกรอบความร่วมมือต้านการศุลกากร การตรวจคนเข้าเมือง และการตรวจโรคพืชและสัตว์  (CIQ) และความคืบหน้าของการดำเนินโครงการความร่วมมือเมืองยางพาราชอง IMT-GT
                    3. ระบุถึงแนวทางของแต่ละสาขาความร่วมมือขับเคลื่อนการดำเนินงานของ IMT-GT ในระยะต่อไป โดยส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานรวมทั้งสนับสนุนการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลในทุกสาขาความร่วมมือ และอำนวยความสะดวกในการพัฒนาธุรกิจรูปแบบใหม่ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในโลกยุคใหม่ นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้คณะทำงานแสวงหาแนวทางความร่วมมือข้ามสาขาอย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นในอนาคต
                    4. รับทราบถึงการดำเนินงานระยะสุดท้ายของเครือข่ายมหาวิทยาลัย IMT-GT (UNINET) ตามแผนงานยุทธศาสตร์ระยะ 5 ปี พ.ศ. 2560- 2565 โดยมอบหมายให้ UNINET ร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทบทวนเอกสารดังกล่าวและยกร่างแผนงานยุทธศาสตร์ระยะ 5 ปี พ.ศ. 2565-2569เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงานของ UNINET ในอนาคต นอกจากนี้ ยังยินดีต่อข้อริเริ่มในการขยายฐานสมาชิกไปสู่มหาวิทยาลัยเอกชน ซึ่งทำให้ UNINET สามารถดำเนินงานในฐานะองค์กรทางวิชาการสำหรับ IMT-GTเพื่อสนับสนุนคณะทำงานทุกสาขาในอนาคต
                    5. ตระหนักถึงความสำคัญของบทบาทของสภาธุรกิจในฐานะกลไกขับเคลื่อนสำคัญของ IMT-GT โดยรับทราบข้อริเริ่มจากสภาธุรกิจและสนับสนุนให้สภาธุรกิจมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันกับคณะทำงานทุกสาขาเพื่อเร่งบรรลุเป้าหมายการฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด-19 นอกจากนี้ ยังคงสนับสนุนสภาธุรกิจในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เป็นกลไกระดับชาติ ซึ่งจะทำให้สภาธุรกิจมีบทบาทนำในการขับเคลื่อน INT-GT ให้ก้าวหน้าในอนาคต
                    6. ยืนยันที่จะพัฒนาความร่วมมือกับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาต่อไป รวมทั้งยินดีสร้างความร่วมมือกับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาใหม่ ๆ เพื่อขยายขอบเขตสาขาความร่วมมือกับ IMT-GT ประโยชน์ของประเทศไทย ในการเข้าร่วมการประชุมฯ มีดังนี้
                    1. ส่งเสริมบทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศโดยใช้ประโยชน์จากการพัฒนา
ความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคภายใต้แผนงาน IMT-GT ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือหนึ่งในการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาที่สอดประสานกันระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้านทั้งในระดับส่วนราชการส่วนกลางและจังหวัดในทุกสาขาความร่วมมือ รวมทั้งสาขาความร่วมมือใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพ
                    2. สร้างความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการรับมือและแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด-19 โดยมีโครงการสำคัญที่จะดำเนินการต่อไป อาทิ การจัดทำแนวทางปฏิบัติร่วมกันสำหรับธุรกิจการท่องเที่ยวเพื่อส่งเสริมให้ IMT-GT เป็นอนุภูมิภาคการท่องเที่ยว
ที่ปลอดภัย ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลโดยเร่งรัดความร่วมมือด้านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์พัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบกรวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) ในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล  และพัฒนาศักยภาพผู้ฝึกอบรมด้านการตลาดดิจิทัล
                    ทั้งนี้ การประชุมรัฐมนตรี ครั้งที่ 27  แผนงาน IMT-GT  จะเห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์ร่วม ฯ ก่อนการประชุม ฯ ผ่านระบบการประชุมทางไกล ในวันที่ 6 สิงหาคม นี้

24. เรื่อง ร่างถ้อยแถลงร่วมกลุ่มมิตรประเทศลุ่มน้ำโขง
                      คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงร่วมกลุ่มมิตรประเทศลุ่มน้ำโขง (Joint Statement  of the Friends of the Mekong Consultative Draft : ? Recovery and Resilience?) หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างเอกสารดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้ได้รับมอบหมายร่วมให้การรับรองโดยไม่มีการลงนามร่างถ้อยแถลงร่วมฯ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
                      สาระสำคัญของร่างถ้อยแถลงร่วมฯ ได้แก่
                      1. การย้ำความสำคัญกับหลักการของความร่วมมือ อาทิ ความเปิดกว้าง ธรรมาภิบาล ความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน พหุภาคีนิยม ความเท่าเทียม ความเคารพ ความไว้เนื้อเชื่อใจ และผลประโยชน์ร่วมกัน
                      2. การส่งเสริมระหว่างกันของกรอบความร่วมมือในอนุภูมิภาคฯ เช่น MUSP/FOM ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady-Cho Phraya ? Mekong Economic Cooperation Strategy - ACMECS) คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) และอาเซียน
                      3. ยุทธศาสตร์การฟื้นฟูหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเน้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม ความมั่นคงทางอาหาร การพัฒนาดิจิทัล และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
                      4. ประเด็นและกิจกรรมที่สมาชิก FOM ให้ความสำคัญ ซึ่งรวมถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนและการรับมือกับความท้าทายข้ามพรมแดน
                      5. การสนับสนุนบทบาทของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงในการพัฒนาลุ่มน้ำโขงและความร่วมมือข้ามพรมแดน
                      ทั้งนี้ การประชุมรัฐมนตรีกลุ่มมิตรประเทศลุ่มน้ำโขงจะรับรองโดยไม่มีการลงนามร่างถ้อยแถลงร่วมฯ ในวันที่ 5 สิงหาคม 2564

แต่งตั้ง

25. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงการคลัง)
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้ง นางสาวชุติมา                ศรีปราชญ์ รองอธิบดีกรมธนารักษ์ ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านการบริหารเหรียญกษาปณ์และทรัพย์สินมีค่า (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2564 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

26. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักนายกรัฐมนตรี)
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงบประมาณเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 3 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้
                     1. นางสาวกนกรัตน์ ขุนทอง ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณเชี่ยวชาญ) สำนักงบประมาณ ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณทรงคุณวุฒิ) สำนักงบประมาณ ตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564
                     2. นางดรงรัตน์ กล้าหาญ ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณเชี่ยวชาญ) สำนักงบประมาณ ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณทรงคุณวุฒิ) สำนักงบประมาณ ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2564
                     3. นางสาวรัชนี เครือรัตน์ ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณเชี่ยวชาญ) สำนักงบประมาณ ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณทรงคุณวุฒิ) สำนักงบประมาณ ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2564
                     ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

27. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักนายกรัฐมนตรี)
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นายมงคลชัย               สมอุดร ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่ง รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

28. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง กระทรวงมหาดไทย
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง กระทรวงมหาดไทย จำนวน 28 ราย ดังนี้
                    1. ให้นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ พ้นจากตำแหน่งอธิบดี (นักบริหาร ระดับสูง) กรมการพัฒนาชุมชน และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวง (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง
                     2. ให้นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดปทุมธานี และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง
                     3. ให้นายไตรภพ วงศ์ไตรรัตน์ พ้นจากตำแหน่งที่ปรึกษาด้านกฎหมาย (นิติกร ระดับทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง
                     4. ให้นายสมคิด จันทมฤก พ้นจากตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหาร ระดับสูง) กรมการพัฒนาชุมชน
                    5. ให้นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดกระบี่
                     6. ให้นายรังสรรค์ ตันเจริญ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดพิจิตร และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดชัยนาท
                     7. ให้นายไกรสร กองฉลาด พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดนครพนม และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดชัยภูมิ
                     8. ให้นายภาสกร บุญญลักษม์ พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดเชียงราย
                     9. ให้นายประจญ ปรัชญ์สกุล พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดเชียงราย และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดเชียงใหม่
                      10. ให้นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดสิงห์บุรี และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดตราด
                     11. ให้นายชาธิป รุจนเสรี พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดนครพนม
                    12. ให้นายวิเชียร จันทรโณทัย พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดชัยภูมิ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดนครราชสีมา
                     13. ให้นายชยันต์ ศิริมาศ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดร้อยเอ็ด และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดนครสวรรค์
                     14. ให้นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดลำปาง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดปทุมธานี
                     15. ให้นายเสถียร เจริญเหรียญ พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
                     16. ให้นายนิพันธ์ บุญหลวง พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดน่าน และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดปัตตานี
                     17. ให้นายวีระชัย นาคมาศ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดมุกดาหาร และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
                     18. ให้นายไพบูลย์ ณะบุตรจอม พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดพิจิตร
                    19. ให้นายเฉลิมพล มั่งคั่ง พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดมุกดาหาร
                    20. ให้นายภิรมย์ นิลทยา พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดยะลา
                    21. ให้นายภูสิต สมจิตต์ พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดร้อยเอ็ด
                    22. ให้นายสิทธิชัย จินดาหลวง พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดแม่ฮ่องสอน และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดลำปาง
                     23. ให้นางจุรีรัตน์ เทพอาสน์ พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดสกลนคร
                    24. ให้นายเจษฎา จิตรัตน์ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดนราธิวาส และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดสงขลา
                     25. ให้นายปริญญา โพธิสัตย์ พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดสระแก้ว
                    26. ให้นายชัยชาญ สิทธิวิรัชธรรม พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดสิงห์บุรี
                    27. ให้นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดสกลนคร และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดหนองคาย
                    28. ให้นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดตาก และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดอุบลราชธานี
                     ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

29. เรื่อง การต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (ครั้งที่ 1)
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเสนอการต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของ นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะดำรงตำแหน่งดังกล่าวครบ 4 ปี ในวันที่ 30 กันยายน 2564 ต่อไปอีก              1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2565

30. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
                     คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นายสุนทร ชัยยินดีภูมิ เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง [รองนายกรัฐมนตรี (นายดอน ปรมัตถ์วินัย)] ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป

31. เรื่อง แต่งตั้งกรรมการอื่นในคณะกรรมการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอแต่งตั้งกรรมการอื่นในคณะกรรมการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร จำนวน 1 ราย คือ นายจุลพันธ์ ทับทิม (ผู้แทนสถาบันเกษตรกร) ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป

32. เรื่อง ขอความเห็นชอบแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญานำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา
                     คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญาชุดใหม่ ดังต่อไปนี้
                     1. พลตำรวจตรี นายแพทย์ สุพล จงพาณิชย์กุลธร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์
                     2. นางบุษบา ศักรางกูร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านสังคมสงเคราะห์
                    3. นางจันทร์ชม จินตยานนท์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน
                     4. นายชนะพล มหาวงษ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
                    5. นายโฆสิต สุวินิจจิต กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
                     ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป

33. เรื่อง การขอความเห็นชอบการต่อเวลาการดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง และผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการขอต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง จำนวน 5 ราย ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ ดังนี้
                     1. นายภัคธรณ์ เทียนไชย ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ต่อไปอีก เป็นเวลา             1 ปี (ครั้งที่ 2) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2565
                     2. นายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี  ต่อไปอีกเป็นเวลา 1 ปี (ครั้งที่ 1) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2565
                      3. นายสมศักดิ์ จังตระกุล ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ต่อไปอีกเป็นเวลา 1 ปี (ครั้งที่ 1) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2565
                      4. นายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ต่อไปอีกเป็นเวลา 1 ปี (ครั้งที่ 1) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2565
                       5. นายวิชวุทย์ จินโต ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ต่อไปอีกเป็นเวลา     1 ปี (ครั้งที่ 1) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2565



............................................


http://www.thaigov.go.th
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

                    วันนี้ (3 สิงหาคม 2564)  เวลา 09.00 น. พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี                    เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีผ่านระบบ Video Conference ณ ห้อง PMOC ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า                              ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้


กฎหมาย

                    1.           เรื่อง           ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พ.ศ. ?.
                    2.           เรื่อง           ขอถอนร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งศูนย์รับคำขออนุญาต พ.ศ. ?.
                    3.           เรื่อง           ร่างกฎกระทรวงยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่อง                                                  เสียง วีดิทัศน์ และเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ที่คล้ายกัน : คุณลักษณะที่ต้องการ                                                  ด้านความปลอดภัยต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. 2564 พ.ศ. ....
                    4.           เรื่อง           ร่างประกาศกฎกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์การ                                                  เก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ พ.ศ. ....
                    5.           เรื่อง           ร่างพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์                                        ที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. ....

เศรษฐกิจ สังคม

                    6.          เรื่อง           ขอความเห็นชอบปรับลดหน่วยโครงการบ้านเอื้ออาทรจังหวัดสมุทรปราการ
                                         (เทพารักษ์ 4) และเพิ่มกรอบงบลงทุน ?โครงการบ้านเคหะสุขเกษม?
                    7.           เรื่อง           โครงการทุนอุดหนุนนักเรียนเรียนดีมีความสามารถในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
                    8.           เรื่อง           ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง                                         รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินงานโครงการอบรม                                        และส่งเสริมการพัฒนายกระดับทักษะอาชีพในภาคเกษตรกรรม
                    9.           เรื่อง           การขับเคลื่อนการให้บริการประชาชนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e - Service)
                                        ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
                    10.           เรื่อง           รายงานผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย                                         ประจำปี 2563
                    11.           เรื่อง           รายงานผลการดำเนินงานของระบบประกันภัยและพัฒนาการที่สำคัญ รอบ 12                                         เดือน ปี 2563
                    12.           เรื่อง           ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง บทบาทและทิศทางการ                                                  ประกันภัยและนัยเชิงนโยบายเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ของ                                                            คณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง วุฒิสภา
                    13.           เรื่อง           รายงานผลการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.                                         2563 ในประเด็นสนับสนุนการแก้ไขปัญหาสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ของรัฐบาล                                         ของ อ.ค.ต.ป. คณะต่าง ๆ และ ค.ต.ป. ประจำกระทรวง และรายงานผลการ                                                  ประเมินตนเองของคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการคณะ
                                        ต่าง ๆ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2
                    14.           เรื่อง           รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนพฤษภาคม 2564
                    15.           เรื่อง           ขยายขอบเขตมาตรการบรรเทาผลกระทบอันเนื่องมาจากข้อกำหนดออกตาม                                                  ความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน                                         พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 30)
                    16.           เรื่อง           มาตรการบรรเทาผลกระทบของประชาชนในการติดต่อราชการเพื่อขออนุญาต
                                        กับหน่วยงานของรัฐจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา                                         2019
                    17.           เรื่อง           ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้พระราช                                                  กำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2564
                    18.          เรื่อง          มาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ
                                        ไวรัสโคโรนา 2019

ต่างประเทศ

                    19.           เรื่อง           รายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทย (Universal Periodic Review:                                         URP) รอบที่ 3
                    20.           เรื่อง           รายงานความก้าวหน้าโครงการอาคารแสดงประเทศไทย งาน  World Expo                                                   2020 Dubai และสถานะด้านงบประมาณ
                    21.           เรื่อง           การประชุมรัฐมนตรีกลุ่มเคร์นส์อย่างไม่เป็นทางการ (Informal Gathering of                                                   Cairns Group Ministers)
                    22.           เรื่อง           บันทึกความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขแห่งราชอาณาจักรไทย กระทรวง                                        การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งราชอาณาจักรไทย และ                                                  กระทรวงอุตสาหกรรมแห่งราชอาณาจักรไทย และสำนักงานนโยบายด้านการดูแล                                        สุขภาพ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแห่งญี่ปุ่น กระทรวงกิจการภายในและการ                                        สื่อสารแห่งญี่ปุ่น กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการแห่งญี่ปุ่น และ                                                  กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมแห่งญี่ปุ่น สาขาการดูแลสุขภาพ
                    23.           เรื่อง           ร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 27 แผนงานการพัฒนา                                        เขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย - มาเลเซีย - ไทย (IMT-GT)
                    24.           เรื่อง           ร่างถ้อยแถลงร่วมกลุ่มมิตรประเทศลุ่มน้ำโขง

แต่งตั้ง

                    25.           เรื่อง           การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับ                                                  ทรงคุณวุฒิ (กระทรวงการคลัง)
                    26.           เรื่อง           การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชการระดับ                                                  ทรงคุณวุฒิ (สำนักนายกรัฐมนตรี)
                    27.           เรื่อง           การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง                                                   (สำนักนายกรัฐมนตรี)
                    28.           เรื่อง           การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง                                                             กระทรวงมหาดไทย
                    29.           เรื่อง           การต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
                                        (ครั้งที่ 1)
                    30.          เรื่อง           การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
                    31.           เรื่อง           แต่งตั้งกรรมการอื่นในคณะกรรมการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร
                    32.           เรื่อง           ขอความเห็นชอบแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทน                                                  ผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญานำเสนอ                                                            คณะรัฐมนตรีพิจารณา
                    33.           เรื่อง           การขอความเห็นชอบการต่อเวลาการดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี
                                        ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ผู้ว่าราชการจังหวัด                                                  พัทลุง และผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี


สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396





































กฎหมาย

1. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พ.ศ. ?.
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบ ดังนี้
                     1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พ.ศ. ?. ตามที่ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงบประมาณและสำนักงาน ก.พ.ร. ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
                     2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่ อว. เสนอ
                     3. ให้ อว. รับความเห็นของสำนักงบประมาณ สำนักงาน ก.พ. และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
                     ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติที่ อว. เสนอ เป็นการปรับปรุงพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พ.ศ. 2533 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยเปลี่ยนสถานะของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีที่เป็นส่วนราชการ เป็นมหาวิทยาลัยที่มีฐานะเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ และกฎหมายอื่น เพื่อปรับปรุงการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งสอดคล้องกับแนวนโยบายการพัฒนาประเทศของรัฐบาล ซึ่งสภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ด้วยแล้ว
                     สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
                      1. กำหนดให้มหาวิทยาลัยเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ และกฎหมายอื่น
                     2. กำหนดให้กิจการของมหาวิทยาลัยไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน และกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ แต่พนักงานมหาวิทยาลัยต้องได้รับการคุ้มครองและประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน
                     3. กำหนดให้มหาวิทยาลัยมีอำนาจหน้าที่กระทำการต่าง ๆ ตามวัตถุประสงค์ที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่น อำนาจในการซื้อ ขาย จ้าง รับจ้าง สร้าง จัดหา โอน รับโอน เช่า ให้เช่า เช่าซื้อ ให้เช่าซื้อ จำหน่าย และแลกเปลี่ยน หรือทำนิติกรรมใด ๆ เพื่อประโยชน์แก่กิจการของมหาวิทยาลัย ตลอดจนถือกรรมสิทธิ์ มีสิทธิครอบครอง มีสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา หรือมีทรัพยสิทธิต่าง ๆ ในทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย อำนาจในการกู้ยืมเงินและให้กู้ยืมเงินโดยมีหลักประกันด้วยบุคคลหรือทรัพย์สิน ถือหุ้น เข้าเป็นหุ้นส่วน และลงทุนหรือร่วมลงทุน และอำนาจในการออกพันธบัตรหรือตราสารอื่นใดเพื่อการลงทุนโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี และอำนาจในการกำหนดค่าตอบแทนหรือค่าตอบแทนพิเศษ รวมทั้งสวัสดิการ สิทธิประโยชน์ และประโยชน์อย่างอื่นให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย
                     4. กำหนดให้รายได้ของมหาวิทยาลัยไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง กฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ หรือกฎหมายอื่น
                     5. กำหนดให้ทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยไม่อยู่ในความรับผิดชอบแห่งการบังคับคดีทั้งปวง รวมทั้งการบังคับทางปกครอง บุคคลใดจะยกอายุความหรือระยะเวลาในการครอบครองขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับมหาวิทยาลัยในเรื่องทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยมิได้
                     6. กำหนดให้มีสภามหาวิทยาลัยเป็นองค์กรบริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัย กำหนดการดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยทั้งด้านการบริหารงานบุคคล การเงิน และวิชาการ ซึ่งมีองค์ประกอบเป็นบุคคลภายนอกมหาวิทยาลัยมากกว่าบุคลากรในมหาวิทยาลัย โดยนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปี และจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งหรือได้รับแต่งตั้งใหม่อีกได้
                    7. กำหนดให้มีอธิการบดีเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดและรับผิดชอบการบริหารงานของมหาวิทยาลัย และอาจมีรองอธิการบดี หรือผู้ช่วยอธิการบดี หรือจะมีทั้งรองอธิการบดีและผู้ช่วยอธิการบดีตามจำนวนที่สภามหาวิทยาลัยกำหนด เพื่อทำหน้าที่และรับผิดชอบตามที่อธิการบดีมอบหมายก็ได้ โดยอธิการบดีมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปี และจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งใหม่อีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระมิได้
                     8. กำหนดให้มหาวิทยาลัยต้องจัดให้มีการประกันคุณภาพการศึกษาและการประเมินส่วนงานเพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของมหาวิทยาลัยตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของมหาวิทยาลัย และต้องจัดให้มีการตรวจสอบระบบบัญชี และให้มีการเผยแพร่บัญชีที่ได้รับรองแล้วในรายงานประจำปี รวมทั้งกำหนดให้รัฐมนตรีมีหน้าที่กำกับดูแลกิจการของมหาวิทยาลัยให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย
                     9. กำหนดให้โอนบรรดาข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานมหาวิทยาลัย ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พ.ศ. 2533 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาเป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ลูกจ้าง และพนักงานมหาวิทยาลัยตามร่างพระราชบัญญัตินี้
                     10. กำหนดเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนสถานภาพข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานมหาวิทยาลัย เป็นพนักงานของมหาวิทยาลัยหรือลูกจ้างของมหาวิทยาลัย โดยกำหนดให้ต้องแสดงเจตนาเปลี่ยนสถานภาพมาเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยหรือลูกจ้างของมหาวิทยาลัยตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้  แต่หากข้าราชการหรือลูกจ้างของส่วนราชการ ซึ่งมิได้รับการบรรจุเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยหรือลูกจ้างของมหาวิทยาลัย ให้ยังคงสถานะความเป็นข้าราชการหรือลูกจ้างของส่วนราชการต่อไปตามกฎหมายหรือระเบียบว่าด้วยการนั้น
                    11. กำหนดให้พนักงานมหาวิทยาลัยและลูกจ้างของมหาวิทยาลัยต้องได้รับเงินเดือน ค่าจ้าง สวัสดิการ และประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่น ไม่น้อยกว่าที่เคยได้รับอยู่ก่อนเข้าเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยหรือลูกจ้างของมหาวิทยาลัย

2. เรื่อง ขอถอนร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งศูนย์รับคำขออนุญาต พ.ศ. ?.
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้สำนักงาน ก.พ.ร. ถอนร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งศูนย์รับคำขออนุญาต พ.ศ. ?. ที่อยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ และแจ้งให้สำนักงานคณะกรรมการฤษฎีกา (สคก.) ทราบต่อไป
                     ทั้งนี้ สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอว่า คณะกรรมการพัฒนากฎหมาย สคก. ได้พิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งศูนย์รับคำขออนุญาต พ.ศ. ?. ที่คณะรัฐมนตรีมีมติ (14 สิงหาคม 2561) อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาฯ แล้วเห็นว่า โดยที่สำนักงาน ก.พ.ร. อยู่ระหว่างการปรับปรุงพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 และ สคก. ได้ขอให้สำนักงาน ก.พ.ร. ทบทวนความจำเป็นในการศึกษาแนวทางการจัดตั้งศูนย์รับคำขออนุญาต เนื่องจากเห็นว่าสถานการณ์ปัจจุบันการบริการเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนได้ปรับเปลี่ยนไปสู่การให้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการจัดตั้งศูนย์รับคำขออนุญาตว่าจะดำเนินการในรูปแบบแพลตฟอร์มออนไลน์หรือรูปแบบใด
                     สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ทบทวนความจำเป็นในการศึกษาแนวทางการจัดตั้งศูนย์รับคำขออนุญาตตามความเห็นของคณะกรรมการพัฒนากฎหมายแล้วเห็นว่า ในปัจจุบันการบริการเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนได้ปรับเปลี่ยนไปสู่การให้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งประชาชนสามารถเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา รวมทั้งหน่วยงานของรัฐสามารถเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันเพื่อใช้ข้อมูลประกอบการพิจารณาอนุมัติ อนุญาต และสามารถติดตามสถานะการดำเนินการได้ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้น รูปแบบการให้บริการของภาครัฐที่รองรับกับสถานการณ์ในปัจจุบันซึ่งรวมถึงการเตรียมความพร้อมไปสู่การบริการที่รองรับต่อภาวะวิกฤติ เช่น การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จึงอาจไม่จำเป็นต้องกำหนดให้มีการเดินทางไปติดต่อ ณ สถานที่ใดสถานที่หนึ่ง แต่ประชาชนสามารถรับบริการได้อย่างสะดวกผ่านช่องทางออนไลน์ ประกอบกับแนวทางการจัดตั้งศูนย์รับคำขออนุญาตตามร่างพระราชกฤษฎีกาในเรื่องนี้เป็นการจัดตั้งส่วนราชการใหม่ ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับบริบทการให้บริการของภาครัฐที่มุ้งเน้นการใช้ดิจิทัลเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน รวมทั้งไม่สอดคล้องกับทิศทางในการพัฒนาภาครัฐที่กำหนดให้ภาครัฐมีขนาดเล็กลง รวมทั้งปัจจุบันสำนักงาน ก.พ.ร. อยู่ระหว่างปรับปรุงพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 จึงเห็นสมควรให้มีการศึกษาเพื่อปรับปรุงพระราชบัญญัติดังกล่าวเสียก่อน แล้วจึงจะพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวต่อไปได้ และขอถอนร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวที่อยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของ สคก.

3. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องเสียง วีดิทัศน์ และเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ที่คล้ายกัน : คุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัยต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. 2564                พ.ศ. ....
                    คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องเสียง วีดิทัศน์ และเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ที่คล้ายกัน : คุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัย ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. 2564 พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกาตรวจพิจารณาโดยด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้
                    ทั้งนี้ อก. เสนอว่า
                    1. เนื่องจากกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องเสียง วีดิทัศน์ และเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ที่คล้ายกัน : คุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัยต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. 2564 กำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องเสียง วีดิทัศน์ และเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ที่คล้ายกัน ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน เลขที่ มอก. 1195-2561 ซึ่งเป็นการรับ IEC 60065 Edition 7.2 (2011-02) Audio,video and similar electronic apparatus - Safety requirements มาใช้โดยวิธีแปล (translation) ในระดับเหมือนกันทุกประการ (identical)  แต่ปัจจุบันผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมในกลุ่มเครื่องเสียงและวีดิทัศน์เริ่มมีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเข้ามาเป็นส่วนประกอบ ได้แก่ มาตรฐาน IEC 62368 ที่เป็นมาตรฐานด้านความปลอดภัยของเครื่องเสียง วีดิทัศน์ บริภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยพัฒนามาเพื่อรองรับผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นใหม่ ซึ่ง IEC 62368 นั้นมีข้อกำหนดครอบคลุมทั้งมาตรฐาน IEC 60065 ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องเสียง วีดิทัศน์ และมาตรฐาน และIEC 60950-1 ที่เกี่ยวข้องกับบริภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ
                    2. เลขานุการคณะกรรมการวิชาการ 639 ได้รับทราบข้อมูลว่า IEC/TC108 ซึ่งเป็นคณะกรรมการวิชาการระหว่างประเทศที่กำหนดมาตรฐาน IEC ได้พัฒนามาตรฐาน IEC 62368 มาใช้แทนมาตรฐาน IEC 60065 และมาตรฐาน IEC 60950-1 โดยจะไม่พัฒนา IEC 60065 และ IEC 60950-1 ต่อไปแล้ว เนื่องจากเทคโนโลยีในปัจจุบันผลิตภัณฑ์หนึ่งประเภทจะมีหน้าที่การทำงานทั้งสองกลุ่มอยู่ในผลิตภัณฑ์เดียวอยู่แล้ว
                    3. สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) พิจารณาแล้วเห็นว่ากฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องเสียง วีดิทัศน์ และเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ที่คล้ายกัน : คุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัย ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. 2564 ที่กำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องเสียง วีดิทัศน์ และเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ที่คล้ายกัน : คุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัย ต้องเป็นไปตาม มาตรฐานเลขที่ มอก.1195-2561 ซึ่งรับ IEC 60065 มาใช้โดยวิธีแปล (translation) ไม่มีความทันสมัย และไม่สอดคล้องกับเทคโนโลยีในปัจจุบันการที่ประเทศไทยจะบังคับมาตรฐานดังกล่าวย่อมไม่เกิดประโยชน์และต่างประเทศไม่ให้การยอมรับเนื่องจากมีขอบข่ายควบคุมอย่างกว้างขวาง ไม่ชัดเจนและไม่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ
                    4. คณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ในการประชุมครั้งที่ 700-5/2564 เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2564 เห็นชอบให้ยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องเสียง วีดิทัศน์ และเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ที่คล้ายกัน : คุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัย ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. 2564 และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของตัวแทนกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้มีประโยชน์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการออกกฎกระทรวงยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องเสียง วีดิทัศน์ และเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ที่คล้ายกัน : คุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัย ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. 2564 ต่อไป
                    5. อก. โดย สมอ. ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 ผ่านเว็บไซต์ของ สมอ. (www.tisi.go.th) พร้อมแจ้งไปยังกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้ทำ ผู้นำเข้า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมต่าง ๆ ตลอดจนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งครบกำหนดแสดงความคิดเห็นเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2564 ปรากฎว่าไม่มีผู้แสดงความคิดเห็น
                    สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
                    ยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องเสียง วีดิทัศน์ และเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ที่คล้ายกัน : คุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัย ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. 2564 โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

4. เรื่อง ร่างประกาศกฎกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์การเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ พ.ศ. ....
                    คณะรัฐมนตรีรับทราบร่างประกาศกฎกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์การเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ โดยให้รับข้อสังเกตของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีไปประกอบการพิจารณาด้วย และให้ดำเนินการต่อไปได้
                    ทั้งนี้ ดศ. เสนอว่า
                    1. ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 117/2564 ลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานกรรมการ และต่อมาได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ รวม 3 คณะ ได้แก่ 1) คณะอนุกรรมการปรับปรุงกฎหมายลำดับรองตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม 2) คณะอนุกรรมการพิจารณาแนวทางและหลักเกณฑ์การดูแลการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) และ 3) คณะอนุกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการใช้สื่อสังคมออนไลน์
                    2. คณะอนุกรรมการปรับปรุงกฎหมายลำดับรองตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้จัดให้มีการประชุมเพื่อพิจารณาปรับปรุงประกาศกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เรื่อง หลักเกณฑ์การเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ พ.ศ. 2550 ซึ่งได้ใช้บังคับเป็นเวลานานแล้ว และไม่สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีในปัจจุบัน ที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากและรวดเร็ว จึงได้จัดทำร่างประกาศกฎกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์การเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ พ.ศ. .... เพื่อให้มีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับหน้าที่และความรับผิดชอบในการเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการที่ชัดเจน สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีการให้บริการของผู้ให้บริการในปัจจุบัน รวมทั้งจะเป็นการแก้ไขข้อกังวลของผู้ให้บริการ และช่วยส่งเสริมการลงทุนเกี่ยวกับการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์อีกทางหนึ่งด้วย
                    3. ร่างประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับแก่ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และภาคเอกชนโดยทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการเป็นผู้ให้บริการแก่บุคคลอื่นในการเข้าสู่อินเทอร์เน็ต หรือให้สามารถติดต่อถึงกันโดยประการอื่นโดยผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์ หรือเป็นผู้ให้บริการเก็บรักษาข้อมูลคอมพิวเตอร์เพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น อันมีสภาพเป็นกฎที่มีผลให้เกิดภาระแก่ประชาชนและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการไม่ปฏิบัติตามจะมีผลให้ต้องได้รับโทษตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
                    สาระสำคัญของร่างประกาศ
                    1. กำหนดขอบเขตการบังคับใช้ โดยกำหนดให้ในกรณีที่มีกฎหมายว่าด้วยการใดบัญญัติเกี่ยวกับการจัดเก็บข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ในลักษณะใด กิจการใดหรือหน่วยงานใดไว้โดยเฉพาะแล้ว ให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการนั้น เว้นแต่บทบัญญัติเกี่ยวกับการบันทึกเหตุการณ์เข้าใช้งานในระบบคอมพิวเตอร์ (Event Logging) การเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ (Protection of Log Information) รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของผู้ดูแลระบบคอมพิวเตอร์ และผู้บริหารจัดการระบบคอมพิวเตอร์ (Log Information Administration and Operation) และการตั้งค่าระบบเวลาให้เชื่อมต่อกับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และระบบคอมพิวเตอร์ ให้เป็นระบบสากล (Clock Synchronization) ให้บังคับตามประกาศนี้ไม่ว่าจะซ้ำกับบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการนั้นหรือไม่ก็ตาม
                    2. กำหนดนิยาม ?ผู้ให้บริการ? ?ระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล? ?การพิสูจน์และยืนยันตัวตน? ?ข้อมูลคอมพิวเตอร์? ?ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์? ?สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media)?
                    3. กำหนดประเภทของผู้ให้บริการที่มีหน้าที่ต้องเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ เช่น               ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมและการกระจายภาพและเสียง (Telecommunication and Broadcast Carrier)              ผู้ให้บริการการเข้าถึงระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (Assess Service Provider) ผู้ให้บริการเช่าระบบคอมพิวเตอร์ หรือให้เช่าบริการโปรแกรมประยุกต์ต่าง ๆ (Host Service Provider) ผู้ให้บริการร้านอินเทอร์เน็ต ผู้ให้บริการโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ แอพพลิเคชันที่ทำให้บุคคลสามารถติดต่อสื่อสารข้อมูลระหว่างกันได้ (Online Application Store) ผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ รวมถึงผู้ให้บริการในฐานะสื่อกลางในการรับส่งข้อมูลผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ผู้ให้บริการข้อมูลคอมพิวเตอร์ผ่านแอพลิเคชันต่าง ๆ (Content and Application Service Provider) เป็นต้น
                    4. กำหนดหน้าที่ของผู้ให้บริการในการจัดให้มีระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลสำหรับผู้ใช้บริการทุกคน รวมถึงมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลในระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตน ซึ่งครอบคลุมถึงมาตรการป้องกันด้านการบริหารจัดการ (administrative safeguard) มาตรการป้องกันด้านเทคนิค (technical safeguard) และมาตรการป้องกันทางกายภาพ (physical safeguard) ในเรื่องการเข้าถึงหรือควบคุมการใช้งานข้อมูลในระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตน (access control)
                    5.กำหนดวิธีการที่มั่นคงปลอดภัยในการเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ โดยให้มีระบบการเก็บรักษาความลับของข้อมูลที่จัดเก็บ และให้จัดเก็บในอุปกรณ์คอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่สามารถรักษาความครบถ้วนถูกต้องแท้จริงของข้อมูล รวมทั้งกำหนดระยะเวลาในการเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์
                    6. กำหนดหน้าที่ของผู้ให้บริการในกรณีที่ผู้ให้บริการมีข้อตกลง สัญญา หรือมีการว่าจ้างบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่ผู้ให้บริการให้ทำหน้าที่หรือเกี่ยวข้องกับการเก็บรักษาข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์แทนหน้าที่ของตนเองที่ต้องดำเนินการตามประกาศฉบับนี้ โดยให้ผู้บริการยังคงมีหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องเก็บรักษา ทำสำเนาข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ และครอบครองไว้ซึ่งข้อมูลสำเนาที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ซึ่งสามารถระบุตัวตนได้ และส่งมอบให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทันทีเมื่อพนักงงานเจ้าหน้าที่ร้องขอ

5. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง               พ.ศ. ....
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบดังนี้
                    1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงานอัยการสูงสุดไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
                    2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ต้องออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ
                    3. ให้กระทรวงยุติธรรมรับความเห็นของสำนักงานตำรวจแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
                    ทั้งนี้ ยธ. เสนอว่า
                    1. ที่ผ่านมาได้จัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจเฝ้าระวังความปลอดภัยของประชาชนเพื่อแก้ไขปัญหาการก่ออาชญากรรมสะเทือนขวัญโดยการเฝ้าระวังผู้พ้นโทษที่มีลักษณะพิเศษ จำนวน 7 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ที่ต้องโทษในฐานความผิด 1) ฆ่าหรือข่มขืนเด็ก 2) ฆ่าข่มขืน 3) ฆาตรกรต่อเนื่อง 4) ฆาตรกรโรคจิต 5) สังหารหมู่ 6) ชิงทรัพย์หรือปล้นทรัพย์โดยการฆ่า และ 7) นักค้ายาเสพติดรายสำคัญ พบว่า ผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์บางประเภทที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรง เช่น การฆาตกรรม การข่มขืนกระทำชำเรา การกระทำความผิดทางเพศกับเด็ก การทำร้ายจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย การทำร้ายร่างกายสาหัส รวมทั้งการนำตัวบุคคลไปเรียกค่าไถ่ เมื่อได้รับการจำคุกจนพ้นโทษแล้วจะได้รับการปล่อยตัวสู่สังคมโดยอิสระ แม้จะมีการติดตามจากเจ้าพนักงานตำรวจหรือฝ่ายปกครองบ้างแต่ก็ไม่มีสภาพบังคับเป็นกฎหมายและไม่มีประสิทธิผลในการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ ผู้กระทำความผิดเหล่านี้ส่วนหนึ่งยังมีความเสี่ยงที่จะไปกระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรงซ้ำในรูปแบบเดียวกันหรือรูปแบบใกล้เคียงกัน ซึ่งประเทศไทยยังขาดกฎหมายเพื่อป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดให้มีการเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษ หรือการคุมขังภายหลังพ้นโทษ
                    2. ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกฎหมายเฉพาะเพื่อรองรับมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาการก่ออาชญากรรมสะเทือนขวัญหรือการกระทำความผิดในคดีอุกฉกรรจ์และลดอัตราการกระทำผิดซ้ำของผู้พ้นโทษ เพื่อป้องกันสังคมและผู้เสียหายจากการกระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่อาจเกิดขึ้นอีก และเพื่อส่งเสริมการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง โดยคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องคำสั่งดังกล่าวอย่างเหมาะสม รวมทั้งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติงานด้านพัฒนาพฤตินิสัยและบริหารความยุติธรรม จึงเป็นความท้าทายต่อกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ทั้งในการดำเนินคดี การพิจารณาตัดสินคดี การบังคับโทษ การบำบัดฟื้นฟู และการพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง รวมถึงการติดตามสอดส่องและการสงเคราะห์ผู้พ้นโทษ ซึ่งเกี่ยวข้องกับส่วนราชการในกระบวนการยุติธรรมทุกภาคส่วน
                    3. ยธ. ได้ศึกษา ค้นคว้า ข้อมูลทางวิชาการและสถิติที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งศึกษาเปรียบเทียบกับกฎหมายของประเทศออสเตรเลียและประมวลกฎหมายอาญาของประเทศฝรั่งเศส จึงยกร่างพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. .... ขึ้น ซึ่งมีความสอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 28 มกราคม 2563 และ วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของ ยธ. ครั้งที่ 3/2564 วันพุธที่ 30 มิถุนายน 2564 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว
                    4. ยธ. ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง จากหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม องค์กรอิสระ นักวิชาการจากสถาบันการศึกษาภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป โดยมีการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนากฎหมายและการบังคับใช้ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2564 วันที่ 14 มิถุนายน 2564 ผ่านระบบ Cisco Webex Meetings และรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ www.oja.go.th ระหว่างวันที่ 11 - 26 มิถุนายน 2564 รวมทั้งสำรวจความคิดเห็นของประชาชน (Poll) จำนวน 2,000 คนทั่วประเทศ และจัดทำสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์ผลกระทบซึ่งอาจเกิดขึ้นจากกฎหมายดังกล่าว พร้อมเปิดเผยเอกสารดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์ www.oja.go.th และได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายตามแนวทางมติคณะรัฐมนตรี (19 พฤศจิกายน 2562) เรื่อง การดำเนินการเพื่อรองรับและขับเคลื่อนการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 และได้เผยแพร่ผลการรับฟังความคิดเห็นพร้อมการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายผ่านทางเว็บไซต์ดังกล่าวให้ประชาชนได้รับทราบแล้ว
                    สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
                    กำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง ได้แก่ ให้มีคณะกรรมการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ กำหนดมาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดเฉพาะราย การเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษ (supervision order) การคุมขังภายหลังพ้นโทษ (detention order) การคุมขังฉุกเฉิน (emergency detention order) และการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยที่มีประวัติเป็นผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง รายละเอียด ดังนี้
                    1. กำหนดบทนิยาม ?ความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง? เช่น ความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์จนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส เป็นต้น ?ผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง? หมายความว่า ผู้ซึ่งกระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรงที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปี ขึ้นไป ?การเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษ? ?การคุมขังภายหลังพ้นโทษ? ?มาตรการทางการแพทย์เพื่อป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ? เป็นต้น
                    2. กำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง ได้แก่
                              2.1 ให้มีคณะกรรมการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานกรรมการ และอธิบดีกรมคุมประพฤติ เป็นกรรมการและเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายและทิศทางในการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง กำหนดมาตรฐานการดำเนินงานต่าง ๆ ของพนักงานคุมประพฤติ เป็นต้น
                              2.2 กำหนดมาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดเฉพาะราย โดยในคดีที่จำเลยถูกฟ้องในข้อหาความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง ก่อนมีคำพิพากษาให้ศาลเรียกสำนวนการสอบสวนจากพนักงานอัยการและสั่งให้พนักงานคุมประพฤติดำเนินการสืบเสาะและพินิจเกี่ยวกับอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ ภาวะแห่งจิต นิสัย อาชีพ สิ่งแวดล้อม สภาพความผิด การรู้สึกความผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายที่เกิดขึ้น เหตุอื่นอันควรปรานี และเรื่องอื่นใดที่เกี่ยวกับจำเลย แล้วทำรายงานและความเห็นให้ศาลเพื่อประกอบการพิจารณาพิพากษา เพื่อประกอบดุลพินิจในการกำหนดโทษ และเพื่อการกำหนดมาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดเฉพาะราย ทั้งนี้ เมื่อศาลพิพากษาลงโทษจำเลยซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง ศาลมีอำนาจออกคำสั่งให้ใช้มาตรการฟื้นฟูผู้กระทำความผิดเฉพาะรายก็ได้
                              2.3 กำหนดการเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษ (supervision order) ก่อนที่กรมราชทัณฑ์จะปล่อยตัวนักโทษเด็ดขาดที่เป็นผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรงให้กรมราชทัณฑ์ส่งรายชื่อนักโทษเด็ดขาดที่เป็นผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรงให้กรมควบคุมประพฤติพิจารณาดำเนินมาตรการเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษ ได้แก่ ผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรงได้รับการปล่อยตัวเพราะเหตุต้องโทษจำคุกครบกำหนดตามคำพิพากษา อภัยโทษ พักการลงโทษตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์ ให้กรมคุมประพฤติจัดทำสำนวนการเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษสำหรับนักโทษเด็ดขาดแต่ละราย พร้อมทั้งเสนอความเห็นว่าควรจะเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษหรือไม่ แล้วเสนอพนักงานอัยการ ให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลสั่งให้มีการเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษ
                              2.4 กำหนดการคุมขังภายหลังพ้นโทษ (detention order) ให้ศาลมีอำนาจสั่งคุมขังผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรงได้ ไม่เกิน 3 ปี นับแต่วันที่ผู้นั้นพ้นโทษ เพื่อป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ
                              2.5 กำหนดการคุมขังฉุกเฉิน (emergency detention order) ในกรณีที่ปรากฏต่อพนักงานคุมประพฤติหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบแล้วแต่กรณี ว่าผู้ถูกเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษแสดงพฤติการณ์ใกล้ที่จะกระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง และไม่มีมาตรการอื่นใดที่ยับยั้งได้ ให้พนักงานคุมประพฤติหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบร้องขอต่อศาลเพื่อออกคำสั่งคุมขังฉุกเฉิน
                              2.6 การพิจารณาปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยที่มีประวัติเป็นผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง ให้ศาลพิจารณารายงานการสืบเสาะและพินิจรายงานผลการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดเฉพาะราย และสำนวนการเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษประกอบการพิจารณาด้วย

เศรษฐกิจ สังคม

6. เรื่อง ขอความเห็นชอบปรับลดหน่วยโครงการบ้านเอื้ออาทรจังหวัดสมุทรปราการ (เทพารักษ์ 4) และเพิ่มกรอบงบลงทุน ?โครงการบ้านเคหะสุขเกษม?
                    คณะรัฐมนตรีพิจาณาเรื่อง ขอความเห็นชอบปรับลดหน่วยโครงการบ้านเอื้ออาทรจังหวัดสมุทรปราการ (เทพารักษ์ 4) และเพิ่มกรอบงบลงทุน ?โครงการบ้านเคหะสุขเกษม? ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ แล้วมีมติเห็นชอบตามความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่เห็นควรให้การเคหะแห่งชาติ (กคช.) ปรับลดหน่วยโครงการบ้านเอื้ออาทรจังหวัดสมุทรปราการ (เทพารักษ์ 4) จำนวน 45 หน่วย เพื่อจัดทำโครงการอาคารต้นแบบของโครงการบ้านเคหะสุขเกษม จำนวน 1 อาคาร กรอบวงเงิน 11 ล้านบาท และให้ กคช. เร่งจัดทำรายงานการวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการบ้านเคหะสุขเกษม และรายงานผลการดำเนินโครงการต้นแบบโครงการบ้านเคหะสุขเกษม จำนวน 45 หน่วย รวมทั้งรายงานผลการดำเนินโครงการบ้านเอื้ออาทร ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2552 และในกรณีที่ กคช. พิจารณาแล้วเห็นว่า มีทรัพย์สินรอการพัฒนา (Sunk Cost) ของโครงการบ้านเอื้ออาทรจำนวนมากให้เสนอแผนการใช้ประโยชน์ทรัพย์สินดังกล่าวเพื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาในคราวเดียวกัน
                      โครงการบ้านเคหะสุขเกษมมีรายละเอียดโครงการสรุปได้ ดังนี้

หัวข้อ          รายละเอียด
วัตถุประสงค์          เพื่อพัฒนาเป็นอาคารเช่าสำหรับผู้สูงอายุและข้าราชการเกษียณ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ
กลุ่มเป้าหมาย          สำหรับข้าราชการ พนักงานของรัฐ ลูกจ้างเกษียณอายุที่ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง สามารถอยู่อาศัยในรูปแบบเช่าระยะยาว ที่อยู่อาศัยถูกสุขลักษณะ เป็นรูปแบบอารยสถาปัตยกรรม มีสภาวะแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดี ส่งเสริมสุขภาพ
สถานที่ตั้งโครงการ          ซอยที่ดินไทย ถนนเทพารักษ์ ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่รวมประมาณ 126.5 ไร่
เป้าหมาย และแผนการ
ดำเนินงาน          แบ่งออกเป็น 4 ระยะ รวม 4,089 หน่วย

รูปแบบโครงการ          อาคารสูง 5 ชั้น ทุกอาคารติดตั้งลิฟต์โดยสาร
พื้นที่พักอาศัย 2 ขนาด
    - ขนาดพื้นที่ 33 ตารางเมตรต่อหน่วยพักอาศัย
    - ขนาดพื้นที่ 27 ตารางเมตรต่อหน่วยพักอาศัย
พร้อมศูนย์ดูแลสุขภาพ พื้นที่ส่วนกลางและพื้นที่จัดกิจกรรมสำหรับผู้อาศัย เช่น คลินิกอายุรกรรม ศูนย์สุขภาพ พื้นที่สันทนาการและออกกำลังกาย เป็นต้น
อัตราค่าเช่า          ประมาณ 2,500 ? 3,000 บาทต่อหน่วย
ระยะเวลา          3 ปี (พ.ศ. 2564 ? 2566)

7. เรื่อง โครงการทุนอุดหนุนนักเรียนเรียนดีมีความสามารถในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการโครงการทุนอุดหนุนนักเรียนเรียนดีมีความสามารถในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 - 2572 ภายในกรอบวงเงิน 181,500,000 บาท โดยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาใช้จ่ายจากงบประมาณที่ได้เสนอตั้งรองรับไว้แล้วเป็นลำดับแรก หากไม่เพียงพอให้พิจารณาปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณตามความจำเป็นและเหมาะสม สำหรับค่าใช้จ่ายในปีต่อ ๆ ไป ให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณพร้อมรายละเอียดค่าใช้จ่ายให้ชัดเจน เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็น เหมาะสม และสอดคล้องกับข้อเท็จจริงตามขั้นตอนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    ศธ. รายงานว่า
                    1. ศธ. โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้เห็นถึงความสำคัญของนโยบายรัฐบาลด้านการศึกษาเพื่อความมั่นคงให้เยาวชนมีอาชีพ มีงานทำ และนโยบายของ ศธ. ในการเพิ่มจำนวนนักเรียนสายอาชีพให้มากขึ้น แต่เนื่องด้วยนักเรียน นักศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีฐานะยากจนไม่สามารถศึกษาต่อในระดับที่สูงได้ทำให้ขาดโอกาสทางการศึกษา ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว สอศ. จึงได้จัดสรรทุนการศึกษาให้กับนักเรียนที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 มัธยมศึกษาปีที่ 6 และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ในพื้นที่ดังกล่าว ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 จนถึงปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เพื่อสร้างแรงจูงใจในการเรียนสายอาชีพและช่วยเหลือเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีผู้ได้รับทุนโครงการฯ ในระดับ ปวช. ประมาณ 3,000 คน และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ประมาณ 900 คน ทั้งนี้ ศธ. แจ้งข้อมูลเพิ่มเติมว่าไม่ได้ดำเนินการรับสมัครนักเรียนในโครงการฯ ในปีการศึกษา พ.ศ. 2562 ? 2564 เนื่องจากอยู่ระหว่างขั้นตอนนำกรอบวงเงินงบประมาณโครงการฯ เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา (ที่ผ่านมาเป็นการใช้งบประมาณภายใต้แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โครงการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ งบเงินอุดหนุน เงินอุดหนุนทั่วไป รายการเงินอุดหนุนโครงการนักเรียนเรียนดีมีความสามารถในจังหวัดชายแดนภาคใต้ศึกษาต่อสายอาชีพ ของ สอศ. ในการดำเนินโครงการฯ)
                    2. เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปอย่างต่อเนื่อง คณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ [รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นประธาน] ในการประชุมครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2563 มีมติเห็นชอบในหลักการโครงการฯ ของ สอศ. และให้ สอศ. เสนอโครงการฯ ต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป โดยสาระสำคัญของโครงการฯ สรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ          รายละเอียดโครงการฯ
วัตถุประสงค์          (1) เพื่อสนับสนุนทุนการศึกษาให้กับนักเรียนเรียนดีมีความสามารถในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 มัธยมศึกษาปีที่ 6 และระดับ ปวช. ได้เข้าศึกษาต่อจนสำเร็จการศึกษาระดับ ปวช. และ ปวส. ในสถานศึกษาสังกัด สอศ. ในจังหวัดชายแดนภาคใต้
(2) เพื่อเพิ่มสัดส่วนปริมาณผู้เรียนอาชีวศึกษาในสถานศึกษาสังกัด สอศ.
(3) เพื่อสนับสนุนให้นักเรียน นักศึกษา เมื่อจบการศึกษาระดับ ปวช. และระดับ ปวส. แล้วมีงานทำ
ระยะเวลาดำเนินการ          ปีการศึกษา พ.ศ. 2563 - 2571 รวม 8 ปีการศึกษา (อยู่ในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 - 2572)
หน่วยงานที่รับผิดชอบ          สอศ. และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ศูนย์พัฒนาการศึกษาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้)
งบประมาณ
และเป้าหมาย
ในการจัดสรรทุน
          181.50 ล้านบาท เพื่อจัดสรรทุนการศึกษา จำนวน 2,400 ทุน ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 - 2572 ดังนี้
(1) ระดับ ปวช. จำนวน 1,800 ทุน ทุนละ 30,000 บาท/คน/ปี ระยะเวลาการศึกษา 3 ปี รวม 139.50 ล้นบาท
(2) ระดับ ปวส. จำนวน 600 ทุน ทุนละ 40,000 บาท/คน/ปี ระยะเวลาการศึกษา 2 ปี รวม 42 ล้านบาท
คุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์
ได้รับทุน เช่น          (1) ต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดสงขลา 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอจะนะ อำเภอนาทวี อำเภอเทพา อำเภอสะบ้าย้อย และอำเภอสะเดา ไม่น้อยกว่า 2 ปี นับถึงวันแรกของการรับสมัคร
(2) สำหรับทุน ปวช. ต้องสำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หรือเทียบเท่าในสถานศึกษาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และสำหรับทุน ปวส. ต้องสำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือระดับ ปวช. หรือเทียบเท่าในสถานศึกษาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
(3) มีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์ แข็งแรง ไม่มีโรคที่เป็นอุปสรรคต่อการศึกษาและการฝึกปฏิบัติ
(4) เป็นผู้ผ่านการสอบคัดเลือกและมีรายชื่อในประกาศผลการสอบคัดเลือก
(5) หากเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือเป็นบุตร หรือผู้ที่อยู่ในอุปการะของผู้ที่ได้รับผลกระทบจะพิจารณาเป็นกรณีพิเศษ

8. เรื่อง ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินงานโครงการอบรมและส่งเสริมการพัฒนายกระดับทักษะอาชีพในภาคเกษตรกรรม
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินงานโครงการอบรมและส่งเสริมการพัฒนายกระดับทักษะอาชีพในภาคเกษตรกรรม (โครงการอบรมฯ) ภายในกรอบวงเงิน 407,229,585 บาท ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    อว. รายงานว่า
                    1. การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ในประเทศไทยทำให้ประชาชนในภาคเกษตรกรรมเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างทั่วทุกภาคของประเทศ ประกอบกับที่ผ่านมาภาคการเกษตรถูกควบคุมการผลิต และระบบเกษตรและอาหารตลอดห่วงโซ่ ทำให้เกษตรกรได้รับผลกระทบซ้ำเติมจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ด้วยเหตุนี้เกษตรกรรมและอาหารในอนาคตควรจะเป็นการผลิตเพื่อเป้าหมาย ?ความมั่นคงทางอาหาร? ที่จะเป็นทางออกและทางรอดของเกษตรกรไทย โดยจะต้องมีการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนเพื่อรองรับการเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรและเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารต่อไป ดังนั้น เครือข่ายหมู่บ้านวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่นจึงได้ดำเนินการรวบรวมกลุ่มสมาชิกที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด 19 และต้องการกลับสู่ถิ่นฐานเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาการเกษตรของชุมชน พร้อมทั้งเป็นการทำงานเชิงบูรณาการอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานภาครัฐ โดยได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร. อีสาน) (อว.) นำเสนอโครงการอบรมฯ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานรากของชุมชน เป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหาร และทางเศรษฐกิจฐานรากประเทศไทย ซึ่งมียุทธศาสตร์คือ เสริมสร้างชุมชนนวัตกรรม (Communities of Innovation) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและรายได้ของชุมชนในพื้นที่โดยสร้างหรือการใช้นวัตกรรม/บริการวิชาการด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน
                    2. โครงการอบรมฯ มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ          รายละเอียด
วัตถุประสงค์          1. เพื่ออบรมและส่งเสริมการพัฒนายกระดับทักษะอาชีพในภาคเกษตรกรรม ด้านปศุสัตว์ ด้านประมง สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) พืชและเห็ดเศรษฐกิจ หมอดิน New Normal และพืชสมุนไพร
2. เพื่อรองรับแรงงานคืนถิ่น พลิกฟื้นทักษะอาชีพด้านเกษตรกรรมด้วยศาสตร์พระราชาเพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขเยียวยาแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ รวมถึงวิกฤตของโรคโควิด 19 เพื่อเป็นทางรอดและสร้างภูมิคุ้มกันให้กับชุมชน
3. เพื่อสร้างต้นแบบศูนย์เรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยี และส่งเสริมการพัฒนายกระดับทักษะอาชีพในภาคเกษตรกรรม
กลุ่มเป้าหมาย          เครือข่ายหมู่บ้านวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่น ภาคเหนือ 9 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ภาคกลาง 21 จังหวัด ภาคตะวันออก 7 จังหวัด ภาคตะวันตก 5 จังหวัด ภาคใต้ 14 จังหวัด (รวมจำนวน 2,574 กลุ่ม ประมาณ 25,740 ราย)
วิธีดำเนินการ          1. จัดประชุมชี้แจงเรื่องการจัดส่งข้อเสนอโครงการ ภายใต้แผนงาน/โครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563
2. วางกรอบและแนวทางเพื่อจัดอบรมและส่งเสริมการพัฒนายกระดับทักษะอาชีพในภาคเกษตรกรรม โดยแยกเป็น 6 ด้าน ดังนี้
    1) ด้านปศุสัตว์ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร และเศรษฐกิจฐานราก
    2) ด้านประมง เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร และเศรษฐกิจฐานราก
    3) การผลิตสินค้า OTOP เพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน
    4) ด้านพืชและเห็ดเศรษฐกิจ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร และเศรษฐกิจฐานราก
    5) หมอดิน New Normal เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในชุมชน และเศรษฐกิจฐานราก
    6) ด้านพืชสมุนไพร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างสวนสมุนไพรต้นแบบเพื่อความมั่นคงยั่งยืนของชุมชน
3. ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างวัสดุอุปกรณ์ตามโครงการ เพื่อสนับสนุนปัจจัยการผลิตให้กับเครือข่ายหมู่บ้านวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่น
ระยะเวลา          ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 - 2565 (เริ่มเดือนกรกฎาคม 2564)
งบประมาณ          วงเงินรวม 407,229,585 บาท
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ          สามารถรองรับแรงงานคืนถิ่น พลิกฟื้นทักษะอาชีพในภาคเกษตรกรรม เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขเยียวยาแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ รวมถึงวิกฤตของโรคโควิด 19 และสร้างภูมิคุ้มกันให้เครือข่ายหมู่บ้านวิสาหกิจชุมชน และคาดว่าสามารถจะสร้างรายได้รวม 514,800,000 บาท หรือคิดเป็นรายได้เฉลี่ย 200,000 บาท /ปี/ครัวเรือน หรือต่อเครือข่าย
                    3. สำนักงบประมาณได้นำเรื่องดังกล่าวเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นชอบให้ อว. โดย มทร. อีสาน ใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ภายในกรอบวงเงิน 407,229,585 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการอบรมดังกล่าว

9. เรื่อง การขับเคลื่อนการให้บริการประชาชนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e - Service) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เสนอ ดังนี้
                    1. รายชื่องานบริการ Agenda จำนวน 12 งานบริการ และกำหนดให้เป็นตัวชี้วัดตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ของส่วนราชการที่ได้รับมอบหมาย
                    2. มอบหมายให้ ก.พ.ร เป็นผู้พิจารณางานบริการ Agenda และงานบริการรายส่วนราชการเพิ่มเติม ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
                    โดยให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) และ ก.พ.ร. ยึดแนวทาง FVS ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เป็นหลักแทน Digital ID ในการพัฒนาระบบพิสูจน์ตัวตนฯ และให้ ก.พ.ร. เร่งกำหนดประเภทบริการที่ควรทำ Digitalize ในแต่ละช่วงเวลาเพื่อเป็นตัวชี้วัดให้หน่วยงานดำเนินการต่อไป (ภายใน 1 เดือน)
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    ก.พ.ร. รายงานว่า
                    1. ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ขับเคลื่อนการให้บริการประชาชนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e ? Service) ซึ่งเป็นการดำเนินการตามนัยมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 31 มีนาคม 2563 และ 25 สิงหาคม โ2563 โดยให้ส่วนราชการพัฒนาระบบการให้บริการในรูปแบบ e ? Service และกำหนดเป็นตัวชี้วัดตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการของส่วนราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีส่วนราชการเสนองานบริการเพื่อนำมาพัฒนาเป็นการให้บริการในรูปแบบ e ? Service จำนวน 78 หน่วยงาน รวม 80 งานบริการ (ข้อมูล ณ วันที่ 30 เมษายน 2564) ดังนี้
          ระบบการพัฒนา e ? Service (งานบริการ)          รวม
          L1*          L2*          L3*
1) พัฒนาระบบเสร็จแล้ว          12          6          4          22
2) ระบบเสร็จ และอยู่ระหว่างทดสอบการใช้งาน           14          1          -          15
3) อยู่ระหว่างพัฒนาระบบ          16          11          10          37
4) ยังไม่เริ่มพัฒนาระบบ          5          1          -          6
รวม          47          19          14          80
* L1 หมายถึง การให้บริการยื่นเรื่อง/ยื่นคำขอผ่านระบบ e - Service (สะดวดยื่น)
  L2 หมายถึง การให้บริการยื่นเรื่อง/ยื่นคำขอ และชำระเงินผ่านระบบ e-Service (สะดวกจ่าย)
  L3 หมายถึง การให้บริการแบบเบ็ดเสร็จผ่านระบบ e-Service (สะดวกรับ)
ทั้งนี้ การดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เกิดปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนางานบริการเป็นรูปแบบ e-Service ที่สำคัญ คือ ส่วนราชการยังขาดองค์ความรู้ในการพัฒนา e-Service ทั้งในด้านวิชาการและด้านเทคนิค ขาดงบประมาณ กฎหมายยังไม่เอื้อต่อการพัฒนา e-Service และปัญหาการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน
                    2. อย่างไรก็ดี สถานการณ์ของโลกมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและรุนแรงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 หรือภัยพิบัติทางธรรมชาติต่าง ๆ รวมทั้งการเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้ประชาชนเปลี่ยนไปสู่ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ดังนั้น หน่วยงานของรัฐซึ่งมีบทบาทหลักในการขับเคลื่อนการให้บริการสาธารณะจำเป็นต้องเร่งพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานและงานบริการของรัฐให้ประชาชนสามารถติดต่อขอรับบริการจากหน่วยงานของรัฐได้ทุกที่ ทุกเวลา ไม่ต้องเดินทางไปติดต่อ ณ สำนักงาน โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการให้บริการสาธารณะตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ
                    3. ก.พ.ร. ในการประชุมครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ได้เห็นชอบแนวทางการดำเนินการเพื่อการขับเคลื่อนการให้บริการประชาชนผ่านระบบ e-Service ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
                              3.1 การจัดกลุ่มงานบริการเป้าหมายเพื่อนำมาพัฒนาเป็นระบบการให้บริการประชาชนในรูปแบบ e-Service เป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มงานบริการเป้าหมาย          แนวทางการพิจารณางานบริการ
1) งานบริการ Agenda หมายถึงงานบริการที่มีความเชื่อมโยงหรือเกี่ยวข้องหลายส่วนราชการแล้วมีผลกระทบให้คุณภาพชีวิตประชาชนดีขึ้นหรือสนับสนุนช่วยเหลือให้ภาคเศรษฐกิจและสังคมที่ประสบปัญหาในภาวะสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ฟื้นตัวได้เร็วขึ้นและยั่งยืน          งานบริการที่กำหนดไว้ในแผนต่าง ๆ ดังนี้
1.1) แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง)
1.2) แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2563 - 2565
1.3) แนวทางการยกระดับประเทศไทยสู่ 10 อันดับประเทศที่ประกอบธุรกิจได้ง่ายที่สุด (Ease of Doing Business)
2) งานบริการรายส่วนราชการ หมายถึง
งานบริการเฉพาะตามภารกิจหน้าที่ของแต่ละส่วนราชการที่ไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานใด รวมทั้งเป็นงานที่มีการให้บริการ/การทำธุรกรรมต่อปีจำนวนมาก
ใช้เวลาและขั้นตอนในการดำเนินการมากมาดำเนินการพัฒนาเป็นระบบบริการ e-Service          2.1) งานบริการที่เป็นระบบบริการ e-Service แล้ว แต่ยังพัฒนาได้ไม่เต็มรูปแบบ (fully digital)
2.2) งานบริการภายใต้แผนระบบการให้บริการกลางภาครัฐเพื่อประชาชน (Citizen Portal) 3 ปี ที่ยังไม่มีระบบออนไลน์/งานที่ยังพัฒนาได้ไม่เต็มรูปแบบ (fully digital)
2.3) งานบริการเป้าหมายของระบบการให้บริการกลางภาครัฐเพื่อธุรกิจ (Biz Portal) ที่ต้องการขับเคลื่อนให้เป็น fully digital
2.4) งานจดแจ้งออนไลน์ * ตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีในการประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2564
เฉพาะงานที่ยังไม่ได้ดำเนินการ
หมายเหตุ : * สำนักงาน ก.พ.ร. แจ้งข้อมูลเพิ่มเติมว่า งานจดแจ้งออนไลน์เป็นงานบริการรับแจ้ง เช่น จดแจ้งเพื่อให้ข้อมูลจดแจ้ง และเปลี่ยนแปลงข้อมูล (เช่น การเปลี่ยนประเภทเรือ การรับแจ้งเลิกกิจการ และการขอต่ออายุหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบอาคาร กรณีนิติบุคคล และบุคคลธรรมดา)
                              3.2 งานบริการ Agenda ที่กำหนดให้ส่วนราชการดำเนินการขับเคลื่อนฯ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 12 งานบริการ และกำหนดให้เป็นตัวชี้วัดตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ของส่วนราชการที่ได้รับมอบหมาย มีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
รายชื่องานบริการ          หน่วยงานหลัก
1) ระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (DOPA-Digital ID) : เป็นระบบระบุตัวตนแทนการใช้บัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งช่วยลดภาระให้แก่ประชาชนในการจัดเตรียมเอกสาร โดยสามารถทำธุรกรรมออนไลน์กับภาครัฐได้          กรมการปกครอง
2) ระบบการรับชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง : เป็นระบบบริการในการยื่นชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้ทุกที่ ทุกเวลาผ่านระบบออนไลน์          กรมที่ดิน
3) ระบบการแจ้งเตือนสิทธิและช่วยเหลือในการรับสวัสดิการของประชาชนตลอดช่วงชีวิต : เป็นระบบบริการที่ช่วยให้ประชาชนได้รับทราบเกี่ยวกับสิทธิที่พึงได้รับจากรัฐ รวมทั้งการได้รับการแจ้งเตือน และเป็นช่องทางในการขอรับสิทธิสวัสดิการต่าง ๆ          สำนักงาน
ปลัดกระทรวง
กระทรวงการพัฒนา
สังคมและความมั่นคง
ของมนุษย์
4) ศูนย์การร้องเรียนแบบเบ็ดเสร็จ : เป็นระบบศูนย์กลางการรับเรื่องร้องเรียนแบบเบ็ดเสร็จที่ประชาชนสามารถยืนเรื่องร้องเรียน ติดตาม ตรวจสอบสถานะ และรับแจ้งผลการร้องเรียนได้ ณ จุดเดียว          สำนักงาน
ปลัดสำนัก
นายกรัฐมนตรี
5) ระบบการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เดินทาง (Ease of traveling) : เป็นแพลตฟอร์มบริการที่อำนวยความสะดวกผู้เดินทางเข้าออกประเทศไทยแบบครบวงจรครอบคลุมตั้งแต่การขอวีซ่า การขอหนังสือรับรองสถานภาพการเข้าประเทศไทย การให้ข้อมูลด้านการท่องเที่ยว และการช่วยเหลือและบริการอื่น ๆ          สำนักงาน
ปลัดกระทรวง
กระทรวง
การท่องเที่ยวและกีฬา
6) ระบบการออกบัตรสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ : เป็นระบบการขอและการรับออกเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนอิเล็กทรอนิกส์          กรมควบคุมโรค
7) ระบบช่วยเหลือผู้ว่างงานให้กลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน : เป็นระบบให้ความช่วยเหลือผู้ว่างงานให้ได้รับความสะดวกในการขอรับบริการและขอรับความช่วยเหลือผ่านระบบออนไลน์ช่องทางเดียว เช่น การขอรับสิทธิต่าง ๆ จากการว่างงาน และการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาฝีมือ          กรมการจัดหางาน
8) หนึ่งรหัส หนึ่งผู้ประกอบการ (One Identification: ID One SMEs) : เป็นระบบให้บริการแก่ผู้ประกอบการผ่านหมายเลข ID เพียงตัวเดียว ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการได้รับความสะดวกและลดภาระค่าใช้จ่ายในการจัดทำเอกสารหลายชุดซ้ำ ๆ กัน เพื่อใช้ในการติดต่อขอรับบริการ             ต่าง ๆ          สำนักงาน
ส่งเสริมวิสาหกิจ
ขนาดกลาง
และขนาดย่อม
9) ระบบขออนุญาตวัตถุอันตรายแบบครบวงจร (Hazardous Substance Single Submission: HSSS) : เป็นระบบรับคำขออนุญาตวัตถุอันตรายแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร ณ จุดเดียว ผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งจะช่วยลดความยุ่งยากและซ้ำซ้อนในการจัดเตรียมเอกสารในการขออนุญาตประกอบกิจการเกี่ยวกับวัตถุอันตราย          กรมโรงงานอุตสาหกรรม
10) ระบบรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร (Good Agricultural Practices: GAP) พืช ประมง และปศุสัตว์ : เป็นระบบให้การรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร End-to-End Process อยู่บนแพลตฟอร์มเดียวกันของทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ตั้งแต่การยื่นคำขอจนได้รับการรับรอง GAP          สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ
11) ระบบการขึ้นทะเบียนเกษตรกรและการขอรับความช่วยเหลือด้านการเกษตร : เป็นแพลตฟอร์มในการขอขึ้นทะเบียนเกษตรกรทุกประเภท
(พืช ปศุสัตว์ ประมง และยางพารา) และการขอรับความช่วยเหลือด้านการเกษตร          สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
12) ระบบเชื่อมโยงสินค้าข้ามแดนทางบกของกลุ่มประเทศ Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy (ACMECS) ผ่านระบบ National Single Window (NSW) : เป็นระบบช่วยให้ผู้ส่งออกและนำเข้าสินค้ายื่นเรื่องขออนุมัติอนุญาตผ่านพิธีการศุลกากรทางระบบ NSW ที่สามารถลดขั้นตอน ลดเวลาในการตรวจสอบเอกสาร และลดต้นทุนการจัดทำเอกสาร ค่าบริการต่าง ๆ จากการติดต่อผ่านหลายหน่วยงาน          กรมศุลกากร
ทั้งนี้ งานบริการดังกล่าวต้องพิจารณาถึงการพัฒนาความมั่นคงปลอดภัยของระบบ (Cyber Security) ควบคู่ไปด้วย
                    4. สำนักงาน ก.พ.ร. แจ้งข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในส่วนของรายชื่องานบริการรายส่วนราชการ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ขณะนี้ยังไม่มีการกำหนดรายชื่อ เนื่องจากอยู่ระหว่างสำนักงาน ก.พ.ร. ประสานและหารือกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ดี ปัจจุบันส่วนราชการได้เสนอรายชื่องานบริการรายส่วนราชการมายังสำนักงาน ก.พ.ร. แล้วบางส่วน และจะเสนอต่อ ก.พ.ร. พิจารณา เพื่อกำหนดเป็นตัวชี้วัดตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ของส่วนราชการที่ได้รับมอบหมายต่อไป ดังนั้น เพื่อให้การขับเคลื่อนการให้บริการประชาชนผ่านระบบ e ? Service เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ก.พ.ร. ขอให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้ ก.พ.ร เป็นผู้พิจารณางานบริการ Agenda และงานบริการรายส่วนราชการเพิ่มเติม ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565

10. เรื่อง รายงานผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ประจำปี 2563
                    คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอรายงานผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ประจำปี 2563 [เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 40 ที่บัญญัติให้ พม. จัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับสถานการณ์ จำนวนคดี การดำเนินการของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และแนวทางการดำเนินงานในอนาคตเกี่ยวกกับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เสนอต่อคณะรัฐมนตรี] ซึ่งคณะกรรมการป้องกกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ในคราวประชุม ครั้งที่ 4/2563 เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2563 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นประธานได้เห็นชอบรายงานฯ ด้วยแล้ว สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
เรื่อง          สาระสำคัญ
1. การจัดสรรงบประมาณ          รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ทั้งระบบจำนวน 4,029.35 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.85 (จากที่ได้รับในปี 2562 จำนวน 3,806.82 ล้านบาท)
2. ผลการพิจารณาคดีสำคัญ          เช่น คดีสถานอาบอบนวดวิคตอเรีย ซีเครท ศาลอุทธรณ์ได้กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยวินิจฉัยว่า สถานอาบอบนวดวิคตอเรีย ซีเครท เป็นสถานที่ทำการค้ามนุษย์และค้าประเวณี จึงพิพากษาให้จำเลยทั้ง 7 คนในคดีดังกล่าว มีความผิดฐานค้ามนุษย์และเป็นธุระจัดหาเพื่อให้กระทำการค้าประเวณี โดยให้ลงโทษจำคุกจำเลยและลงโทษปรับห้างหุ้นส่วน นิติบุคคลเจ้าของใบอนุญาตสถานอาบอบนวดและบริษัทนิติบุคคลผู้ให้เช่าสถานที่ และให้ริบของกลางทั้งหมด อีกทั้งให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เสียหาย 2 คน ที่ถูกบังคับให้ค้าประเวณี เป็นเงินรายละ 80,000 บาท
3. สถิติคดีค้ามนุษย์          สถิติคดีค้ามนุษย์ลดลง โดยมีคดีค้ามนุษย์ 132 คดี ลดลงต่ำสุดเมื่อเทียบกับในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งรูปแบบที่พบมากที่สุด คือ การแสวงหาประโยชน์ทางเพศ (ค้าประเวณี สื่อลามก และทางเพศอย่างอื่น) 118 คดี และได้มีการจับกุมผู้กระทำผิดได้ 180 คน อีกทั้งสามารถช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ได้ 230 คน
4. การคุ้มครองช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และจากการถูกบังคับใช้แรงงานหรือบริการ          ยังคงยึดหลักการให้ผู้เสียหายเป็นศูนย์กลางและคำนึงถึงบาดแผลทางจิตใจ รวมถึงให้อิสระแก่ผู้เสียหายในการเลือกทำกิจกรรมตามความสมัครใจ มีอิสระในการใช้เครื่องมือสื่อสารเพื่อติดต่อกับครอบครัว และในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สถานคุ้มครองได้เพิ่มมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดสำหรับผู้เสียหายที่รับเข้าใหม่และผู้เสียหายกลุ่มเดิม เพื่อสร้างความมั่นใจในการคุ้มครองผู้เสียหายให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
5. การเข้ารับการคุ้มครองในสถานคุ้มครอง          ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์และการถูกบังคับใช้แรงงานหรือบริการจำนวน 229 คน สมัครใจเข้ารับการคุ้มครองจำนวน 148 คน โดยแบ่งเป็นสถานคุ้มครองของรัฐ 140 คน และในสถานคุ้มครองเอกชน 8 คน
6. การได้รับเงินเยียวยาจากกองทุนเพื่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์          มีการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ จำนวน 21.71 ล้านบาท โดยค่าใช้จ่ายที่มากที่สุดเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการเยียวยาช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์จำนวน 7.64 ล้านบาท
7. การเตรียมการรองรับการดูแลผู้เสียหายที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQI)          รัฐบาลได้พิจารณาให้สถานคุ้มครองที่จังหวัดเชียงรายเป็นสถานคุ้มครองที่ให้บริการทางเลือก (Alternative Care) แก่ผู้เสียหายกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ และได้ร่วมกับองค์กร Winrock International ในการศึกษารูปแบบและแนวทางที่เหมาะสมในการดูแลผู้เสียหายกลุ่มดังกล่าว
8. การออกกฎหมายลำดับรอง          ได้ออกกฎหมายลำดับรองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ. 2562 เพื่อกำหนดมาตรฐานที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวกในเรือประมง และการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว รวมทั้งออกกฎหมายลำดับรองตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 เพื่อประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกออกหนังสือคนประจำเรือ การอนุญาตให้คนต่างด้าวที่ประสงค์ทำงานในเรือประมงอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และการอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในเรือประมงที่จะออกไปทำการประมงในทะเล
9. แนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19          คณะรัฐมนตรีมีมติ (4 สิงหาคม 2563) เห็นชอบให้คนต่างด้าวซึ่งเดิมได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่การอนุญาตนั้นสิ้นสุดลงและไม่ได้เดินทางกลับออกนอกราชอาณาจักรสามารถอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานได้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565 โดยมีแรงงานต่างด้าวได้รับอนุญาตทำงานทั้งสิ้น 240,572 คน (กัมพูชา 70,994 คน ลาว 13,311 คน และเมียนมา 156,267 คน)
10. ค่าธรรมเนียมการจัดหางานให้กับแรงงานต่างด้าว          กำหนดให้นายจ้างเป็นผู้จ่ายเงินค่าธรรมเนียมการจัดหางานให้กับแรงงานต่างด้าวและห้ามนายจ้างเรียกรับเงินเกี่ยวกับการนำคนต่างด้าวมาทำงานจากคนต่างด้าว รวมทั้งให้นายจ้างใช้สัญญาจ้าง 3 ภาษา เพื่อใช้เป็นเอกสารประกอบการต่อใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าว ประกอบด้วย ภาษาของแรงงานต่างด้าว ภาษาไทย และภาษาอังกฤษไว้ในฉบับเดียวกัน โดยให้เก็บสัญญาจ้างไว้ที่ทำการของนายจ้างเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้และสำเนาสัญญาจ้าง 1 ฉบับ ให้ลูกจ้างเก็บรักษาไว้ ซึ่งเป็นมาตรการสำคัญในการคุ้มครองแรงงานต่างด้าวให้ได้รับค่าจ้างและสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย

11. เรื่อง รายงานผลการดำเนินงานของระบบประกันภัยและพัฒนาการที่สำคัญ รอบ 12 เดือน ปี 2563
                    คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอรายงานผลการดำเนินงานของระบบประกันภัยและพัฒนาการที่สำคัญ รอบ 12 เดือน ปี 2563 ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) [เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย พ.ศ. 2550 มาตรา 20 (10) ที่บัญญัติให้สำนักงาน คปภ. จัดทำรายงานประจำปีแสดงผลงานและอุปสรรคในการดำเนินงานของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และสำนักงาน คปภ. ต่อคณะรัฐมนตรี] โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
                    1. ภาพรวมธุรกิจประกันภัยของไทย รอบ 12 เดือน ปี 2563 ธุรกิจประกันภัยเดือนมกราคม - ธันวาคม 2563 มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวมทั้งสิ้น 852,729 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 0.22 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. คาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตของธุรกิจประกันภัยของปี 2564 จะอยู่ที่ร้อยละ (-0.87) ถึง 1.13
                    2. ผลการดำเนินงานที่สำคัญตามนโยบายรัฐบาลและแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2559 - 2563)
การดำเนินการ          ปัญหา/อุปสรรค/แนวทางการแก้ไข
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมประกันภัย
1) เสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการ เช่น ปรับปรุงการลงทุนประกอบธุรกิจอื่นเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถกระจายความเสี่ยงในการลงทุนได้ดียิ่งขึ้น
2) ยกระดับมาตรฐานการดำเนินธุรกิจประกันภัย เช่น ทบทวนและปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลและบริหารจัดการความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของบริษัทประกันชีวิต/วินาศภัย
3) คุ้มครองสิทธิประโยชน์ผู้เอาประกันภัยและยกระดับพฤติกรรมทางตลาดของระบบประกันภัย เช่น ให้บริษัทประกันภัยเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัยที่เสนอขายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์          ควรมีการติดตามและทบทวนการประเมินความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ส่งผลให้ธุรกิจประกันภัยมีโอกาสได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ รวมถึงความผันผวนของระบบเศรษฐกิจการเงินโลกได้อย่างรุนแรงและรวดเร็ว
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การเสริมสร้างความรู้และการเข้าถึงประกันภัย
1) เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัย เช่น การประชาสัมพันธ์ความรู้เกี่ยวกับการประกันภัย
2) ส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้สอดคล้องกับความต้องการและความเสี่ยงของประชาชน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยรายย่อยสำหรับผู้มีรายได้น้อย เช่น การประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองโควิด-19 และกรมธรรม์ประกันภัยกลุ่มปีใหม่ 10 บาท นิวนอร์มอลพลัส
3) ส่งเสริมการเข้าถึงประกันภัยเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ โดยปรับปรุงสัญญาประกันภัยสุขภาพมาตรฐานให้สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐเกี่ยวกับการปฏิรูประบบสาธารณสุข
4) ขยายช่องทางการเข้าถึงประกันภัยของประชาชน โดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์มาประกอบการเสนอขายการออกกรมธรรม์ และการชดใช้เงินหรือค่าสินไหมทดแทน           1) ประชาชนบางส่วนยังไม่เข้าใจเงื่อนไขความคุ้มครองที่เพียงพอ โดยเฉพาะกรณีเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน
2) การปรับปรุงสัญญาประกันสุขภาพมาตรฐานให้รองรับกับเทคโนโลยีและวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อให้เป็นแนวทางเดียวกัน จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแข่งขัน
1) เสริมสร้างการแข่งขัน ผ่านการผ่อนคลายการกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย โดยพัฒนากระบวนการให้ความเห็นชอบผลิตภัณฑ์ประกันภัย
2) พัฒนาการกำกับและกระบวนการให้ความเห็นชอบ/อนุมัติผลิตภัณฑ์ประกันภัย โดยพัฒนาระบบการขอรับความเห็นชอบกรมธรรม์ประกันภัยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์
3) ส่งเสริมการเชื่อมโยงตลาดประกันภัยในภูมิภาคอาเซียน เช่น แลกเปลี่ยนประสบการณ์ธุรกิจประกันภัยกับต่างประเทศ และสร้างความร่วมมือและพัฒนาการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยกับหน่วยงานกำกับดูแลในต่างประเทศ          1) ควรประเมินสถานการณ์และผลกระทบของบริษัทประกันภัยจากโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การผ่อนคลายการกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัยมีระบบและสอดคล้องกับสถานการณ์
2) ควรพิจารณาประเด็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อไม่ให้เป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงตลาดประกันภัยในประเทศอื่น
ยุทธศาสตร์ที่ 4 การเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการประกันภัย
1) พัฒนาและยกระดับบุคลากรประกันภัยให้เป็นมืออาชีพผ่านการจัดอบรมและสัมมนา
2) ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาในระบบประกันภัย โดยศึกษาและพัฒนาฐานข้อมูลด้านสถิติประกันภัย
3) เสริมสร้างศักยภาพระบบเทคโนโลยี เช่น เชื่อมโยงข้อมูลกับกรมการขนส่งทางบกเพื่อตรวจสอบการจัดทำประกันภัยรถภาคบังคับ
4) ผลักดันให้การประกันภัยเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยง เช่น แก้ไขปรับปรุงมาตรฐานกลางของรายการค่ารักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายอื่นเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลที่บริษัทประกันภัยหรือกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยต้องจ่ายให้แก่ผู้ประสบภัยจากรถ
5) เสริมสร้างศักยภาพของหน่วยงานกำกับ เช่น ผลักดันร่างกฎหมายแม่บทว่าด้วยการประกันภัย และทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายอนุบัญญัติต่าง ๆ          ข้อมูลด้านการประกันภัยมีความซับซ้อนและเชื่อมโยงกับหลายภาคส่วน จึงจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการทำความเข้าใจและระดมความคิดเห็นในการจัดทำโครงสร้างฐานข้อมูลเพื่อพัฒนาระบบ
                    3. การประเมินผลการดำเนินงานตามมาตรการและแผนการดำเนินงานปี 2563 ของสำนักงาน คปภ. ซึ่งประกอบด้วย 16 ตัวชี้วัด มีค่าคะแนนถ่วงน้ำหนักรวมอยู่ที่ 4.625 จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ซึ่งได้ 3.625 คะแนน
                    4. ผลการสำรวจความพึงพอใจของผู้รับบริการด้านประกันภัยกับสำนักงาน คปภ. ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคในปี 2563 จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 2,340 ราย โดยประเมินผลความพึงพอใจ 3 ด้าน ได้แก่ ความเป็นธรรม คุณภาพการให้บริการ และการเข้าถึงบริการมีระดับความพึงพอใจในภาพรวมอยู่ที่ระดับความพึงพอใจมากที่สุด คือ อยู่ที่ร้อยละ 92.20 ลดลงจากปี 2562 ซึ่งได้ร้อยละ 93.20

12. เรื่อง ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง บทบาทและทิศทางการประกันภัยและนัยเชิงนโยบายเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ของคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง วุฒิสภา
                    คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง บทบาทและทิศทางการประกันภัยและนัยเชิงนโยบายเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ของคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจการเงิน การคลัง วุฒิสภา ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
                    เรื่องเดิม
                    1. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง บทบาทและทิศทางการประกันภัยและนัยเชิงนโยบายเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง วุฒิสภา มาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการฯ เห็นว่าปัจจุบันธุรกิจประกันภัยมีการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ทั้งปัจจัยจากภายในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยกำลังประสบกับปัญหากับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นความผันผวนของเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) รวมถึงเหตุการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจประกันภัย ทิศทางการกำกับดูแล และการส่งเสริมธุรกิจประกันภัยที่จะต้องปรับตัวและพัฒนาให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จึงมีข้อเสนอแนะ ดังนี้ 1) บูรณาการเชิงนโยบายของภาครัฐในด้านการบริหารความเสี่ยงของภาคเกษตรกรรมผ่านระบบประกันภัย 2) ยกระดับมาตรฐานการประกันสุขภาพและการออมผ่านระบบประกันภัยให้สอดคล้องกับสังคมผู้สูงอายุ 3) สนับสนุนการลงทุนที่มีความหลากหลายและกระจายความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ 4) ปรับปรุงกฎเกณฑ์และกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมการเติบโตของเทคโนโลยีประกันภัย 5) เพิ่มศักยภาพการรับประกันภัยเพื่อบริหารความเสี่ยงของประเทศ 6) ส่งเสริมให้ภาครัฐมีการใช้ระบบประกันภัยในการบริหารความเสี่ยงทรัพย์สินของรัฐและบุคลากรภาครัฐ 7) ส่งเสริมการขยายธุรกิจและเชื่อมโยงตลาดประกันภัยเพื่อเป็นศูนย์กลางด้านการประกันภัยในกลุ่มประเทศ CLMVT (กัมพูชา ลาว สหภาพเมียนมาร์ และเวียดนาม) และ 8) ส่งเสริมความรู้ด้านประกันภัย
                    2. รองนายกรัฐมนตรี (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้ กค. รับรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการดังกล่าว ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
                    ข้อเท็จจริง
                    กค. เสนอว่าได้พิจารณารายงานพร้อมทั้งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามข้อ 2 แล้ว โดยเห็นด้วยกับรายงานและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการดังกล่าว สรุปผลการพิจารณาได้ ดังนี้
ข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ          ผลการพิจารณาตามข้อเสนอแนะฯ
1. การบูรณาการเชิงนโยบายของภาครัฐในด้านการบริหารความเสี่ยงของภาคเกษตรกรรมผ่านระบบประกันภัย เช่น ควรผลักดันให้มีการบูรณาการนโยบายการประกันภัยพืชผลร่วมกัน โดยให้ทุกหน่วยงานมีนโยบายการประกันภัยพืชผลที่เป็นแนวทางเดียวกัน มีกระบวนการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การรับประกันภัย การประกันภัยต่อ การจ่ายค่าสินไหมทดแทนที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งจะเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงให้แก่ภาครัฐและเกษตรกร          1. สำนักงาน คปภ. อยู่ระหว่างการศึกษากฎหมายประกันภัยทางด้านเกษตรกรรมจากหลายประเทศ และยกร่างกฎหมายการประกันภัยทางด้านเกษตรกรรมให้มีรูปแบบที่ชัดเจน มีความยืดหยุ่น รวมไปถึงให้เกษตรกรมีเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงทั้งสถานการณ์โรคระบาด หรือภัยธรรมชาติ
2. สำนักงาน คปภ. ได้ส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้ครอบคลุมภาคเกษตรกรรมหลักของประเทศ เช่น กรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และกรมธรรม์ประกันภัยลำไย
3. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ควรให้มีคณะกรรมการประกันภัยการเกษตรระดับประเทศ และคณะกรรมการขับเคลื่อนการประกันภัยการเกษตรระดับจังหวัด เพื่อให้เกิดการบูรณาการในการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ให้ชัดเจนมากขึ้น และขอให้มีตัวแทนภาคเกษตรกรเข้ามามีส่วนร่วมในคณะกรรมการทุกระดับ
2. ยกระดับมาตรฐานการประกันสุขภาพและการออมผ่านระบบประกันภัยให้สอดคล้องกับสังคมผู้สูงอายุและเป็นเครื่องมือในการบริหารงบประมาณภาครัฐ โดยควรส่งเสริมและผลักดันให้มีกฎหมายว่าด้วยการประกันสุขภาพภาคสมัครใจและส่งเสริมให้มีระบบการประกันภัยที่มีการให้บริการการประกันสุขภาพอย่างครบวงจร          1. สำนักงาน คปภ. อยู่ระหว่างการดำเนินการศึกษาจัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านสุขภาพด้วยการประกันภัย เพื่อศึกษากฎหมายประกันภัยสุขภาพ รูปแบบการประกันสุขภาพและมาตรการภาครัฐเกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านสุขภาพของประเทศต่าง ๆ เพื่อพัฒนากฎหมายแม่บทที่เกี่ยวกับการประกันสุขภาพ (ภาคสมัครใจ)
2. สมาคมประกันวินาศภัยไทยเห็นว่า การประกันสุขภาพอ้างอิงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อยู่แล้ว และไม่ควรมีกฎหมายมากำหนดเฉพาะเรื่องการประกันสุขภาพ เนื่องจากไม่ได้มีความแตกต่างจากการประกันภัยประเภทอื่น ๆ นอกจากนี้ การประกันสุขภาพภาคสมัครใจไม่สามารถรองรับระบบสังคมผู้สูงอายุได้ทั้งหมด ยกเว้นว่ามีการเริ่มทำประกันภัยตั้งแต่วัยทำงาน ทั้งนี้ การดูแลผู้สูงอายุควรเป็นสวัสดิการของภาครัฐเป็นหลัก
3. กค. ได้ศึกษาความเป็นไปได้ของการนำระบบประกันสุขภาพมาใช้กับข้าราชการ ปรากฏว่าระบบประกันสุขภาพเอกชนในประเทศไทยมีรูปแบบการบริหารในลักษณะการจ่ายค่าสินไหมทดแทน (Indemnity health insurance) ซึ่งคล้ายคลึงกับการจ่ายค่ารักษาพยาบาลของระบบสวัสดิการการรักษาพยาบาลข้าราชการในปัจจุบัน ดังนั้น กรมบัญชีกลางควรใช้แนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพของการบริหารระบบสวัสดิการด้วยการปรับวิธีการให้บริการผู้ป่วยยของสถานพยาบาล โดยมุ่งเน้นผลลัพธ์ของการดูแลและให้บริการแบบบูรณาการ รวมทั้งเพิ่มความสามารถในการดูแลตัวเองและปรับรูปแบบพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้มีสิทธิ
3. สนับสนุนการลงทุนที่มีความหลากหลายและกระจายความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ โดยควรสนับสนุนให้อุตสาหกรรมประกันภัยมีศักยภาพในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศมากขึ้น          1. สำนักงาน คปภ. ได้ดำเนินการปรับปรุงประกาศว่าด้วย เรื่องการลงทุนของบริษัทประกันภัยเพื่อสนับสนุนการลงทุนที่มีความหลากหลายและกระจายความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ
2. กค. ควรสนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศผ่านรูปแบบการลงทุนต่าง ๆ เช่น การลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมการประกันภัยได้รับผลตอบแทนสูงกว่าการฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์หรือการลงทุนในพันธบัตรระยะยาวซึ่งจะเป็นการกระจายการลงทุนให้หลากหลายเพื่อลดความเสี่ยงของพอร์ทการลงทุน อีกทั้งช่วยลดภาระการลงทุนของรัฐบาลและหนี้สาธารณะของประเทศ นอกจากนี้ ยังช่วยให้รัฐบาลมีเงินเพื่อลงทุนในโครงสร้างอื่นที่มีความจำเป็นและความเหมาะสมเพิ่มเติม
4. ปรับปรุงกฎเกณฑ์เพื่อส่งเสริมการเติบโตของเทคโนโลยีประกันภัย (InsurTech) เช่น การนำเทคโนโลยีมาใช้ในช่องทางการเสนอขายและให้บริการและควรกำหนดมาตรฐานการดำเนินธุรกิจประกันภัยรูปแบบดิจิทัลเป็นการเฉพาะ          1. สำนักงาน คปภ. ได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการประกันภัยเพื่อส่งเสริมการดำเนินธุรกิจประกันภัยขับเคลื่อนธุรกิจสู่ Digital Transformation เพื่อให้อุตสาหกรรมประกันภัยของไทยมีโครงสร้างพื้นฐานด้านการประกันภัยและรูปแบบในการกำกับดูแลที่รองรับการดำเนินธุรกิจประกันภัย และสนับสนุนการนำเทคโนโลยีมาใช้ในช่องทางการเสนอขายและให้บริการ โดยการเสนอขายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์และโครงการ OIC Gateway เพื่อเป็นแพลตฟอร์มกลางหรือตัวกลางในการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างธุรกิจประกันภัย สำนักงาน คปภ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
2. สำนักงาน คปภ. มีแผนการพัฒนาหลักเกณฑ์และแนวทางในการออกใบอนุญาตรูปแบบใหม่เพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจภายใต้สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีแผนการศึกษาแนวทางและความเหมาะสมในการเปิดโอกาสให้ Virtual Insurer เข้ามาดำเนินธุรกิจเพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค บริษัทประกันภัย และอุตสาหกรรมประกันภัยของไทย
5. สนับสนุนการบริหารจัดการความเสี่ยงภัยจากภัยพิบัติของประเทศไทยและกลไกในการเพิ่มศักยภาพการรับประกันภัยเพื่อบริหารความเสี่ยงประเทศ          1. สำนักงาน คปภ. มีแผนการดำเนินการเสริมสร้างศักยภาพในการรับความเสี่ยงภัยของประเทศ โดยพิจารณาถึงระดับความเสี่ยงและเงินกองทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม รวมถึงการศึกษาแนวทางของบริษัทประกันภัยต่อแห่งชาติ (National Reinsurer)
2. สมาคมประกันวินาศภัยเห็นว่า การส่งเสริมการจัดตั้งองค์กรหรือบริษัทเพื่อรองรับการประกันภัยด้านภัยพิบัติ ควรเป็นการจัดตั้งกองทุนภัยพิบัติของรัฐบาล โดยเฉพาะการประกันภัยพืชผล
6. ส่งเสริมให้ภาครัฐมีการใช้ระบบประกันภัยในการบริหารความเสี่ยงทรัพย์สินของรัฐและบุคลากรภาครัฐ เช่น การประกันภัยทรัพย์สินของรัฐ การประกันภัยอุบัติเหตุการเดินทางของข้าราชการในการปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศ          1. สำนักงาน คปภ. อยู่ระหว่างนำเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองการจัดให้มีการเอาประกันภัยทรัพย์สินของรัฐ เพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์การประกันภัยทรัพย์สินภาครัฐและรถยนต์ราชการ ให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผลักดันให้นำการประกันภัยไปใช้ในการบริหารความเสี่ยงของภาครัฐ
2. กระทรวงสาธารณสุขเห็นว่าการนำระบบประกันภัยในการเดินทางของข้าราชการผู้เดินทางไปปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศ ควรครอบคลุมถึงอุบัติเหตุหรือเหตุการณ์   ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้
7. ส่งเสริมการขยายธุรกิจและเชื่อมโยงตลาดประกันภัยเพื่อเป็นศูนย์กลางด้านการประกันภัยในกลุ่มประเทศ CLMVT (กัมพูชา ลาว สหภาพเมียนมาร์ และเวียดนาม)          สำนักงาน คปภ. มีแผนในการพัฒนาและส่งเสริมขีดความสามารถของธุรกิจประกันภัย และ ecosystem เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็น InsurTech Hub และ Capacity Center และขยายบทบาทของศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีด้านการประกันภัย
8. ส่งเสริมความรู้ด้านประกันภัย (Insurance Literacy) ให้เป็นวิถีชีวิตใหม่ของคนไทย          1. สำนักงาน คปภ. ได้ดำเนินโครงการอบรมความรู้ประกันภัย ?Training for the Trainers? มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดัน และส่งเสริมความรู้ให้เกษตรกรนำการประกันภัยมาใช้เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ
2. กระทรวงศึกษาธิการได้เน้นกระบวนการเรียนการสอนและจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมเรื่องการประกันภัยและส่งเสริมความรู้เรื่องการประกันภัยให้กับนักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง ประชาชนทั่วไป
          ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม
          กค. เห็นว่า โครงการที่อยู่ในระหว่างการศึกษา เช่น การศึกษากฎหมายประกันภัยสุขภาพ และศึกษาแนวทางของบริษัทประกันภัยแห่งชาติ (National Reinsurer) ควรรอผลการศึกษาของโคนงการดังกล่าวเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนก่อน รวมทั้งเห็นควรให้สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานหลักในการดำเนินการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้ข้อยุติก่อน

13. เรื่อง รายงานผลการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ในประเด็นสนับสนุนการแก้ไขปัญหาสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ของรัฐบาล ของ อ.ค.ต.ป. คณะต่าง ๆ และ ค.ต.ป. ประจำกระทรวง และรายงานผลการประเมินตนเองของคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการคณะต่าง ๆ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2
                    คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่คณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ (ค.ต.ป.) เสนอดังนี้
                    1. รับทราบรายงานผลการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 และเห็นชอบข้อเสนอแนะของ ค.ต.ป. โดยให้รัฐมนตรี หัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง กรม และจังหวัด ที่มีประเด็นสมควรปรับปรุงแก้ไข รับข้อเสนอแนะไปพิจารณาดำเนินการ พร้อมทั้งรายงานผลความก้าวหน้าในการดำเนินการต่อ ค.ต.ป. คณะต่าง ๆ ต่อไป
                    2. รับทราบรายงานผลการประเมินตนเองของ ค.ต.ป. คณะต่าง ๆ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    1. ค.ต.ป. ในคราวประชุม ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2564 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี   (นายวิษณุ เครืองาม) เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบรายงานผลการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ในประเด็นสนับสนุนการแก้ไขปัญหาสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ของรัฐบาล ของ                อ.ค.ต.ป. คณะต่าง ๆ และ ค.ต.ป. ประจำกระทรวงซึ่งได้มีการวิเคราะห์เชื่อมโยงประเด็นการตรวจสอบระดับนโยบายกับระดับกระทรวง และจำแนกปัญหาเป็น 3 ระดับ เพื่อให้เห็นถึงกลุ่มของปัญหาที่จะนำไปสู่การแก้ไขที่ตรงเป้าหมาย และเป็นรูปธรรม สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
                              1.1 ระดับที่ 1 ปัญหาและข้อเสนอแนะในระดับนโยบาย
ประเด็น/ข้อค้นพบ          ข้อเสนอแนะในภาพรวม          หน่วยงานที่รับผิดชอบ
ประเด็นที่ 1 การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชนระดับฐานรากในพื้นที่ผ่านโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 400,000 ล้านบาท
(1) การอนุมัติโครงการภายใต้แผนงานโครงการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 400,000 ล้านบาท ยังมีความล่าช้า ส่วนราชการ และจังหวัดเร่งเสนอโครงการในลักษณะเดิมจึงไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ความเร่งด่วนและปัญหาในปัจจุบัน ทำให้ไม่เกิดการจ้างงาน และสร้างรายได้ให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย และไม่เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง
(2) การนำเสนอโครงการของส่วนราชการทั้งส่วนกลางและจังหวัดยังขาดกระบวนการมีส่วนร่วม และต้องมีการผลักดันให้เกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนมากขึ้น เนื่องจากพบว่าการนำเสนอโครงการยังไม่สะท้อนความต้องการของประชาชนในพื้นที่          (1) ปรับเกณฑ์การจัดสรรเงินกู้โดยให้เป็นวงเงินรวม (Block Grant) เพื่อนำไปสนับสนุนโครงการในพื้นที่ โดยมอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินโครงการภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด เช่น ต้องก่อให้เกิดการจ้างงานในระดับพื้นที่ไม่เป็นการเลือกปฏิบัติแก่ผู้ประกอบการรายหนึ่งรายใด และต้องสามารถยกระดับผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (Gross Provincial Product: GPP) ให้สูงขึ้น
2) ศึกษาการจัดสรรงบประมาณในลักษณะวงเงินรวม (Block Grant) ให้แต่ละจังหวัดสามารถกำหนดเป้าหมายและการดำเนินงานในพื้นที่ได้ตรงกับความต้องการ
3) การจัดสรรงบประมาณผ่านแผนงานโครงการหน่วยงานภาครัฐต้องให้ความสำคัญกับโครงการที่เสนอโดยภาคประชาชนเป็นลำดับแรก หรือโครงการที่ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนและเกิดประโยชน์ได้อย่างแท้จริง
4) ปรับวิธีการทำงานของภาครัฐให้คำนึงถึงความชัดเจนในการกำหนดและถ่ายทอดนโยบายลงสู่การปฏิบัติงานในระดับพื้นที่โดยผ่านกลไกการสื่อสารสร้างการรับรู้เชิงรุกกับทุกภาคส่วนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการ ตั้งแต่การจัดทำโครงการและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งจะเกิดประโยชน์อย่างแท้จริงในการบรรลุผลสัมฤทธิ์ตามวัตถุประสงค์ของการแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19          - สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)









- สำนักงบประมาณ (สงป.)





- สศช. และ สงป.









- สศช. และ สงป.
ประเด็นที่ 2 การบริหารงานของภาครัฐในช่วงวิกฤต
(1) ภาครัฐยังไม่มีระบบฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงกัน โดยเฉพาะการเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก เมื่อภาครัฐมีมาตรการต่าง ๆ จึงทำให้เกิดความซ้ำซ้อน
(2) ระบบการทำงานของภาครัฐยังไม่เป็นออนไลน์ทั้งระบบจึงเป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล ซึ่งพบปัญหาอุปสรรคจากการที่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ และแนวทางที่จะให้แต่ละหน่วยงานนำไปปฏิบัติยังไม่ชัดเจน          1) ควรมีหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพหลักขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลในภาพรวมเพื่อให้ส่วนราชการมีแนวทางในการดำเนินการที่ชัดเจน สามารถนำไปปฏิบัติได้
2) ปรับระบบการทำงานของภาครัฐให้เป็นดิจิทัลเพื่อรองรับกับระบบงานที่สามารถปฏิบัติงานได้ทุกที่ ทุกเวลา และทบทวนแนวทาง
การปรับระบบการทำงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์ทั้งระบบเพื่อให้เกิดความคล่องตัว ไม่ติดขัด          - กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน)(สพร.)

- ดศ. และ กพร.
                              1.2 ระดับที่ 2 ปัญหาและข้อเสนอแนะของการจัดสรรงบประมาณทั้งในส่วนของเงินงบประมาณรายจ่ายและเงินนอกงบประมาณ
ประเด็น/ข้อค้นพบ          ข้อเสนอแนะในภาพรวม          หน่วยงานที่รับผิดชอบ
ประเด็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ประชาชนฐานรากในพื้นที่ผ่านกลไกการเกษตร
(1) การดำเนินโครงการส่วนใหญ่มีความล่าช้า ส่งผลให้การเบิกจ่ายงบประมาณมีความล่าช้า ทำให้ไม่มีการจ้างงานในพื้นที่ ซึ่งมีผลต่อการช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 และเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง
(2) เงื่อนไขต่าง ๆ ที่กำหนดในโครงการกลายเป็นข้อจำกัดต่อการบรรลุเป้าหมายที่กำหนด
(3) โครงการส่วนใหญ่ที่ได้รับการจัดสรรจากวงเงินกู้ 400,000 ล้านบาท เน้นการจ้างงานในระยะสั้นเป็นหลัก ส่งผลให้การแก้ไขปัญหาที่มุ่งเป้าเรื่องการมีอาชีพ มีรายได้ไม่เกิดความยั่งยืน          1) ในกรณีที่จะมุ่งเป้าเพื่อช่วยเหลือปัญหาเร่งด่วนควรมีการกำหนดรูปแบบการพิจารณากลั่นกรองงบประมาณที่ไม่ได้มาจากส่วนกลางเพียงอย่างเดียว และควรกำหนดระยะเวลาการดำเนินการที่เพียงพอและเหมาะสมเพื่อให้ส่วนราชการสามารถพิจารณาทบทวนเพื่อเสนอโครงการที่เหมาะสมสอดคล้องกับปัญหา
2) ควรกำหนดแนวทางการพัฒนาและขยายผลโครงการที่ได้รับจัดสรรจากเงินกู้เพื่อให้เกิดการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งต้องกำหนดหลักเกณฑ์แนวทางการพิจารณาให้ชัดเจนโดยให้มีการถอดบทเรียนผลการดำเนินโครงการประกอบการพิจารณาเพื่อให้สะท้อนถึงประโยชน์ที่จะได้รับอย่างแท้จริง และเกิดการต่อยอดการสร้างองค์ความรู้ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาในระยะยาว          - สศช. และ สงป.










- สศช. และ สงป.
                              1.3 ระดับที่ 3 ปัญหาและข้อเสนอแนะในระดับปฏิบัติ
ประเด็น/ข้อค้นพบ          ข้อเสนอแนะในภาพรวม          หน่วยงานที่รับผิดชอบ
ประเด็นที่ 1 การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ประชาชนฐานรากในพื้นที่ผ่านกลไกการเกษตร
(1) โครงการตามพระราชกำหนดเงินกู้ที่ลงไประดับพื้นที่ เพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วนเป็นโครงการที่กำหนดจากส่วนกลางและมีระยะเวลาจำกัดทำให้มีความเสี่ยงที่โครงการอาจไม่สำเร็จตามเป้าหมาย เช่น โครงการโคก หนอง นาโมเดล และโครงการ 1 เกษตร 1 ทฤษฎีใหม่ ยังไม่มีการดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นกระบวนการ
(2) การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กโดยเฉพาะที่อยู่นอกเขตชลประทานจะทำให้มีน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้น สามารถกระจายน้ำไปยังส่วนการผลิตภาคการเกษตรได้ และช่วยลดการอพยพย้ายถิ่น          1) เร่งขยายผลและต่อยอดการดำเนินโครงการของมูลนิธิปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ
เนื่องจากเป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือของประชาชนในพื้นที่ตั้งแต่ต้นทาง สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ เกิดความเป็นเจ้าของสร้างการยอมรับ และสร้างการมีส่วนร่วมในการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
2) กำกับดูแลให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบริหารจัดการและซ่อมแซมแหล่งน้ำที่อยู่นอกเขตชลประทาน ทั้งที่เป็นแหล่งน้ำขนาดเล็ก น้ำใต้ดิน น้ำผิวดิน ให้สามารถใช้งานได้ เพื่อให้มีน้ำเพียงพอในการอุปโภค บริโภค และการเกษตร เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างต่อเนื่อง เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน และลดภาระการจัดสรรงบประมาณในการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่
3) ให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องกับโครงการในแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมเพื่อสร้างการจ้างงานและรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่มีการบริหารจัดการอย่างบูรณาการ ทั้งข้อมูลในการอนุมัติ อนุญาต และการจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มขึ้น เช่น การขุดบ่อ การสร้างฝาย และการขอใช้พื้นที่ในการดำเนินงานเพื่อให้เกิดการทำงานแบบครบวงจร และเกิดผลสำเร็จตามเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม          - กระทรวงมหาดไทย (มท.) (กรมการพัฒนาชุมชน)









- มท. (กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น)










- กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.)
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)
มท. กระทรวงแรงงาน
(รง.) และกระทรวงการอุดมศึกษา
วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)


ประเด็นที่ 2 การลดผลประทบของประชาชนทางด้านเศรษฐกิจผ่านมาตรการเราไม่ทิ้งกันและมาตรการเยียวยาเกษตรกร
(1) ภาครัฐยังไม่มีระบบฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงกัน ข้อมูลไม่เป็นปัจจุบัน
(2) มาตรการช่วยเหลือเยียวยาของภาครัฐก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ประชาชนบางส่วนเข้าไม่ถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล
(3) ไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบในการจัดการข้อมูลสำหรับประชาชน ตามมาตรการของหน่วยงานรัฐ ทำให้ต้องลงทะเบียนใหม่          1) ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินโครงการตามมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาล เพื่อพัฒนา
ระบบฐานข้อมูลให้มีความถูกต้อง ครบถ้วนเป็นปัจจุบัน มีความเพียงพอ และมีความพร้อมในการเชื่อมโยง ซึ่งต้องมีการจัดระเบียบ
ฐานข้อมูลของประชาชนตั้งแต่ต้นทาง เช่น ข้อมูลบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ข้อมูลเกษตรกร ข้อมูลประกันสังคม และการเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลหน่วยงานภาครัฐที่ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย
2) เร่งรัดให้ทุกส่วนราชการบูรณาการข้อมูลภาครัฐภายใต้มาตรฐานของ สพร. เพื่อเชื่อมโยงและใช้ข้อมูลร่วมกันในระบบเดียว รวมทั้ง
การเปิดเผยข้อมูล ปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้พร้อมในการบูรณาการข้อมูล
3) กำหนดแนวทางและมาตรฐานความปลอดภัยของข้อมูลเพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจและยินยอมให้ใช้ฐานข้อมูลเลข 13 หลัก ในการเชื่อมโยงข้อมูลได้อย่างเป็นระบบ          - สพร.













- มท. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กษ. และ รง.




- ดศ.
ประเด็นที่ 3 ผลกระทบและมาตรการเยียวยาเพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ (EEC)
(1) สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายเปลี่ยนไป ส่งผลให้ต้องมีการปรับวางตำแหน่งของอุตสาหกรรมใหม่ (Repositioning) และจัดลำดับความสำคัญ (Prioritize) จุดเน้นที่จะพัฒนาพื้นที่ EEC
(2) การไม่มีข้อมูลอุปสงค์และอุปทานที่สะท้อนให้เห็นตัวเลขความต้องการที่แท้จริงของภาคอุตสาหกรรม          1) ดำเนินการ repositioning and prioritize ในอุตสาหกรรมที่เป็น New S-Curve เพื่อรองรับกับเป้าหมายของประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป โดยศึกษาวิเคราะห์และวางแผนกำลังคนที่ต้องคำนึงถึงความต้องการของตลาดแรงงาน และกำลังการผลิตผู้ที่จบการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของแรงงานในอุตสาหกรรมที่เป็น New S-Curve
2) กำหนดรูปแบบใหม่ของการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เช่น การสร้างความร่วมมือในลักษณะ partnership ที่ชุมชนเข้ามาร่วมเป็นเจ้าของผ่านการถือหุ้นและร่วมกำหนดแนวทางการทำงาน เพื่อลดผลกระทบเชิงลบจากประชาชน
3) ศึกษา วิเคราะห์โมเดลการลงทุนใหม่ โดยกำหนดรูปแบบการลงทุนที่คาดการณ์ไปยังอนาคต เพื่อรองรับ New S-Curve ให้สามารถดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุน และให้มีมาตรการที่จะอำนวยความสะดวกสอดรับกับ 10 ข้อเสนอ เพื่อยกระดับประเทศไทยสู่ 10 อันดับประเทศที่ประกอบธุรกิจได้ง่ายที่สุด (Ten for Ten)          - สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
(สกพอ.)








- สกพอ.







- สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.)

ประเด็นที่ 4 กฎระเบียบในการบริหารงานของภาครัฐช่วงวิกฤต
(1) กฎระเบียบในการบริหารงานภาครัฐยังไม่เอื้อให้สามารถทำงานแบบออนไลน์ทุกขั้นตอน ส่งผลให้ขาดความคล่องตัวในการทำงานที่บ้าน          1) ดำเนินการตรวจสอบ กำกับการประเมิน Application ที่ใช้สำหรับการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ให้มีคุณภาพ เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ได้จริง          ดศ.
(2) ระบบการทำงานของภาครัฐยังไม่เป็นดิจิทัลในการรองรับระบบงานที่เปลี่ยนไปในสถานการณ์วิกฤต          2) ศึกษาและทบทวนระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐพ.ศ. 2560 ให้สามารถดำเนินการแบบออนไลน์ ครบวงจร และเร่งรัดพัฒนาระบบบริหารงบประมาณ การเงิน บัญชี และพัสดุ (Agency Financial Management Information System: AFMIS) เพื่อนำมาใช้เป็นต้นแบบและสนับสนุนการดำเนินงาน back office รวมทั้งประสาน ดศ. ทบทวนกฎหมายให้สามารถจัดการประชุมออนไลน์ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างได้ (ปัจจุบันกรมบัญชีกลางได้แก้ไขระเบียบดังกล่าวแล้ว และแจ้งเวียนแนวทางให้ส่วนราชการถือปฏิบัติแล้ว)
3) เตรียมความพร้อมทั้งเครื่องมือและอุปกรณ์ให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด รวมทั้งกำลังคนเพื่อรองรับนโยบาย Work From Home
4) ให้หน่วยงานภาครัฐจัดทำแผนการบริหารความพร้อมต่อสภาวะวิกฤตครอบคลุมความเสี่ยงทุกประเภททั้งในระดับหน่วยงาน ส่วนกลาง และหน่วยปฏิบัติ รวมทั้งกำหนดมาตรการกำกับให้มีการปฏิบัติตามแผน          - กระทรวงการคลัง (กรมบัญชีกลาง) และ ดศ.


















- ทุกส่วนราชการ




- ทุกส่วนราชการ
ประเด็นที่ 5 การดำเนินงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) ในสภาวะวิกฤต
(1) การติดตามและประเมินผลด้าน ววน. ในภาพรวมของประเทศไม่มีการเชื่อมโยงและส่งต่อระหว่างหน่วยงานภายใน และภายนอก อว.
(2) การขาดกลไกการติดตามประเมินผลที่เข้มข้นและเป็นระบบ โดยเฉพาะการดำเนินงานจากงบประมาณที่ไม่ได้จัดสรรผ่านกองทุนส่งเสริม ววน. ทำให้ไม่สามารถนำผลการประเมินไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาต่อได้          1) สนับสนุนงานวิจัยทางด้าน ววน. ให้มีลักษณะวิจัยแบบเร่งด่วนที่สามารถเห็นผลได้ในระยะสั้นหรือเร่งด่วนที่สามารถตอบโจทย์ในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว
2) สนับสนุนทุนวิจัยเกี่ยวกับนวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการแข่งข้นของประเทศนำไปสู่การต่อยอดและขยายผลได้
3) ควรมีการทบทวนและประเมินผลงานนวัตกรรมที่ได้ดำเนินการในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต          - อว.







- อว.



- อว.

                    2. ค.ต.ป. ในคราวประชุม ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2563 และครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2563 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบรายงานผลการประเมินตนเองของ ค.ต.ป. คณะต่าง ๆ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 สรุปได้ดังนี้
                              2.1 ผลการประเมินตนเองของ ค.ต.ป. อ.ค.ต.ป. คณะต่าง ๆ และ ค.ต.ป. ประจำกระทรวง ใน 4 ด้าน ได้แก่ 1) องค์ประกอบและแนวปฏิบัติของคณะกรรมการ (skill) 2) ความรู้ ความเข้าใจในการดำเนินการ (knowledge) 3) การรายงานผลจากการตรวจสอบฯ (output) และ 4) การบรรลุเป้าหมายของการดำเนินการ (outcome) มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
                                        (1) สรุปผลการประเมินตนเองฯ ครั้งที่ 1 ค.ต.ป. มีผลการปฏิบัติงานเฉลี่ยรวมอยู่ในระดับดีเยี่ยม โดยด้านองค์ประกอบและแนวปฏิบัติของคณะกรรมการมีผลการประเมินสูงที่สุด และภาพรวมผลการประเมินตนเองของ อ.ค.ต.ป. คณะต่าง ๆ และ ค.ต.ป. ประจำกระทรวง มีผลการปฏิบัติงานเฉลี่ยรวมอยู่ในระดับดีมาก โดยด้านองค์ประกอบและแนวปฏิบัติของคณะกรรมการ มีผลการประเมินสูง
                                        (2) สรุปผลการประเมินตนเองฯ ครั้งที่ 2 ค.ต.ป. มีผลการปฏิบัติงานเฉลี่ยรวมอยู่ในระดับดีมาก โดยด้านองค์ประกอบและแนวปฏิบัติของคณะกรรมการ มีผลการประเมินสูงที่สุด และภาพรวมผลการประเมินตนเองของ อ.ค.ต.ป. คณะต่าง ๆ และ ค.ต.ป. ประจำกระทรวง ผลการปฏิบัติงานเฉลี่ยรวมอยู่ในระดับดีมาก โดยด้านองค์ประกอบและแนวปฏิบัติของคณะกรรมการมีผลการประเมินสูงที่สุด
                              2.2 ความเห็นและข้อเสนอแนะของ ค.ต.ป. คณะต่าง ๆ ที่มีต่อแนวทางการตรวจสอบและกลไกการดำเนินงาน เช่น ควรมีกระบวนการติดตามความคิดเห็นของประชาชนที่เกี่ยวข้องถึงความพึงพอใจต่อการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ ค.ต.ป. คณะต่าง ๆ การจัดประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และการประชาสัมพันธ์งาน ค.ต.ป. เพื่อให้เกิดการรับรู้ ความเข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญของการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ นอกจากนี้ การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลควรมุ่งเน้นการตรวจติดตามและประเมินผลภาคราชการในลักษณะที่เป็นการส่งสัญญาณเตือนล่วงหน้า (early warning) ให้มากขึ้น เพื่อให้ได้ข้อเสนอแนะที่สามารถนำไปปรับปรุง แก้ไขปัญหาได้ทันที และลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น
                              2.3 ฝ่ายเลขานุการ ค.ต.ป. ได้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะดังกล่าว โดยได้จัดทำแผนประชาสัมพันธ์การดำเนินงานที่สำคัญของ ค.ต.ป. ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจการดำเนินงานของ ค.ต.ป. ผ่านช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ การสร้างกลุ่มไลน์เพื่อเป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนความรู้ และเป็นช่องทางการติดต่อระหว่าง อ.ค.ต.ป. คณะต่าง ๆ และ ค.ต.ป. ประจำกระทรวง นอกจากนี้ ได้มีการกำหนดแผนเพื่อให้มีการติดตามในลักษณะที่เป็นการส่งสัญญาณเตือนล่วงหน้า (early warning) โดย อ.ค.ต.ป. คณะต่าง ๆ ได้เสนอประเด็นการตรวจสอบที่เห็นว่า มีความสำคัญเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการกำหนดมาตรการหรือแนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อให้ทันสถานการณ์ เช่น ประเด็นการพัฒนาเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจให้เป็นเมืองน่าอยู่เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก (OTOP/SME) การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และประสิทธิภาพของระบบฐานข้อมูลในการดำเนินงานสวัสดิการภาครัฐ : ระบบหลักประกันสุขภาพ


14. เรื่อง รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนพฤษภาคม 2564
                    คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนพฤษภาคม 2564 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ ดังนี้
                    สาระสำคัญ
                    ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคม 2564 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ขยายตัวร้อยละ 25.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์จากฐานเปรียบเทียบในเดือนพฤษภาคม 2563 ที่ต่ำ ซึ่งเป็นเดือนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดในระลอกแรก รวมถึงในปีนี้การส่งออกมีการขยายตัวได้ดี
                    อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI เดือนพฤษภาคม 2564 ขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน คือ
                    1. รถยนต์และชิ้นส่วน เพิ่มขึ้นร้อยละ 151.44 จากฐานต่ำ เนื่องจากปีก่อนอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกแรกและเพิ่งเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์
                    2. เครื่องปรับอากาศ และชิ้นส่วน เพิ่มขึ้นร้อยละ 90.25 จากฐานต่ำในปีก่อนตามผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และมาตรการล็อกดาวน์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยปีนี้ผู้ผลิตได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่ตอบสนองและจูงใจผู้บริโภค (ประหยัดพลังงานและกรองอากาศจากฝุ่นและเชื้อโรค) รวมถึงตลาดส่งออกขยายตัวดี หลังประสบปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และเรือขนส่งสินค้าในเดือนก่อน
                    3. ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.35 จากความต้องการของตลาดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของโลกที่มีทิศทางเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามปัจจัยบวกของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วและมีความต้องการใช้ในหลากหลายผลิตภัณฑ์มากขึ้น
                    4. เหล็กและเหล็กกล้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 40.28 ตามความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ที่เติบโตได้มากขึ้นหลังจากชะลอตัวตามสถานการณ์โควิด-19 จากมาตรการล็อกดาวน์และการหยุดผลิตชั่วคราวของผู้ผลิตอุตสาหกรรมปลายน้ำในช่วงปีก่อน (ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า) รวมถึงการเร่งดำเนินการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานต่าง ๆ ในปีนี้
                    5. ยางรถยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 167.86 จากฐานต่ำในปีก่อน ในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกแรก ทำให้ประเทศคู่ค้า อย่างเช่น จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์และสหรัฐอเมริกา ล็อกดาวน์ประเทศและชะลอคำสั่งซื้อ รวมถึงปีนี้ผู้ผลิตมีการปรับลดราคาสินค้าเพื่อกระตุ้นตลาดด้วย

15. เรื่อง ขยายขอบเขตมาตรการบรรเทาผลกระทบอันเนื่องมาจากข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 30)
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอดังนี้
                    1. เห็นชอบการขยายขอบเขตมาตรการบรรเทาผลกระทบและให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่สถานการณ์ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 และมอบหมายให้สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ดำเนินการจัดทำรายละเอียดและนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป
                    2. มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม พิจารณาจัดทำข้อเสนอโครงการเพื่อให้ความช่วยเหลือกลุ่มอาชีพผู้ขับรถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่) และรถจักรยานยนต์สาธารณะที่มีอายุเกิน 65ปี ที่ไม่สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ฉบับแก้ไข โดยพิจารณาจากฐานข้อมูลการจดทะเบียนอนุญาตผู้ขับรถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่) และรถจักรยานยนต์สาธารณะ เพื่อให้ความช่วยเหลือเป็นไปอย่างเหมาะสม และสามารถยืนยันตัวตน ตรวจสอบได้ และนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป
                    สาระสำคัญ
                    1. การขยายขอบเขตมาตรการบรรเทาผลกระทบและให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่สถานการณ์ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564
                    สืบเนื่องจากข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 (ฉบับที่ 30) ได้มีการปรับปรุงเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเพิ่มเติมจากข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 28 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ จากเดิม 13 จังหวัด เป็น 29 จังหวัด และกำหนดมาตรการควบคุมแบบบูรณาการที่กำหนดเงื่อนไขสำหรับสถานประกอบการต่าง ๆ โดยสรุปการขยายขอบเขตมาตรการบรรเทาผลกระทบได้ดังนี้
                              1.1. พื้นที่ดำเนินการ : ขยายพื้นที่จากเดิม 13 จังหวัด เป็น 29 จังหวัด โดยเพิ่มเติมจังหวัดกาญจนบุรี ตาก นครนายก นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี เพชรบุรี เพชรบูรณ์ ระยอง ราชบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี สมุทรสงคราม สระบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง
                              1.2 กลุ่มเป้าหมายให้ความช่วยเหลือ : คงเดิม โดยครอบคลุมถึงกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการในกิจการที่ได้รับผลกระทบ ทั้งในส่วนที่อยู่ในระบบประกันสังคมและไม่อยู่ในระบบประกันสังคม
                              1.3 ประเภทกิจการที่ให้ความช่วยเหลือ : กิจการในระบบประกันสังคมจะครอบคลุม                9 สาขา และในกลุ่มผู้ประกอบการในระบบ ?ถุงเงิน? ภายใต้โครงการคนละครึ่งและโครงการเราชนะในปัจจุบันที่ผ่านการคัดกรองแล้วและไม่เป็นผู้ถูกตัดสิทธิ์จากกระทรวงการคลัง จำนวน 5 กลุ่ม
                              1.5 รูปแบบการให้ความช่วยเหลือ : รูปแบบการให้ความช่วยเหลือเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 เรื่องขอขยายขอบเขตมาตรการบรรเทาผลกระทบและการปรับปรุงรายละเอียดของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 เรื่องมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการอันเนื่องมาจากข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 27)
                              1.5 ระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือ : ขยายการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการและแรงงานที่ได้รับผลกระทบในกลุ่ม 13 จังหวัดแรกจากเดิมที่กำหนดไว้ในเดือนกรกฎาคม 2564 เป็นจากเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม ๒๕๖๔ จำนวน 2 เดือน และกลุ่ม 16 จังหวัดที่เพิ่มเติมตามข้อกำหนด ฉบับที่ 30 จำนวน                 1 เดือน (สิงหาคม)
                              1.6 ขยายกรอบวงเงินการให้ความช่วยเหลือ จากเดิมประมาณ 30,000 ล้านบาท เป็นประมาณ 60,000 ล้านบาท
                    3. การพิจารณามาตรการให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มอาชีพผู้ขับรถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่) และรถจักรยานยนต์สาธารณะที่มีอายุเกิน 65 ปี ที่ไม่สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ฉบับแก้ไข ทำให้ไม่สามารถได้รับความช่วยเหลือตามมาตรการลดผลกระทบและให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่สถานการณ์ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 รวมถึงพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเพิ่มเติมจากข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 28 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ จากเดิม 13 จังหวัด เป็น 29 จังหวัด ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 (ฉบับที่ 30) ได้ ดังนั้น เพื่อให้การช่วยเหลือตามมาตรการลดผลกระทบและให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่สถานการณ์ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเป็นไปอย่างครอบคลุมและทั่วถึง จึงเห็นควรมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม พิจารณาจัดทำข้อเสนอโครงการเพื่อให้ความช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายดังกล่าว โดยพิจารณาจากฐานข้อมูลการจดทะเบียนอนุญาตผู้ขับรถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่) และรถจักรยานยนต์สาธารณะ เพื่อให้ความช่วยเหลือเป็นไปอย่างเหมาะสม และสามารถยืนยันตัวตนตรวจสอบได้

16. เรื่อง มาตรการบรรเทาผลกระทบของประชาชนในการติดต่อราชการเพื่อขออนุญาตกับหน่วยงานของรัฐจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการบรรเทาผบกระทบของประชาชนในการติดต่อราชการเพื่อขออนุญาตกับหน่วยงานของรัฐจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ ดังนี้
                    สาระสำคัญ
                    1. สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ศึกษากระบวนงานอนุญาตของหน่วยงานของรัฐที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อติดต่อราชการ (www.info.go.th) พบว่า กระบวนงานอนุญาตของหน่วยงานของรัฐที่ส่งผลให้เกิดภาระค่าปรับ เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม หรือเงินอื่นใดที่กฎหมายกำหนดให้ต้องชำระเพิ่มเติมในกรณีดำเนินการล่าช้า และ/หรือการเสียสิทธิในการกระทำของประชาชน มีจำนวน 311 กระบวนงาน โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
                              (1) การขอต่ออายุใบอนุญาต จำนวน 295 กระบวนงาน อาทิ การขอต่ออายุใบขับขี่ การขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าว การขอต่ออายุใบอนุญาตเกี่ยวกับยา
                              (2) การชำระภาษี หรือเงินอื่นใด จำนวน 11 กระบวนงาน อาทิ การชำระภาษีรถ การชำระภาษีป้าย รวมถึงการชำระเงินสมทบกองทุนประกันสังคม และกองทุนเงินทดแทน
                              (3) การรับแจ้ง จำนวน 5 กระบวนงาน อาทิ การรับแจ้งที่พักอาศัยของคนต่างด้าว กรณีอยู่ในราชอาณาจักรเกิน 90 วัน การขออยู่ต่อในราชอาณาจักรของบุคคลต่างด้าว
                    2. ปัจจุบันมีหน่วยงานของรัฐหลายแห่งได้ออกมาตรการบรรเทาผลกระทบของประชาชนที่เกี่ยวข้องกับกรณีข้างต้น เช่น กระทรวงคมนาคมและสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีมาตรการผ่อนผันการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ถือใบอนุญาตขับรถและใบอนุญาตเป็นผู้ประจำรถที่หมดอายุแล้วให้สามารถใช้แสดงต่อเจ้าหน้าที่ได้จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 หรือจนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง กระทรวงการคลังมีมาตรการขยายระยะเวลาการยื่นภาษีประจำปี กระทรวงแรงงานมีมาตรการผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวตามกลุ่มมติคณะรัฐมนตรีต่าง ๆ และกลุ่มที่ใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวสิ้นสุดลงเพราะผลของกฎหมาย สามารถอยู่ในราชอาณาจักรต่อได้เป็นกรณีพิเศษ กระทรวงมหาดไทยมีมาตรการขยายระยะเวลาดำเนินการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสำหรับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจำปี พ.ศ. 2564  ออกไปอีก 2 เดือน กระทรวงสาธารณสุขมีมาตรการขยายระยะเวลายกเว้นค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพรายปี เป็นต้น ซึ่งควรผลักดันให้หน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการอนุญาตทุกแห่งพิจารณาการมีมาตรการบรรเทาผลกระทบของประชาชนในการติดต่อราชการเพื่อการขออนุญาตต่าง ๆ
                    3. สำนักงาน ก.พ.ร. ในฐานะหน่วยงานกลางซึ่งมีภารกิจหลักในการพัฒนาประสิทธิภาพในการบริหารราชการและให้บริการประชาชนของหน่วยงานภาครัฐ เห็นว่า เพื่อเป็นการสนับสนุนการดำเนินการตามข้อกำหนดและข้อปฏิบัติต่าง ๆ รวมถึงลดผลกระทบของประชาชนจากการติดต่อหน่วยงานของรัฐ จึงเห็นควรกำหนดมาตรการบรรเทาผลกระทบของประชาชนในการติดต่อราชการเพื่อขออนุญาตกับหน่วยงานของรัฐจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ดังนี้
                              3.1 ให้หน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการอนุญาต การรับแจ้ง การรับชำระภาษี หรือเงินอื่นใด พิจารณาขยายระยะเวลาการต่ออายุใบอนุญาต การแจ้ง การชำระภาษีหรือเงินอื่นใด ที่บุคคลต้องชำระให้แก่หน่วยงานของรัฐ ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ในเบื้องต้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยให้พิจารณางดหรือยกเว้นค่าปรับ เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม หรือเงินอื่นใดที่กฎหมายกำหนดให้ต้องชำระเพิ่มเติมในกรณีดำเนินการล่าช้า ภายใต้กรอบอำนาจตามกฎหมาย หากมีปัญหาอุปสรรคว่ากฎหมายมิได้เปิดช่องหรือให้อำนาจหน่วยงานของรัฐในการงดหรือยกเว้นค่าปรับ เบี้ยปรับ หรือเงินเพิ่มแล้ว ให้รายงานปัญหาอุปสรรคดังกล่าวมายังสำนักงาน ก.พ.ร. ภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2564 เพื่อที่สำนักงาน ก.พ.ร. จะได้รวบรวมเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป
                              ทั้งนี้ เมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามข้อ 3.1 ให้หน่วยงานของรัฐพิจารณาชะมาตรการบรรเทาผลกระทบของประชาชนดังกล่าวอย่างต่อเนื่องและให้สอดคล้องกับระยะเวลาตามประกาศ เรื่อง การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ในแต่ละคราว) จนกว่าจะมีการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
                              3.2 ให้หน่วยงานของรัฐเร่งพัฒนาประสิทธิภาพการทำงาน และงานบริการของภาครัฐให้ประชาชนสามารถติดต่อขอรับบริการจากหน่วยงานของรัฐได้ทุกที่ ทุกเวลา ไม่ต้องเดินทางไปติดต่อ ณ สำนักงาน โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการให้บริการสาธารณะตั้งแต่ต้นจนเสร็จสิ้นกระบวนการ

17. เรื่อง ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้พระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2564
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 (พระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564) ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่                 30 กรกฎาคม 2564 ได้มีมติที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณากลั่นกรองความเหมาะสมของข้อเสนอแผนงานหรือโครงการเพื่อขอใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ดังนี้
                    1. อนุมัติโครงการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ตามมาตรการที่ 1 โดยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา จำนวน 2,000 บาทต่อคน ในภาคการศึกษาที่ 1/2564 กรอบวงเงิน 21,905.9200 ล้านบาท โดยใช้จ่ายเงินกู้ภายใต้แผนงาน/โครงการกลุ่มที่ 2 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ทั้งนี้ เห็นควรมอบหมายให้ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พิจารณากำหนดกลไกการตรวจสอบยืนยันตัวตนของผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือที่ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดการให้ความช่วยเหลือที่ซ้ำซ้อนของนักเรียน/นักศึกษาในสถานศึกษาทั้งหมดในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการทั้งสถานศึกษาของรัฐและสถานศึกษาเอกชน และนอกสังกัดกระทรวงศึกษาธิการควบคู่กับการกำหนดหลักเกณฑ์และระบบการจัดเก็บเอกสารและหลักฐานต่าง ๆ ที่ใช้ในการเบิกจ่ายอย่างชัดเจน เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้
                    2. เห็นควรมอบหมายให้ หน่วยงานต้นสังกัดของสถานศึกษาเป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการ ดำเนินการจัดทำความต้องการใช้จ่ายเป็นรายสัปดาห์ เพื่อให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะสามารถจัดหาเงินกู้เพื่อใช้จ่ายโครงการตามแผนการใช้จ่ายเงินที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายทางการเงินของภาครัฐ พร้อมทั้งปฏิบัติตามข้อ 15 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 พ.ศ. 2564 (ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564) โดยเคร่งครัดตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ เห็นควรให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ทำหน้าที่เบิกจ่ายแทนกันให้สถานศึกษาในสังกัด องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล
                    3. มอบหมายให้สถานศึกษาของรัฐ เบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการจัดการเรียนการสอนและการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามระเบียบของทางราชการ และในกรณีที่สถานศึกษามีความจำเป็นต้องขอรับความช่วยเหลือค่าใช้จ่ายดังกล่าวเพิ่มเติมจากภาครัฐให้เสนอขอรับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายดังกล่าวจากแหล่งเงินอื่น ๆ อาทิ เงินกองทุนต่าง ๆ เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ได้ตามความเหมาะสมและความจำเป็นตามขั้นตอนของระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ กรณีสถานศึกษาที่อยู่ภายใต้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรพิจารณาใช้แหล่งเงินอุดหนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นลำดับแรก
                    4. อนุมัติโครงการมาตรการการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของนิสิต นักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐและเอกชน ของสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กรอบวงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงานที่ 2 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ทั้งนี้เห็นควรมอบหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เร่งประสานกับกรมบัญชีกลาง เกี่ยวกับการกำหนดแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการเบิกจ่ายเงินแทนกันของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ และสถาบันอุดมศึกษาในกำกับและหน่วยงานในกำกับอื่นของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อให้การเบิกจ่ายเงินตามโครงการฯ เป็นไปโดยถูกต้องตามระเบียบของทางราชการและสามารถตรวจสอบได้ นอกกจากนี้ เห็นควรให้สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พิจารณากำหนดกลไกการตรวจสอบยืนยันตัวตนของผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือที่ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนของนิสิต นักคึกษาระดับอุดมศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐและเอกชนในภาคเรียนที่ 1 ที่ได้รับความช่วยเหลือ ควบคู่กับการกำหนดหลักเกณฑ์และระบบการจัดเก็บเอกสารและหลักฐานต่าง ๆ ที่ใช้ในการเบิกจ่ายอย่างชัดเจน เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปอย่างโปร่งใส และ ตรวจสอบได้
                    5. เห็นควรมอบหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการ ดำเนินการจัดทำความต้องการใช้จ่ายเป็นรายสัปดาห์ เพื่อให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ สามารถจัดหาเงินกู้เพื่อใช้จ่ายโครงการตามแผนการใช้จ่ายเงินที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายทางการเงินของภาครัฐ พร้อมทั้งปฏิบัติตามข้อ 15 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 โดยเคร่งครัดตามขั้นตอนต่อไป

18. เรื่อง มาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
                    คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้
                     ความเป็นมา
                    1. ด้วยนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 26/2563 ลงวันที่ 11 สิงหาคม 2563 เรื่อง การบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีรองนายกรัฐมนตรี รวมทั้งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นกรรมการในคณะกรรมการดังกล่าวด้วย ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจ (1) จัดทำข้อเสนอและกรอบแนวทางการดำเนินมาตรการเศรษฐกิจ โดยแบ่งเป็นสองระยะ ประกอบด้วย (1.1) ระยะเร่งด่วน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และ (1.2) ระยะปานกลางและระยะยาวเพื่อยกระดับศักยภาพและวางรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคตภายหลังจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สิ้นสุด (2) สั่งการส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งขอความร่วมมือภาคเอกชน ให้ดำเนินการเป็นไปตามนโยบายและมาตรการเร่งด่วนที่กำหนด ... ฯลฯ ...
                    2. ข้อเท็จจริง มีดังนี้
                              2.1 ตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 102 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ?การงดหรือลดค่าปรับให้แก่คู่สัญญา หรือการขยายเวลาทำการตามสัญญาหรือข้อตกลง ให้อยู่ในดุลพินิจของผู้มีอำนาจที่จะพิจารณาได้ตามจำนวนวันที่มีเหตุเกิดขึ้นจริง เฉพาะในกรณีดังต่อไปนี้ (1) เหตุเกิดจากความผิดหรือความบกพร่องของหน่วยงานของรัฐ (2) เหตุสุดวิสัย (3) เหตุเกิดจากพฤติการณ์อันหนึ่งอันใดที่คู่สัญญาไม่ต้องรับผิดตามกฎหมาย และ (4) เหตุอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง? ซึ่งกฎหมายบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของหัวหน้าหน่วยงานของรัฐใช้ดุลพินิจให้ความช่วยเหลือเป็นรายสัญญาได้ตามจำนวนวันที่มีเหตุเกิดขึ้นจริง
                              2.2 เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 กรมบัญชีกลางได้ดำเนินการ ดังนี้
                                        (1) กำหนดให้ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เป็นเหตุสุดวิสัยตามพระราชบัญญัติฯ มาตรา 102 วรรคหนึ่ง (2) และกำหนดแนวทางการบริหารสัญญาที่ได้รับผลกระทบจากกรณีโรคโควิด 19 ตามหนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) 0405.2/ว  ลงวันที่ 24 เมษายน 2563
                                        (2) กำหนดแนวทางการใช้ดุลพินิจเกี่ยวกับการพิจารณางดหรือลดค่าปรับให้แก่คู่สัญญาหรือการขยายระยะเวลาทำการตามสัญญาหรือข้อตกลง ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีโรคโควิด 19 พร้อมหลักฐานหรือเอกสารที่ใช้ประกอบการพิจารณาตามพระราชบัญญัติฯ มาตรา 102 วรรคหนึ่ง ตามหนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) 0405.2/ว 423 ลงวันที่ 10 กันยายน 2563
                    3. เนื่องจากพระราชบัญญัติฯ มาตรา 102 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของหัวหน้าหน่วยงานของรัฐที่ใช้ดุลพินิจพิจารณา แต่หัวหน้าหน่วยงานของรัฐใช้ดุลพินิจตามพระราชบัญญัติฯ มาตรา 102 วรรคหนึ่ง พิจารณาและมีความเห็นไม่ตรงกันกับผู้ประกอบการที่เป็นคู่สัญญา หรือในบางกรณีหัวหน้าหน่วยงานของรัฐไม่พิจารณาให้แก่คู่สัญญาเลยเนื่องจากเป็นการใช้ดุลพินิจที่ปลอดภัยจากการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งคู่สัญญาไม่เห็นด้วยกับการใช้ดุลพินิจดังกล่าว จึงทำให้สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และผู้ประกอบการก่อสร้างรวมตัวกัน โดยได้มีหนังสือขอความเป็นธรรมเหตุอันเกิดจากโรคโควิด 19 มายังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อธิบดีกรมบัญชีกลาง ผู้ตรวจการแผ่นดิน รวมทั้งร้องเรียนผ่านรองประธานวุฒิสภาถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่มีผลทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถดำเนินการได้ตามสัญญา เช่น การขาดแคลนแรงงาน ขาดวัสดุก่อสร้างบางชนิดที่นำเข้าจากต่างประเทศทำให้งานล่าช้า มีผลทำให้ผู้ประกอบการได้รับความเดือดร้อน และมีความประสงค์ขอให้รัฐบาลมีแนวทางการช่วยเหลือซึ่งเป็นการคิดในลักษณะเหมารวม เหมือนเช่นก่อนที่พระราชบัญญัติฯ จะมีผลใช้บังคับ (วันที่ 23 สิงหาคม 2560)
                    ทั้งนี้ แนวทางการดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 26/2563 ลงวันที่ 11 สิงหาคม 2563 เรื่อง การบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    กระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว เห็นควรมีแนวทางการช่วยเหลือเป็น 4 แนวทาง ดังนี้
                    1. มาตรการช่วยเหลือโดยการหักกลบจำนวนค่าปรับ
                              1.1 หลักการ : ตามพระราชบัญญัติฯ มาตรา 102 วรรคหนึ่ง ไม่สามารถนำมาเป็นเครื่องมือเพื่อให้ความช่วยเหลือฯ ได้ จึงจะอาศัยระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกเงินจากคลัง การรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน และการนำเงินส่งคลัง พ.ศ. 2562 ข้อ 35 มาเป็นเครื่องมือ ทั้งนี้ ภายใต้วิธีคิดว่าจะไม่ใช้เงินงบประมาณ และไม่ควรให้ความช่วยเหลือกับผู้ประกอบการที่ปกติก็ทำงานล่าช้าอยู่แล้ว
                              1.2 หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือ
                                        (1) การให้ความช่วยเหลือให้หน่วยงานของรัฐพิจารณาจำนวนวันให้ความช่วยเหลือตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 จนถึงวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความช่วยเหลือในครั้งนี้
                                        (2) สัญญาซื้อหรือจ้างที่ได้รับความช่วยเหลือตามมาตรการให้ความช่วยเหลือในครั้งนี้ มีดังนี้
                                                  (2.1) สัญญาซื้อหรือจ้างยังมีนิติสัมพันธ์อยู่ ณ วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความช่วยเหลือในครั้งนี้ และสัญญาดังกล่าวมีค่าปรับเกิดขึ้นแต่ไม่ใช่ค่าปรับที่เข้าเงื่อนไขการงดหรือลดค่าปรับตามมาตรา 102 แห่งพระราชบัญญัติฯ โดยพิจารณาให้ความช่วยเหลือสำหรับสัญญาซื้อหรือจ้าง ซึ่ง ณ วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติได้มีค่าปรับเกิดขึ้นแล้วแต่ไม่เกินร้อยละ 25 ของวงเงินค่าพัสดุหรือค่าจ้าง
                                                  (2.2) สัญญาซื้อหรือจ้าง ซึ่ง ณ วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ ได้มีค่าปรับเกินกว่าร้อยละ 25 ของวงเงินค่าพัสดุหรือค่าจ้าง ไม่ได้รับการให้ความช่วยเหลือตามมาตรการให้ความช่วยเหลือในครั้งนี้
                                        (3) ให้หน่วยงานของรัฐพิจารณาจำนวนค่าปรับตามสัญญา หลังจากนั้นให้นำจำนวนวันที่ให้ความช่วยเหลือตามข้อ (2.1) มาหักกลบ และเมื่อหักกลบแล้วยังมีค่าปรับเหลืออยู่ให้หน่วยงานของรัฐปรับและนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินหรือเป็นรายได้ของหน่วยงานของรัฐต่อไป
                                        (4) วิธีการ กรมบัญชีกลางเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบมาตรการฯ
                                        (5) ข้อดี ข้อเสีย
                                                  ข้อดี : แนวทางนี้รัฐบาลไม่มีภาระทางการคลัง เนื่องจากมาตรการนี้เป็นการนำจำนวนค่าปรับตามสัญญามาหักกลบตามมาตรการให้ความช่วยเหลือ หากจำนวนวันที่หักกลบตามมาตรการนี้มากกว่าจำนวนค่าปรับตามสัญญา กรณีนี้จะไม่มีค่าปรับใด ๆ อีก แต่หากเป็นกรณีเมื่อหักกลบแล้วยังมีค่าปรับเหลืออยู่ให้หน่วยงานของรัฐปรับและนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินหรือเป็นรายได้ของหน่วยงานของรัฐต่อไป
                                                  ข้อเสีย : แนวทางนี้อาจขัดต่อหลักการรับเป็นรับ จ่ายเป็นจ่าย ตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลัง
                    2. เสนอให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้มีอำนาจที่จะพิจารณาการงด หรือลดค่าปรับให้แก่คู่สัญญาหรือการขยายเวลาทำการตามสัญญา ตามพระราชบัญญัติฯ มาตรา 102 วรรคหนึ่ง ด้วย
                              2.1 หลักการ : เพื่อให้คณะรัฐมนตรี เป็นผู้มีอำนาจที่จะพิจารณาการงดหรือลดค่าปรับให้แก่คู่สัญญา หรือการขยายเวลาทำการตามสัญญา ด้วย เพื่อจะสามารถออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการภายใต้มาตรา 102 วรรคหนึ่ง ต่อไปได้
                              2.2 วิธีการ : กรมบัญชีกลางจะดำเนินการแก้ไขระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 6 จากเดิม ?ผู้มีอำนาจดำเนินการตามระเบียบนี้ ได้แก่ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าหน่วยงานของรัฐ? เป็น ?ผู้มีอำนาจดำเนินการตามระเบียบนี้ ได้แก่ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าหน่วยงานของรัฐ หรือ คณะรัฐมนตรี?
                              2.3 ข้อดี ข้อเสีย
                                        ข้อดี : แนวทางนี้รัฐบาลไม่มีภาระทางการคลัง
                                        ข้อเสีย : เนื่องจากกฎหมายยังมีความไม่ชัดเจน จึงอาจมีปัญหาในการแปลความเรื่องอำนาจตามกฎหมายที่อาจจะขัดกับเจตนารมณ์ที่แท้จริงของบทบัญญัติกฎหมายได้ กล่าวคือ การพิจารณาตีความพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 102 วรรคหนึ่ง ว่า ผู้มีอำนาจที่จะพิจารณาการงดหรือลดค่าปรับให้แก่คู่สัญญา หรือการขยายเวลาทำการตามสัญญา หรือข้อตกลงตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 102 วรรคหนึ่ง จะสามารถขยายความรวมถึงคณะรัฐมนตรี ได้หรือไม่ รวมทั้งการกำหนดจำนวนวันที่มีเหตุเกิดขึ้นจริงจะสามารถกำหนดระยะเวลาตามประกาศศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ฉบับแรกนับเวลาต่อเนื่องมาจนถึงประกาศฉบับปัจจุบัน ได้หรือไม่ และหากจำเป็นต้องพิจารณาถึงเจตนารมณ์ในการยกร่างพระราชบัญญัติฯ มาตรา 102 วรรคหนึ่ง ในขณะนั้น กรมฯ อาจต้องมีหนังสือหารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อพิจารณาต่อไป
                    3. การนำเงินงบประมาณหรือเงินอื่นมาช่วยเหลือผู้ประกอบการ
                              3.1 หลักการ : นำเงินงบประมาณหรือเงินอื่นมาจ่ายเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการรับเป็นรับ จ่ายเป็นจ่ายตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลัง
                              3.2 วิธีการ
                                        (1) กรมบัญชีกลางเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติงบประมาณเพื่อจ่ายเงินช่วยเหลือชดเชยให้แก่ผู้ประกอบการเท่ากับจำนวนวันที่รัฐบาลชดเชย กรมบัญชีกลางเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติงบประมาณเพื่อจ่ายเงินช่วยเหลือชดเชยให้แก่ผู้ประกอบการเท่ากับจำนวนวันที่รัฐบาลชดเชย จำนวนประมาณ 10,659.276 ล้านบาท โดยประมาณการมาจากข้อมูลในระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (e-GP) ซึ่งมีจำนวนสัญญา 6,889.472 สัญญา รวมมูลค่าสัญญาเป็นจำนวนทั้งสิ้น 1.973 ล้านล้านบาท เมื่อคิดค่าปรับในอัตราร้อยละ 10 เป็นเวลา 180 วัน โดยประมาณ
                                        (2) หน่วยงานของรัฐยังคงมีหน้าที่ปรับตามสัญญาและนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินหรือรายได้ของหน่วยงานของรัฐตามปกติ
                                        (3) ข้อดี ข้อเสีย
                                                  ข้อดี : ไม่ขัดต่อหลักการรับเป็นรับ จ่ายเป็นจ่ายตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลัง
                                                  ข้อเสีย : มีภาระต่องบประมาณของรัฐบาล และเนื่องจากยังมีการปรับตามปกติ หากผู้ประกอบการได้รับเงินช่วยเหลือล่าช้า อาจส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของผู้ประกอบการต่อไปได้
                      4. การกำหนดอัตราค่าปรับเป็นอัตราร้อยละ 0
                                4.1 หลักการ : เมื่ออัตราค่าปรับเป็นอัตราร้อยละ 0 ผู้ประกอบการก็จะไม่มีค่าปรับ ซึ่งเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการได้
                                4.2 หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือ มีดังนี้
                                          (1) สัญญาที่ได้ลงนามก่อนวันที่ 26 มีนาคม 2563 ซึ่งยังมีนิติสัมพันธ์อยู่ และสัญญาดังกล่าวมีค่าปรับเกิดขึ้นแต่ไม่ใช่ค่าปรับที่เข้าเงื่อนไขการงดหรือลดค่าปรับตามมาตรา 102 แห่งพระราชบัญญัติฯ หากจำนวนค่าปรับที่เกิดขึ้นมีมูลค่าเกินกว่าร้อยละ 25 ของวงเงินค่าพัสดุหรือค่าจ้างก่อนวันที่ 26 มีนาคม 2563 กรณีดังกล่าวไม่เข้าเกณฑ์ที่จะได้รับความช่วยเหลือ
                                         สัญญาที่ได้ลงนามก่อนวันที่ 26 มีนาคม 2563 ซึ่งยังมีนิติสัมพันธ์อยู่ และยังมิได้ส่งมอบงานงวดสุดท้าย หรือได้มีการส่งมอบงานงวดสุดท้ายก่อนวันที่มีประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงทั่วราชอาณาจักรอันเนื่องมาจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แต่ยังมิได้มีการตรวจรับพัสดุ และไม่เข้าตามเงื่อนไขตามวรรคหนึ่งให้คิดค่าปรับในอัตราร้อยละ 0
                                          (2) สัญญาที่ได้ลงนามหลังวันที่ 26 มีนาคม 2563 ซึ่งยังมีนิติสัมพันธ์อยู่และยังมิได้ส่งมอบงานงวดสุดท้าย หรือได้มีการส่งมอบงานงวดสุดท้ายก่อนวันที่มีประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงทั่วราชอาณาจักรอันเนื่องมาจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แต่ยังมิได้มีการตรวจรับพัสดุ ให้คิดค่าปรับในอัตราร้อยละ 0
                                          (3) สัญญาที่ได้ลงนามหลังวันที่มีประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงทั่วราชอาณาจักรอันเนื่องมาจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แล้ว จะไม่ได้รับความช่วยเหลือตามมาตรการนี้
                                         ทั้งนี้ การคิดค่าปรับในอัตราร้อยละ 0 ให้คิดตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 จนถึงก่อนวันที่มีประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงทั่วราชอาณาจักรอันเนื่องมาจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และกรณีที่หน่วยงานของรัฐได้พิจารณางดหรือลดค่าปรับให้แก่คู่สัญญา หรือการขยายระยะเวลาทำการตามสัญญาหรือข้อตกลงแล้ว ก็ให้นำจำนวนวันดังกล่าวมาหักออกจากจำนวนวันตามมาตรการนี้ และจำนวนวันที่เหลือ ให้คิดค่าปรับในอัตราร้อยละ 0
                                         สำหรับค่าปรับส่วนที่เกินจำนวนวันตามมาตรการนี้ ให้คิดในอัตราที่กำหนดในสัญญาหรือข้อตกลงตามปกติ โดยให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 183 ต่อไป
                                4.3 วิธีการ
                                          กรมบัญชีกลางจะเสนอคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ (คณะกรรมการวินิจฉัย) โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 29 วรรคหนึ่ง (4) เพื่ออนุมัติยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 162 ในเรื่องอัตราค่าปรับตามสัญญาหรือข้อตกลง ซึ่งกำหนดว่า ให้สัญญาหรือข้อตกลงกำหนดค่าปรับเป็นรายวันในอัตราตายตัวระหว่างร้อยละ 0.01 ? 0.20 ของราคาพัสดุที่ยังไม่ได้รับมอบ หรือกรณีการจ้างซึ่งต้องการผลสำเร็จของงานทั้งหมดพร้อมกันให้กำหนดค่าปรับเป็นรายวันเป็นจำนวนเงินตายตัวในอัตราร้อยละ 0.01 ? 0.10 ของราคางานจ้างนั้น แต่จะต้องไม่ต่ำกว่าวันละ 100 บาท โดยยกเว้นกรณีสัญญายังมีนิติสัมพันธ์อยู่ หากยังมิได้ส่งมอบงานงวดสุดท้าย หรือได้มีการส่งมอบงานงวดสุดท้าย แต่ยังมิได้มีการตรวจรับพัสดุ ให้คิดค่าปรับในอัตราร้อยละ 0 และรายงานคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐเพื่อทราบต่อไป
                                4.4 ข้อดี ข้อเสีย
                                          ข้อดี : แนวทางนี้รัฐบาลไม่มีภาระทางการคลัง และสามารถดำเนินการได้เลย เนื่องจากอยู่ในอำนาจของคณะกรรมการวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างฯ มาตรา 29 วรรคหนึ่ง (4)
                                           ข้อเสีย : ไม่มี
                     กระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว เห็นว่า แนวทางตามข้อ 4. การกำหนดอัตราค่าปรับเป็นอัตราร้อยละ 0 เป็นแนวทางที่เหมาะสมที่สุด เนื่องจากกรมบัญชีกลางสามารถเสนอเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยพิจารณาอนุมัติยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 162 และรายงานคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐเพื่อทราบต่อไป ดำเนินการได้อย่างไม่ล่าช้า และไม่มีภาระต่อเงินงบประมาณแต่อย่างใด

ต่างประเทศ

19. เรื่อง รายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทย (Universal Periodic Review: URP) รอบที่ 3
                    คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบเกี่ยวกับความคืบหน้าของกระบวนการจัดทำและนำเสนอรายงานประเทศตามกลไก Universal Periodic Review (URP) (รายงาน URP) ของประเทศไทยและสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดผลักดันประเด็นสำคัญที่ยังคั่งค้างให้แล้วเสร็จก่อนการนำเสนอรายงานดังกล่าวในช่วงเดือนสิงหาคม - ตุลาคม 2564 และให้ความเห็นชอบต่อร่างรายงาน URP รอบที่ 3 และอนุมัติให้กระทรวงการต่างประเทศสามารถแก้ไขรายงาน URP รอบที่ 3 ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญ ก่อนจัดส่งรายงานดังกล่าวให้กับคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ) ภายในวันที่ 9 สิงหาคม 2564 ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ ได้กำหนดให้ประเทศไทยจัดส่งรายงาน URP รอบที่ 3 ภายในวันที่ 9 สิงหาคม 2564 และเข้าร่วมการนำเสนอรายงานดังกล่าวในช่วงการประชุมคณะทำงาน URP สมัยที่ 39 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10 ? 12 พฤศจิกายน 2564 ณ สมาพันธรัฐสวิส โดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ ได้กำหนดให้จัดทำรายงานเป็นภาษาอังกฤษให้มีจำนวนคำไม่เกิน 10,700 คำ และมีเนื้อหาสาระครอบคลุมสิทธิมนุษยชนทุกประเภท ทั้งนี้ ต้องมีการกล่าวถึงพัฒนาการ ความสำเร็จ ตลอดจนความท้าทายต่าง ๆ รวมทั้งวิกฤติโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และความพยายามของรัฐบาลในการแก้ไขพร้อมกับทิศทางในอนาคต รวมทั้งกำหนดให้สำนักงานสหประชาชาติในพื้นที่และภาคประชาสังคม (ซึ่งรวมถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ) ส่งรายงานคู่ขนานเพื่อประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทยจากมุมมองของหน่วยงานดังกล่าวด้วย ดังนั้น ในการนำเสนอรายงาน URP รอบที่ 3 คณะทำงานจะพิจารณารายงานของทั้งภาครัฐ หน่วยงานภายใต้สหประชาชาติ และภาคประชาสังคมควบคู่กัน เพื่อให้รายงาน URP ของภาครัฐมีสาระที่ไม่ตรงกันข้ามหรือแตกต่างกับข้อมูลในรายงานที่จัดทำโดยภาคส่วนอื่น ๆ จนเกินไป ซึ่งสามารถสรุปสาระสำคัญรายงานดังกล่าวในแต่ละหัวข้อได้ ดังนี้
หัวข้อ          รายละเอียด
ประเด็นสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยให้ความสำคัญ: ความสำเร็จและความท้าทายบนเส้นทางของการเสริมพลังและการพัฒนาที่ยั่งยืน          - ความยั่งยืน คือ หัวใจของทุกสิ่งที่ประเทศไทยพยายามทำ โดยเชื่อมโยงกับประชาธิปไตย สันติภาพ และสิทธิมนุษยชน เพื่อสื่อถึงมุมมองในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่ครอบคลุมทุกด้าน บทบาทของภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน อาสาสมัคร ผู้หญิงและเด็ก และภาคส่วนอื่น ๆ ซึ่งความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทุกคนได้รับการส่งเริมและมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายในสังคมและการปกครอง โดยหลักการนี้ได้เคยสะท้อนไว้ในรายงานผลการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับชาติโดยสมัครใจ (Voluntary National Review: VNR) ฉบับแรกของประเทศไทย ณ เวทีหารือทางการเมืองระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (High-Level Political Forum on Sustainable Development: HLPF) ในปี พ.ศ. 2560 และ พ.ศ. 2564 นอกจากนี้ จากปัญหาการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ตระหนักว่า ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการฟื้นตัวของสังคมและเศรษฐกิจสะท้อนอยู่ในทุกมิติ รวมทั้งสิทธิมนุษยชนด้วย
- หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นพื้นฐานของแนวทางการดำเนินการของประเทศไทย โดยเน้นการเสริมสร้างความยืดหยุ่นและการส่งเสริมความยั่งยืนในการตอบสนองต่อวิกฤติในระดับบุคคล ชุมชน และประเทศ ซึ่งประเทศไทยได้แบ่งปันประสบการณ์ในการปรับใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับประเทศอื่นด้วย
กลไกด้านสิทธิมนุษยชน          คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็นองค์กรอิสระที่ดำเนินงานตาม รธน. และพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 รวมทั้งสอดคล้องกับหลักการปารีส ซึ่ง กสม. มีอำนาจหน้าที่ เช่น ตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในทุกกรณี จัดทำรายงานการประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศ แก้ไขและปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความสำคัญของสิทธิมนุษยชนให้แก่ทุกภาคส่วนของสังคม เป็นต้น นอกจากนี้ กสม. ได้เห็นชอบให้จัดตั้งสำนักงานภูมิภาคแห่งแรกในจังหวัดสงขลา ซึ่งมีภารกิจครอบคลุม 14 จังหวัด รวมทั้งจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย ซึ่งความคิดริเริ่มนี้สอดคล้องกับหลักการปารีสที่กำหนดให้สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพิ่มการเข้าถึงสำหรับสาธารณะ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล
การดำเนินการและทิศทางในอนาคต          - รัฐบาลได้สนับสนุนแพลตฟอร์มการสื่อสารที่เปีดกว้างและเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น เพื่อประโยชน์ของประชาชนและยังคงรักษาสิทธิของประชาชนในเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก ซึ่งส่งผลให้การส่งเสริมการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพและการสร้างความไว้วางใจระหว่างรัฐบาลกับสาธารณชนมีความสำคัญยิ่งขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลยังพยายามปรับปรุงกฎหมายและแนวปฏิบัติเพื่อให้แรงงานโยกย้ายถิ่นฐานมีสิทธิเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานเทียบเท่ากับคนไทย รวมทั้งสร้างความตระหนักรู้ให้กับหน่วยงานภาครัฐและประชาชนเกี่ยวกับความสำคัญของการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของสังคม
- ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านสิทธิมนุษยชนผ่านกลไกระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชนและกรอบอื่น ๆ ในอาเซียน รวมทั้งเครือข่ายความมั่นคงของมนุษย์และกลุ่มเพื่อนต่อความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งกลไกเหล่านี้รวมถึงกลไกที่จะสร้างขึ้นใหม่จะมีความสำคัญในการรักษาผลสำเร็จที่ได้มาแล้วและในการแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนอย่างมีประสิทธิภาพในขณะเดียวกันก็จะส่งเสริมความร่วมมือและเสริมสร้างศักยภาพเพื่อพัฒนาสิทธิมนุษยชนในประเทศ ภูมิภาค และทั่วโลก
- การระบาดใหญ่ของโรค COVD - 19 ได้เผยให้เห็นถึงความไม่แข็งแรง
และความเปราะบางของสังคมเมืองและผู้อาศัยต่อความยากจนและความเหลื่อมล้ำที่ขยายตัว ทั้งนี้ ประเทศไทยได้เข้าร่วมกลุ่มประเทศแกนนำที่สนับสนุน Sustainable Recovery Pledge: Building a better future for all, with human rights at its heart ซึ่งเน้นย้ำถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาที่ยั่งยืนในการดำเนินมาตรการฟื้นฟูจากโรค COVID - 19 โดยการดำเนินการดังกล่าวควรเป็นไปในลักษณะความร่วมมือกับทุกคนในสังคม ซึ่งเป็นแนวทางที่ประเทศไทยใช้มาโดยตลอด

                    ภายหลังจัดส่งรายงาน UPR รอบที่ 3 ต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ แล้ว  กระทรวงการต่างประเทศจะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมความพร้อมเรื่ององค์ประกอบคณะผู้แทนไทยที่จะเข้าร่วมการนำเสนอรายงานดังกล่าว ตลอดจนท่าทีของประเทศไทยในการตอบรับหรือไม่รับข้อเสนอแนะจากประเทศต่าง ๆ รวมทั้งเร่งผลักดันประเด็นที่ยังคั่งค้างให้แล้วเสร็จก่อนการนำเสนอรายงานดังกล่าวในช่วงเดือนกันยายน - ตุลาคม 2564 (เช่น การเข้าเป็นภาคี หรือการถอนข้อสงวนต่อสนธิสัญญาบางฉบับที่ประเทศไทยเป็นภาคี) ทั้งนี้ ในการนำเสนอรายงาน UPR ซึ่งเป็นการนำเสนอด้วยวาจา ดังนั้น หัวหน้าคณะผู้แทนและคณะผู้แทนไทยสามารถแจ้งความคืบหน้าเพิ่มเติมหรือพัฒนาการสำคัญอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นภายหลังการส่งรายงาน UPR ได้

20. เรื่อง รายงานความก้าวหน้าโครงการอาคารแสดงประเทศไทย งาน  World Expo 2020 Dubai และสถานะด้านงบประมาณ
                    คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานความก้าวหน้าโครงการอาคารแสดงประเทศไทยงาน World Expo 2020 Dubai และสถานะด้านงบประมาณ เพื่อให้การวางแผนการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ สามารถดำเนินการได้สอดคล้องตามกรอบเวลากำหนดจัดงานใหม่ [เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (17 กรกฎาคม 2561) ที่เห็นชอบแผนการดำเนินงานและกรอบงบประมาณเพื่อใช้จัดงานนิทรรศการ World Expo 2020 Dubai และมติคณะรัฐมนตรี (23 มิถุนายน 2563) ที่รับทราบการลงคะแนนรับรองข้อเสนอเลื่อนกำหนดจัดงาน  World Expo 2020 Dubai ซึ่งเดิมมีกำหนดจัดในวันที่ 20 ตุลาคม 2563-10 เมษายน 2564 เป็นวันที่ 1  ตุลาคม 2564-31มีนาคม 2565 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
ด้าน          ความก้าวหน้า
1. การก่อสร้างอาคารแสดงประเทศไทย          1.1 ปรับแผนงานให้สอดคล้องกับกำหนดจัดงานใหม่และแนวทางที่ประเทศเจ้าภาพกำหนด โดยขยายระยะเวลาโครงการจากเดิม 1,000 วัน เป็น 1,354 วัน รวมทั้งดำเนินการตามมาตรการด้านสาธารณสุขของประเทศเจ้าภาพในการควบคุมโรค
ทำให้เกิดค่าใช้จ่าย ณ เมืองดูไบที่นอกเหนือจากแผนงานเดิม ได้แก่
(1) ค่าสาธารณูปโภค (2) ค่าผู้คุมและแรงงานที่ได้รับใบอนุญาต (3) ค่าดูแลรักษาสภาพอาคาร (4) ค่าโกดังเก็บวัสดุและ (5) ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับมาตรการด้านสาธารณสุขและสวัสดิการแรงงาน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 11,111,850 บาท (ไม่รวมภาษีท้องถิ่นและภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งค่าใช้จ่ายดังกล่าวมีกำหนดชำระหลังสิ้นสุดโครงการและอยู่ในแผนงานที่จะยื่นขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2565
1.2 งานโครงสร้างหลักของอาคารแล้วเสร็จสมบูรณ์เมื่อเดือนมิถุนายน 2563 ปัจจุบันอยู่ในช่วงการติดตั้งงานระบบวิศวกรรมและงานสถาปัตยกรรมภายใน
โดยการก่อสร้างทั้งหมดมีกำหนดแล้วเสร็จเพื่อยื่นขอเอกสารรับรองอาคาร
ภายในเดือนสิงหาคม 2564 และพร้อมสำหรับเปิดทดลองใช้อาคาร
ในเดือนกันยายน 2564 ตามข้อกำหนดของประเทศเจ้าภาพ

2. การจัดทำนิทรรศการ          2.1 แบ่งการนำเสนอออกเป็น 4 ห้อง ได้แก่ (1) จัดแสดงเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์จำลองและราชรถจำลอง (2) ภาพยนต์มัลติมีเดียที่สะท้อนถึงประวัติศาสตร์ไทยและพระอัจฉริยภาพของพระมหากษัตริย์ไทย (3) ภาพยนต์มัลติมีเดียเกี่ยวกับความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และภาพในอนาคตของประเทศไทยและ (4) ภาพยนตร์สั้นบอกเล่าเสน่ห์ของประเทศไทยผ่านสายตาของชาวต่างชาติ
2.2 ปรับปรุงเนื้อหาภายในห้องนิทรรศการให้มีความทันสมัยและเพิ่มเติมเนื้อหาด้านการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของประเทศไทยเพื่อแสดงศักยภาพในด้านดังกล่าวสู่สายตานานาชาติ และเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานการควบคุมโรคอาคารแสดงประเทศไทยจึงจำเป็นต้องลดความจุของผู้เข้าชมอาคารต่อรอบจากเดิมประมาณ 120-150 คนต่อรอบ เป็นไม่เกิน 70 คนต่อรอบ ในทุก 4 นาที

3. การเข้าร่วมจัดกิจกรรมพิเศษและสถานภาพงบประมาณของหน่วยงาน          3.1 หน่วยงานพันธมิตรได้ยืนยันเข้าร่วมจัดกิจกรรมพิเศษตามกำหนดการใหม่
จำนวน 10 หน่วยงาน ได้แก่ (1) สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ(องค์การมหาชน) (2) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (3) กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) (4) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ (5) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.)(6) สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูดาบี และ สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองดูไบ กระทรวงการต่างประเทศ (7) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) (9) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กระทรวงพลังงาน และ (10) สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองดูไบ กระทรวงพาณิชย์
3.2 หน่วยงานพันธมิตร 3 หน่วยงานแจ้งว่าแผนงานในการขอรับการจัดสรร
งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นพ.ศ. 2565  ได้แก่ (1) กรมส่งเสริมการเกษตร กษ. กรอบวงเงิน 4,000,000 บาท(2) วธ. กรอบวงเงิน 4,000,000 บาท และ (3) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมอก. กรอบวงเงิน 4,500,000  บาท รวมกรอบวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น12,500,000 บาท

4. การประชาสัมพันธ์           4.1 เน้นการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ไปยังกลุ่มเป้าหมาย
ทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยมีประเด็นในการประชาสัมพันธ์ ได้แก่
ความก้าวหน้าในการก่อสร้างอาคาร ศักยภาพของประเทศไทย การเฉลิมฉลอง
ในโอกาสต่าง ๆ ของไทยและนานาชาติ ตลอดจนการมีส่วนร่วมในเครือข่าย
สื่อสังคมออนไลน์ของอาคารแสดงประเทศอื่น ๆ
4.2 ริเริ่มกรอบความร่วมมือเฉพาะกิจในระดับภูมิภาคเพื่อเพิ่มช่องทาง
ในการจัดกิจกรรมและการประชาสัมพันธ์ โดยจัดตั้ง ASEAN Coordination Groupเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนที่เข้าร่วมงาน
World Expo 2020 Dubai โดยที่ผ่านมาประธานของประเทศสมาชิก
(Commissioner General และ/หรือ ผู้แทน) ได้มีการจัดประชุมทางไกล
เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือในอนาคต โดยกรอบความร่วมมือดังกล่าว
จะขับเคลื่อนโดยการเป็นประธานร่วมกันระหว่างผู้แทนของประเทศเจ้าภาพ
และ Commissioner General ของประเทศประธานอาเซียนในปีนั้น


21. เรื่อง การประชุมรัฐมนตรีกลุ่มเคร์นส์อย่างไม่เป็นทางการ (Informal Gathering of Cairns Group Ministers)
                    คณะรัฐมนตรีรับทราบ (1) การเปลี่ยนแปลงชื่อการประชุมจากการประชุมรัฐมนตรีกลุ่มเคร์นส์ ครั้งที่ 42 เป็นการประชุมรัฐมนตรีกลุ่มเคร์นส์อย่างไม่เป็นทางการ (2) ผลการประชุมรัฐมนตรีกลุ่มเคร์นส์อย่างไม่เป็นทางการ และ (3) แถลงการณ์ของรัฐมนตรีกลุ่มเคร์นส์ วันที่ 23 มิถุนายน 2564 [คณะรัฐมนตรีมีมติ (22 มิถุนายน 2564) เห็นชอบในหลักการต่อร่างแถลงการณ์ของการประชุมรัฐมนตรีกลุ่มเคร์นส์ ครั้งที่ 42 และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเข้าร่วมรับรองร่างแถลงการณ์ดังกล่าว] โดยเป็นการประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกล ซึ่งมีผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ (นายสรรเสริญ สมะลาภา) เป็นหัวหน้าผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุม  สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
                    1. ผลการประชุมในภาพรวม
                    ที่ประชุมเห็นพ้องว่า การลดการอุดหนุนสินค้าเกษตรที่บิดเบือนการค้าควรเป็นผลลัพธ์ด้านการเจรจาสินค้าเกษตรที่ยอมรับได้ในการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก ครั้งที่ 12 โดยกรอบการเจรจาเรื่องการอุดหนุนภายในสินค้าเกษตรที่จัดทำโดยกลุ่มเคร์นส์สามารถนำไปเป็นพื้นฐานสำหรับการเจรจาเพื่อลดการอุดหนุนที่บิดเบือนการค้าสำหรับประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลกได้ รวมทั้งการให้ความสำคัญกับการปฏิรูปทุกสาขาของการเจรจาสินค้าเกษตรอย่างเท่าเทียม เช่น  การเปิดตลาดสินค้าเกษตร การยกเว้นการใช้มาตรการห้ามและจำกัดการส่งออกสำหรับอาหารที่ซื้อโดยโครงการอาหารโลก อีกทั้ง กลุ่มเคร์นส์ต้องขยายความร่วมมือและความสัมพันธ์กับสมาชิกนอกกลุ่มด้วย เช่น สหภาพยุโรปและกลุ่มแอฟริกา ทั้งนี้ ผู้อำนวยการองค์การการค้าโลกได้เน้นย้ำให้มีการปฏิรูปการเจรจาสินค้าเกษตรให้เป็นรูปธรรมหลังการเจรจามายาวนานกว่า 20 ปี และเห็นว่าความร่วมมือระหว่างกลุ่มเคร์นส์และกลุ่มแอฟริกาจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ช่วยให้สมาชิกองค์การการค้าโลกสามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้อย่างเป็นรูปธรรมและเป็นประโยชน์ต่อทุกประเทศสมาชิก โดยเฉพาะประเทศด้อยพัฒนาและประเทศกำลังพัฒนา
                    2. บทบาทและท่าทีของประเทศไทย (ไทย)
                    ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ (นายสรรเสริญฯ) ได้กล่าวถ้อยแถลงเพื่อแสดงเจตนารมณ์ของไทยในการผลักดันให้เกิดการปฏิรูปการค้าสินค้าเกษตรภายใต้องค์การการค้าโลก เช่น การสนับสนุนให้การค้าสินค้าเกษตรเป็นไปอย่างเสรีและเป็นธรรมการลดการบิดเบือนทางการค้า และการลดอุปสรรคทางการค้า โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และได้เสนอให้กลุ่มเคร์นส์สร้างพันธมิตร ?เพื่อนกลุ่มเคร์นส์? เพื่อผลักดันให้ข้อเสนอของกลุ่มได้รับการสนับสนุนมากยิ่งขึ้น
                    3. การรับรองแถลงการณ์ของรัฐมนตรีกลุ่มเคร์นส์
                    ที่ประชุมได้รับรองแถลงการณ์ของรัฐมนตรีกลุ่มเคร์นส์ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงชื่อเอกสารตามชื่อการประชุม แต่ยังคงมีสาระสำคัญตามหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (22 มิถุนายน 2564) เห็นชอบแล้ว โดยมีการเพิ่มเติมประเด็น ดังนี้
                              3.1 เน้นย้ำถึงการปฏิรูปการเจรจาสินค้าเกษตร ได้แก่ การอุดหนุนภายในการเปิดตลาด และการแข่งขันการส่งออก ให้มีความก้าวหน้าและเป็นไปอย่างสมดุล
                              3.2 เรียกร้องให้มีข้อตัดสินใจของรัฐมนตรีในการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก ครั้งที่ 12 เกี่ยวกับการปฏิรูปการอุดหนุนภายในสินค้าเกษตรที่บิดเบือนรวมทั้งผลักดันให้ข้อเสนอของกลุ่มเคร์นส์เรื่องกรอบการเจรจาการอุดหนุนภายในเป็นพื้นฐานให้สมาชิกนำไปหารือต่อไป
                              3.3 ยืนยันถึงความสำคัญในการส่งเสริมการดำเนินการตามพันธกรณีด้านความโปร่งใส โดยเฉพาะมาตรา 18 ของความตกลงว่าด้วยการเกษตรที่เกี่ยวข้องกับการแจ้งการอุดหนุนภายใน ที่กำหนดให้ประเทศสมาชิกแจ้งการใช้มาตรการการอุดหนุนในระยะเวลาที่เหมาะสมต่อสำนักเลขาธิการองค์การการค้าโลกเพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการเจรจาการปฏิรูปการค้าสินค้าเกษตร โดยให้สำนักเลขาธิการองค์การการค้าโลกปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันและพัฒนาเครื่องมือวิเคราะห์การอุดหนุนภายในของประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก
                    4. ผลกระทบ
                              4.1 การเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีกลุ่มเคร์นส์อย่างไม่เป็นทางการของไทยถือเป็นการส่งสัญญาณและประกาศเจตนารมณ์ในระดับนโยบายที่สำคัญในการผลักดันให้เกิดผลลัพธ์การเจรจาสินค้าเกษตรสำหรับการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก ครั้งที่ 12
                              4.2 แถลงการณ์ของการประชุมรัฐมนตรีกลุ่มเคร์นส์ เป็นการมุ่งเน้นการปฏิรูปการเจรจาสินค้าเกษตรให้มีความสมดุลและเป็นธรรม ซึ่งหากประเด็นเหล่านี้มีความคืบหน้าจะเป็นประโยชน์ต่อการขยายตลาดสินค้าเกษตรของไทยในฐานะประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญของโลก เนื่องจากที่ผ่านมามีหลายประเทศที่ใช้นโยบายอุดหนุนการเกษตรที่บิดเบือนการค้า ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกผันผวน และกระทบต่อไทยซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตร

22. เรื่อง บันทึกความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขแห่งราชอาณาจักรไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงอุตสาหกรรมแห่งราชอาณาจักรไทย และสำนักงานนโยบายด้านการดูแลสุขภาพ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแห่งญี่ปุ่น กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารแห่งญี่ปุ่น กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการแห่งญี่ปุ่น และกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมแห่งญี่ปุ่น สาขาการดูแลสุขภาพ
                    คณะรัฐมนตรีเห็นชอบต่อบันทึกความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขแห่งราชอาณาจักรไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงอุตสาหกรรมแห่งราชอาณาจักรไทย และสำนักงานนโยบายด้านการดูแลสุขภาพ สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแห่งญี่ปุ่น กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารแห่งญี่ปุ่น กระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการแห่งญี่ปุ่น และกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมแห่งญี่ปุ่น สาขาการดูแลสุขภาพ และอนุมัติให้เอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย เป็นผู้ลงนามในบันทึกความร่วมมือฯ ทั้งนี้ หากมีการแก้ไขถ้อยคำหรือประเด็นที่มิใช่สาระสำคัญของบันทึกความร่วมมือดังกล่าว ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ใช้ดุลยพินิจในเรื่องนั้น ๆ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก ตามที่กระทรวงสาธารณสุข เสนอ
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    บันทึกความร่วมมือดังกล่าวมีสาระสำคัญในการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในด้านการดูแลสุขภาพ ได้แก่ การให้บริการด้านการแพทย์ การฟื้นฟูสมรรถภาพ การดูแลผู้สูงอายุ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุข วัคซีน และอุปกรณ์การแพทย์และผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ การประกันสุขภาพถ้วนหน้า และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้งจะเป็นการบูรณาการความร่วมมือในการดูแลสุขภาพระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองประเทศ

23. เรื่อง ร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 27 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย - มาเลเซีย - ไทย (IMT-GT)
                    คณะรัฐมนตรีเห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 27 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย - มาเลเซีย - ไทย (IMT-GT) (Joint Statement  the 27th Ministerial Meeting of Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle (IMT-GT))  และหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติสามารถดำเนินการได้โดยนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบในภายหลัง หากมีการปรับปรุงแก้ไขพร้อมด้วยเหตุผลประกอบ
                    สาระสำคัญร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมฯ
1.          ตระหนักถึงความท้าทายระดับโลกในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ
ไวรัสโคโรนา (โควิด-19) โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือระดับอนุภูมิภาคเพื่อรับมือผลกระทบ
ดังกล่าว
                    2. ยินดีต่อผลการดำเนินงานของคณะทำงานแต่ละสาขาในปี 2564 และความสำเร็จของการประชุมคณะทำงานด้านสิ่งแวดล้อมครั้งแรก โดยรับทราบการดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้ การลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) ระหว่างอุทยานธรณีโลกลังกาวี (มาเลเซีย) อุทยาธรณีโลกสตูล (ไทย) และอุทยานธรณีโลกทะเลสาบโตบา (อินโดนีเซีย) การดำเนินโครงการแพลตฟอร์มการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของ IMT-GT การจัดทำกรอบความร่วมมือต้านการศุลกากร การตรวจคนเข้าเมือง และการตรวจโรคพืชและสัตว์  (CIQ) และความคืบหน้าของการดำเนินโครงการความร่วมมือเมืองยางพาราชอง IMT-GT
                    3. ระบุถึงแนวทางของแต่ละสาขาความร่วมมือขับเคลื่อนการดำเนินงานของ IMT-GT ในระยะต่อไป โดยส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานรวมทั้งสนับสนุนการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลในทุกสาขาความร่วมมือ และอำนวยความสะดวกในการพัฒนาธุรกิจรูปแบบใหม่ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในโลกยุคใหม่ นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้คณะทำงานแสวงหาแนวทางความร่วมมือข้ามสาขาอย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นในอนาคต
                    4. รับทราบถึงการดำเนินงานระยะสุดท้ายของเครือข่ายมหาวิทยาลัย IMT-GT (UNINET) ตามแผนงานยุทธศาสตร์ระยะ 5 ปี พ.ศ. 2560- 2565 โดยมอบหมายให้ UNINET ร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทบทวนเอกสารดังกล่าวและยกร่างแผนงานยุทธศาสตร์ระยะ 5 ปี พ.ศ. 2565-2569เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงานของ UNINET ในอนาคต นอกจากนี้ ยังยินดีต่อข้อริเริ่มในการขยายฐานสมาชิกไปสู่มหาวิทยาลัยเอกชน ซึ่งทำให้ UNINET สามารถดำเนินงานในฐานะองค์กรทางวิชาการสำหรับ IMT-GTเพื่อสนับสนุนคณะทำงานทุกสาขาในอนาคต
                    5. ตระหนักถึงความสำคัญของบทบาทของสภาธุรกิจในฐานะกลไกขับเคลื่อนสำคัญของ IMT-GT โดยรับทราบข้อริเริ่มจากสภาธุรกิจและสนับสนุนให้สภาธุรกิจมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันกับคณะทำงานทุกสาขาเพื่อเร่งบรรลุเป้าหมายการฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด-19 นอกจากนี้ ยังคงสนับสนุนสภาธุรกิจในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เป็นกลไกระดับชาติ ซึ่งจะทำให้สภาธุรกิจมีบทบาทนำในการขับเคลื่อน INT-GT ให้ก้าวหน้าในอนาคต
                    6. ยืนยันที่จะพัฒนาความร่วมมือกับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาต่อไป รวมทั้งยินดีสร้างความร่วมมือกับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาใหม่ ๆ เพื่อขยายขอบเขตสาขาความร่วมมือกับ IMT-GT ประโยชน์ของประเทศไทย ในการเข้าร่วมการประชุมฯ มีดังนี้
                    1. ส่งเสริมบทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศโดยใช้ประโยชน์จากการพัฒนา
ความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคภายใต้แผนงาน IMT-GT ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือหนึ่งในการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาที่สอดประสานกันระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้านทั้งในระดับส่วนราชการส่วนกลางและจังหวัดในทุกสาขาความร่วมมือ รวมทั้งสาขาความร่วมมือใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพ
                    2. สร้างความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการรับมือและแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด-19 โดยมีโครงการสำคัญที่จะดำเนินการต่อไป อาทิ การจัดทำแนวทางปฏิบัติร่วมกันสำหรับธุรกิจการท่องเที่ยวเพื่อส่งเสริมให้ IMT-GT เป็นอนุภูมิภาคการท่องเที่ยว
ที่ปลอดภัย ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลโดยเร่งรัดความร่วมมือด้านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์พัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบกรวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) ในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล  และพัฒนาศักยภาพผู้ฝึกอบรมด้านการตลาดดิจิทัล
                    ทั้งนี้ การประชุมรัฐมนตรี ครั้งที่ 27  แผนงาน IMT-GT  จะเห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์ร่วม ฯ ก่อนการประชุม ฯ ผ่านระบบการประชุมทางไกล ในวันที่ 6 สิงหาคม นี้

24. เรื่อง ร่างถ้อยแถลงร่วมกลุ่มมิตรประเทศลุ่มน้ำโขง
                      คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงร่วมกลุ่มมิตรประเทศลุ่มน้ำโขง (Joint Statement  of the Friends of the Mekong Consultative Draft : ? Recovery and Resilience?) หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างเอกสารดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้ได้รับมอบหมายร่วมให้การรับรองโดยไม่มีการลงนามร่างถ้อยแถลงร่วมฯ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
                      สาระสำคัญของร่างถ้อยแถลงร่วมฯ ได้แก่
                      1. การย้ำความสำคัญกับหลักการของความร่วมมือ อาทิ ความเปิดกว้าง ธรรมาภิบาล ความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน พหุภาคีนิยม ความเท่าเทียม ความเคารพ ความไว้เนื้อเชื่อใจ และผลประโยชน์ร่วมกัน
                      2. การส่งเสริมระหว่างกันของกรอบความร่วมมือในอนุภูมิภาคฯ เช่น MUSP/FOM ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady-Cho Phraya ? Mekong Economic Cooperation Strategy - ACMECS) คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) และอาเซียน
                      3. ยุทธศาสตร์การฟื้นฟูหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเน้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม ความมั่นคงทางอาหาร การพัฒนาดิจิทัล และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
                      4. ประเด็นและกิจกรรมที่สมาชิก FOM ให้ความสำคัญ ซึ่งรวมถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนและการรับมือกับความท้าทายข้ามพรมแดน
                      5. การสนับสนุนบทบาทของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงในการพัฒนาลุ่มน้ำโขงและความร่วมมือข้ามพรมแดน
                      ทั้งนี้ การประชุมรัฐมนตรีกลุ่มมิตรประเทศลุ่มน้ำโขงจะรับรองโดยไม่มีการลงนามร่างถ้อยแถลงร่วมฯ ในวันที่ 5 สิงหาคม 2564

แต่งตั้ง

25. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงการคลัง)
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้ง นางสาวชุติมา                ศรีปราชญ์ รองอธิบดีกรมธนารักษ์ ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านการบริหารเหรียญกษาปณ์และทรัพย์สินมีค่า (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2564 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

26. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักนายกรัฐมนตรี)
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงบประมาณเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 3 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้
                     1. นางสาวกนกรัตน์ ขุนทอง ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณเชี่ยวชาญ) สำนักงบประมาณ ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณทรงคุณวุฒิ) สำนักงบประมาณ ตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564
                     2. นางดรงรัตน์ กล้าหาญ ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณเชี่ยวชาญ) สำนักงบประมาณ ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณทรงคุณวุฒิ) สำนักงบประมาณ ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2564
                     3. นางสาวรัชนี เครือรัตน์ ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณเชี่ยวชาญ) สำนักงบประมาณ ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณทรงคุณวุฒิ) สำนักงบประมาณ ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2564
                     ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

27. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักนายกรัฐมนตรี)
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นายมงคลชัย               สมอุดร ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่ง รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

28. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง กระทรวงมหาดไทย
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง กระทรวงมหาดไทย จำนวน 28 ราย ดังนี้
                    1. ให้นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ พ้นจากตำแหน่งอธิบดี (นักบริหาร ระดับสูง) กรมการพัฒนาชุมชน และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวง (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง
                     2. ให้นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดปทุมธานี และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง
                     3. ให้นายไตรภพ วงศ์ไตรรัตน์ พ้นจากตำแหน่งที่ปรึกษาด้านกฎหมาย (นิติกร ระดับทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง
                     4. ให้นายสมคิด จันทมฤก พ้นจากตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหาร ระดับสูง) กรมการพัฒนาชุมชน
                    5. ให้นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดกระบี่
                     6. ให้นายรังสรรค์ ตันเจริญ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดพิจิตร และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดชัยนาท
                     7. ให้นายไกรสร กองฉลาด พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดนครพนม และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดชัยภูมิ
                     8. ให้นายภาสกร บุญญลักษม์ พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดเชียงราย
                     9. ให้นายประจญ ปรัชญ์สกุล พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดเชียงราย และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดเชียงใหม่
                      10. ให้นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดสิงห์บุรี และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดตราด
                     11. ให้นายชาธิป รุจนเสรี พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดนครพนม
                    12. ให้นายวิเชียร จันทรโณทัย พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดชัยภูมิ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดนครราชสีมา
                     13. ให้นายชยันต์ ศิริมาศ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดร้อยเอ็ด และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดนครสวรรค์
                     14. ให้นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดลำปาง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดปทุมธานี
                     15. ให้นายเสถียร เจริญเหรียญ พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
                     16. ให้นายนิพันธ์ บุญหลวง พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดน่าน และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดปัตตานี
                     17. ให้นายวีระชัย นาคมาศ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดมุกดาหาร และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
                     18. ให้นายไพบูลย์ ณะบุตรจอม พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดพิจิตร
                    19. ให้นายเฉลิมพล มั่งคั่ง พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดมุกดาหาร
                    20. ให้นายภิรมย์ นิลทยา พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดยะลา
                    21. ให้นายภูสิต สมจิตต์ พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดร้อยเอ็ด
                    22. ให้นายสิทธิชัย จินดาหลวง พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดแม่ฮ่องสอน และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดลำปาง
                     23. ให้นางจุรีรัตน์ เทพอาสน์ พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดสกลนคร
                    24. ให้นายเจษฎา จิตรัตน์ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดนราธิวาส และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดสงขลา
                     25. ให้นายปริญญา โพธิสัตย์ พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดสระแก้ว
                    26. ให้นายชัยชาญ สิทธิวิรัชธรรม พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดสิงห์บุรี
                    27. ให้นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดสกลนคร และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดหนองคาย
                    28. ให้นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดตาก และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดอุบลราชธานี
                     ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

29. เรื่อง การต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (ครั้งที่ 1)
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเสนอการต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของ นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะดำรงตำแหน่งดังกล่าวครบ 4 ปี ในวันที่ 30 กันยายน 2564 ต่อไปอีก              1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2565

30. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
                     คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นายสุนทร ชัยยินดีภูมิ เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง [รองนายกรัฐมนตรี (นายดอน ปรมัตถ์วินัย)] ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป

31. เรื่อง แต่งตั้งกรรมการอื่นในคณะกรรมการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอแต่งตั้งกรรมการอื่นในคณะกรรมการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร จำนวน 1 ราย คือ นายจุลพันธ์ ทับทิม (ผู้แทนสถาบันเกษตรกร) ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป

32. เรื่อง ขอความเห็นชอบแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญานำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา
                     คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญาชุดใหม่ ดังต่อไปนี้
                     1. พลตำรวจตรี นายแพทย์ สุพล จงพาณิชย์กุลธร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์
                     2. นางบุษบา ศักรางกูร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านสังคมสงเคราะห์
                    3. นางจันทร์ชม จินตยานนท์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน
                     4. นายชนะพล มหาวงษ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
                    5. นายโฆสิต สุวินิจจิต กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
                     ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป

33. เรื่อง การขอความเห็นชอบการต่อเวลาการดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง และผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการขอต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง จำนวน 5 ราย ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ ดังนี้
                     1. นายภัคธรณ์ เทียนไชย ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ต่อไปอีก เป็นเวลา             1 ปี (ครั้งที่ 2) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2565
                     2. นายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี  ต่อไปอีกเป็นเวลา 1 ปี (ครั้งที่ 1) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2565
                      3. นายสมศักดิ์ จังตระกุล ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ต่อไปอีกเป็นเวลา 1 ปี (ครั้งที่ 1) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2565
                      4. นายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ต่อไปอีกเป็นเวลา 1 ปี (ครั้งที่ 1) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2565
                       5. นายวิชวุทย์ จินโต ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ต่อไปอีกเป็นเวลา     1 ปี (ครั้งที่ 1) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2565



............................................



          ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 สิงหาคม 2564

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ