สรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรีชุด นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 มกราคม 2567

ข่าวการเมือง Tuesday January 9, 2024 17:26 —มติคณะรัฐมนตรี

http://www.thaigov.go.th

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

วันนี้ 9 มกราคม 2567 เวลา 10.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้

กฎหมาย

                    1.           เรื่อง           ขอขยายระยะเวลาดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรองที่ต้องออกตามความใน                                                   พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562
                    2.           เรื่อง           ร่างกฎกระทรวงการอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่สองและประเภทที่สาม พ.ศ. ?.
                    3.           เรื่อง           ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่ง                                        ทางบก พ.ศ. 2522
                    4.           เรื่อง           ร่างกฎกระทรวงซึ่งออกตามความในหมวด 4 การจัดสรรน้ำและการใช้น้ำ แห่ง                                                  พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 รวม 3 ฉบับ
                    5.           เรื่อง           ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าใช้น้ำประเภทที่สองและประเภทที่สาม พ.ศ. ....

เศรษฐกิจ- สังคม
                    6.           เรื่อง           รายงานผลการดำเนินโครงการจิตอาสาพระราชทาน
                    7.           เรื่อง           รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนตุลาคม 2566 และรายงานภาวะ                                        เศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2566 และแนวโน้มปี 2567
                    8.           เรื่อง           รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานและผลการทบทวนมาตรการพัฒนา                                                  อุตสาหกรรมชีวภาพของไทยปี พ.ศ. 2561-2570 ระยะครึ่งแผน
          9.                                เรื่อง                     รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมประเทศและสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้
                    10.           เรื่อง           แผนปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้า ฉบับที่ 12 ปี 2560 - 2564                                                   (ฉบับปรับปรุง) และโครงการปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้า

ระยะที่ 13 ส่วนที่ 1 ของการไฟฟ้านครหลวง

ต่างประเทศ

                    11.           เรื่อง           การจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งกลไกการหารือทวิภาคีระหว่าง                                                  กระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงการต่างประเทศแห่ง                                        สาธารณรัฐเฮลเลนิก
                    12.           เรื่อง           การจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการปรึกษาหารือทางการเมืองระหว่าง                                                  กระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงการต่างประเทศแห่ง                                        สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน

แต่งตั้ง

                    13.           เรื่อง           คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่  6/2567 เรื่อง  แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งมอบหมายและ                                        มอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติ                                        ราชการแทนนายกรัฐมนตรี
                    14.           เรื่อง           การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับ                                                  ทรงคุณวุฒิ (กระทรวงการคลัง)
                     15.           เรื่อง           การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับ                                                  ทรงคุณวุฒิ (สำนักนายกรัฐมนตรี)
                     16.           เรื่อง           การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับ                                                  ทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)
                     17.           เรื่อง           การคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการ                                                  ประกอบธุรกิจประกันภัย
                    18.           เรื่อง           การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง                                                             (กระทรวงศึกษาธิการ)
                    19.           เรื่อง           ขออนุมัติแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วน                                        ภูมิภาค
                    20.           เรื่อง           ขออนุมัติแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการการ

ไฟฟ้านครหลวง

                    21.           เรื่อง           แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการการประปาส่วน                                                  ภูมิภาค
                    22.           เรื่อง           แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการการประปานครหลวง
                    23.           เรื่อง           การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตาม                                                  พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 มาตรา 4 (6) แทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่                                                  พ้นจากตำแหน่ง




?
กฎหมาย

1. เรื่อง ขอขยายระยะเวลาดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรองที่ต้องออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรองที่ต้องออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 รวม 4 ฉบับ ออกไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2567 ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ

ทั้งนี้ ดศ. เสนอว่า

                      1. พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 25621 มาตรา 8 (1) และ (4) บัญญัติให้มีคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ประกอบด้วย ประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ รวม 10 คน                ซึ่งสรรหาและแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ในด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ด้านสังคมศาสตร์ ด้านกฎหมาย ด้านสุขภาพ ด้านการเงิน หรือด้านอื่น ทั้งนี้ ต้องเกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ประกอบกับมาตรา 10 วรรคสองและวรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติให้คณะกรรมการสรรหาแจ้งรายชื่อประธานกรรมการ หรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง และให้นายกรัฐมนตรีประกาศรายชื่อประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรีในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 และวันที่ 11 มกราคม 2565 อนุมัติแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล รวม 10 คน และลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่               18 มกราคม 2565
                     2. พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย              พ.ศ. 2562 มาตรา 22 วรรคสอง กำหนดว่ากฎหมายที่มิใช่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ต้องมีการออกกฎ หรือกำหนดให้รัฐต้องดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อที่ประชาชนจะสามารถปฏิบัติตามกฎหมาย หรือได้รับสิทธิประโยชน์จากกฎหมายนั้นได้ หากมิได้มีการออกกฎดังกล่าวหรือยังมิได้ดำเนินการนั้นภายในระยะเวลาสองปีนับแต่วันที่กฎหมายนั้นมีผลใช้บังคับ และบทบัญญัติในเรื่องนั้นก่อภาระหรือเป็นผลร้ายต่อประชาชน ให้บทบัญญัติดังกล่าวเป็นอันสิ้นผลบังคับ แต่ในกรณีที่บทบัญญัติในเรื่องนั้นให้สิทธิประโยชน์แก่ประชาชนให้บทบัญญัติดังกล่าวมีผลบังคับได้โดยไม่ต้องมีกฎหรือดำเนินการดังกล่าว ทั้งนี้ ระยะเวลาสองปีดังกล่าวคณะรัฐมนตรีจะมีมติขยายออกไปอีกก็ได้แต่ไม่เกินหนึ่งปี และต้องมีมติก่อนที่จะครบกำหนดเวลาสองปีดังกล่าว

3. ดศ. ได้ตรวจสอบแล้วพบว่า มีกฎหมายลำดับรองที่ต้องออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 รวมทั้งสิ้น จำนวน 22 ฉบับ ซึ่งลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จำนวน 16 ฉบับ อยู่ระหว่างการดำเนินการลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา จำนวน 2 ฉบับ และอยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรอง จำนวน 4 ฉบับ ดังนี้

3.1 ร่างประกาศคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ตามมาตรา 28 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์การให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่ส่งหรือโอนไปยังต่างประเทศ

3.2 ร่างประกาศคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ตามมาตรา 29 วรรคสอง และวรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์การให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อการส่งหรือโอนข้อมูลส่วนบุคคลไปยังต่างประเทศและอยู่ในเครือกิจการหรือเครือธุรกิจเดียวกันเพื่อการประกอบกิจการ หรือธุรกิจร่วมกัน

                               3.3 ร่างประกาศคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ตามมาตรา 24 (1) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดมาตรการที่เหมาะสมสำหรับ               การเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวกับการจัดทำเอกสารประวัติศาสตร์หรือจดหมายเหตุเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือที่เกี่ยวกับการศึกษาวิจัยหรือสถิติซึ่งได้จัดให้มีมาตรการปกป้องที่เหมาะสมเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล และตามมาตรา 26 (5) (ง) มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดมาตรการที่เหมาะสมสำหรับการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลเป็นการจำเป็นในการปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ หรือสถิติ หรือประโยชน์สาธารณะอื่น

3.4 ร่างประกาศคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ตามมาตรา 26 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับมาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับประวัติอาชญากรรมที่มิได้กระทำภายใต้การควบคุมของหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย

                      4. สำหรับบทบัญญัติตามมาตรา 19 วรรคสาม มาตรา 26 วรรคหนึ่ง มาตรา 30 วรรคห้า มาตรา 31 วรรคสอง มาตรา 33 วรรคห้า มาตรา 34 วรรคสาม มาตรา 38 วรรคหนึ่ง (1) และมาตรา 41 วรรคหก                           แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 เป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้อำนาจในการออกกฎหมายลำดับรองโดยให้เป็นดุลพินิจของผู้มีอำนาจออกกฎหมายลำดับรองที่จะพิจารณาออกกฎหมายลำดับรองต่อเมื่อเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดเป็นการเพิ่มเติมเท่านั้น ประกอบกับบทบัญญัติเหล่านี้มีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลและให้สิทธิประโยชน์แก่ประชาชนที่เป็นเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล นอกจากนี้ กรณีตามมาตรา 38 (1) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ไม่ใช่บทบัญญัติที่ก่อภาระหรือเป็นผลร้ายต่อประชาชน จึงไม่เข้าข่ายที่จะต้องมีการออกกฎภายในระยะเวลาตามมาตรา 22 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 แต่เพื่อมิให้เกิดผลกระทบหรือความเสียหายต่อการบริหารราชการแผ่นดินหรือสิทธิของประชาชน ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลได้หารือประเด็นดังกล่าวไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาด้วยแล้ว ดังนั้น จึงเห็นควรขอขยายระยะเวลาดำเนินการจัดทำกฎหมายสำดับรองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ออกไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่                   11 มกราคม 2567

5. ต่อมาสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแจ้งว่า ได้เคยวินิจฉัยในประเด็นเกี่ยวกับเรื่องระยะเวลาที่หน่วยงานของรัฐต้องออกกฎตามมาตรา 22 ประกอบกับมาตรา 39 (1) แห่งพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 (เรื่องเสร็จที่ 1202/2564) ที่บัญญัติให้ต้องออกกฎหรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อให้ประชาชนสามารถปฏิบัติตามกฎหมายหรือได้รับสิทธิประโยชน์จากกฎหมายได้ภายใน 2 ปี นับแต่ ?วันที่กฎหมายนั้นมีผลใช้บังคับ? นั้น หมายความรวมถึง กรณีที่บทบัญญัติแห่งกฎหมายบางส่วนมีผลใช้บังคับก่อนหรือภายหลังวันที่กฎหมายทั้งฉบับมีผลใช้บังคับ หรือบทบัญญัติบางส่วนจะใช้บังคับเมื่อมีเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้น หรือมีผู้มีอำนาจออกกฎขึ้นภายหลังที่กฎหมายฉบับนั้นมีผลใช้บังคับด้วย ซึ่งจะต้องนับระยะเวลาตามมาตรา 22 วรรคสอง แยกต่างหากจากระยะเวลาในการออกกฎตามบทบัญญัติส่วนอื่นของกฎหมายที่มีผลใช้บังคับแล้ว โดยหากยังไม่มีผู้มีอำนาจในการออกกฎตามบทบัญญัติของกฎหมายในส่วนใดแล้ว กรณีจึงไม่อาจเริ่มนับระยะเวลาที่ต้องออกกฎตามบทบัญญัติของกฎหมายในส่วนนั้นได้ ดังนั้น เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 การนับระยะเวลาการจัดทำกฎหมายลำดับรองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ตามมาตรา 22 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 จะครบกำหนดการดำเนินการออกกฎหมายลำดับรองดังกล่าว (ประกาศคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล) ในวันที่ 11 มกราคม 2567

6. ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการออกกฎหมายลำดับรองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 เป็นไปอย่างรอบคอบ ซึ่งต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องและวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างรอบด้านและเป็นระบบ ตลอดจนการพิจารณาแก้ไข ปรับปรุง หรือออกกฎเพิ่มเติมให้เหมาะสมตามช่วงเวลาและสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล และผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลสามารถรับรู้หน้าที่ และมาตรฐานที่พึงปฏิบัติตามกฎหมาย คศ. จึงไม่สามารถออกกฎหมายลำดับรองได้ทันภายในระยะเวลาตามที่กำหนด จึงมีความจำเป็นต้องขอขยายระยะเวลาดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรองที่ต้องออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ออกไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2567

1พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2562 ยกเว้นบทบัญญัติในหมวด 2 หมวด 3 หมวด 5 หมวด 6 และหมวด 7 มีผลบังคับใช้วันที่ 27 พฤษภาคม 2563 การนับระยะเวลาในการออกกฎหมายลำดับรองจะต้องนับแยกจากกัน ซึ่งการออกกฎหมายลำดับรอง ตามมาตรา 24 มาตรา 26 มาตรา 28 และมาตรา 29 เป็นบทบัญญัติในหมวด 2 แห่งพระราชบัญญัติฯ ซึ่งมีผลบังคับใช้วันที่ 27 พฤษภาคม 2563 จะครบกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 ในวันที่ 26 พฤษภาคม 2565

2. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงการอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่สองและประเภทที่สาม พ.ศ. ?.
                      คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักการร่างกฎกระทรวงการอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่สองและประเภทที่สาม พ.ศ. ....ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาต่อไป
                      สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
                      1. กำหนดให้กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 120 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
                      2. กำหนดคำนิยามต่าง ๆ ได้แก่ การใช้น้ำประเภทที่ 2 การใช้น้ำประเภทที่ 3 ใบอนุญาต คำขอ อธิบดี และหน่วยงาน ให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น
                     3. กำหนดให้ใบรับคำขอ ใบอนุญาต คำขอต่ออายุใบอนุญาต คำขอโอนใบอนุญาต และคำขอรับใบแทนใบอนุญาตตามกฎกระทรวงนี้ ให้เป็นไปตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนด
                     4. กำหนดให้การยื่นคำขอ การออกใบรับคำขอ การออกใบอนุญาต การต่ออายุ ใบอนุญาต การโอนใบอนุญาตและการออกใบแทนอนุญาต ให้ดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก ในระหว่างที่ยังไม่สามารถดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ให้ยื่นคำขอ ฯ ที่ทำการของหน่วยงานหรือสถานที่อื่นตามที่อธิบดีประกาศกำหนด หรือโดยวิธีการทางไปรษณีย์ตอบรับ
                     5. กำหนดให้กรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่รับผิดชอบควบคุมดูแลทรัพยากรน้ำสาธารณะระหว่างกรมชลประทานกับกรมทรัพยากรน้ำ ให้ใบอนุญาตที่ได้ออกให้แก่ผู้รับใบอนุญาตในพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงนั้นรวมถึงข้อมูลและเอกสารหลักฐานตามใบอนุญาตดังกล่าวโอนไปอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานที่รับผิดชอบในพื้นที่ดังกล่าว และให้หน่วยงานนั้นออกใบอนุญาตฉบับใหม่ให้แก่ผู้รับใบอนุญาต
                     6. กำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคำขอรับใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่ 2 และประเภทที่ 3 และคำขออื่น ๆ ได้แก่ คำขอรับใบอนุญาตและแผนการบริหารจัดการน้ำที่ยื่นมาพร้อมกับคำขอมีรายการ รายละเอียด และสาระสำคัญถูกต้องครบถ้วน ความสอดคล้องกับแผนแม่บทเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรน้ำ ความสอดคล้องกับแผนแม่บทการใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟูและการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำ แต่ละลุ่มน้ำ และความสอดคล้องกับแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้งและภาวะน้ำท่วม แต่ละลุ่มน้ำ ความสอดคล้องกับลำดับความสำคัญของการใช้น้ำในแต่ละลุ่มน้ำ ตามที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) กำหนด และปัจจัยอื่นที่จำเป็นต้องคำนึงถึงเพื่อประโยชน์ในการป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้งและภาวะน้ำท่วม การบำรุงรักษา ฟื้นฟู และอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำสาธารณะ
                     7. กำหนดกระบวนการพิจารณาขอรับใบอนุญาตและการออกใบอนุญาต
                               7.1 กำหนดให้ผู้ขอรับใบอนุญาตยื่นคำขอรับใบอนุญาตพร้อมกับแผนการบริหารจัดการน้ำโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือต่อเจ้าหน้าที่ประจำท้องที่ในเขตลุ่มน้ำ ตามแบบคำขอและแผนการบริหารจัดการน้ำที่อธิบดีกรมชลประทาน อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ หรืออธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล แล้วแต่กรณี โดยระบุวัตถุประสงค์ในการขอรับใบอนุญาตตามลักษณะ หรือรายละเอียดการใช้น้ำให้ชัดเจน พร้อมด้วยข้อมูลและเอกสารหรือหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอ
                                7.2 เมื่อได้รับคำขอรับใบอนุญาตแล้ว ให้เจ้าหน้าที่ผู้รับคำขอตรวจสอบคำขอ รวมทั้งข้อมูลและเอกสารหรือหลักฐาน ถ้าครบถ้วน ให้ออกใบรับคำขอรับใบอนุญาตให้แก่ผู้ขอรับใบอนุญาตไว้เป็นหลักฐาน แต่หากคำขอไม่ครบถ้วนหรือยังขาดข้อมูล ให้แจ้งผู้ขอรับใบอนุญาตทราบภายใน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ และในกรณีที่ผู้ขอรับใบอนุญาต ไม่แก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับใบอนุญาต หรือไม่จัดส่งข้อมูล เอกสารหรือหลักฐานให้ถูกต้องครบถ้วน ภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าผู้ขอรับใบอนุญาตไม่ประสงค์จะดำเนินการต่อไป และให้เจ้าหน้าที่จำหน่ายเรื่องออกจากสารบบ
                                7.3 เมื่อข้อมูลและเอกสารหรือหลักฐานเพียงพอแล้ว ให้เจ้าหน้าที่เสนอคำขอรับใบอนุญาตข้อมูลและเอกสารหรือหลักฐาน พร้อมด้วยความเห็นต่ออธิบดีเพื่อพิจารณา ทั้งนี้ ให้ดำเนินการภายใน 30 วันนับแต่วันที่ออกใบรับคำขอรับใบอนุญาต และเมื่ออธิบดีพิจารณาแล้วจะส่งคำขอรับใบอนุญาต ข้อมูลและเอกสารหรือหลักฐาน ข้อมูลปริมาณน้ำที่อาจอนุญาตได้โดยไม่กระทบต่อสมดุลน้ำพร้อมทำความเห็นเสนอต่อคณะกรรมการลุ่มน้ำ ที่ทรัพยากรน้ำสาธารณะนั้นตั้งอยู่หรือ กนช. เพื่อพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ ระยะเวลาในการพิจารณาของอธิบดีรวมกับระยะเวลาในการพิจารณาของเจ้าหน้าที่แล้วต้องไม่เกิน 60 วันนับแต่วันที่ออกใบรับคำขอรับใบอนุญาต
                               7.4 เมื่อคณะกรรมการลุ่มน้ำหรือ กนช. ได้รับเรื่องจากอธิบดีแล้ว ให้พิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องจากอธิบดี และให้แจ้งผลให้อธิบดีทราบภายใน 7 วันนับวันที่พิจารณาแล้วเสร็จ เพื่อให้อธิบดีมีคำสั่งอนุญาตและแจ้งคำสั่งเป็นหนังสือให้ผู้ขอรับใบอนุญาตทราบและชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งดังกล่าว และให้อธิบดีออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ขอรับใบอนุญาตภายใน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับชำระค่าธรรมเนียม หากผู้ขอรับใบอนุญาตไม่ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าผู้ขอรับใบอนุญาตไม่ประสงค์จะรับใบอนุญาตและให้อธิบดีจำหน่ายเรื่องออกจากสารบบ
                     8. กำหนดอายุใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่ 2 และประเภทที่ 3 ตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
                                8.1 กรณีการใช้น้ำจากทางน้ำชลประทานภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการชลประทาน ให้มีอายุใบอนุญาตไม่เกิน 5 ปี
                                8.2 กรณีการใช้น้ำที่ไม่ใช่น้ำจากทางน้ำชลประทานภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการชลประทาน และไม่ใช่น้ำบาดาลตามกฎหมายว่าด้วยน้ำบาดาล ให้มีอายุใบอนุญาตตามที่กำหนด ดังต่อไปนี้
                                           ก) กรณีผู้ขอรับใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่ 2 ให้มีอายุใบอนุญาตไม่เกิน 5 ปี
                                          ข) กรณีผู้ขอรับใบอนุญาตการใช้น้ำ ประเภทที่ 3 ให้มีอายุใบอนุญาตไม่เกิน 10 ปี
                                8.3 กรณีการใช้น้ำบาดาลตามกฎหมายว่าด้วยน้ำบาดาล ให้มีอายุใบอนุญาตตามกำหนดเวลา ดังต่อไปนี้
                                         ก) กรณีผู้ขอรับใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่ 2 ให้มีอายุใบอนุญาตไม่เกิน 5 ปี
                                         ข) กรณีผู้ขอรับใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่ 3 ให้มีอายุใบอนุญาตไม่เกิน 10 ปี
                     9. กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่ 2 และประเภทที่ 3 ซึ่งประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาต ให้ยื่นคำขอโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือต่อเจ้าหน้าที่ประจำท้องที่ในเขตลุ่มน้ำ พร้อมด้วยข้อมูลและเอกสารหรือหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอ ก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุ ทั้งนี้ ในการต่ออายุใบอนุญาต ผู้ยื่นคำขอต้องมิได้อยู่ในระหว่างถูกสั่งหยุดการใช้น้ำตามใบอนุญาตไว้เป็นการชั่วคราวหรืออยู่ในระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาต และต้องไม่มีหนี้ค่าใช้น้ำค้างชำระ
                      10. กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตซึ่งประสงค์จะขอโอนใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่ 2 และประเภทที่ 3 ให้ยื่นคำขอโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือต่อเจ้าหน้าที่ประจำท้องที่ในเขตลุ่มน้ำ โดยระบุวัตถุประสงค์ในการโอนใบอนุญาตให้ชัดเจน พร้อมด้วยข้อมูลและเอกสารหรือหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอ ทั้งนี้ ผู้ขอโอนใบอนุญาตจะต้องไม่มีหนี้ค่าใช้น้ำค้างชำระ
                     11. กำหนดให้ผู้อุทธรณ์ยื่นอุทธรณ์คำสั่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับการอนุญาตการใช้น้ำ การต่ออายุใบอนุญาต การโอนใบอนุญาต การกำหนดเงื่อนไขในใบอนุญาต หรือการแก้ไขเพิ่มเติมเงื่อนไขในใบอนุญาตตามกฎกระทรวงนี้ โดยระบุข้อโต้แย้งและข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่อ้างอิงให้ชัดเจน และเมื่อได้รับคำอุทธรณ์แล้ว ให้อธิบดีส่งคำอุทธรณ์ไปยังคณะกรรมการลุ่มน้ำหรือคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติเพื่อพิจารณาวินิจฉัยต่อไป และให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์นี้ถือเป็นที่สุด ทั้งนี้ ระยะเวลาในการยื่นอุทธรณ์ การพิจารณาอุทธรณ์และระยะเวลาในการพิจารณาอุทธรณ์ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
                     12. กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตยื่นคำขอรับใบแทนใบอนุญาตและแจ้งข้อมูลโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือต่อเจ้าหน้าที่ประจำท้องที่ในเขตลุ่มน้ำ ตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้ทราบถึงการชำรุดในสาระสำคัญ สูญหาย หรือถูกทำลาย หากผู้รับใบอนุญาตไม่ดำเนินการภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าผู้รับใบอนุญาตฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้
                      13. กำหนดให้ในวาระเริ่มแรกมิให้นำระยะเวลาในการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ และอธิบดีตามที่กำหนดไว้ และระยะเวลาในการพิจารณาของคณะกรรมการลุ่มน้ำหรือ กนช. ตามที่กำหนดไว้มาใช้บังคับ โดยระยะเวลาดังกล่าวให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับ



3. เรื่อง ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ดังนี้
                    1. เห็นชอบร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ดำเนินการต่อไปได้
                    2. ให้กระทรวงคมนาคมรับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
                    ทั้งนี้ คค. เสนอว่า
                    1. พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 23 บัญญัติห้ามมิให้ผู้ใดประกอบการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง การขนส่งโดยรถขนาดเล็กหรือการขนส่งส่วนบุคคล เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน การขออนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ประกอบกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2524) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 63 (พ.ศ. 2564) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 กำหนดให้บุคคลที่จะยื่นคำขอประกอบการขนส่ง ได้แก่ (1) บุคคลธรรมดา (2) ห้างหุ้นส่วนสามัญ (3) ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียนหรือห้างหุ้นส่วนจำกัด (4) บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด (5) สหกรณ์ และ (6) องค์การของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาลหรือตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ประสงค์จะประกอบการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง หรือการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก ต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามแบบของกรมการขนส่งทางบก พร้อมด้วยแผนการดำเนินการในการประกอบการขนส่ง และเอกสารและหลักฐานตามที่กำหนด เช่น
                              1.1 กรณีห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียนหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดประสงค์จะประกอบการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง หรือการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก ต้องยื่นเอกสารและหลักฐาน ดังต่อไปนี้
                                        1.1.1 บัตรประจำตัวประชาชนหรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน
                                        1.1.2 ทะเบียนบ้านหรือใบสำคัญถิ่นที่อยู่ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองของผู้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการทุกคน
                              1.2 กรณีบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดประสงค์จะประกอบการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง หรือการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก ต้องยื่นเอกสารและหลักฐาน ดังต่อไปนี้
                                        1.2.1 รายชื่อกรรมการของบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดทุกคน
                                        1.2.2 ทะเบียนบ้านหรือใบสำคัญถิ่นที่อยู่ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองของกรรมการผู้มีอำนาจลงนามทุกคน
                                        1.2.3 หนังสือบริคณห์สนธิและข้อบังคับฉบับตีพิมพ์
                    2. ต่อมาข้อเท็จจริงปรากฏว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่งมีความประสงค์จะพัฒนาระบบการขนส่งด้วยรถโดยสารสาธารณะภายในเขตพื้นที่ของตน โดยประสงค์จะยื่นขอรับใบอนุญาตประกอบการชนส่งด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารประจำทางเพื่อจัดการเดินรถโดยสารประจำทางภายในเขตพื้นที่ของตน ประกอบกับเส้นทางสำหรับการขนส่งประจำทางด้วยรถโดยสารที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนดเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้แก่ประชาชนบางเส้นทางไม่มีผู้ประกอบการประสงค์จะจัดการเดินรถและการดำเนินการดังกล่าวอาจไม่ได้ผลกำไร และไม่คุ้มค่ากับการลงทุน จึงสมควรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดการเดินรถโดยสารประจำทางเพื่อแก้ไขปัญหาในการเดินทางให้กับประชาชนในท้องถิ่นของตน แต่โดยที่กฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2524) ออกตามความใพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 63 (พ.ศ. 2564) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มิได้กำหนดเกี่ยวกับเอกสารหลักฐานที่หน่วยงานของรัฐต้องยื่นเพื่อขอรับหรือขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบการขนส่งไว้แต่อย่างใด ดังนั้น คค. พิจารณาเห็นว่า ควรกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบการขนส่งได้ รวมถึงให้ครอบคลุมหน่วยงานของรัฐที่มิได้อยู่ในรูปแบบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย ประกอบกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2524) ฯ กำหนดให้ผู้ขอรับหรือขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องยื่นเอกสารหลักฐานบางประการซึ่งเกินความจำเป็นในการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ขอรับหรือขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบการขนส่ง เช่น กำหนดให้ในการยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ยื่นพร้อมรายชื่อกรรมการของบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดทุกคน นั้น เนื่องจากสามารถตรวจสอบรายชื่อกรรมการของบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดทุกคนได้จากหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัทฯ จึงไม่มีความจำเป็นต้องกำหนดไว้แต่ประการใด หรือการยื่นคำขอพร้อมทะเบียนบ้านหรือใบสำคัญถิ่นที่อยู่ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองของกรรมการผู้มีอำนาจลงนามทุกคน ซึ่งไม่ได้ใช้ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตและในการติดต่อหรือดำเนินการใด ๆ กับบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดไม่ได้ติดต่อหรือดำเนินการกับกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม รวมทั้งการยื่นคำขอพร้อมหนังสือบริคณห์สนธิ ซึ่งสามารถตรวจสอบรายละเอียดข้อมูลของหนังสือบริคณห์สนธิจากเอกสารหลักฐานอื่นได้อยู่แล้ว เป็นต้น
                    3. คค. จึงได้จัดทำร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ ..(พ.ศ. ....) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2524) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยแก้ไขเพิ่มเติมการกำหนดเอกสารและหลักฐานที่ใช้สำหรับการขอรับหรือขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบการขนส่ง เพื่อเป็นการลดภาระและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ขอรับหรือขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบการขนส่ง และกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการขอรับหรือขอต่อใบอนุญาตประกอบการขนส่งสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้สามารถยื่นขอรับใบอนุญาตประกอบการขนส่งได้ ทั้งนี้ คค. ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้ผ่านทางเว็บไซต์ของกรมการขนส่งทางบกและเว็บไชต์ระบบกลางทางกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2566 - 20 มิถุนายน 2566 และส่งหนังสือสอบถามความคิดเห็นและข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานของรัฐ และองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร และบริษัท นครชัย แอร์ จำกัด ด้วยแล้ว
                    สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
                    แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2524) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 โดยแก้ไขเพิ่มเติมการกำหนดเอกสารและหลักฐานที่ใช้สำหรับการขอรับหรือขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบการขนส่ง เพื่อเป็นการลดภาระและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ขอรับหรือขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบการขนส่ง และกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการขอรับหรือขอต่อใบอนุญาตประกอบการขนส่งสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้สามารถยื่นขอรับใบอนุญาตประกอบการขนส่งได้ ดังนี้
                    1. กำหนดให้ยกเลิกเอกสารและหลักฐานประกอบการยื่นคำขอรับหรือขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง หรือการขนส่ง โดยรถขนาดเล็ก ดังนี้
                              1.1 ให้ยกเลิกทะเบียนบ้านหรือใบสำคัญถิ่นที่อยู่ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองของผู้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการทุกคน ในกรณีที่ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียนหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดเป็นผู้ยื่นคำขอ
                              1.2 ให้ยกเลิกทะเบียนบ้านหรือใบสำคัญถิ่นที่อยู่ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองของกรรมการผู้มีอำนาจลงนามทุกคนและรายชื่อกรรมการของบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดทุกคน ในกรณีที่บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดเป็นผู้ยื่นคำขอ
                              1.3 ให้ยกเลิกทะเบียนบ้านของผู้มีอำนาจลงนามผูกพันสหกรณ์ทุกคนและหนังสือบริคณห์สนธิ ในกรณีที่สหกรณ์เป็นผู้ยื่นคำขอ
                    2. กำหนดให้เพิ่มหนังสือเดินทางเป็นเอกสารทางเลือกที่สามารถใช้ยื่นพร้อมคำขอรับหรือขอต่ออายุใบอนุญาตได้ เนื่องจากคนต่างด้าวบางกลุ่มไม่จำเป็นต้องมีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ดังนี้
                              2.1 ในกรณีที่ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียนหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดยื่นคำขอรับหรือขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทางหรือการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก
                              2.2 ในกรณีที่ (1) บุคคลธรรมดา (2) ห้างหุ้นส่วนสามัญ (3) ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียนหรือห้างหุ้นส่วนจำกัด (4) บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดยื่นคำขอรับหรือขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคล
                    3. กำหนดให้หน่วยงานของรัฐสามารถยื่นคำขอรับหรือขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง หรือการขนส่งโดยรถขนาดเล็กได้ตามแบบของกรมการขนส่งทางบก พร้อมด้วยเอกสารและหลักฐานตามที่กำหนด เช่น กฎหมาย หรือเอกสารการจัดตั้งหน่วยงานของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งหน่วยงานของรัฐนั้น ตัวอย่างรอยประทับตราของผู้ยื่นคำขอ 2 ตรา (ถ้ามี) ตัวอย่างเครื่องหมายประจำรถ รูปถ่ายสำนักงานและรูปถ่ายสถานที่เก็บรถ หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิการใช้สถานที่เก็บรถ เป็นต้น

4. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงซึ่งออกตามความในหมวด 4 การจัดสรรน้ำและการใช้น้ำ แห่งพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 รวม 3 ฉบับ
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักการร่างกฎกระทรวงรวม 3 ฉบับ ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เสนอดังนี้
                    1. ร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะหรือรายละเอียดการใช้น้ำแต่ละประเภท พ.ศ. ....
                    2. ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่สองและค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่สาม พ.ศ. ....
                    3. ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าใช้น้ำสำหรับการใช้น้ำประเภทที่สองและการใช้น้ำประเภทที่สาม และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเรียกเก็บลดหย่อน หรือยกเว้นค่าใช้น้ำ พ.ศ. ....
และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาต่อไป
                    สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
                    1. ร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะหรือรายละเอียดการใช้น้ำแต่ละประเภท พ.ศ. ....
                              1.1 กำหนดลักษณะหรือรายละเอียดการใช้น้ำประเภทที่ 1 ได้แก่การใช้น้ำสาธารณะเพื่อการดำรงชีพ การอุปโภคบริโภคในครัวเรือน การเกษตรหรือการเลี้ยงสัตว์ การอุตสาหกรรมในครัวเรือน การรักษาระบบนิเวศ จารีตประเพณี การบรรเทาสาธารณภัย การคมนาคม และการใช้น้ำในปริมาณเล็กน้อย
                              1.2 กำหนดลักษณะและรายละเอียดการใช้น้ำประเภทที่ 2 ได้แก่การใช้น้ำสาธารณะเพื่อการอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การผลิตพลังงานไฟฟ้า และการใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการประปา ซึ่งมีอัตราการใช้น้ำบาดาลเกิน 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวันต่อบ่อ แต่ไม่เกิน 3,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวันต่อบ่อ หรืออัตราการใช้น้ำผิวเดินไม่เกิน 30,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน
                              1.3 กำหนดลักษณะและรายละเอียดการใช้น้ำประเภทที่ 3 ได้แก่การใช้น้ำสาธารณะในปริมาณมาก ได้แก่ การใช้น้ำบาดาลเกิน 3,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวันต่อบ่อ หรือการใช้น้ำผิวดินในแม่น้ำ ลำน้ำ คลองส่งน้ำ น้ำในแหล่งกักเก็บน้ำเกิน 30,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน การใช้น้ำส่งที่อาจส่งผลให้สมดุลของทรัพยากรน้ำสาธารณะเปลี่ยนแปลงไปจนส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำ คุณภาพของทรัพยากรน้ำสาธารณะนั้น ระบบนิเวศหรือลุ่มน้ำอื่นที่เกี่ยวข้อง และการใช้น้ำของการนิคมอุตสาหกรรม เขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือพื้นที่อื่นในลักษณะเดียวกัน
                    2. ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่สองและค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่สาม พ.ศ. ....
                              2.1 กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่ 2 และประเภทที่ 3 ไม่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้
อัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัติฯ          ประเภทค่าธรรมเนียมและอัตราที่จัดเก็บ
1. ใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่ 2          1. ใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่ 2
    (1) คำขอฉบับละไม่เกิน 100 บาท              (1) คำขอใบอนุญาต หนังสือรับรองการขอใบอนุญาต คำขอต่อใบอนุญาต ฉบับละ 100 บาท
    (2) ใบอนุญาต ฉบับละไม่เกิน 10,000 บาท              (2) ใบอนุญาต ฉบับละ 2,500 บาท

    (3) ใบแทนใบอนุญาต การโอนใบอนุญาต ฉบับละไม่เกิน 500 บาท               (3) ใบแทนใบอนุญาต การโอนใบอนุญาต ฉบับละ 500 บาท
    (4) การต่ออายุใบอนุญาตครั้งละเท่ากับ ค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตแต่ละฉบับ              (4) การต่ออายุใบอนุญาต ครั้งละเท่ากับค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตแต่ละฉบับ
2. ใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่ 3          2. ใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่ 3
    (1) คำขอฉบับละไม่เกิน 100 บาท              (1) คำขอใบอนุญาต หนังสือรับรองการขอใบอนุญาต คำขอต่อใบอนุญาตฉบับละ 100 บาท
    (2) ใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่สาม ฉบับละไม่เกิน 50,000 บาท              (2) ใบอนุญาต ฉบับละ 12,500 บาท
    (3) ใบแทนใบอนุญาต การโอนใบอนุญาต ฉบับละไม่เกิน 500 บาท              (3) ใบแทนใบอนุญาต การโอนใบอนุญาต ฉบับละ 500 บาท
    (4) การต่ออายุใบอนุญาตครั้งละเท่ากับ ค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตแต่ละฉบับ              (4) การต่อใบอนุญาต ครั้งละเท่ากับค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตแต่ละฉบับ
                              2.2 กำหนดให้ผู้ขอใบอนุญาตใช้น้ำประเภทที่ 2 และประเภทที่ 3 ได้รับการลดค่าธรรมเนียมกึ่งหนึ่งสำหรับกรณีการใช้น้ำสาธารณะในการประกอบธุรกิจในพื้นที่ที่ได้รับการสนับสนุนการลงทุนจากรัฐตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนจากรัฐตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน การประกอบกิจการที่ต้องใช้น้ำสาธารณะเพื่อการอุปโภคบริโภคเนื่องจากไม่มีน้ำประปาให้บริการในพื้นที่ และการประกอบกิจการที่ต้องใช้น้ำสาธารณะเพื่อผลิตน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคให้บริการแก่ประชาชนที่ไม่ได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียม
                              2.3 กำหนดให้ผู้ขอใบอนุญาตใช้น้ำประเภทที่สองและประเภทที่สามได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับกรณี 1) หน่วยงานรัฐที่ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อผลิตน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคให้บริการแก่ประชาชน (สามารถบริการประชากรได้ 3,400 คนต่อวัน) ในพื้นที่ของตน เฉพาะกรณีประปาหมู่บ้านที่กำลังการผลิตไม่เกิน 30 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง การผลิตน้ำดื่มสำหรับบริโภคในโรงเรียน และการใช้น้ำในโรงพยาบาลและ 2) การใช้น้ำสาธารณะเพื่อผลิตน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่ของตนหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะโดยไม่แสวงหากำไร
                    3. ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าใช้น้ำสำหรับการใช้น้ำประเภทที่สองและการใช้น้ำประเภทที่สาม และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเรียกเก็บ ลดหย่อน หรือยกเว้นค่าใช้น้ำ พ.ศ. ....
                              3.1 กำหนดให้กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้น 90 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
                              3.2 กำหนดคำนิยามต่าง ๆ ได้แก่ ต้นทุนในการจัดเก็บค่าใช้น้ำ ค่าใช้จ่ายเงินลงทุน ต้นทุนการอุปทานน้ำ ประสิทธิภาพการส่งน้ำ และเงินสำรองเพื่อการบรรเทาวิกฤตน้ำ
                              3.3 กำหนดวิธีการคำนวณค่าใช้น้ำสำหรับการใช้น้ำประเภทที่ 2 และการใช้น้ำประเภทที่ 3 ดังนี้ ค่าใช้น้ำ = อัตราค่าใช้น้ำ x ปริมาณน้ำที่ใช้
                              3.4 กำหนดวิธีการและสูตรการคำนวณค่าใช้น้ำสำหรับการใช้น้ำประเภทที่ 2 และการใช้น้ำประเภทที่ 3 ประกอบด้วยปัจจัย ได้แก่ ค่าใช้จ่ายและต้นทุนในการจัดเก็บค่าใช้น้ำ ต้นทุนการอุปทานน้ำ เงินสำรองสำหรับการบรรเทาวิกฤตน้ำเมื่อมีการขาดแคลนปริมาณการใช้น้ำของผู้ใช้ที่อยู่ลุ่มน้ำเดียวกัน ประสิทธิภาพการส่งน้ำ และปริมาณอุปทานน้ำทั้งหมด
                              3.5 กำหนดให้กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ หรือกรมทรัพยากรน้ำบาดาลกำหนดอัตราค่าใช้น้ำที่แตกต่างกันได้ตามลักษณะเฉพาะของทรัพยากรน้ำสาธารณะ และอัตราค่าใช้น้ำสำหรับน้ำบาดาลจะต่ำกว่าอัตราค่าใช้น้ำสำหรับผิวดินไม่ได้ และให้ทบทวนอัตราค่าใช้น้ำทุก 5 ปี
                              3.6 กำหนดให้ผู้ขอรับการใช้น้ำประเภทที่ 2 หรือประเภทที่ 3 ได้รับการลดค่าใช้น้ำลงกึ่งหนึ่งสำหรับ 1) การใช้น้ำสาธารณะประกอบธุรกิจอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับการสนับสนุนการลงทุนจากรัฐตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนหรือเป็นกิจการที่รัฐให้การสนับสนุน และ 2) การประกอบกิจการในพื้นที่ไม่มีน้ำประปาหรือมีความจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการอุปโภคบริโภค
                    ร่างกฎกระทรวงดังกล่าวรวม 3 ฉบับ กำหนดให้ใช้บังคับเมื่อพ้น 90 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ทั้งนี้ การใช้น้ำประเภทที่ 1 ที่ไม่ต้องขอรับใบอนุญาตและไม่ต้องชำระค่าใช้น้ำ รวมทั้งอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่ 2 และประเภทที่ 3 ไม่ให้ใช้กับน้ำบาดาลตามกฎหมายว่าด้วยน้ำบาดาล (มาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำฯ) เนื่องจากมีการกำหนดไว้ในกฎกระทรวงฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2556) ออกตามความในพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. 2520 แล้ว ทั้งนี้ เพื่อเป็นการควบคุมการใช้น้ำบาดาลและป้องกันผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อแหล่งน้ำบาดาล




5. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าใช้น้ำประเภทที่สองและประเภทที่สาม พ.ศ. ....
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าใช้น้ำประเภทที่สองและประเภทที่สาม พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาต่อไป
                    ทั้งนี้ ทส. เสนอว่า
                    1. เนื่องจากจากอดีตจนถึงปัจจุบันประชาชน มีการใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะที่ไม่ใช่น้ำจากทางน้ำชลประทาน และไม่ใช่น้ำบาดาลได้อย่างอิสระ ไม่มีการควบคุมจากหน่วยงานรัฐและไม่ต้องจ่ายค่าใช้น้ำ ทำให้เกิดการใช้น้ำอย่างไม่รู้คุณค่า ส่งผลกระทบต่อปริมาณ และคุณภาพน้ำ ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำในหลายพื้นที่ ประชาชนขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคและเกิดมลภาวะแก่ทรัพยากรน้ำสาธารณะ และผู้ใช้น้ำส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการในการดำเนินกิจการด้านการผลิต การอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว ใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะที่มิใช่ทางน้ำชลประทานและมิใช่น้ำบาดาล ใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะโดยไม่มีข้อจำกัดในเรื่องราคา ทำให้ใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะโดยไม่มีคำนึงว่าน้ำเป็นต้นทุนในการผลิตแต่อย่างใด ซึ่งที่ผ่านมาการจัดสรรทรัพยากรน้ำและการอนุญาตและควบคุมการใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะได้มีการดำเนินการเฉพาะการใช้น้ำในทางน้ำชลประทานตามกฎหมายว่าด้วยการชลประทานหลวงและการใช้น้ำบาดาลตามกฎหมายว่าด้วยน้ำบาดาล สำหรับการใช้น้ำอื่นใดที่นอกเหนือจากกฎหมายเฉพาะดังกล่าว ยังไม่มีการดำเนินการขออนุญาตใช้น้ำเนื่องจากยังไม่มีกฎหมายหรือข้อบังคับที่ชัดเจน
                    2. พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ได้กำหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรน้ำและการใช้น้ำสาธารณะ ซึ่งมาตรา 41 ได้แบ่งประเภทของการใช้น้ำออกเป็น 3 ประเภท (1) การใช้น้ำประเภทที่ 1 ได้แก่ การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการดำรงชีพ การเกษตรหรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อยังชีพ (2) การใช้น้ำประเภทที่ 2 ได้แก่ การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และ (3) การใช้น้ำประเภทที่ 3 ได้แก่ การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อกิจการขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำปริมาณมาก หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบข้ามลุ่มน้ำหรือครอบคลุมพื้นที่อย่างกว้างขวาง ประกอบมาตรา 42 มาตรา 43 และมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำฯ บัญญัติให้การใช้น้ำประเกทที่ 1 ไม่ต้องขอรับใบอนุญาตการใช้น้ำและไม่ต้องชำระค่าใช้น้ำ สำหรับการใช้น้ำในประเภทที่ 2 และประเภทที่ 3 นั้นต้องได้รับใบอนุญาตการใช้น้ำจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง และมาตรา 50 บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าใช้น้ำประเภทที่สองและประเภทที่สามที่ไม่ใช่น้ำจากทางน้ำชลประทานตามกฎหมายว่าด้วยการชลประทานและไม่ใช่น้ำบาดาลตามกฎหมายว่าด้วยน้ำบาดาล และให้อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำเรียกเก็บค่าใช้น้ำดังกล่าวตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา 49 ดังนั้น เพื่อให้ผู้ใช้น้ำซึ่งได้รับใบอนุญาตการใช้น้ำตามพระราชบัญญัตินี้ต้องชำระค่าใช้น้ำเพื่อให้ตระหนักรู้คุณค่าของทรัพยากรน้ำ ซึ่งถือเป็นมาตรการกลไกที่ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาวะโดยส่งเสริมการใช้ประโยชน์ทรัพยากรน้ำสาธารณะอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้เกิดการประหยัดน้ำจากกระบวนการใช้น้ำหรือมีการหมุนเวียนน้ำกลับมาใช้ใหม่ในระบบทำให้มีทรัพยากรน้ำสำหรับการจัดสรรน้ำให้ประชาชนได้อย่างเพียงพอและเป็นธรรม ทส. จึงมีความจำเป็นต้องยกร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าใช้น้ำประเภทที่สองและประเภทที่สาม พ.ศ. .... เพื่อกำหนดอัตราค่าใช้น้ำประเภทที่ 2 และประเภทที่ 3 และในคราวประชุมคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย ทส. ครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2566 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงดังกล่าวแล้ว
                    3. การกำหนดอัตราค่าใช้น้ำประเภทที่ 2 และประเภทที่ 3 ตามร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้ ทส. ได้นำหลักเกณฑ์ที่กำหนดตามร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าใช้น้ำสำหรับการใช้น้ำประเภทที่สองและการใช้น้ำประเภทที่สาม และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเรียกเก็บ ลดหย่อน หรือยกเว้นค่าใช้น้ำ                พ.ศ. .... ซึ่งออกตามความในมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้ยกร่างและอยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ ประกอบกับได้พิจารณากรณีตัวอย่างของต่างประเทศ ได้แก่ ข้อบัญญัติของสหภาพยุโรป ประเทศอังกฤษ และประเทศในภูมิภาคใกล้เคียง ได้แก่ สิงคโปร์และเกาหลีใต้ การกำหนดราคาค่าใช้น้ำของต่างประเทศต้องคำนึงถึงความคุ้มค่า และต้องมีผลให้เกิดการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดและมีหลักการกำหนดอัตราค่าใช้น้ำที่เหมือนกัน ได้แก่ (ก) การคำนวณอยู่บนฐานต้นทุนการก่อสร้างและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม และหลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (ข) อัตราค่าใช้น้ำสามารถแตกต่างกันได้ตามประเภทผู้ใช้น้ำ และ (ค) คำนึงถึงความเท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากรน้ำและฐานะทางเศรษฐกิจ โดยในการใช้น้ำจะมีทั้งกิจการที่มีการคิดค่าธรรมเนียมการใช้น้ำและที่ได้รับการยกเว้น ทั้งนี้ อาจมีปัจจัย          อื่น ๆ ที่นำมาคำนวณประกอบการคิดอัตราค่าน้ำ เช่น ปริมาณแหล่งน้ำ ฤดูกาล และการสูญเสียน้ำ ซึ่งสามารถนำแนวคิดดังกล่าวมากำหนดอัตราค่าใช้น้ำในประเทศไทย
                    4. ร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้ได้ดำเนินการตามกฎกระทรวงกำหนดร่างกฎที่ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบ พ.ศ. 2565 และแนวทางการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 แล้ว โดยได้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นระหว่างหน่วยงานของรัฐและภาคเอกชนจำนวน 6 ครั้ง รวมทั้งได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย และได้เผยแพร่ผลการรับฟังความคิดเห็นพร้อมรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายผ่านทางเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมาย
                    สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
                    1. กำหนดให้กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 365 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
                    2. กำหนดคำนิยามคำว่า ?อัตราค่าใช้น้ำ? หมายความว่า อัตราค่าใช้น้ำประเภทที่สองและประเภทที่สามที่ไม่ใช่จากทางน้ำชลประทานตามกฎหมายว่าด้วยชลประทาน และไม่ใช่น้ำบาดาลตามกฎหมายว่าด้วยน้ำบาดาลซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 49 (1) แห่งพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561?
                    3. กำหนดให้ค่าใช้น้ำประเภทที่ 2 และประเภทที่ 3 มีอัตรา 0.373 บาทต่อลูกบาศก์เมตร
                    4. กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตใช้น้ำประเภทที่ 2 ชำระค่าใช้น้ำ ดังนี้
                              4.1 ในกรณีที่มีปริมาณการใช้น้ำไม่เกิน 5,400,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี ให้ชำระตามอัตราค่าใช้น้ำ
                              4.2 ในกรณีที่มีปริมาณการใช้น้ำเกินกว่า 5,400,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี ส่วนที่เกินให้ชำระเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 5 ของอัตราค่าใช้น้ำ
                    5. กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตใช้น้ำประเภทที่ 3 ชำระค่าใช้น้ำ ดังนี้
                              5.1 ในกรณีที่มีปริมาณการใช้น้ำไม่เกิน 5,400,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี ให้ชำระตามอัตราค่าใช้น้ำ
                              5.2 ในกรณีที่มีปริมาณการใช้น้ำเกินกว่า 5,400,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปีแต่ไม่เกิน 10,800,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี ส่วนที่เกินให้ชำระเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 5 ของอัตราค่าใช้น้ำ
                              5.3 กรณีที่มีปริมาณการใช้น้ำเกิน 10,800,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี ส่วนที่เกินให้ชำระเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 10 ของอัตราค่าใช้น้ำ
                    6. กำหนดให้การคิดค่าใช้น้ำให้คำนวณจากปริมาณน้ำที่มีการใช้จริงที่วัดได้จากเครื่องมือวัดที่ผู้รับใบอนุญาตใช้น้ำได้ดำเนินการติดตั้ง หรือในกรณีที่ลักษณะของกิจกรรมการใช้น้ำนั้นไม่สามารถติดตั้งเครื่องมือวัดได้หรือสามารติดตั้งเครื่องมือวัดได้แต่ปริมาณน้ำที่วัดได้ไม่สอดคล้องกับปริมาณน้ำที่มีการใช้ประโยชน์จริงในกิจกรรมนั้น ให้คำนวณจากการประเมินปริมาณน้ำที่ใช้ในกิจกรรมนั้นรายปี
                    7. กำหนดให้กรมทรัพยากรน้ำดำนินการทบทวนความเหมาะสมของอัตราค่าใช้น้ำ ทุก 5 ปี และเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อพิจารณาและรายงานต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติทราบ และให้มีการรับฟังความคิดเห็นของคณะกรรมการลุ่มน้ำและผู้เกี่ยวข้องในแต่ละลุ่มน้ำประกอบการพิจารณาด้วย

เศรษฐกิจ-สังคม
6. เรื่อง รายงานผลการดำเนินโครงการจิตอาสาพระราชทาน
                    คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการดำเนินโครงการจิตอาสาพระราชทานของส่วนราชการ ประจำเดือนเมษายน ? กันยายน 2566 ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เสนอ
                    สาระสำคัญ
                    สปน. ได้รวบรวมและสรุปผลการดำเนินงานโครงการจิตอาสาพระราชทานโดยมีส่วนราชการรายงานผลการดำเนินการที่สำคัญประจำเดือนเมษายน-กันยายน 2566 สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
                    1. กระทรวงมหาดไทย (มท.) ได้รายงานผลการลงทะเบียนเป็นจิตอาสาพระราชทาน                      (ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2566) โดยมีประชาชนที่ลงทะเบียนเป็นจิตอาสาพระราชทานแล้ว 7,080,217 คน จำแนกตามพื้นที่ (ภูมิลำเนา) เป็นกรุงเทพมหานคร 466,202  คน และส่วนภูมิภาค 6,614,015 คน โดยแบ่งออกเป็น เพศชาย 3,184,695 คน เพศหญิง 3,895,522 คน
                    2. การจัดกิจกรรมจิตอาสาของส่วนราชการต่าง ๆ (20 หน่วยงาน) มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม                  รวมทั้งสิ้น 4,022,309 คน ประกอบด้วย จิตอาสาพัฒนา จิตอาสาภัยพิบัติ จิตอาสาเฉพาะกิจ และวิทยากรจิตอาสา 904 สรุปได้ ดังนี้
การดำนินการ/กิจกรรม          ส่วนราชการ          จำนวน (ครั้ง)
(1) จิตอาสาพัฒนา เช่น การปรับปรุงภูมิทัศน์และทำความสะอาดศาสนสถาน โรงเรียน ชุมชน สถานที่สาธารณะ การบริจาคโลหิตและหน่วยบริการทางการแพทย์เคลื่อนที่ การมอบสิ่งของให้แก่ผู้ยากไร้ ผู้ป่วยติดเตียง คนพิการ และผู้สูงอายุ การพัฒนาแหล่งน้ำปล่อยพันธุ์ปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติ การรณรงค์ให้ความรู้และทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย การจัดอบรมหลักสูตรการพัฒนาในด้านต่าง ๆ เช่น การช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน ฝึกอบรมลูกเสือจิตอาสาพระราชทาน และบริการประชาชน          กระทรวงกลาโหม (กห.) กระทรวงการคลัง  กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) กระทรวง                 การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ มท. กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) กระทรวงแรงงาน (รง.) กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และกรมประชาสัมพันธ์ (กปส.)          55,424

(2) จิตอาสาภัยพิบัติ เช่น การช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยและวาตภัย (มอบถุงยังชีพบริจาคสิ่งของ น้ำดื่ม ติดตั้งเครื่อง               สูบน้ำและทำความสะอาดพื้นที่) การทำฝายชะลอน้ำในพื้นที่ป่าต้นไม้

          กห. พม. ทส. มท. วธ. สธ. และ ตช.
          7,599
(3) จิตอาสาเฉพาะกิจ เช่น การอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่เข้าร่วมรับเสด็จ              พระบรมว่งศานุวงศ์ การจัดเตรียมสถานที่และร่วมพิธีเนื่องในวันสำคัญ การทำกิจกรรมถวายเป็นพระราชกุศล
          กห. กต. กก. กษ. ทส. มท. ยธ. รง. และ วธ.
          1,809

(4) วิทยากรจิตอาสา 904 โดยเป็นการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับบทบาท หน้าที่ และกิจกรรมจิตอาสา สถาบันพระมหากษัตริย์กับประเทศไทย โครงการจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริและพระราชกรณียกิจ
          กห. พม. ทส. ยธ. วธ. ศธ. สธ. อก. ตช. และ กปส.
          72

                    3. สปน. ได้ดำเนินการติดตามความก้าวหน้าโครงการในภารกิจของศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน (ศอญ. จอส. พระราชทาน) โดยการลงพื้นที่และรวบรวมรายงานผลการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
                              3.1 เข้าร่วมการประชุมติดตามงานประจำสัปดาห์ร่วมกับ ศอญ. จอส. พระราชทาน พร้อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวม 17 ครั้ง ประกอบด้วย (1) รับทราบสถานการณ์ในภาพรวม เช่น สภาพอากาศ สาธารณภัยที่สำคัญ สถานการณ์แผ่นดินไหวสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 เหตุระเบิดภายในโรงเก็บประทัดพื้นที่บ้าน    มูโนะ การเตรียมความพร้อมและการช่วยเหลือประชาชนที่เกิดเหตุอุทกภัย การดำเนินงานโครงการที่สำคัญ และกิจกรรมจิตอาสาพระราชทาน รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ภารกิจจิตอาสาผ่านช่องทางต่าง ๆ และ (2) รายงานผลการดำเนินการกิจกรรมจิตอาสาของหน่วยงานภาครัฐ เช่น การลงพื้นที่ การจัดกิจกรรมและการประสานหน่วยงานสนับสนุนข้าราชการปฏิบัติงาน ณ ศอญ. จอส. พระราชทานและขอความร่วมมือหน่วยงานจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่กิจกรรมงานจิตอาสาผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย (TIKTOK)
                              3.2 ลงพื้นที่ติดตามความต่อเนื่องของโครงการจิตอาสาพระราชทาน เช่น
                                        (1) การพัฒนาพื้นที่เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี ในประเด็นสำคัญ เช่น โครงการ              โซล่าร์ฟาร์ม โครงการพัฒนาบ่อน้ำบาดาล โครงการก่อสร้างธนาคารน้ำ และโครงการพัฒนาน้ำอุปโภคและบริโภค โดยมีข้อเสนอแนะให้หน่วยงานภาครัฐบูรณาการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และนวัตกรรมการบริหารจัดการน้ำจากภาคเอกชน การเพิ่มพื้นที่สีเขียว การจัดทำแผนบำรุงรักษาอาคารสถานที่ ตลอดจนอุปกรณ์ที่จำเป็นในพื้นที่เกาะสีชัง เพื่อให้ทิศทางการพัฒนาให้สอดคล้องกันในทุกภาคส่วน
                                        (2) การพัฒนาคลองแสนแสบ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน (งานติดตั้งโคมไฟริมคลองแสนแสบแล้วเสร็จ จำนวน 151 โคม งานปรับเชิงลาดสะพานแล้วเสร็จ จำนวน 8 แห่ง) การจัดกิจกรรมพัฒนาฟื้นฟูคลองแสนแสบ (จัดการขยะอย่างเร่งด่วน ปรับปรุงภูมิทัศน์ริมคลอง ซ่อมแซมทางเดินเท้า และปลูกต้นไม้ริมคลอง) การแก้ไขปัญหามลภาวะและคุณภาพน้ำ  (ติดตั้งถังดักไขมันระดับครัวเรือน จำนวน 1,502 ถัง) โดยมีข้อเสนอแนะให้มีการปรับปรุงภูมิทัศน์และพื้นฟูสภาพแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนกำหนดเส้นทางท่องเที่ยว เชื่อมต่อระหว่างคลองโอ่งอ่าง คลองบางลำพู คลองหลอด เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน
                                        (3) โครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง โดยสามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน 105,120 ลูกบาศก์เมตรต่อปี และส่งน้ำผ่านระบบท่อกระจายน้ำครอบคลุมพื้นที่ 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านเกาะแกง บ้านบางพลอย และบ้านเกาะนางทอง ประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์ จำนวน 529 ครัวเรือน (1,828 คน)
                                        (4) โครงการพัฒนาคลองเปรมประชากรตามแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานระบบคลองและการพัฒนาชุมชนริมคลองเปรมประชากร กรุงเทพมหานคร ดำเนินการได้ จำนวน 1,318 ครัวเรือน                  คิดเป็นร้อยละ 20.64 โดยรังวัดที่ดินจัดให้เช่าแล้ว 17 สหกรณ์ (20 ชุมชน) รื้อย้ายบ้านและปรับระบบสาธารณูปโภค จำนวน 1,121 หลัง และก่อสร้างบ้าน จำนวน 1,317  ครัวเรือน
                                        (5) โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำบึงสีไฟ จังหวัดพิจิตร และโครงการพัฒนาและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ โดยมีข้อเสนอแนะให้มีการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ การจัดทำแก้มลิงรับน้ำและการใช้ประโยชน์พื้นที่ภายในบึงและการประสานความร่วมมือภาคเอกชนในการพัฒนา
                                        (6) การพัฒนาสระบ่อดินขาว ณ จังหวัดนครสวรรค์ โดยมีข้อเสนอแนะให้หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนร่วมกันบูรณาการพัฒนาพื้นที่โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งและปรับปรุงข้อมูลพื้นฐาน แผนการพัฒนาผลการดำเนินการโครงการให้เป็นปัจจุบัน รวมทั้งให้ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชนตามแนวทางเศรษฐกิจใหม่ Bio Circular Green Economy และส่งเสริมการประกอบอาชีพอื่น ๆ นอกเหนือจากอาชีพเกษตรกรรม
                              3.3 จัดกิจกรรมและสนับสนุนการดำเนินงานจิตอาสา เช่น บรรยายให้ความรู้และ                ฝึกปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน และการใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED) กิจกรรมศูนย์อาชีวะช่วยประชาชน (Fix it Center) ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำลงสู่ทะเล จำนวน 200,000 ตัว การสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนากระบวนการติดตามผลการดำเนินงานขับเคลื่อนจิตอาสาของหน่วยงานภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2566 จำนวน 20 กระทรวง 3 กรม เข้าร่วมโครงการเพื่อซักซ้อมและทำความเข้าใจ                  การรายงานผลการดำเนินงานกิจกรรมจิตอาสาผ่านระบบ OPM e-form ให้แก่ส่วนราชการเพื่อนำมาพัฒนาระบบการรายงานผลกิจกรรมจิตอาสาต่อไป
ทั้งนี้ สปน. จะได้ประสานการดำเนินการในการจัดกิจกรรมจิตอาสาของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้เกิดความรู้รัก สามัคคี เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ชุมซน สังคม และประเทศชาติโดยรวมอย่างต่อเนื่องต่อไป

7. เรื่อง รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนตุลาคม 2566 และรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2566 และแนวโน้มปี 2567
                    คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนตุลาคม 2566 และรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2566 และแนวโน้มปี 2567  ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ดังนี้
                    สาระสำคัญ
                     ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเดือนตุลาคม 2566 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) หดตัวร้อยละ 4.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ปัจจัยหลักมาจากการลดลงของสินค้าส่งออกในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ เครื่องปรับอากาศ เสื้อผ้าสำเร็จรูป อาหารทะเลแช่เย็น รองลงมาเป็นกลุ่มสินค้ารถยนต์ มอเตอร์ไฟฟ้า อาหารสัตว์สำเร็จรูป บรรจุภัณฑ์พลาสติก และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง
                    อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI เดือนตุลาคม 2566 หดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คือ
                    1. รถยนต์ หดตัวร้อยละ 7.43 จากรถบรรทุกปิคอัพ และรถยนต์นั่งขนาดเล็กเป็นหลัก  ตามการชะลอตัวของตลาดรถยนต์ในประเทศ ผลจากความเปราะบางด้านรายได้และหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงทำให้สถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจซื้อรถยนต์เนื่องจากรอโปรโมชั่นและส่วนลดในงาน Motor Expo 2023 ในระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน ถึง 11 ธันวาคม 2566
                    2. ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ หดตัวร้อยละ 17.48 จากทิศทางของตลาดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์โลกที่ชะลอตัว ทำให้ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมต่อเนื่องชะลอคำสั่งซื้อหรือปรับแผนการลงทุน
                    3. คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง หดตัวร้อยละ 32.89 จาก Hard Disk Drive และ Printer                 ตามความต้องการใช้งานที่ลดลงจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลที่มีพื้นที่จัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ขึ้นและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น
                    อุตสาหกรรมสำคัญที่ยังขยายตัวในเดือนตุลาคม 2566 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน
                    1. ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ขยายตัวร้อยละ 22.48 จากน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว                     แก๊สโซฮอล์ 95 แก๊สโซฮอล์ 91 และน้ำมันเครื่องบินเป็นหลัก เนื่องจากในปีก่อนมีการหยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่นของผู้ผลิตบางราย และจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง
                    2. พลาสติกและยางสังเคราะห์ขั้นต้น ขยายตัวร้อยละ 12.49 จาก Polyethylene resin, Ethylene, Propylene และ Toluene เป็นหลัก เนื่องจากในปีก่อนมีการหยุดซ่อมบำรุงต่อเนื่องและความต้องการของลูกค้าลดลง
                    สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย ปี 2566 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI)  คาดว่าจะลดลงร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นไปตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่ส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานในวงกว้าง ตลอดจนราคาพลังงานและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงทำให้การบริโภคและการลงทุนลดลง ทั้งนี้ อุตสาหกรรมสำคัญที่ชะลอตัวในปี 2566 อาทิ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง ภาวะการผลิตปรับตัวลดลงในสินค้า Hard Disk Drive และ Printer เป็นหลัก จากการที่ผู้ผลิตปรับลดแผนการผลิตจากอุปสงค์ที่ชะลอตัวต่อเนื่อง ด้วยผลกระทบจาก    ภาวะเศรษฐกิจโลก ส่วน Printer ลดลงจากปีก่อน เนื่องจากได้รับคำสั่งให้ผลิตสินค้าแทนสาขาเวียดนามที่ไม่สามารถผลิตสินค้าได้  เฟอร์นิเจอร์ ภาวะการผลิตลดลงจากสินค้าเครื่องเรือนทำด้วยไม้และเครื่องเรือนทำด้วยโลหะ เป็นหลัก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ส่งผลให้หลายบริษัทได้รับคำสั่งซื้อลดลง เหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน ภาวะการผลิตลดลงจากเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน เหล็กแผ่นรีดเย็น และ เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ เป็นหลัก โดยลูกค้าปรับลดคำสั่งซื้อเพื่อรอดูทิศทางราคาเหล็ก ตลอดจนมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศมากขึ้น สำหรับ อุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวในปี 2566 อาทิ ยานยนต์ ภาวะการผลิตเพิ่มขึ้นจากรถยนต์นั่งขนาดเล็ก และรถยนต์นั่งขนาดกลาง เป็นหลัก ตามตลาดส่งออกที่ขยายตัว น้ำมันแก๊สโซฮอล์ และน้ำมันเครื่องบิน  เป็นหลัก เป็นผลจากกิจกรรมการเดินทางในประเทศเพิ่มขึ้น น้ำตาล เพิ่มขึ้นจากน้ำตาลทรายขาว และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ เป็นหลัก เป็นไปตามความต้องการบริโภคที่ขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก
                    แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2567 ประมาณการดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI)                     ปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 2.0 ? 3.0 โดยมีปัจจัยสนับสนุน (1) การค้าระหว่างประเทศของไทยกับคู่ค้าหลักมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัว (2) ประเทศเศรษฐกิจหลักมีแนวโน้มชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย   (3) ภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการยังคงมีทิศทางขยายตัว (4) การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง (5) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและบรรเทาค่าครองชีพของภาครัฐ ที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ปัจจัยเฝ้าระวัง โดยที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกชะลอตัวยาวนานและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ อาจกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานเป็นวงกว้าง อีกทั้ง ต้นทุนการผลิต                   ค่าครองชีพ หนี้สินภาคธุรกิจและครัวเรือนอยู่ในระดับสูง เนื่องจากระดับราคาพลังงาน อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงอาจเป็นปัจจัยกดดันภาคการผลิตและกำลังซื้อผู้บริโภค นอกจากนี้ ความผันผวนของค่าเงินและปรากฏการณ์เอลนีโญ ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามในระยะต่อไปได้

8. เรื่อง รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานและผลการทบทวนมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทยปี พ.ศ. 2561-2570 ระยะครึ่งแผน
          คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ดังนี้
          1. รับทราบรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานภายใต้มาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี พ.ศ. 2561-2570 ระยะครึ่งแผน พร้อมทั้งปัญหาและอุปสรรค ในรอบปี 2565
          2. รับทราบผลการทบทวนมาตรการฯ ระยะครึ่งแผน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนมาตรการฯ ในระยะต่อไป
          สาระสำคัญ
          กระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะหน่วยงานผลักดันมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย                      ปี พ.ศ. 2561-2570 ได้ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานจากหน่วยงานร่วมบูรณาการภายใต้มาตรการฯ รวมทั้งจัดการประชุมหารือเครือข่ายความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อน Bio Hub Thailand เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2566 และจัดการประชุมกลุ่มย่อยเพื่อทบทวนมาตรการฯ ระยะครึ่งแผน เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2566 ในการนี้ จึงขอเสนอรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานภายใต้มาตรการฯ ปัญหาและอุปสรรค ในรอบปี 2565 รวมทั้งผลการทบทวนมาตรการฯ ระยะครึ่งแผน ซึ่งมีสรุปสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้
          1. รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานภายใต้มาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย                 ปี พ.ศ. 2561-2570 ในรอบปี 2565 ประกอบด้วย 4 มาตรการย่อย ดังนี้
                    1.1 มาตรการขจัดอุปสรรคการลงทุนและสร้างปัจจัยสนับสนุน มีผลการดำเนินงาน ดังนี้
                              1) สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ปรับปรุงพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2565 ทำให้สามารถนำน้ำอ้อยไปผลิตสินค้าชนิดอื่นที่ไม่ใช่น้ำตาลทรายได้ และจัดสรรวัตถุดิบ (น้ำอ้อย) ได้อย่างเพียงพอและเหมาะสมกับอุตสาหกรรมชีวภาพมากขึ้น
                              2) กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ปรับปรุงแก้ไขผังเมืองรวมตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 เพื่อสนับสนุนการประกอบกิจการอุตสาหกรรมชีวภาพในพื้นที่ที่เหมาะสมหรือมีศักยภาพ ได้แก่ พื้นที่ตำบลหนองโพ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดลพบุรี
                              3) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ผลักดันภาคเกษตรสู่การทำเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) อาทิ ระบบแผนที่การเกษตร (Agri-map) การทำเกษตรแม่นยำ (Precision Farming) การเชื่อมโยงระบบชลประทาน รวมถึงการบริหารจัดการภาคเกษตรเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ โดยกรมพัฒนาที่ดิน ได้วางแผนการใช้ที่ดินตามความเหมาะสมของดินสำหรับการปลูกพืชเศรษฐกิจ ทำให้วางแผนการผลิตพืชได้สอดคล้องกับพื้นที่ผ่าน                     แอปพลิเคชัน เช่น Agri-Map, LDD On Farm ซึ่งเป็นพื้นฐานสู่ Smart Farming โดยมีผลการดำเนินงาน รวมทั้งสิ้น 77,472 ไร่ รวมทั้งกรมวิชาการเกษตร วิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชเศรษฐกิจ ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และพืชตระกูลถั่ว ส่วนสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ดำเนินโครงการนำร่องเกษตรดิจิทัลด้วยเทคโนโลยี 5G โดยวางโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสู่พื้นที่ห่างไกล ใช้อุปกรณ์ IoT Smart Farm สำหรับควบคุมการให้น้ำบนพื้นที่ไหล่เขา และใช้ซอฟต์แวร์ iFarm เพื่อควบคุมอุปกรณ์การรดน้ำและพัดลมในโรงเรือน EVAP พร้อมระบบการวัดและจัดเก็บข้อมูลเพื่อรองรับงานวิจัย นอกจากนี้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ผลักดันการใช้เทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการทำเกษตรอัจฉริยะ โดยมีผู้ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมทั้งสิ้น 160 คน
                              4) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้สนับสนุนศูนย์สัตว์ทดลองที่มีความพร้อมในการขอมาตรฐานหลักปฏิบัติที่ดีทางห้องปฏิบัติการขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD GLP) และพัฒนามาตรฐานผู้ตรวจประเมิน โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ตรวจสอบและขึ้นทะเบียนหน่วยงานศึกษาวิจัย/พัฒนาที่สอดคล้องตามมาตรฐาน OECD GLP จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (Toxicity Study) และศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากนี้ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ขยายขอบข่ายผลิตภัณฑ์เพื่อรับรองตามมาตรฐาน OECD GLP ได้แก่ Industrial Chemicals Products Household Products Novel Food และ Chemical Substance โดยได้รับการรับรองเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2565
                    1.2 มาตรการเร่งรัดการลงทุนภายในประเทศ กำหนดตัวชี้วัดด้านการลงทุนตามมาตรการฯ คือ เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพในประเทศ อย่างน้อย 190,000 ล้านบาท ปัจจุบันมีความก้าวหน้าการลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพในพื้นที่ที่มีศักยภาพ (Bio Hubs) รวมทั้งสิ้น 28,440 ล้านบาท โดยมูลค่าการลงทุนที่คาดว่าจะเกิดขึ้น รวมทั้งสิ้น 153,340 ล้านบาท ซึ่งมีผลการดำเนินงาน ดังนี้
                              1) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ส่งเสริมการลงทุนในกิจการที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมฐานชีวภาพ เช่น เทคโนโลยีชีวภาพ ผลิตเชื้อเพลิงจากผลผลิตการเกษตร ผลิตเคมีชีวภาพหรือพลาสติกชีวภาพ รวมทั้งพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ สำหรับสถิติการอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนปี 2565 มีโครงการในอุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ รวมถึงกิจการที่พัฒนาเทคโนโลยี ชีวภาพ ได้รับการส่งเสริม รวมทั้งสิ้น 211 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 62,572 ล้านบาท
                              2) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพในพื้นที่ EEC รวมทั้งกิจกรรมส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพร่วมกับหน่วยงานต่างประเทศ เช่น Osaka City และองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) สมาคมฟรอนโฮเฟอร์ ประเทศเยอรมนี รวมทั้งประกาศเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เป็นหน่วยงานขับเคลื่อน Innovation Platform ซึ่งได้ก่อสร้างโรงเรือนปลูกพืช ในระยะที่ 1 (เปิดให้บริการแล้ว) และจัดตั้งโรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี (ดำเนินการก่อสร้างอาคาร/ออกแบบโรงงานต้นแบบ)
                              3) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มุ่งเน้นการเพิ่มมูลค่าการลงทุนใน EEC โดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับอุตสาหกรรมชีวภาพ ประกอบด้วย (1) โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นสูงและอุตสาหกรรมชีวภาพ มีความคืบหน้าร้อยละ 36.85 และ                (2) โครงการนิคมอุตสาหกรรม Smart Park ซึ่งเป็นต้นแบบการพัฒนาเชิงนิเวศและนวัตกรรม มีความคืบหน้า                 ร้อยละ 44.16
                              4) โครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ (Nakhonsawan BioComplex: NBC) มูลค่าการลงทุน 41,000 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ตำบลหนองโพ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ดำเนินการโดยบริษัท จีจีซี เคทิส ไบโออินดัส             เทรียล จำกัด (GKBI) ขณะนี้ระยะที่ 1 มูลค่า 7,500 ล้านบาท ได้ก่อสร้างโรงหีบอ้อย กำลังการผลิต 24,000 ตันต่อวัน โรงงาน  เอทานอล กำลังการผลิต 600,000 ลิตรต่อวัน และโรงงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลและไอน้ำความดันสูง กำลังการผลิตติดตั้งไฟฟ้า 85 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 475 ตันต่อชั่วโมง ซึ่งผลิตเชิงพาณิชย์แล้ว ส่วนโครงการระยะที่ 2 มูลค่า 21,430 ล้านบาท GKBI และบริษัท เนเชอร์เวิร์ค เอเซีย แปซิฟิก จำกัด ได้ลงนามสัญญาซื้อขายระบบสาธารณูปโภคสำหรับ NBC ระยะที่ 2 มูลค่าโครงการ 1,430 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเดินเครื่องจักรเชิงพาณิชย์ในปี 2567 รวมทั้งบริษัท Natureworks LLC ได้ลงทุนโครงการโรงงานพลาสติกชีวภาพ PLA แห่งที่ 2 โดยใช้น้ำตาลจากอ้อยเป็นวัตถุดิบหลักเพื่อผลิต Lactic Acid สำหรับผลิต PLA ที่กำลังการผลิต 75,000 ตันต่อปี มีมูลค่าการลงทุนมากกว่า 20,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2567
                              5) โครงการนิคมอุตสาหกรรม Bioeconomy มูลค่าการลงทุน 29,705 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ดำเนินการโดยบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด อยู่ในระหว่างการพิจารณาขยายการลงทุนเพื่อต่อยอดอุตสาหกรรมเดิม จากการผลิตเอทานอลไปสู่สินค้ามูลค่าเพิ่ม เช่น น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพ (Biojet Fuels) ในพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ และอำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ สารอินทรีย์คุณภาพสูง ในพื้นที่อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ
                              6) โครงการไบโอฮับเอเซีย (Bio Hub Asia) มูลค่าการลงทุน 57,600 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ดำเนินการโดยบริษัท ไบโอแมทลิ้งค์ จำกัด เพื่อพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมเชิงนิเวศอัจฉริยะรองรับโรงงานอุตสาหกรรมเป้าหมาย จำนวน 54 โรงงาน อาทิ พลังงานชีวภาพ Biorefinery เคมีชีวภาพ รวมถึงจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม และการพัฒนาระบบ BioMatLink เพื่อจัดการวัตถุดิบมันสำปะหลังอย่างครบวงจร ซึ่งในปี 2565 มีความก้าวหน้าการลงทุนในระยะที่ 1 มูลค่า 10,000 ล้านบาท โดยร่วมมือกับบริษัทในกลุ่มบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการฯ
                              7) โครงการนิคมอุตสาหกรรมอุบลราชธานี มูลค่าการลงทุน 8,400 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ตำบลนากระแซง และตำบลทุ่งเทิง อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี ดำเนินการโดยบริษัท อุบลราชธานี ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เพื่อพัฒนาพื้นที่และระบบสาธารณูปโภคสำหรับการผลิตอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป เครื่องจักรกลการเกษตร เทคโนโลยีชีวภาพ สมุนไพรและการแพทย์ และอุตสาหกรรมเป้าหมายอื่น รองรับการผลิตอาหารทางการแพทย์และชีวเคมีอินทรีย์ โดยคณะกรรมการผังเมืองแห่งชาติ มีมติเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 เห็นชอบการขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว) เป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทอุตสาหกรรมและคลังสินค้า (สีม่วง) และจังหวัดอุบลราชธานีได้ปิดประกาศเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชนแล้ว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และมีแผนจะก่อสร้างในปี 2567
                              8) โครงการลพบุรีไบโอคอมเพล็กซ์ (Lopburi Bio Complex) มูลค่าการลงทุน 32,000 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ตำบลหนองเมือง และตำบลดอนดึง อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี ดำเนินการโดยบริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาลชาวไร่ จำกัด เพื่อผลิตอุตสาหกรรมที่เน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงด้านการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรและพลังงานทดแทน ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อทำ EIA และทำประชาพิจารณ์ ครั้งที่ 2 แล้ว
                              9) โครงการลงทุนพลาสติกชีวภาพ (Polylactic Acid: PLA) มูลค่าการลงทุน 3,500 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมเอเซีย จังหวัดระยอง ดำเนินการโดยบริษัท โททาล คอร์เบียน พีแอลเอ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อผลิตแลคไทด์ (Lactide) กำลังการผลิต 100,000 ตันต่อปี และผลิตพลาสติกชีวภาพ PLA กำลังการผลิต 75,000 ตันต่อปี ซึ่งผลิตในเชิงพาณิชย์แล้ว และจะขยายกำลังการผลิต Lactic Acid เพิ่มเติมอีกมูลค่า 10,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2566
                              10) โครงการผลิตกรีนดีเซล (Green Diesel) และสารเปลี่ยนสถานะ (Phase Change Material: PCM) มูลค่าการลงทุน 4,600 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ตะวันออก (มาบตาพุด) จังหวัดระยอง ดำเนินการโดยบริษัท อีเอ ไบโอ อินโนเวชั่น จำกัด เพื่อผลิตกรีนดีเซล (Bio Hydrogenated Diesel: BHD) สำหรับใช้เป็นส่วนผสมของน้ำมันดีเซลช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความสะอาดของเครื่องยนต์ และสาร PCM สำหรับใช้ควบคุมอุณหภูมิในวัสดุก่อสร้างอาคารหรือเส้นใยผ้า กำลังการผลิต 130 ตันต่อวัน โดยผลิตเชิงพาณิชย์แล้ว และขยายการลงทุนเพิ่มเติม 1,000 ล้านบาท เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel: SAF) และผลิตภัณฑ์พลอยได้ โดยคาดว่าจะผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2567
                              1.3  มาตรการกระตุ้นอุปสงค์ มีผลการดำเนินงาน ดังนี้
                              1) กรมบัญชีกลาง ออกมาตรการส่งเสริมสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อกำหนดให้พัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตามบัญชีรายชื่อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของกรมควบคุมมลพิษ เป็นพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน
                              2) กรมสรรพากร ออกมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ โดยตราพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 749) พ.ศ. 2565 เพื่อขยายระยะเวลามาตรการภาษีที่กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถหักรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพและได้รับการรับรองผลิตภัณฑ์จากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ได้ 1.25 เท่า สำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายไป ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ครอบคลุมผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ จำนวน 11 ประเภท ได้แก่ ถุงหูหิ้ว ถุงขยะ แก้วพลาสติก จานชามถาดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ช้อนส้อมมีดพลาสติก หลอดพลาสติก ถุงพลาสติกสำหรับเพาะชำ ฟิล์มคลุมหน้าดิน ขวดพลาสติก ฝาแก้วน้ำ และฟิล์มปิดฝาแก้ว
                              3) สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในฐานะผู้ให้การรับรองผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพตามประเภทที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด ได้ออกใบรับรองแล้วจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งสิ้น 102 ใบ รวม 8 บริษัท รวมทั้งออกประกาศ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เรื่องหลักเกณฑ์ และวิธีการออกใบรับรองผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ
                              4) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชีวภาพในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 19 ผลิตภัณฑ์ โดยมีผลการดำเนินงานสะสม รวมทั้งสิ้น 346 มาตรฐาน ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จะจัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชีวภาพเพิ่มเติม จำนวน 32 ผลิตภัณฑ์
                              5) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ส่งเสริมการใช้พลาสติกชีวภาพโดยประชาสัมพันธ์ไปยังเครือข่ายชุมชนชายฝั่งและผู้ประกอบการท่องเที่ยวทางทะเล สนับสนุนให้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ย่อยสลายได้ง่ายตามธรรมชาติ รวมถึงลดและนำกลับมาหมุนเวียนใหม่ เพื่อลดปริมาณขยะและป้องกันการรั่วไหลของขยะจากบนบกสู่ระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง
                              6) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) ยกระดับให้อุทยานแห่งชาติเป็นอุทยานแห่งชาติปลอดขยะ (Zero Waste National Park) รวมถึงให้ความสำคัญกับการจัดการขยะอย่างยั่งยืน รวมถึงให้ร้านค้าในอุทยานแห่งชาติ เลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวงดใช้ภาชนะประเภทโฟม/พลาสติกบรรจุอาหารในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2565
                    1.4 มาตรการสร้างเครือข่ายในรูปแบบของศูนย์กลางความเป็นเลิศด้านชีวภาพ (CoBE) โดยให้สถาบันพลาสติก ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางประสาน เชื่อมโยงและเตรียมความพร้อม ตลอดจนบริหารงานวิจัย/ เทคโนโลยี/ นวัตกรรมด้านชีวภาพ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจชีวภาพ ซึ่งมีผลการดำเนินงาน ดังนี้
                              1) การวิจัยและพัฒนา (R&D) โดยสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงด้านชีวภาพกับหน่วยงานวิจัยและภาคอุตสาหกรรม มีผลการดำเนินงาน ดังนี้
                                        1.1) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ พัฒนาเทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์ (SynBio) ระหว่างภาคีเครือข่าย SynBio รวมทั้งสิ้น 17 หน่วยงาน เพื่อเป็นพื้นฐานของอุตสาหกรรมการผลิตเคมีชีวภาพมูลค่าสูง สำหรับ Nutraceuticals และเครื่องสำอาง พัฒนาเทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรีเพื่อเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร รวมทั้งก่อสร้างโรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี 2567
                                        1.2) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พัฒนาเครือข่ายวิจัย 6 มหาวิทยาลัย เพื่อสนับสนุนการใช้ประโยชน์จุลินทรีย์ท้องถิ่นของผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชน 6 ภูมิภาค 8 จังหวัด เครือข่ายผู้ผลิตและผู้ใช้ประโยชน์เทคโนโลยีจุลินทรีย์สำหรับภาคอุตสาหกรรม 70 แห่ง และภาคีเครือข่ายชีววิทยาสังเคราะห์แห่งประเทศไทย 23 แห่ง โดยในระยะต่อไป จะจัดตั้ง SynBio Academy พัฒนาระบบนิเวศ จัดทำแพลตฟอร์มเทคโนโลยี ตลอดจนขับเคลื่อนการจัดตั้ง National Biofoundry
                                        1.3) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สร้างเครือข่ายพัฒนางานวิจัยที่ตอบรับความต้องการของอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ประกอบด้วยมหาวิทยาลัย/หน่วยงานวิจัย 165 หน่วยงาน ภาคเอกชน 56 หน่วยงาน และหน่วยงานด้านนโยบาย 3 หน่วยงาน ส่งผลให้เกิดข้อเสนอโครงการ รวมทั้งสิ้น 60 โครงการ และได้รับทุนวิจัยในปี 2565 จำนวน 5 โครงการ
                                        1.4) สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่ใช้วัตถุดิบจากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย จำนวน 4 ผลิตภัณฑ์ โดยมีผลการดำเนินงานสะสม รวมทั้งสิ้น 32 ผลิตภัณฑ์ ครอบคลุมผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ เคมีชีวภาพ เวชภัณฑ์/เครื่องสำอาง รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัตถุดิบเหลือทิ้งทางการเกษตร
                                        1.5) สถาบันพลาสติก เชื่อมโยงเครือข่ายงานวิจัยชีวภาพกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) สมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยเชื่อมโยงฐานข้อมูลอุตสาหกรรมชีวภาพ รวมทั้งกำหนดโครงสร้างข้อมูลนำเข้าและส่งออกผลิตภัณฑ์ชีวภาพจากพิกัดศุลกากร
                              2) การพัฒนาต้นแบบ (Prototype)/ การยกระดับสถานประกอบการ (Scale Up) โดยการให้คำปรึกษาและสนับสนุนเงินทุน เพื่อยกระดับสถานประกอบการชีวภาพและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภาพต้นแบบ ซึ่งมีผลการดำเนินงาน ดังนี้
                                        2.1) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สนับสนุนทุนวิจัยเพื่อพัฒนาต้นแบบเทคโนโลยี กระบวนการ/ระบบบริหารจัดการ และผลิตภัณฑ์ชีวภาพ รวมทั้งสิ้น 38 ต้นแบบ โดยพัฒนาระบบต้นแบบและประยุกต์ใช้ผลงานวิจัยในภาคอุตสาหกรรม จำนวน 5 โครงการ
                                        2.2) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ให้บริการทดสอบตามมาตรฐาน OECD-GLP กลุ่มผลิตภัณฑ์ชีวภาพ (Bio-control Products) ซึ่งทำการทดสอบ Inhalation Toxicity Test แห่งเดียวในประเทศไทย รวมทั้งให้คำปรึกษาและร่วมพัฒนากระบวนการผลิตจุลินทรีย์ ตลอดจนร่วมพัฒนากระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากจุลินทรีย์เพื่อใช้ต่อยอดการผลิตสำหรับทดลองตลาด
                                        2.3) สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย จัดตั้งศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพ ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เพื่อเป็นศูนย์วิเคราะห์ ทดสอบและรับรองผลิตภัณฑ์วัสดุชีวภาพด้านกายภาพและความร้อน เคมีและชีวภาพ และวัตถุดิบ พัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภาพต้นแบบสู่เชิงพาณิชย์ จับคู่ธุรกิจแก่ผู้ประกอบการ SMEs และภาครัฐ รวมทั้งบ่มเพาะผู้ประกอบการและพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับอุตสาหกรรมชีวภาพ ตลอดจนบริหารจัดการการลดก๊าซเรือนกระจกในระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย
                                        2.4) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พัฒนาศักยภาพสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมชีวภาพ จำนวน 10 กิจการ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบอุตสาหกรรมชีวภาพ จำนวน 10 ต้นแบบ
                                        2.5) สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ร่วมกับสถาบันพลาสติก ยกระดับผลิตภาพการผลิตของสถานประกอบการด้วยแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ จำนวน 5 กิจการ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภาพต้นแบบ จำนวน 5 ผลิตภัณฑ์
                              3) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยจัดทำหลักสูตรและฝึกอบรมเพื่อสร้างบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญด้านชีวภาพ ซึ่งมีผลการดำเนินงาน ได้แก่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พัฒนาศักยภาพบุคลากรในอุตสาหกรรมชีวภาพ รวมทั้งสิ้น 200 คน สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ รับรองหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรทักษะสูงด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีวิศวกรรมศาสตร์ จำนวน 24 หลักสูตร และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำ 3 หลักสูตรหลัก โดยมีผู้เข้าร่วมอบรม รวมทั้งสิ้น 692 คน
                              4) การพัฒนาศูนย์ข้อมูลอัจฉริยะอุตสาหกรรมชีวภาพ (Bio Intelligence Unit) โดย สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมร่วมกับสถาบันพลาสติก ดำเนินโครงการพัฒนาศูนย์ข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมชีวภาพ เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลในลักษณะ Bio Innovation Linkage ใน 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์เป้าหมาย ได้แก่ พลาสติกชีวภาพ เคมีชีวภาพ และชีวเภสัชภัณฑ์ โดยปรับปรุงฐานข้อมูลเดิม พัฒนาฐานข้อมูลใหม่ ตลอดจนรวบรวมข่าวสารในอุตสาหกรรมชีวภาพ
          2. ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานภายใต้มาตรการฯ ในรอบปี 2565 ประกอบด้วย
                    2.1) ด้านโครงสร้างพื้นฐาน
                              1) ขาดหน่วยงานให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) สำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมชีวภาพอย่างครบวงจร เพื่อทำหน้าที่ให้ข้อมูลและอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนที่เกี่ยวข้อง เช่น การขออนุญาตประกอบกิจการ การยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ การทดสอบและรับรองการย่อยสลายได้ทางชีวภาพ
                              2) การสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงข้อมูลด้านชีวภาพระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใต้การดำเนินงานของ CoBE พบข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์ของข้อมูลและการจัดเก็บข้อมูลในลักษณะแยกส่วนกันของแต่ละหน่วยงาน ทำให้ไม่สามารถรวมข้อมูลด้านชีวภาพไว้ในที่เดียวกันได้
                              3) ห้องปฏิบัติการ (Testing Lab) มีข้อจำกัดในการรับทดสอบผลิตภัณฑ์ที่ต้องใช้สารในกลุ่มสารก่อมะเร็ง คือ การทดสอบความเป็นพิษของสารพันธุกรรม และขาดงบประมาณเพื่อดูแลบำรุงรักษาเครื่องมือตามข้อกำหนดของ OECD-GLP
                    2.2) ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ พบว่าแรงงานในอุตสาหกรรมชีวภาพมีทักษะเฉพาะด้านไม่เพียงพอ นอกจากนี้ ในสาขาพยาธิชีววิทยา ขาดสัตวแพทย์ที่เชี่ยวชาญเพื่อการประเมินความผิดปกติของเนื้อเยื่อ/อวัยวะ สำหรับการทดสอบการปลูกถ่าย (Implantation) และการเป็นพิษแบบกึ่งเรื้อรัง (Subchronic Toxicity) ตามมาตรฐาน OECD GLP
                    2.3) ด้านการเพิ่มผลิตภาพ เทคโนโลยี วิจัย นวัตกรรม ระบบโลจิสติกส์ และการมาตรฐาน
                              1) การบริหารจัดการวัตถุดิบและปัจจัยการผลิตในอุตสาหกรรมชีวภาพไม่เป็นระบบและมีประสิทธิภาพเพียงพอ ทำให้ขาดเสถียรภาพทั้งในเชิงปริมาณและต้นทุนราคา รวมถึงปัญหาด้านต้นทุนราคาปุ๋ยและยาที่ใช้ในภาคการเกษตร และต้นทุนด้านพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งปัญหาด้านระบบโลจิสติกส์และการขนส่งวัตถุดิบจากภาคเกษตรสู่กระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมชีวภาพ
                              2) ขาดการศึกษาและจัดทำระบบประเมินวัฏจักรชีวิต (Life Cycle Assessment: LCA) ตลอดห่วงโซ่อุปทานการผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพในประเทศไทย ตั้งแต่วัตถุดิบทางการเกษตรขั้นต้นจนถึงกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ขั้นปลาย เพื่อใช้ประโยชน์ในการต่อยอดการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงปรับปรุงกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยสู่ Carbon Neutrality
                              3) ขาดระบบชลประทานที่ดึงน้ำต้นทุนเข้าสู่บ่อเก็บในพื้นที่การเกษตรเพื่อกระจายน้ำให้แก่เกษตรกร โดยควรเร่งผลักดันนโยบายการรวมแปลงเพาะปลูกของเกษตรกร รวมทั้งพัฒนาระบบชลประทานในพื้นที่ใกล้เคียงกับ Bio Hubs เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งและแก้ไขปัญหาวัตถุดิบทางการเกษตรขาดแคลนและไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะต่อยอดการพัฒนาสู่ระบบเกษตรแปลงใหญ่และนำเทคโนโลยีมาช่วยเกษตรกรได้ในอนาคต
                              4) การให้บริการทดสอบตามมาตรฐาน OECD-GLP กลุ่มผลิตภัณฑ์ชีวภาพ รวมถึงการทดสอบ Inhalation Toxicity Test โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ได้รับการประชาสัมพันธ์ไม่เพียงพอ ทำให้มีผู้ประกอบการมาใช้บริการไม่มากนัก
                              5) มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชีวภาพไม่ครบถ้วนและครอบคลุมประเภทผลิตภัณฑ์ชีวภาพทั้งหมดที่มีการผลิตอยู่ในประเทศไทย เช่น ผลิตภัณฑ์กระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพ Fiber-based Products
                              2.4) ด้านกฎหมายและกฎระเบียบ รวมทั้งมาตรการส่งเสริม/สนับสนุนจากภาครัฐ
                              1) การปรับแก้กฎหมายผังเมือง โดยปรับสีผังเมืองในพื้นที่ Bio Hubs จากพื้นที่สีเขียวเป็นสีม่วง ต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการ และไม่ครอบคลุม/สอดรับกับทุกพื้นที่ที่มีการลงทุนดังกล่าว เช่น พื้นที่โครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ (NBC) ที่ไม่มีการดำเนินการแก้ไขผังเมืองรวม จังหวัดนครสวรรค์ โดยเพิ่มลำดับโรงงานที่ 42(2) การเก็บรักษา ลำเลียง แยก คัดเลือก หรือแบ่งบรรจุเฉพาะเคมีภัณฑ์อันตราย ไว้ในแนบท้ายผังเมืองรวม ส่งผลให้พื้นที่บางส่วนที่อยู่ติดกับโครงการ NBC ระยะที่ 1 และ 2 ซึ่งเป็นพื้นที่สีเขียว รวมทั้งเป็นพื้นที่บริเวณใจกลางแหล่งวัตถุดิบ ไม่สามารถตั้งโรงงานในพื้นที่ดังกล่าวได้
                              2) ประเภทหรือชนิดของโรงงานตามกฎกระทรวงกำหนด ประเภท ชนิด และขนาดของโรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 ไม่ชัดเจนและครบถ้วน ทำให้การจัดทำร่างผังเมืองรวม (บัญชีแนบท้ายกฎกระทรวง) ไม่ครอบคลุมประเภทหรือชนิดของโรงงานที่เกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของประเทศไทยทั้งระบบ
                              3) กรมสรรพสามิต อยู่ระหว่างการทบทวนมาตรการเพื่อสนับสนุนให้นำเอทานอลไปผลิตผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพ (Bio-based Product) ได้ โดยกำหนดให้จะต้องใช้เอทานอลที่ผลิตในประเทศก่อนเป็นลำดับแรก ซึ่งจะออกกฎหมายและแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น การอนุญาตให้ผู้รับใบอนุญาตผลิตสุรากลั่นชนิดเอทานอลสามารถนำเอทานอลไปจำหน่ายให้กับอุตสาหกรรมอื่น ทำให้ขณะนี้ผู้ผลิตไม่สามารถขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ และอุตสาหกรรมอื่นที่ต่อยอดจากการนำเอทานอลไปเป็นส่วนประกอบเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าเพิ่มสูงได้ เนื่องจากผู้ผลิตจะต้องแปลงสภาพเอทานอลก่อนจำหน่าย
                              4) มาตรการส่งเสริมผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ที่ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลยื่นขอยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นจำนวนร้อยละ 125 (1.25 เท่า) สำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ไม่จูงใจเพียงพอในการกระตุ้นอุปสงค์การใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ รวมทั้งควรเพิ่มประเภทผลิตภัณฑ์กระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพ เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ และพิจารณาจัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเพิ่มเติมด้วย
                              5) รูปแบบการให้สิทธิประโยชน์การลงทุนเป็นรายโครงการย่อย อาจไม่สนับสนุนและจูงใจให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพที่เห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน จึงควรพิจารณาการให้สิทธิประโยชน์สำหรับโครงการขนาดใหญ่ในลักษณะครบวงจร (Complex) เพื่อส่งเสริมการลงทุนให้ครอบคลุมกิจกรรมการลงทุนที่ต่อเนื่องและเชื่อมโยงกันในพื้นที่ที่มีศักยภาพในระยะต่อไปด้วย
                              6) ขาดข้อกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosafety) และความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) ซึ่งเป็นประเด็นที่ส่งผลต่อการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ และควบคุมดูแลให้กิจการที่ใช้จุลินทรีย์ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
                    2.5 ด้านการกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ การสร้างตลาด และประชาสัมพันธ์
                              1) ต้นทุนด้านราคาของเม็ดพลาสติกชีวภาพสูงกว่าเม็ดพลาสติกทั่วไป ทำให้เป็นข้อจำกัดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ และแม้ว่าการใช้เม็ดพลาสติกชีวภาพจะก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการผลิต แต่เป็นการเพิ่มต้นทุนของผู้ประกอบการ ส่งผลให้ราคาผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพสูงกว่าผลิตภัณฑ์พลาสติกทั่วไป
                              2) ควรมีตราสัญลักษณ์กลางของประเทศสำหรับผลิตภัณฑ์พลาสติกที่สลายตัวได้ทางชีวภาพ (Compostable Bioplastics Label) เพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้บริโภคและกระตุ้นอุปสงค์ต่อการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว รวมทั้งช่วยแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการหลังการใช้งาน เช่น การคัดแยกและการกำจัดขยะพลาสติก ตลอดจนก่อให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพและมูลค่าเพิ่มในกระบวนการรีไซเคิลขยะพลาสติก
                              3) การรณรงค์และประชาสัมพันธ์แก่ผู้บริโภคภายในประเทศเรื่องผลิตภัณฑ์ชีวภาพ อยู่ในวงจำกัดและไม่ครอบคลุมทั่วถึง ทำให้ไม่ส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ
          3. ผลการทบทวนมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี พ.ศ. 2561-2570 ระยะครึ่งแผน ประกอบด้วยประเด็นสำคัญ ดังนี้
                    3.1 ด้านโครงสร้างพื้นฐาน
                              1) ยกระดับและขยายบทบาทของสถาบันพลาสติกให้ครอบคลุมการสนับสนุนและส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพ โดยทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางความเป็นเลิศด้านชีวภาพ (CoBE) ที่ให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) และอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมชีวภาพอย่างครบวงจร ทั้งในด้านการเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลสารสนเทศ การให้คำปรึกษาด้านการลงทุน การขออนุญาตประกอบกิจการ การให้บริการทดสอบและรับรองตามมาตรฐานต่าง ๆ และการยื่นขอรับสิทธิประโยชน์/การลดหย่อนภาษีที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประสานการแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบกิจการในอุตสาหกรรมชีวภาพ
                              2) สร้างเครือข่ายวิสาหกิจ/คลัสเตอร์ เพื่อเชื่อมโยงการพัฒนาตลอดห่วงโซ่อุปทานการผลิตอุตสาหกรรมชีวภาพ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมชีวภาพ
                              3) พัฒนาห้องปฏิบัติการและห้องทดสอบให้มีศักยภาพตามมาตรฐานสากล และดำเนินการได้อย่างครอบคลุมและสอดคล้องตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งจัดหาวัสดุอุปกรณ์และเครื่องมือให้เพียงพอ ตลอดจนดูแลและบำรุงรักษาให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
                    3.2 ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
                              1) พัฒนาและเพิ่มบุคลากรและนักวิจัยตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม เช่น สาขาวิศวกรรมชีวกระบวนการ (Bioprocess Engineering) ซึ่งเป็นทักษะที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการเร่งด่วน
                              2) ปรับปรุงและเพิ่มเติมหลักสูตรด้านชีวภาพในสถาบันการศึกษา ให้ครอบคลุมและสอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม
                              3) สนับสนุนการฝึกอบรมบุคลากรด้านชีวภาพ ด้วยมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ/มาตรการทางภาษี เพื่ออุดหนุน/หักลดหย่อนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน รวมทั้งจัดฝึกอบรมด้านชีวภาพให้แก่ผู้ประกอบการโดยหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
                    3.3 ด้านการเพิ่มผลิตภาพ เทคโนโลยี วิจัย นวัตกรรม ระบบโลจิสติกส์ และการมาตรฐาน
                              1) เพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพ (Productivity) ในกระบวนการผลิตอุตสาหกรรมชีวภาพ ทั้งด้านแรงงาน เครื่องจักร ระบบโลจิสติกส์ รวมทั้งการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและดิจิทัลในการผลิต การวิจัยและพัฒนา ตลอดจนการพัฒนานวัตกรรม เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการอุตสาหกรรมชีวภาพ
                              2) พัฒนาระบบบริหารจัดการวัตถุดิบทางการเกษตรสำหรับอุตสาหกรรมชีวภาพให้มีเสถียรภาพและสอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพระบบโลจิสติกส์และการขนส่งวัตถุดิบสู่การผลิตอุตสาหกรรมชีวภาพ
                              3) พัฒนาระบบชลประทานเพื่อดึงน้ำต้นทุนเข้าสู่บ่อเก็บในพื้นที่การเกษตรเพื่อกระจายน้ำให้แก่เกษตรกร โดยเร่งผลักดันนโยบายการรวมแปลงเพาะปลูกของเกษตรกร รวมทั้งพัฒนาระบบชลประทานเชื่อมโยงพื้นที่ Bio Hubs เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ตลอดจนพัฒนาระบบเกษตรแปลงใหญ่ สู่รากฐานการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพครบวงจร
                              4) จัดทำระบบฐานข้อมูลการประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ชีวภาพ (Bio LCA) ตลอดห่วงโซ่อุปทานการผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพในประเทศไทย ตั้งแต่วัตถุดิบทางการเกษตรขั้นต้นจนถึงผลิตภัณฑ์ชีวภาพขั้นปลาย เพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และปรับปรุงกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
                              5) จัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชีวภาพให้ครบถ้วนและครอบคลุมตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยเพิ่มเติมผลิตภัณฑ์กระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพและ Fiber-based Products นอกจากนี้ ควรส่งเสริมการจัดทำมาตรฐานความยั่งยืน (Sustainable Standard) ในวัตถุดิบทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์ชีวภาพ
                    3.4 ด้านกฎหมายและกฎระเบียบ รวมทั้งมาตรการส่งเสริม/สนับสนุนจากภาครัฐ
                              1) พิจารณาปรับผังเมืองในพื้นที่ที่มีศักยภาพสำหรับการลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพ (Bio Hubs) ตามความเหมาะสมของพื้นที่ โดยควรแบ่งเขตพื้นที่ (Zoning) แต่ละประเภทให้ชัดเจน และหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในรายละเอียดตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นโครงการ รวมทั้งคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติ ตลอดจนชุมชนโดยรอบพื้นที่ ทั้งนี้ ควรพิจารณาปรับปรุงประเภทหรือชนิดของโรงงานตามกฎกระทรวงกำหนด ประเภท ชนิด และขนาดของโรงงาน ให้ชัดเจนและครบถ้วนมากขึ้น เพื่อให้การร่างผังเมืองรวมครอบคลุมประเภทหรือชนิดของโรงงานที่เกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของประเทศไทยทั้งระบบ
                              2) ปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ โดยเฉพาะเร่งทบทวนมาตรการเพื่อสนับสนุนให้นำเอทานอลไปผลิตผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพและอุตสาหกรรมอื่นที่ต่อยอดจากการนำเอทานอลไปเป็นส่วนประกอบเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าเพิ่มสูงได้
                              3) พิจารณาปรับเพิ่มอัตราการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรการส่งเสริมผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ สำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าว (เดิมร้อยละ 125) ให้จูงใจและกระตุ้นอุปสงค์ในการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพมากขึ้น รวมถึงเพิ่มประเภทผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพให้ครอบคลุมและครบถ้วน เช่น ผลิตภัณฑ์กระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพ
                              4) เพิ่มเติมมาตรการกระตุ้นอุปสงค์ในการใช้ผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพในประเทศเพิ่มเติม เช่น ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงที่ต่อยอดจากเอทานอล อาทิ SAF ไบโอ-เอธทิลีน (Bio-ethylene)
                              5) ส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์กลางการลงทุนอุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจร (Bio Complex) ในพื้นที่ที่มีศักยภาพของประเทศ รวมทั้งพิจารณาเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์การลงทุนในกิจการอุตสาหกรรมชีวภาพ และการให้สิทธิประโยชน์แก่ชุดโครงการขนาดใหญ่ในลักษณะครบวงจร (Complex) เพื่อส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพให้ครอบคลุมกิจกรรมการลงทุนที่ต่อเนื่องและเชื่อมโยงกันในพื้นที่ตลอดห่วงโซ่อุปทาน
                              6) ออกกฎหมายที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพตามมาตรฐานสากล เช่น กฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ และความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งปรับปรุงขั้นตอนการขอประเมินการกล่าวอ้างทางสุขภาพ (Health Claim) ในผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพ
                              7) สนับสนุนเงินทุนด้านการเพิ่มผลิตภาพ การวิจัยและพัฒนา การพัฒนานวัตกรรม การออกแบบผลิตภัณฑ์ การทดสอบและการรับรองมาตรฐาน รวมทั้งการพัฒนาผู้ประกอบการ การยกระดับและสร้างทักษะที่จำเป็น (Upskill and Reskill) ให้แก่บุคลากรและแรงงานในอุตสาหกรรมชีวภาพ ผ่านการใช้งบประมาณจากกองทุนของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เป็นต้น
                    3.5 ด้านการกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ การสร้างตลาด และประชาสัมพันธ์
                              1) ออกมาตรการภาคบังคับและกำหนดสัดส่วนการใช้พลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพในการผลิต เช่น พลาสติกชีวภาพ PLA รวมทั้งกำหนดนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว (Green Procurement) และการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Product) รวมถึงผลิตภัณฑ์ชีวภาพในกิจกรรมของภาครัฐ
                              2) กำหนดและใช้ตราสัญลักษณ์สำหรับผลิตภัณฑ์พลาสติกที่สลายตัวได้ทางชีวภาพ เพื่อกระตุ้นอุปสงค์ต่อการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการขยะพลาสติกภายในประเทศ รวมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มในกระบวนการรีไซเคิลขยะพลาสติก
                              3) รณรงค์และประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้บริโภคภายในประเทศถึงการใช้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งทำความเข้าใจกับชุมชน ประชาชน และ NGOs ในพื้นที่ Bio Hubs เกี่ยวกับประโยชน์ที่จะได้รับจากการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพที่มีความเชื่อมโยงกับภาคเกษตรและก่อให้เกิด                     การกระจายรายได้ในพื้นที่ ซึ่งจะทำให้ภาคอุตสาหกรรมเติบโตไปพร้อมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน

9. เรื่อง รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมประเทศและสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้
                    คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมประเทศและสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ระหว่างวันที่ 1-8 มกราคม 2567 ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เสนอ  และมอบหมายให้หน่วยงานสำรวจความเสียหายและฟื้นฟูให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ภาคใต้ให้เข้าสู่สถานการณ์ปกติโดยเร็ว
                    สาระสำคัญและข้อเท็จจริง
                    สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้บูรณาการข้อมูลที่เกี่ยวข้องและขอสรุปสถานการณ์น้ำ
                    (1) สภาพอากาศและการคาดการณ์ฝน
                    ปัจจุบันพบว่าปรากฏการณ์เอลนีโญกำลังแรง จะอ่อนลงเป็นเอลนีโญกำลังปานกลางและอ่อนกำลังลงอย่างต่อเนื่องในช่วงเดือนพฤษภาคม 2567 ซึ่งช่วงดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยมีผลทำให้ฝนตกน้อยกว่าค่าปกติ (มกราคม - พฤษภาคม 2567)
                    สภาพอากาศ บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางยังคงปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ในขณะที่ ลมฝ่ายตะวันตกในระดับบนพัดปกคลุมภาคเหนือ ทำให้ภาคเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาวในตอนเช้า ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบนยังคงมีอากาศเย็นในตอนเช้า สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยตอนล่างและภาคใต้มีกำลังปานกลาง ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง และเฝ้าระวังปริมาณฝนตกหนักในบางพื้นที่ ช่วงวันที่ 13-15 มกราคม 2567
                    (2) สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ และการคาดการณ์
                              2.1 สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำภาพรวมประเทศ
                              สถานการณ์แหล่งน้ำทั่วประเทศ ปัจจุบัน (ข้อมูลวันที่ 7 มกราคม 2567)  มีปริมาณน้ำ 60,826 ล้านลูกบาศก์เมตร (74 %) น้อยกว่าปี 2566 จำนวน 4,005 ล้านลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำใช้การ 36,613               ล้านลูกบาศก์เมตร (63 %) มีอ่างเก็บน้ำที่ต้องเฝ้าระวังน้ำน้อย (ปริมาณน้ำต่ำกว่าเกณฑ์เก็บกักต่ำสุด (Lower Rule Curve)) 3 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำสิริกิติ์ อ่างเก็บน้ำกระเสียว และอ่างเก็บน้ำคลองสียัด
                              2.2 สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ภาคใต้
                              อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่ภาคให้มี 2 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำรัชชประภา และอ่างเก็บน้ำบางลาง มีปริมาณน้ำรวม 5,609 ล้านลูกบาศก์เมตร (79 %) โดยอ่างเก็บน้ำรัชชประภามีปริมาณน้ำ 4,382                    ล้านลูกบาศก์เมตร (78 %) และอ่างเก็บน้ำบางลาง มีปริมาณน้ำ 1,227 ล้านลูกบาศก์เมตร (84 %)
                              2.3 คาดการณ์อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ภาคใต้
                              อ่างเก็บน้ำบางลาง ความจุ 1,454 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบัน (ข้อมูลวันที่ 8 มกราคม 2567) มีปริมาตรน้ำ 1,227 ล้านลูกบาศก์เมตร (84 %) ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ 12.68 ล้านลูกบาศก์เมตร และระบายน้ำวันละ 12.04 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งคณะทำงานบริหารจัดการน้ำเขื่อนบางลางมีมติให้รักษาการระบายน้ำไว้ที่วันละ 12 ล้านลูกบาศก์เมตรจนกว่าปริมาตรน้ำในเขื่นบางลางลดลงเหลือ 1,200 ล้านลูกบาศก์เมตร จากนั้นกำหนดให้มีการหารือร่วมกันในการปรับลดแผนการระบายน้ำต่อไป
                    (3) สถานการณ์น้ำในลำน้ำและการคาดการณ์
                    สถานการณ์น้ำในลำน้ำสำคัญในจังหวัดชายแดนใต้ แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำสายบุรี คลองตันหยงมัส และแม่น้ำโก-ลก ปัจจุบันระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งอยู่ในเกณฑ์น้ำมาก (ปริมาณน้ำมากกว่า 80 % ของความจุลำน้ำ) และคาดการณ์ 7 วันล่วงหน้าพบว่า แม่น้ำปัตตานี ณ อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี  ระดับน้ำจะเอ่อล้นตลิ่งประมาณ 0.10 เมตรในวันที่ 10 มกราคม 2567 บริเวณบ้านบริดอและพื้นที่ลุ่มต่ำ
                    (4) สถานการณ์น้ำอุทกภัยในพื้นที่
                              (4.1) พื้นที่เสียงน้ำหลากดินถล่ม
                                        ในช่วงวันที่ 1-8 มกราคม 2567 ไม่พบพื้นที่แจ้งอพยพน้ำหลากดินถล่ม
                              (4.2) พื้นที่เกิดอุทกภัย
                                        จากสถานการณ์มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรง ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมบริเวณเกาะสุมาตราและทะเลอันดามันตอนล่าง ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ส่งผลให้เกิดอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ในช่วงวันที่ 1- 8 มกราคม 2567 จำนวน 8 อำเภอ 3 จังหวัด ได้แก่  อ.เมืองปัตตานี อ.หนองจิก จ.ปัตตานี อ.สายบุรี อ.เมืองยะลา อ.รามัน จ.ยะลา และ                   อ.สุไหงปาดี อ.เจาะไอร้อง อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส
                              ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ ร่วมกับ ศอ.บต. กรมชลประทาน การไฟฟ้าผายผลิตแห่งประเทศไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานในพื้นที่ เข้าให้การช่วยเหลือและเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว ซึ่งได้สั่งการเร่งระบายน้ำ และสำรวจฟื้นฟู และเพื่อเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ฝนตกหนักระลอกถัดไปช่วงวันที่ 13-15 มกราคม 2567 ต่อไป

10. เรื่อง แผนปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้า ฉบับที่ 12 ปี 2560 - 2564 (ฉบับปรับปรุง) และโครงการปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้า ระยะที่ 13 ส่วนที่ 1 ของการไฟฟ้านครหลวง
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ดำเนินการตามแผนปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้า ฉบับที่ 12 ปี 2560 - 2564 (แผนฯ ฉบับที่ 12) (ฉบับปรับปรุง) วงเงินลงทุนรวม 73,086.90 ล้านบาท ประกอบด้วย เงินกู้ในประเทศ จำนวน 46,800 ล้านบาท เงินรายได้ของ กฟน. จำนวน 26,206.20 ล้านบาท และเงินอุดหนุนจากรัฐบาล จำนวน 80.70 ล้านบาท และโครงการปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้า ระยะที่ 13 (โครงการฯ ระยะที่ 13) ส่วนที่ 1 วงเงินลงทุนรวม 7,403.50 ล้านบาท ประกอบด้วย เงินกู้ในประเทศ จำนวน 5,600 ล้านบาท และเงินรายได้ของ กฟน. จำนวน 1,803.50 ล้านบาท ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    มท. รายงานว่า
                    1. ปัจจุบัน กฟน. อยู่ระหว่างดำเนินการตามแผนฯ ฉบับที่ 12 วงเงินลงทุนรวม 84,694 ล้านบาท โดยใช้ค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าของคณะอนุกรรมการการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า ฉบับเดือนตุลาคม 2558 ซึ่งคาดว่าความต้องการไฟฟ้าในเขตบริการของ กฟน. (พื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดสมุทรปราการ รวม 3,192 ตารางกิโลเมตร) จะเพิ่มขึ้นประมาณ 1,540 เมกะวัตต์ หรือมีอัตราเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 3.15 ต่อปี อย่างไรก็ตาม ในช่วงปีที่ผ่านมาภาวะเศรษฐกิจของประเทศชะลอตัวลง จึงทำให้ความต้องการไฟฟ้าในเขตพื้นที่ของ กฟน. มีค่าต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ ประกอบกับบางโครงการที่ดำเนินการตามแผนฯ ฉบับที่ 12 ยังไม่แล้วเสร็จ ดังนั้น กฟน. จึงดำเนินการจัดทำแผนฯ ฉบับที่ 12 (ฉบับปรับปรุง) โดยมีการปรับเป้าหมายของขอบเขตการดำเนินงาน เงินลงทุน และระยะเวลาดำเนินการ เพื่อให้มีความสอดคล้องกับปริมาณความต้องการไฟฟ้าที่ลดลง แม้ว่าจะมีจำนวนผู้ใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น และเพื่อรักษาระดับความน่าเชื่อถือของระบบไฟฟ้าของ กฟน.
                    2. กฟน. ได้จัดทำโครงการฯ ระยะที่ 13 เพื่อให้การดำเนินการตามแผนปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้าเป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยมีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2565 - 2570 โดยโครงการฯ ระยะที่ 13 ส่วนที่ 1 มีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับความต้องการไฟฟ้าในช่วงปี 2565 - 2570 เพื่อเสริมความน่าเชื่อถือของระบบไฟฟ้าและเพื่อพัฒนาระบบไฟฟ้าสมัยใหม่ของ กฟน. ให้สามารถรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ รวมทั้งเพื่อตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ ?Innovation for Smart Living and Growth? ของ กฟน. ซึ่งเป็นการใช้ค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าฉบับเดือนกันยายน 2564 ที่คาดว่าความต้องการไฟฟ้าในเขตบริการของ กฟน. จะเพิ่มขึ้นประมาณ 1,095.10 เมกะวัตต์ หรือมีอัตราเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 1.90 ต่อปี โดยโครงการฯ ระยะที่ 13 ส่วนที่ 1 ประกอบด้วย (1) แผนงานพัฒนาระบบสถานีต้นทางและสถานีย่อย และ (2) แผนงานพัฒนาระบบสายส่งพลังไฟฟ้า

ต่างประเทศ

11. เรื่อง การจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งกลไกการหารือทวิภาคีระหว่างกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงการต่างประเทศแห่งสาธารณรัฐเฮลเลนิก
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอดังนี้
                    1. เห็นชอบต่อร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งกลไกการหารือทวิภาคีระหว่างกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงการต่างประเทศแห่งสาธารณรัฐเฮลเลนิก (กรีซ) (บันทึกความเข้าใจฯ) ทั้งนี้ หากมีการแก้ไขร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าว ที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทยขออนุมัติให้ กต. พิจารณาและดำเนินการได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก
                    2. ให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ลงนามบันทึกความเข้าใจฯ
(ไม่กำหนดวันลงนาม)
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    กต. รายงานว่า
                    1. เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเฮลเลนิกประจำประเทศไทยมีหนังสือถึง กต. เสนอให้มีการจัดทำบันทึกความเข้าใจฯ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกลไกความร่วมมือทวิภาคีที่เป็นรูปธรรมระหว่างประเทศไทยกับกรีซ1 โดยปัจจุบันทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจฯ ร่วมกันแล้ว มีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ          รายละเอียด
กลไกการหารือ          คู่ภาคีจะจัดตั้งกลไกการหารือภาคีเพื่อทบทวน ขยาย และเสริมสร้างความร่วมมือ ตลอดจนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นภูมิภาคและประเด็นระหว่างประเทศที่สนใจร่วมกัน
ความร่วมมือ/การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ          - ประเด็นทวิภาคีที่อาจรวมถึงประเด็นด้านการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และประเด็นทวิภาคีอื่น ๆ ที่เป็นข้อกังวลร่วมกัน
- ประเด็นภูมิภาคและประเด็นพหุภาคี รวมถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับองค์การสหประชาชาติและองค์การระหว่างประเทศอื่น ๆ ที่ทั้งสองประเทศเป็นสมาชิก
- ประเด็นที่มีผลประโยชน์ร่วมกันเกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศ รวมทั้งอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล
กลไกการหารือ          - ไทยและกรีซจะสลับกันจัดการหารือขึ้นอย่างสม่ำเสมอ หรือจะหารือกันในระหว่างการประชุมขององค์การระหว่างประเทศ การกำหนดวัน สถานที่ และระเบียบวาระการหารือจะถูกกำหนดโดยความเห็นชอบร่วมกันของคู่ภาคีผ่านช่องทางการทูต
- ระดับผู้แทนที่เข้าร่วมการหารือจะเป็นระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสและระดับรัฐมนตรีขึ้นอยู่กับคู่ภาคีเห็นชอบร่วมกัน
- คู่ภาคีจะสนับสนุนให้คณะผู้แทนการทูต รวมถึงคณะผู้แทนถาวร และผู้แทนในองค์การระหว่างประเทศโดยเฉพาะคณะผู้แทนถาวรประจำสหประชาชาติ รักษาความร่วมมือที่ใกล้ชิดและแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นในประเด็นที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน
การรักษาความลับ          ผลลัพธ์ของการหารือจะไม่ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ เว้นแต่คู่ภาคีจะตกลงร่วมกันเป็นอย่างอื่น
การแก้ไข          แก้ไขด้วยความยินยอมร่วมกันของคู่ภาคีเป็นลายลักษณ์อักษร
การระงับข้อพิพาท          ข้อแตกต่างใด ๆ ที่เกี่ยวกับการตีความหรือการบังคับใช้บันทึกความเข้าใจฯ จะได้รับการแก้ไขอย่างฉันมิตรด้วยการหารือระหว่างคู่ภาคีผ่านช่องทางการทูต
ผลบังคับใช้          - มีผลใช้บังคับในวันที่ลงนามและจะมีผลใช้บังคับเป็นระยะเวลาห้าปี เว้นแต่คู่ภาคีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะแจ้งยกเลิกไปยังภาคีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นลายลักษณ์อักษรให้ทราบล่วงหน้าอย่างน้อยหกเดือนผ่านช่องทางการทูต
- บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ไม่มีเจตนาในการก่อให้เกิดสิทธิและข้อผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศ
                    2. ประโยชน์ที่จะได้รับ : บันทึกความเข้าใจฯ จะเป็นกลไกความร่วมมือทวิภาคีที่เป็นรูปธรรมระหว่างประเทศไทยกับกรีซฉบับแรก ซึ่งจะช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้มีความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต
                    3. กต. แจ้งว่า ร่างบันทึกความเข้าใจฯ ไม่มีถ้อยคำหรือบริบทที่มุ่งจะก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ และการลงนามในบันทึกความเข้าใจดังกล่าว มิได้ทำให้เกิดผลทางกฎหมาย โดยเป็นเพียงการแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองร่วมกันระหว่างทั้งสองประเทศเท่านั้น จึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
1 หมายเหตุ: 1 บันทึกความเข้าใจฯ จะเป็นกลไกความร่วมมือทวิภาคีที่เป็นรูปธรรมระหว่าง กต. ไทยกับ กต. กรีซ ฉบับแรก

12. เรื่อง การจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการปรึกษาหารือทางการเมืองระหว่างกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงการต่างประเทศแห่งสาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้
                    1. เห็นชอบต่อร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการปรึกษาหารือทางการเมืองระหว่างกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงการต่างประเทศแห่งสาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน1 (ร่างบันทึกความเข้าใจฯ) และหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างบันทึกความเข้าใจฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดต่อประโยชน์ของไทย ขอให้ กต. สามารถดำเนินการได้ โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง
                    2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้ลงนามบันทึกความเข้าใจดังกล่าว
(ไม่มีกำหนดการลงนาม)
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    กต. รายงานว่า
                    1. ประเทศไทยและสาธารณรัฐอาเซอร์ไบจานได้บรรลุการเจรจาจัดทำพิธีสารว่าด้วยความร่วมมือระหว่าง กต. กับกระทรวงการต่างประเทศอาเซอร์ไบจาน (พิธีสารฯ) และได้มีการลงนามเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2549 โดยมีผลบังคับใช้ 5 ปี และต่ออายุอัตโนมัติ 5 ปี โดยพิธีสารฯ ได้หมดอายุเมื่อปี 2559 จึงทำให้ กต. และกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐอาเซอร์ไบจานยังไม่มีกลไกความร่วมมือระหว่างกันในปัจจุบัน
                    2. ร่างบันทึกความเข้าใจฯ จะสนับสนุนการพัฒนากลไกการหารือระหว่าง กต. ของทั้งสองประเทศในประเด็นทวิภาคีและประเด็นระหว่างประเทศที่อยู่ในความสนใจและเป็นผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำหรับการขยายความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ ระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐอาเซอร์ไบจานที่เป็นรูปธรรมต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ ฝ่ายอาเซอร์ไบจานได้เห็นชอบกับร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2564 โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ          สาระสำคัญ
วัตถุประสงค์          พัฒนาและเสริมสร้างความสัมพันธ์แบบฉันมิตรที่อยู่ระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
ประเด็นการปรึกษาหารือ          (1) พัฒนาการของความสัมพันธ์ทวิภาคีในประเด็นด้านการเมือง กฎหมาย เศรษฐกิจ                 กงสุล วิทยาศาสตร์ วิชาการ การศึกษา และวัฒนธรรม
(2) การประสานท่าทีของรัฐของผู้เข้าร่วม และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นที่สนใจร่วมกันในกรอบขององค์การระหว่างประเทศที่รัฐของผู้เข้าร่วมเป็นสมาชิก
(3) ประเด็นอื่น ๆ ตามที่ผู้เข้าร่วมตัดสินใจ
ทั้งนี้ การปรึกษาหารือทางการเมืองอาจจัดขึ้นทุกปี หรือตามความจำเป็น โดยสลับกันจัดในกรุงเทพมหานครและกรุงบากู หรือ ณ สำนักงานคณะผู้แทนถาวรประจำสหประชาชาติและทบวงการชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติ หรือองค์การระหว่างประเทศอื่น ๆ และการประชุมระหว่างประเทศ โดยมีเจ้าหน้าที่อาวุโสของผู้เข้าร่วมจะเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนใน                  การปรึกษาหารือทางการเมือง
ค่าใช้จ่าย          ผู้เข้าร่วมจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของฝ่ายตนสำหรับการเข้าร่วมการปรึกษาหารือทางการเมือง รวมถึงค่าที่พักและค่าเดินทางไป - กลับระหว่างประเทศไทยไปยังสถานที่จัดประชุม ผู้เข้าร่วมฝ่ายเจ้าภาพจะจัดหาสถานที่และการเดินทางภายในประเทศที่จำเป็นสำหรับ                   การปรึกษาหารือ
ข้อขัดแย้ง          ข้อขัดแย้งใด ๆ ที่เกิดขึ้นจากการตีความหรือการบรรลุบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ จะได้รับ                 การแก้ไขอย่างฉันมิตร ผ่านการปรึกษาหารือระหว่างผู้เข้าร่วม
ผลบังคับใช้และการแก้ไข          นับตั้งแต่วันที่มีการลงนาม และจะมีผลไปจนกว่าผู้เข้าร่วมฝ่ายหนึ่งจะแจ้งให้อีกฝ่ายทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 3 เดือน เป็นลายลักษณ์อักษรถึงเจตจำนงที่จะยกเลิกบันทึกความเข้าใจนี้ผ่านช่องทางการทูต รวมทั้งการแก้ไขบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ อาจกระทำได้โดยความเห็นชอบร่วมกันของผู้เข้าร่วมเป็นลายลักษณ์อักษร
ผลผูกพัน          บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ไม่เป็นความตกลงระหว่างประเทศ
                    3. ประโยชน์และผลกระทบ
                    การจัดทำบันทึกความเข้าใจฯ จะสามารถนำไปสู่การจัดตั้งกลไกการหารือทวิภาคีในระดับรัฐมนตรีหรือระดับอื่นที่เหมาะสมในอนาคต ซึ่งจะช่วยส่งเสริมและผลักดันความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐอาเซอร์ไบจานในมิติต่าง ๆ ให้แน่นแฟ้นและครอบคลุมยิ่งขึ้นต่อไป
                    4. กต. แจ้งว่า ร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าวไม่มีถ้อยคำหรือบริบทใดที่มุ่งก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ จึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
1 บันทึกความเข้าใจฯ จะเป็นกลไกความร่วมมือทวิภาคีที่เป็นรูปธรรมระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน

แต่งตั้ง
13. เรื่อง คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่  6/2567 เรื่อง  แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี
                    คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่  6/2567 เรื่อง  แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี
                    ตามที่ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 229/2566 เรื่อง มอบหมายและมอบอำนาจให้                           รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 13 กันยายน 2566 นั้น
          เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย อาศัยอำนาจ
ตามความในมาตรา 10 และมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 มาตรา 11 (2) และมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550 และมาตรา 90 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการมอบอำนาจ พ.ศ. 2550 จึงให้แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 229/2566 ลงวันที่ 13 กันยายน 2566 ดังนี้
          1.  การมอบหมายและมอบอำนาจให้ รองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม  เวชยชัย) ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี
                    -  ให้ยกเลิกข้อ 1.3.2
          2.  การมอบหมายและมอบอำนาจให้ รองนายกรัฐมนตรี (นายสมศักดิ์  เทพสุทิน) ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี
                     -  ให้ยกเลิกความในข้อ 2.3 ถึง ข้อ 2.4 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
                                        ?2.3  การมอบหมายให้กำกับดูแลองค์การมหาชนและหน่วยงานของรัฐ ดังนี้
-           สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
                                        2.4  การดำเนินคดีปกครอง รวมทั้งลงนามมอบอำนาจให้พนักงานอัยการดำเนินคดีปกครองกรณีที่มีการฟ้องนายกรัฐมนตรี
                                        2.5  ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการและลงนามในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้องกับการมีพระบรมราชโองการในเรื่องตามข้อ 2.1 ถึง ข้อ 2.3 ยกเว้น การดำเนินการตามกรณีในข้อ 1.4.1 ถึง ข้อ 1.4.7?
                      ทั้งนี้  ตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

14. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงการคลัง)
                       คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้ง นางสาวสุดท้าย                  ชัยจันทึก ผู้อำนวยการกอง [ผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (วิชาการบัญชี) สูง] กองตรวจสอบภาครัฐ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบบัญชี (นักบัญชีทรงคุณวุฒิ) กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2566 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

15. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ                       (สำนักนายกรัฐมนตรี)
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเสนอแต่งตั้ง นางสาวฉวี                    วงศประสิทธิพร ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์ (วิศวกรโยธาเชี่ยวชาญ) กองนโยบายและแผนแม่บท สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์น้ำ (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

16. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ                   (กระทรวงสาธารณสุข)
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้ง นายสมบัติ                  ผดุงวิทย์วัฒนา สาธารณสุขนิเทศก์ (นายแพทย์เชี่ยวชาญ) สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง สาธารณสุขนิเทศก์ (นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง ตั้งแต่วันที่ 4 กันยายน 2566 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

17. เรื่อง การคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย
                      คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้
                      1. เห็นชอบการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) จำนวน 6 คน ดังนี้
                                 1) ดร.เสรี นนทสูติ                     กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย
                                 2) นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ            กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านบัญชี
                                 3) นายสีหนาท ล่ำซำ                     กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านบริหารธุรกิจ
                                 4) นายประกิด บุณยัษฐิติ                     กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านบริหารธุรกิจ
                                5) นายไกรฤทธิ์ อุชุกานนท์ชัย            กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงิน
                                 6) นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร            กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการประกันภัย
                     2. กำหนดให้มีผลตั้งแต่วันที่กระทรวงการคลังมีคำสั่งแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ใน คปภ.                   เป็นต้นไป

18. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงศึกษาธิการ)
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอแต่งตั้งข้าราชการประเภทบริหารระดับสูง เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่เกษียณอายุราชการ สับเปลี่ยนหมุนเวียน และทดแทนตำแหน่งที่ว่าง จำนวน 9 ราย ดังนี้
                     1. นายธนากร ดอนเหนือ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ กระทรวงศึกษาธิการ
                      2. นายวรัท พฤกษาทวีกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
                     3. นายธนู ขวัญเดช รองเลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
                     4. นายชัยณรงค์ ป้องบ้านเรือ ศึกษาธิการภาค สำนักงานศึกษาธิการภาค 7 แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
                      5. นายชาตรี ม่วงสว่าง ศึกษาธิการภาค สำนักงานศึกษาธิการภาค 15 แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
                     6. ว่าที่ร้อยตรี เจษฎาภรณ์ พรหนองแสน ศึกษาธิการภาค สำนักงานศึกษาธิการภาค 17 แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
                     7. นายชูสิน วรเดช ศึกษาธิการภาค สำนักงานศึกษาธิการภาค 6 แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
                     8. นายธฤติ ประสานสอน ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
                     9. นายนิติ นาชิต ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาธุรกิจและบริการ (นักวิชาการศึกษาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
                     ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

19. เรื่อง ขออนุมัติแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
                      คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอรายชื่อบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการ และกรรมการอื่นในคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกลั่นกรองกรรมการรัฐวิสาหกิจ เพื่อแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จำนวน 1 คน และเป็นกรรมการอื่นในคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จำนวน 13 คน (เป็นบุคคลในบัญชีรายชื่อฯ จำนวน 7 คน และผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์การทำงานในภาคธุรกิจ จำนวน 7 คน) และแต่งตั้ง นายพนิต ธีรภาพวงศ์ ผู้แทนกระทรวงการคลัง เป็นกรรมการอื่นในคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และให้คณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมีกรรมการเกินกว่าสิบเอ็ดคนแต่ไม่เกินสิบห้าคน ตามความในตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. 2503 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และ มาตรา 6 วรรค 2 แห่งพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 ประกอบด้วยประธานกรรมการ จำนวน 1 คน และกรรมการอื่น จำนวน 14 คน (รวมผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง) ดังนี้
                      1. นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์                               ประธานกรรมการ
                     2. นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์                               กรรมการ
                     3. รองศาสตราจารย์ธีร เจียศิริพงษ์กุล                     กรรมการ
                      4. ผู้ช่วยศาสตราจารย์พงษ์ศักดิ์ กีรติวินทกร            กรรมการ
                      5. นายสุวิทย์ ธรณินทร์พานิช                               กรรมการ
                     6. พลโท อดุลย์ บุญธรรมเจริญ                                กรรมการ
                     7. นายกรณินทร์ กาญจโนมัย                               กรรมการ
                     8. พลตำรวจโท สำราญ นวลมา                                กรรมการ
                     9. นายเจษฎ์ โทณะวณิก                                          กรรมการ
                     10. นายจิระพงศ์ เทพพิทักษ์                               กรรมการ
                     11. นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต                                          กรรมการ
                     12. ร้อยโท ปรีชาพล พงษ์พานิช                                กรรมการ
                     13. รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ดิลก ภิยโยทัย            กรรมการ
                      14. นายพนิต ธีรภาพวงศ์                               กรรมการ (ผู้แทนกระทรวงการคลัง)
                     ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

20. เรื่อง ขออนุมัติแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการการไฟฟ้านครหลวง
                      คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอรายชื่อบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการ และกรรมการอื่นในคณะกรรมการการไฟฟ้านครหลวง ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกลั่นกรองกรรมการรัฐวิสาหกิจ เพื่อแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการการไฟฟ้านครหลวง จำนวน 1 คน และเป็นกรรมการอื่นในคณะกรรมการการไฟฟ้านครหลวง จำนวน 13 คน (เป็นบุคคลในบัญชีรายชื่อฯ 9 คน และผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์การทำงานในภาคธุรกิจ จำนวน 7 คน) และแต่งตั้ง นางสาวปิยวรรณ ล่ามกิจจา ผู้แทนกระทรวงการคลัง เป็นกรรมการอื่นในคณะกรรมการการไฟฟ้านครหลวงและให้คณะกรรมการการไฟฟ้านครหลวงมีกรรมการเกินกว่าสิบเอ็ดคนแต่ไม่เกินสิบห้าคน ตามความในมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวง พ.ศ. 2501 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และมาตรา 6 วรรค 2 แห่งพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 ประกอบด้วย ประธานกรรมการ จำนวน 1 คน และกรรมการอื่น จำนวน 14 คน (รวมผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวงเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง) ดังนี้
                     1. นายขจร ศรีชวโนทัย                                  ประธานกรรมการ
                     2. นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์                     กรรมการ
                     3. นายสนิท ขาวสอาด                                กรรมการ
                     4. พลเอก เกรียงไกร ศรีรักษ์                      กรรมการ
                     5. นายกิตติพงษ์ ภิญโญตระกูล                      กรรมการ
                     6. พลตำรวจโท กรไชย คล้ายคลึง                      กรรมการ
                     7. ศาสตราจารย์วีรกร อ่องสกุล                      กรรมการ
                     8. ศาสตราจารย์ธรรมรัตน์ คุตตะเทพ             กรรมการ
                     9. รองศาสตราจารย์รังสรรค์ วงศ์สรรค์           กรรมการ
                     10. นางสาวเพียงออ เลาหะวิไลย                     กรรมการ
                     11. รองศาสตราจารย์จิรพล สังข์โพธิ์           กรรมการ
                     12. รองศาสตราจารย์อัศม์เดช วานิชชินชัย           กรรมการ
                     13. นายชยกฤต อัศวธิตานนท์                     กรรมการ
                     14. นางสาวปิยวรรณ ล่ามกิจจา                     กรรมการ (ผู้แทนกระทรวงการคลัง)
                     ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

21. เรื่อง แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการการประปาส่วนภูมิภาค
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอรายชื่อบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการ และกรรมการอื่นในคณะกรรมการการประปาส่วนภูมิภาค ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกลั่นกรองกรรมการรัฐวิสาหกิจ เพื่อแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการการประปาส่วนภูมิภาค จำนวน 1 คน และเป็นกรรมการอื่นในคณะกรรมการการประปาส่วนภูมิภาค จำนวน 7 คน (เป็นบุคคลในบัญชีรายชื่อฯ จำนวน 6 คน และผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์การทำงานในภาคธุรกิจ จำนวน 3 คน) และแต่งตั้ง นางสาวศุกร์ศิริ อภิญญานุวัฒน์ ผู้แทนกระทรวงการคลัง เป็นกรรมการอื่น ในคณะกรรมการการประปาส่วนภูมิภาค และให้คณะกรรมการการประปาส่วนภูมิภาคมีกรรมการจำนวน 11 คน ตามความในมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติการประปาส่วนภูมิภาค                   พ.ศ. 2522 ประกอบกับมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบด้วย ประธานกรรมการ จำนวน 1 คน กรรมการอื่น จำนวน 7 คน อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง อธิบดีกรมอนามัย และผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาคเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ดังนี้
                     1. นายพรพจน์ เพ็ญพาส                               ประธานกรรมการ
                      2. พลโท พิเชษฐ คงศรี                               กรรมการ
                     3. นายเผ่าภัค ศิริสุข                                 กรรมการ
                     4. นางปาณิสรา ดวงสอดศรี                     กรรมการ
                     5. พลอากาศตรี นิพนธ์ โพธิ์เจริญ                     กรรมการ
                     6. นายปริญญา แสงสุวรรณ                     กรรมการ
                     7. นายพีระพันธ์ เหมะรัต                               กรรมการ
                     8. นางสาวศุกร์ศิริ อภิญญานุวัฒน์                     กรรมการ
                     ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

22. เรื่อง แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการการประปานครหลวง                                คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอรายชื่อบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการ และกรรมการอื่นในคณะกรรมการการประปานครหลวง ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกลั่นกรองกรรมการรัฐวิสาหกิจ เพื่อแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการการประปานครหลวง จำนวน 1 คน และเป็นกรรมการอื่นในคณะกรรมการการประปานครหลวง จำนวน 13 คน (เป็นบุคคลในบัญชีรายชื่อฯ จำนวน 9 คน และผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์การทำงานในภาคธุรกิจ จำนวน 7 คน) และแต่งตั้ง นายเกียรติณรงค์ วงศ์น้อย ผู้แทนกระทรวงการคลัง เป็นกรรมการอื่นในคณะกรรมการการประปานครหลวง และให้คณะกรรมการการประปานครหลวงมีกรรมการเกินกว่าสิบเอ็ดคนแต่ไม่เกินสิบห้าคน ตามความในมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการประปานครหลวง พ.ศ. 2510 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และ มาตรา 6 วรรค 2 แห่งพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 ประกอบด้วย ประธานกรรมการ จำนวน 1 คน และกรรมการอื่น จำนวน 14 คน (รวมผู้ว่าการการประปานครหลวงเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง) ดังนี้
                     1. นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม                               ประธานกรรมการ
                     2. นายโชตินรินทร์ เกิดสม                     กรรมการ
                     3. พลโท สุเมธ พรหมตรุษ                     กรรมการ
                     4. นายชูชาติ รักจิตร                               กรรมการ
                     5. นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์                               กรรมการ
                     6. นายสนิท ขาวสอาด                               กรรมการ
                     7. ร้อยตำรวจเอก ปิยะ รักสกุล                     กรรมการ
                     8. นางสาวเพียงออ เลาหะวิไลย                     กรรมการ
                     9. นายนิทัศน์ มณีศิลาสันต์                     กรรมการ
                     10. พลตำรวจโท กฤษฎา กาญจนอลงกรณ์           กรรมการ
                     11. รองศาตราจารย์ชัยวัฒน์ อุตตมากร           กรรมการ
                     12. นางสาวไตรทิพย์ ศิวะกฤษณ์กุล           กรรมการ
                     13. นายชัยทัต แซ่ตั้ง                               กรรมการ
                     14. นายเกียรติณรงค์ วงศ์น้อย                     กรรมการ
                     ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

23. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 มาตรา 4 (6) แทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่พ้นจากตำแหน่ง
                     คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอการแต่งตั้งนางเนตรนภิส สุชนวนิช เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 มาตรา 4 (6) แทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่พ้นจากตำแหน่ง โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ