สรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรีชุด พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 ธันวาคม 2564

ข่าวการเมือง Wednesday December 29, 2021 09:18 —มติคณะรัฐมนตรี

http://www.thaigov.go.th

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

                    วันนี้ (28 ธันวาคม 2564)  เวลา 09.00 น. พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี                    เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้

กฎหมาย
                    1.           เรื่อง           ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ                                         พ.ศ. ?.
                    2.           เรื่อง           ร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร                                         เขตเลือกตั้งที่ 9 แทนตำแหน่งที่ว่าง พ.ศ. ?.
                    3.           เรื่อง           ร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้แก่ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งคลังสินค้า                                        ทัณฑ์บน โรงพักสินค้า ที่มั่นคง ท่าเรือรับอนุญาต และเขตปลอดอากร และผู้ได้รับ                                        ใบอนุญาตประกอบกิจการในเขตปลอดอากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร

(ฉบับที่ ..) พ.ศ. ?.

                    4.           เรื่อง           ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผู้นำของเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำได้รับ                                                  ยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรทั้งหมดหรือแต่บางส่วน

(ฉบับที่ 3) พ.ศ. ?.

                    5.           เรื่อง           ร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติควบคุมการใช้สารต้องห้าม                                                  ทางการกีฬา พ.ศ. 2555 พ.ศ. ....
                    6.           เรื่อง           ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน                                                  ราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
                    7.           เรื่อง           ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

เศรษฐกิจ สังคม

                    8.           เรื่อง           การกำหนดอัตราค่าตอบแทนผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
                    9.           เรื่อง           ความก้าวหน้าโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและ                                                  รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อ                                                  เชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย และผลการประชุม                                                            คณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 29
                    10.           เรื่อง           ภาวะสังคมไทยไตรมาสสาม ปี 2564
                    11.           เรื่อง           การทบทวนสัดส่วนที่ใช้เป็นกรอบในการบริหารหนี้สาธารณะ ตามมาตรา 50

แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561

                    12.           เรื่อง           ความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ

ณ เดือนพฤศจิกายน 2564

                    13.           เรื่อง           ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การส่งเสริมการค้าชายแดน

ของคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา

          14.             เรื่อง           รายงานสรุปผลการดำเนินการของคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สิน

ของประชาชนรายย่อย

                    15.           เรื่อง           ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกิน
                    16.           เรื่อง           ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้

ภายใต้พระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564

                    17.           เรื่อง           การดำเนินโครงการเพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2565 ให้แก่ประชาชน                                                   (กระทรวงต่างประเทศ)
                    18.           เรื่อง           ร่างแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2565
                    19.           เรื่อง           แผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาล และช่วงวันหยุด

พ.ศ. 2565

                    20.           เรื่อง           การดำเนินโครงการเพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2565 ให้แก่ประชาชน

ของกระทรวงศึกษาธิการ

ต่างประเทศ

                    21.           เรื่อง           การดำเนินการเพื่อเข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาพหุภาคีเพื่อดำเนินมาตรการ                                                  เกี่ยวกับอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนในการป้องกันการกัดกร่อนฐาน                                                  ภาษีและโอนกำไรไปยังประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำ (Multilateral Convention to                                         Implement Tax Treaty Related Measures to Prevent Base Erosion and                                         Profit Shifting: MLI)
                    22.           เรื่อง            การลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในโครงการภายใต้กองทุนพิเศษ                                        แม่โขง ? ล้านช้าง ประจำปี พ.ศ. 2564
                    23.            เรื่อง            ขออนุมัติร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในโครงการภายใต้กองทุน                                                  พิเศษแม่โขง-ล้านช้าง ประจำปี 2564 ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

และสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย

                    24.           เรื่อง           ขอความเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในโครงการ                                                   Integrated Sustainable Development of Quality of Life Based on                                                   Sufficiency Economy Philosophy (SEP) ภายใต้กองทุนพิเศษ

แม่โขง - ล้านช้าง พ.ศ. 2564

                    25.           เรื่อง           ร่างกรอบความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (United Nations Sustainable                                         Development Cooperation Framework ? UNSDCF) ระหว่างรัฐบาลไทย

กับสหประชาชาติ วาระปี 2565 ? 2569

แต่งตั้ง

                    26.           เรื่อง           การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง                                                   (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์)
                    27.           เรื่อง           การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง                                                   (สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ)
                    28.           เรื่อง           การต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของเอกอัครราชทูต (กระทรวงการต่างประเทศ)
                    29.           เรื่อง           การให้ความเห็นชอบแต่งตั้งบุคคลเพื่อเข้าดำรงตำแหน่งหัวหน้าเจ้าหน้าที่

ฝ่ายบริหาร (Chief Executive Officer, CEO) ขององค์กรร่วมไทย - มาเลเซีย

                    30.           เรื่อง           การแต่งตั้งคณะกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัด                                                  ชายแดนภาคใต้
                    31.           เรื่อง           การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง กระทรวงเกษตร

และสหกรณ์

                    32.           เรื่อง           ขออนุมัติแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง                                         (กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม)
                    33.           เรื่อง           ขอความเห็นชอบการแต่งตั้งผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย
สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

กฎหมาย
1. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ พ.ศ. ?.
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบ ดังนี้
                     1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ พ.ศ. ?. ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการคลัง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์ สำนักงบประมาณ สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปประกอบการพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
                     2. ให้ รง. รับความเห็นของกระทรวงการคลัง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงคมนาคม สำนักงบประมาณ สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
                     3. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่ รง. เสนอ
                     ทั้งนี้ รง. เสนอว่า
                     1. โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 40 บัญญัติให้บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ และมาตรา 74 บัญญัติให้รัฐพึงส่งเสริมให้ประชาชนมีความสามารถในการทำงานอย่างเหมาะสมกับศักยภาพและวัยและให้มีงานทำ และพึงคุ้มครองผู้ใช้แรงงานให้ได้รับความปลอดภัยและมีสุขอนามัยที่ดีในการทำงาน ได้รับรายได้ สวัสดิการ ประกันสังคม และสิทธิประโยชน์อื่นที่เหมาะสมแก่การดำรงชีพ และพึงจัดให้มีหรือส่งเสริมการออมเพื่อการดำรงชีพเมื่อพ้นวัยทำงาน และรัฐพึงจัดให้มีระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการดำเนินการ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลและ รง. เน้นการดูแล ?แรงงานในระบบ? แต่จากการแข่งขันอย่างรุนแรงภายใต้ระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ทำให้รูปแบบการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจมีการปรับตัวเกิดรูปแบบการจ้างแรงงานแบบใหม่ การเหมาช่วง จึงส่งผลให้แรงงานนอกระบบมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเกินครึ่งหนึ่งของกำลังแรงงานทั้งประเทศ แรงงานนอกระบบเป็นกำลังแรงงานกลุ่มใหญ่ของประเทศ เป็นผู้ที่มีส่วนสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแต่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงานหรือการประกอบอาชีพ ความปลอดภัยในการทำงาน หลักประกันทางสังคม ตลอดจนการรวมกลุ่ม รวมตัวในการจัดตั้งองค์กรเพื่อสร้างอำนาจต่อรองให้เกิดความเป็นธรรมในการจ้างงาน ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2563 พบว่าจำนวนประชากรรวมของประเทศไทย จำนวน 66.6 ล้านคน               มีจำนวนผู้มีงานทำ 37.5 ล้านคน จำแนกออกเป็น แรงงานในระบบ 17.1 ล้านคน แรงงานนอกระบบ 20.4 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 54.3 ของผู้มีงานทำทั้งหมด
                     2. ประกอบกับปัจจุบันยังไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายเกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบไว้อย่างชัดเจน ทำให้แรงงานนอกระบบซึ่งเป็นกำลังแรงงานกลุ่มใหญ่ของประเทศ             ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงานหรือการประกอบอาชีพดังกล่าว ดังนั้น เพื่อให้แรงงานนอกระบบได้รับการส่งเสริมการประกอบอาชีพ และพัฒนาสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย รวมทั้งเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รง. จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ พ.ศ. ?. เพื่อให้แรงงานนอกระบบสามารถรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มอาชีพ จัดตั้งองค์กรแรงงานนอกระบบ เพื่อสร้างอำนาจต่อรองให้เกิดความเป็นธรรมในการทำงาน และได้รับโอกาสในการกู้ยืมเงินจากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการประกอบอาชีพ อันจะทำให้แรงงานนอกระบบมีหลักประกันทางสังคม มีความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
                     3. โดยที่ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้กำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนสำหรับใช้จ่ายเกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิต และการคุ้มครองแรงงานนอกระบบ รง. จึงได้เสนอเรื่องการจัดตั้งกองทุนดังกล่าวต่อคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนพิจารณา และคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนได้เสนอผลการพิจารณา ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 เห็นชอบผลการพิจารณาการขอจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ ตามร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ พ.ศ. ?. ในคราวประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียน ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ตามที่คณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนเสนอ
                     4. นอกจากนี้ ร่างพระราชบัญญัติได้กำหนดให้เงินและดอกผลที่กองทุนได้รับทั้งหมด ไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ซึ่งกระทรวงการคลัง (กค.) ได้พิจารณาเห็นชอบด้วยแล้วตามนัยมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561
                     5. รง. ชี้แจงเพิ่มเติมในประเด็นเกี่ยวกับขั้นตอนการขอจัดตั้งหน่วยงานของรัฐ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2550 ว่า ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ พ.ศ. ?. มาตรา 37 กำหนดให้จัดตั้งสำนักงานบริหารกองทุนเป็นหน่วยงานภายในสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน  ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการบริหารกองทุน และมาตรา 38 กำหนดให้ประธานกรรมการบริหารกองทุนแต่งตั้งข้าราชการสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ประเภทอำนวยการระดับต้นขึ้นไป เป็นผู้อำนวยการสำนักงานบริหารกองทุน ประกอบกับได้กำหนดบทเฉพาะกาลในมาตรา 56 ในระยะเริ่มแรกให้กองบริหารการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ทำหน้าที่สำนักงานบริหารกองทุนไปพลางก่อน จนกว่าจะมีการจัดตั้งสำนักงานบริหารกองทุนตามมาตรา 37 และให้ผู้อำนวยการกองบริหารการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสำนักงานบริหารกองทุน จนกว่าจะมีการแต่งตั้งผู้อำนวยการสำนักงานบริหารกองทุนตามมาตรา 38 จึงไม่เป็นการจัดตั้งหน่วยงานของรัฐขึ้นใหม่ เนื่องจากเป็นการกำหนดให้หน่วยงานภายในของสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานที่มีอยู่เดิมเป็นผู้รับผิดชอบ
                    6. รง. ได้ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้แล้ว ผ่านทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของ รง. (www.mol.go.th) ระหว่างวันที่ 1 ? 30 กันยายน 2563 และจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งนี้ ได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย ตามแนวทางมติคณะรัฐมนตรี (19 พฤศจิกายน 2562) เรื่อง การดำเนินการเพื่อรองรับและขับเคลื่อนการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 และได้เผยแพร่ผลการรับฟังความคิดเห็นพร้อมการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายผ่านทางเว็บไซต์เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบแล้ว และได้เสนอแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ต้องออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว
                    สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
                     กำหนดให้มีการขึ้นทะเบียนแรงงานนอกระบบ (แรงงานนอกระบบ หมายถึง คนทำงานสัญชาติไทยที่มีอายุตั้งแต่สิบห้าปีบริบูรณ์ขึ้นไป ซึ่งไม่ได้เป็นลูกจ้างตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน หรือไม่ได้เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แห่งกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม) การขึ้นทะเบียนกลุ่มแรงงานนอกระบบตามลักษณะของอาชีพ และการรวมกลุ่มเพื่อจัดตั้งองค์กรได้ กำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบแห่งชาติ กำหนดให้มีกองทุนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ กำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ กำหนดให้มีพนักงานตรวจแรงงานนอกระบบ กำหนดให้มีช่องทางการยื่นคำร้องและการพิจารณาคำร้อง บทกำหนดโทษ และบทเฉพาะกาล รายละเอียด ดังนี้
                     1. กำหนดให้แรงงานนอกระบบหมายความถึงคนทำงานสัญชาติไทยที่มีอายุตั้งแต่สิบห้าปีบริบูรณ์ขึ้นไป ซึ่งไม่ได้เป็นลูกจ้างตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน หรือไม่ได้เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แห่งกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม รวมถึงผู้ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด แต่มิให้หมายความรวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐและของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญหรือตามกฎหมาย
                     2. กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมีอำนาจออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การส่งเสริมการมีงานทำหรือการพัฒนาฝีมือแรงงาน ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ และสนับสนุนการดำเนินการสร้างหลักประกันทางสังคมให้กับแรงงานนอกระบบ กลุ่มแรงงานนอกระบบ และองค์กรแรงงานนอกระบบ รวมถึงออกกฎกระทรวงกำหนดสภาพการทำงาน ค่าตอบแทน หรือสิทธิประโยชน์อื่น ๆ รวมทั้งรูปแบบหรือเงื่อนไขในการทำสัญญา เพื่อคุ้มครองแรงงานนอกระบบบางกลุ่มหรือบางประเภทซึ่งมีการจ้างทำงานหรือให้บริการระหว่างแรงงานนอกระบบกับผู้จ้างทำงาน
                     3. กำหนดให้แรงงานนอกระบบมีสิทธิขึ้นทะเบียนแรงงานนอกระบบ และกำหนดให้แรงงานนอกระบบตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปขึ้นทะเบียนกลุ่มแรงงานนอกระบบตามลักษณะของอาชีพ รวมทั้งกำหนดให้แรงงานนอกระบบตั้งแต่ 15 กลุ่มขึ้นไปขึ้นทะเบียนเพื่อจัดตั้งองค์กรแรงงานนอกระบบได้ รวมทั้งกำหนดให้องค์กรแรงงานนอกระบบมีสิทธิเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณาให้หน่วยงานของรัฐจัดให้มีการส่งเสริมการมีงานทำ การเข้าถึงแหล่งทุนและสิทธิประโยชน์อื่น ๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ
                     4. กำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ โดยมีหน้าที่และอำนาจในการกำหนดนโยบายและแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ และเสนอแนวทางในการแก้ไข ปรับปรุง กฎหมาย กฎกระทรวง หรือประกาศที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบต่อคณะรัฐมนตรี
                     5. กำหนดให้มีกองทุนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนสำหรับใช้จ่ายเกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิต และการคุ้มครองแรงงานนอกระบบ โดยกำหนดให้เงินและดอกผลที่กองทุนได้รับ ได้แก่ ค่าปรับที่ได้รับจากการลงโทษผู้กระทำความผิดเงินค่าสมาชิก เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคหรืออุทิศให้ เงินที่ได้รับจากต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ ดอกผลและผลประโยชน์ที่เกิดจากกองทุน เงินที่ได้จากการขายทรัพย์สินของกองทุนหรือที่ได้จากการจัดหารายได้ เงินหรือทรัพย์สินที่ตกเป็นของกองทุนหรือที่กองทุนได้รับจัดสรรจากกฎหมายอื่น ไม่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดิน
                     6. กำหนดให้คณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ โดยมีหน้าที่และอำนาจในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์กำกับดูแลการบริหารจัดการ และติดตามการดำเนินงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของการใช้จ่ายเงินให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน และพิจารณาอนุมัติแผนการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ
                     7. กำหนดให้พนักงานตรวจแรงงานนอกระบบมีอำนาจในการเข้าไปในสถานที่ทำงานของแรงงานนอกระบบ หรือสำนักงานของผู้จ้างทำงาน หรือสถานประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องกับแรงงานนอกระบบในเวลาทำงาน เพื่อตรวจสภาพการทำงานของแรงงานนอกระบบ สอบถามข้อเท็จจริง และมีหนังสือสอบถามหรือเรียกผู้จ้างทำงาน เจ้าของสถานประกอบกิจการมาชี้แจงข้อเท็จจริงหรือให้ส่งสิ่งของหรือเอกสารที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมีคำสั่งเป็นหนังสือให้ผู้จ้างทำงาน เจ้าของสถานประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องกับแรงงานนอกระบบ
                    8. กำหนดให้มีบทกำหนดโทษ
                               8.1 กำหนดให้ผู้ใดขัดขวางหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานนอกระบบต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
                               8.2 กำหนดให้ผู้จ้างทำงานผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
                               8.3 กำหนดให้ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานนอกระบบที่สั่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
                               8.4 กำหนดให้บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้าเจ้าพนักงานดังต่อไปนี้ เห็นว่าผู้กระทำผิดไม่ควรได้รับโทษจำคุกหรือไม่ควรถูกฟ้องร้อง ให้มีอำนาจเปรียบเทียบ ดังนี้
                                        (1) ปลัดกระทรวงหรือผู้ซึ่งปลัดกระทรวงมอบหมาย สำหรับความผิดที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร
                                         (2) ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมาย สำหรับความผิดที่เกิดขึ้นในจังหวัดอื่น
                     9. กำหนดให้มีบทเฉพาะกาล
                               9.1 กำหนดให้คณะกรรมการประกอบด้วยกรรมการโดยตำแหน่ง ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ไปพลางก่อนจนกว่าจะมีการแต่งตั้งกรรมการ ทั้งนี้ ต้องไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
                               9.2 กำหนดให้กองบริหารการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ทำหน้าที่สำนักงานบริหารกองทุนไปพลางก่อน จนกว่าจะมีการจัดตั้งสำนักงานบริหารกองทุน และให้ผู้อำนวยการกองบริหารการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสำนักงานบริหารกองทุน จนกว่าจะมีการแต่งตั้งผู้อำนวยการสำนักงานบริหารกองทุน
                               9.3 กำหนดให้คณะอนุกรรมการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบจังหวัดประกอบด้วยกรรมการโดยตำแหน่ง ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ไปพลางก่อนจนกว่าจะมีการแต่งตั้งอนุกรรมการ ทั้งนี้ ต้องไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบวัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
                               9.4 กำหนดให้โอนบรรดาทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ เงินงบประมาณ และรายได้ที่ประกอบเป็นกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้านไปเป็นของกองทุนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบตามพระราชบัญญัตินี้

2. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขตเลือกตั้งที่ 9 แทนตำแหน่งที่ว่าง พ.ศ. ?.
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขตเลือกตั้งที่ 9 แทนตำแหน่งที่ว่าง พ.ศ. ?. ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (สำนักงาน กกต.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้
                     ทั้งนี้ สำนักงาน กกต. เสนอว่า
                     1. เนื่องด้วยประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ กรณีนายสิระ เจนจาคะ เคยต้องคำพิพากษาของศาลแขวงปทุมวัน ในคดีหมายเลขดำที่ 812/2538 หมายเลขแดงที่ 2218/2538 เป็นกรณีที่เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ทำให้เป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (10) อันเป็นเหตุให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายสิระ            เจนจาคะ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (10) หรือไม่
                     2. ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัย เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2564 ว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ นายสิระ เจนจาคะ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (10) นับแต่วันเลือกตั้ง คือวันที่ 24 มีนาคม 2562
                     3. ดังนั้น เมื่อสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของบุคคลดังกล่าวสิ้นสุดลง ทำให้มีตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งว่างลง และต้องดำเนินการตราพระราชกฤษฎีกาเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่างภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่างลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 105 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 102 โดยให้ถือว่าวันที่ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่างลง คือ วันที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟังโดยชอบตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 76 วรรคหนึ่ง                  ที่บัญญัติให้คำวินิจฉัยของศาลมีผลในวันอ่าน คือ วันที่ 22 ธันวาคม 2564
                     4. ในการนี้ เพื่อให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขตเลือกตั้งที่ 9 แทนตำแหน่งที่ว่าง เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 จึงได้จัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขตเลือกตั้งที่ 9 แทนตำแหน่งที่ว่าง พ.ศ. ?. ขึ้น เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่างภายในสี่สิบห้าวัน (ภายในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565) และจัดทำร่างแผนการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขตเลือกตั้งที่ 9 แทนตำแหน่งที่ว่าง โดยจะประกาศกำหนดหน่วยเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 25 วันก่อนวันเลือกตั้ง (ภายในวันที่ 4 มกราคม 2565) ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งคาดว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 30 มกราคม 2565
                    สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
                    กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขตเลือกตั้งที่ 9 แทนตำแหน่งที่ว่าง
3. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้แก่ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บน โรงพักสินค้า ที่มั่นคง ท่าเรือรับอนุญาต และเขตปลอดอากร และผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการในเขตปลอดอากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ?.
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้แก่ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บน โรงพักสินค้า ที่มั่นคง ท่าเรือรับอนุญาต และเขตปลอดอากร และผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการในเขตปลอดอากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ?. ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้
                     ทั้งนี้ กค. เสนอว่า
                     1. โดยที่กฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้แก่ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บน โรงพักสินค้า ที่มั่นคง ท่าเรือรับอนุญาต และเขตปลอดอากร และผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการในเขตปลอดอากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร พ.ศ. 2564 จะสิ้นสุดการบังคับใช้ในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2564 แต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าในปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง กค. พิจารณาแล้วจึงเห็นสมควรขยายระยะเวลาการยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้แก่ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บน โรงพักสินค้า ที่มั่นคง ท่าเรือรับอนุญาต และเขตปลอดอากร และผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการในเขตปลอดอากรออกไปอีก 1 ปี สำหรับปี พ.ศ. 2565 เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
                     2. กค. ได้ดำเนินการจัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่จะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว โดยคาดว่าจะก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐโดยรวม ประมาณ 57,280,109 บาท แต่จะเป็นการบรรเทาผลกระทบโดยเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บน โรงพักสินค้า ที่มั่นคง ท่าเรือรับอนุญาต และเขตปลอดอากร และผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการในเขตปลอดอากร โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
รายการ          จำนวน
(ราย)          อัตราค่าธรรมเนียมรายปี (บาท) ต่อปี          จำนวนเงินรวม (บาท)
1. การจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บน
   1.1 ประเภทเก็บของในคลังสินค้าทัณฑ์บน
   1.2 ประเภทแสดงและขายของที่เก็บในคลังสินค้าทัณฑ์บน
   1.3 ประเภทผลิต ผสม ประกอบ บรรจุ หรือดำเนินการด้วยวิธีการอื่นใดกับของที่เก็บในคลังสินค้าทัณฑ์บน
55
47

109
30,000
30,000

10,000
1,650,000
1,410,000

1,090,109
2. การจัดตั้งโรงพักสินค้า
   2.1 ประเภทเก็บสินค้า
  2.2 ประเภทตรวจปล่อยของขาเข้าและบรรจุของขาออกที่ขนส่งโดยระบบคอนเทนเนอร์นอกเขตท่าเรือรับอนุญาต
39
6
30,000
300,000
1,170,000
1,800,000
3. การจัดตั้งที่มั่นคง           99          30,000          2,970,000
4. การจัดตั้งท่าเรือรับอนุญาต           37          30,000          1,110,000
5. การจัดตั้งเขตปลอดอากร           130          300,000          39,000,000
6. การประกอบกิจการในเขตปลอดอากร           472          15,000          7,080,000
รวม          994                    57,280,109
                     สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
                     กำหนดให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปี ประจำปี พ.ศ. 2565 ให้แก่ผู้ได้รับอนุญาตจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บน โรงพักสินค้า ที่มั่นคง ท่าเรือรับอนุญาต และเขตปลอดอากร และผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการในเขตปลอดอากร
4. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผู้นำของเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรทั้งหมดหรือแต่บางส่วน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. ?.
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผู้นำของเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรทั้งหมดหรือแต่บางส่วน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. ?. ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้
                     ทั้งนี้ กค. เสนอว่า
                     1. กฎกระทรวงกำหนดให้ผู้นำของเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรทั้งหมดหรือแต่บางส่วน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 กำหนดให้ผู้นำของเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 102 วรรคสองและมาตรา 103 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 โดยใช้สำหรับของที่นำเข้ามาเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำหรือของที่ตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 103 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2564
                     2. แต่โดยที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากไม่ขยายระยะเวลาการใช้บังคับกฎกระทรวงตามข้อ 1. จะเป็นเหตุให้ของที่นำเข้ามาภายหลังวันที่ 31 ธันวาคม 2564 และยังไม่สามารถปฏิบัติพิธีการผ่านแดนหรือถ่ายลำได้ทันภายในระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร ตกเป็นของแผ่นดินภายหลังพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งกรณีดังกล่าวถือเป็นพฤติการณ์พิเศษ ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ดังนั้น เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการที่นำของเข้ามาเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำ ตลอดจนการขนส่งระหว่างประเทศ กค. พิจารณาแล้วจึงเห็นควรขยายระยะเวลาการใช้บังคับกฎกระทรวงกำหนดให้ผู้นำของเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรทั้งหมดหรือแต่บางส่วน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 ออกไปอีก
                     สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
                     กำหนดให้ผู้นำของเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรทั้งหมดหรือแต่บางส่วน โดยมีสาระสำคัญดังนี้
                     1. กำหนดให้กรณีที่มีพฤติการณ์พิเศษอันเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จนเป็นเหตุให้ผู้นำของเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำไม่สามารถส่งของที่นำเข้ามาเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำออกไปนอกราชอาณาจักรได้ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ให้ผู้นำของเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 102 วรรคสองและมาตรา 103 ทั้งนี้ สำหรับของที่นำเข้ามาเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำหรือของที่ตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 103 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565 ถึงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2565
                     2. กำหนดให้ผู้นำของเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำแสดงหลักฐานและเอกสารที่เกี่ยวข้องที่เป็นเหตุให้ไม่อาจปฏิบัติตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา 102 วรรคสองและมาตรา 103 ต่ออธิบดี เพื่อพิจารณาขยายระยะเวลาการดำเนินการดังกล่าวได้ตามความจำเป็นแก่กรณี

5. เรื่อง ร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ. 2555 พ.ศ. ....
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ. 2555 พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
                    ทั้งนี้ สคก. โดยคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้พิจารณาดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 21 กันยายน 2564 [มอบหมายให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) สคก. การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) และคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกันพิจารณาปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ. 2555 ให้สอดคล้องกับ WADA Code โดยให้พิจารณารูปแบบความเหมาะสมที่จะตราเป็นกฎหมายตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหรือตราเป็นพระราชกำหนดตามมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แล้วนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาต่อไปโดยเร็ว] แล้ว เห็นว่า
                    1. โดยที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการต่อต้านการใช้สารต้องห้ามในการกีฬา (International Convention against Doping in Sport) ซึ่งได้จัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2548 ซึ่งอนุสัญญาดังกล่าวกำหนดให้รัฐภาคีผูกพันในการดำเนินมาตรการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการต่อต้านการใช้สารต้องห้ามตามหลักการที่กำหนดไว้ใน WADA Code และโดยที่องค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก (World Anti-Doping Agency : WADA) ได้ปรับปรุง WADA Code ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นเหตุให้สาระสำคัญของบทบัญญัติบางมาตราของพระราชบัญญัติควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ. 2555 ไม่สอดคล้องกับ WADA Code จึงทำให้ WADA บังคับใช้มาตรการลงโทษ (Consequences of non-compliance) แก่ประเทศไทย รวม 4 มาตรการ และส่งผลให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและผลกระทบทางสังคม ดังนี้
                              1.1 มาตรการลงโทษ (Consequences of non-compliance) รวม 4มาตรการ มีดังนี้
                                        (1) สำนักงานควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬาจะสูญเสียสิทธิในการดำรงตำแหน่งในสำนักงานของ WADA หรือตำแหน่งอื่นใดที่เกี่ยวข้องเสียสิทธิการเป็นเจ้าภาพในกิจกรรมที่ WADA จัดหรือมีส่วนร่วมจัด หรือเสียสิทธิเข้าร่วมโครงการที่ WADA จัดขึ้น เช่น การจัดหลักสูตรฝึกอบรม การจัดสัมมนา การประชุมทางวิชาการ และเสียสิทธิการได้รับการสนับสนุนทางการเงินจาก WADA โดยมีกรอบระยะเวลาเพื่อใช้บังคับแก่สำนักงานควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา (Doping Control Agency of Thailand: DCAT) ไปจนกว่าจะแก้ไขกฎหมายในสาระสำคัญแล้วเสร็จ
                                        (2) ผู้แทนสำนักงานควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬาจะไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการหรือคณะกรรมการอื่นใดของ Signatory (องค์กรที่ยอมรับประมวลกฎต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลกและตกลงปฏิบัติตามประมวลกฎดังกล่าว) และองค์กรที่มีความเกี่ยวข้องกับ Signatory โดยมีกรอบระยะเวลาจะใช้บังคับแก่สำนักงานควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา เป็นระยะเวลา 1 ปี (ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2564 ถึง 7 ตุลาคม 2565) หรือจนกว่าจะแก้ไขกฎหมายแล้วเสร็จ แล้วแต่ระยะเวลาใดยาวกว่ากัน
                                        (3) ประเทศไทยอาจไม่ได้รับสิทธิในการเสนอเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาชิงแชมป์ระดับภูมิภาค ระดับทวีป หรือระดับโลก มหกรรมกีฬาที่จัดโดยองค์กรผู้จัดมหกรรมกีฬาสำคัญ (Major Event Organizations) หรือรายการแข่งขันกีฬาต่าง ๆ ของสหพันธ์กีฬานานาชาติ แต่จะไม่กระทบสิทธิในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาที่ประเทศไทยได้รับก่อนวันที่ 8 ตุลาคม 2564 รวมทั้งไม่กระทบสิทธิในการเสนอเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์และพาราลิมปิกเกมส์ โดยมีกรอบระยะเวลาใช้บังคับกับประเทศไทยไปจนกว่าจะแก้ไขกฎหมายแล้วเสร็จ ดังนั้น หากประเทศไทยสามารถดำเนินการแก้ไขกฎหมายได้แล้วเสร็จโดยเร็ว ก็จะสามารถเสนอเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาข้างต้นได้ทันที
                                        (4) การไม่ให้แสดง โบก หรือชัก ธงชาติไทยในการแข่งขันกีฬาชิงแชมป์ระดับภูมิภาค ระดับทวีป หรือระดับโลก หรือมหกรรมกีฬาที่จัดโดยองค์กรผู้จัดมหกรรมกีฬาสำคัญ เว้นแต่เป็นการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์และพาราลิมปิกเกมส์ โดยมีกรอบระยะเวลาใช้บังคับสำหรับการแข่งขันกีฬาครั้งถัดไปหรือจนกว่าจะดำเนินการแก้ไขกฎหมายแล้วเสร็จ แล้วแต่ระยะเวลาใดยาวกว่ากัน ซึ่งในขณะนี้มีมหกรรมชิงแชมป์ระดับภูมิภาคที่สำคัญที่ประเทศไทยได้รับการคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน คือ เอเชียนอินดอร์มาร์เชียลอาร์ตสเกมส์ (Asian Indoor and Martial Arts Games) ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2564 (ค.ศ. 2021) ซึ่งจะจัดให้มีขึ้นในระหว่างวันที่ 10 - 20 มีนาคม 2565 หากมีการเลื่อนการจัดการแข่งขันออกไปหลังจากมีการแก้ไขกฎหมายเสร็จเพื่อให้ประเทศไทยสามารถแสดง โบก หรือชัก ธงชาติไทยในการแข่งขันได้ มาตรการดังกล่าวจะถูกบังคับใช้ในการจัดการแข่งขันที่เลื่อนออกไปด้วย อย่างไรก็ตาม หากสามารถดำเนินการแก้ไขกฎหมายได้แล้วเสร็จโดยเร็ว กกท. อาจขอให้ WADA พิจารณายกเลิกการใช้บังคับมาตรการลงโทษนี้ก่อนระยะเวลาเดิมที่ได้กำหนดไว้
                    ทั้งนี้ ในกรณีที่ไม่มีการแก้ไขกฏหมายให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน ปี พ.ศ. 2565 WADA อาจมีการเสนอเพิ่มเติมระดับความรุนแรงของมาตรการลงโทษตามที่กำหนดไว้ เช่น การห้ามส่งนักกีฬาเข้าแข่งขันกีฬาระดับภูมิภาค ระดับทวีป หรือระดับโลก การห้ามแสดงธงชาติไทยหรือสัญลักษณ์ธงชาติไทย การตัดสิทธิผู้แทนสำนักงานควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬาในการดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการหรือคณะกรรมการอื่นใดของ Signatory และองค์กรที่มีความเกี่ยวข้องกับ Signatory เป็นเวลาสี่ปี การห้ามเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์และพาราลิมปิกเกมส์ การห้ามนักกีฬาและผู้ซึ่งสนับสนุนการกีฬาเข้าร่วมกีฬาโอลิมปิกเกมส์และพาราลิมปิกเกมส์ หรือมหกรรมกีฬาที่จัดโดยสหพันธ์กีฬานานาชาติหรือองค์กรผู้จัดมหกรรมกีฬาสำคัญในการจัดการแข่งขันครั้งถัดไป และหากไม่สามารถเร่งดำเนินการปรับปรุงกฎหมายให้เสร็จสิ้นภายในเดือนมกราคม พ.ศ. 2565 ประเทศไทยจะถูกตัดสิทธิในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันกีฬา
                              1.2 ผลกระทบทางเศรษฐกิจ
                              ในปี พ.ศ. 2565 คาดการณ์ไว้ว่าเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 55,000 ล้านบาท (จากการจัดการแข่งขันกีฬาในแต่ละประเภทและระดับ ประมาณ 46,000 ล้านบาท และจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดการแข่งขันกีฬา ประมาณ 9,000 ล้านบาท)
                              1.3 ผลกระทบทางสังคม
                              การที่ WADA ใช้บังคับมาตรการการลงโทษโดยห้ามมิให้แสดง โบก หรือชัก ธงชาติไทยตลอดการแข่งขันกีฬา หรือในบางช่วงเวลาของการแข่งขัน เช่น พิธีรับเหรียญรางวัล พิธีเปิดปิดการแข่งขันกีฬา นอกจากจะกระทบต่อชื่อเสียงของประเทศ ยังกระทบต่อขวัญและกำลังใจ ความภาคภูมิใจ และความสามัคคีของคนในชาติไทย ไม่ว่าจะเป็นของตัวนักกีฬา สมาคมกีฬา บุคคลที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาชนชาวไทยที่ให้การสนับสนุนและเฝ้าติดตามเชียร์ทัพนักกีฬาไทยในการแข่งขันกีฬา รวมทั้งส่งผลให้ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่มุ่งให้มีการส่งเสริมและการพัฒนาการกีฬาไปสู่ความเป็นเลิศและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน
                    2. คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) พิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อพิจารณากรอบระยะเวลาการบังคับของแต่ละมาตรการลงโทษของ WADA และผลกระทบทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมแล้ว เป็นกรณีที่มีความจำเป็นต้องเร่งดำเนินการให้ทันตามกำหนดระยะเวลาเพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในการไม่ได้รับสิทธิเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬา รวมทั้งการถูกตัดสิทธิในด้านต่าง ๆ จึงเป็นกรณีเข้าเงื่อนไขในการรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจและเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ที่ต้องมีการตราพระราชกำหนดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ด้วยเหตุนี้ จึงได้จัดทำเป็น ?ร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ. 2555 พ.ศ. ....?
                    3. สคก. ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานของรัฐและผู้เกี่ยวข้อง โดยนำหลักการซึ่งเป็นสาระสำคัญของร่างพระราชกำหนดฯ ไปรับฟังในชั้นก่อนการจัดทำร่างกฎหมายผ่านทางเว็บไซต์ของระบบกลางทางกฎหมาย (https:/www.law.go.th/) ระหว่างวันที่ 14 ตุลาคม 2564 ถึงวันที่ 28 ตุลาคม 2564 ด้วยแล้ว
                    สาระสำคัญของร่างพระราชกำหนด
                    1. แก้ไขบทนิยามต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับ WADA Code และมาตรฐานสากล ดังนี้
                              1.1 แก้ไขนิยามคำว่า ?สารต้องห้าม? หมายถึงสารหรือประเภทของสารตามภาคผนวกหนึ่งท้ายอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการต่อต้านการใช้สารต้องห้ามในการกีฬา ซึ่งจัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และยกเลิกอำนาจของรัฐมนตรีในการประกาศกำหนดรายชื่อสารต้องห้ามโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา
                              1.2 เพิ่มบทนิยามคำว่า ?วิธีการต้องห้าม? หมายถึงวิธีการใด ๆ ตามที่ได้กำหนดไว้ในรายการต้องห้ามตามภาคผนวกหนึ่งท้ายอนุสัญญาระหว่างประเทศฯ และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้สอดคล้องกับ WADA Code ที่มีการควบคุมวิธีการต้องห้ามในการใช้สารต้องห้าม
                              1.3 แก้ไขนิยามคำว่า ?สมาคมกีฬา? ให้รวมถึงองค์กรกีฬาระดับประเทศหรือระดับภูมิภาคในประเทศไทย เพื่อให้สามารถตรวจเก็บตัวอย่างเพื่อหาสารต้องห้ามและวิธีการต้องห้าม และสามารถลงโทษนักกีฬาในสังกัดขององค์กรดังกล่าวได้
                              1.4 แก้ไขนิยามคำว่า ?บุคคลซึ่งสนับสนุนการกีฬา? โดยกำหนดให้หมายถึงบุคคลซึ่งสนับสนุนการกีฬา ผู้ฝึกสอน ผู้ฝึกซ้อม ผู้จัดการ ตัวแทน คณะทำงานร่วมทีม เจ้าหน้าที่ บุคลากรทางการแพทย์และทางเวชกิจฉุกเฉิน หรือบิดามารดาของนักกีฬา หรือบุคคลอื่นใด ซึ่งให้การรักษา ให้ความช่วยเหลือ หรือทำงานร่วมกับนักกีฬาที่เข้าร่วม หรือเตรียมตัว สำหรับการแข่งขันกีฬา เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการที่กำหนดไว้ใน WADA Code และมาตรฐานสากล
                    2. แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบและหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา ดังนี้
                              2.1 แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา โดยยกเลิกการกำหนดให้ผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬาเป็นผู้ช่วยเลขานุการ ทั้งนี้ เพื่อให้สำนักงานฯ มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ตามภารกิจ (operating independence)
                              2.2 แก้ไขเพิ่มเติมหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา โดยยกเลิกอำนาจในการเสนอแนะรัฐมนตรีในการกำหนดรายชื่อของสารต้องห้าม และอำนาจในการประกาศกำหนดระดับ ประเภท ชนิดกีฬา และการแข่งขันกีฬาที่ควบคุมการใช้สารต้องห้าม
                    3. ปรับปรุงการปฏิบัติงานและหน้าที่และอำนาจของสำนักงานควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา ดังนี้
                              3.1 ปรับปรุงการปฏิบัติงานของสำนักงานควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬาให้มีความเป็นอิสระยิ่งขึ้น โดยแยกการปฏิบัติงานระหว่างคณะกรรมการควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬาที่ทำหน้าที่กำหนดนโยบายต่าง ๆ และคณะกรรมการเฉพาะเรื่องที่มีหน้าที่พิจารณาอนุญาต พิจารณาโทษ หรือวินิจฉัยอุทธรณ์ และสำนักงานฯ ที่เป็นองค์กรที่ต้องปฏิบัติงานให้มีความเป็นอิสระต่อกัน โดยตัดหน้าที่ปฏิบัติการอื่นใดตามที่รัฐมนตรี คณะกรรมการฯ และคณะกรรมการเฉพาะเรื่องมอบหมาย ทั้งนี้ เพื่อให้สำนักงานฯ มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ตามภารกิจ
                              3.2 ปรับปรุงหน้าที่และอำนาจของสำนักงานฯ โดยเพิ่มเติมในส่วนของการดำเนินการเกี่ยวกับวิธีการต้องห้ามในลักษณะเดียวกับสารต้องห้าม ตามที่ได้มีการเพิ่มบทนิยามคำว่า ?วิธีการต้องห้าม? เพื่อควบคุมการใช้วิธีการต้องห้ามด้วย และกำหนดให้มีหน้าที่ในการจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับสารต้องห้ามและวิธีการต้องห้าม และเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก
                    4. ปรับปรุงหลักเกณฑ์การใช้สารต้องห้ามหรือวิธีการต้องห้ามโดยยกเลิกการกำหนดลักษณะการกระทำที่เป็นการต้องห้ามในพระราชบัญญัติ และกำหนดให้คณะกรรมการควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬาประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การห้ามการใช้สารต้องห้ามหรือวิธีการต้องห้ามของนักกีฬาและบุคคลซึ่งสนับสนุนการกีฬา เพื่อให้เกิดความรวดเร็วและสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ใน WADA Code และมาตรฐานสากล
                    5. ปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาในการพิจารณาของคณะกรรมการเฉพาะเรื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการที่กำหนดไว้ใน WADA Code และมาตรฐานสากล เช่น ให้นักกีฬาที่ประสงค์จะใช้สารต้องห้ามหรือวิธีการต้องห้ามเพื่อการรักษา ยื่นคำขอต่อสำนักงานฯ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการการแพทย์พิจารณาต่อไป
                    6. ให้คณะกรรมการพิจารณาโทษมีอำนาจพิจารณาโทษแก่นักกีฬาหรือบุคคลซึ่งสนับสนุนการกีฬาที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติข้อห้ามนักกีฬากระทำการ และหากนักกีฬาหรือผู้ที่เกี่ยวข้องไม่เห็นด้วยกับคำสั่ง ให้มีสิทธิอุทธรณ์ได้
                    7. ยกเลิกการกำหนดโทษ ซึ่งกำหนดให้โทษทางกีฬามิใช้โทษทางอาญาโดยกำหนดให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬาประกาศเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการลงโทษที่กำหนดไว้ใน WADA Code ซึ่งเป็นมาตรการการลงโทษทางการกีฬาที่ถือปฏิบัติกันในวงการการกีฬาทั่วโลก ที่ไม่ใช่โทษทางอาญา

6. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (สำนักงาน กกต.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน ก่อนเสนอรัฐสภาต่อไป
                    ทั้งนี้ สำนักงาน กกต. เสนอว่า เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2564 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ การกำหนดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี และการแบ่งเขตเลือกตั้ง รวมถึงการคำนวณสัดส่วนผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ จึงต้องดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาโดยด่วน
                    สาระสำคัญ
                    ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ?. ได้แก้ไข/ปรับปรุงพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ให้สอดคล้องตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2564 มาตรา 83 มาตรา 86 และมาตรา 91 และให้สอดคล้องกับหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 โดยมีสาระสำคัญดังนี้
                              1.1 แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามของคำว่าเขตเลือกตั้ง โดยหมายความว่าท้องที่ที่กำหนดเป็นเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งหรือแบบบัญชีรายชื่อ แล้วแต่กรณี (มาตรา 3)
                              1.2 แก้ไขเพิ่มเติมให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 400 คน และการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อจำนวน 100 คน ซึ่งเป็นการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งบัญชีรายชื่อผู้สมัครที่พรรคการเมืองจัดทำขึ้น โดยเลือกเพียงพรรคการเมืองเดียว และใช้เขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง (มาตรา 4)
                              1.3 แก้ไขเพิ่มเติมให้พรรคการเมืองต้องส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งแล้วจึงมีสิทธิส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ และต้องกำหนดให้ส่งบัญชีรายชื่อดังกล่าวก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยต้องกำหนดวันที่พรรคการเมืองจะส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อไม่น้อยกว่า 3 วัน (มาตรา 5)
                              1.4 แก้ไขเพิ่มเติมให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 7 คน มีหน้าที่เกี่ยวกับการออกเสียงลงคะแนนในที่เลือกตั้งและนับคะแนนของหน่วยเลือกตั้งแต่ละแห่ง (มาตรา 6)
                              1.5 แก้ไขเพิ่มเติมจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีและการแบ่งเขตเลือกตั้งทุกจังหวัดจากค่าเฉลี่ยจำนวนราษฎรทั้งประเทศกับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 400 คน โดยต้องแบ่งพื้นที่ของเขตเลือกตั้งแต่ละเขตให้ติดต่อกันและต้องจัดให้มีจำนวนราษฎรในแต่ละเขตใกล้เคียงกัน (มาตรา 7)
                              1.6 แก้ไขเพิ่มเติมการกำหนดหน่วยเลือกตั้งและที่เลือกตั้งในการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ โดยกำหนดให้ใช้หน่วยเลือกตั้งและที่เลือกตั้งตามที่กำหนดไว้สำหรับการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง (มาตรา 8)
                              1.7 แก้ไขเพิ่มเติมการจัดทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งของแต่ละหน่วยเลือกตั้ง และปิดประกาศไว้ ณ ที่เลือกตั้ง หรือบริเวณใกล้เคียงกับที่เลือกตั้ง หรือสถานที่ที่ประชาชนสะดวกในการตรวจสอบก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 25 วัน และให้แจ้งรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งในทะเบียนบ้านไปยังเจ้าบ้านให้ทราบก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 20 วัน และอาจจัดให้มีการตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (มาตรา 9)
                              1.8 แก้ไขเพิ่มเติมการตรวจสอบสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง กรณีก่อนการประกาศผลการเลือกตั้ง ซึ่งหากผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งตรวจสอบแล้วเห็นว่าผู้สมัครผู้ใดไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งและผู้สมัครผู้นั้นได้คะแนนอยู่ในลำดับที่จะได้รับการเลือกตั้ง ให้เสนอเรื่องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อวินิจฉัย และในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งวินิจฉัยว่าผู้สมัครผู้นั้นมีเหตุดังกล่าว ให้มีคำสั่งยกเลิกการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นและสั่งให้ดำเนินการเลือกตั้งใหม่ และหากผู้สมัครผู้นั้นรู้อยู่แล้วว่าตนเป็นผู้ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งแล้วปกปิดหรือไม่แจ้งข้อความจริงนั้น ให้ถือว่าการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม และให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น (มาตรา 11 และมาตรา 12)
                              1.9 แก้ไขเพิ่มเติมวิธีการส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งหากพรรคการเมืองใดส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งแล้ว ให้มีสิทธิส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อได้พรรคละหนึ่งบัญชี มีจำนวนไม่เกิน 100 รายชื่อ ตามวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง โดยต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากบุคคลนั้น และบุคคลดังกล่าวต้องเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองที่จะเสนอรายชื่อเพียงพรรคเดียว และรายชื่อในบัญชีผู้สมัครของพรรคการเมืองต้องไม่ซ้ำกับพรรคการเมืองอื่นและไม่ซ้ำกับรายชื่อผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง (มาตรา 13)
                              1.10 กำหนดวิธีการให้หมายเลขที่จะใช้ออกเสียงลงคะแนนแบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยในกรณีที่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป ให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อได้รับหมายเลขที่จะใช้ออกเสียงลงคะแนนแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นเรียงตามลำดับก่อนหลังในการยื่นบัญชีรายชื่อ ถ้าพรรคการเมืองใดมิได้ส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ แต่ส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เมื่อผู้สมัครของพรรคการเมืองนั้นยื่นใบสมัครในเขตเลือกตั้งใด ให้ได้รับหมายเลขประจำตัวผู้สมัครต่อจากหมายเลขสุดท้ายของหมายเลขแบบบัญชีรายชื่อ ส่วนในกรณีที่เป็นการเลือกตั้งแทนตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งซึ่งว่างลง ให้ผู้สมัครได้รับหมายเลขประจำตัวผู้สมัครเรียงตามลำดับก่อนหลังในการมายื่นใบสมัคร (มาตรา 14)
                              1.11 แก้ไขเพิ่มเติมค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง โดยให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของผู้สมัครแต่ละคนที่จะใช้จ่ายในการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของพรรคการเมืองจะใช้จ่ายในการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อและให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการให้มีการตรวจสอบบัญชีรายรับและรายจ่าย (มาตรา 15 และมาตรา 16)
                              1.12 แก้ไขเพิ่มเติมการหาเสียงเลือกตั้ง โดยห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่นหรือพรรคการเมืองใด ให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัคร หรือพรรคการเมืองใด หรือการชักชวนให้ไปลงคะแนนไม่เลือกผู้ใดเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (มาตรา 17)
                              1.13 แก้ไขเพิ่มเติมการออกเสียงลงคะแนน โดยให้ใช้บัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบละหนึ่งใบ ส่วนหีบบัตรเลือกตั้งให้มีลักษณะตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด (มาตรา 18 และมาตรา 19)
                              1.14 แก้ไขเพิ่มเติมการนับคะแนน ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งโดยความเห็นชอบของกระทรวงการต่างประเทศจะกำหนดให้มีการนับคะแนนนอกราชอาณาจักรก็ได้ หากจะเป็นการสะดวก รวดเร็ว และมีค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่าการดำเนินการนับคะแนนที่เขตเลือกตั้ง และมิให้นำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 19 มาใช้บังคับ (มาตรา 23 และมาตรา 24)
                              1.15 แก้ไขเพิ่มเติมในกรณีที่ผลการนับคะแนนปรากฏว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ตรงกับจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ใช้ออกเสียงลงคะแนน ให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งดำเนินการตรวจสอบความถูกต้อง หากยังไม่ตรงกันอีกให้รายงานต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งพร้อมเหตุผล และให้รายงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อพิจารณาสั่งให้มีการนับคะแนนใหม่หรือสั่งให้ออกเสียงลงคะแนนใหม่แบบแบ่งเขตเลือกตั้งหรือแบบบัญชีรายชื่อแล้วแต่กรณีในหน่วยเลือกตั้งนั้น เว้นแต่หน่วยเลือกตั้งนั้นมีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในจำนวนที่ไม่ทำให้ผลการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นเปลี่ยนแปลงไป มิให้การเลือกตั้งจัดให้มีการออกเสียงลงคะแนนใหม่ (มาตรา 27)
                              1.16 แก้ไขเพิ่มเติมการประกาศผลการเลือกตั้ง โดยเมื่อรวบรวมผลการนับคะแนนทุกหน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น รวมทั้งคะแนนที่ได้จากการออกเสียงลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้งและการลงคะแนนเลือกตั้งนอกราชอาณจักรแล้ว ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งดำเนินการประกาศผลการรวมคะแนนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง คะแนนที่ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด ผลการรวมคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ และคะแนนที่ไม่เลือกพรรคการเมืองใด แล้วรายงานคณะกรรมการการเลือกตั้งโดยเร็ว (มาตรา 28)
                              1.17 กำหนดการคำนวณสัดส่วนเพื่อหาผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ดังนี้
                                        (1) ให้รวมผลคะแนนทั้งหมดที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อทั้งประเทศ
                                        (2) ให้นำคะแนนรวมจาก (1) หารด้วยหนึ่งร้อย ผลลัพธ์ที่ได้ให้ถือเป็นคะแนนเฉลี่ยต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อหนึ่งคน
                                        (3) ในการคำนวณหาจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองจะได้รับ ให้นำคะแนนรวมจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับ หารด้วยคะแนนเฉลี่ยตาม (2) ผลลัพธ์ที่ได้เป็นจำนวนเต็มคือจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นได้รับ โดยเรียงตามลำดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้น
                                        (4) ในกรณีที่จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองได้รับรวมกันทุกพรรคการเมืองมีจำนวนไม่ครบหนึ่งร้อยคน ให้พรรคการเมืองที่มีผลลัพธ์ตาม (3) เป็นเศษที่มีจำนวนมากที่สุด ได้รับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อเพิ่มขึ้นอีก 1 คน เรียงตามลำดับ จนกว่าจะมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองทั้งหมดได้รับรวมกันครบจำนวน 100 คน
                                        (5) ในการดำเนินการตาม (4) ถ้ามีคะแนนเท่ากัน ให้พรรคการเมืองที่มีคะแนนเท่ากันจับสลากโดยตัวแทนของพรรคการเมืองที่มีคะแนนเท่ากันภายในวันและเวลาที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด เพื่อให้ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อครบจำนวน
                    จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองที่จะได้รับตามผลการคำนวณข้างต้น จะต้องไม่เกินจำนวนผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อเท่าที่มีอยู่ในแต่ละบัญชีรายชื่อผู้สมัครที่พรรคการเมืองนั้นได้จัดทำขึ้น (มาตรา 30)
                              1.18 กำหนดบทเฉพาะกาล
                                        (1) เพื่อประโยชน์ของพรรคการเมืองในการส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกภายหลังประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งและประกาศเขตเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 90 วันนับแต่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด (มาตรา 35)
                                        (2) ในวาระเริ่มแรก มิให้นำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้มาใช้บังคับจนกว่าจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปครั้งแรกภายหลังประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ (มาตรา 36)

7. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (สำนักงาน กกต.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน ก่อนเสนอรัฐสภาต่อไป
                    ทั้งนี้ สำนักงาน กกต. เสนอว่า เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2564 ได้กำหนดให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนห้าร้อยคน ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวนสี่ร้อยคน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อจำนวนหนึ่งร้อยคน จึงต้องดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาโดยด่วน
                    สาระสำคัญ
                    ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....ได้แก้ไข/ปรับปรุงพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 51วรรคหนึ่ง (2) และ (3) ให้สอดคล้องตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2564 โดยมีสาระสำคัญดังนี้
                    1. แก้ไขเพิ่มเติมให้คณะกรรมการสรรหาจัดทำบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อไม่เกินหนึ่งร้อยรายชื่อ (มาตรา 3)
                    2. แก้ไขเพิ่มเติมให้สมาชิกลงคะแนนเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อได้คนละไม่เกินสิบรายชื่อ (มาตรา 3)
                    3. กำหนดบทเฉพาะกาล
                    - ในวาระเริ่มแรก มิให้นำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้มาใช้บังคับจนกว่าจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปครั้งแรกภายหลังประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ (มาตรา 4)

เศรษฐกิจ สังคม

8. เรื่อง การกำหนดอัตราค่าตอบแทนผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
                     คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบค่าตอบแทนของผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ในอัตราเดือนละ 206,300 บาท ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เสนอ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2564 เป็นต้นไป

9. เรื่อง ความก้าวหน้าโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย และผลการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 29
                    คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอความก้าวหน้าโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย (ไทย) และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (จีน) ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย และผลการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 29 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
                    1. ความก้าวหน้าโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงฯ สรุปได้ ดังนี้
                              1.1 โครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร ? นครราชสีมา
หัวข้อ          ความก้าวหน้า
(1) สัญญาการก่อสร้างงานโยธา จำนวน 14 สัญญา          ? ก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 สัญญา ได้แก่ สัญญา 1-1 กลางดง-ปางอโศก
? อยู่ระหว่างก่อสร้าง 7 สัญญา เช่น สัญญา 2-1 สีคิ้ว-กุดจิก สัญญา 3-5โคกกรวด-นครราชสีมา และสัญญา 4-7 สระบุรี-แก่งคอย
? เตรียมการก่อสร้าง 3 สัญญา เช่น สัญญา 4-2 ดอนเมือง-นวนคร และสัญญา 4-6 พระแก้ว-สระบุรี
? อยู่ระหว่างดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง 3 สัญญา เช่น สัญญา 3-1 แก่งคอย-กลางดง และปางโศก-บันไดม้า และสัญญา 4-1 บางซื่อ-ดอนเมือง
(2) งานจ้างออกแบบรายละเอียด (สัญญา 2.1) [คณะรัฐมนตรีมีมติ (22 สิงหาคม 2560) เห็นชอบร่างสัญญาดังกล่าวแล้ว]          การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ลงนามสัญญากับรัฐวิสาหกิจจีน [China Railway Design Corporation (CRDC) และ China Railway International Corporation (CRIC)] เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2560 วงเงิน 1,706.7 ล้านบาท โดยผู้รับจ้างฝ่ายจีนได้ออกแบบแล้วเสร็จ
(3) งานจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง (สัญญา 2.2) [คณะรัฐมนตรีมีมติ (29 สิงหาคม 2560) เห็นชอบร่างสัญญาดังกล่าวแล้ว]          ? รฟท. ได้ลงนามสัญญากับ CRDC และ CRIC เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2560 วงเงิน 3,500 ล้านบาท โดยผู้รับจ้างอยู่ระหว่างควบคุมการก่อสร้าง ซึ่งจะสิ้นสุดสัญญาปี 2564 และประกันผลงาน 2 ปี
? รฟท. และผู้รับจ้างฝ่ายจีนได้ร่วมกันจัดทำร่างบันทึกแนบท้ายสัญญา 2.2 เพื่อรองรับการจ่ายค่าจ้างที่ปรึกษาในการควบคุมการก่อสร้างที่อยู่ระหว่างกรก่อสร้างและสัญญาที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ทั้งนี้ อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อลงนามตามขั้นตอนของกฎหมาย
(4) งานระบบราง ระบบไฟฟ้า
และเครื่องกล การจัดหาขบวนรถไฟและการจัดฝึกอบรมบุคลากร (สัญญา 2.3) [ค ณ  รั ฐ ม น ต รี มี ม ติ (29 กันยายน 2563) เห็นชอบร่างสัญญาดังกล่าวแล้ว]          รฟท. ได้ลงนามสัญญากับ CRDC และ CRIC เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2563 วงเงิน 50,644.5 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินงาน 64 เดือน โดยแบ่งงานออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่
     1) งานออกแบบระบบรถไฟความเร็วสูงและออกแบบระบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนออกแบบขบวนรถไฟ
     2) งานฝึกอบรมบุคลากรเพื่อการเดินรถและการซ่อมบำรุงและการถ่ายทอดเทคโนโลยี
     3) งานก่อสร้างติดตั้งระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ระบบรถไฟความเร็วสูงที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ รฟท.ได้แจ้งให้ฝ่ายจีนเริ่มงานออกแบบเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2563 (รวมระยะเวลาออกแบบ 8 เดือน)
                              1.2 โครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคายเป็นส่วนต่อขยายของโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา ระยะทางรวมประมาณ 356.01 กิโลเมตร ขนาดทาง 1.435 เมตร ประกอบด้วย 5 สถานี ได้แก่ สถานีบัวใหญ่สถานีบ้านไผ่ สถานีขอนแก่น สถานีอุดรธานี และสถานีหนองคาย เพื่อเตรียมพัฒนาเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์เชื่อมต่อการค้าการลงทุนกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) และจีน โดยจะมีศูนย์ซ่อมบำรุงเบา/หนัก ศูนย์ซ่อมบำรุงทาง ยานกองเก็บตู้สินค้า และย่านเปลี่ยนถ่ายสินค้า ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทที่ปรึกษาได้ออกแบบรายละเอียดงานโยธาและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเสร็จแล้ว และได้ตรวจรับงานเมื่อเดือนสิงหาคม 2564 [ในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นว่า เพื่อให้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมทางรถไฟในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศมีความเชื่อมโยงกันตลอดทั้งสายและสามารถรองรับความต้องการในการเดินทางของประชาชนและการขนส่งสินค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นจากการเปิดประเทศและการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงกันของประเทศเพื่อนบ้าน คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้ คค. (รฟท.) เร่งรัดดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยให้ถือเป็นนโยบายสำคัญที่ต้องขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม]
                              1.3 การเชื่อมโยงโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์ในการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 27 และการประชุมสามฝ่ายไทย-สปป. ลาว-จีน ระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์-1 มีนาคม 2562 ณ กรุงปักกิ่ง จีน ที่ประชุมเห็นชอบให้การสร้างสะพานแห่งใหม่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเชื่อมต่อรถไฟ ช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์ ซึ่งจะมีทั้งทางรถไฟขนาดมาตรฐาน (1.435 เมตร) และขนาดทาง 1 เมตร ตั้งอยู่ทางทิศใต้ ห่างจากสะพานมิตรภาพไทย-ลาว (หนองคาย-เวียงจันทน์) ประมาณ 30 เมตร ทั้งนี้ ไทย สปป. ลาว และจีน ได้ลงนามในบันทึกความร่วมมือว่าด้วยการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟระหว่างหนองคาย-เวียงจันทน์ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2562 และปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอให้มีการประชุมร่วมสามฝ่ายเพื่อหารือแนวทางการก่อสร้างและการเดินรถร่วมกันต่อไป
                              1.4 การดำเนินการอื่น ๆ คค. อยู่ระหว่างดำเนินการ ดังนี้ (1) จัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อพิจารณาการจัดตั้งองค์กรพิเศษเพื่อกำกับการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง โดยองค์กรดังกล่าวจะเป็นอิสระจากการกำกับกิจการของ รฟท. และ (2) จัดหาบุคลากรมาปฏิบัติงานในสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางเพื่อรองรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในโครงการรถไฟความเร็วสูงโดยเป็นองค์การมหาชนภายใต้การกำกับดูแลของ คค. มีหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ วิจัยและประเมินความต้องการด้านเทคโนโลยีระบบราง
                    2. ผลการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีนครั้งที่ 29 เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล มีสาระสำคัญ เช่น
                              2.1 รับทราบความก้าวหน้าของการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา โดยทั้งสองฝ่ายจะใช้ความพยายามเพื่อให้สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ตามแผนงาน และช่วงนครราชสีมา-หนองคาย โดยทั้งสองฝ่ายจะหารือเกี่ยวกับงานบริการที่ปรึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานงานโยธาและระบบไฟฟ้าและเครื่องกล
                              2.2 ทั้งสองฝ่ายหารือเกี่ยวกับการดำเนินการช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ซึ่งโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มีการใช้เส้นทางและโครงสร้างร่วมกัน โดยจะพยายามไม่ให้กระทบต่อการปฏิบัติตามสัญญา 2.3 (งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล การจัดหาขบวนรถไฟ และการฝึกจัดอบรมบุคลากร) ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นชอบที่จะปรับงานออกแบบรายละเอียดของช่วงดังกล่าวให้ยืดหยุ่นตามมาตรฐานจีนและสนับสนุนฝ่ายไทยในการแก้ไขปัญหาประเด็นทางด้านเทคนิคต่อไป
                              2.3 เห็นชอบในหลักการให้จัดการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 30 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ในเดือนพฤศจิกายน 2564 ภายหลังการประชุมไตรภาคีระหว่างไทย-สปป. ลาว-จีน เกี่ยวกับการเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟระหว่างหนองคาย-เวียงจันทน์ (คค. แจ้งว่าได้จัดการประชุมไตรภาคีฯ แล้วเมื่อวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2564 และอยู่ระหว่างจะจัดการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 30 ต่อไป)

10. เรื่อง ภาวะสังคมไทยไตรมาสสาม ปี 2564
                    คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอภาวะสังคมไทยไตรมาสสาม ปี 2564 (เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2564) [เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2561 มาตรา 20 (2) ที่บัญญัติให้ สศช. ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย และติดตามภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประเทศและของโลก รวมทั้งปัญหาและโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคม และคาดการณ์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทั้งในบริบทประเทศและโลก เพื่อจัดทำข้อเสนอในเชิงนโยบาย และมาตรการการพัฒนาประเทศหรือรองรับผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเสนอคณะรัฐมนตรี] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
                    1. ความเคลื่อนไหวทางสังคมไตรมาสสาม ปี 2564 ประกอบด้วย
                              1.1 สถานการณ์ด้านแรงงานไตรมาสสาม ปี 2564 พบว่า ตลาดแรงงานได้รับผลกระทบรุนแรงจากมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่เข้มงวด ส่งผลให้มีผู้ว่างงานและอัตราการว่างงานสูงสุดตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19
                                        1.1.1 ภาพรวมการจ้างงาน ผู้มีงานทำมีจำนวนลดลงร้อยละ 0.6จากช่วงเดียวกันของปีก่อน การจ้างงานในภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 เนื่องจากเป็นช่วงเริ่มฤดูการเพาะปลูกข้าว ขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมลดลงร้อยละ 1.3 โดยสาขาที่มีการจ้างงานลดลงมาก ได้แก่ สาขาก่อสร้าง โรงแรม/ภัตตาคาร ส่วนสาขาที่ขยายตัวได้ ได้แก่ สาขาการผลิต ขายส่ง/ขายปลีก และขนส่ง/เก็บสินค้า ทั้งนี้ การว่างงานเพิ่มขึ้นสูงสุดตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 โดยมีจำนวนผู้ว่างงาน 8.7 แสนคน คิดเป็นร้อยละ 2.25 ส่วนการว่างงานของแรงงานในระบบ มีผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานร้อยละ 2.47 ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าและปีก่อน เนื่องจากช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2564 รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการและผู้ประกันตนในพื้นที่ควบคุมสูงสุด และมีจำนวนผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัย 2.1 แสนคน ในเดือนกันยายน 2564 เพิ่มขึ้นจาก 0.9 แสนคน ณ สิ้นไตรมาสก่อน
                                        1.1.2 ประเด็นที่ต้องติดตามในระยะต่อไป ได้แก่ (1) การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติต่อการจ้างงานในภาคการท่องเที่ยวและการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งในเดือนตุลาคมที่ผ่านมามีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในหลายพื้นที่และการเปิดประเทศในวันที่                          1 พฤศจิกายน 2564 ที่จะช่วยเพิ่มการจ้างงานในภาคการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ควรมีมาตรการเพิ่มเติม เช่น 1) การควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เข้มงวด 2) การกำหนดมาตรการช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยวขนาดเล็ก และ 3) การดำเนินมาตรการอื่น ๆ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและการจ้างงาน โดยเฉพาะโครงการที่ก่อให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น (2) ผลกระทบของอุทกภัยต่อแรงงานภาคเกษตรและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร โดยในช่วงที่ผ่านมามีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยทั้งสิ้น 33 จังหวัด รวม 225 อำเภอ ซึ่งรัฐบาลได้มีมาตรการเยียวยาเบื้องต้นจากความเสียหายของผลผลิตทางการเกษตรแล้ว แต่อาจต้องมีมาตรการสนับสนุนด้านการเงินเพื่อนำไปใช้ในการซ่อมแซมบ้านเรือนและเป็นทุนในการทำการเกษตร (3) ภาระค่าครองชีพที่อาจปรับเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ราคาสินค้าหลายชนิดปรับตัวสูงขึ้นและกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน โดยเฉพาะผู้ว่างงานชั่วคราวที่ไม่ได้รับค่าจ้างที่มีจำนวนสูงถึง 7.8 แสนคน (4) การจัดการปัญหาการสูญเสียทักษะจากการว่างงานเป็นเวลานานและการยกระดับทักษะให้กับแรงงาน โดยแรงงานต้องมีการพัฒนาทักษะของตนให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง เช่น รูปแบบการทำงานและทักษะเทคโนโลยี ซึ่งภาครัฐควรส่งเสริมให้ผู้ว่างงานเข้ารับการอบรมเพื่อพัฒนาทักษะเพิ่มขึ้น และ (5) การส่งเสริมให้แรงงานที่ประกอบอาชีพอิสระที่ลงทะเบียนเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ของสำนักงานประกันสังคม เพื่อรับการช่วยเหลือเยียวยาให้เป็นผู้ประกันตนอย่างต่อเนื่อง จากมาตรการช่วยเหลือเยียวยากลุ่มแรงงานนอกระบบในช่วงการระบาดที่ผ่านมา             มีแรงงานประมาณ 7 ล้านคน สมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 จึงควรเร่งประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจกับแรงงานกลุ่มดังกล่าวเพื่อให้ทราบสิทธิประโยชน์ของการเป็นผู้ประกันตนและมีมาตรการเพื่อโน้มน้าวแรงงานให้คงสถานะเป็นผู้ประกันตนอย่างต่อเนื่อง
                              1.2 หนี้สินครัวเรือนขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ปรับลดลงเล็กน้อยแต่ยังคงอยู่ในระดับสูง ด้านคุณภาพสินเชื่อต้องเฝ้าระวังหนี้เสียจากบัตรเครดิตที่เพิ่มขึ้น
                                        1.2.1 ภาพรวมหนี้สินครัวเรือน โดยไตรมาสสอง ปี 2564 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 14.27 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 จากร้อยละ 4.7 ในไตรมาสก่อน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 89.3 ต่อ GDP ลดลงจากร้อยละ 90.6 ในไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวเร็วกว่าหนี้สินครัวเรือน อย่างไรก็ตาม สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP ยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่คุณภาพสินเชื่อยังต้องเฝ้าระวังหนี้บัตรเครดิตที่มีหนี้เสียเพิ่มขึ้น โดยสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของสินเชื่อบัตรเครดิตต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นเป็นไตรมาสที่สองติดต่อกันจากร้อยละ 3.04 ในไตรมาสก่อน เป็นร้อยละ 3.51 รวมทั้งหนี้สินครัวเรือนยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเนื่องจาก (1) ภาวะเศรษฐกิจที่ไม่สามารถขยายตัวได้ปกติซึ่งจะกระทบต่อสภาพคล่องและความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน และ (2) ผลกระทบของอุทกภัยซึ่งทำให้ครัวเรือนต้องก่อหนี้เพื่อนำมาซ่อมแซมบ้านเรือนและเครื่องใช้ที่ได้รับความเสียหาย
                                        1.2.1 ประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไป ได้แก่ (1) หนี้เสียโดยเฉพาะบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยปรับสูงเมื่อเทียบกับหนี้ประเภทอื่น (2) การส่งเสริมให้ลูกหนี้เข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ซึ่งปัจจุบันหนี้เสียของครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งอาจเกิดจากลูกหนี้ไม่ทราบเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือจึงควรเร่งประชาสัมพันธ์ให้ลูกหนี้เข้าร่วมการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อลดภาระและเพิ่มสภาพคล่อง และ (3) การก่อหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้น เนื่องจากพบว่ามีมูลค่าหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้นจากปี 2562 ถึง 1.5 เท่า
                              1.3 ภาวะทางสังคมอื่น ๆ ได้แก่ (1) การเจ็บป่วยโดยรวมลดลงแต่ยังต้องเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพจิตและการฆ่าตัวตายที่เพิ่มขึ้น รวมถึงอาการหลงเหลือหลังติดเชื้อโควิด-19 (2) การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ลดลงแต่ยังต้องเฝ้าระวังผลกระทบจากการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ ซึ่งจะส่งผลให้ราคาบุหรี่ปรับตัวสูงขึ้นและทำให้ประชาชนหันไปบริโภคสินค้าทดแทน เช่น ยาเส้นและบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงการลักลอบนำเข้าบุหรี่ผิดกฎหมาย (3) คดีอาญาโดยรวมเพิ่มขึ้นแต่ยังต้องเฝ้าระวังคดีลักทรัพย์และคดีจับกุมการเสพยาเสพติด (4) การเกิดอุบัติเหตุและผู้เสียชีวิตลดลง โดยสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุมาจากการขับรถตัดหน้าและการขับรถเร็ว ทั้งนี้ การลดความสูญเสียควรเริ่มจากการปลูกฝังความรู้ความเข้าใจและจิตสำนึกในการใช้รถใช้ถนนที่ปลอดภัยตั้งแต่วัยเด็ก และ (5) การร้องเรียนผ่านสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ลดลง โดยส่วนใหญ่เป็นการร้องเรียนสินค้าและบริการทั่วไป ขณะที่การร้องเรียนผ่านสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติเพิ่มขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็นประเด็นถูกคิดค่าบริการผิดพลาด ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อลูกหนี้โดยเฉพาะกลุ่มลูกหนี้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เนื่องจากยังมีช่องว่างทางด้านกฎหมายเกี่ยวกับการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมและสัญญาเช่าซื้อฯ ดังนั้น สคบ. จึงได้ออกประกาศคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้เพื่อปรับลดค่าธรรมเนียมทวงถามหนี้ และอยู่ระหว่างปรับปรุง (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเรื่องให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถแทรกเตอร์ และเครื่องจักรกลการเกษตร เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. .... เพื่อสร้างความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค
                    2. สถานการณ์ทางสังคมที่สำคัญ ได้แก่
                              2.1 มรดกทางวัฒนธรรม โอกาสของ Soft Power* กับการยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทย ประเทศไทยสามารถผลักดันโมเดลไทยแลนด์ 4.0 ผ่านการยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ด้วยการใช้ Soft Power ซึ่งเป็นการกระทำสิ่งต่าง ๆ ที่จะส่งผลต่อความชอบและพฤติกรรมของคนในประเทศและคนต่างชาติด้วยการโน้มน้าวและไม่มีการบังคับ ทำให้ Soft Power มีความหลากหลายและเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการควบคู่กันในทุกด้าน เช่น วัฒนธรรม ธุรกิจและการค้า และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งนี้ การให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ด้วยการนำวัฒนธรรมมาต่อยอดเพื่อยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ มีปัจจัยดังนี้ (1) การตั้งเป้าหมาย และการมีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนด้วย Soft Power (2) กำหนดหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการขับเคลื่อนแผนการดำเนินงาน และ (3) ต้องมีการส่งเสริมและสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
                              2.2 Blockchain กับการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการข้อมูลภาครัฐ ปัจจุบันภาครัฐมีการกำหนดนโยบายและการให้สวัสดิการบนพื้นฐานของการวิเคราะห์ข้อมูลมากขึ้น ทำให้ความถูกต้อง ครบถ้วน และการจัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบเป็นสิ่งสำคัญ โดยเทคโนโลยีที่มีบทบาทในปัจจุบัน คือ เทคโนโลยี Blockchain ซึ่งเป็นการจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ที่ทำให้ข้อมูลมีความถูกต้องและสามารถตรวจสอบได้ รวมถึงสามารถกำหนดระดับการเข้าถึงและการเปิดเผยข้อมูลได้อีกด้วย ทั้งนี้ การนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้กับงานบริการภาครัฐสามารถแบ่งได้เป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ (1) การพิสูจน์ตัวตน (2) การบริหารจัดการการจัดเก็บข้อมูล และ (3) การติดตามธุรกรรม โดยการดำเนินการดังกล่าวต้องมีการเตรียมความพร้อม เช่น การบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐ การกำหนดมาตรฐานการใช้เทคโนโลยี Blockchain และการปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการใช้เทคโนโลยี
                              2.3 จัดการปัญหาน้ำท่วมในต่างประเทศ : บทเรียนสำหรับประเทศไทยโดยประเทศไทยเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมอย่างต่อเนื่องซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ การจัดการน้ำท่วมในประเทศต่าง ๆ สามารถนำมาใช้เป็นบทเรียนและประยุกต์ใช้กับประเทศไทยได้ โดยมีประเด็นที่ควรให้ความสำคัญ ดังนี้ (1) ผังเมืองและผังน้ำ (2) การคาดการณ์สถานการณ์และเส้นทางการไหลของน้ำต้องมีความชัดเจน (3) ระบบเตือนภัยในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมต้องทันต่อสถานการณ์และทั่วถึง (4) การพัฒนา ฟื้นฟู บำรุงรักษาพื้นที่รองรับน้ำและพื้นที่ชะลอน้ำให้มีจำนวนมากขึ้นและพร้อมใช้งาน (5) การส่งเสริมให้ประชาชนปรับตัวเพื่อพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วม และ 6) การเตรียมพื้นที่รองรับกรณีมีผู้ประสบภัย
                    3. บทความเรื่อง ?โควิด-19 ภัยต่อสุขภาพ กับความยากจนและความเหลื่อมล้ำ? สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิค-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยหดตัวอย่างรุนแรงเนื่องจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคที่มีความเข้มงวด อย่างไรก็ตาม ในปี 2563 ความยากจนไม่ได้เพิ่มมากขึ้นเหมือนที่คาดการณ์ไว้ ส่วนความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ซึ่งเป็นผลจากมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของรัฐบาลที่ทำให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถรักษาระดับค่าครองชีพได้ชั่วคราว แต่หากความช่วยเหลือของรัฐบาลสิ้นสุดลงในช่วงที่เศรษฐกิจและการจ้างงานยังไม่ฟื้นตัวสถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำจะรุนแรงกว่าเดิม ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า (1) สมาร์ทโฟน อินเทอร์เน็ต และทักษะดิจิทัล เป็นสิ่งสำคัญที่ส่งผลต่อการเข้าถึงความช่วยเหลือเยียวยาและเป็นภาระที่ครัวเรือนยากจนต้องรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือเยียวยาต่าง ๆ ต้องดำเนินการผ่านสมาร์ทโฟนและอินเทอร์เน็ต และ (2) โควิด-19 ส่งผลกระทบที่แตกต่างกันในแต่ละสาขาเศรษฐกิจและอาจนำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นในภายหลัง
                    นอกจากนี้ แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายลงแต่ยังมีผลกระทบต่อเนื่อง เช่น (1) คนว่างงานเพิ่มและว่างงานยาวนานขึ้น (2) ครัวเรือนต้องนำเงินออมมาใช้จ่ายและมีการก่อหนี้เพิ่มขึ้น และ (3) รัฐบาลต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการช่วยเหลือเยียวยา ดังนั้น จึงควรมีแนวทางดำเนินการในระยะต่อไป ดังนี้ (1) การช่วยเหลือเยียวยายังคงเป็นสิ่งที่จำเป็น โดยต้องเน้นเรื่องการจ้างงานและการช่วยเหลือในลักษณะเฉพาะกลุ่ม (2) การพัฒนาทักษะและการอบรมเป็นสิ่งสำคัญ โดยควรพิจารณาให้มีความเชื่อมโยงกับความต้องการของตลาดและตำแหน่งงาน (3) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโครงข่ายอินเทอร์เน็ตให้พร้อมใช้งานและสามารถเข้าถึงได้ และ (4) การปรับโครงสร้างหนี้และการส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีดอกเบี้ยต่ำ
*Soft Power หมายถึง ความสามารถในการส่งผลกระทบต่อผู้อื่นเพื่อให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่ต้องการด้วยแรงดึงดูดหรือจูงใจมากกว่าบีบบังคับ โดยมีองค์ประกอบ 3 ส่วน ได้แก่ วัฒนธรรม ค่านิยมทางการเมือง และนโยบายต่างประเทศ

11. เรื่อง การทบทวนสัดส่วนที่ใช้เป็นกรอบในการบริหารหนี้สาธารณะ ตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561
                    คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ (คณะกรรมการฯ) เสนอรายงานการทบทวนสัดส่วนที่ใช้เป็นกรอบในการบริหารหนี้สาธารณะ ตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 (พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังฯ) (เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังฯ มาตรา 50 วรรคสี่ ซึ่งบัญญัติให้มีการทบทวนสัดส่วนที่ใช้เป็นกรอบในการบริหารหนี้สาธารณะที่กำหนดไว้อย่างน้อยทุกสามปีและรายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบด้วย) สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
                    1. คณะกรรมการฯ ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2564 ได้พิจารณาพื้นที่ทางการคลัง ณ เพดานหนี้สาธารณะปัจจุบัน ดังนี้
                              1.1 สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ กำหนดเพื่อวัดระดับหนี้ ป้องกันไม่ให้กู้เงินมากเกินควรและไม่เป็นอุปสรรคในการดำเนินนโยบายการคลัง โดย ณ เพดานปัจจุบันที่กำหนดให้ต้องไม่เกินร้อยละ 60 นั้น จะไม่สามารถรองรับการกู้เพิ่มเติมในอนาคตได้
                              1.2 สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ กำหนดเพื่อวัดความสามารถในการชำระหนี้ ส่งเสริมให้มีการชำระหนี้และเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ ควบคุมไม่ให้ความเสี่ยงในการปรับโครงสร้างหนี้สูงเกินไป และรองรับการกู้เงินด้วยการใช้เครื่องมือการกู้เงินที่หลากหลาย โดย              ณ เพดานปัจจุบันที่กำหนดให้ต้องไม่เกินร้อยละ 35 สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะสามารถบริหารจัดการได้ ทั้งนี้ ควรส่งเสริมให้มีการบริหารความเสี่ยงด้านการปรับโครงสร้างหนี้และส่งเสริมให้รัฐบาลเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้
                              1.3 สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมด กำหนดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกู้เงินต่างประเทศมากเกินควร โดย ณ เพดานปัจจุบันที่กำหนดให้ต้องไม่เกินร้อยละ 10           ยังสามารถรองรับการกู้เงินต่างประเทศได้หากมีความจำเป็น
                              1.4 สัดส่วนภาระหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการ กำหนดเพื่อวัดความสามารถในการชำระหนี้ต่างประเทศ โดย ณ เพดานปัจจุบันที่กำหนดให้ต้องไม่เกินร้อยละ 5 ยังสามารถรองรับการกู้เงินต่างประเทศได้ หากมีความจำเป็น
                    2. คณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลให้เงื่อนไขและสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันมีความแตกต่างจากเมื่อครั้งที่มีการกำหนดสัดส่วนที่ใช้เป็นกรอบในการบริหารหนี้สาธารณะอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องทบทวนสัดส่วนดังกล่าว โดยต้องคำนึงถึงพื้นที่ทางการคลังที่เพียงพอซึ่งสามารถรองรับความผันผวนทางเศรษฐกิจและความจำเป็นหากต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคต รวมทั้งความสามารถในการชำระหนี้ให้อยู่ในระดับมั่นคงตามเกณฑ์มาตรฐานสากลด้วย ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จึงมีมติเห็นชอบการทบทวนสัดส่วนที่ใช้เป็นกรอบในการบริหารหนี้สาธารณะ ดังนี้
กรอบการบริหารหนี้สาธารณะตามมาตรา 50          กรอบเดิม          กรอบใหม่
(1) สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ          ไม่เกินร้อยละ 60          ไม่เกินร้อยละ 70
(2) สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ          ไม่เกินร้อยละ 35          คงเดิม
(3) สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมด          ไม่เกินร้อยละ 10          คงเดิม
(4) สัดส่วนภาระหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการ          ไม่เกินร้อยละ 5          คงเดิม

12. เรื่อง ความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนพฤศจิกายน 2564
                    คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนพฤศจิกายน 2564 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
                    1. ความก้าวหน้ายุทธศาสตร์ชาติและการขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ
                              1.1 โครงการสำคัญประจำปี 2566 คณะรัฐมนตรีมีมติ (9 พฤศจิกายน 2564) เห็นชอบโครงการสำคัญประจำปี 2566 จำนวน 406 โครงการ ที่ส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (ปี 2566-2570) ทั้งนี้ สศช. อยู่ระหว่างจัดทำคู่มือการจัดทำโครงการฯ และจะจัดประชุมชี้แจงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
                              1.2 ความก้าวหน้าการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและการพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) สศช. ได้ลงพื้นที่จังหวัดอุดรธานีและจังหวัดพิษณุโลก พบปัญหาและอุปสรรค เช่น หน่วยงานในพื้นที่ขาดความเข้าใจในการใช้ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (TPMAP) และระบบแฟ้มบ้านพัฒนาคนไทย* (TPMAP Logbook) และการวิเคราะห์ข้อมูลจากระบบ TPMAP เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผน ติดตามการดำเนินงาน รวมทั้งประชาชนในพื้นที่บางส่วนยังมีทัศนคติที่ต้องการความช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐโดยไม่ต้องการพัฒนาตนเองให้หลุดพ้นจากความยากจน นอกจากนี้ สศช. ได้ลงพื้นที่เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร และจังหวัดสงขลา ทั้งนี้ จะมีการจัดทำข้อสังเกตที่ได้จากการลงพื้นที่และข้อเสนอแนวทางการดำเนินงานเสนอต่อ ศจพ. ต่อไป
                    2. ความก้าวหน้าแผนการปฏิรูปประเทศ
                              2.1 การรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ครั้งที่ 12 (เดือนเมษายน-มิถุนายน 2564) ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรและที่ประชุมวุฒิสภา ดังนี้
                                        2.1.1 สศช. ได้รายงานความคืบหน้าฯ ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่  4 พฤศจิกายน 2564 โดยมีความเห็นและประเด็นอภิปรายที่สำคัญ เช่น (1) การขจัดอุปสรรคในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและการเบิกจ่ายเงินเพื่อให้เกิดความรวดเร็ว คุ้มค่า และโปร่งใส (2) การปรับการเบิกจ่ายงบประมาณที่เป็นโครงการที่มีความสำคัญเร่งด่วนต่อประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนให้มีความรวดเร็วยิ่งขึ้น และ (3) การผลักดันให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกระบวนการทางกฎหมายได้อย่างเสมอภาค ทั่วถึง และเท่าเทียมกัน ทั้งนี้ สศช. จะนำความเห็นและประเด็นอภิปรายประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
                                        2.1.2 สศช. ได้รายงานความคืบหน้าฯ ต่อที่ประชุมวุฒิสภา เมื่อวันที่               23 พฤศจิกายน 2564 โดยมีความเห็นและประเด็นอภิปรายที่สำคัญ เช่น (1) การเร่งรัดการขับเคลื่อนการดำเนินการตามแผนงาน/โครงการของหน่วยงานทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นให้เป็นรูปธรรม (2) การประสานและบูรณาการการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การดำเนินกิจกรรม/โครงการมีประสิทธิภาพ และ (3) การเร่งรัดการออกร่างกฎหมายที่มีความสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนให้มีผลบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรม
                              2.2 การติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติของคณะกรรมาธิการการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ สศช. ได้รายงานความคืบหน้าการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ด้านกระบวนการยุติธรรม              ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบด้านการเมือง และด้านการบริหารราชการแผ่นดิน             ต่อคณะกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภาในการประชุมวุฒิสภาสมัยสามัญประจำปีแล้ว
                    3. ผลการดำเนินการอื่น ๆ
                              3.1 คณะรัฐมนตรีมีมติ (9 พฤศจิกายน 2564) เห็นชอบแนวทางการติดตามตรวจสอบ และประเมินผลเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติ และได้มอบหมายให้ สศช. ทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องชัดเจนเพื่อให้การดำเนินการตามแนวทางการติดตามเป็นไปอย่างถูกต้องและไปในทิศทางเดียวกัน
                              3.2 การสร้างการตระหนักรู้ ความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมของภาคีต่าง ๆ ต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ สศช. ได้จัดทำสื่อวีดิทัศน์เพื่อเผยแพร่การร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพลิกโฉมประเทศไทยสู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน รวมทั้งเพื่อนำไปใช้ในการรวบรวมความคิดเห็นและเผยแพร่ต่อสาธารณชน ทั้งนี้ สศช. อยู่ระหว่างระดมความคิดเห็นต่อร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ทั้งในระดับภูมิภาค 18 กลุ่มจังหวัด กลุ่มเฉพาะ และระดับหมุดหมาย 13 หมุดหมาย
                    4. ประเด็นที่ควรเร่งรัดเพื่อการบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ สศช. ได้ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของส่วนราชการ จังหวัด และกลุ่มจังหวัด จากการใช้จ่ายงบประมาณตามแผนปฏิบัติงานในรอบปีที่ผ่านมา พบว่า ภาพรวมงบประมาณของส่วนราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 3,012,156.19 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 91.67 ของการเบิกจ่ายต่องบประมาณ โดยมีเงินคงเหลือจากการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายหมวดการลงทุนที่ไม่ได้เบิกจ่ายมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 29.21 ของเงินคงเหลือยังไม่เบิกจ่าย ในขณะที่ผลการเบิกจ่าย จำแนกตามกระทรวง พบว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักนายกรัฐมนตรีมีอัตราการเบิกจ่ายต่องบประมาณหลังโอนเปลี่ยนแปลงที่น้อยที่สุด โดยมีหน่วยงานของศาล และหน่วยงานอิสระของรัฐที่สามารถเบิกจ่ายได้ครบถ้วนตามจำนวน นอกจากนี้ พบว่า ผลการเบิกจ่ายของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดมีความล่าช้าและไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ทั้งนี้ ยอดการใช้จ่ายงบประมาณดังกล่าวมีความสัมพันธ์โดยตรงกับผลการดำเนินโครงการในห้วงเวลาที่ผ่านมา หากไม่สามารถใช้จ่ายงบประมาณได้ตามเป้าหมายจะส่งผลให้การดำเนินโครงการในพื้นที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ ซึ่งอาจส่งผลต่อการขับเคลื่อนการดำเนินการที่ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติและประชาชนขาดโอกาสที่จะได้รับประโยชน์จากการดำเนินงานของภาครัฐ ดังนั้น การบูรณาการของทุกภาคส่วนในการติดตามผลการปฏิบัติงานและการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณอย่างต่อเนื่องจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน
*ระบบแฟ้มบ้านพัฒนาคนไทย (TPMAP Logbook) คือ ระบบที่สามารถเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกส่วนบุคคลสำหรับเจ้าหน้าที่หน่วยงานราชการในการติดตามแก้ไขปัญหา กำหนดนโยบาย ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน และสามารถรายงานผลการปฏิบัติงานต่าง ๆ ได้
13. เรื่อง ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การส่งเสริมการค้าชายแดนของคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา
                    คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การส่งเสิรมการค้าชายแดน ของคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
                    เรื่องเดิม
                    1. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การส่งเสริมการค้าชายแดน ของคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา มาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมการค้าชายแดน ดังนี้ 1) ส่งเสริมการอำนวยความสะดวกทางการค้าในประเทศ 2) การเจรจาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน และ 3) การพัฒนาการเชื่อมโยงการค้าผ่านแดนไปประเทศที่สาม
                    2. รองนายกรัฐมนตรี (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ พณ. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานพร้อมข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงกลาโหม (กห.) กระทรวงคมนาคม (คค.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานพร้อมข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
                    ข้อเท็จจริง
                    พณ. ได้ดำเนินการตามคำสั่งรองนายกรัฐมนตรีตามข้อ 2 โดยสรุปผลการพิจารณาได้ ดังนี้
ข้อเสนอแนะ          ผลการพิจารณา
1. ส่งเสริมการอำนวยความสะดวกทางการค้าในประเทศ โดยเร่งรัดพัฒนาระบบการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว (National Single Window : NSW) และการเชื่อมโยงกับ ASEAN Single Window (ASW) เพื่อสนับสนุนการค้าชายแดน          - หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ปรับรูปแบบกิจกรรมการพัฒนาผู้ประกอบการและการจัดงานแสดงสินค้าและการเจรจาจับคู่ธุรกิจเป็นลักษณะออนไลน์ เชื่อมโยงข้อมูลการนำเข้า ส่งออก ใบอนุญาต และใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งประเทศอาเซียน 9 ประเทศ (ยกเว้นเมียนมา) สามารถรองรับการเชื่อมโยงข้อมูลหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form D แบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-From D) ได้แล้ว ก่อสร้างอาคารด่านศุลกากรสะเดาและด่านศุลกากรแม่สอด แห่งที่ 2 (พร้อมอาคาร X-ray ตู้สินค้า) การสร้างถนนเชื่อมโยงด่านสะเดาแห่งใหม่กับด่านบูกิตกายูฮิตัมของมาเลเซียทั้งสองฝ่ายเห็นชอบจุดเชื่อมต่อแล้ว และทบทวนผลการวิเคราะห์โครงการและจัดลำดับความสำคัญในการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าจังหวัดชายแดนแห่งอื่น ๆ อีก 9 แห่ง (จังหวัดหนองคาย จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดเชียงราย) ตลอดจนการพัฒนาโครงการด้านการคมนาคมขนส่ง ทั้งโครงสร้างพื้นฐานและกฎระเบียบด้านการขนส่งที่เกี่ยวข้องตามยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558 - 2565 ในส่วนที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน
2. การเจรจาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ด้านชายแดนไทย - สปป.ลาว โดยผลักดันความร่วมมือในกรอบอนุภูมิภาคเพื่ออำนวยความสะดวกและส่งเสริมการค้าชายแดน และเจรจาเร่งรัดการจัดทำร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการขนส่งสินค้าทางถนนข้ามพรมแดนไทย - มาเลเซีย          - หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เจรจาเร่งรัดการเปิดใช้พื้นที่ควบคุมร่วมกัน (Common Control Area: CCA) ระหว่างไทย - สปป.ลาว (มุกดาหาร - สะหวันนะเขต) เจรจาจัดทำร่างความตกลงว่าด้วยกรรมสิทธิ์ การใช้ การบริหารและการบำรุงรักษาสะพานมิตรภาพไทย - กัมพูชา (บ้านหนองเอี่ยน - สตึงบท) เจรจาจัดทำร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการขนส่งสินค้าทางถนนข้ามพรมแดนไทย - มาเลเซีย และร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการขนส่งผู้โดยสารทางถนนข้ามพรมแดนไทย - มาเลเซีย ได้ข้อยุติต่อร่างบันทึกความเข้าใจทั้งสอบฉบับแล้ว
3. การพัฒนาการเชื่อมโยงการค้าผ่านแดนไปประเทศที่สาม การเชื่อมโยงเส้นทางการค้าไปจีน และการเชื่อมโยงเส้นทางการค้าไปอินเดียโดยผลักดันการเจรจาร่างความตกลงด้านยานยนต์เพื่อการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าระหว่างไทย - เมียนมา - อินเดีย          - หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดและการขนส่งผลไม้ไปจีน ณ ด่านโหย่วอี้กวน ส่งผลให้การส่งออกผลไม้ไปจีนทางบกในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2564 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ถึงร้อยละ 198 การเพิ่มด่านหนองคายเป็นด่านนำเข้าส่งออกผลไม้ไปจีนทางบก รองรับการเปิดใช้เส้นทางรถไฟจีน - สปป.ลาว และการรถไฟแห่งประเทศไทยมีแผนการเปิดเดินขบวนรถเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเปิดเดินขบวนรถสินค้าโดยเฉพาะ (ไม่พ่วงรวมกับรถโดยสาร) วันละ 7-10 ขบวน (ไป-กลับ) รวมทั้งที่ประชุมสามฝ่าย (อินเดีย เมียนมา และไทย) ได้มีมติเห็นชอบร่างความตกลงยานยนต์ระหว่างอินเดีย เมียนมา และไทย (IMTMVA) ร่วมกันแล้ว

14. เรื่อง รายงานสรุปผลการดำเนินการของคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย
                              คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานสรุปผลการดำเนินการของคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป ตามที่คณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อยเสนอ
                    สาระสำคัญ
          1. สรุปรายงานผลการดำเนินการและความคืบหน้า 8 ประเด็นสำคัญเร่งด่วนที่คณะกรรมการฯ ขับเคลื่อน
                    1.1 การแก้ไขปัญหาหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)
                    จากข้อมูล ณ สิ้นปี พ.ศ. 2563 เงินกู้ กยศ. มีหนี้เสีย (NPL) สูงถึง 63% ซึ่งสูงที่สุดในช่วง 25 ปี และหนี้ กยศ. เป็นประเด็นปัญหาเชิงโครงสร้างในหลายมิติคณะกรรมการฯ เห็นว่า ความจำเป็นต้องเร่งปฏิรูปเงินกู้            กยศ. เพื่อให้มีรูปแบบการชำระหนี้ที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรมมากขึ้น เพื่อลดโอกาสการผิดนัดชำระหนี้และกลายเป็น NPL โดย กยศ. จะเพิ่มแผนการรับชำระหนี้ให้หลากหลายมากขึ้น ทำให้ผู้กู้ที่มีความสามารถในการชำระคืนแตกต่างกัน สามารถเลือกแผนการชำระคืนให้เหมาะสมกับศักยภาพและความสามารถของตนเองได้ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
                                        (1)           การปรับปรุงรูปแบบการจ่ายชำระหนี้คืน จาก ?รายปี? เป็น ?รายเดือน? และจากเดิมที่ปรับ ?เพิ่มขึ้นทุกปี? เป็นชำระคืนค่างวดแบบเฉลี่ย ?เท่ากันทุกเดือน? พร้อมทั้งขยายระยะเวลาการผ่อนชำระจากเดิมสูงสุด 15 ปี เป็น 25 ปี ขึ้นกับขนาดของวงเงินกู้
                                        (2)           การปรับปรุงการเริ่มชำระหนี้ โดยผูกกับ ?การมีงานทำ? จากเดิมกำหนดให้หลังจบการศึกษา 2 ปี ผู้กู้จะต้องเริ่มชำระคืนหนี้
                                        (3)           การปรับปรุงลำดับการตัดชำระหนี้ โดยนำไปตัด ?เงินต้น? ก่อน แล้วจึงนำมาตัด ?ดอกเบี้ย? จากเดิมที่ตัดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และดอกเบี้ยตามสัญญาก่อน จึงจะนำมาตัดเงินต้น ซึ่งหากภาระดอกเบี้ยมีปริมาณมาก เงินที่ผู้กู้ชำระคืนจะตัดไม่ถึงเงินต้น ทำให้ยอดหนี้ไม่ลดลง
                                        (4)           การปรับลดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ จาก 18% ต่อปี เหลือ 2% ต่อปี โดยแบ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยตามสัญญา 1% และดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ส่วนเพิ่ม 1%
                                        (5)           การยกเลิกผู้ค้ำประกันสำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษานับตั้งแต่ปีการศึกษา พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป
                                        (6)           การปรับโครงสร้างหนี้ให้กับผู้ที่มีปัญหาชำระหนี้ไม่ได้ โดยคำนวณยอดหนี้คงค้างใหม่ตามกติกาใหม่ข้างต้น โดยเฉพาะลำดับการตัดชำระหนี้ที่ให้นำเงินไปตัดเงินต้นก่อนนำมาตัดดอกเบี้ย สำหรับดอกเบี้ยผิดนัดเดิมจะแขวนไว้ก่อนและจะใช้ดอกเบี้ยผิดนัดใหม่ที่ 2% มาคำนวณแทน ซึ่งจะทำให้เกิดความเป็นธรรมและช่วยลดภาระหนี้คงเหลือ ตลอดจนดอกเบี้ยผิดนัดชำระที่ผู้กู้ต้องจ่ายปรับลดลงจากปัจจุบันอย่างมีนัยยะสำคัญ
                                        (7)           การเพิ่มหลักสูตรที่เกี่ยวกับการฝึกอาชีพระยะสั้นให้สามารถกู้ยืมจาก กยศ. ได้ เช่น หลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล 6 เดือน เป็นต้น จากเดิมที่หลักสูตรส่วนใหญ่เป็นหลักสูตรในชั้นอุดมศึกษาที่ใช้เวลาศึกษา               4-6 ปี
                                        (8)           การจัดให้มีข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกเรียน โดยสอบถามความเห็นจากผู้กู้ กยศ. เกี่ยวกับสถานศึกษาที่เคยเรียน
                    ประเด็นที่ควรดำเนินการในขั้นต่อไป คือ การผลักดันการแก้ไขพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว ไม่ว่าด้วยการตราเป็นพระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนด เพื่อให้สามารถบริหารจัดการกองทุนและหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันรวมถึง กยศ. สามารถปรับโครงสร้างหนี้หรือเปลี่ยนแปลงหนี้ใหม่ให้แก่ลูกหนี้ที่ถูกคำพิพากษาแล้วได้ เช่น การชะลอการฟ้องร้องและบังคับดี หรือการชะลอการขายทอดตลาดสำหรับลูกหนี้ที่คดีใกล้ขาดอายุความ โดยปัจจุบัน กยศ. ปรับโครงสร้างหนี้ผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น แอปพลิเคชัน ?กยศ. Connect? ติดต่อตัวแทนของ กยศ. โดยตรง หรือติดต่อทางจดหมายเพื่อขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้เพียง 120,000 ราย
                    1.2 การกำหนดให้การไกล่เกลี่ยและการปรับโครงสร้างหนี้เป็นวาระของประเทศ (เน้น SFIs และ SMEs)
                    ที่ผ่านมาการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และการไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้สำหรับ SFIs มีความท้าทายจากความกังวลของคณะกรรมการและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติว่า หากยินยอมให้มีการปรับโครงสร้างหนี้อาจถูกพิจารณาว่าทำให้รัฐเสียหายอันนำมาสู่การลงโทษ โดยประเด็นดังกล่าวกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ได้หารือแนวทางในการลดข้อกังวลข้างต้น โดย ธปท. จะออกประกาศเรื่อง ?การปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจอย่างยั่งยืน? ซึ่งอาศัยอำนาจตามมาตรา 120 แห่งพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อช่วยให้ SFIs สามารถปรับโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้ได้โดยไม่มีข้อกังวลเกี่ยวกับการถูกลงโทษตามกฎหมาย โดย SFIs จะออกข้อตกลงของสมาชิกสมาคมสถาบันการเงินของรัฐเพื่อกำหนดคุณสมบัติของลูกหนี้ที่จะได้รับการพิจารณาปรับโครงสร้างหนี้และกระบวนการลดภาระการชำระหนี้ โดยคำนึงถึงฐานะทางการเงินของสถาบันการเงินนั้น ๆ ทั้งนี้ ประกาศของ ธปท. และข้อตกลงดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป
                    1.3 การแก้ไขปัญหาหนี้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์
                              ประเด็นได้มีการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อกำกับการทวงถามหนี้ และการแก้ไขหนี้เช่าซื้อ ดังนี้
                                        (1) คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ได้ประกาศกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายในการทวงถามหนี้ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2564 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นกรอบอัตราค่าใช้จ่ายในการทวงถามหนี้ที่ช่วยคุ้มครองลูกหนี้ ไม่ให้ถูกเรียกเก็บเงินในการทวงถามหนี้เกินความจำเป็น โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
                                                  (1.1) อัตราค่าทวงถามหนี้กรณีทั่วไปรวมจำนำทะเบียน ให้คิดไม่เกิน 50 บาทต่อรอบการทวงถามกรณีค้างชำระ 1 งวด และคิดไม่เกิน 100 บาทต่อรอบการทวงถาม กรณีค้างชำระมากกว่า 1 งวด
                                                  (1.2) อัตราค่าทวงถามหนี้สำหรับปฏิบัติการลงพื้นที่ติดตามถามหนี้ สำหรับสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ คิดไม่เกิน 400 บาทต่อรอบการทวงถาม และเก็บต่อเมื่อลูกหนี้ค้างชำระมากกว่า 1 งวด
                                                  (1.3) การยุติการเรียกเก็บค่าทวงถามหนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาการเก็บค่าทวงถามหนี้แบบไม่มีข้อจำกัด คณะกรรมการฯ จึงกำหนดให้การเรียกเก็บค่าทวงถามหนี้ยุติเมื่อผู้ให้บริการได้รับชำระหนี้ครบตามจำนวนหรือมีหนังสือบอกเลิกสัญญา แล้วแต่เหตุการณ์ใดเกิดขึ้นก่อน
                                                  (1.4) การกำหนดค่างวดที่ถึงกำหนดชำระที่ต่ำกว่า 1,000 บาท ไม่ให้มีการเก็บค่าทวงถามหนี้ เพื่อคุ้มครองประชาชนรายย่อยที่จ่ายค่างวดจำนวนน้อย ๆ
                              (2) การปรับปรุงประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเพื่อแก้ไขหนี้เช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์ โดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ทบทวน ปรับปรุง และแก้ไขประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาฯ เพื่อช่วยเหลือผู้เช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์ โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยไม่ให้สูงกว่าความเสี่ยงที่แท้จริง พร้อมทั้งปรับปรุงเงื่อนไขการยึดและการคืนรถให้มีความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น รวมทั้งกำหนดแนวทางการคิดยอดหนี้เช่าซื้อคงเหลือ (ติ่งหนี้) กรณีที่มีการคืนรถและกรณีที่เจ้าหนี้ยึดคืนให้มีความชัดเจนและเป็นธรรม ซึ่งปัจจุบันได้สอบถามความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียแล้วเสร็จแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงร่างประกาศฯ ซึ่งคาดว่าจะบังคับใช้ได้ภายในปี พ.ศ. 2564 นี้
                              (3) เรื่องที่จะต้องดำเนินการเพิ่มเติม
                                                  (3.1) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) หารือ ธปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณากำหนดหน่วยงานเพื่อเข้ามากำกับดูแลธุรกิจสินเชื่อหรือธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายสินเชื่อ (Credit) เพื่อให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์มีหน่วยงานกำกับดูแลเป็นการเฉพาะ
                                                  (3.2) กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม พิจารณามาตรการดูแลประชาชนที่เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ปัจจุบันไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของ สคบ. เช่น คนขับรถแท็กซี่ คนขับขี่มอเตอร์ไซด์รับจ้างที่เช่าซื้อรถมอเตอร์ไซค์ เกษตรกรที่เช่าซื้อรถไถมาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือทำมาหากิน ซึ่งปัจจุบันคนกลุ่มนี้กำลังประสบปัญหาและไม่ได้รับความเป็นธรรม
                                                  (3.3) กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย จัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาจากกรณีเช่าซื้อรถและการทวงถามหนี้ที่ไม่เป็นธรรม เพื่อให้มีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน
                                        1.4          การแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการ โดยเฉพาะข้าราชการครูและข้าราชการตำรวจ
                              ได้มีการดำเนินการเพื่อแก้ไขหนี้สินให้กับข้าราชการใน 2 กลุ่ม ดังนี้
                                                  (1) กระทรวงศึกษาธิการได้จัดตั้งคณะกรรมการแก้ไขหนี้สินบุคลากรครู โดยคณะกรรมการฯ ได้กำหนดแนวทางสำคัญในการแก้ไขปัญหา 4 เรื่อง ดังนี้
                                                                      (1.1) การยุบยอดหนี้โดยใช้ทรัพย์สินและรายได้ในอนาคตของครู เพื่อให้ยอดหนี้ลดลงและสามารถชำระคืนได้จากเงินเดือน อาทิ การใช้หุ้นสหกรณ์ออมทรัพย์ เงินกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ในส่วนที่สมาชิกสะสมหรือเงินบำเหน็จตกทอด มาชำระหนี้บางส่วน และมีกลไกการหักเงินเดือนเพื่อชดเชยส่วนที่นำออกไปใช้เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น
                                                                      (1.2) การปรับดอกเบี้ยเงินกู้ให้ลดลงเหลือไม่เกิน 5% เพื่อให้สอดคล้องกับสินเชื่อหักเงินเดือนข้าราชการที่มีความเสี่ยงต่ำ โดยปัจจุบันสหกรณ์ออมทรัพย์ครูและตำรวจคิดดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ที่ประมาณ 6-8% ขณะที่สินเชื่อของสถาบันการเงินที่มีความเสี่ยงสูงกว่า โดยคิดดอกเบี้ยที่ 5-11% นอกจากนี้ เงินที่ข้าราชการชำระหนี้จะถูกนำไปตัดดอกเบี้ยเป็นส่วนใหญ่และหักเงินต้นน้อย
                                                                      (1.3)การปรับลดค่าธรรมเนียมทำประกันชีวิตและการค้ำประกัน
โดยบุคคลที่ไม่จำเป็น โดยแต่ละปีข้าราชการครูต้องจ่ายค่าธรรมเนียมประกันชีวิตและต้องมีผู้ค้ำประกัน
การกู้ยืม ซึ่งสามารถแก้ไขได้โดยการนำทรัพย์สินที่มีและรายได้ในอนาคตมาค้ำประกันเงินกู้ อย่างไรก็ดี ปัจจุบันหุ้นสหกรณ์ออมทรัพย์และเงิน ช.พ.ค. ยังไม่สามารถนำมาใช้ประกันเงินกู้ได้
                                                                      (1.4) การยกระดับระบบการตัดเงินเดือนของข้าราชการให้มีประสิทธิภาพและเป็นธรรมมากขึ้น โดยหน่วยงานต้นสังกัดที่ทำหน้าที่หักเงินเดือนเพื่อชำระหนี้จะมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาหนี้
                                        (2)           กระทรวงศึกษาธิการได้ศึกษาแนวปฏิบัติที่ดีจากสหกรณ์ออมทรัพย์ต้นแบบ 2 แห่ง ได้แก่ สหกรณ์ออมทรัพย์ครูกำแพงเพชรและสหกรณ์ออมทรัพย์ครูสมุทรปราการ ซึ่งสรุปบทเรียนที่สำคัญได้ ดังนี้
                                                                      (2.1) การคิดดอกเบี้ยเงินกู้กับสมาชิกไม่เกิน 5% โดยเป็นผลจาก 3 ส่วนสำคัญ คือ ส่วนที่หนึ่ง การกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์พิเศษที่ 2.4% และออมทรัพย์ปกติที่ 1.7% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงเพียงพอเมื่อเทียบกับดอกเบี้ยเงินฝากของสถาบันการเงินหรืออัตราผลตอบแทนจากพันธบัตรรัฐบาล ส่วนที่สอง การกำหนดเงินเฉลี่ยคืนผู้กู้ที่ 20% ของกำไรในแต่ละปี เนื่องจากกำไรส่วนใหญ่ของสหกรณ์มาจากสมาชิกผู้กู้และในอนาคตมีแผนปรับอัตราการเฉลี่ยคืนให้สูงขึ้นเป็น 25-30% ของกำไรประจำปี และส่วนที่สาม การกำหนดอัตราเงินปันผลสำหรับผู้ถือหุ้นที่ไม่เกิน 5% ซึ่งเป็นอัตราที่สมาชิกทั้งผู้ถือหุ้นและผู้กู้สามารถที่จะอยู่ได้ทั้งสองฝ่าย
                                                                      (2.2) การบริหารความเสี่ยงของสินเชื่อต้องไม่สร้างภาระให้ข้าราชการมากกว่าความเสี่ยงที่แท้จริง อาทิ สมาชิกกู้เงินไม่ต้องซื้อประกันชีวิตเพื่อเป็นหลักประกัน
ความเสี่ยงเพิ่มเติม และกำหนดให้มีผู้ค้ำประกันเท่าที่จำเป็น โดยไม่มีการฟ้องร้องผู้ค้ำประกันเป็นต้น
                                                                      (2.3) การปรับโครงสร้างหนี้และการไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้ก่อนจะเป็น NPL โดยให้ลูกหนี้เลือกแผนการชำระคืนตามความสามารถ (Debtor?s Choice) นอกจากนี้ ผู้ค้ำประกันควรรับผิดชอบเฉพาะส่วนเท่านั้น
                                        ปัจจุบันมีสหกรณ์ออมทรัพย์ครูจำนวน 20 แห่ง ครอบคลุมครูทั่วประเทศกว่า 2 แสนคน สมัครเข้ามาเป็นสหกรณ์ครูต้นแบบที่จะดำเนินการตามแนวทางที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด และคาดว่าจะมีสหกรณ์ออมทรัพย์ครูอีกจำนวนมากสมัครเข้ามาเพิ่มเติมในระยะต่อไป
                                        (3)           การแก้ไขปัญหาหนี้ตำรวจ ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมโครงการ 4,937 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2564) และได้รับการแก้ไขปัญหาแล้ว 2,166 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการ 2,594 ราย นอกจากนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ขอความร่วมมือไปยังสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจเพื่อช่วยเหลือข้าราชการที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ในการพักชำระหนี้เงินต้น การปรับลดอัตราการถือหุ้นรายเดือน การจัดทำโครงการปล่อยเงินกู้ระยะสั้นดอกเบี้ยต่ำเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายให้กับสมาชิกในครอบครัว และการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับสมาชิกที่มีหนี้เงินกู้
                                        (4)           เรื่องที่ต้องดำเนินการเพิ่มเติม
                                                            (4.1) สร้าง ecosystem เพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ โดยมีกลไกขับเคลื่อนอย่างน้อย 4 ส่วน คือ (1) การกำกับดูแลโดยหน่วยงานต้นสังกัดที่ทำหน้าที่ตัดเงินเดือนให้เจ้าหนี้ โดยมีระบบและกำหนดเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการตัดเงินเดือน เพื่อให้มีประสิทธิภาพและเป็นธรรมมากขึ้น (2) กรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ รวมถึง ธปท. กำกับดูแลให้สหกรณ์ออมทรัพย์และสถาบันการเงินให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (3) มีการกำกับดูแลชุมนุมสหกรณ์ให้ดำเนินงานตามเจตนารมณ์ที่จะเอื้อต่อการบริหารสภาพคล่องในระบบสหกรณ์เพื่อช่วยเหลือสมาชิกด้วยกัน และ (4) การแข่งขันจาก SFIs เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยมีความเป็นธรรมมากขึ้น
                                                  (4.2) หน่วยงานต้นสังกัดเร่งปรับปรุงและยกระดับระบบการตัดเงินเดือนเพื่อชำระหนี้ อาทิ กำหนดยอดเงินที่ข้าราชการสามารถกู้ได้โดยไม่เกินศักยภาพในการชำระคืนจากเงินเดือน กำหนดกติกาว่าหลังหักชำระหนี้ ข้าราชการต้องเหลือเงินเดือนไม่ต่ำกว่า 30% เพื่อป้องกันการกู้ยืมนอกระบบ และกำหนดกติกาที่สหกรณ์ออมทรัพย์หรือสถาบันการเงินที่จะมาใช้สิทธิพิเศษตัดเงินเดือนข้าราชการต้องปฏิบัติตาม เช่น คิดดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราที่เหมาะสม และจัดให้มีข้อมูลเครดิตที่สามารถตรวจสอบได้ ตลอดจนสร้างการแข่งขันในระบบสหกรณ์และสถาบันการเงินที่จะมาเป็นช่องทางตัดเงินเดือนข้าราชการ
                                                  (4.3) กรมส่งเสริมสหกรณ์ปรับปรุงกฎกระทรวงและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนให้การแก้ปัญหาหนี้ข้าราชการเป็นไปอย่างราบรื่น โดยการเร่งรัดการออกกฎกระทรวง เพื่อกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนให้ครบถ้วนตามกฎหมาย โดยเฉพาะประเด็นการให้กู้และการให้สินเชื่อ การรับฝากเงิน การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง การจัดชั้นและการกันเงินสำรอง เป็นต้น เพื่อส่งเสริมให้การดำเนินการของสหกรณ์ในภาพรวมมีความมั่นคงตามหลักการกำกับดูแลความเสี่ยงที่ดี และให้ครอบคลุมมิติ ดังต่อไปนี้
                                                                      1)          ปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของสหกรณ์ให้ไม่เกิน 3% ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสม เพื่อลดปัญหาการแสวงหาผลตอบแทน (Search for Yield) ที่นำมาสู่ปัญหาสมาชิกแฝง ซึ่งดอกเบี้ยเงินฝากที่สูงจะทำให้ผู้กู้ต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงตามไปด้วยโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะในปัจจุบันที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากทั่วโลกอยู่ในระดับต่ำ
                                                                      2)          กรมส่งเสริมสหกรณ์ศึกษาและพิจารณาแก้ไขกฎเกณฑ์ให้สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์สามารถนำหุ้นบางส่วนมาใช้ชำระหนี้ได้ โดยไม่ต้องลาออกจากการเป็นสมาชิกเช่นเดียวกับที่หลายประเทศมีแนวปฏิบัติอยู่
                                                                      3)          ยกระดับการกำกับดูแลชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์ โดยกำหนดให้มีผู้แทนจากกระทรวงการคลังและ ธปท. เป็นกรรมการหรือที่ปรึกษา คณะกรรมการที่ปรึกษาการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนียน เพื่อให้คำปรึกษา แนะนำ เสนอมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา ตลอดจนเสนอแนะการปรับปรุงระเบียบหรือคำสั่งเกี่ยวกับการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนียนแก่นายทะเบียนสหกรณ์ อันรวมถึงกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดเงินปันผลและการให้กู้ เป็นต้น โดยให้มีการประชุมเป็นประจำและมีวาระการประชุมที่ชัดเจน พร้อมทั้งสรุปรายงานการประชุมต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งกำหนดให้มีการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานต่าง ๆ อย่างโปร่งใส
                                                                      4)          กระทรวงศึกษาธิการร่วมกับ SFIs ในการติดตามแผนการแก้ไขปัญหาหนี้ครูและเร่งขับเคลื่อนโครงการแก้หนี้ครูผ่านการใช้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้นแบบ นอกจากนี้ มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาศึกษาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการปรับลดยอดหนี้ โดยการนำรายได้ในอนาคตของข้าราชการบางส่วนมาใช้ลดยอดหนี้ อาทิ เงินกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการในส่วนที่สมาชิกสะสมเอง หุ้นสหกรณ์ออกทรัพย์ และเงินบำเหน็จตกทอด เป็นต้น
                                        1.5          การปรับลดและทบทวนโครงสร้างและเพดานอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม และการออกมาตรการคุ้มครองสิทธิของลูกหนี้
                              ธปท. ได้ทบทวนและปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคลอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดกระทรวงการคลังได้ปรับลดเพดานเงินกู้สินเชื่อ PICO Finance ลงจาก 36% เหลือ 33% สำหรับลูกหนี้ที่วางหลักประกัน นอกจากนี้ เมื่อเดือนตุลาคม 2564 ธปท. ได้ออกหนังสือเวียนเรื่องการกำหนดแนวปฏิบัติสำหรับการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible and Fair Lending Guidelines) เพื่อกำหนดแนวทางเพิ่มเติมให้การให้สินเชื่อของสถาบันการเงินและ SFIs เป็นธรรมยิ่งขึ้น โดยครอบคลุมกระบวนการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินตั้งแต่เริ่มต้น อาทิ กำหนดระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ที่นานเพียงพอและดอกเบี้ยเงินกู้สอดคล้องกับความเสี่ยง เป็นต้น
                    นอกจากนี้ ธปท. ได้ออกมาตรการแก้ไขหนี้สินระยะยาวเมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2564 โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนให้สถาบันการเงินมีการปรับโครงสร้างหนี้ที่เหมาะสมกับรายได้ของลูกหนี้ และเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ลูกหนี้ที่มีความต้องการ โดย ธปท. ใช้กลไกสิ่งจูงใจ (Incentive) กับสถาบันการเงินเพื่อให้ช่วยเหลือลูกหนี้และยอมไกล่เกลี่ยเพื่อชะลอการดำเนินคดี ซึ่งเป็นมาตรการเพิ่มเติมจากการพักและขยายเวลาชำระหนี้ และเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ธปท. ได้ออกมาตรการแก้ไขหนี้สินระยะยาวเพิ่มเติม ด้วยการสนับสนุนการรีไฟแนนซ์ (Refinance) และการรวมหนี้ (Debt Consolidation) โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีประวัติการชำระหนี้ดี หรือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ด้วยการนำหลักประกันของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ในการช่วยลดภาระดอกเบี้ยและค่างวดในระยะยาว นอกจากนี้ ธปท. ได้ดำเนินการลดข้อจำกัดการทำ                  รีไฟแนนซ์ (Refinance) หนี้ เพื่อส่งเสริมการแข่งขันของสถาบันการเงินในการรวมหนี้ให้กับลูกหนี้ควบคู่ไปด้วย ทั้งนี้               การแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นจะช่วยผลักดันให้อัตราดอกเบี้ยสอดคล้องกับความเสี่ยงของลูกหนี้ยิ่งขึ้นทั้งนี้ มีประเด็นที่ยังคงต้องดำเนินการเพิ่มเติม ได้แก่
                                                  (1) กรมส่งเสริมสหกรณ์พิจารณานำสาระในมาตรการแก้ไขหนี้สินระยะยาวเมื่อวันที่            3 กันยายน พ.ศ. 2564 ของ ธปท. ไปประยุกต์ใช้ในการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ เพื่อให้สหกรณ์ออมทรัพย์ให้สินเชื่อที่รับผิดชอบและเป็นธรรมมากขึ้น
                                                  (2) กระทรวงการคลังและ ธปท. ศึกษาและพิจารณาบทบาทการดำเนินการของ SFIs เพื่อช่วยให้เกิดการแข่งขันในระบบการเงินและส่งผลให้ดอกเบี้ยเงินกู้ปรับลดลง
                                                  (3) สคบ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาสัญญาว่าสามารถครอบคลุมการเช่าซื้อรถที่ใช้เพื่อการพาณิชย์ได้ด้วยหรือไม่
                    1.6 การแก้ไขปัญหาหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล
                              ธปท. ร่วมกับสถาบันการเงินกว่า 35 แห่ง จัดตั้ง ?คลินิกแก้หนี้? เพื่อเป็น platform กลางในการแก้ไขปัญหาหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ปกติมักมีเจ้าหนี้หลายราย โดย บบส. สุขุมวิท ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเจรจากับเจ้าหนี้ โดยมีเกณฑ์การปรับโครงสร้างหนี้ที่เป็นมาตรฐานกลางที่มีความผ่อนปรน คือ ลูกหนี้ชำระหนี้เฉพาะในส่วนของเงินต้น สำหรับดอกเบี้ยที่ค้างชำระจะยกให้เมื่อลูกหนี้ปฏิบัติตามสัญญาได้ครบถ้วน รวมทั้งให้เวลาผ่อนชำระนานถึง 10 ปี ส่งผลให้ภาระการผ่อนต่อเดือนไม่สูงมากนัก ซึ่งที่ผ่านมาคลินิกแก้หนี้สามารถช่วยเหลือหลายหมื่นบัญชีให้แก้ไขปัญหาได้สำเร็จ นอกจากนี้ ธปท. ยังจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลออนไลน์ เพื่อแก้ปัญหาหนี้ในส่วนที่อยู่ในชั้นการบังคับคดี ซึ่งไม่สามารถเข้าคลินิกแก้หนี้ได้ และหนี้บัตรเครดิตที่ยังไม่เป็นหนี้เสียแต่ลูกหนี้จ่ายชำระเพียงอัตราขั้นต่ำ ซึ่งมีโอกาสตกอยู่ในวังวนหนี้ในอนาคต ให้ได้มีโอกาสไกล่เกลี่ยปัญหาด้วยเงื่อนไขการผ่อนชำระที่ผ่อนปรน สำหรับหนี้บัตรเครดิตที่สถานะยังดี ให้สามารถเปลี่ยนเป็นหนี้ term loan ที่ดอกเบี้ยต่ำและมีเวลาผ่อนชำระที่แน่นอน โดยมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ได้ช่วยประชาชนรายย่อยมากกว่าสองแสนราย อนึ่ง ยังคงมีประเด็นที่ต้องดำเนินการเพิ่มเติม ได้แก่
                    (1) กระทรวงการคลังพิจารณาบทบาทของ SFIs ในการสร้างตลาดรีไฟแนนซ์ (Refinance) สำหรับลูกหนี้บัตรเครดิตที่มีประวัติการผ่อนชำระดีต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ดอกเบี้ยถูกลง
               (2)          กระทรวงการคลังควรมีนโยบายให้ธนาคารกรุงไทยเข้าร่วมในโครงการคลินิกแก้หนี้
          1.7          การแก้ไขปัญหาการเข้าถึงแหล่งทุนของประชาชนรายย่อยและ SMEs
                              ได้มีการออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือประชาชน เพื่อให้ถึงแหล่งเงินทุนได้ ดังนี้
                    (1)           ธปท. และกระทรวงการคลังมีมาตรการเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ SMEs ในช่วงโควิด-19 ผ่านโครงการ soft loan และสินเชื่อฟื้นฟูของ ธปท. ซึ่งมี SMEs จำนวนแสนกว่ารายได้รับความช่วยเหลือ
                    (2) ธนาคารออมสินเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการจัดตั้งบริษัทให้บริการสินเชื่อขายฝากที่ดินที่มีดอกเบี้ยต่ำ เพื่อลดภาระดอกเบี้ยและเสริมสภาพคล่องยามฉุกเฉินให้แก่ประชาชนที่มีความจำเป็น ให้เข้าถึงสินเชื่อด้วยต้นทุนต่ำ ซึ่งจะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการก่อหนี้เกินตัว โดยกลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ ครัวเรือนยากจน เกษตรกร และ SMEs โดยใช้ช่องทางสาขาของธนาคารออมสินที่มีอยู่ทั่วประเทศถึง 1,055 สาขา และทางออนไลน์ที่มีผู้ใช้บริการ 9.92 ล้านราย โดยปัจจุบันการดำเนินการอยู่ในขั้นตอนสรรหาบริษัทลูกหรือบริษัทในเครือของรัฐวิสาหกิจที่จะเข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งได้กำหนดในแผนการดำเนินการของธนาคารออมสินปี 2565 แล้ว
                              (3) เรื่องที่ต้องดำเนินการเพิ่มเติม
                              (3.1) โควิด-19 ทำให้ความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อเพิ่มสูงขึ้นมาก ซึ่งการให้สินเชื่อโดยพิจารณาจากความเสี่ยง (Risk-based) อาจไม่สามารถดำเนินการได้ตามปกติ ซึ่งการพิจารณา ?หลักประกัน? สำหรับการให้สินเชื่อ (Collateral-based) จะมีความสำคัญมากขึ้น ดังนั้น จำเป็นต้องสนับสนุนเรื่องงบประมาณการดำเนินการแก่สถานธนานุบาลหรือโรงรับจำนำทั่วประเทศ ให้สามารถรับจำนำทรัพย์สิน ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ เพื่อช่วยลดปัญหาสภาพคล่องของครัวเรือนรายย่อย
                                           (3.2) ธนาคารที่ดินต้องมีบทบาทต่อเนื่องจากธนาคารออมสินที่ให้บริการสินเชื่อขายฝากดอกเบี้ยถูกแก่ประชาชนรายย่อย โดยเฉพาะกรณีที่ลูกหนี้ไม่สามารถไถ่ถอนการขายฝากได้ทัน เพื่อไม่ให้ประชนรายย่อยต้องเสียที่ดินทำกิน
                                            (3.3) ธปท. และกระทรวงการคลังควรมีนโยบายดูแลลูกหนี้ SMEs ที่ได้ soft loan ในระยะแรก ที่จะครบกำหนดชำระ 2 ปี หาก SMEs ดังกล่าวไม่สามารถชำระหนี้คืนได้
                    1.8 การปรับปรุงขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมเพื่อเอื้อให้เกิดการแก้ไขปัญหาหนี้สิน
                              สำนักงานศาลยุติธรรมได้ดำเนินการเพื่อช่วยเหลือประชาชน และอำนวยความสะดวกในการไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้สินและการปรับโครงสร้างหนี้ ดังนี้
                              (1) สำนักงานศาลยุติธรรมได้จัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางธุรกิจและการเงิน (Thai Business Mediation Center: TBMC) เมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2564 เพื่อเป็นกลไกช่วยไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางธุรกิจและการเงิน และลดคดีที่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาล ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสำนักงานศาลยุติธรรมกับ ธปท. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเน้นไกล่เกลี่ยข้อพิพาทผ่านระบบออนไลน์ (Online Dispute Resolution: ODR) เป็นหลัก ซึ่งประชาชนสามารถยื่นคำร้องด้วยตนเองหรือผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์
                              (2) กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับ ธปท. และหน่วยงานเครือข่ายตั้งแต่ระยะเริ่มต้นของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในการไกล่เกลี่ยหนี้ที่เกิดขึ้นในทุกระดับ โดยเฉพาะในชั้นบังคับคดี และยังร่วมกับ ธปท. ในการดำเนินงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งช่วยให้ประชาชนที่มีหนี้บัตรเครดิตแม้มีคำพิพากษาแล้ว ยังสามารถหาทางออกกับเจ้าหนี้ โดยไม่ถูกยึดทรัพย์ได้
                                        นอกจากนี้ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการคลัง ธปท. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างดำเนินการการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของ SMEs โดยในกฎหมายฉบับนี้ได้แก้ไขให้ประชาชนรายย่อยที่มีปัญหาหนี้สินสามารถเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูได้
                              (3) เรื่องที่ต้องดำเนินการเพิ่มเติม
                                        (3.1) กระทรวงยุติธรรมและสำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกันกำหนดตัวชี้วัดเรื่องการขับเคลื่อนให้เกิดไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้สินและจัดให้เป็นตัวชี้วัดประจำปีของกรมบังคับคดีและกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ
                                        (3.2) กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการคลัง ธปท. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูกิจการ SMEs ให้แล้วเสร็จ

15. เรื่อง ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกิน
                    คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกินตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสนอ และให้กระทรวงคมนาคมเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติรับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    คณะกรรมการ ป.ป.ช. รายงานว่า
                    1. โดยที่ภาคอุตสาหกรรมมีบทบาทสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรฐกิจของประเทศ ส่งผลให้เกิดธุรกิจการขนส่งเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะการขนส่งด้วยรถบรรทุก เนื่องจากเป็นการขนส่งที่สะดวก รวดเร็วและเข้าถึงจุดหมายปลายทางโดยตรง อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการรถบรรทุกมีแนวโน้มแข่งขันด้านราคาค่าขนส่งอย่างรุนแรง จึงเป็นมูลเหตุจูงใจให้เกิดพฤติกรรมบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้หรือเกินมาตรฐานของถนนที่ออกแบบไว้ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อถนนและเป็นภาระต่องบประมาณในการซ่อมแซมและบำรุงรักษาถนนเพิ่มขึ้น รวมทั้งเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน นอกจากนี้ ยังมีการทุจริตของเจ้าหน้าที่ในการบังคับใช้หรือปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความผิดฐานใช้รถบรรทุกน้ำหนักเกิน ดังนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงได้เสนอมาตรการเกี่ยวกับการป้องกันการทุจริตกรณีรถบรรทุกน้ำหนักเกินต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่อง เช่น การสำรวจความเหมาะสมและการจัดตั้งด่านชั่งน้ำหนักถาวรทดแทนของเดิมที่มีอยู่ การจัดตั้งด่านชั่งน้ำหนักถาวรเพิ่มเติมโดยให้กระจายบนทางหลวงสายสำคัญ และการปรับปรุงหน่วยเฉพาะกิจให้มีอำนาจตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่และมีอำนาจตรวจสอบน้ำหนักรถบรรทุก อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวยังไม่ได้รับการแก้ไข
                    2. คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษามาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกิน เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกินและเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ได้พิจารณาปัญหาการทุจริตเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกินและมีข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต 3 ประการ ประกอบกับมีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ ดังนี้
                              2.1 การกำหนดมาตรการลงโทษผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้รถบรรทุกที่มีน้ำหนักเกินกว่ากฎหมายกำหนด เช่น เจ้าของสินค้าและผู้รับจัดการขนส่ง โดยเฉพาะการขนส่ง โดยระบบคอนเทนเนอร์นอกเขตทำเนียบท่าเรือ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดกำหนดให้มีความผิดและต้องรับโทษ
                              2.2 การปรับปรุงและพัฒนาการควบคุม กำกับดูแล ตรวจสอบการใช้รถบรรทุกที่มีน้ำหนักเกิน ควรดำเนินการ ดังนี้
                                        2.2.1 กำหนดให้ผู้ประกอบการขนส่งจัดให้มีและทำให้ปรากฏซึ่งข้อความบอกให้ทราบชนิดและน้ำหนักสินค้าที่ทำการขนส่งโดยรถบรรทุก ซึ่งมีความสอดคล้องกับพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 35 ที่มีการระบุเกี่ยวกับการจัดให้มีใบกำกับสินค้าที่ทำการขนส่ง ประกอบกับ การดำเนินการของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางได้กำหนดเงื่อนไขการประกอบการขนส่งไม่ประจำทางด้วยรถที่ใช้ในการขนสัตว์และสิ่งของ ตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบกฯ มาตรา 32 (6) คือ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งจัดทำใบกำกับการขนส่งซึ่งต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้าที่ทำการขนส่งไว้ประจำรถขณะทำการขนส่ง อย่างไรก็ตาม บทบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับเฉพาะการขนส่งไม่ประจำทางเท่านั้น ซึ่งจากข้อเท็จจริง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 พบว่า มีรถบรรทุกจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก รวม 1,089,621 คัน จำแนกเป็น รถบรรทุกไม่ประจำทาง (ส่วนมากเป็นรถกึ่งพ่วง) จำนวน 293,167 คัน และรถบรรทุกส่วนบุคคล (ส่วนมากเป็นรถกระบะบรรทุก) จำนวน 796,454 คัน
                                        2.2.2 ปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานตรวจสอบควบคุมน้ำหนักรถบรรทุก มีการดำเนินการ ดังนี้ (1) กรมทางหลวง (ทล.) มีสถานีตรวจสอบน้ำหนักจำนวน 70 แห่ง (ปี 2558) โดยในเส้นทางที่ไม่มีสถานีตรวจสอบน้ำหนักจะมีหน่วยชั่งน้ำหนักเคลื่อนที่ตรวจสอบและจับกุมรถที่บรรทุกน้ำหนักเกินกว่ากฎหมายกำหนด (2) ทช. มีแผนจัดตั้งสถานีตรวจสอบน้ำหนักในสายทางที่มีปริมาณรถบรรทุกสูง (มากกว่า 1,700 คันต่อวัน) โดยเริ่มจากเส้นทางที่มีปริมาณรถบรรทุกสูง มากกว่า 3,000 คันต่อวัน เป็นลำดับแรก และกำหนดให้โครงการก่อสร้างใหม่ (โครงการขนาดใหญ่) ต้องมีสถานีตรวจสอบน้ำหนัก นอกจากนี้ ปัจจุบันมีการติดตั้งด่านชั่งน้ำหนักขณะรถวิ่ง (Weigh In Motion: WIM) ที่ติดตั้งอุปกรณ์ชั่งน้ำหนักไว้บนพื้นถนนจำนวน 10 แห่ง เช่น ทางหลวงหมายเลข 340 บางบัวทอง - สุพรรณบุรี และทางหลวงสาย 304 มีนบุรี-ฉะเชิงเทรา
                                        2.2.3 พิจารณาให้เอกชนมีส่วนร่วมในการจัดตั้งด่านชั่งน้ำหนักและพิจารณานำค่าปรับส่วนหนึ่งมาจัดสรรเป็นรายได้ของเอกชน ซึ่งสอดคล้องกับที่คณะรัฐมนตรีมีมติ (23 มกราคม 2550) เห็นชอบการจัดตั้งศูนย์ป้องกันการทุจริตและการละเมิดกฎหมายเกี่ยวกับทางหลวงเพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบด้านคมนาคมขนส่งใน 17 สายทางหลักและถนนโครงข่ายในรัศมี 200 กิโลเมตร รอบกรุงเทพมหานคร ซึ่งโครงการดังกล่าวมีสาระสำคัญประการหนึ่ง คือ การให้เอกชนเข้ามาร่วมโครงการจัดตั้งด่านชั่งน้ำหนักโดยเป็นผู้ลงทุนในการจัดหาอุปกรณ์และเทคโนโลยีและจัดบุคลากรมาดำเนินการ รวมทั้งมีรายรับจากสินบนนำจับตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม กค. มีความเห็นว่า การเชิญชวนให้เอกชนเข้าร่วมโครงการดังกล่าวเป็นเรื่องการเข้าร่วมดำเนินกิจการของรัฐ ดังนี้ เอกชนที่ได้รับการคัดเลือกให้ร่วมเข้าโครงการจึงไม่ได้เป็นผู้แจ้งความนำจับที่มีสิทธิได้รับเงินสินบนจากเงินค่าปรับตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง และไม่สามารถทำความตกลงกับ กค. ได้ด้วย
                              2.3 การบังคับใช้กฎหมายกรณีมีการใช้รถบรรทุกที่มีน้ำหนักเกินกว่ากฎหมายกำหนด ควรดำเนินการ ดังนี้
                                        2.3.1 กำหนดมาตรการเพิกถอนการจดทะเบียนรถระงับการใช้รถ หรือพักใช้ใบอนุญาตประกอบการขนส่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้รถบรรทุกสิ่งของที่มีน้ำหนักเกิน ซึ่งส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น ขบ. ทล. และ ทช. อาจพิจารณาดำเนินการตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 15/2560 เรื่อง มาตรการเพื่อความปลอดภัยในรถสาธารณะ ซึ่งกำหนดให้นายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกมีอำนาจสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนรถ ระงับการใช้รถ หรือพักใช้ใบอนุญาตประกอบการขนส่งได้ไม่เกินหกเดือน อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกฎหมายอื่นยังไม่มีบทบัญญัติที่จะนำมาพิจารณาดำเนินการตามข้อเสนอได้ เว้นแต่จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย
                                        2.3.2 ให้มีมาตรการพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถ โดยข้อเสนอนี้อาจไม่สามารถดำเนินการได้ตามกฎหมายที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากการพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถสามารถกระทำได้เฉพาะกรณีผู้ขับรถหรือผู้ขับขี่ได้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เช่น พระราชบัญญัติการขนส่งทางบกฯ มาตรา 96-99 มาตรา 102-103 และ 109 บัญญัติให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถได้ 2 กรณี คือ (1) เหตุเพราะการขาดคุณสมบัติ ลักษณะ และอายุตามที่กฎหมายกำหนด และ (2) กรณีผู้ขับรถฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติทั้งหลายในหมวดที่ว่าด้วยผู้ประจำรถ เช่น ขับรถโดยไม่มีใบอนุญาตเสพหรือเมาสุรา
                                        2.3.3 กำหนดมาตรการริบรถบรรทุกที่มีน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยที่กฎหมายว่าด้วยทางหลวงในปัจจุบันมีบทกำหนดโทษจำและปรับสำหรับการนำรถบรรทุกสิ่งของที่มีน้ำหนักเกินกว่ากฎหมายกำหนดมาใช้ในทางหลวง ซึ่งการกระทำความผิดดังกล่าวอาจเป็นเหตุให้ศาลริบรถบรรทุกดังกล่าวตามอำนาจแห่งประมวลกฎหมายอาญาได้ด้วย อย่างไรก็ตาม จากสถิติการจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินในช่วงปี 2557 - 2560 ทล. ได้จับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกิน จำนวน 1,267 คัน 1,554 คัน 1,240 คัน และ 2,875 คัน ตามลำดับ แต่ไม่ปรากฏว่า ทล. ได้ดำเนินการกับผู้กระทำผิดตามกฎหมายทางหลวงและประมวลกฎหมายอาญาแต่อย่างใด
                    3. ฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการฯ ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบการเกี่ยวกับแนวทางการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกิน สรุปได้ ดังนี้
                              3.1 ข้อเสนอแนะ เช่น (1) ควรปรับปรุงอัตราโทษในพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม และสภาวการณ์ด้านการขนส่งในปัจจุบัน (2) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทางถนนควรมีการควบคุมน้ำหนักที่ต้นทางและตรวจสอบน้ำหนักที่ปลายทางให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ศูนย์กระจายสินค้า ท่าเรือ และนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งหากมีการบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด อาจพิจารณาไม่รับสินค้าจากรถบรรทุกน้ำหนักเกิน และ (3) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรบูรณาการการจัดทำบันทึกข้อตกลงในการขนส่ง (MOU) เพื่อกำหนดเกี่ยวกับความกว้าง ความยาว ความสูง และน้ำหนักบรรทุกให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด โดยเฉพาะการขนส่งผลผลิตทางการเกษตรเพื่อลดความยุ่งยากในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
                              3.2 ปัญหาและอุปสรรค เช่น (1) การจัดทำและใช้บันทึกข้อตกลงแนวทางปฏิบัติในการขนส่งอ้อยเข้าสู่โรงงานผลิตน้ำตาลในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ อุตรดิตถ์ แพร่ พิจิตร ตาก อุทัยธานี และกำแพงเพชร ก่อให้เกิดปัญหาในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่กรมทางหลวงเนื่องจากบันทึกข้อตกลงฯ ระบุว่า ในการบรรทุกทั้งอ้อยท่อนและอ้อยลำให้มีความสูงจากพื้นถนนไม่เกิน 3.8 เมตร และมีน้ำหนักประมาณ 35-40 ตัน ซึ่งเกินกว่าที่พระราชบัญญัติทางหลวงฯ บัญญัติไว้ว่าไม่ให้เกิน 25 ตัน (อ้อยท่อนและอ้อยลำ ควรมีความสูงไม่เกิน 3.2 เมตร) ส่งผลให้เกิดข้อพิพาทระหว่างเจ้าหน้าที่ ผู้ประกอบการและเกษตรกรหลายครั้ง ซึ่ง ทล. ได้จัดประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่กระทรวงอุตสาหกรรมไม่เข้าร่วมการประชุม และ (2) กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องรถบรรทุกน้ำหนักเกินอยู่ในความรับผิดชอบของหลายหน่วยงาน เช่น ทล. ทช. และ อปท. ซึ่งแต่ละหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายต่างกัน และไม่มีการประสานความร่วมมือกัน จึงเป็นเหตุให้การบังคับใช้กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งแต่ละหน่วยงานมีปัญหา อุปสรรค และข้อจำกัดในการดำเนินการจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกิน เช่น กรุงเทพมหานครไม่มีการจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินเนื่องจากไม่มีเครื่องชั่งน้ำหนัก ส่วน ทช. และ อปท. มีกำลังคนไม่เพียงพอที่จะจัดตั้งส่วนงานที่ดูแลเรื่องรถบรรทุกน้ำหนักเกินเป็นการเฉพาะและไม่มีความชำนาญในการจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกิน
                    4. รายงานการวิจัย เรื่อง แนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริต : ศึกษากรณีรถบรรทุกน้ำหนักเกินพิกัดที่กฎหมายกำหนด ผลการวิจัยพบว่า มูลเหตุจูงใจในการทุจริตเพื่อให้รถบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าพิกัดที่กฎหมายกำหนดสามารถสัญจรได้ มาจากเหตุผลทางเศรษฐกิจ โดยการติดสินบนมีความคุ้มค่าและสร้างผลกำไร รวมทั้งมีโอกาสถูกดำเนินคดีน้อยมาก ดังนั้น วิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตที่ได้ผลจะต้องลดปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยนำเทคโนโลยีการตรวจชั่งน้ำหนักระบบอัตโนมัติที่เหมาะสมมาใช้ ซึ่งจากการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องพบว่า ไม่มีผลกระทบเชิงลบและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย จึงเชื่อมั่นว่ามาตรการที่นำเสนอจะสามารถแก้ไขปัญหาการทุจริตที่มีอยู่ได้

16. เรื่อง ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้พระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประธานกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้เสนอผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้             พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 (พระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564) ในคราวประชุมครั้งที่ 19/2564 ที่ได้มีมติที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณากลั่นกรองความเหมาะสมของข้อเสนอแผนงานหรือโครงการเพื่อขอใช้จ่ายจากเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 รวมทั้งการพิจารณาข้อเสนอการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการที่ได้รับอนุมัติให้ใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ดังนี้
                    1. อนุมัติโครงการค่าบริการสาธารณสุขภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพ ปี 2565 รอบที่ 1 ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กรอบวงเงิน 31,662.9175 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงาน/โครงการกลุ่มที่ 1 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายให้กับหน่วยบริการสถานพยาบาลที่ให้บริการสาธารณสุขโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สำหรับประชาชนทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศ พร้อมทั้งมอบหมายให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการ และดำเนินการจัดทำความต้องการใช้จ่ายเป็นรายเดือน เพื่อให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะสามารถจัดหาเงินกู้ พร้อมทั้งปฏิบัติตามข้อ 15 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 อย่างเคร่งครัดตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ เห็นควรให้ สปสช. พิจารณาแบ่งการเบิกจ่ายเงินออกเป็น 2 ครั้ง (เดือนธันวาคม 2564 และกลางเดือนมกราคม 2565)
                    2. เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มีแนวโน้มลดลง และอัตราการครองเตียงในสถานพยาบาลภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จึงเห็นควรให้การใช้สิทธิ UCEP กลับเข้าสู่ระบบปกติ โดยยกเลิกค่าใช้จ่ายในสถานบริการเอกชน (UCEPCOVID) สำหรับการดูแลกรณีโรคโควิด-19 โดยผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะสามารถใช้สิทธิผ่านสถานพยาบาลภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม และกรมบัญชีกลาง ตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขกำหนดค่าใช้จ่ายที่ได้มีการกำหนดไว้
                    3. มอบหมายให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ พิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์การสนับสนุนค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคโควิด-19 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การควบคุมและป้องกันการระบาดของโรค ทั้งในเรื่องของจำนวนประชาชนได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้นที่ช่วยให้ประเทศไทยจะเข้าสู่สภาวะปกติที่สามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ศักยภาพของสถานบริการภาครัฐที่เพิ่มขึ้นจากผลของความรุนแรงจากการติดเชื้อลดลง และนโยบายการเปิดประเทศ โดยคำนึงถึงการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าสูงสุด โดยอาจจะกำหนดให้ผู้ป่วยที่มีอาการน้อยเข้ารับการรักษาพยาบาลแบบ Home Isolation/Community Isolation ผู้ป่วยที่มีอาการหนักเข้ารับการรักษาในสถานบริการภาครัฐเป็นลำดับแรก หรือกำหนดเงื่อนไขให้ประชาชนร่วมรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลสำหรับการเข้ารับบริการในสถานพยาบาลทางเลือกที่มีค่าใช้จ่ายสูงตามตนเองประสงค์ อาทิ Hospitel โรงพยาบาลเอกชน สำหรับกรณีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่จะใช้สิทธิภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่เป็นผู้ไม่ประสงค์จะฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 อาจจะต้องมีส่วนร่วมในการออกค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลด้วย
                    4. อนุมัติโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการสินค้าเกษตรสู่ผู้บริโภคของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กรอบวงเงิน 221.3820 ล้านบาท (ปรับลดจำนวน 57.5180 ล้านบาท) โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงาน/โครงการกลุ่มที่ 3 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงตลาดของเกษตรกร ทำให้กิจกรรมหรือธุรกิจของเกษตรกรมีการเติบโต และส่งผลให้เกิดการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนเพื่อดำเนินธุรกิจในระบบเศรษฐกิจ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมได้ให้ความเห็นชอบแล้ว ทั้งนี้ ให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์สามารถถัวจ่ายเงินระหว่าง 3 รายการ ได้แก่ (1) รายการสื่อสารทางยุทธศาสตร์และการประชาสัมพันธ์ (2) รายการพัฒนาระบบแพลตฟอร์มการตลาดออนไลน์ และ (3) รายการพัฒนาออกแบบหลักสูตรค่าประสานงานภาคสนาม การติดตามและประเมินผล ได้
                    5. มอบหมายให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการ และดำเนินการจัดทำความต้องการใช้จ่ายเป็นรายเดือน เพื่อให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะสามารถจัดหาเงินกู้ พร้อมทั้งปฏิบัติตามข้อ 15 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 รวมถึงดำเนินการเพิ่มเติมตามมติคณะกรรมการฯ โดยเคร่งครัด
                    6. เห็นชอบให้สำนักงานประกันสังคม เปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 13 จังหวัด และโครงการเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 39 และมาตรา 40 ในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยขยายระยะเวลาโครงการ จากเดิม สิ้นสุดเดือนธันวาคม 2564 เป็น สิ้นสุดเดือนมีนาคม 2565 เนื่องจากจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการเบิกจ่ายเงินให้แก่กลุ่มเป้าหมายในกลุ่มผู้ที่ยังไม่ได้รับเงินเยียวยาตามโครงการฯ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้ให้ความเห็นชอบตามขั้นตอนแล้ว อย่างไรก็ดี เห็นควรให้สำนักงานประกันสังคมเร่งดำเนินการพิจารณาความเหมาะสมของการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวตามขั้นตอนโดยเร็ว เพื่อให้ความช่วยเหลือของภาครัฐถึงกลุ่มเป้าหมายได้โดยเร็ว
                    7. เห็นชอบให้กรมการขนส่งทางบก เปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการช่วยเหลือกลุ่มอาชีพผู้ขับรถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่) และรถจักรยานยนต์สาธารณะ ที่มีอายุเกิน 65 ปี ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยขยายระยะเวลาโครงการ จากเดิมสิ้นสุดเดือนพฤศจิกายน 2564 เป็น สิ้นสุดเดือนมกราคม 2565 เพื่อให้กรมการขนส่งทางบกมีระยะเวลาเพิ่มขึ้นในการตรวจสอบข้อมูลกลุ่มเป้าหมายที่ยื่นขอทบทวนสิทธิหรืออุทธรณ์ในการขอรับเงินจากโครงการเยียวยาฯ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ให้ความเห็นชอบตามขั้นตอนแล้ว

17. เรื่อง การดำเนินโครงการเพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2565 ให้แก่ประชาชน (กระทรวงต่างประเทศ)
                    คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบการดำเนินโครงการเพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2565 ให้แก่ประชาชน ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ ดังนี้
                    1. การให้บริการแปลเอกสารภาษาอังกฤษเอกสารทะเบียนราษฎร โดยไม่คิดค่าบริการ (ฟรี) ตลอดเดือนมกราคม 2565 ณ กรมการกงสุล ถนนแจ้งวัฒนะ และสำนักงานสัญชาติและนิติกรณ์ MRT คลองเตย เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายแก่ประชาชนในการจัดจ้างเอกชนแปลเอกสาร ทั้งนี้ เอกสารที่กรมการกงสุลจะให้บริการแปลโดยไม่คิดค่าบริการ ได้แก่ เอกสารทะเบียนราษฎรและทะเบียนครอบครัว 19 ประเภท เช่น สูติบัตร มรณบัตร ทะเบียนบ้าน บัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนสมรส และทะเบียนหย่า ฯลฯ
                    2. การให้บริการหนังสือเดินทางในวันหยุดสุดสัปดาห์ (เสาร์และอาทิตย์) ตลอดเดือนมกราคม 2565 (เริ่มวันเสาร์ที่ 8 มกราคม 2565) ระหว่างเวลา 10.00 - 18.00 น. ณ สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราวปทุมวัน (MBK Center) และบางใหญ่ (Central Plaza West Gate) ทั้งในรูปแบบบูธปกติและเครื่องทำหนังสือเดินทางด้วยตัวเอง (kiosk) จำนวน 20 เครื่อง
                    3. การให้บริการทำหนังสือเดินทางด่วนในวันเดียว (ทำเช้า-รับบ่าย) โดยไม่คิดค่าธรรมเนียม (ยกเว้นค่าธรรมเนียมด่วน 2,000 บาท) จำนวน 1,000 ราย (100 ราย/วัน) ตั้งแต่วันที่ 1 - 15 มกราคม 2565 (ยกเว้นวันหยุดราชการ)
                    4. การให้บริการหนังสือเดินทางเคลื่อนที่ในพื้นที่ต่างจังหวัดทั่วประเทศ เดือนละ 2 ครั้ง ตลอดปี 2565 รวม 24 ครั้ง เพื่อบริการประชาชนในพื้นที่จังหวัดที่ไม่มีสาขาสำนักงานหนังสือเดินทางตั้งอยู่
                    5. การให้บริการรถทะเบียนเคลื่อนที่ของ กทม. กรมการกงสุล โดยกรมการกงสุลร่วมกับกรุงเทพมหานครเปิดให้บริการรถทะเบียนเคลื่อนที่ กทม. (Bangkok Mobile Service) ตลอดเดือนมกราคม 2565 ทุกวันจันทร์ - ศุกร์ ณ ลานจอดรถ กรมการกงสุล ถนนแจ้งวัฒนะ โดยให้บริการทำบัตรประชาชนใหม่และคัดสำเนาเอกสารทะเบียนราษฎร์ภาษาไทยและอังกฤษ 5 ประเภท ได้แก่ ทะเบียนบ้าน ข้อมูลบัตรประจำตัวประชาชน สูติบัตร และมรณบัตร

18. เรื่อง ร่างแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2565
                                        คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบร่างแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2565 และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามร่างแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง                  ปี 2565 ต่อไป ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ
                                        สาระสำคัญ
          ร่างแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2565 กำหนดขึ้นภายใต้หลักแนวคิด ?1 สื่อสาร 5 ป้องกัน 3 เผชิญเหตุ? เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดและเน้นย้ำการดำเนินการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองโดยเฉพาะในช่วงเกิดสถานการณ์ โดยสรุปดังนี้

แนวคิด/แนวทางการดำเนินงาน          หน่วยงานหลัก          หน่วยงาน
สนับสนุน
สื่อสาร
1.เพิ่มประสิทธิภาพการรับรู้ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย และแจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่นละอองล่วงหน้า          กระทรวงมหาดไทย/ กระทรวงสาธารณสุข/ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม/ สำนักนายกรัฐมนตรี/ กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม/สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ/กระทรวงศึกษาธิการ          กระทรวงเกษตรและสหกรณ์/ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม/
ภาคเอกชน/ กระทรวงศึกษาธิการ/กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
ป้องกัน
2) ให้ทุกจังหวัดจัดทำแผนแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน   และฝุ่นละอองบรรจุในแผน ปภ.จังหวัด          กระทรวงมหาดไทย          กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม/ กระทรวงอุตสาหกรรม/ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์/ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม/กระทรวงคมนาคม/       ภาคประชาสังคม

3. ขยายผลการบริหารจัดการเชื้อเพลิงโดยการเก็บขน (ชิงเก็บ ลดเผา) ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศในพื้นที่ป่า พื้นที่เกษตร พื้นที่ชุมชน พื้นที่ริมทาง และประยุกต์ใช้แอปพลิเคชันลงทะเบียนบริหารจัดการเชื้อเพลิง          กระทรวงมหาดไทย/ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม/ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์/   กระทรวงคมนาคม/ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
          กระทรวงพลังงาน/ ภาคเอกชน
4. เร่งรัดขับเคลื่อนโครงการปลูกป่าเพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ป่าชายเลน และป้องกันไฟป่าภายใต้ ศอญ. จิตอาสาพระราชทาน          กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม/ กระทรวงมหาดไทย          ศูนย์อำนวยการใหญ่ จิตอาสาพระราชทาน/ กระทรวงกลาโหม/สำนักงานตำรวจแห่งชาติ/ เครือข่ายจิตอาสาพระราชทาน

5. สร้างเครือข่ายและอาสาสมัคร เพื่อสนับสนุนการป้องกัน     และแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง          กระทรวงมหาดไทย/ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม/กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
          กระทรวงกลาโหม/สำนักงานตำรวจแห่งชาติ/ เครือข่ายจิตอาสาพระราชทาน/เครือข่ายชุมชน
6. สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด และพลังงานทางเลือก    เพื่อลดปัญหา PM2.5          กระทรวงพลังงาน/ กระทรวงมหาดไทย/ กระทรวงคมนาคม/ กรุงเทพมหานคร/ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์          กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม/ ภาคเอกชน/กระทรวงอุตสาหกรรม

เผชิญเหตุ
7. เพิ่มความเข้มงวดควบคุมมลพิษจากหล่งกำเนิด ทั้งจากยานพาหนะและภาคอุตสาหกรรม ในเขตเมืองและ
เขตอุตสาหกรรม          กระทรวงคมนาคม/ กระทรวงอุตสาหกรรม/ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ/กรุงเทพมหานคร
          กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
8. เพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมไฟป่าในพื้นที่ป่าธรรมชาติ          กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม/ กระทรวงมหาดไทย/ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
          กระทรวงกลาโหม/ เครือข่าย อาสาสมัคร
9. กำหนดตัวชี้วัดร่วมเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นไปตามข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน และขยายหมู่บ้านคู่ขนานชายแดนภายใต้กรอบคณะกรรมการชายแดน          กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม/ กระทรวงกลาโหม
          กระทรวงมหาดไทย/ กระทรวงการต่างประเทศ

19. เรื่อง แผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาล และช่วงวันหยุด พ.ศ. 2565
          คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาล และช่วง
วันหยุด พ.ศ. 2565 ตามที่ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนเสนอ ดังนี้
                    สาระสำคัญ
            คณะกรรมการนโยบายการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ ได้มีมติในคราวประชุม
2/2564 เมื่อวันศุกร์ที่ 26 พฤศจิกายน 2564 เห็นชอบแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาล และช่วงวันหยุด พ.ศ. 2565 เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนใช้เป็นกรอบการดำเนินงานในปี พ.ศ. 2565 โดยให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนเสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบ ซึ่งแผนบูรณาการดังกล่าวมุ่งเน้นการบริหารจัดการในลักษณะพื้นที่เป็นตัวตั้ง (Area Approach) ควบคู่กับการดำเนินการตามมาตรการ  และแนวทางการดำเนินการเพื่อเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID?19) โดยบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนดำเนินงานอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่องให้ความสำคัญในการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เคร่งครัด ควบคู่กับการสร้างจิตสำนึกและความตระหนักด้านความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้รถใช้ถนนและประชาชน ซึ่งสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
          1. แผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ พ.ศ.  2565   สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
                       1.1 ชื่อการรณรงค์ ?ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ?
                              1.2 วัตถุประสงค์
                            1) เพื่อกำหนดเป้าหมาย ตัวชี้วัด แนวทาง และมาตรการการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ พ.ศ. 2565
                                             2) เพื่อเป็นแนวทางการบูรณาการการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ พ.ศ. 2565
                                                                          3) เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนและอุบัติภัยอื่น ๆ ในช่วงเทศกาล ปีใหม่และสงกรานต์ พ.ศ. 2565
                              1.3  เป้าหมายภาพรวม เพื่อให้ประชาชนเดินทางอย่างสุขใจกับชีวิตวิถีใหม่ที่ห่างไกลอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ พ.ศ. 2565
                              1.4 ตัวชี้วัดการดำเนินงาน แบ่งเป็น 3 ระดับ ดังนี้
                                                                                     1) ระดับภาพรวม
                                                                                     2) ระดับหน่วยงาน
                                                                   3) ระดับพื้นที่
                                                 1.5 แนวทางการดำเนินการช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ พ.ศ. 2565                                                                                         1) การดำเนินการช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2565
                                                              1.1) ช่วงรณรงค์และประชาสัมพันธ์ ระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2564 ? 21 ธันวาคม 2564
                                             1.2)  ช่วงดำเนินการ ระหว่างวันที่ 22 ธันวาคม 2564 ? 11 มกราคม  2565 แบ่งเป็น                  3 ช่วง ดังนี้
                                                  ? ช่วงก่อนควบคุมเข้มข้น 7 วัน ระหว่างวันที่ 22 ธันวาคม 2564 ? 28  ธันวาคม 2564
                                        ? ช่วงควบคุมเข้มข้น 7 วัน ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2564
? 4  มกราคม 2565
                                                                      ? ช่วงหลังควบคุมเข้มข้น 7 วัน ระหว่างวันที่ 5 มกราคม 2565
? 11  มกราคม 2565
                                                  2) การดำเนินการช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2565
                                                        2.1) ช่วงรณรงค์และประชาสัมพันธ์ ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2565
? 3 เมษายน 2565
                                                  2.2) ช่วงดำเนินการ ระหว่างวันที่ 4 เมษายน 2565 ? 24 เมษายน 2565  แบ่งเป็น 3 ช่วง ดังนี้
                                             ? ช่วงก่อนควบคุมเข้มข้น 7 วัน ระหว่างวันที่ 4 เมษายน 2565
? 10 เมษายน 2565
                                             ? ช่วงควบคุมเข้มข้น 7 วัน ระหว่างวันที่ 11 เมษายน 2565
? 17 เมษายน 2565
                                                                 ? ช่วงหลังควบคุมเข้มข้น 7 วัน ระหว่างวันที่ 18 เมษายน 2565
? 24 เมษายน 2565
                              1.6  มาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน 5 มาตรการ ประกอบด้วย
.                                                             1) ด้านการบริหารจัดการ
                                            2) ด้านลดปัจจัยเสี่ยงด้านถนนและสภาพแวดล้อม
                                                                3) ด้านลดปัจจัยเสี่ยงด้านยานพาหนะ
                                                    4) ด้านผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย
                                                      5) ด้านการช่วยเหลือหลังเกิดอุบัติเหตุ
          2. การป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงวันหยุด สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
                                       2.1 วัตถุประสงค์
                                                                            1) เพื่อกำหนดเป้าหมาย ตัวชี้วัด แนวทาง และมาตรการการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน
                                                                             2)  เพื่อเป็นแนวทางบูรณาการการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน
ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน
                                                                            3)  เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนและอุบัติภัยอื่น ๆ ในช่วงวันหยุด
                                        2.2 เป้าหมายภาพรวม เพื่อให้ประชาชนเดินทางอย่างสุขใจกับชีวิตวิถีใหม่ที่ห่างไกลอุบัติเหตุในช่วงวันหยุด
                                                  2.3 ตัวชี้วัดการดำเนินงาน แบ่งเป็น 3 ระดับ ดังนี้
                                                                                  1) ระดับภาพรวม
                                                                            2) ระดับหน่วยงาน
                                                                        3) ระดับพื้นที่
                                        2.4 แนวทางการดำเนินการ แบ่งออกเป็น 3 ช่วง ดังนี้
                                                  1) ช่วงก่อนวันหยุด
                                                  2) ช่วงวันหยุด
                                            3) ช่วงหลังวันหยุด
                                                      สำหรับในปี พ.ศ. 2565 ได้กำหนดแนวทางการดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงวันหยุดราชการกรณีพิเศษตามมติคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2565 ดังนี้
                                                  ?ระหว่างวันที่ 13 ? 17 กรกฎาคม 2565 ( 5 วัน)
                                                  ?ระหว่างวันที่ 28 ? 31 กรกฎาคม 2565 ( 4 วัน)
                                            ?ระหว่างวันที่ 13 ? 16 ตุลาคม 2565 ( 4 วัน)
                                        ทั้งนี้ หากคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้มีวันหยุดราชการเพิ่มเติม ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจะได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีต่อไป
                                                  2.5  มาตรการการดำเนินงาน 5 มาตรการ ประกอบด้วย
                                                                  1) ด้านการบริหารจัดการ
                                            2) ด้านลดปัจจัยเสี่ยงด้านถนนและสภาพแวดล้อม
                                               3) ด้านลดปัจจัยเสี่ยงด้านยานพาหนะ
                                                   4) ด้านผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย
                                                              5) ด้านการช่วยเหลือหลังเกิดอุบัติเหตุ

20. เรื่อง การดำเนินโครงการเพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2565 ให้แก่ประชาชน ของกระทรวงศึกษาธิการ
                    คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบการดำเนินโครงการเพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2565 ให้แก่ประชาชน ของกระทรวงศึกษาธิการ ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ
                    สาระสำคัญ
                    การดำเนินโครงการเพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2565 ให้แก่ประชาชน โดยมีรายละเอียด ดังนี้
                    1. ศธ. ค้นหาและติดตามเด็กตกหล่นและออกกลางคันกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา
                    กระทรวงศึกษาธิการ ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการเสริมสร้างโอกาสทางการศึกษาให้เด็ก เยาวชน และประชาชน อย่างเต็มตามศักยภาพและมีประสิทธิภาพสูงสุด ภายใต้แนวคิด การศึกษาไทยไม่ทิ้งใคร
ไว้ข้างหลัง จึงได้มีนโยบายและแนวทางการดำเนินงานนำเด็กตกหล่นและออกกลางคันกลับสู่ระบบการศึกษา ดังนี้
1.1          สพฐ. ห่วงใย ปักหมุด นำนักเรียนไทย กลับสู่ห้องเรียน
                                        ค้นหาและติดตามเด็กตกหล่นและออกกลางคันกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ให้ได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพและศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น  รวมทั้งสร้างระบบเครือข่ายการส่งต่อข้อมูลสารสนเทศทางการศึกษาของเด็กตกหล่นและออกกลางคันที่กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา และนำไปใช้ในการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทุกแห่ง และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 245 เขต ดำเนินการในปีงบประมาณ  พ.ศ. 2565
                                        1.2 กศน.ปักหมุด เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับคนพิการและผู้ด้อยโอกาส
                                        กศน. ปักหมุดบ้านคนพิการและผู้ด้อยโอกาส อายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 12,649 คน ได้เข้าสู่ระบบการศึกษา โดย ครู กศน.ตำบล ลงพื้นที่สำรวจความต้องการของผู้พิการและผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา และนำข้อมูลเข้าสู่ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ caper พร้อมปักหมุดทุกบ้าน เพื่อจัดการศึกษาและการเรียนรู้ให้กับผู้พิการและผู้ด้อยโอกาสในสถานศึกษาสังกัด กศน. อย่างเหมาะสมตามศักยภาพและความต้องการจำเป็น และสามารถศึกษาต่อในระดับสูงขึ้น รวมทั้งสามารถประกอบอาชีพ มีงานทำ พึ่งพาตนเองได้ โดยเริ่มดำเนินการนำร่องไปตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 ณ จังหวัดระนอง และในช่วงระหว่างวันที่ 2 ธันวาคม 2564 - 7 มกราคม 2565 ดำเนินการต่อยอดขยายผลสู่ 18 จังหวัดตามเขตตรวจราชการ 17 เขต ประกอบด้วย จังหวัดชัยนาท ปทุมธานี กาญจนบุรี เพชรบุรี พัทลุง ปัตตานี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว อุดรธานี นครพนม ขอนแก่น นครราชสีมา ศรีสะเกษ ลำปาง พะเยา สุโขทัย และกำแพงเพชร
                    2. อาชีวะอาสา ร่วมด้วยช่วยประชาชน เทศกาลปีใหม่ ปี พ.ศ. 2565
                    อาชีวะอาสา ออกบริการประชาชนช่วงเทศกาลปีใหม่ตลอด 24 ชั่วโมง ระหว่างวันที่                       29 ธันวาคม 2564 - 5 มกราคม 2565 โดยให้บริการจุดพักรถ-พักคน บนถนนสายหลักและสายรอง 225 ศูนย์ ทั่วประเทศ กิจกรรมพักรถ ได้แก่ บริการตรวจสภาพรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และกิจกรรมพักคน ได้แก่ บริการสอบถามข้อมูลเส้นทาง/สถานที่ท่องเที่ยว /ที่พัก /ร้านอาหาร และอื่น ๆ รวมทั้ง ให้บริการที่นั่งพักผ่อน /บริการน้ำดื่ม กาแฟ ผ้าเย็น เป็นต้น
                    3. ศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน เพื่อลดรายจ่ายให้แก่ประชาชน ผ่านแอปพลิเคชัน
                    ?ช่างพันธุ์ R อาชีวะซ่อมทั่วไทย?
                    ทีมช่างพันธุ์ R อาชีวะจิตอาสา จาก 100 ศูนย์ Fix it Center ทั่วไทย ออกให้บริการซ่อมถึงบ้านฟรี โดยประชาชนสามารถใช้บริการผ่านแอปพลิเคชัน ทำให้มีความสะดวก รวดเร็ว ลดเวลา ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ไม่ต้องนำเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้มาที่ศูนย์บริการ อีกทั้งยังสอดคล้องกับสภาพสังคม และวิถีชีวิตยุคใหม่ New Normal สร้างความมั่นใจต่อการใช้บริการช่างอาชีวะ และยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี สร้างความภาคภูมิใจให้แก่ผู้เรียนที่ใช้ทักษะจากการลงมือปฏิบัติช่วยเหลือประชาชน และสามารถสร้างอาชีพได้ในอนาคต ดำเนินการตลอดเดือนมกราคม 2565 และให้บริการต่อเนื่องทั้งปี
                    4. ฝึกอบรมอาชีพระยะสั้น Re-Skill, Up-Skill และ New-Skill แก่นักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครองและประชาชน ภายใต้ศูนย์พัฒนาอาชีพและการเป็นผู้ประกอบการ กระทรวงศึกษาธิการ ประจำจังหวัด (Ministry of Education Career and Entrepreneurship Center)
                              4.1 สอศ. ฝึกอบรมวิชาชีพระยะสั้น Re-Skill, Up-Skill และ New-Skill แก่นักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง และประชาชน จำนวน 38,500 คน ไม่น้อยกว่า 77 หลักสูตร ดำเนินการใน 77 ศูนย์ ทั่วประเทศ บูรณาการการดำเนินงานร่วมกันระหว่าง สอศ. กศน. สพฐ. และ สช. ในพื้นที่ ดำเนินการระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2564 - 31 มกราคม 2565
                              4.2 กศน. ฝึกอบรมอาชีพ ฟรี 1 สัปดาห์ 1 อำเภอ 1 อาชีพ โดยศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน 928 กลุ่ม ดำเนินการระหว่างวันที่ 4 - 10 มกราคม 2565 โดย
                                        - ฝึกอบรมอาชีพระยะสั้นและการเป็นผู้ประกอบการให้กับประชาชน จำนวน 150,000 คน
                                        - สถานศึกษา 1 อาชีพ สร้างรายได้ ต่อยอดสู่วิสาหกิจชุมชน เป้าหมาย 928 กลุ่ม
จำนวน 10,208 คน
                    5. อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ
                              เสริมสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับกลุ่มนักเรียนผู้ด้อยโอกาส จำนวน 5,000 คน                       ทั่วประเทศ ภายใต้การดำเนินงาน ?อาชีวะอยู่ประจำ? มีหอพักและอาหารฟรี 3 มื้อ ตลอดหลักสูตร ปวช. ?เรียนฟรี? มีทุนการศึกษาระดับชั้น ปวช. ต่อเนื่อง 3 ปี และ ?มีอาชีพ? เรียนจบ มีงานทำ
                    6. ศ.ค.ส. ศึกษาธิการส่งความสุขให้น้องปีที่ 3
                    สำนักงาน กศน.จังหวัดทุกแห่ง/กทม. และ กศน.อำเภอ/เขต ส่งมอบความสุขให้กับน้อง ๆ เด็กด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ ในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร และชายแดน จำนวน 46,400 คน โดยมอบสิ่งของ อาทิ ของเล่น อุปกรณ์การเรียน อุปกรณ์กีฬา เครื่องนุ่งห่ม ชุดกีฬา ขนม อาหารแห้ง ระหว่างวันที่ 17  ธันวาคม 2564 -                8 มกราคม 2565

ต่างประเทศ

21. เรื่อง การดำเนินการเพื่อเข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาพหุภาคีเพื่อดำเนินมาตรการเกี่ยวกับอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนในการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีและโอนกำไรไปยังประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำ (Multilateral Convention to Implement Tax Treaty Related Measures to Prevent Base Erosion and Profit Shifting: MLI)
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้
                    1. ให้ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาพหุภาคีเพื่อดำเนินมาตรการเกี่ยวกับอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนในการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีและโอนกำไรไปยังประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำ (Multilateral Convention to Implement Tax Treaty Related Measures to Prevent Base Erosion and Profit Shifting: MLI) (อนุสัญญาพหุภาคีฯ MLI)
                    2. เห็นชอบร่างท่าทีอนุสัญญาพหุภาคีฯ MLI (ฉบับภาษาอังกฤษ)
                    3. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้ลงนามในหนังสือแสดงความจำนงการเข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาพหุภาคีฯ MLI และให้เอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส เป็นผู้ลงนามในอนุสัญญาพหุภาคีฯ MLI ณ สำนักงานใหญ่ขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Cooperation and Development: OECD) กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส และให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ออกหนังสือมอบอำนาจเต็มตามรูปแบบที่กำหนดโดย OECD ให้แก่เอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส เป็นผู้ลงนามในอนุสัญญาพหุภาคีฯ MLI และจัดส่งหนังสือดังกล่าวต่อ OECD รวมทั้งให้ยื่นสัตยาบันสารและดำเนินการตามกระบวนการให้สัตยาบันเพื่อแสดงเจตนาให้อนุสัญญาพหุภาคีฯ MLI มีผลผูกพันต่อไป
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    1.  คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (16 พฤษภาคม 2560) เห็นชอบให้ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกรอบความร่วมมือเพื่อป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีและโอนกำไรไปยังประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำ (Base Erosion and Profit Shifting Project: BEPS) (กรอบความร่วมมือฯ BEPS) จัดตั้งขึ้นโดย OECD เพื่อป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีของบริษัทข้ามชาติ ซึ่งส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ สูญเสียรายได้จากการหลบเลี่ยงภาษีระหว่างประเทศเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ กลไกและวิธีการในการป้องกัน BEPS มีจำนวนทั้งสิ้น 15 ปฏิบัติการ โดยสมาชิกกรอบความร่วมมือฯ BEPS จะต้องดำเนินการให้ได้อย่างน้อยตามมาตรฐานขั้นต่ำที่กำหนดไว้ 4 ปฏิบัติการ ดังนี้
                    ปฏิบัติการที่ 5 การขจัดมาตรการภาษีที่เป็นภัยต่อประเทศอื่น (Counter Harmful Tax Practices)
                    ปฏิบัติการที่ 6 มาตรการป้องกันการใช้ประโยชน์จากอนุสัญญาภาษีซ้อนผิดวัตถุประสงค์ (Preventing the Granting of Treaty Benefits in Inappropriate Circumstances)
                    ปฏิบัติการที่ 13 เอกสารกำหนดราคาโอน (Transfer Pricing Documentation)
                    ปฏิบัติการที่ 14 แนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพวิธีการดำเนินการเพื่อความตกลงร่วมกัน (Making Dispute Resolution Mechanisms More Effective)
                    2. ประเทศไทยในฐานะสมาชิกกรอบความร่วมมือฯ BEPS ได้มีการดำเนินการให้สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำตามปฏิบัติการที่ 5 เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างดำเนินการด้านกฎหมายเพื่อรองรับปฏิบัติการที่ 13 ส่วนการดำเนินการตามปฏิบัติการที่ 6 และปฏิบัติการที่ 14 นั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องดำเนินการแก้ไขถ้อยคำหรือเพิ่มเติมข้อบทในอนุสัญญาภาษีซ้อนที่ได้ทำไว้กับต่างประเทศ (ปัจจุบันมีผลบังคับใช้แล้วทั้งสิ้น 31 ฉบับ) เนื่องจากอนุสัญญาภาษีซ้อนหลายฉบับยังมีส่วนที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำ
                    3. อนุสัญญาพหุภาคีฯ MLI เป็นเครื่องมือในปฏิบัติการที่ 15 ของกรอบความร่วมมือฯ BEPS ที่ OECD กำหนดขึ้นเพื่อให้ประเทศสมาชิกมีแนวทางในการแก้ไขอนุสัญญาภาษีซ้อนได้หลายฉบับพร้อมกันในคราวเดียว ดังนั้น การเข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาพหุภาคีฯ MLI จะทำให้ประเทศไทยสามารถดำเนินการแก้ไขอนุสัญญาภาษีซ้อนที่ทำไว้กับต่างประเทศได้หลายฉบับพร้อมกันในคราวเดียว และสามารถปฏิบัติตามพันธกรณีที่เป็นมาตรฐาน             ขั้นต่ำในปฏิบัติการที่ 6 และปฏิบัติการที่ 14 ของกรอบความร่วมมือฯ BEPS ได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากกว่าการแก้ไขอนุสัญญาภาษีซ้อนในระดับทวิภาคีที่จะต้องขอเจรจาแก้ไขครั้งละฉบับ ทั้งนี้ องค์ประกอบของอนุสัญญา    พหุภาคีฯ MLI ประกอบด้วย 7 ส่วน 39 ข้อบท ซึ่งประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือฯ BEPS มีสิทธิเลือกที่จะเข้าผูกพันเฉพาะข้อบทที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ได้ ไม่จำเป็นต้องเข้าผูกพันทุกข้อบททั้งหมดแต่อย่างใด
                    4. ในการเข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาพหุภาคีฯ MLI ของประเทศไทยนั้น กค. เห็นควรเลือกข้อบทที่จะเข้าผูกพันอันประกอบด้วยข้อบทที่เป็นมาตรฐานขั้นต่ำตามพันธกรณีสำหรับประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือฯ BEPS ที่จะต้องถือปฏิบัติ และข้อบทอื่นที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ ดังนี้
ข้อบทที่เห็นควรให้
ประเทศไทยเข้าร่วม          การแก้ไขอนุสัญญาภาษีซ้อน          ความสอดคล้องกับปฏิบัติการ
ในกรอบความร่วมมือฯ BEPS
ส่วนที่ 2 Hybrid Mismatches
ข้อบทที่ 5           แก้ไขข้อบทว่าด้วยการขจัดภาระภาษีซ้อน โดยเปลี่ยนวิธีการขจัดภาระภาษีซ้อนจากวิธีการยกเว้นภาษีเป็นวิธีการเครดิตภาษี เพื่อป้องกันปัญหาการไม่จัดเก็บภาษีในทั้ง 2 ประเทศ          ปฏิบัติการที่ 2
(มาตรการลดผลกระทบ
ของการปฏิบัติ หรือการตีความ
ที่ต่างกันของประเทศคู่สัญญา)
ส่วนที่ 3 Treaty Abuse
ข้อบทที่ 6          แก้ไขถ้อยคำในชื่อและอารัมภบทเพื่อป้องกันการใช้อนุสัญญาภาษีซ้อนผิดวัตถุประสงค์และป้องกันปัญหาการไม่จัดเก็บภาษีในทั้ง 2 ประเทศคู่สัญญา          ปฏิบัติการที่ 6
(มาตรการป้องกัน
การใช้ประโยชน์จากอนุสัญญาภาษีซ้อนผิดวัตถุประสงค์)
ข้อบทที่ 7          เพิ่มเติมข้อบทใหม่เพื่อให้มีการทดสอบวัตถุประสงค์ของธุรกรรม สำหรับใช้ประกอบการพิจารณาการได้รับสิทธิประโยชน์ตามอนุสัญญาภาษีซ้อน
ส่วนที่ 4 Avoidance of Permanent Establishment Status
ข้อบทที่ 12          แก้ไขข้อบทว่าด้วยสถานประกอบการถาวร (Permanent Establishment: PE) ให้มีมาตรการป้องกันการเจตนาหลบเลี่ยงการมี PE ด้วยข้อตกลงนายหน้าและการใช้ยุทธศาสตร์ที่คล้ายคลึงกัน          ปฏิบัติการที่ 7
(มาตรการป้องกัน
การหลบเลี่ยงการมี PE)
ข้อบทที่ 13          แก้ไขข้อบทว่าด้วย PE โดยให้ยกเว้นการมี PE เฉพาะการดำเนินการที่เข้าลักษณะเป็นการเตรียมการหรือเป็นส่วนประกอบเท่านั้น และให้เพิ่มมาตรการป้องกันการหลบเลี่ยงการมี PE โดยการกระจายหน้าที่งานให้แก่กิจการที่มีความสัมพันธ์กัน
ข้อบทที่ 14          แก้ไขข้อบทว่าด้วย PE ให้มีมาตรการป้องกันการแบ่งสัญญาให้แต่ละกิจการที่มีความสัมพันธ์กันเพื่อหลบเลี่ยงเงื่อนไขด้านระยะเวลาของการมี PE
ข้อบทที่ 15          แก้ไขข้อบทว่าด้วย PE โดยเพิ่มเติมคำนิยามของกิจการที่มีความสัมพันธ์กันเพื่อใช้กับมาตรการป้องกันการหลบเลี่ยงการมี PE
ส่วนที่ 5 Improving Dispute Resolution
ข้อบทที่ 16 - 17          - ปรับปรุงถ้อยคำในข้อบทว่าด้วยวิธีการดำเนินการเพื่อความตกลงร่วมกันและข้อบทว่าด้วยวิสาหกิจในเครือเดียวกันตามถ้อยคำที่กำหนดไว้ใน OECD Model Tax Convention (2017)          ปฏิบัติการที่ 14
(แนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพวิธีการดำเนินการเพื่อความตกลงร่วมกัน)
                    ทั้งนี้ การเข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาพหุภาคีเพื่อดำเนินมาตรการเกี่ยวกับอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนในการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีและโอนกำไรไปยังประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำ (Multilateral Convention to Implement Tax Treaty Related Measures to Prevent Base Erosion and Profit Shifting: MLI) (อนุสัญญาพหุภาคีฯ MLI) จะทำให้ประเทศไทยสามารถดำเนินการแก้ไขอนุสัญญาภาษีซ้อนที่ทำไว้กับต่างประเทศได้หลายฉบับพร้อมกันในคราวเดียว และสามารถปฏิบัติตามพันธกรณีที่เป็นมาตรฐานขั้นต่ำในปฏิบัติการที่ 6 และปฏิบัติการที่ 14 ของกรอบความร่วมมือเพื่อป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีและโอนกำไรไปยังประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำ (Base Erosion and Profit Shifting Project: BEPS) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยกระทรวงการคลังเห็นควรเลือกข้อบทที่จะเข้าผูกพันอันประกอบด้วยข้อบทที่เป็นมาตรฐานขั้นต่ำตามพันธกรณีสำหรับประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือฯ BEPS ที่จะต้องถือปฏิบัติและข้อบทอื่นที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ จำนวน 9 ข้อบท โดยอนุสัญญาภาษีซ้อนที่แก้ไขผ่านอนุสัญญาพหุภาคีฯ MLI จะใช้บังคับควบคู่ไปกับอนุสัญญาภาษีซ้อนที่มีผลบังคับใช้ในปัจจุบัน ไม่ได้มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มพันธกรณีในอนุสัญญาภาษีซ้อนโดยตรง

22. เรื่อง  การลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง ? ล้านช้าง ประจำปี พ.ศ. 2564
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการจัดทำและลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง - ล้านช้าง (ร่างบันทึกความเข้าใจฯ) ประจำปี พ.ศ. 2564 ทั้งนี้ หากก่อนลงนามมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างบันทึกความเข้าใจฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญ ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) ดำเนินการในเรื่องนั้น ๆ แทนคณะรัฐมนตรี โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง และอนุมัติให้ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นผู้ลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ ประจำปี พ.ศ. 2564 ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) เสนอ
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    กก. รายงานว่า
                    1. สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย (ฝ่ายจีน) ได้มีหนังสือแจ้งผลการอนุมัติโครงการของประเทศไทยที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนพิเศษแม่โขง - ล้านช้าง (Mekong - Lancang Cooperation Special Fund) (กองทุนฯ) ประจำปี พ.ศ. 2564 จำนวน 13 โครงการ ซึ่งประกอบด้วยโครงการของ กก. จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ ?มาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน? (?Mekong Destinations Standards for Sustainable Tourism Development?) และประสงค์ให้ กก. (ฝ่ายไทย) พิจารณาลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ ประจำปี พ.ศ. 2564 ภายในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564
                    2. ร่างบันทึกความเข้าใจฯ ประจำปี พ.ศ. 2564 มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ          รายละเอียด
วัตถุประสงค์          เพื่อเป็นการกำหนดกฎเกณฑ์ในการบริหารจัดการกองทุนฯ ประจำปี พ.ศ. 2564 ให้มีประสิทธิภาพ และเอื้อให้ความร่วมมือล้านช้าง ? แม่น้ำโขงเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
หลักการเบื้องต้น          เพื่อสร้างชุมชนแห่งการแบ่งปันให้เกิดสันติภาพและความมั่นคั่งในอนาคตต่อสมาชิกแม่โขง ? ล้านช้าง และปฏิบัติตามเจตนารมณ์ในการปรึกษาหารือ การร่วมมือกัน การช่วยเหลือกันและมีผลประโยชน์ร่วมกัน โดยเคารพกฎหมายและกฎระเบียบของทั้งประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน และร่วมกันติดตามประเมินโครงการและการใช้งบประมาณจากกองทุนฯ
กรอบความร่วมมือ
          หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐบาลจีนได้พิจารณาให้ทุนสนับสนุนโครงการประจำปี พ.ศ. 2564 ของฝ่ายไทยตามกฎหมายและแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง โดยโครงการที่ได้รับการอนุมัติ ได้แก่ ?มาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน? งบประมาณ 368,300 ดอลลาร์สหรัฐ

หน่วยงานดำเนินการ

          ฝ่ายไทยได้กำหนดให้องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานดำเนินโครงการที่ได้รับอนุมัติ โดยมีหน้าที่ในการวางแผนการดำเนินการ การพัฒนากิจกรรม และการจัดการกองทุนฯ ของโครงการที่ได้รับอนุมัติดังกล่าว
การจัดสรรและบริหารจัดการงบประมาณ
          ฝ่ายจีนจะจัดสรรงบประมาณเป็นจำนวนเต็มให้กับฝ่ายไทย (กก.) ภายใน 20 วันทำการ หลังจากที่ได้มีการลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ ประจำปี พ.ศ. 2564 และฝ่ายไทยจะแจ้งการได้รับการจ่ายเงินอย่างเป็นทางการภายใน 10 วันทำการ หลังจากได้รับการจ่ายเงิน และกำหนดความรับผิดชอบให้แนวทางหน่วยงานดำเนินโครงการตามแผน ระยะเวลา และงบประมาณของโครงการ
การบริหารกำกับดูแลและประเมินผลโครงการ


          ฝ่ายไทยจะกำหนดแนวทางและดูแลการตรวจสอบหน่วยงานดำเนินโครงการในเรื่องความก้าวหน้าของโครงการ ประสิทธิภาพของการดำเนินโครงการ การใช้งบประมาณให้เป็นไปตามข้อกำหนดและจะแจ้งให้ฝ่ายจีนทราบ หากมีการเปลี่ยนแปลงหรือเกิดปัญหาในระหว่างการดำเนินโครงการ รวมทั้งกำหนดให้หน่วยงานดำเนินโครงการส่งเสริมการรับรู้ข้อมูลการดำเนินโครงการและกองทุนฯ ให้แก่สาธารณชน ทั้งนี้ ฝ่ายไทยจะเร่งรัดหน่วยงานดำเนินโครงการจัดทำรายงานผลการดำเนินโครงการรวมทั้งดำเนินการเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน หลังโครงการเสร็จสมบูรณ์ และนำส่งงบประมาณส่วนที่เหลือจ่ายให้แก่ฝ่ายจีนภายใน 3 เดือน หลังจบโครงการ

ระยะเวลา
          มีผลบังคับใช้เป็นเวลา 5 ปีนับตั้งแต่วันที่ลงนาม


                    3. โครงการมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง (มาตรฐานฯ) เพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Mekong Destinations Standards for Sustainable Tourism Development)             มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ          สาระสำคัญ
ประเภทโครงการ
          (1) ฝึกอบรมบุคลากร (2) สร้างพื้นที่ความร่วมมือ (3) สร้างความร่วมมือเชิงรูปธรรมและ (4) สร้างมาตรฐานร่วมกัน

ประเทศร่วมดำเนินการ
          ประเทศไทย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐประชาชนจีน

วัตถุประสงค์
          - ออกแบบมาตรฐานการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนร่วมสำหรับแหล่งท่องเที่ยวในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงโดยคำนึงถึงบริบทของภูมิภาคเอเซียเป็นหลัก
- ส่งเสริมการรักษาสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมผ่านรูปแบบกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน เช่น การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การท่องเที่ยวเชิงผจญภัย การท่องเที่ยวอาสาสมัคร เป็นต้น
- เพิ่มขีดความสามารถให้แก่องค์กรจัดการแหล่งท่องเที่ยว หรือ Destination Management Organizations (DMOS) ที่มีความรับผิดชอบในแหล่งท่องเที่ยวแต่ละแห่งโดยใช้แนวทางและเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่เป็นมาตรฐานเดียวกันในอนุภูมิภาค

แผนการดำเนินงานแบ่งออกเป็น 3 ระยะ (ระยะเวลา 2 ? 3 ปี)          ระยะ          ผลผลิต          กิจกรรม
ระยะที่ 1          ร่างมาตรฐานฯ          - จัดตั้งคณะทำงานและคัดเลือกพื้นที่นำร่อง
- ศึกษามาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวสีเขียว
          สร้างความพร้อมให้แก่หน่วยงานจัดการแหล่งท่องเที่ยวและภาคีเครือข่าย          ฝึกอบรมและศึกษาดูงาน
ระยะที่ 2          มาตรฐานฯ ฉบับสมบูรณ์
          - จัดทำแบบประเมินค่าเริ่มต้น (Baseline Assessment) ในพื้นที่นำร่อง
- วางแผนงานและงบประมาณ
                    - ปฏิบัติตามแผนและติดตามประเมินผล
ระยะที่ 3          แหล่งท่องเที่ยวได้การรับรองมาตรฐาน          - ดำเนินการประเมินเพื่อรับรองมาตรฐานฯ
          ประชาสัมพันธ์และทำการตลาดเกี่ยวกับมาตรฐานฯ           - ออกร้านในงานส่งเสริมการข่ายการท่องเที่ยว (Travel Mart)
- เข้าร่วมงานประชุมที่เกี่ยวข้อง


23.  เรื่อง  ขออนุมัติร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง ประจำปี 2564 ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง ประจำปี 2564 ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย ทั้งนี้หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างบันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าว ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง พร้อมทั้งอนุมัติให้ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง                   ประจำปี 2564 ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทยตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้างประจำปี 2564 ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดแนวทางในการบริหารจัดการงบประมาณของโครงการที่ได้รับการอนุมัติจากฝ่ายจีนให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้กองทุนอย่างสูงสุด ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
                    1) หลักการเบื้องต้น มุ่งบริหารจัดการกองทุนเพื่อให้เกิดสันติภาพและความมั่งคั่งต่อประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง โดยเคารพกฎหมายและกฎระเบียบของทั้งประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน และร่วมกันติดตามประเมินโครงการและการใช้งบประมาณจากกองทุน
                    2) โครงการที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ ได้แก่ (1) โครงการ Expansion and Development of Forage Seed Trade Cooperation งบประมาณ 347,300 เหรียญสหรัฐ เสนอโดยกรมปศุสัตว์ (2) โครงการ Research for Appropriate Tree-Based Cropping Systems for Highland Area in Northern Thailand งบประมาณ 57,600 เหรียญสหรัฐ เสนอโดยกรมวิชาการเกษตร (3) โครงการ Development of Sustainable Green Manure Seed Community in Mekong Region งบประมาณ 307,000 เหรียญสหรัฐ เสนอโดยกรมพัฒนาที่ดิน
                    3) การส่งมอบงบประมาณและการบริหารจัดการ สาธารณรัฐประชาชนจีนจะส่งมอบงบประมาณสำหรับดำเนินโครงการภายใน 20 วันหลังจากการลงนามบันทึกความเข้าใจฯ และฝ่ายไทย โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะแจ้งฝ่ายจีนอย่างเป็นทางการภายใน 10 วันหลังการได้รับงบประมาณ
                    4) การควบคุมดูแลและประเมินผลโครงการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะควบคุมดูแลการดำเนินโครงการให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งตรวจสอบการดำเนินโครงการอย่างสม่ำเสมอและอาจมีการตรวจสอบการดำเนินโครงการร่วมกันกับฝ่ายจีน ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะต้องจัดทำรายงานผลการดำเนินโครงการเมื่อเสร็จสิ้นแล้ว รวมทั้งดำเนินการเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน และคืนงบประมาณส่วนที่เหลือให้แก่ฝ่ายจีนภายใน 3 เดือนหลังจบโครงการ

24. เรื่อง ขอความเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในโครงการ Integrated Sustainable Development of Quality of Life Based on Sufficiency Economy Philosophy (SEP) ภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง - ล้านช้าง พ.ศ. 2564
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบบูรณาการอย่างยั่งยืนตามแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง [Integrated Sustainable Development of Quality of Life Based on Sufficiency Economy Philosophy (SEP)] ภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง - ล้านช้าง พ.ศ. 2564 (Mekong -Lancang Cooperation Special Fund 2021) (ร่างบันทึกความเข้าใจฯ) และเห็นชอบให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยลงนามในบันทึกความเข้าใจดังกล่าวกับเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน                    ประจำประเทศไทยตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    สาธารณรัฐประชาชนจีนประกาศตั้งกองทุนพิเศษแม่โขง ? ล้านช้าง (MLC Special Fund) (กองทุนฯ) และกำหนดหลักเกณฑ์การขอรับเงินสนับสนุนเมื่อปี พ.ศ. 2559 เพื่อพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะการสนับสนุนโครงการภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านข้าง ซึ่งที่ผ่านมาส่วนราชการของประเทศได้เสนอโครงการเพื่อขอรับกรสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนดังกล่าว และได้รับการอนุมัติงบประมาณสนับสนุนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 เป็นต้นมา โดยในปี พ.ศ. 2564 มีโครงการของประเทศไทยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนฯ จำนวนทั้งสิ้น 13 โครงการ จาก 5 กระทรวง (กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 1 โครงการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 7 โครงการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 3 โครงการ กระทรวงมหาดไทย                       1 โครงการ และกระทรวงศึกษาธิการ 1 โครงการ) โดยกระทรวงมหาดไทยได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการ ?การพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบบูรณาการอย่างยั่งยืนตามแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง                  [Integrated Sustainable Development of Quality of Life Based on Sufficiency Economy Philosophy (SEP)]? จำนวน 406,700 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 13.70 ล้านบาท อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 22 ธันวาคม 2564) โดยจะต้องจัดทำร่างบันทึกความใจ ว่าด้วยความร่วมมือในโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบบูรณาการอย่างยั่งยืนตามแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง [Integrated Sustainable Development of Quality of Life Based on Sufficiency Economy Philosophy (SEP)] ภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง - ล้านช้าง พ.ศ. 2564 เพื่อรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนฯ ซึ่งร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าว มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ในการบริหารจัดการกองทุนฯ ให้มีประสิทธิภาพและเอื้อให้ความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยระบุรายละเอียด เช่น กระทรวงมหาดไทย (กรมการพัฒนาชุมชน) เป็นหน่วยงานดำเนินโครงการ จีนจะชำระเงินเต็มจำนวนให้แก่ฝ่ายไทย จำนวน 406,700 ดอลลาร์สหรัฐ ภายใน 20 วันทำการ ฝ่ายไทยจะเร่งให้มีการดำเนินโครงการฯ ตามแผน ระยะเวลาและงบประมาณที่กำหนด เป็นต้น ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเห็นชอบการขอรับเงินสนับสนุนจากจีนภายใต้กองทุนฯ แล้ว ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2547 (แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการขอรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ)
                     มท. ได้จัดทำข้อเสนอโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบบูรณาการอย่างยั่งยืนตามแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Integrated Sustainable Development of Quality of Life Based on Sufficiency Economy Philosophy) (โครงการฯ) เพื่อขอรับจัดสรรทุนจากกองทุนฯ ซึ่งโครงการฯ มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศสมาชิกกรอบแม่โขง - ล้านช้าง ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยใช้แนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นฐานในการแก้ปัญหาความยากจน และเพิ่มขีดความสามารถของคนในชุมชนโดยมีเป้าหมายในการบริหารจัดการชุมชนที่ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยรายละเอียดโครงการสรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ          สาระสำคัญ
วัตถุประสงค์          เพื่อพัฒนาหมู่บ้านต้นแบบให้เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน โดยใช้ SEP เป็นแนวทางในการดำเนินการ
ประเทศที่ร่วมดำเนินการ          ไทย จีน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ราชอาณาจักรกัมพูชา (กัมพูชา) และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
กิจกรรมหลัก          1. การสร้างความมั่นคงด้านอาหาร
2. การสร้างสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืน
3. การส่งเสริมภูมิคุ้มกันทางสังคมในพื้นที่เป้าหมาย
แผนการดำเนินการ          ผลผลิต          ระยะเวลา          กิจกรรม
1. การเรียนรู้แบ่งปันประสบการณ์และศึกษาดูงาน          10 วัน          - ให้ความรู้และแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับ SEP
- ศึกษาดูงานในไทยและจีน
- สร้างแบบจำลองการกำจัดความยากจนโดยใช้ความรู้และประสบการณ์ของผู้เข้าร่วมและจัดทำแผนปฏิบัติการที่เหมาะสมแต่ละประเทศ โดยแบบจำลองจะมุ่งเน้นให้ครัวเรือนที่ยากจนสามารถจัดการชีวิตได้อย่างรอบด้าน
2. การนำแบบจำลองที่ออกแบบมาไปใช้          4 เดือน          - เลือกชุมชนเป้าหมายเพื่อใช้แบบจำลอง
- จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนชุมชน
3. การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อรายงานความคืบหน้า          5 วัน          - ศึกษาดูงานการดำเนินโครงการฯ ในกัมพูชา
- แต่ละประเทศนำเสนอรายงานความคืบหน้าตามแผนปฏิบัติการ
4. แต่ละประเทศใช้รูปแบบการขจัดความยากจนและแผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินการในพื้นที่เป้าหมายอย่างต่อเนื่อง          4 เดือน          - จัดประชุมกลุ่มเป้าหมายเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการในระยะต่อไป
- ครัวเรือนดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ
- ติดตามและประเมินผล
5. การประเมินผล (จัดขึ้นที่ สปป.ลาว)          5 วัน          การอภิปรายกลุ่มโดยรวบรวมภาพถ่ายกิจกรรมที่ดำเนินการในพื้นที่ และการวางแผนปฏิบัติการในอนาคต

ผลลัพธ์ที่คาดหวัง          1. เรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการขจัดความยากจนในกลุ่มประเทศแม่โขง ? ล้านช้าง
2. แต่ละประเทศในกรอบความร่วมมือแม่โขง ? ล้านช้าง มีรูปแบบการขจัดความยากจนที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ในแต่ละประเทศ
3. คนในชุมชนมีความเข้มแข็งและสามารถจัดการชุมชนได้เอง
                    ต่อมากองทุนฯ ได้อนุมัติโครงการฯ งบประมาณจำนวน 406,700 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 13.70 ล้านบาท อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 22 ธันวาคม 2564) ซึ่งในการขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนฯ จะต้องจัดทำเป็นบันทึกความเข้าใจฯ ระหว่าง มท. กับสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย โดยมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดกฎเกณฑ์สำหรับการดำเนินโครงการฯ ภายใต้กองทุนฯ สรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ          รายละเอียด
วัตถุประสงค์
          เพื่อเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ในการบริหารจัดการกองทุนฯ ให้มีประสิทธิภาพและเอื้อให้ความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

หลักการพื้นฐาน
          เพื่อสร้างสังคมที่มีอนาคตและเป้าหมายร่วมกันในการสร้างสันติภาพ และปฏิบัติตามเจตนารมณ์จากการประชุมแลกเปลี่ยนความเห็น การประสานงาน การมีส่วนร่วมและการมีผลประโยชน์ร่วมกัน โดยเคารพกฎหมายและข้อบังคับของทั้งประเทศ และร่วมกันจัดโครงการและงบประมาณจากกองทุนฯ

โครงการที่ได้รับ
การอนุมัติ
          หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐบาลจีนได้พิจารณาให้ทุนสนับสนุน ?โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบบูรณาการอย่างยั่งยืนตามแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง? ด้วยงบประมาณจำนวน 406,700 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 13.70 ล้านบาท อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 22 ธันวาคม 2564)

หน่วยงานดำเนินโครงการ

          ฝ่ายไทยได้มอบหมายให้ มท. (กรมการพัฒนาชุมชน) เป็นหน่วยงานดำเนินโครงการฯ และรับผิดชอบในการวางแผน การดำเนินการ และกิจกรรมต่าง ๆ ของโครงการฯ รวมถึงการบริหารจัดการงบประมาณของโครงการฯ

การจัดสรรและบริหารจัดการงบประมาณ

          ฝ่ายจีนจะชำระเงินเต็มจำนวนให้แก่ฝ่ายไทย จำนวน 406,700 ดอลลาร์สหรัฐ ภายใน 20 วันทำการ  หลังจากที่ได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ และฝ่ายไทยจะแจ้งยืนยันการรับเงินอย่างเป็นทางการภายใน 10 วันทำการ หลังจากได้รับเงิน โดยหน่วยงานดำเนินโครงการฯ จะใช้เงินทุนอย่างเหมาะสมตามงบประมาณและแผนการดำเนินโครงการฯ ที่ได้รับอนุมัติ

การดำเนินการโครงการฯ

          ฝ่ายไทยจะดำเนินมาตรการที่เหมาะสมในการระบุขอบเขตความรับผิดชอบของหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินโครงการฯ และเร่งให้ดำเนินโครงการฯ ตามแผน ระยะเวลาและงบประมาณที่กำหนด และจะให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินโครงการฯ จัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินโครงการฯ เป็นระยะและแจ้งให้ฝ่ายจีนทราบตามความเหมาะสม

การกำกับดูแลและการตรวจสอบ

          จะดำเนินการตรวจสอบความก้าวหน้าของการดำเนินโครงการฯ ประสิทธิผลของการดำเนินการและการปฏิบัติตามมาตรการการใช้เงินทุน และอาจมีการสุ่มตรวจโครงการฯ ตามหลักฉันทามติ ทั้งนี้ปัญหาและความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากดำเนินโครงการฯ จะได้รับการแก้ไขอย่างเป็นมิตรผ่านกระบวนการปรึกษาหารือ

การตอบรับโครงการ
และการประเมินผล
การปฏิบัติงาน
          - ฝ่ายไทยจะเร่งให้หน่วยงานดำเนินการส่งรายงานโครงการฯ ขั้นสุดท้าย สรุปบัญชีและค่าใช้จ่ายทั้งหมดของโครงการฯ ภายใน 2 เดือนหลังจากเสร็จสิ้นโครงการฯ
- ยอดเงินคงเหลือในบัญชีสุดท้ายของโครงการฯ จะถูกส่งคืนไปยังบัญชีที่ฝ่ายจีนกำหนดภายใน 3 เดือนหลังจากเสร็จสิ้นโครงการฯ

การทบทวนและการแก้ไข

          ทั้งสองฝ่ายอาจเสนอให้มีการทบทวนหรือแก้ไขบันทึกความเข้าใจในรูปแบบลายลักษณ์อักษรเป็นบางส่วนหรือทั้งหมด และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกัน ผ่านกระบวนการปรึกษาหารือ

พันธะการปฏิบัติ
          ไม่เป็นการสร้างภาระผูกมัดทางกฎหมายใด ๆ ต่อทั้งสองฝ่าย และไม่ถือเป็นสนธิสัญญาภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ
ระยะเวลา          มีผลบังคับใช้เป็นวลา 5 ปีนับตั้งแต่วันที่ลงนาม และขยายเวลาอีก 5 ปีโดยอัตโนมัติ


25. เรื่อง ร่างกรอบความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (United Nations Sustainable Development Cooperation Framework ? UNSDCF) ระหว่างรัฐบาลไทยกับสหประชาชาติ วาระปี 2565 ? 2569
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างกรอบความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (United Nations Sustainable Development Cooperation Framework ? UNSDCF) ระหว่างรัฐบาลไทยกับสหประชาชาติ วาระปี 2565 ? 2569 ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่าง UNSDCF ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญ และ/หรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทยก่อนการลงนาม อนุมัติให้กระทรวงการต่างประเทศหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสามารถดำเนินการได้ตามความเหมาะสม โดยไม่ต้องเรียนเสนอคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง และให้ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้ลงนาม UNSDCF วาระปี 2565 ? 2569 ในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทย ร่วมกับผู้ประสานงานสหประชาชาติ (United Nations Resident Coordinator ? UNRC) ประจำประเทศไทย พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานของสหประชาชาติภายใต้ UNCT ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
                    สาระสำคัญ
                    1. เนื้อหาของร่าง UNSDFC วาระปี 2565 ? 2569 เป็นการกำหนดกรอบความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนระหว่างรัฐบาลไทยกับสหประชาชาติ โดยทีมงานสหประชาชาติ (United Nations Country Team ? UNCT) ประจำประเทศไทย จำนวน 21 หน่วยงาน ในช่วงระยะ 5 ปีข้างหน้า โดยการจัดทำร่าง UNSDCF ให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นกับการประกันให้เอกสารดังกล่าวสอดคล้องกับผลประโยชน์และแนวทางการพัฒนาของไทยภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินการขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals ? SDGs) ของไทย โดยผลลัพธ์เชิงยุทธศาสตร์และจุดเน้น (strategic outcomes and focus areas) ของร่าง UNSDCF ประกอบด้วย
                    ผลลัพธ์ที่ 1 : การผลิกโฉมประเทศไทยสู่เศรษฐกิจที่ครอบคลุมบนฐานของการเร่งรัดการพัฒนา                 สีเขียว มีภูมิคุ้มกันต่อวิกฤตสูง ปล่อยคาร์บอนต่ำและมีความยั่งยืน โดยมีจุดเน้น 2 ด้าน ได้แก่ (1) สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เปิดกว้างและยั่งยืนบนพื้นฐานของโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ ? เศรษฐกิจหมุนเวียน ? เศรษฐกิจสีเขียว (Bio ? Circular ? Green (BCG) Economy Model) ของไทย และ (2) ส่งเสริมขีดความสามารถเพื่อนำไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ มีภูมิคุ้มกัน สามารถฟื้นตัวจากภัยพิบัติ และมีขีดความสามารถปรับตัวและลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติได้
                    ผลลัพธ์ที่ 2 : การพัฒนาทุนมนุษย์ที่จำเป็นต่อการพัฒนาทางสังคมที่ครอบคลุมได้รับการยกระดับผ่านการเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลไกสถาบัน ภาคีความร่วมมือ และการเสริมพลังประชาชน โดยมีจุดเน้น 2 ด้าน ได้แก่ (1) ปรับปรุงการเข้าถึง การตอบสนอง และคุณภาพของบริการสาธารณะ เพื่อให้เป็นปัจจัยเอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย และ (2) เสริมสร้างพลังของประชาชนผ่านความรู้และโครงสร้างด้านดิจิทัลและนวัตกรรมเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
                    ผลลัพธ์ที่ 3 : ประชาชนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง มีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์จากการพัฒนาโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบ โดยมีจุดเน้น 2 ด้าน ได้แก่ (1) สร้างสภาพแวดล้อมที่เกื้อหนุน อยู่บนพื้นฐานของสิทธิ และเปิดกว้างเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ส่งเสริมโอกาสที่เท่าเทียม และลดความยากจน และ (2) ส่งเสริมธรรมาภิบาล และนิติธรรม เพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
                    2. ภายหลังการลงนามเอกสาร UNSDCF วาระปี 2565 ? 2569 หน่วยงานไทยสามารถร่วมดำเนินการและให้คำปรึกษาแก่หน่วยงานสหประชาชาติที่รับผิดชอบประเด็นที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานตน เพื่อบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยมีกลไกที่สำคัญ ได้แก่ (1) คณะกรรมการสามฝ่าย (Tripartite Committee) ซึ่งมีสมาชิกประกอบด้วยหน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้อง และ UNCT โดยมีประธานร่วมของคณะกรรมการฯ และคณะอำนวยการขับเคลื่อน (Steering Group) ประกอบด้วย กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ UNRCO (2) คณะทำงานปฏิบัติการขับเคลื่อนผลลัพธ์ (Outcome Groups) จำนวน 3 คณะ ซึ่งจัดตั้งขึ้นอย่างสอดคล้องกับผลลัพธ์เชิงยุทธศาสตร์ของ UNSDCF เพื่อนำ UNSDCF ไปสู่การปฏิบัติ โดยแต่ละคณะทำงานปฏิบัติการขับเคลื่อนผลลัพธ์มีประธานร่วมประกอบด้วยหัวหน้าหน่วยงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย 2 ? 3 หน่วยงาน ซึ่งจะหารือกันอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อวางแผนและรายงานผล รวมทั้งหารือร่วมกับคณะอำนวยการขับเคลื่อนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และ (3) คณะประสานงานหลัก (Core Coordination Mechanisms) ภายในของสหประชาชาติ 3 กลุ่ม ประกอบด้วย คณะประสานงานด้านข้อมูลและติดตามผล (Data and Monitoring Group) คณะประสานงานด้านการสื่อสารของสหประชาชาติ (UN Communications Group) และคณะประสานงานด้านการบริหารจัดการ (Operations Management Team) นอกจากนั้น ยังกำหนดให้สามารถจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะเรื่อง (UN thematic groups) เพื่อมุ่งเน้นการดำเนินงานในประเด็นเฉพาะ
                    3. ร่าง UNSDCF กำหนดข้อผูกพันต่อรัฐบาลไทยในการสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานสหประชาชาติ และการให้สิทธิ์และความคุ้นกันแก่เจ้าหน้าที่และทรัพย์สินของหน่วยงานสหประชาชาติ โดยงบประมาณในการดำเนินการภายใต้ร่าง UNSDCF จะได้รับการจัดสรรจากหน่วยงานสหประชาชาติในประเทศไทยภายใต้แผนงานของแต่ละโครงการเป็นรายปี จึงมิได้ก่อให้เกิดภาระด้านงบประมาณเพิ่มเติมหรือการให้เอกสิทธิ์และความคุ้มกันที่เกินกว่าความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยและหน่วยงานสหประชาชาติที่มีอยู่แล้ว



แต่งตั้ง

26. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์)
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกะทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอแต่งตั้งข้าราชการ พลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 2 ราย เพื่อสับเปลี่ยนหมุนเวียน ดังนี้
                     1. นายโอภาส ทองยงค์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
                     2. นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์
                     ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

27. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ)
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายอนุชา นาคาศัย) เสนอแต่งตั้ง นายสิปป์บวร แก้วงาม รองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

28. เรื่อง การต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของเอกอัครราชทูต (กระทรวงการต่างประเทศ)
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสนอการต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงการต่างประเทศ จำนวน 2 ราย ดังนี้
                     1. นายพิษณุ สุวรรณะชฎ เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งจะดำรงตำแหน่งดังกล่าวครบการต่อเวลา 1 ปี ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 (ครั้งที่ 1) และจะต่อเวลาการดำรงตำแหน่งดังกล่าวต่อไปอีก ตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 ถึงวันที่                    30 กันยายน 2565 (ครั้งที่ 2) ทั้งนี้ นายพิษณุ ฯ จะเกษียณอายุราชการวันที่ 1 ตุลาคม 2565
                     2. นายปัญญรักษ์ พูลทรัพย์ เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งจะดำรงตำแหน่งดังกล่าวครบ 4 ปี ในวันที่ 21 มกราคม 2565 และจะต่อเวลาการดำรงตำแหน่งดังกล่าวต่อไปอีก ตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2565 (ครั้งที่ 1) ทั้งนี้ นายปัญญรักษ์ ฯ จะเกษียณอายุราชการวันที่ 1 ตุลาคม 2565

29. เรื่อง การให้ความเห็นชอบแต่งตั้งบุคคลเพื่อเข้าดำรงตำแหน่งหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร (Chief Executive Officer, CEO) ขององค์กรร่วมไทย - มาเลเซีย
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงานเสนอแต่งตั้ง Datuk Joseph Podtung ที่รัฐบาลมาเลเซียเสนอให้เข้าดำรงตำแหน่งหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร (Chief Executive Officer, CEO) ขององค์กรร่วมไทย ? มาเลเซีย แทนตำแหน่งที่ว่าง โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งเท่ากับระยะเวลาเดิมที่เหลืออยู่ (เมื่อได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลทั้งสองแล้ว ให้นับวันที่องค์กรร่วมไทย - มาเลเซีย ทำการแต่งตั้งจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2567)

30. เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอแต่งตั้งคณะกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวม 6 คน ดังนี้
                     1. พลเอก ชัยชาญ ช้างมงคล           ประธานกรรมการ
                     2. พลเอก พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์           กรรมการ (ด้านความมั่นคง)
                     3. นายปณิธาน วัฒนายากร           กรรมการ (ด้านการต่างประเทศ)
                     4. นายการุณ สกุลประดิษฐ์           กรรมการ (ด้านการศึกษา)
                     5. นายเชื่อง ชาตอริยะกุล           กรรมการ (ด้านเศรษฐกิจ)
                     6. นายดลเดช พัฒนรัฐ                      กรรมการ (ด้านสังคมพหุวัฒนธรรม)
                    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2564

31. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 7 ราย ดังนี้
                     1. นายสุรเดช สมิเปรม รองอธิบดี (นักบริหารระดับต้น) กรมปศุสัตว์ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง
                     2. นายขจร เราประเสริฐ รองอธิบดี (นักบริหารระดับต้น) กรมส่งเสริมการเกษตร แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง
                    3. นางกุลฤดี พัฒนะอิ่ม รองอธิบดี (นักบริหารระดับต้น) กรมส่งเสริมการเกษตร แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง
                    4. นายวิชัย ไตรสุรัตน์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวง (นักบริหารระดับต้น) สำนักงานปลัดกระทรวง แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง
                    5. นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองอธิบดี (นักบริหารระดับต้น) กรมปศุสัตว์ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง
                    6. นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ รองอธิบดี (นักบริหารระดับต้น) กรมประมง แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหารระดับสูง) กรมประมง สำนักงานปลัดกระทรวง
                    7. นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ รองอธิบดี (นักบริหารระดับต้น) กรมการข้าว แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหารระดับสูง) กรมการข้าว
                     ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

32. เรื่อง ขออนุมัติแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม)
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอการแต่งตั้งข้าราชการ จำนวน 2 ราย ดังนี้
                     1. นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดี (นักบริหาร ระดับสูง) กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
                     2. นางสาวชมภารี ชมภูรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหาร ระดับสูง) กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
                    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
33. เรื่อง ขอความเห็นชอบการแต่งตั้งผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอแต่งตั้ง นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย โดยให้ได้รับค่าตอบแทนคงที่ในอัตราเดือนละ 290,000 บาท ค่าตอบแทนพิเศษประจำปี รวมทั้งสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ที่ผู้รับจ้างจะได้รับตามที่กระทรวงการคลังเห็นชอบแล้ว

          ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 ธันวาคม 2564

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ