สรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรีชุด นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 30 มกราคม 2567

ข่าวการเมือง Tuesday January 30, 2024 18:41 —มติคณะรัฐมนตรี

http://www.thaigov.go.th

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

วันนี้ 30 มกราคม 2567 เวลา 10.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้ กฎหมาย

          1.           เรื่อง           ร่างกฎกระทรวง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก

พ.ศ. 2522

          2.           เรื่อง           ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. ....

เศรษฐกิจ
          3.           เรื่อง           รายงานผลการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรรัฐบาลรุ่น LB23DA
          4.           เรื่อง           รายงานผลการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทาง                              อิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565
          5.           เรื่อง           รายงานสรุปผลและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์                               ประจำปี 2565
          6.           เรื่อง           ขออนุมัติรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000  ล้านบาทขึ้นไป                                         กระทรวงยุติธรรม
          7.            เรื่อง           สรุปภาพรวมดัชนีเศรษฐกิจการค้าประจำเดือนธันวาคม 2566
                    8.           เรื่อง            รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมประเทศ (วันที่ 22 ? 29 มกราคม 2567)
          9.           เรื่อง          รายงานผลการดำเนินการช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
          10.           เรื่อง           การจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 สำหรับโครงการ                                        บำรุงรักษาและซ่อมแซมแก้ไขระบบตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์สินค้าด้วยเครื่องเอกซเรย์ที่                              จัดซื้อในโครงการระยะที่ 3 - 4 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 - 2572
          11.           เรื่อง           รายงานความก้าวหน้าโครงการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้แห่งชาติ OKMD: OKMD National                               Knowledge Center (Ratchadamnoen Center 1 และ 2) และเสนอขอความเห็นชอบ                              การเช่าพื้นที่อาคารกองสลากเดิมและอาคารว่างที่อยู่ติดกันเพื่อดำเนินโครงการฯ
          12.           เรื่อง           ขอรับการสนับสนุนการจัดสรรเงินงบประมาณแผ่นดิน เพื่อจัดสรรเงินอุดหนุนทั่วไปเป็นเงิน                              งบประมาณรายจ่ายของปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ให้แก่สำนักงานคณะกรรมการการ                                        แข่งขันทางการค้าไว้ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2568
          13.           เรื่อง           ขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน
                              งบกลาง รายการเงินสำรองเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น [สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล                                         (องค์การมหาชน)]
          14.           เรื่อง           แผนการใช้เงินของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ประจำปีงบประมาณ

พ.ศ. 2568

          15.           เรื่อง           กรอบวงเงินงบประมาณด้านการอุดมศึกษาในความรับผิดชอบของกระทรวงการอุดมศึกษา                               วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กรอบวงเงินงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและ                                        นวัตกรรมของประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 และระบบการจัดสรรและบริหาร                              งบประมาณแบบบูรณาการที่มุ่งผลสัมฤทธิ์
          16.           เรื่อง           การขอก่อหนี้ผูกพันงบประมาณมากกว่าหนึ่งปีงบประมาณสำหรับรายการที่มีวงเงิน
                              ตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ                               พ.ศ. 2568 ของกระทรวงมหาดไทย
          17.           เรื่อง           การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 รายการก่อหนี้ผูกพันข้าม                              ปีงบประมาณ วงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่เป็น                              หน่วยรับงบประมาณ
          18.           เรื่อง           ขออนุมัติตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 สำหรับรายการ                                        งบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ของกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท                               กรมท่าอากาศยาน และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ
          19.           เรื่อง           ขออนุมัติการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 สำหรับรายการ                                         งบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่หนึ่งพันล้านบาทขึ้นไป (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์)

ต่างประเทศ

          20.           เรื่อง           การจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่าง                                        กรมความร่วมมือระหว่างประเทศของกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทยกับ                              องค์การความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของจีนแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
          21.            เรื่อง           การขอความเห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน -                                         สหภาพยุโรป ครั้งที่ 24
          22.            เรื่อง           ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงการต่างประเทศในนามของประเทศสมาชิก                                        ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง กับสถาบันความร่วมมือ                              เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขงว่าด้วยการสนับสนุนสำนักงานเลขาธิการชั่วคราว ACMECS
          23.           เรื่อง           ขอความเห็นชอบร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัล ครั้งที่ 4                               และการประชุมที่เกี่ยวข้อง
          24.            เรื่อง           ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งราชอาณาจักร                                        ไทยและกระทรวงการสื่อสารและสารสนเทศแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซียว่าด้วยความร่วมมือ                              ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล
          25.            เรื่อง           ร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมสภาความร่วมมือซาอุดี ? ไทย ครั้งที่ 1
          26.           เรื่อง           รายงานผลการเจรจาการบินระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐสังคมนิยม                                        ประชาธิปไตยศรีลังกา

แต่งตั้ง
          27.           เรื่อง           การแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ
          28.           เรื่อง           การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง

(สำนักนายกรัฐมนตรี)

          29.           เรื่อง           การรับโอนข้าราชการตำรวจมาบรรจุเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ และแต่งตั้งให้ดำรง                                                  ตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สำนักนายกรัฐมนตรี)
          30.           เรื่อง           การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ
          31.           เรื่อง           การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง กระทรวงเกษตรและ                                                  สหกรณ์
          32.          เรื่อง           การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวง                                        การต่างประเทศ)
          33.           เรื่อง           การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ (กระทรวงการต่างประเทศ)
          34.           เรื่อง           การแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
          35.           เรื่อง           แต่งตั้งข้าราชการประเภทบริหาร ระดับสูง (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคง

ของมนุษย์)

          36.           เรื่อง           การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการส่งเสริม                                                  วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
          37.           เรื่อง           การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการธนาคารอาคารสงเคราะห์
          38.           เรื่อง           การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย
?

กฎหมาย
1. เรื่อง ร่างกฎกระทรวง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาร่างกฎหมายนี้ในรายละเอียดและให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 ต่อไป
                    ทั้งนี้ ตช. เสนอว่า
                    1. โดยที่ได้มีพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 142 วรรคห้า กำหนดให้หลักเกณฑ์และวิธีการทดสอบผู้ขับขี่ว่าหย่อนความสามารถในอันที่จะขับหรือเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่นหรือไม่นั้นเป็นไปตามที่กฎกระทรวงกำหนด เพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางถนนจากผู้ขับขี่ยานพาหนะที่เมาสุราหรือของ  เมาอย่างอื่น เนื่องจากปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดมีผลทำให้ประสิทธิภาพในการควบคุมยานพาหนะลดลง ต่อมาได้มีกฎกระทรวง ฉบับที่ 16 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการทดสอบผู้ขับขี่ว่าเมาสุราหรือไม่ และกฎกระทรวง ฉบับที่ 21 (พ.ศ. 2560) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดปริมาณแอลกอฮอล์                 ในเลือดให้เหมาะสมสำหรับผู้ขับขี่ ประกาศใช้บังคับ
                    2. ต่อมามีการประกาศใช้บังคับพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 (มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2565) โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวได้มีการปรับปรุงมาตรการกฎหมายต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริงในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัยและเพื่อให้การป้องกันการกระทำความผิดมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น ลักษณะความผิดในการขับรถ การตรวจสอบหรือทดสอบผู้ขับขี่ เป็นต้น โดยในมาตรา 11 ของพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 13)ฯ บัญญัติให้ยกเลิกความในวรรคห้าของมาตรา 142 แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 10)ฯ ส่งผลให้กฎกระทรวง ฉบับที่ 16                   (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราขบัญญัติจราจรทางบกซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจราจรทางบก              (ฉบับที่ 10)ฯ ซึ่งเป็นกฎกระทรวงที่อาศัยอำนาจตามความในวรรคห้าแห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522ฯ ดังกล่าวในการออกกฎกระทรวงถูกยกเลิกไปโดยผลของกฎหมาย อย่างไรก็ตาม กฎกระทรวง ฉบับที่ 16 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ จะยังคงใช้บังคับได้ต่อไปจนกว่าจะมีกฎกระทรวงฉบับใหม่ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 13)ฯ ใช้บังคับ
                    3. จากการศึกษาในปัจจุบันพบว่าหลักเกณฑ์และวิธีการในการทดสอบปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่ยังไม่ครอบคลุมถึงการตรวจพิสูจน์ในบางกรณี เช่น บุคคลอยู่ในภาวะหมดสติหรือได้รับอันตรายแก่กายจนไม่อาจให้ความยินยอมในการตรวจพิสูจน์ได้หรืออยู่ในภาวะที่สามารถให้ความยินยอมในการตรวจพิสูจน์การมีปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายได้ แต่ไม่สามารถทดสอบด้วยวิธีการตรวจวัดจากลมหายใจได้ ดังนั้น ตช. พิจารณาแล้ว เห็นว่า สมควรกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทดสอบผู้ขับขี่ว่าเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่นในขณะ                     ขับรถหรือไม่ ตลอดจนกำหนดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดที่ถือว่าเป็นความผิดให้เหมาะสมกับผู้ขับขี่แต่ละประเภท ซึ่งสอดคล้องกับหลักการตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 ที่บัญญัติให้หัวหน้าเจ้าพนักงานจราจร พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานจราจร สั่งให้มีการทดสอบผู้ขับขี่หรือบุคคลที่อาจเป็นผู้ขับขี่ว่าหย่อนความสามารถในอันที่จะขับรถหรือเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่นหรือไม่ ในกรณีที่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นและบุคคลดังกล่าวอยู่ในภาวะหมดสติหรือได้รับอันตรายแก่กายจนไม่อาจให้ความยินยอมในการตรวจสอบการมีสารอยู่ในร่างกายได้ เพื่อเป็นการป้องปรามให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎหมาย และเพื่อเป็นการลดอุบัติเหตุทางถนน
                    4. ตช. ได้ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงดังกล่าวด้วยแล้ว
                    สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
                    ปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการในการทดสอบปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่ เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 และครอบคลุมถึงการตรวจพิสูจน์บุคคลที่อยู่ในภาวะหมดสติหรือได้รับอันตรายแก่กายจนไม่อาจให้ความยินยอมในการตรวจพิสูจน์ได้ หรืออยู่ในภาวะที่สามารถให้ความยินยอมในการตรวจพิสูจน์การมีปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายได้ แต่ไม่สามารถทดสอบด้วยวิธีการตรวจวัดจากลมหายใจได้ รวมทั้งกำหนดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดที่ถือว่าเป็นความผิดให้เหมาะสมกับผู้ขับขี่แต่ละประเภท                  สรุปได้ดังนี้
ประเด็น          สาระสำคัญ          หมายเหตุ
วิธีการตรวจหรือทดสอบ          ? ตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์โดยใช้วิธีการ ดังนี้
   1. ตรวจวัดลมหายใจ โดยวิธีเป่าลมหายใจ (BREATH ANALYZER TEST)
   2. ตรวจวัดจากเลือด
   3. ตรวจวัดจากของเสียอย่างอื่นจากร่างกาย เช่น ปัสสาวะ          เดิมกำหนดให้ ?ตรวจวัดจากปัสสาวะ? เป็น ?ตรวจวัดจากของเสียอย่างอื่นจากร่างกาย เช่น ปัสสาวะ? เพื่อให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น
          ? กำหนดให้ส่งตัวผู้ขับขี่ไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดและเก็บตัวอย่างเลือด ปัสสาวะ หรือของเสียอย่างอื่นด้วยวิธีการทางการแพทย์ที่เจ็บปวดน้อยที่สุด และไม่เป็นอันตรายอย่างอื่น          เพื่อให้สอดคล้องกับ ม.131/1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
หน้าที่ของพนักงานสอบสวนและแพทย์          ? กรณีที่มีอุบัติเหตุจากการขับขี่และมีพฤติการณ์เชื่อว่าผู้ขับขี่หรือบุคคลที่อาจเป็นผู้ขับขี่ได้กระทำการฝ่าฝืนตาม ม.43 (2) ในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น ให้พนักงานสอบสวนพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริงว่าผู้ขับขี่หรือบุคคลที่อาจเป็นผู้ขับขี่กระทำการฝ่าฝืนดังกล่าวหรือไม่ทุกกรณี ตามวิธีการตรวจหรือทดสอบวัดปริมาณแอลกอฮอล์          กำหนดให้พนักงานสอบสวนต้องทำการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในทุกกรณีที่มีพฤติการณ์อันควรเชื่อว่าขับรถขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น เดิมเจ้าพนักงานฯ ไม่มีอำนาจในการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์บางกรณี เช่น บุคคลที่อยู่ในภาวะหมดสติหรือได้รับอันตรายแก่กายจนไม่อาจให้ความยินยอมในการตรวจพิสูจน์ได้
          ? กรณีผู้ขับขี่สามารถให้ความยินยอมในการตรวจพิสูจน์แต่ไม่สามารถทดสอบด้วยการวัดจากลมหายใจ ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการ ดังนี้
   1. ส่งตัวผู้ขับขี่ไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด และแจ้งเป็นหนังสือขอให้แพทย์ตรวจพิสูจน์ปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายบุคคล ภายใน             3 ชั่วโมง นับแต่พนักงานสอบสวนได้รับแจ้งเหตุ หรือด้วยวาจา วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือวิธีการอื่น จากนั้นให้พนักงานสอบสวนแจ้งเป็นหนังสือ ภายใน 24 ชั่วโมง นับแต่เวลาที่พนักงานสอบสวนได้รับแจ้งเหตุ
   2. ให้แพทย์เก็บตัวอย่างจากเลือด ปัสสาวะ หรือของเสียอย่างอื่น และให้ออกหลักฐานเป็นหนังสือแสดงผลการตรวจพิสูจน์โดยเร็ว โดยให้พนักงานสอบสวนเก็บรวบรวมในสำนวน                  การสอบสวน
   3. ให้สันนิษฐานว่าบุคคลที่เป็นผู้ขับขี่ซึ่งไม่ยอมให้แพทย์ตรวจพิสูจน์โดยไม่มีเหตุอันควรนั้นมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด โดยให้แพทย์บันทึกการไม่ยินยอมนั้นและแจ้งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนคดีตามที่กำหนด          กำหนดขึ้นใหม่
ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด          ? กรณีตรวจวัดจากเลือด (เจาะเลือด) หากผู้ขับขี่ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่า 50 มิลลิกรัมต่อเลือด 100 มิลลิลิตร (หรือมิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์) หรือเกินกว่า 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์
สำหรับบางกรณี เช่น ผู้ขับขี่ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ ผู้ขับขี่ที่ได้รับใบอนุญาตขับรถชั่วคราว เป็นต้น หรือกรณีผู้ขับขี่ซึ่งไม่ยอมให้แพทย์ตรวจพิสูจน์โดยไม่มีเหตุอันควร ให้สันนิษฐานว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด
? กรณีตรวจวัดจากลมหายใจหรือปัสสาวะให้เทียบกับปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเป็นเกณฑ์มาตรฐาน ดังนี้
   1. กรณีตรวจวัดจากลมหายใจ ให้ใช้ค่าสัมประสิทธิ์ในการแปลงค่าเท่ากับ 2,000 (กรณีหากตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์จากลมหายใจได้ค่าเท่าใดให้คูณด้วย 2,000 โดยให้ผลลัพธ์ที่ได้เทียบเท่ากับปริมาณแอลกอฮอล์ที่ตรวจโดยการเจาะเลือด เช่น หากวัดปริมาณแอลกอฮอล์จาก
ลมหายใจได้ค่า 0.04 ให้คูณด้วย 2,000 จะได้ผลลัพธ์เท่ากับ 80 ซึ่งเทียบได้ว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด 80 มิลลิกรัมต่อเลือด 100 มิลลิลิตร (หรือมิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์)
   2. กรณีตรวจวัดจากปัสสาวะ ให้ใช้ค่าสัมประสิทธิ์ในการแปลงค่าเท่ากับเศษ 1 ส่วน 1.3 (กรณีหากตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์จากปัสสาวะได้ค่าเท่าใดให้คูณด้วยเศษ 1 ส่วน 1.3 โดยให้ผลลัพธ์ที่ได้เทียบเท่ากับปริมาณแอลกอฮอล์ที่ตรวจโดยการเจาะเลือด เช่น วัดปริมาณแอลกอฮอล์จากปัสสาวะ วัดค่าได้ 78 ให้คูณด้วย เศษ 1 ส่วน 1.3 จะได้ผลลัพธ์เท่ากับ 60 ซึ่งเทียบได้ว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด 60 มิลลิกรัมต่อเลือด 100 มิลลิลิตร (หรือมิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์)

          คงเดิม [เป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับที่ 21 (พ.ศ. 2560) ออกตามความใน พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522]


2. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. ....
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบตามที่ประธานกรรมการแก้ไขปัญหาการประมงทะเลเพื่อฟื้นฟูการประมงทะเลและอุตสาหกรรมการประมงเสนอ ดังนี้
                      1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. .... และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาต่อไป
                      2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว
                      สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
                     เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ประกอบด้วย 39 มาตรา                 สรุปสาระสำคัญดังนี้
                      1. แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยาม
                     คำว่า ?ทะเลชายฝั่ง? หมายความว่า ทะเลที่อยู่ในราชอาณาจักร นับจากแนวชายฝั่งทะเลออกไปสามไมล์ทะเล เว้นแต่ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำจะออกกฎกระทรวงกำหนดให้เขตทะเลชายฝั่งในบริเวณใด มีระยะนับจากแนวชายฝั่งทะเลออกไปน้อยหรือมากกว่าสามไมล์ทะเลก็ได้แต่ต้องไม่น้อยกว่า 1.5 ไมล์ทะเลและไม่เกิน 12 ไมล์ทะเลโดยให้มีแผนที่แสดงแนวเขตบริเวณที่กำหนดแนบท้ายกฎกระทรวงด้วย หรือกรณีพื้นที่ชายฝั่งทะเลมีข้อจำกัดตามลักษณะทางกายภาพให้สามารถกำหนดเขตทะเลชายฝั่งได้ตามที่คณะกรรมการประมงประจำจังหวัดเสนอ
(เพิ่มเติมให้คณะกรรมการประมงประจำจังหวัดเสนอปรับแก้เขตทะเลชายฝั่งให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละจังหวัดได้)
                      คำว่า ?ประมงพื้นบ้าน? หมายความว่า การทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่งไม่ว่าจะใช้เรือประมง หรือใช้เครื่องมือโดยไม่ใช้เรือประมง ทั้งนี้ ที่มิใช่เป็นประมงพาณิชย์ (แก้ไขถ้อยคำเพื่อให้การทำประมงพื้นบ้านมีพื้นที่ทำการประมงไม่จำกัดอยู่เพียงในเขตทะเลชายฝั่งเท่านั้น)
                      2. กำหนดให้มีการรวบรวมสถิติการประมงเป็นรายปี และเผยแพร่ต่อสาธารณชนเพื่อทราบ โดยจะต้องจัดทำให้แล้วเสร็จและเผยแพร่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม ของปีถัดไป (เดิม ไม่ได้กำหนด)
                     3. แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการประมงแห่งชาติ โดยกำหนดให้นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ (เพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติให้มีความเหมาะสม เช่น ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และเลขาธิการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล)
                      4. แก้ไขเพิ่มเติมที่มาการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการประมงแห่งชาติ โดยกำหนดให้มีผู้แทนสมาคมในด้านการประมงทะเลชายฝั่ง ด้านการประมงทะเลนอกชายฝั่ง ด้านการประมงนอกน่านน้ำไทย ด้านการประมงน้ำจืด ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และด้านการแปรรูปสัตว์น้ำ ซึ่งสมาคมนั้น ๆ มอบหมายด้านละหนึ่งคน ในกรณีที่มีสมาคมด้านนั้น ๆ มากกว่าหนึ่งราย ให้รัฐมนตรีออกระเบียบเพื่อดำเนินการคัดเลือกให้เหลือจำนวนเท่าที่กำหนด (เพิ่มเติมในกรณีที่มีสมาคมด้านนั้น ๆ มากกว่าหนึ่งราย ให้รัฐมนตรีออกระเบียบเพื่อดำเนินการคัดเลือกให้เหลือจำนวนเท่าที่กำหนด)
                      5. แก้ไขเพิ่มเติมวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ โดยให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ                มีวาระการดำรงตำแหน่งเป็นเวลา 3 ปี (เดิม กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระ 2 ปี)
                      6. แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด โดยกำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานกรรมการ (เพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดให้มีความเหมาะสม เช่น ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ทุกจังหวัด เฉพาะจังหวัดชายทะเล ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งไม่เกิน 13 คน เป็นกรรมการ)
                     7. แก้ไขเพิ่มเติมคุณลักษณะผู้มีสิทธิได้รับใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้านโดยใช้เรือประมง ต้องเป็นบุคคลธรรมดาผู้มีสัญชาติไทย (เดิมไม่ได้กำหนด) และได้รับใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้านจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย ซึ่งการออกใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้าน ต้องระบุจำนวนและประเภทเครื่องมือทำการประมงที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ทำการประมง พื้นที่การทำการประมง หรือเงื่อนไขอื่นใดที่จำเป็น เพื่อให้สอดคล้องกับแผนบริหารจัดการการประมง และในกรณีเป็นการทำการประมงโดยใช้เรือประมงให้ออกให้แก่เจ้าของเรือประมง และสำหรับเรือประมงแต่ละลำ (เพิ่มเติมคุณสมบัติผู้มีสิทธิได้รับใบอนุญาตและตัดเงื่อนไขการออกใบอนุญาตให้แก่บุคคลเกินจำนวนที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดมิได้ ออก เพื่อให้มีความเหมาะสมและเป็นไปตามข้อเรียกร้องของชาวประมง)
                     8. แก้ไขเพิ่มเติมลักษณะต้องห้ามของผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมง เช่น 1) เป็นผู้เคยต้อง                   คำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 114 (บัญญัติว่าการกระทำให้ถือว่าเป็นการทำการประมงโดยฝ่าฝืนกฎหมายอย่างร้ายแรง เช่น ใช้เรือไร้สัญชาติทำการประมง) ยังไม่ถึง 1 ปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด เฉพาะเรือลำที่ถูกใช้ในการกระทำความผิด 2) เป็นผู้อยู่ระหว่างการถูกพักใช้ใบอนุญาตทำการประมงเฉพาะเรือลำที่ถูกพักใช้ใบอนุญาต 3) เป็นผู้เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตทำการประมงยังไม่พ้น 2 ปีนับถึงวันยื่นคำขอรับใบอนุญาตเฉพาะเรือลำที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต (เพิ่มเติมเงื่อนไขเฉพาะเรือลำที่ถูกใช้ในการกระทำความผิด ถูกพักใช้ใบอนุญาต ถูกเพิกถอนใบอนุญาต เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชาวประมงที่ได้รับผลกระทบมากเกินสมควร)
                     9. กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงนอกน่านน้ำไทย ในเขตทะเลหลวงต้องมีผู้สังเกตการณ์ประจำอยู่ในเรือประมงหรือมีระบบสังเกตการณ์อื่นใด (e-observer) เพื่อรองรับเทคโนโลยีในอนาคต (เดิม กำหนดเพียงมีผู้สังเกตการณ์ประจำอยู่ในเรือประมง)
                      10. กำหนดให้การดัดแปลงเครื่องมือทำการประมงต้องได้รับอนุญาตจากกรมประมง (เดิม กำหนดห้ามดัดแปลงเครื่องมือทำการประมงให้ผิดไปจากที่ระบุไว้ในใบอนุญาต)
                      11. กำหนดให้ใช้เครื่องมืออวนล้อมจับที่มีช่องตาอวนเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตรทำการประมงในเขต 12 ไมล์ทะเลนับจากแนวทะเลชายฝั่งในเวลากลางคืน และการทำการประมงนอกเขตพื้นที่ 12 ไมล์ทะเล ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และพื้นที่ ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด (เพิ่มเติมพื้นที่และห้วงเวลาที่เหมาะสมให้สามารถทำประมงด้วยอวนตาเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตรในเวลากลางคืน)
                     12. แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับบทกำหนดโทษ เพื่อกำหนดโทษทางอาญาให้เหมาะสม เกิดความเป็นธรรม และได้สัดส่วนกับการกระทำความผิด รวมทั้งกำหนดให้ยกเลิกการริบเรือประมงที่กระทำความผิดเพื่อให้ชาวประมงสามารถกลับมาประกอบอาชีพประมงได้เมื่อพ้นระยะเวลาลงโทษ (เดิม กำหนดว่าเมื่อพบการกระทำความผิดร้ายแรง ให้ริบเครื่องมือทำการประมง เรือประมง หรือสิ่งอื่นที่ใช้กระทำความผิด)
                      13. กำหนดให้ผู้ใดทำการประมงโดยใช้เรือประมงที่มีขนาดตั้งแต่ 10 ตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึง 15 ตันกรอสและได้จดทะเบียนเป็นเรือสำหรับการประมง และได้รับอาชญาบัตรอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ให้สามารถโอนไปยังทายาทตามกฎหมายได้ (เพิ่มเติมเพื่อให้ใบอนุญาตของเรือประมงที่มีขนาดตั้งแต่ 10 ตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึง 15 ตันกรอส และได้จดทะเบียนเป็นเรือสำหรับการประมงสามารถโอนไปยังทายาทตามกฎหมายได้)
                      14. แก้ไขเพิ่มเติมอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 เกี่ยวกับใบอนุญาตให้นำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ฉบับละ 500 บาท โดยเพิ่มเงื่อนไขให้ในการนำเข้าให้เก็บค่าธรรมเนียมกิโลกรัมละไม่เกิน 20 บาท (เดิม กำหนดเพียงอัตรา ฉบับละ 500 บาท)

เศรษฐกิจ
3. เรื่อง รายงานผลการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรรัฐบาลรุ่น LB23DA
                    คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรรัฐบาลรุ่น LB23DA                 ที่ครบกำหนดเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2566 ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
                    สาระสำคัญ
                    รายงานผลการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรรัฐบาลรุ่น LB23DA มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
                    1. เดิมคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (26 กันยายน 2566) อนุมัติแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2567 โดยให้ กค. เป็นผู้พิจารณาการกู้เงิน วิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่าง ๆ ของการกู้เงิน ตามความเหมาะสมและจำเป็น ซึ่งภายใต้แผนดังกล่าวมีการปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรรัฐบาลรุ่น LB23DA ที่ออกภายใต้พระราชกำหนดช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ระยะที่สอง ที่ครบกำหนดเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2566 จำนวน 32,900 ล้านบาท
                    2. กค. ได้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรรัฐบาลที่ครบกำหนดเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 25661 จำนวน 32,900 ล้านบาท ดังนี้ (1) การชำระคืนต้นเงินพันธบัตรรัฐบาลจากเงินส่วนเกิน (Premium) ที่ได้รับจากการกู้เงินเพื่อการปรับโครงสร้างหนี้ของ กค. จำนวน 2,900 ล้านบาท (2) การชำระคืนต้นเงินพันธบัตรรัฐบาลจากเงินในบัญชีสะสมเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน จำนวน 2,000 ล้านบาท และ (3) การกู้เงินระยะสั้นเพื่อการปรับโครงสร้างหนี้ (พระราชกำหนดช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ระยะที่สอง) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ครั้งที่ 1 จำนวน 28,000 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดการกู้เงินเพื่อการปรับโครงสร้างหนี้ดังกล่าว ดังนี้
วันที่ประมูล          วันที่เบิกเงินกู้          อายุ          วงเงิน
(ล้านบาท)          อัตราดอกเบี้ย
(ร้อยละต่อปี)
23 พฤศจิกายน 2566          18 ธันวาคม 2566          6 เดือน          28,000          2.50
                    3. กค. ได้ออกประกาศ กค. เรื่อง การกู้เงินระยะสั้นเพื่อการปรับโครงสร้างหนี้ (พระราชกำหนดช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ระยะที่สอง) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ครั้งที่ 1 เพื่อลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไปด้วยแล้ว2

1 ครบกำหนดเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2566 แต่เนื่องจากวันที่ 17 ธันวาคม 2566 ตรงกับวันหยุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย จึงเลื่อนวันชำระคืนต้นเงินพันธบัตรรัฐบาลเป็นวันทำการถัดไปในวันที่ 18 ธันวาคม 2566
2 กค. ได้ส่งประกาศ กค. ดังกล่าวให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีดำเนินการเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 แล้ว (ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ)

4. เรื่อง รายงานผลการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565
                    คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 (พระราชบัญญัติฯ) ตามที่ สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ
                    สาระสำคัญ
                    สำนักงาน ก.พ.ร. รายงานว่า
                    1. พระราชบัญญัติฯ (ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2565) มาตรา 20 บัญญัติให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐประกาศกำหนดช่องทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับประชาชนติดต่อราชการตามมาตรา 10 รวมทั้งกำหนดระบบสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติกำหนดวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ และมาตรา 22 บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีกำหนดหน่วยงานของรัฐหน่วยงานหนึ่งให้ทำหน้าที่ในการติดตาม เร่งรัด ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการตามมาตรา 20 และรายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบทุก 60 วันว่าหน่วยงานของรัฐใดยังมิได้ดำเนินการ พร้อมทั้งประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป รวมทั้งแจ้งให้หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยทราบถึงหน้าที่ที่หน่วยงานของรัฐจะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ และระยะเวลาที่จะต้องดำเนินการ โดยให้แจ้งเตือนทุก 15 วันด้วย ซึ่งต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติ                 (18 ตุลาคม 2565) มอบหมายให้สำนักงาน ก.พ.ร. เป็นหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 22 เพื่อทำหน้าที่ดังกล่าว
                    2. รายงานผลการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติฯ ซึ่ง ก.พ.ร. ในการประชุมครั้งที่ 5/2566 เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 ได้มีมติรับทราบแล้ว มีสาระสำคัญ ดังนี้
                              2.1 ผลการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐเกี่ยวกับการประกาศช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ในการติดต่อราชการและระบบอิเล็กทรอนิกส์ในการปฏิบัติงานตามมาตรา 20 สำนักงาน ก.พ.ร. ได้แจ้งให้หน่วยงานของรัฐ ประกาศช่องทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับประชาชนติดต่อราชการตามมาตรา 10 และกำหนดระบบสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามมาตรา 16 โดยจากข้อมูลการสำรวจสถานะของการดำเนินการตามพระราชบัญญัติฯ ในระยะแรก (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2566) พบว่า หน่วยงานของรัฐทั้งหมด 8,294 หน่วยงาน ดำเนินการตามมาตรา 10 แล้ว จำนวน 6,782 หน่วยงาน คิดเป็นร้อยละ 82 ของหน่วยงานของรัฐทั้งหมด และดำเนินการตามมาตรา 16 แล้ว จำนวน 6,631 หน่วยงาน คิดเป็นร้อยละ 80 ของหน่วยงานของรัฐทั้งหมด สรุปตามประเภทหน่วยงานของรัฐได้ ดังนี้
ประเภทหน่วยงาน          จำนวนหน่วยงานทั้งหมด          ประกาศช่องทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับประชาชนติดต่อราชการ
ตามมาตรา 10          กำหนดระบบการปฏิบัติหน้าที่
ของเจ้าหน้าที่โดยวิธีการ
ทางอิเล็กทรอนิกส์
ตามมาตรา 16
                    ดำเนินการแล้ว (หน่วยงาน)          ร้อยละ          ยังไม่ดำเนินการ (หน่วยงาน)          ดำเนินการแล้ว (หน่วยงาน)          ร้อยละ          ยังไม่ดำเนินการ (หน่วยงาน)
1. ส่วนราชการ          160          160          100          -          160          100          -
2. จังหวัด          76          76          100          -          76          100          -
3. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)          7,850          6,351          81          1,499          6,210          79          1,640
4. องค์การมหาชน          61          61          100          -          61          100          -
5. รัฐวิสาหกิจ
(ยกเว้นที่เป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด)          41          41          100          -          41          100          -
6. มหาวิทยาลัยรัฐ          88          77          88          11          67          76          21
7. หน่วยงานของรัฐรูปแบบใหม่          13          11          85          2          11          85          2
8. หน่วยงานอื่นของรัฐ          5          5          100          -          5          100          -
รวม          8,294          6,782          82          1,512          6,631          80          1,663
หมายเหตุ : สำนักงาน ก.พ.ร. แจ้งว่า การประกาศช่องทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับประชาชนติดต่อราชการมาตรา 10 และการกำหนดระบบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามมาตรา 16 หน่วยงานของรัฐจะดำเนินการออกเป็นประกาศ/คำสั่งต่าง ๆ ตามพระราชบัญญัตินี้ โดยสำนักงาน ก.พ.ร. ได้ดำเนินการสำรวจผ่านทางแบบสำรวจออนไลน์ที่จัดทำขึ้นผ่านทาง google form โดยให้หน่วยงานของรัฐแนบประกาศ/คำสั่งที่ได้ดำเนินการ ทั้งนี้ หน่วยงานของรัฐที่ไม่แนบเอกสาร/แนบเอกสารผิด/อยู่ในระหว่างจัดทำ/ไม่ตอบแบบสำรวจ จะถูกจัดเป็นหน่วยงานของรัฐที่ยังไม่จัดทำประกาศ/คำสั่ง
                                        นอกจากนี้ การเผยแพร่ที่อยู่ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (อีเมลกลาง) ซึ่งเป็นอีกช่องทางการติดต่อของประชาชนและหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 10 หน่วยงานของรัฐได้ลงทะเบียนที่อยู่ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์กับ สพร. ครบแล้วทุกหน่วยงาน ขณะที่ อปท. ลงทะเบียนแล้ว จำนวน 5,108 แห่ง จากทั้งหมด                  7,850 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 65 ของจำนวน อปท. ทั้งหมด (ข้อมูล ณ วันที่ 8 พฤศจิกายน 2566)
                              2.2 การขอยกเว้นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติฯ หน่วยงานของรัฐสามารถขอยกเว้นการดำเนินการได้ จำนวน 3 มาตรา ได้แก่ มาตรา 4 มาตรา 7 และมาตรา 14 (นายกรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นชอบกระบวนการพิจารณาคำขอยกเว้นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติฯ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 โดยมอบหมายให้สำนักงาน ก.พ.ร. และ สคก. ร่วมกลั่นกรองและพิจารณา) โดยจะต้องออกกฎกระทรวงเพื่อยกเว้นการดำเนินการ ทั้งนี้ การขอยกเว้นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติฯ มาตรา 7 มีหลักเกณฑ์การพิจารณาการขอยกเว้น ดังนี้                  (1) ไม่สามารถยื่นคำขอล่วงหน้าได้ (2) เมื่อยื่นคำขอแล้วผู้ยื่นคำขอต้องพิสูจน์/ยืนยันตัวตน/ดำเนินการเฉพาะตัวใด ๆ ต่อหน้าเจ้าหน้าที่  ณ วันที่ยื่นคำขอไม่สามารถพิสูจน์/ยืนยันตัวตน/ดำเนินการเฉพาะตัวใด ๆ ได้ในภายหลัง                          (3) ผู้ยื่นคำขอสามารถรอรับเอกสาร/ใบอนุญาตได้เลย (4) มีระยะเวลาการให้บริการตามคู่มือประชาชนตั้งแต่การยื่นคำขอจนถึงการออกเอกสาร/ใบอนุญาต สามารถดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 1 วัน ทั้งนี้ มีหน่วยงานเสนอขอยกเว้นการดำเนินการตามมาตราดังกล่าว จำนวน 8 หน่วยงาน รวม 355 งานบริการ ดังนี้
หน่วยงานของรัฐ          จำนวนงานบริการ
ที่ขอยกเว้นฯ          ผลการพิจารณา
                    เห็นควร
ยกเว้น          ไม่เห็นควร/
ไม่เข้าข่ายยกเว้น
1. กรมการกงสุล          2          2          -
2. กรมการปกครอง          71          15          56
3. สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม
(สำนักงานอัยการทหาร)          1          1          -
4. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช).          191          2          189
5 กรมสรรพากร          18          -          18
6. กรมที่ดิน          66          27          39
7. ธนาคารแห่งประเทศไทย          5          4          1
8. สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม          1          -          1
รวม          355          51          304
                              2.3 ผลการดำเนินการของสำนักงาน ก.พ.ร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามที่กฎหมายกำหนด สำนักงาน ก.พ.ร. สคก. สพธอ. และ สพร. ได้ร่วมดำเนินการเพื่อส่งเสริม สนับสนุนให้หน่วยงานของรัฐมีความรู้ความเข้าใจและทราบถึงเจตนารมณ์และการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติฯ โดยมีการดำเนินการสำคัญ ดังนี้
                                        (1) สำนักงาน ก.พ.ร. ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2565 ที่มอบหมายให้เป็นหน่วยงานตามมาตรา 22 ในการแจ้งให้หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยทราบถึงหน้าที่ที่หน่วยงานของรัฐจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้และระยะเวลาที่จะต้องดำเนินการ โดยให้แจ้งเตือนทุก 15 วัน ซึ่งสำนักงาน ก.พ.ร. ได้มีหนังสือแจ้งหน่วยงานแล้ว โดยมีสาระสำคัญ เช่น การเชิญเข้าร่วมการประชุมชี้แจง/ให้คำปรึกษาการแจ้งแนวทางต่าง ๆ แก่หน่วยงานในการดำเนินการตามพระราชบัญญัติฯ เช่น การลงทะเบียนไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ ตัวอย่างการจัดทำประกาศกำหนดช่องทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับประชาชนติดต่อราชการตามมาตรา 10 และคำสั่งระบบสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามมาตรา 16 ตลอดจนการติดตาม เร่งรัดให้หน่วยงานดำเนินการตามมาตรา 10 และมาตรา 16 ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
                                        (2) การส่งเสริม สร้างความรู้ และความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินการตามพระราชบัญญัติฯ เช่น การจัดคลินิกให้คำปรึกษาการดำเนินการตามพระราชบัญญัติฯ และการสร้างการรับรู้                      แก่หน่วยงานของรัฐผ่านกิจกรรมเวทีสัญจร 4 ภาค (ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และกรุงเทพมหานคร) เกี่ยวกับการดำเนินการตามพระราชบัญญัติฯ และพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 รวมถึงการประชุมชี้แจงหน่วยงานเพื่อสื่อสารและสร้างการรับรู้เกี่ยวกับวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เกี่ยวกับทิศทางและนโยบายการขับเคลื่อนสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลภายใต้หลักการและเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติฯ ตลอดจนวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์และมาตรฐานที่ส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือในการปฏิบัติงานด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ของเจ้าหน้าที่และการใช้บริการของประชาชน
                    3. การดำเนินการในระยะต่อไป
                              3.1 สำนักงาน ก.พ.ร. จะติดตาม เร่งรัดให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการประกาศช่องทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับประชาชนติดต่อราชการตามมาตรา 10 และกำหนดระบบสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามมาตรา 16 ให้ครบถ้วนโดยเร็ว
                              3.2 สำนักงาน ก.พ.ร. และ สพร. ส่งเสริม สร้างการรับรู้ให้หน่วยงานของรัฐรายงานผลการดำเนินการตามมาตรา 20 ผ่านระบบศูนย์รวมข้อมูลเพื่อติดต่อราชการ (www.info.go.th) ที่เป็นช่องทางให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลของภาครัฐได้อย่างเบ็ดเสร็จครบวงจร และเป็นช่องทางสำหรับหน่วยงานของรัฐในการรายงานผลการดำเนินงานตามมาตรา 20 ให้คณะรัฐมนตรีทราบทุก 60 วัน

5. เรื่อง รายงานสรุปผลและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ ประจำปี 2565
                    คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอรายงานสรุปผลและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ ประจำปี 2565 ของอว.
                    สาระสำคัญ
                    คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ (คณะกรรมการฯ) ซึ่งมีผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานกรรมการฯ ได้มอบหมายให้สถาบันพัฒนาการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ (สพสว.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในฐานะเลขานุการของคณะกรรมการฯ จัดทำรายงานสรุปผลและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ ประจำปี 2565 (รายงานสรุปผลและข้อเสนอแนะฯ) เพื่อรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลสถานที่ดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ รวมทั้งการขอรับใบอนุญาต การแจ้งสถานที่ดำเนินการ และแจ้งการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อวิเคราะห์ สรุปผลและจัดทำข้อเสนอแนะสำหรับพัฒนาการดำเนินงานในระยะต่อไป [เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2558 (พระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ฯ) มาตรา 8 (10) ที่บัญญัติให้คณะกรรมการฯ จัดทำรายงานสรุปผลและข้อเสนอแนะฯ เสนอต่อคณะรัฐมนตรี] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
                    1. การดำเนินการตามพระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ฯ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีการดำเนินการ เช่น (1) จัดทำกฎหมายลำดับรองประกอบการบังคับใช้พระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานทาง          วิทยาศาสตร์ฯ จำนวน 31 ฉบับ (2) รับคำขอใบอนุญาตใช้-ผลิตสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ มีผู้ขอรับใบอนุญาตใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ จำนวน 1,282 คน และผู้ขอรับใบอนุญาตผลิตสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ จำนวน                   3 คน ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มมีการบังคับใช้พระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ฯ จนถึงสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีผู้ขอรับใบอนุญาตใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ รวมทั้งสิ้น 10,779 คน โดยมีผู้ผ่านการอบรมผู้ขอรับใบอนุญาตใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ จำนวน 10,122 คน และผู้ขอรับใบอนุญาตผลิตสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ จำนวน 170 คน (3) จัดทำระบบการให้บริการแบบออนไลน์ โดยขับเคลื่อนการพัฒนางานบริการและการสร้างนวัตกรรมในการปรับปรุงกระบวนงานหรือการให้บริการ (e-Service) งานขอรับใบอนุญาตใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ รวมทั้งเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ (4) จัดทำแผนกลยุทธ์ว่าด้วยการพัฒนางานสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2565-2569 และแผนปฏิบัติการประจำปีงบประมาณ 2563-2569 เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนางานเลี้ยงและใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ของประเทศ และเป็นแนวทางให้หน่วยงาน องค์กรและผู้ที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้เป็นหลักในการจัดทำแผนกลยุทธ์ในการดำเนินการเพื่อพัฒนางานสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ของแต่ละองค์กรต่อไป (5) ประกาศนโยบายการกำกับดูแลและส่งเสริมการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนางานด้านการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ให้เป็นไปอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น
                    2. สรุปผลการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
เรื่อง          ผลการดำเนินการ
(1) สถานที่ดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์          มีหน่วยงานมาจดแจ้งสถานที่ดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์เพิ่มเติม 1 แห่ง และมีการแจ้งการสร้างหรือใช้สถานที่ดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์รวม 6 แห่ง ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มมีการบังคับใช้พระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ฯ จนถึงปัจจุบัน มีสถานที่ดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ รวมทั้งสิ้น 303 แห่ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการวิจัยมากที่สุด รองลงมา เช่น การสอน การทดสอบ การผลิตสัตว์ประเภทสัตว์เลี้ยง
(2) สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์          มีการใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ 162.80 ล้านตัว แบ่งเป็น สัตว์ทดลอง 64,335 ตัว สัตว์เลี้ยง 1.40 ล้านตัวและสัตว์จากธรรมชาติ 161.33 ล้านตัว โดยสัตว์ที่มีการใช้ในงานทางวิทยาศาสตร์มากที่สุด ได้แก่ แมลงวันและปลา (ทั้งประเภทสัตว์เลี้ยงและจากธรรมชาติ) และสัตว์ทดลองที่นิยมใช้มากที่สุด คือ หนูเมาส์ รองลงมา เช่น หนูแรท หนูตะเภา และกระต่าย
(3) ผู้ใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์          มีผู้ใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ทั้งภาครัฐและเอกชนที่ยื่นขอรับใบอนุญาต 1,282 คน ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2558-2565 มีผู้ขอรับใบอนุญาตใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์รวม 10,779 คน
(4) ผู้ผลิตสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์          มีผู้ผลิตสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ทั้งภาครัฐและเอกชนที่ยื่นขอรับใบอนุญาต 3 คน ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2558-2565 มีผู้ขออนุญาตผลิตสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์รวม 170 คน
(5) ลักษณะงานทางวิทยาศาสตร์ที่ใช้สัตว์          มีโครงการที่ใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ 1,552 โครงการ โดยเป็นโครงการเพื่อการวิจัยมากที่สุด 1,249 โครงการ (ร้อยละ 80)
(6) การดำเนินการนำเข้า ส่งออก นำผ่านราชอาณาจักร ซึ่งสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์          - มีการแจ้งนำเข้าสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ 12 ครั้ง จากสาธารณรัฐฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา ไต้หวัน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมทั้งสิ้น 553 ตัว ได้แก่ หนูเมาส์ หนูแรท หนูแฮมเตอร์ และเห็บ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการขายและการใช้สัตว์
- มีการแจ้งส่งออกสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ 125 ครั้ง จากสหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย และสาธารณรัฐสิงคโปร์ รวมทั้งสิ้น 86,416 ตัว ได้แก่ หนูเมาส์ หนูแรท และยุงก้นปล่องที่ติดเชื้อ         พลาสโมเดียมและไม่ติดเชื้อ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการขาย การตรวจเชื้อ และงานวิจัย
(7) การรายงานการขายสัตว์ทดลองประจำปี          มีการขายสัตว์ทดลองจากแหล่งผลิตสัตว์ทดลองเพื่อใช้ในงานทางวิทยาศาสตร์ รวมทั้งสิ้น 5.71 ล้านตัว ได้แก่ หนูเมาส์ หนูแรท กระต่าย หนูตะเภา ไข่ปลอดเชื้อเฉพาะ SPF และไข่ไก่ปลอดเชื้อ โดยสัตว์ที่มีการขายมากที่สุด คือ หนูเมาส์
(8) การดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์          มีการแจ้งโครงการเกี่ยวกับดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ 15 โครงการ โดยเป็นการสืบสายพันธุ์ 2 โครงการ การสืบสายพันธุ์ เพาะขยายพันธุ์ 7 โครงการ และการเพาะขยายพันธุ์ 6 โครงการ ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2559-2565 มีการแจ้งโครงการเกี่ยวกับการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ รวมทั้งสิ้น 72 โครงการ
                    3. การพัฒนางานการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ในระยะต่อไป สรุปได้ ดังนี้
                              3.1 พัฒนาคุณภาพสัตว์ทดลองทั้งชนิดและปริมาณให้หลากหลายตามความต้องการของผู้ใช้สัตว์ เช่น (1) สนับสนุนแหล่งผลิตภัณฑ์สัตว์ทดลองและบริการ ซึ่งปัจจุบันมีเพียง 2 แห่ง เป็นภาครัฐ 1 แห่ง คือ ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล และภาคเอกชน 1 แห่ง คือ บริษัท เอ็มเคลียไบโอรีซอร์ส จำกัด โดยภาครัฐควรมีนโยบายที่ชัดเจนในการสนับสนุนศูนย์ทดลองแห่งชาติในฐานะหน่วยงานของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ผลิตสัตว์ให้ได้คุณภาพและหลากหลายตามความต้องการ (2) ยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีนำเข้า-ส่งออกสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์
                              3.2 พัฒนาสถานที่ดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ให้ได้มาตรฐานตามลักษณะงานที่ใช้ เช่น ทุกหน่วยงานต้องมีแผนพัฒนาสถานที่ดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ให้ชัดเจน ต้องทบทวนความสำคัญและความจำเป็นของแต่ละสถานที่ดำเนินการและมีการประเมินความเหมาะสมเพื่อประกอบการสนับสนุนงบประมาณ
                              3.3 ส่งเสริมและพัฒนาวัสดุและอุปกรณ์เพื่อการเลี้ยงและใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ เช่น สนับสนุนการวิจัยและการพัฒนาวัสดุและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงและใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์อย่างจริงจัง เพื่อนำไปสู่การผลิตวัสดุและอุปกรณ์ที่มีคุณภาพมากขึ้นในประเทศ
                              3.4 พัฒนาบุคลากร เช่น (1) จัดให้มีหลักสูตรวิชาการเลี้ยงสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ในระดับอาชีวศึกษาเพื่อสร้างพนักงานเลี้ยงสัตว์ที่มีคุณภาพ (2) ให้ความรู้แก่บุคลากรผู้ใช้สัตว์ รวมถึงนักเรียนและนักศึกษาเพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของการใช้สัตว์
                              3.5 พัฒนาคณะกรรมการกำกับดูแลการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ของสถานที่ดำเนินการ (คกส.) ให้มีความเข้มแข็งในการกำกับดูแล เช่น จัดอบรมและสัมมนาเพื่อส่งเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของ คกส.
                              3.6 พัฒนาหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่กำกับดูแลตามพระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ฯ [สพสว. (วช.)] โดย วช. ต้องจัดสรรอัตรากำลังและสรรหาบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ ให้เพียงพอต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามพันธกิจ

6. เรื่อง ขออนุมัติรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000  ล้านบาทขึ้นไป กระทรวงยุติธรรม
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการให้กระทรวงยุติธรรมนำรายการที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป จำนวน 2 โครงการ วงเงินรวมทั้งสิ้น  3,390,406,000 บาท เพื่อเสนอเป็นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 678,081,200 บาท ส่วนที่เหลือผูกพันปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 -                    พ.ศ. 2570 จำนวน 2,712,324,800 บาท  ตามนัยมาตรา 26 ของพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 ดังนี้
                    1. โครงการก่อสร้างเรือนจำจังหวัดอุตรดิตถ์ พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ ตำบลทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ วงเงินรวมทั้งสิ้น 1,767,249,500 บาท เสนอเป็นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 353,449,900 บาท ส่วนที่เหลือผูกพันปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 - พ.ศ. 2570 จำนวน 1,413,799,600 บาท
                    2. โครงการก่อสร้างเรือนจำจังหวัดยโสธร พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ ตำบลสำราญ อำภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร วงเงินรวมทั้งสิ้น 1,623,156,500 บาท เสนอเป็นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 324,631,300 บาท  ส่วนที่เหลือผูกพันปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 - พ.ศ. 2570 จำนวน 1,298,525,200 บาท
ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ ทั้งนี้ ขอให้กระทรวงยุติธรรมจัดทำแผนการดำเนินการและยืนยันความพร้อมของโครงการก่อสร้างเรือนจำ จำนวน 2 โครงการ ดังกล่าว โดยมีรายละเอียดแบบรูปรายการ ประมาณการค่าก่อสร้าง สถานที่/พื้นที่พร้อมที่จะดำเนินการ รวมทั้งพิจารณาจัดลำดับความสำคัญของโครงการให้เหมาะสมตามความจำเป็นเร่งด่วน ศักยภาพในการดำเนินการ สถานะการเงินการคลังของประเทศ และคำนึงถึงภาระผูกพันงบประมาณในแต่ละปีงบประมาณให้เป็นไปตามสัดส่วนของรายจ่ายลงทุนที่กำหนด ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งสำนักงบประมาณจะพิจารณาความเหมาะสมและจำเป็น ตามวงเงินงบประมาณประจำปีต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
                    ทั้งนี้  การขออนุมัติรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ วงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ที่ ยธ. เสนอในครั้งนี้ เป็นไปเพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างเรือนจำ จำนวน 2 โครงการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 3,390.41                 ล้านบาท เพื่อทดแทนเรือนจำเดิมที่มีสภาพชำรุดทรุดโทรมและถูกใช้งานมาเป็นเวลานาน พื้นที่ภายในมีความแออัดและคับแคบอันส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่และการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ที่ตั้งของเรือนจำเดิมซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองได้ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยของประชาชนและชุมชน รวมทั้งก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมแก่ชุมชนโดยรอบ เช่น ปัญหากลิ่นรบกวนจากการบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น โดยการก่อสร้างเรือนจำแห่งใหม่จะทำให้เรือนจำมีโครงสร้างและส่วนประกอบอาคารที่ได้มาตรฐาน สามารถควบคุมและป้องกันการหลบหนีได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีพื้นที่ที่เอื้อต่อการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังสำหรับการฟื้นฟูและพัฒนาพฤตินิสัยอย่างเป็นสัดส่วนตามหลักสากล รวมทั้งมีระบบกำจัดขยะมูลฝอยและน้ำเสียซึ่งป้องกันไม่ให้เกิดปัญหามลภาวะและสิ่งแวดล้อมต่อชุมชน  ตลอดจนสามารถอำนวยความสะดวกและให้บริการประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ

7.  เรื่อง สรุปภาพรวมดัชนีเศรษฐกิจการค้าประจำเดือนธันวาคม 2566
                    คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปภาพรวมดัชนีเศรษฐกิจการค้าประจำเดือนธันวาคม 2566 ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ ดังนี้
                    สาระสำคัญ
                    1. สรุปภาพรวมดัชนีเศรษฐกิจการค้าเดือนธันวาคม 2566 ดังนี้
                        ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนธันวาคม 2566 เท่ากับ 106.96 เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2565 ซึ่งเท่ากับ 107.86 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงร้อยละ 0.83 (YoY) ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ปัจจัยสำคัญมาจากการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง และค่ากระแสไฟฟ้า ตามนโยบายลดภาระค่าครองชีพด้านพลังงานของรัฐบาล รวมทั้งเนื้อสัตว์และเครื่องประกอบอาหารที่ราคาลดลงต่อเนื่อง นอกจากนี้ ผักสดราคาลดลงค่อนข้างมาก สำหรับสินค้าและบริการอื่น ๆ ราคาเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก สูงขึ้นร้อยละ 0.58 (YoY)
                    อัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ข้อมูลล่าสุดเดือนพฤศจิกายน 2566 พบว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยลดลงร้อยละ 0.44 ซึ่งอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำอันดับ 5 จาก 135 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และยังคงต่ำที่สุดในอาเซียนจาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข (สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย) สอดคล้องกับในหลายประเทศทั่วโลกที่อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัว
                    อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนนี้ที่ลดลงร้อยละ 0.83 (YoY) มีการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้
                    หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 1.00  ตามการลดลงของราคาสินค้าในหมวดเคหสถาน ได้แก่ ค่ากระแสไฟฟ้า และสิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด (ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน น้ำยาปรับผ้านุ่ม) หมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร จากการลดลงของราคาน้ำมันดีเซล แก๊สโซฮอล์ 91 และค่าโดยสารรถไฟฟ้า นอกจากนี้ เครื่องใช้ไฟฟ้า (เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องซักผ้า ตู้เย็น)  และค่าใช้จ่ายส่วนบุคคลบางรายการราคาปรับลดลง (ผ้าอนามัย สบู่ถูตัว ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว)  สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้นเล็กน้อย อาทิ แป้งทาผิวกาย น้ำยาระงับกลิ่นกาย อาหารสัตว์เลี้ยง เครื่องถวายพระ บุหรี่ สุรา และเบียร์ ส่วนหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ดัชนีราคาโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง
                    หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลงร้อยละ 0.63 ตามการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ด ไก่และสัตว์น้ำ (เนื้อสุกร ไก่สด เนื้อโค ปลาทู กุ้งขาว ปลากะพง) ผักสด (ต้นหอม มะเขือ ผักบุ้ง) และเครื่องประกอบอาหาร (น้ำมันพืช เครื่องปรุงรส ซอสหอยนางรม) สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้น อาทิ ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ขนมอบ นมถั่วเหลือง นมเปรี้ยว ผลไม้สด (ทุเรียน ส้มเขียวหวาน  กล้วยน้ำว้า) รวมทั้งกาแฟผงสำเร็จรูป กาแฟ/ชา (ร้อน/เย็น) กับข้าวสำเร็จรูป ก๋วยเตี๋ยว และอาหารกลางวัน (ข้าวราดแกง) ราคาปรับสูงขึ้นเล็กน้อย
                    ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนธันวาคม 2566 เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2566 ลดลงร้อยละ 0.46 (MoM) โดยหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลงร้อยละ 0.51 ตามการลดลงของสินค้าในกลุ่มข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง (ข้าวสารเหนียว แป้งข้าวเจ้า) ไข่และผลิตภัณฑ์นม (ไข่ไก่ นมเปรี้ยว นมถั่วเหลือง) ผักสดและผลไม้ (ผักคะน้า ต้นหอม ผักชี ส้มเขียวหวาน มะละกอสุก กล้วยน้ำว้า) สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้น อาทิ เนื้อสุกร ไก่สด ซอสพริก ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร น้ำดื่ม กาแฟ/ชา  (ร้อน/เย็น) กับข้าวสำเร็จรูป อาหารว่าง และอาหารกลางวัน (ข้าวราดแกง) และหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 0.44 จากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเกือบทุกประเภททั้งกลุ่มน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์ และดีเซล (ยกเว้นก๊าซยานพาหนะ (LPG) ราคาโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง) นอกจากนี้ ค่าธรรมเนียมผ่านทางพิเศษ เสื้อเชิ้ต เสื้อยืดบุรุษ และค่าของใช้ส่วนบุคคล (กระดาษชำระ ยาสีฟัน ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว) ราคาปรับลดลง สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้น อาทิ น้ำยาปรับผ้านุ่ม ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้น ผงซักฟอก แชมพู ค่าทัศนาจรทั้งในประเทศและต่างประเทศ และสุรา
                    สำหรับอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2566 สูงขึ้นเล็กน้อยเพียงร้อยละ 1.23 (AoA) และเป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 1.0 - 1.7  (ค่ากลางร้อยละ 1.35) โดยมีสาเหตุหลักจากการสูงขึ้นของสินค้าในกลุ่มอาหารสด ทั้งข้าวสาร ไข่ไก่ ผักและผลไม้ จากต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ระดับสูงเมื่อเทียบกับปี 2565 และพืชผักบางชนิดเผชิญกับสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ประกอบกับอุปสงค์ในประเทศปรับตัวดีขึ้นโดยได้รับแรงสนับสนุนจากการท่องเที่ยวและการส่งออกที่ขยายตัวดี มีส่วนทำให้ราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดปรับสูงขึ้น นอกจากนี้ อาหารสำเร็จรูปมีการปรับราคาสูงขึ้นเล็กน้อยตามราคาวัตถุดิบ รวมถึงค่ากระแสไฟฟ้าที่ราคายังอยู่ระดับสูงกว่าปี 2565 อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าสำคัญหลายรายการที่ราคาลดลง อาทิ เนื้อสุกร และน้ำมันพืช ตามอุปทานที่เพิ่มมากขึ้น และน้ำมันเชื้อเพลิง จากมาตรการของภาครัฐและสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก
                    2. แนวโน้มเงินเฟ้อ
                    แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2567 มีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมกราคมมีโอกาสติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ ได้แก่
                    1) มาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซล และตรึงค่ากระแสไฟฟ้าสำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 300 หน่วย
                    2) ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินในประเทศปรับลดลงตาม
                    3) ผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ มีแนวโน้มลดลง
                    4) มาตรการส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการ เพื่อรองรับการใช้จ่ายของประชาชนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามมาตรการ Easy E -Receipt อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่อาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น เช่น การท่องเที่ยวที่ส่งผลให้สินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งต้องติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก อาทิ การโจมตีเรือขนส่งสินค้าในทะเลแดง ที่ทำให้การขนส่งทางทะเลปรับขึ้นค่าธรรมเนียมและค่าระวางเรือ ซึ่งคาดว่าจะเป็นผลกระทบชั่วคราวและเหตุการณ์ไม่น่าจะยืดเยื้อ เป็นต้น
                    ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2567 อยู่ระหว่างร้อยละ (-0.3) - 1.7 (ค่ากลางร้อยละ 0.7) ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน
                    ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนธันวาคม 2566 ปรับลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 54.8 จาก 55.0 ในเดือนก่อนหน้า ยังคงอยู่ในช่วงเชื่อมั่นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 13 (นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565) สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันมีค่าเท่ากับเดือนก่อน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ปรับลดลง สาเหตุที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมปรับลดลงคาดว่ามาจาก 1) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามคาด 2) ความกังวลต่อปัญหารายได้ที่อาจจะยังไม่เพียงพอกับค่าครองชีพและภาระหนี้สิน และ 3) ราคาสินค้าเกษตรสำคัญบางรายการปรับลดลง อย่างไรก็ตาม ช่วงเทศกาลปีใหม่จะส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับมาตรการของภาครัฐด้านการลดค่าครองชีพ การเร่งแก้ไขปัญหาหนี้สิน รวมถึงการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเป็นปัจจัยสนับสนุนส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังคงอยู่ในช่วงเชื่อมั่น

8. เรื่อง  รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมประเทศ (วันที่ 22 ? 29 มกราคม 2567)
คณะรัฐมนตรีรับทราบสถานการณ์น้ำปัจจุบันและการคาดการณ์ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำฤดูแล้ง ปี 2566/67 อย่างใกล้ชิดเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
กับประชาชนให้เกิดน้อยที่สุดตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เสนอ
สาระสำคัญและข้อเท็จจริง
เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์การขาดแคลนน้ำในหลายพื้นที่ เริ่มมีปัญหาการขาดแคลนน้ำทำให้มีแนวโน้มที่จะเกิดปัญหาการนำน้ำไปใช้ในกิจกรรมการอุปโภคบริโภคและการเกษตร สทนช.  จึงเห็นควรนำเรื่องดังกล่าวรายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการรับมือต่อไป
1.          สภาพอากาศและการคาดการณ์ฝน
          ปัจจุบันพบว่าปรากฏการณ์เอลนีโญกำลังแรง จะอ่อนลงเป็นเอลนีโญกำลังปานกลาง ในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายนด้วยความน่าจะเป็นร้อยละ 73 หลังจากนั้นมีโอกาสที่จะเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะลานีญาส่วนสภาพอากาศมีความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงยังคงปกคลุมประเทศไทยและทะเลจีนใต้  ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นถึงหนาวในตอนเช้ากับมีลมแรง อีกทั้งในช่วงวันที่ 25 ? 28 ม.ค. 67 คลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจากประเทศเมียนมาจะเคลื่อนผ่านภาคเหนือ และภาคกลางตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนบางแห่ง ในขณะที่มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังค่อนข้างแรง ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักบางแห่ง ในช่วงวันที่ 28 ? 31 ม.ค. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้จะมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิสูงขึ้น 1 - 3 องศาเซลเซียส แต่ยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกในตอนเช้า
2. สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ และการคาดการณ์
                    (1) สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำภาพรวมประเทศ
                               สถานการณ์แหล่งน้ำทั่วประเทศ ปัจจุบัน (ข้อมูลวันที่ 28 มกราคม 2567)
มีปริมาณน้ำ 57,950 ล้านลูกบาศก์เมตร (70 %) น้อยกว่าปี 2566 จำนวน 4,224 ล้านลูกบาศก์เมตร
มีปริมาณน้ำใช้การ 33,733 ล้านลูกบาศก์เมตร (58 %) มีอ่างเก็บน้ำที่ต้องเฝ้าระวังน้ำน้อย (ปริมาณน้ำ
ต่ำกว่าเกณฑ์เก็บกักต่ำสุด (Lower Rule Curve)) 4 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำสิริกิติ์ อ่างเก็บน้ำจุฬาภรณ์
อ่างเก็บน้ำกระเสียว และอ่างเก็บน้ำคลองสียัด
                    (2) การคาดการณ์ปริมาณน้ำใช้การอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง
                               ต้นฤดูฝน ปี 2567 (วันที่ 1 พ.ค. 67) จะมีปริมาณน้ำ 19,661 ล้าน ลบ.ม. (47%)                   เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2566 มีปริมาณน้ำใช้การ 17,787 ล้าน ลบ.ม. มากกว่า 1,874 ล้าน ลบ.ม.
                               ต้นฤดูแล้ง ปี 2567/68 (วันที่ 1 พ.ย. 67) จะมีปริมาณน้ำ 32,835 ล้าน ลบ.ม. (69%)               เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2566 มีปริมาณน้ำใช้การ 32,849 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่า 14 ล้าน ลบ.ม.
                    (3) การคาดการณ์ปริมาณน้ำที่อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยปี 2567 (ปริมาณน้ำต่ำกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำต่ำสุด Lower Rule Curve)  ภาคเหนือ 2 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำกิ่วลมและ
อ่างเก็บน้ำทับเสลา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยหลวงและอ่างเก็บน้ำสิรินธร
ภาคตะวันตก 3 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำศรีนครินทร์ อ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน และอ่างเก็บน้ำปราณบุรี
ภาคตะวันออก 2 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำขุนด่านปราการชลและอ่างเก็บน้ำคลองสียัด ภาคใต้ 1 แห่ง ได้แก่
อ่างเก็บน้ำรัชชประภา
          3. สถานการณ์น้ำในลำน้ำ
          3.1 สถานการณ์น้ำในแม่น้ำทั่วประเทศ ส่วนใหญ่มีปริมาณน้ำน้อย โดยแม่น้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยวิกฤต จำนวน 16 ลำน้ำ ได้แก่ แม่น้ำโขงเหนือ แม่น้ำปาย แม่น้ำน่าน แม่น้ำยม แม่น้ำวัง
แม่น้ำโขงอีสาน แม่น้ำมูล แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำจันทบุรี แม่น้ำเพชรบุรี คลองบางสะพาน คลองทับสะแก คลองอู่ตะเภา คลองละงู และแม่น้ำที่มีปริมาณน้ำมากวิกฤติ จำนวน 1 ลำน้ำ ได้แก่ แม่น้ำโก-ลก
          3.2 สถานการณ์แม่น้ำโขง อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยวิกฤต และมีแนวโน้มทรงตัว
          3.3 การคาดการณ์สถานการณ์น้ำภาคใต้
                               (1) คลองท่าดี ระดับน้ำที่สถานี X.203 อ.เมืองนครศรีธรรมราช จ.นครศรีธรรมราช ปัจจุบันระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง
                               (2) แม่น้ำปัตตานี ระดับน้ำที่สถานี X.40A อ.เมืองยะลา จ.ยะลา ปัจจุบันระดับน้ำ
มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และระดับน้ำที่สถานี X.275 อ.เมืองปัตตานี จ.ปัตตานี ปัจจุบันระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง
                               (4) คลองตันหยงมัส ระดับน้ำที่สถานี X.73 อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ปัจจุบันระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง
                                (5) แม่น้ำสายบุรี ระดับน้ำที่สถานี X.184 อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส ปัจจุบันระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง
                               (6) แม่น้ำโก-ลก ระดับน้ำที่สถานี X.119A อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ปัจจุบันระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
          4. คุณภาพน้ำ
    คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติ ยกเว้นแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสถานีสะพาน                พระพุทธยอดฟ้าค่าความเค็มสูงเกินกว่ามาตรฐานอาจส่งผลต่อการผลิตน้ำประปา
5. พื้นที่ประสบอุทกภัย
    เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2567 มีปริมาณฝนตกหนักในบริเวณพื้นที่ภาคใต้ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่บริเวณ ภาคใต้ จ.ยะลา (อ.เบตง) และจ.นราธิวาส (อ.แว้ง และอ.สุคิริน) และน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขัง จ.พัทลุง (กงหรา ตะโหมด ศรีนครินทร์) และจ.นราธิวาส (อ.ระแงะ แว้ง สุคิริน) ปัจจุบันสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว
6. พื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำฤดูแล้ง ปี 2566/67
   หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมประเมินพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำฤดูแล้ง
ปี 2566/67 พบว่า ด้านน้ำอุปโภค-บริโภค ในเขตความรับผิดชอบของการประปาส่วนภูมิภาค มีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ 18 สาขา ครอบคลุม 14 จังหวัด ในเขตความรับผิดชอบของการประปาท้องถิ่น มีพื้นที่เสี่ยง
ขาดแคลนน้ำ ครอบคลุม 33 จังหวัด 167 อำเภอ 415 ตำบล ด้านการเกษตร นอกเขตชลประทาน
ในความรับผิดชอบของกรมทรัพยากรน้ำ มีพื้นที่เสี่ยงขาดแคนน้ำสำหรับข้าวนาปรัง ครอบคลุม 13 จังหวัด 35 อำเภอ 93 ตำบล และพื้นที่เสี่ยงขาดแคนน้ำสำหรับพืชต่อเนื่อง ครอบคลุม 22 จังหวัด 68 อำเภอ 168 ตำบล
และด้านคุณภาพน้ำ เฝ้าระวังคุณภาพน้ำของแม่น้ำสายหลักเพื่อการผลิตน้ำประปา ในพื้นที่รับผิดชอบ
ของการประปานครหลวง ครอบคลุม 3 จังหวัด และในเขตการประปาส่วนภูมิภาค ครอบคลุม 7 สาขา 6 จังหวัด
7. การลงพื้นที่ตรวจราชการ
    เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ตรวจราชการติดตามสถานการณ์พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันตก ณ ชุมชนโต๊ะบาหลิว ตำบลศาลาด่าน อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ โดยพบว่าชุมชนโต๊ะบาหลิวประสบปัญหาคุณภาพน้ำบาดาลเพื่อการอุปโภคบริโภคที่ใช้มาตั้งแต่เดิมนั้นเป็นน้ำกร่อย ส่วนระบบประปาที่นำมาใช้ มีไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่ จึงสั่งการให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พิจารณาเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วน สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้ร่วมหารือกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย จะนำเทคโนโลยีการผลิตน้ำประปาจากน้ำฝนเข้ามาติดตั้งให้ชุมชน นอกจากจะช่วยสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้ชาวบ้านกว่าร้อยครัวเรือน รวมถึงความมั่นคงด้านน้ำให้กับภาคการท่องเที่ยวในหมู่เกาะลันตาแล้ว ยังเป็นการนำเทคโนโลยีสีเขียวเพื่อลดการปลดปล่อย       ก๊าซเรือนกระจกได้อีกด้วย และจะใช้เป็นพื้นที่นำร่องต้นแบบให้กับชุมชนที่ประสบปัญหาด้านน้ำในลักษณะเดียวกัน

9. เรื่อง รายงานผลการดำเนินการช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
                    คณะรัฐมนตรีรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินการตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 และความก้าวหน้าการเตรียมการช่วยเหลือ ฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตามที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เสนอ ดังนี้
                    1. การให้ความช่วยเหลือตามความจำเป็นเร่งด่วน กรณีผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ บ้านเรือนเสียหาย และปัญหาด้านการเกษตร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ให้ความช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 อย่างรวดเร็วและต่อเนื่องเป็นรูปธรรม
                    2. ในส่วนของความเดือดร้อนอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนในพื้นที่ เช่น ความเสียหายของโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งสาธารณะประโยชน์ เป็นต้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้สำรวจความเสียหาย และเสนอเรื่องตามขั้นตอนที่กำหนดขออนุมัติต่อกลไกระดับจังหวัดอนุมัติเป็นที่เรียบร้อย เตรียมนำเสนอขอรับการสนับสนุนงบกลางรายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตามระเบียบเสนอไปยังหน่วยงานต้นสังกัดแล้ว รวม 16 หน่วยงาน จำนวน 489 โครงการ รวมวงเงินงบประมาณ 1,499,921,442 บาท พร้อมนำส่ง ศอ.บต. เพื่ออำนวยการสนับสนุนการดำเนินการให้รวดเร็วและเป็นรูปธรรมต่อไป
                    3. เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจที่นายกรัฐมนตรีขอให้ ศอ.บต. เป็นศูนย์กลางในการประสานงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง ให้เกิดความชัดเจนในเหตุผลความจำเป็น และประสิทธิภาพในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณ เห็นสมควรกำหนดให้มีหน่วยงานกลางเป็นเจ้าภาพรวบรวมคำขอรับการสนับสนุนงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 นำเสนอคณะรัฐมนตรี โดยเร็วต่อไป
                    ที่มา
                    เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2566 เกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา) ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่เป็นวงกว้างและในคราวการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2567 นายกรัฐมนตรีขอให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ เป็นศูนย์กลางในการประสานงานร่วมกับกระทรวงกลาโหม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม (กรมราชทัณฑ์) กระทรวงศึกษาธิการ (สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยกันระดมกำลังคน อุปกรณ์ และเครื่องมือในการให้ความช่วยเหลือและซ่อมแซมบ้านเรือนของประชาชนให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ เพื่อให้สามารถกลับมาดำเนินชีวิตตามปกติได้โดยเร็วที่สุด
                    เพื่อให้การบริหารจัดการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีการบูรณาการในการให้ความช่วยเหลือในทุกมิติ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มีคำสั่งที่ 5/2567 ลงวันที่ 5 มกราคม 2567 จัดตั้ง ?ศูนย์บูรณาการรวมใจช่วยเหลือฟื้นฟูเหตุอุทกภัยชายแดนภาคใต้? โดยมี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานที่ปรึกษา เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา เป็นคณะกรรมการ มีอำนาจและหน้าที่บูรณาการทุกหน่วยงานหนุนเสริมการทำงานของศูนย์เฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยจังหวัดในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
                    1. สรุปผลความเสียหายที่เกิดจากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในภาพรวม โดยมีพื้นที่ประสบภัย จำนวน 30 อำเภอ 189 ตำบล 1,134 หมู่บ้าน 124 ชุมชน 136,016 ครัวเรือน 519,317 คน ซึ่งมีผู้เสียชีวิต จำนวน 21 คน สูญหาย 1 คน มีบ้านเรือนเสียหายทั้งหมด 2,577 หลัง แบ่งเป็นเสียหายทั้งหลัง จำนวน 215 หลัง เสียหายมาก จำนวน 1,256 หลัง เสียหายน้อย จำนวน 1,106 หลัง โรงเรียน จำนวน 823 แห่ง มัสยิด จำนวน 86 แห่ง วัด/ที่พักสงฆ์ จำนวน 38 แห่ง มีถนนเสียหาย จำนวน 601 สาย สะพาน/คอสะพาน จำนวน 13 แห่ง พื้นที่เกษตรเสียหาย ประกอบด้วย พืชไร่ 13,545.005 ไร่ ปศุสัตว์ จำนวน 32,577 ตัว ประมง จำนวน 178.62785 ไร่
                    2. สรุปผลการให้ความช่วยเหลือของหน่วยงานต่าง ๆ ในห้วงที่ผ่านมา
                              2.1 การให้ความช่วยเหลือกรณีเสียชีวิตและบาดเจ็บ จำนวน 21 ราย จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา ได้ให้ความช่วยเหลือโดยดำเนินการตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 ครบทั้ง 21 ราย เป็นเงิน 1,009,800 บาท และขณะนี้จังหวัดอยู่ระหว่างขออนุมัติงบประมาณเพิ่มเติม จากกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณะภัย สำนักนายกรัฐมนตรี กรณีเสียชีวิต รายละ 50,000 บาท เงินทุนเลี้ยงชีพแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต ครอบครัวละ 30,000 บาท และเงินทุนเลี้ยงชีพแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตที่มีบุตรอายุไม่เกิน 25 ปี ครอบครัวละ 50,000 บาท
                              2.2 การให้ความช่วยเหลือกรณีบ้านเรือนเสียหาย จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา ได้ให้ความช่วยเหลือโดยดำเนินการตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หน่วยงานในกำกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ให้ความช่วยเหลือซ่อมแซมบ้านเรือนแล้ว รวมจำนวน 571 หลัง จากทั้งหมดจำนวน 2,577 หลังโดยในส่วนที่เหลืออีก 2,006 หลัง จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีแผนดำเนินการสร้าง ซ่อมแซมให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2567
                              2.3 การให้ความช่วยเหลือปัญหาด้านการเกษตร ขณะนี้จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา ได้ดำเนินการขอสนับสนุนงบประมาณตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 ในอำนาจของปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
                    3. ในการซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งสาธารณะประโยชน์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัดได้เสนอเรื่องต่อที่ประชุมคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด (ก.ช.ภ.จ.) เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2567 และดำเนินการจัดทำรายละเอียดคำขอรับการสนับสนุนงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตามระเบียบเสนอไปยังหน่วยงานต้นสังกัดแล้ว จำนวน 16 หน่วยงาน จำนวน 489 โครงการ วงเงินงบประมาณ 1,499,921,442 บาท ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำส่งข้อมูลคำของบประมาณการสนับสนุนงบกลางดังกล่าวให้ ศอ.บต. เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องด้วยแล้ว

10. เรื่อง การจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 สำหรับโครงการบำรุงรักษาและซ่อมแซมแก้ไขระบบตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์สินค้าด้วยเครื่องเอกซเรย์ที่จัดซื้อในโครงการระยะที่ 3 - 4 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 - 2572
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการให้กระทรวงการคลัง (กค.) โดยกรมศุลกากรนำรายการที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป โครงการบำรุงรักษาและซ่อมแซมแก้ไขระบบตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์สินค้าด้วยเครื่องเอกซเรย์ที่จัดซื้อในโครงการระยะที่ 3 - 4 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 - พ.ศ. 2572 วงเงินรวมทั้งสิ้น 1,663,405,000 บาท เสนอเป็นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ตามนัยมาตรา 26 ของพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าและประหยัด การพิจารณาเป้าหมาย ประโยชน์ที่จะได้รับ ประสิทธิภาพและผลสัมฤทธิ์ที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการตามนัยพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ



                    สาระสำคัญ
                    กค. รายงานว่า
                    1. กรมศุลกากรได้ดำเนินการจัดหาระบบตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์สินค้าด้วยเครื่องเอกซเรย์ (X-ray Container Inspection System) มาใช้ในการปฏิบัติงานตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2543 นับถึงปัจจุบันเป็นโครงการระยะที่ 6 โดยกรมศุลกากรได้จัดจ้างบำรุงรักษาและซ่อมแซมแก้ไขระบบตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์สินค้าด้วยเครื่องเอกซเรย์ (ระบบตรวจสอบฯ) ที่จัดซื้อในโครงการระยะที่ 2 - 4 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 -2567 (5 ปี) ซึ่งจะสิ้นสุดสัญญาจ้างการบำรุงรักษาและซ่อมแซมแก้ไขระบบตรวจสอบฯ ในวันที่ 30 กันยายน 2567 ทั้งนี้ บริษัทที่ได้ทำสัญญาไว้กับ กค. รายเดิมได้เสนอราคาการบำรุงรักษาและซ่อมแซมแก้ไขระบบตรวจสอบฯ โดยยื่นข้อเสนอเฉพาะการบำรุงรักษาและซ่อมแซมแก้ไขระบบตรวจสอบฯ ในระยะที่ 3 เป็นระยะเวลา 2 ปี และระยะที่ 4 เป็นระยะเวลา 5 ปี (เนื่องจากระบบตรวจสอบฯ แบบ Fixed System ที่จัดซื้อในระยะที่ 2 ติดตั้งและใช้งานมานานกว่า 18 ปี ประกอบกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้บริษัทฯ ไม่สามารถจัดหาอะไหล่มาบำรุงรักษาและซ่อมแซมแก้ไขข้อขัดข้องได้) ในการนี้ บริษัทฯ ได้ยื่นข้อเสนอเพื่อการบำรุงรักษาและซ่อมแซมแก้ไขระบบตรวจสอบฯ โดยมีระยะเวลารวม 5 ปี เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 1,663.405 ล้านบาท ซึ่ง กค. จำเป็นต้องขอก่อหนี้ผูกพันเป็นระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 - 2572 โดยใช้งบดำเนินการ ซึ่งแบ่งเป็นเงินงบประมาณ (ร้อยละ 55) จำนวน 914.873 ล้านบาท และเงินนอกงบประมาณ (ร้อยละ 45) จำนวน 748.532 ล้านบาท
                    2. โครงการบำรุงรักษาฯ จะช่วยให้กรมศุลกากรสามารถดำเนินการบำรุงรักษาและซ่อมแซมแก้ไขระบบตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์สินค้าด้วยเครื่องเอกซเรย์ให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพในการใช้งานได้อย่างต่อเนื่องสมบูรณ์ ได้มาตรฐานด้านความปลอดภัยเกี่ยวกับรังสี และเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการในการยกระดับการให้บริการด้านการตรวจปล่อยตู้คอนเทนเนอร์สินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล อันจะนำมาซึ่งศักยภาพในการแข่งขันทางการค้าของประเทศ

11. เรื่อง รายงานความก้าวหน้าโครงการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้แห่งชาติ OKMD: OKMD National Knowledge Center (Ratchadamnoen Center 1 และ 2) และเสนอขอความเห็นชอบการเช่าพื้นที่อาคารกองสลากเดิมและอาคารว่างที่อยู่ติดกันเพื่อดำเนินโครงการฯ
                    คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) (สบร.)1 เสนอ ดังนี้
                    1. รับทราบรายงานความก้าวหน้าโครงการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้แห่งชาติ OKMD: OKMD National Knowledge Center (Ratchadamnoen Center 1 และ 2) (ศูนย์ฯ OKMD) (โครงการฯ)
                    2. เห็นชอบให้ สบร. ดำเนินการเช่าที่ดินแปลงหมายเลข 6 เนื้อที่ 2,035.50 ตารางวา และเช่าอาคารและที่ดินด้านหลัง พื้นที่ใช้สอย 6,367.46 ตารางเมตร จากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ (สำนักงานทรัพย์สินฯ) เพื่อดำเนินโครงการฯ เป็นระยะเวลา 30 ปี มีวงเงินค่าเช่ารวมจำนวนทั้งสิ้น 3,407.055 ล้านบาท โดยจะแบ่งชำระค่าเช่าออกเป็น 33 งวด ประกอบด้วย ระยะเวลาการก่อสร้างและปรับปรุง 3 ปี และระยะเวลาการเช่า 30 ปี ตามเงื่อนไขการชำระค่าเช่าตามที่สำนักงานทรัพย์สินฯ กำหนด
                    เรื่องเดิม
                    คณะรัฐมนตรีมีมติ (14 กุมภาพันธ์ 2566) เห็นชอบให้ สบร. ดำเนินโครงการฯ2 ในบริเวณพื้นที่ของสำนักงานทรัพย์สินฯ รวมทั้งเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณในการพัฒนาศูนย์ฯ OKMD ระยะ 3 ปี ประกอบด้วย ค่าก่อสร้าง (ก่อสร้างอาคารใหม่บนที่ว่างขนาด 5 ไร่ ในบริเวณที่ทำการเดิมของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล) และปรับปรุงพื้นที่อาคาร (อาคารราชดำเนินเดิมขนาด 1 ไร่ ซึ่งตั้งอยู่ติดกัน) รวมทั้งสิ้น 970 ล้านบาท (ผูกพันงบประมาณ ปี 2567-2569) ทั้งนี้ ในส่วนของงบประมาณในการดำเนินการเช่าพื้นที่จากสำนักงานทรัพย์สินฯ เพื่อทำการก่อสร้างโครงการฯ ให้ สบร. หารือกับสำนักงบประมาณ (สงป.) ถึงเงื่อนไข และข้อกำหนดการเช่าพื้นที่ในรายละเอียด ต่อไป
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    สบร. รายงานว่า โครงการฯ มีความก้าวหน้าในการดำเนินการสรุปได้ ดังนี้
                    1. สบร. ได้ประสานสำนักงานทรัพย์สินฯ เพื่อขอเช่าพื้นที่บนถนนราชดำเนินโดยมีระยะเวลาการเช่า 30 ปี มูลค่าปัจจุบัน (NPV) ของค่าเช่าพื้นที่ 1,324.543 ล้านบาทและเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2566 สบร. และผู้แทนสำนักงานทรัพย์สินฯ ได้หารือกับ สงป. ถึงรูปแบบและเงื่อนไขการชำระผลตอบแทนการเช่าพื้นที่เพื่อดำเนินโครงการดังกล่าว ใน 3 ประเด็น รายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
ประเด็น          รายละเอียด
1. ระยะเวลาดำเนินโครงการ          - ระยะเวลาก่อสร้างและปรับปรุง 3 ปี (1 มกราคม 2567-31 ธันวาคม 2569)
- ระยะเวลาการเช่า 30 ปี (1 มกราคม 2570-31 ธันวาคม 2599)
2. ผลตอบแทนการเช่า (ค่าเช่า)          พื้นที่ที่จะเช่า          อัตราค่าเช่า          ค่าเช่าตลอด 30 ปี
ที่ดิน (กองสลากฯ เดิม)
(เนื้อที่ 2,035.50 ตารางวา)          ตารางวาละ
250,000 บาท
ต่อ 30 ปี          508.875 ล้านบาท
อาคารว่างและที่ดินซึ่งอยู่ติดกัน (พื้นที่ใช้สอย 6,367.46 ตารางเมตร          เริ่มต้นตารางเมตรละ 525 บาท และปรับขึ้นค่าเช่าร้อยละ 10 ในทุก 3 ปี          815.668 ล้านบาท
รวมทั้งสิ้น          1,324.543 ล้านบาท

3. รูปแบบและเงื่อนไขการชำระค่าเช่า          ชำระค่าเช่าเป็นรายงวด โดยนำมูลค่าปัจจุบัน (NPV) มาเฉลี่ยจ่าย ซึ่งต้องบวกดอกเบี้ยร้อยละ 6 ต่อปี ตลอดอายุสัญญา 33 ปี รวม 33 งวด ทั้งนี้ สงป. เห็นว่า หาก สบร. มีเงินรายได้เพียงพอ ควรนำมาสมทบเพื่อเป็นค่าเช่าพื้นที่ดังกล่าวด้วย โดยรูปแบบและเงื่อนไขในการชำระค่าเช่าดังกล่าวเป็นแนวทางที่สามารถประหยัดงบประมาณและเป็นภาระงบประมาณรายจ่ายประจำปีน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับอีก 2 ทางเลือก คือ (1) การชำระค่าเช่าเป็นรายงวด โดยมีเงื่อนไขในการชำระงวดแรกไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของมูลค่าปัจจุบัน (NPV) ในวันลงนามสัญญาเช่า และส่วนที่เหลือให้ทยอยชำระรายงวดซึ่งต้องบวกดอกเบี้ยร้อยละ 6 ต่อปี ตลอดอายุสัญญา 30 ปี รวม 31 งวด และ (2) การชำระค่าเช่าเป็นรายงวด โดยมีเงื่อนไขในการชำระ 3 งวดแรก งวดละร้อยละ 10 ของมูลค่าปัจจุบัน (NPV) และส่วนที่เหลือให้ทยอยชำระรายงวด ซึ่งต้องบวกดอกเบี้ยร้อยละ 6 ต่อปี ตลอดอายุสัญญา 30 ปี รวม 33 งวด
                    2. สำนักงานทรัพย์สินฯ ได้พิจารณาแบบรูปรายการโครงการฯ รายละเอียดการเช่าและรายละเอียดการดำเนินโครงการฯ ที่ สบร. เสนอแล้ว เห็นควรอนุญาตให้ สบร. เช่าที่ดินแปลงหมายเลข 6 ตำบลตลาดยอด เขตพระนคร เนื้อที่ 2,035.50 ตารางวา และเช่าอาคารและที่ดินด้านหลัง หมายเลข 114/27 ตำบลตลาดยอด เขตพระนคร พื้นที่ใช้สอย 6,367.46 ตารางเมตร เพื่อดำเนินโครงการฯ โดยมีอัตราเช่าตลอดระยะเวลาการเช่าเป็นมูลค่าปัจจุบัน (NPV) จำนวน 1,324.543 ล้านบาท พร้อมบวกดอกเบี้ยร้อยละ 6 ต่อปี รวมทั้งสิ้นจำนวน 3,407.055 ล้านบาท โดยให้ชำระค่าเช่าเป็นรายปีรวมทั้งสิ้น 33 งวด และชำระค่าเช่างวดแรกภายในเดือนธันวาคม 2567 ปีต่อไปชำระค่าเช่าภายในเดือนธันวาคม ทั้งนี้ ให้สัญญาเช่ามีผลนับแต่วันที่ 1 มกราคม 2567
                    3. สบร. อยู่ระหว่างการเตรียมการลงนามในสัญญาการเช่าพื้นที่3 เพื่อดำเนินโครงการฯ และได้เตรียมการขุดค้นทางโบราณคดีในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว4 เพื่อให้สามารถดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จและเพื่อเปิดให้บริการแก่ประชาชนได้ในปี 2569 และในส่วนของค่าเช่าเพื่อดำเนินโครงการฯ จำนวน 3,407.055 ล้านบาท (33 ปี 33 งวด) สบร. จะขอตั้งงบประมาณผูกพันข้ามปีงบประมาณ ปี 2568-2600 โดยขอใช้งบประมาณปี 2568 จำนวน 61.285 ล้านบาท และผูกพันงบประมาณปี 2569-2600 จำนวน 3,345.770 ล้านบาท
                    4. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินโครงการฯ ได้แก่ (1) ด้านเศรษฐกิจ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่โดยรอบศูนย์ฯ OKMD ที่ตั้งอยู่บริเวณถนนราชดำเนินซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร รวมทั้งสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยี่ยมชมและใช้บริการ ซึ่งจะส่งผลดีต่อธุรกิจและผู้ประกอบการในพื้นที่ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย (2) ด้านสังคม เป็นการส่งเสริมความเท่าเทียมทางการศึกษา โดยมุ่งเน้นให้ประชาชนทุกช่วงวัยสามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้อย่างเท่าเทียมผ่านการจัดให้มีกิจกรรมและบริการความรู้ที่หลากหลายทั้งในรูปแบบออนไลน์ ออฟไลน์ และรูปแบบผสม (Hybrid) สอดคล้องกับความต้องการและพฤติกรรมการเรียนรู้ของประชาชน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนได้ค้นพบและพัฒนาตนเองอย่างเต็มศักยภาพและ (3) ด้านวัฒนธรรม เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเนื่องจากเป็นพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชาติ สนับสนุนการนำวัฒนธรรมและภูมิปัญญามาใช้พัฒนาต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนช่วยส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรมและการร่วมกันอนุรักษ์ไว้
1 สบร. เป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีภารกิจสำคัญในการส่งเสริมการเรียนรู้สาธารณะเพื่อยกระดับศักยภาพและลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงความรู้ของคนไทยผ่านการให้บริการความรู้ในแหล่งเรียนรู้ต้นแบบที่มีความทันสมัย
2 เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สาธารณะรูปแบบใหม่ เป็นพื้นที่การเรียนรู้ที่เปิดกว้างสำหรับประชาชนทุกช่วงวัยในการนำเสนอความรู้และทักษะแห่งอนาคต ผ่านการพบปะแลกเปลี่ยนความเห็นที่สร้างสรรค์ร่วมกัน รวมทั้งส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ที่ทันสมัย
3 จากการประสาน สบร. เกี่ยวกับการลงนามในสัญญาเช่าพื้นที่กับสำนักงานทรัพย์สินฯ ที่กำหนดให้ลงนามภายในวันที่ 1 มกราคม 2567 ซึ่งขณะนี้ระยะเวลาได้ล่วงเลยมาแล้ว สบร. แจ้งว่า ได้หารือสำนักงานทรัพย์สินฯ อย่างไม่เป็นทางการในประเด็นดังกล่าวแล้ว สำนักงานทรัพย์สินฯ แจ้งว่า เมื่อมีการลงนามในสัญญาแล้วอาจกำหนดให้สัญญามีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567
4 โครงการฯ ตั้งอยู่บริเวณถนนราชดำเนินและอยู่ในพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก ซึ่งคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2565 มีมติเห็นชอบในหลักการโครงการฯ และเห็นควรให้ สบร. พิจารณาถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและความกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมโดยรอบ และเนื่องจากพื้นที่อาคารตั้งอยู่ในพื้นที่ประวัติศาสตร์ จึงเห็นควรให้พิจารณาถึงการขุดค้นทางโบราณคดีเพื่อศึกษาการใช้งานของพื้นที่ก่อนการก่อสร้าง

12. เรื่อง ขอรับการสนับสนุนการจัดสรรเงินงบประมาณแผ่นดิน เพื่อจัดสรรเงินอุดหนุนทั่วไปเป็นเงินงบประมาณรายจ่ายของปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ให้แก่สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าไว้ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2568
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการสนับสนุนการจัดสรรเงินงบประมาณแผ่นดิน เพื่อจัดสรรเงินอุดหนุนทั่วไปเป็นงบประมาณรายจ่ายของปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ให้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สำนักงาน กขค.) ไว้ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2568 เพื่อให้สำนักงาน กขค. มีรายได้ของสำนักงานมีจำนวนพอสำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพของสำนักงาน กขค. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 511.7057 ล้านบาท ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าเสนอ และให้สำนักงบประมาณพิจารณาตามแนวทางการจัดทำงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป

13. เรื่อง ขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน งบกลาง รายการเงินสำรองเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น [สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน)]
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 79,200,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายโครงการพัฒนาและให้บริการระบบการสื่อสารแบบรวมศูนย์ ตามที่สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เสนอ และให้สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

14. เรื่อง แผนการใช้เงินของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนการใช้เงินของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ภายในกรอบวงเงิน 7,884,878,100 บาท ตามนัยมาตรา 6 (3) ของพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 โดยให้กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ พร้อมรายละเอียดของกลุ่มเป้าหมายและค่าใช้จ่ายที่ชัดเจน ตามความจำเป็นอย่างเหมาะสมโดยคำนึงถึงประโยชน์ที่กลุ่มเป้าหมายจะได้รับเป็นสำคัญ รวมถึงพิจารณานำเงินนอกงบประมาณหรือเงินอื่นใดของ กสศ. มาสมทบค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานให้ครอบคลุมทุกแหล่งเงิน เพื่อให้สอดคล้องตามนัยพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณตามขั้นตอนของกฎหมายวิธีการงบประมาณ ซึ่งสำนักงบประมาณจะได้พิจารณารายละเอียดของแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณของ กสศ. ให้สอดคล้องกับแนวทางและหลักเกณฑ์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ภายในกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 อีกครั้งหนึ่ง ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
                    สาระสำคัญ
                    กสศ. ได้จัดทำรายละเอียดคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ตามแนวทางและปฏิทินที่สำนักงบประมาณกำหนด โดยจัดทำเป็นแผนการใช้เงินของ กสศ. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 และคณะกรรมการบริหาร กสศ. มีมติ (18 ธันวาคม 2566 และ 15 มกราคม 2567) เห็นชอบแผนการใช้เงินฯ ดังกล่าวแล้ว และให้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป โดยมีสาระสำคัญ สรุปได้ ดังนี้
                    1. ความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ
                              (1) แผนการใช้เงินของ กสศ. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 มุ่งเน้นดำเนินการตามนโยบายสำคัญของรัฐบาลด้านการศึกษาในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยการปฏิรูปการศึกษา และสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต เสริมสร้างศักยภาพผู้เรียนตามความถนัด กระจายอำนาจการศึกษาให้ผู้เรียนเข้าถึงการเรียนรู้ได้อย่างทั่วถึง ตลอดจนแนวทางการขับเคลื่อนการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาโดยมุ่งเป้าหมายให้จำนวนเด็กและเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout)
                              (2)  แผนการใช้เงินฯ มีความสอดคล้องกับ (ก) ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 - 2580) ด้านที่ 4 การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม (ข) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) ประเด็นที่ 17 ความเสมอภาคและหลักประกันทางสังคม (ค) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 - 2570) หมุดหมายที่ 9 ไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลงและคนไทยมีความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอ เหมาะสม (ง) เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 ด้านการศึกษา (จ) ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณฯ ตามยุทธศาสตร์ชาติ ด้านที่ 4 การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม
                              (3) กสศ. มุ่งเน้นการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนระดับชาติที่เกี่ยวข้องกับภารกิจการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ทั้งในมิติด้านโอกาสและด้านคุณภาพรวมทั้งแผนกลยุทธ์ กสศ. ปี 2568 - 2570 ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้
                              วิสัยทัศน์ ?เด็ก เยาวชน และประชาชน ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสทุกคน สามารถเข้าถึงการศึกษาและการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ ได้เต็มตามศักยภาพ?
                              พันธกิจ ?เหนี่ยวนำทุกภาคส่วน ร่วมขับเคลื่อนการส่งเสริมโอกาสทางการศึกษา พัฒนาคุณภาพครูและหน่วยจัดการเรียนรู้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา?
                              เป้าประสงค์ ได้แก่ (1) เกิดหลักประกันการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้เต็มตามศักยภาพ สำหรับเด็กเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส (2) เกิดต้นแบบการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ที่มีทางเลือกและยืดหยุ่นอย่างมีคุณภาพ (3) ทุกภาคส่วนร่วมเป็นเจ้าของและมีส่วนร่วมในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา
                    2. กรอบวงเงิน
                       แผนการใช้เงินฯ อยู่ภายในกรอบวงเงิน 7,884,878,100 บาท
                    ผลผลิต/ผลลัพธ์สำคัญ และผลต่อประชาชน/ประเทศ
                    1. เกิดหลักประกันการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้เต็มตามศักยภาพของเด็กและเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส โดยลดอุปสรรคการเข้าถึงการศึกษาและการเรียนรู้ทั้งในและนอกระบบการศึกษา รวมทั้งชี้เป้าเด็กและเยาวชนที่ขาดแคลนฯ เพื่อส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนติดตาม ช่วยเหลือให้สามารถคงอยู่ในระบบการศึกษาและการเรียนรู้ให้เต็มตามศักยภาพ ดังนี้
                              (1) เด็กและเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส ได้รับการอุดหนุนเงินเพื่อบรรเทาอุปสรรคการเข้าถึงการศึกษาที่สอดคล้องกับความจำเป็น และเพื่อป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษาในทุกช่วงระดับชั้นเป็นรายบุคคลตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนสำเร็จการศึกษาภาคบังคับ ซึ่งการอุดหนุนเงินดังกล่าวเป็นส่วนที่ไม่ซ้ำช้อนกับการสนับสนุนเงินและค่าใช้จ่ายที่หน่วยงานอื่นจัดสรร โดยส่งผลให้ยังคงอยู่ในระบบการศึกษาและมีการพัฒนาตามศักยภาพ จำนวน 1,359,850 คน
                              (2) เยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส ได้รับทุนการศึกษาหรือถูกส่งต่อให้หน่วยงานต้นสังกัดช่วยเหลือ เพื่อศึกษาต่อในระดับชั้นที่สูงกว่าการศึกษาภาคบังคับ และได้รับการพัฒนาให้มีสมรรถะสูงสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ตามศักยภาพ จำนวน 11,363 คน
                              (3) เยาวชนนอกระบบการศึกษาและแรงงานนอกระบบ ได้รับการสนับสนุนให้เข้าถึงทางเลือกการเรียนรู้ หรือได้รับการพัฒนาทักษะวิชาชีพผ่านเครือข่ายหน่วยจัดการเรียนรู้ และแพลตฟอร์มดิจิทัลร่วมกับนานาชาติ จนสามารถนำไปประกอบอาชีพ จำนวน 13,500 คน และหน่วยจัดการเรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษาและแรงงานนอกระบบงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 111 แห่ง ได้รับการพัฒนาผ่านการค้นหานวัตกรรมและการสร้างภาคีระดับพื้นที่
                    2. เกิดต้นแบบการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ที่มีทางเลือกและยืดหยุ่นอย่างมีคุณภาพ โดยส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพต้นแบบของหน่วยจัดการเรียนรู้ทั้งในและนอกระบบการศึกษา และหน่วยงานผลิตและพัฒนาครู จำนวน 2,252 แห่ง ส่งผลให้ครู นักจัดการเรียนรู้ และเครือข่ายครูอาสา จำนวน 29,346 คน ได้รับการพัฒนาให้จัดการศึกษาหรือการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นได้อย่างมีคุณภาพ รวมถึงเกิดระบบนิเวศทางการศึกษาที่สนับสนุนการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนทั้งในและนอกระบบการศึกษา ส่งผลให้ช่องว่างระหว่างผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนกลุ่มขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสที่ได้รับการสนับสนุนจาก กสศ. เทียบกับกลุ่มอื่น ๆ ลดลง
                    3. ทุกภาคส่วนร่วมเป็นเจ้าของและมีส่วนร่วมในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา โดยเหนี่ยวนำความร่วมมือภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ให้มีส่วนร่วมและเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนผ่านนวัตกรรมการระดมทรัพยากรและข้อมูล โดยใช้องค์ความรู้ งานวิจัย และนวัตกรรมในการทำงาน เพื่อส่งต่อข้อเสนอเชิงนโยบายและต้นแบบการทำงาน รวมทั้งขับเคลื่อนการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาโดยมุ่งเป้าหมายให้จำนวนเด็กและเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) ดังนี้
                              (1) เด็กและเยาวชนที่อยู่นอกระบบการศึกษาได้รับความช่วยเหลือหรือสนับสนุนให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาหรือมีทางเลือกการเรียนรู้และการพัฒนาที่ยืดหยุ่น ตามแผนการดูแลช่วยเหลือรายบุคคล จำนวน 100,000 คน ผ่านกลไกขับเคลื่อนงานพื้นที่เป้าหมายครอบคลุม จำนวน 77 จังหวัดทั่วประเทศ
                              (2) ตัวแบบระดับพื้นที่ /จังหวัดที่มีการจัดการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำโดยบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ทั้งระดับนโยบายและระดับพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา เกิดเป็นตัวแบบได้ในระดับจังหวัด จำนวน 15 แห่ง ระดับเทศบาล/เมือง จำนวน 8 แห่ง ที่สามารถขยายผลเชิงนโยบายเพื่อความคล่องตัวและสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่
                              (3) องค์ความรู้ นวัตกรรม และต้นแบบ สำหรับภาครัฐและสังคม ใช้เป็นแนวทางในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาซึ่งเน้นการทำงานโดยฐานองค์ความรู้ งานวิจัย และนวัตกรรมเพื่อมุ่งสร้างผลลัพธ์ทวีคูณ (multiplier effect) ให้เกิดขึ้นกับกลุ่มผู้รับประโยชน์ รวมถึงการนำโครงการต้นแบบหรือผลงานวิจัยและนวัตกรรมไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ไปถ่ายทอดสู่ภาคีเครือข่ายเพื่อใช้ขยายผลในการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และเกิดข้อเสนอเชิงนโยบายที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ จำนวน 11 เรื่อง

15. เรื่อง กรอบวงเงินงบประมาณด้านการอุดมศึกษาในความรับผิดชอบของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กรอบวงเงินงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 และระบบการจัดสรรและบริหารงบประมาณแบบบูรณาการที่มุ่งผลสัมฤทธิ์
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณด้านการอุดมศึกษาในความรับผิดชอบของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกรอบวงเงินงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 รวมทั้งระบบการจัดสรรและบริหารงบประมาณแบบบูรณาการที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ ตามที่สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติเสนอ ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
                    สำหรับกรอบวงเงินงบประมาณด้านการอุดมศึกษาในความรับผิดชอบของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 108,149,727,300 บาท และกรอบวงเงินงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 42,000,000,000 บาท นั้น สำนักงบประมาณจะพิจารณาตามประมาณการรายรับและฐานะการคลังของประเทศ โดยคำนึงถึงภารกิจและความจำเป็นในการดำเนินการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 และนโยบายสำคัญของรัฐบาล ตลอดจนความพร้อม ความครอบคลุมของแหล่งเงิน ศักยภาพและความสามารถในการใช้งบประมาณ รายงานผลสัมฤทธิ์หรือประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณที่ผ่านมา การมีส่วนร่วมของภาคเอกชน ความเป็นธรรมทางสังคม และนโยบายรัฐบาล รวมทั้งการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานโดยผ่านกลไกของกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณ และเกิดผลสัมฤทธิ์ในการบริหารจัดการภาครัฐ ตามนัยพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 ต่อไป

16. เรื่อง การขอก่อหนี้ผูกพันงบประมาณมากกว่าหนึ่งปีงบประมาณสำหรับรายการที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ของกระทรวงมหาดไทย
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการให้กระทรวงมหาดไทยนำรายการที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ของ 3 หน่วยงาน จำนวน 4 โครงการ วงเงินทั้งสิ้น 5,618.7610 ล้านบาท เพื่อเสนอเป็นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ตามนัยมาตรา 26 ของพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2567 เรื่อง การปรับปรุงปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ดังนี้
                      1. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ โครงการความร่วมมือระหว่างกระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกับกองทัพบก ในการจัดหาอากาศยานปีกหมุน (Helicopter) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาสาธารณภัย (ระยะที่ 4) จำนวน 1 ลำ วงเงินทั้งสิ้น 1,232.2270 ล้านบาท เสนอเป็นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 616.1135 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ จำนวน 616.1135 ล้านบาท ผูกพันปีงบประมาณ พ.ศ. 2569
                      2. การประปาส่วนภูมิภาค จำนวน 2 โครงการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 2,668.5340 ล้านบาท ได้แก่
                               2.1 โครงการก่อสร้างปรับปรุงขยายการประปาส่วนภูมิภาคสาขาสมุทรสาคร - นครปฐม ระยะที่ 1 ส่วนที่ 1 - 2 อำเภอเมืองสมุทรสาคร - กระทุ่มแบน - บ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร อำเภอเมืองนครปฐม - นครชัยศรี จังหวัดนครปฐม อำเภอโพธาราม - บางแพ จังหวัดราชบุรี วงเงินทั้งสิ้น 1,076.5980 ล้านบาท โดยเบิกจ่ายจากงบประมาณ จำนวน 807.4485 ล้านบาท เสนอเป็นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 161.4897 ล้านบาท ผูกพันปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 - พ.ศ. 2530 จำนวน 645.9588 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ จำนวน 269.1495 ล้านบาท เบิกจ่ายจากเงินกู้ภายในประเทศ หรือเงินรายได้สมทบตามความเหมาะสมและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
                               2.2 โครงการก่อสร้างปรับปรุงขยายการประปาส่วนภูมิภาคสาขาเกาะสมุย ระยะที่ 2 อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี วงเงินทั้งสิ้น 1,591.9360 ล้านบาท โดยเบิกจ่ายจากงบประมาณ จำนวน 795.9680 ล้านบาท เสนอเป็นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 159.1936 ล้านบาท ผูกพันปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 - พ.ศ. 2570 จำนวน 636.7744 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ จำนวน 795.9680 ล้านบาท เบิกจ่ายจากเงินกู้ภายในประเทศ หรือเงินรายได้สมทบ ตามความเหมาะสมและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
                     3. กรุงเทพมหานคร จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน กรุงเทพมหานครและศูนย์สำรวจและเฝ้าระวังชายฝั่ง วงเงินทั้งสิ้น 1,718 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายการที่ยังไม่ได้กำหนดสัดส่วนแหล่งเงินค่าก่อสร้างที่จะดำเนินโครงการระหว่างเงินอุดหนุนรัฐบาลกับเงินรายได้กรุงเทพมหานคร จึงเห็นสมควรให้กรุงเทพมหานครดำเนินการตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่เกี่ยวข้องในการขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี พร้อมทั้งกำหนดสัดส่วนแหล่งเงินค่าก่อสร้างที่จะดำเนินการ ประกอบการขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 อย่างชัดเจนตามขั้นตอนต่อไปด้วย
                     ทั้งนี้ ขอให้กระทรวงมหาดไทยจัดทำแผนการดำเนินการและยืนยันความพร้อมของโครงการดังกล่าว โดยมีคุณลักษณะเฉพาะ ประมาณการหรือผลการสอบราคา รายละเอียดแบบรูปรายการ ประมาณการค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และมีสถานที่/พื้นที่พร้อมจะดำเนินการ โดยคำนึงถึงความคุ้มค่า ประหยัด การพิจารณาเป้าหมาย ประโยชน์ที่จะได้รับ ประสิทธิภาพและผลสัมฤทธิ์ที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ ตามนัยพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และจัดลำดับความสำคัญของโครงการให้เหมาะสมกับความจำเป็นเร่งด่วน และคำนึงถึงภาระผูกพันงบประมาณในแต่ละปีงบประมาณ ให้เป็นไปตามสัดส่วนของรายจ่ายลงทุนที่กำหนด ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2552 รวมทั้งจัดส่งรายงานเกี่ยวกับเงินนอกงบประมาณ ตามนัยมาตรา 25 ของพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 ซึ่งสำนักงบประมาณจะพิจารณาความเหมาะสม จำเป็น ตามวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อไป

17. เรื่อง การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 รายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ วงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่เป็นหน่วยรับงบประมาณ
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) โดยเทศบาลนครนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา นำรายการที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป โครงการจัดหาน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปา ที่โรงกรองน้ำบ้านมะขามเฒ่า (จากแหล่งน้ำลำตะคองมายังโรงกรองน้ำบ้านมะขามเฒ่า) (โครงการจัดหาน้ำดิบฯ) งบประมาณ 1,995,430,000 บาท เสนอเป็นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ต่อสำนักงบประมาณ
                       อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวข้างต้นมีวงเงินงบประมาณสูงมาก จึงเห็นสมควรให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาใช้จ่ายจากแหล่งเงินอื่นร่วมด้วย เช่น เงินรายได้ หรือเงินสะสมคงเหลือของเทศบาล เงินกู้ เอกชนร่วมลงทุน แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ขอให้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ให้ถูกต้องครบถ้วน โดยคำนึงถึงความคุ้มค่า ความประหยัด ภาระทางการคลังที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และผลสัมฤทธิ์ที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ ตามนัยพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลัง ของรัฐ พ.ศ. 2561 ด้วย ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
                     สาระสำคัญ
                     มท. โดยเทศบาลนครนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา มีความประสงค์ ขอก่อหนี้ผูกพันงบประมาณมากกว่าหนึ่งปีงบประมาณสำหรับรายการที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 1 โครงการ คือ โครงการจัดหาน้ำดิบฯ งบประมาณ 1,995.43 ล้านบาท โดยก่อหนี้ผูกพัน 3 ปีงบประมาณ (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 - 2570) เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคในเขตพื้นที่ชุมชนเมืองนครราชสีมา รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นข้างเคียง (ได้แก่ เทศบาลตำบลหัวทะเล เทศบาลตำบลหนองไผ่ล้อม เทศบาลตำบลหนองจะบก เทศบาลตำบลบ้านใหม่ เทศบาลตำบลโพธิ์กลาง องค์การบริหารส่วนตำบลหมื่นไวย และองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเกาะ) และพื้นที่เขตทหาร (ได้แก่ ค่ายสุรนารี และค่ายสุรธรรมพิทักษ์)
                      คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ [รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ในขณะนั้น เป็นประธาน] ในการประชุมครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2563 มีมติเห็นชอบโครงการจัดหาน้ำดิบฯ แล้วในกรอบวงเงิน 1,046.74 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม มท. แจ้งว่า เนื่องจากมีการปรับปรุงราคากลางของวัสดุก่อสร้าง กรอบวงเงินของโครงการดังกล่าวจึงปรับจาก 1,046.74 ล้านบาท เป็น 1,995.43 ล้านบาท
                     มท. แจ้งว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวจะทำให้สามารถส่งน้ำดิบได้เพิ่มขึ้นจากเดิม 90,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน เป็น 150,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งจะช่วยให้ระบบการส่งน้ำดิบมายังโรงกรองน้ำบ้านมะขามเฒ่ามีความมั่นคงมากขึ้น และมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการผลิตน้ำประปาเพื่อรองรับประชากรที่เพิ่มมากขึ้นได้

18. เรื่อง ขออนุมัติตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 สำหรับรายการงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ของกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมท่าอากาศยาน และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการให้กระทรวงคมนาคมนำรายการที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป จำนวน 4 หน่วยงาน 42 โครงการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 91,653.3053  ล้านบาท เสนอเป็นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 15,627.9411 ล้านบาท ตามนัยมาตรา 26 ของพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ดังนี้
                      1. กรมทางหลวง จำนวน 37 โครงการ วงเงินรวม 69,877.7053 ล้านบาท (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 13,975.5411 ล้านบาท ปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 จำนวน 27,728.8116 ล้านบาท ปีงบประมาณ พ.ศ. 2570 จำนวน 27,728.8116 ล้านบาท และปีงบประมาณ พ.ศ. 2571 จำนวน 444.5410 ล้านบาท)
                     2. กรมทางหลวงชนบท จำนวน 3 โครงการ วงเงินรวม 4,920 ล้านบาท (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 984.0000 ล้านบาท ปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 จำนวน 1,968.0000 ล้านบาท และปีงบประมาณ พ.ศ. 2570 จำนวน 1,968.0000 ล้านบาท)
                     3. กรมท่าอากาศยาน จำนวน 1 โครงการ วงเงินรวม 1,500.0000 ล้านบาท (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 300.0000 ล้านบาท ปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 จำนวน 300.0000 ล้านบาท ปีงบประมาณ พ.ศ. 2570 จำนวน 450.0000 ล้านบาท และปีงบประมาณ พ.ศ. 2571 จำนวน 450.0000 ล้านบาท)
                     4. องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำนวน 1 โครงการ วงเงินรวม 15,355.6000 ล้านบาท (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 368.4000 ล้านบาท ปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 จำนวน 2,219.2000 ล้านบาท ปีงบประมาณ พ.ศ. 2570 จำนวน 2,219.2000 ล้านบาท ปีงบประมาณ พ.ศ. 2571 จำนวน 2,225.2800 ล้านบาท และปีงบประมาณ พ.ศ. 2572 - 2575 จำนวน 8,323.5200 ล้านบาท)
                     ทั้งนี้ เห็นควรให้กระทรวงคมนาคมจัดทำแผนการดำเนินงานและยืนยันความพร้อมของโครงการดังกล่าว โดยคำนึงถึงความคุ้มค่า ประหยัด และประโยชน์ที่กลุ่มเป้าหมายหรือประชาชนจะได้รับอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ตลอดจนผลสัมฤทธิ์ที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ ตามนัยพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 รวมทั้งจัดลำดับความสำคัญของโครงการตามความจำเป็นเร่งด่วน โดยคำนึงถึงภาระผูกพันงบประมาณในแต่ละปีงบประมาณให้เป็นไปตามสัดส่วนของรายจ่ายลงทุนที่กำหนด ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2552 รวมทั้งจัดส่งรายงานเกี่ยวกับเงินนอกงบประมาณ ตามมาตรา 25 ของพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 ซึ่งสำนักงบประมาณจะพิจารณาโครงการตามความจำเป็นและเหมาะสม ตามวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อไป
                      อนึ่ง สำนักงบประมาณมีข้อสังเกตเพิ่มเติม ดังนี้
                     1. โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ช่วงบางบัวทอง บางปะอิน ส่วนที่ 1 บางบัวทอง - ลาดหลุมแก้ว ในส่วนของงานโยธา จังหวัดนนทบุรี วงเงิน 4,300 ล้านบาท เป็นโครงการเงินกู้ที่ยังไม่ได้รับการบรรจุอยู่ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ดังนั้น จึงเห็นควรให้กรมทางหลวงประสานกับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องตามขั้นตอนต่อไปด้วย
                     2. โครงการเช่ารถโดยสารประจำทางปรับอากาศพลังงานสะอาด (EV) เป็นโครงการจัดหารถโดยวิธีการเช่าพร้อมการซ่อมแซม บำรุงรักษาและจัดหาสถานีอัดประจุไฟฟ้า ซึ่งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ต้องจัดทำผลการศึกษาและวิเคราะห์ความเป็นไปในการดำเนินโครงการและเสนอต่อคณะกรรมการบริหารกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบและอนุมัติก่อนดำเนินโครงการ ดังนั้น จึงเห็นควรให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องตามขั้นตอนต่อไปด้วย

19. เรื่อง ขออนุมัติการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 สำหรับรายการงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่หนึ่งพันล้านบาทขึ้นไป (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์)
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์นำรายการที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป จำนวน 7 โครงการ 9 รายการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 17,448,848,400 บาท เพื่อเสนอเป็นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 3,572,175,000 บาท และผูกพันปีงบประมาณ                 พ.ศ. 2569 - พ.ศ. 2571 อีกจำนวน 13,876,673,400 บาท ตามนัยมาตรา 26 ของพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ดังนี้
                     1. โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำกิ จังหวัดน่าน รายการเขื่อนหัวงานและอาคารประกอบ พร้อมส่วนประกอบอื่น วงเงินทั้งสิ้น 2,441,653,400 บาท เสนอเป็นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ                    พ.ศ. 2568 จำนวน 570,736,000 บาท ส่วนที่เหลือผูกพันปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 - พ.ศ. 2570 จำนวน 1,870,917,400 บาท
                     2. โครงการเขื่อนทดน้ำผาจุก จังหวัดอุตรดิตถ์ รายการระบบส่งน้ำสายซอยพร้อมอาคารประกอบ พื้นที่ฝั่งซ้าย สัญญาที่ 1 วงเงินทั้งสิ้น 2,050,000,000 บาท เสนอเป็นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 410,000,000 บาท ส่วนที่เหลือผูกพันปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 - พ.ศ.2571  จำนวน 1,640,000,000 บาท
                     3. โครงการปรับปรุงคลองชักน้ำแม่น้ำยมฝั่งขวา จังหวัดสุโขทัย รายการปรับปรุงคลองชักน้ำ แม่น้ำยมฝั่งขวา สัญญาที่ 1 วงเงินทั้งสิ้น 1,215,320,000 บาท เสนอเป็นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 243,064,000 บาท ส่วนที่เหลือผูกพันปีงบประมาณ พ.ศ. 2529 - พ.ศ. 2570 จำนวน 972,256,000 บาท
                     4. โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี รายการเขื่อนหัวงานและอาคารประกอบ พร้อมส่วนประกอบอื่น วงเงินทั้งสิ้น 1,500,000,000 บาท เสนอเป็นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 300,000,000 บาท ส่วนที่เหลือผูกพันปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 - พ.ศ. 2571 จำนวน 1,200,000,000 บาท
                     5. โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำคลองระพีพัฒน์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รายการกำแพงป้องกันน้ำท่วมพร้อมอาคารประกอบ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำคลองระพีพัฒน์ สัญญาที่ 1 วงเงินทั้งสิ้น 1,444,275,000 บาท เสนอเป็นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 288,855,000 บาท ส่วนที่เหลือผูกพันปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 - พ.ศ. 2570 จำนวน 1,155,420,000 บาท
                     6. โครงการปรับปรุงคลองบางขนาก จังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 3 รายการ วงเงินทั้งสิ้น 7,297,600,000 บาท เสนอเป็นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 1,459,520,000 บาท ส่วนที่เหลือผูกพันปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 - พ.ศ. 2570 จำนวน 5,838,080,000 บาท ประกอบด้วย
                               6.1 รายการกำแพงป้องกันน้ำท่วมพร้อมอาคารประกอบ โครงการปรับปรุงคลองบางขนาก จังหวัดฉะเชิงเทรา (สัญญาที่ 1) วงเงินทั้งสิ้น 2,806,400,000 บาท  เสนอเป็นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 561,280,000 บาท ส่วนที่เหลือผูกพันปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 - พ.ศ. 2570 จำนวน 2,245,120,000 บาท
                               6.2 รายการกำแพงป้องกันน้ำท่วมพร้อมอาคารประกอบ โครงการปรับปรุงคลองบางขนาก จังหวัดฉะเชิงเทรา (สัญญาที่ 2) วงเงินทั้งสิ้น 2,351,100,000 บาท เสนอเป็นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 470,220,000 บาท ส่วนที่เหลือผูกพันปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 - พ.ศ. 2570 จำนวน 1,880,880,000 บาท
                               6.3 รายการกำแพงป้องกันน้ำท่วมพร้อมอาคารประกอบ โครงการปรับปรุงคลองบางขนาก จังหวัดฉะเชิงเทรา (สัญญาที่ 3) วงเงินทั้งสิ้น 2,140,100,000 บาท เสนอเป็นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 428,020,000 บาท ส่วนที่เหลือผูกพันปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 - พ.ศ. 2570 จำนวน 1,712,080,000 บาท
                     7. โครงการปรับปรุงคลองระพีพัฒน์แยกใต้ จังหวัดปทุมธานี รายการกำแพงป้องกันน้ำท่วม พร้อมอาคารประกอบ โครงการปรับปรุงคลองระพีพัฒน์แยกใต้ จังหวัดปทุมธานี (สัญญาที่ 1) วงเงินทั้งสิ้น 1,500,000,000 บาท เสนอเป็นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 300,000,000 บาท ส่วนที่เหลือผูกพันปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 - พ.ศ. 2571 จำนวน 1,200,000,000 บาท
ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ ทั้งนี้ ขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดทำแผนการดำเนินการ และยืนยันความพร้อมของโครงการและรายการดังกล่าว โดยมีความพร้อมในเรื่องพื้นที่/สถานที่ที่จะดำเนินการ รายละเอียดแบบรูปรายการ ประมาณการค่าก่อสร้าง และการกำหนดแบบรูปรายการก่อสร้างให้มีความเหมาะสม รวมถึงการดำเนินการตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าและประหยัด การพิจารณาเป้าหมาย ประโยชน์ที่จะได้รับ การมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ ประสิทธิภาพและผลสัมฤทธิ์ที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ ตามนัยพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 รวมทั้งพิจารณาจัดลำดับความสำคัญของโครงการให้เหมาะสมกับความจำเป็นเร่งด่วน ศักยภาพในการดำเนินการ ตลอดจนสถานะการเงินการคลังของประเทศ และคำนึงถึงภาระผูกพันงบประมาณในแต่ละปีงบประมาณให้เป็นไปตามสัดส่วนของรายจ่ายลงทุนที่กำหนด ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งสำนักงบประมาณจะพิจารณาความเหมาะสมและจำเป็น ตามวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อไป


ต่างประเทศ
20. เรื่อง การจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างกรมความร่วมมือระหว่างประเทศของกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทยกับองค์การความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของจีนแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ  ดังนี้
                    1. เห็นชอบต่อร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างกรมความร่วมมือระหว่างประเทศของ กต. แห่งราชอาณาจักรไทยกับองค์การความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของจีนแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (China International Development Cooperation Agency: CIDCA)1 (ร่างบันทึกความเข้าใจฯ) ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างบันทึกความเข้าใจฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและ/หรือ ไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ขอให้ กต. สามารถดำเนินการได้ตามความเหมาะสมโดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง
                    2. เห็นชอบให้อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศหรือผู้แทนที่ กต. มอบหมายเป็นผู้ลงนามร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าว
(กต. แจ้งว่าฝ่ายจีนประสงค์ที่จะลงนามร่างบันทึกความเข้าใจฯ ในช่วงต้นเดือนมกราคม 2567)
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    กต. รายงานว่า
                    1. CIDCA ได้เสนอร่างบันทึกความเข้าใจฯ เพื่อให้ฝ่ายไทยพิจารณาโดยร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าวมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดกิจกรรมความร่วมมือด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน (จีน) โดยดำเนินการผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การฝึกอบรม การสัมมนา การสนับสนุนทุนการศึกษา รวมถึงการแลกเปลี่ยนบุคลากรและส่งเสริมมิตรภาพระหว่างกัน ในหลายสาขา อาทิ เกษตร การค้า การศึกษา สิ่งแวดล้อม เป็นต้น สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
หัวข้อ          สาระสำคัญ
วัตถุประสงค์          เพื่อกระชับความร่วมมือด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สนับสนุนการแลกเปลี่ยนบุคลากรและส่งเสริมมิตรภาพระหว่างไทยและจีน
สาขาที่แลกเปลี่ยน          เศรษฐกิจและการค้า เกษตร สาธารณสุข วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม การศึกษา สิ่งแวดล้อม และสาขาอื่น ๆ ที่สองฝ่ายตกลงร่วมกัน
การดำเนินงาน          ฝ่ายไทย          ฝ่ายจีน
          - จัดส่งข้อเสนอสำหรับความร่วมมือด้าน             การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งครอบคลุมถึงรูปแบบการฝึกอบรม สาขา และระยะเวลาดำเนินงานไปยังสถานเอกอัครราชทูตจีนในประเทศไทยเพื่อพิจารณาเป็นประจำทุกปี2
- คัดเลือกผู้สมัครที่เหมาะสมสำหรับแผนงานฝึกอบรม การอบรมเชิงปฏิบัติการ และสัมมนาที่จัดในจีน รวมถึงดำเนินการเพื่ออำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนไปยังจีน
- จัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกในการฝึกอบรมและบริหารจัดการเจ้าหน้าที่สำหรับกิจกรรมที่จัดในประเทศไทย
- อำนวยความสะดวกแก่การปฏิบัติงานของผู้เชี่ยวชาญจีนในประเทศไทย รวมถึงการตรวจลงตราแกผู้เชี่ยวชาญจีน และการบริหารจัดการเจ้าหน้าที่ เพื่อประสานการดำเนินงานตามแผนงานที่ได้ตกลงไว้
(กต. ได้จัดเตรียมงบประมาณในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องจากงบประมาณที่ได้รับจัดสรรไว้แล้ว)          - เชิญบุคลากรจากประเทศไทยเข้ามาร่วมฝึกอบรมระยะสั้นในระดับทวิภาคีและพหุภาคีรวมถึงการอบรมเชิงปฏิบัติการและสัมมนาซึ่งจีนเป็นเจ้าภาพ
- จัดส่งผู้เชี่ยวชาญเพื่อฝึกอบรมบุคลากรในประเทศไทย และสนับสนุนสื่อการเรียนการสอนและวัสดุอุปกรณ์สำหรับการฝึกอบรมที่จำเป็น ตามคำขอของฝ่ายไทย
- มอบทุนการศึกษาสำหรับบุคลากรจากประเทศไทย
- รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ดังนี้
   (1) ค่าเดินทางไปกลับระหว่างจีนและประเทศไทยสำหรับบุคลากรทั้งสองฝ่าย
   (2) ค่าธรรมเนียมการฝึกอบรมและการเรียนการสอน รวมถึงสื่อการเรียนการสอนและวัสดุอุปกรณ์สำหรับการฝึกอบรม
   (3) ค่าอาหาร ค่าที่พัก และค่าเดินทางในจีน สำหรับผู้เข้าร่วมจากฝ่ายไทย
   (4) ค่าอาหาร ค่าที่พัก ค่าเดินทาง และค่าเบี้ยเลี้ยงของบุคลากรจีนในระหว่างพำนักที่ประเทศไทย
   (5) ค่าประกันอุบัติเหตุสำหรับผู้เข้าร่วมจากประเทศไทยในระหว่างการเข้าร่วมอบรมและสัมมนาในจีน รวมถึงการดูแลรักษาพยาบาลในกรณีฉุกเฉินและอุบัติเหตุ
          - ดำเนินความร่วมมือรูปแบบไตรภาคีผ่านการฝึกอบรมให้กับประเทศที่สามหรือระดับจังหวัด
หน่วยงานรับผิดชอบ          กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ          องค์การความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของจีน
พันธกรณี          ไม่มีความมุ่งหมายที่จะสร้างพันธกรณีที่มีผลผูกพันทางกฎหมายใด ๆ กับผู้เข้าร่วม
การมีผลบังคับใช้          นับตั้งแต่วันที่มีการลงนาม และจะมีผลไปจนกว่าผู้เข้าร่วมฝ่ายหนึ่งจะแจ้งให้อีกฝ่ายทราบเป็นลายลักษณ์อักษรผ่านช่องทางการทูต เพื่อยุติบันทึกความเข้าใจฯ ผ่านช่องทางการทูต
ประโยชน์และผลกระทบ          การจัดทำบันทึกความเข้าใจฯ จะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานของไทยในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ การฝึกฝนทักษะความรู้จากจีนในสาขาที่ไทยและจีนได้ตกลงกัน รวมถึงความร่วมมือไตรภาคีผ่านจัดหลักสูตรฝึกอบรมให้กับประเทศที่สามหรือระดับจังหวัดและช่วยยกระดับบทบาทไทยในฐานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนากับประเทศต่าง ๆ รวมถึงยังสะท้อนความมุ่งมั่นของไทยต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
                    2. กต. แจ้งว่า ร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าวไม่มีถ้อยคำหรือบริบทใดที่มุ่งก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ จึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
1 องค์การความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของจีน (CIDCA) มีหน้าที่กำกับงานด้านความร่วมมือเพื่อการพัฒนาและมีนโยบายและยุทธศาสตร์ความร่วมมือด้านความช่วยเหลือต่างประเทศ โดยขึ้นตรงต่อคณะรัฐมนตรีของสาธารณรัฐประชาชนจีน
2 หน่วยงานรับผิดชอบของฝ่ายไทยและฝ่ายจีนจะเห็นชอบร่วมกันถึงบัญชีรายชื่อ เนื้อหาของแผนงาน ข้อเสนอสำหรับแผนงานด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งผ่านการอนุมัติจากทั้งสองฝ่ายทุกปี โดยดำเนินการอยู่บนพื้นฐานของการมีผลประโยชน์ร่วมกัน

21.  เรื่อง การขอความเห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน - สหภาพยุโรป ครั้งที่ 24
          คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน - สหภาพยุโรป ครั้งที่ 24 (ร่างแถลงการณ์ร่วมฯ) โดยหากมีการแก้ไขร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ขอให้ กต. ดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก รวมทั้งให้รองนายกรัฐมนตรี (นายปานปรีย์ พหิทธานุกร) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองแถลงการณ์ร่วมฯ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
                    สาระสำคัญ
                    สหภาพยุโรปและอาเซียนมีกำหนดจัดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน - สหภาพยุโรป ครั้งที่ 24 ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 ณ กรุงบรัสเซลล์ ราชอาณาจักรเบลเยียม โดยที่ประชุมจะร่วมรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ซึ่งเป็นเอกสารผลลัพธ์การประชุมโดยร่างแถลงการณ์ดังกล่าว มีสาระสำคัญเพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปในการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ระหว่างกันภายใต้ความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์และส่งเสริมความร่วมมือด้านต่าง ๆ เช่น การส่งเสริมความเชื่อมโยงกัน การเพิ่มความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การส่งเสริมการค้าการลงทุน การจัดทำเขตการค้าเสรีระหว่างกัน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความมั่นคงทางไซเบอร์ เป็นต้น
                    ประโยชน์ที่ได้รับ: ร่างแถลงการณ์ร่วมฯ มีสาระสำคัญครอบคลุมความร่วมมือด้านระหว่างอาเซียนกับสหภาพยุโรปและจะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยในการส่งเสริมการค้าการลงทุนกับสหภาพยุโรป และการเสริมสร้างความร่วมมือกับสหภาพยุโรปในประเด็นที่ไทยต้องการเพิ่มพูนศักยภาพ เช่น การเปลี่นผ่านสีเขียว การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล

22.  เรื่อง ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงการต่างประเทศในนามของประเทศสมาชิกยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง กับสถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขงว่าด้วยการสนับสนุนสำนักงานเลขาธิการชั่วคราว ACMECS
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงการต่างประเทศในนามของประเทศสมาชิกยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง (Ayeyawady - Chao Phraya - Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS)1 กับสถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง2 (Mekong Institute: MI) ว่าด้วยการสนับสนุนสำนักงานเลขาธิการชั่วคราว ACMECS (ร่างบันทึกความเข้าใจฯ) และหากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างบันทึกความเข้าใจฯ ที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง รวมทั้งให้ผู้แทนที่ กต. มอบหมายเป็นผู้ลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าวตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
                    สาระสำคัญ
                    กต. รายงานว่า ในคราวประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส ACMECS ณ นครเวียงจันทน์ ประเทศลาว เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2565 ที่ประชุมมีมติห็นชอบในหลักการกับข้อเสนอของประเทศไทยในการจัดตั้งสำนักงานเลขาธิการชั่วคราว ACMECS โดยให้มีที่ตั้งอยู่ที่ กต. พร้อมทั้งมอบหมายให้สถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขงทำหน้าที่เป็นผู้ให้การสนับสนุนทางเทคนิคและให้ประเทศไทยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยต่อมา หลังจากที่ได้หารือร่วมกับประเทศสมาชิก ACMECS แล้ว กต. ได้ร่วมกับสถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขงยกร่างบันทึกความเข้าใจฯ เพื่อเป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการส่งเสริมความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และขับเคลื่อนสำนักงานเลขาธิการชั่วคราว ACMECS ในการสนับสนุนภารกิจหลัก 4 ประการ ได้แก่ (1) การวางนโยบาย การวางแผน และการประสานงาน (2) การจัดประชุม (3) การบริหารจัดการโครงการ และ (4) ยุทธศาสตร์การสื่อสาร
                    ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศของประเทศสมาชิก ACMECS ได้มีหนังสือถึง กต. แจ้งความเห็นชอบให้ กต. เป็นผู้ลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ ในนามของประเทศสมาชิก ACMECS ร่วมกับสถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขงด้วยแล้ว
                    การลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ เป็นการแสดงเจตนารมณ์ในการส่งเสริมความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและขับเคลื่อนสำนักงานเลขาธิการชั่วคราวฯ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการบรรลุวัตถุประสงค์ของ ACMECS ในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน การสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และโอกาสการจ้างงาน รวมถึงลดช่องว่างทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิก ตลอดจนส่งเสริมบทบาทที่สร้างสรรค์ของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศ
????______________________________
1เป็นกรอบความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงซึ่งประเทศไทยเป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งเมื่อปี 2546 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันการสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และโอกาสการจ้างงาน รวมถึงลดช่องว่างทางเศรษฐกิจและการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิก  ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และประเทศไทย นอกจากนี้ ในปัจจุบันยังมีการผลักดันประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา (Development Partners: DPs) (ประกอบด้วย ออสเตรเลีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา) ให้เข้ามามีบทบาทเชิงสร้างสรรค์ในอนุภูมิภาคอย่างสอดประสานกัน
2เป็นองค์กรระหว่างประเทศ ตั้งอยู่ ณ จังหวัดขอนแก่น มีบทบาทในการขับเคลื่อนภารกิจด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และเสริมสร้างศักยภาพในการเร่งพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน การขจัดความยากจนให้แก่ประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและการส่งเสริมความร่วมมือและการรวมตัวระหว่างประเทศในระดับภูมิภาคภายใต้กรอบกิจกรรม 3 ด้าน ได้แก่ (1) การพัฒนาทางการเกษตรและการพาณิชย์ (2) การอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน และ (3) นวัตกรรมและการเชื่อมโยงเทคโนโลยี

23. เรื่อง ขอความเห็นชอบร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัล ครั้งที่ 4 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างเอกสารในข้อ 1 และข้อ 2 รวมจำนวน 12 ฉบับ โดยหากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงถ้อยคำที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ขอให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก รวมทั้งอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือผู้แทนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมอบหมาย ร่วมลงนามในร่างเอกสารในข้อ 1 และร่วมรับรองเอกสารในข้อ 2 ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ
                    สาระสำคัญของร่างเอกสาร
                    กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ขอเสนอร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัล ครั้งที่ 4 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวม 12 ฉบับ โดยแบ่งเป็นเอกสาร
ที่จะมีการลงนาม จำนวน 1 ฉบับ และเอกสารที่จะรับรอง จำนวน 11 ฉบับ
                    1. สาระสำคัญของร่างเอกสารที่จะลงนาม จำนวน 1 ฉบับ คือ ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยความร่วมมือด้านการสื่อสารและเทคโนโลยีดิจิทัล (Memorandum of Understanding between the Association of Southeast Asian Nations and the People?s Republic of China on Co ? operation in Communications and Digital Technology) มีเนื้อหาและขอบเขตความร่วมมือ อาทิ การแลกเปลี่ยนนโยบายและกฎระเบียบด้านดิจิทัลและ ICT โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เทคโนโลยีอุบัติใหม่ ความมั่นคงปลอดภัยด้านดิจิทัล การส่งเสริมทักษะด้านดิจิทัล การค้าดิจิทัล การบริหารจัดการคลื่นความถี่วิทยุ และความร่วมมืออื่น ๆ ในด้านดิจิทัลและ ICT ที่ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องร่วมกัน
                    2. สาระสำคัญของร่างเอกสารที่จะรับรอง จำนวน 11 ฉบับ ดังนี้
                              2.1 ร่างปฏิญญาสิงคโปร์ (Singapore Declaration) สาระสำคัญ อาทิ 1) การสร้างความเชื่อมั่นในระบบนิเวศทางดิจิทัล โดยการส่งเสริมนวัตกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลและส่งเสริมการใช้และการส่งผ่านข้อมูลในอาเซียน 2) การกระชับความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในการกำกับดูแลเทคโนโลยีอุบัติใหม่ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ขั้นสูง
                              2.2 ร่างถ้อยแถลงข่าวร่วมสำหรับการประชุม ADGMIN ครั้งที่ 4 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง (Joint Media Statement) เป็นเอกสารที่ระบุถึงสาระสำคัญของผลการประชุม ADGMIN ครั้งที่ 4
และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการยกระดับความร่วมมือด้านดิจิทัลระหว่างอาเซียนกับคู่เจรจาและภาคี
ภายนอก เพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามแผนแม่บทอาเซียนด้านดิจิทัล ค.ศ. 2025
                              2.3 ร่างแนวปฏิบัติธรรมาธิบาลและจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ของอาเซียน ? รายงานการศึกษาภูมิทัศน์ปัญญาประดิษฐ์ของอาเซียน (ระยะ 2) (Part 2 of ASEAN Guide on Artificial
Intelligence (AI) Governance and Ethics) เป็นแนวปฏิบัติสำหรับองค์กรในภูมิภาคที่ต้องการออกแบบ
การพัฒนา และปรับใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์แบบดั้งเดิม (Traditional AI) โดยมุ่งเน้นให้เกิดความสอดคล้องและส่งเสริมความสามารถในการทำงานร่วมกันภายในอาเซียน ได้แก่ การกำกับดูแลโครงสร้างภายในและมาตรการต่าง ๆ การกำหนดการมีส่วนร่วมของมนุษย์ในการตัดสินใจ การบริหารจัดการระบบปฏิบัติการและการมีส่วนร่วมและการสื่อสารกับผู้มีส่วนได้เสีย
                              2.4 ร่างแนวทางปฏิบัติร่วมระหว่างข้อสัญญามาตรฐานของสหภาพยุโรปและข้อสัญญาต้นแบบของอาเซียนสำหรับการโอนข้อมูลระหว่างประเทศ (ระยะ 2) (Part 2 of EU ? ASEAN Joint Guide on Model Contractual Clauses for Data Transfers - Implementation Guide) เป็นเอกสารแนวทางปฏิบัติร่วมฯ เพื่อเป็นคู่มือในการอำนวยความสะดวกให้กับภาคธุรกิจในการประกอบธุรกิจทั้งในภูมิภาคอาเซียนและสหภาพยุโรปในการจัดทำสัญญาทางธุรกิจที่สอดคล้องกับข้อกำหนดของข้อสัญญาต้นแบบฯ และเพื่อนำไปสู่การสร้างความสอดคล้องทางกฎหมายและกฎระเบียบด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของภูมิภาคอาเซียนและสหภาพยุโรป
                              2.5 ร่างรายงานทบทวนการดำเนินงานระยะกลางของแผนแม่บทอาเซียนด้านดิฐิทัล ค.ศ. 2025 (ASEAN Digital Masterplan 2025 Mid - Term Review) เป็นการรายงานผลการทบทวนการดำเนินงานระยะกลางของแผนแม่บทอาเซียนด้านดิจิทัล ค.ศ. 2025
                              2.6 ร่างเอกสารต้นแบบทางการเงินสำหรับการจัดตั้งศูนย์ประสานงานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ของอาเซียน (Financial Model of the ASEAN Regional Computer Emergency Response Team (CERT)) เป็นเอกสารข้อเสนอทางการเงินสำหรับการจัดตั้งASEAN Regional CERT ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่มีความซับซ้อนและพัฒนาการที่มากขึ้น เอกสารจะประกอบด้วย หน้าที่ กรอบการดำเนินงาน และประมาณการค่ใช้จ่าย
                              2.7 ร่างเอกสารพื้นที่นำร่องด้านการกำกับดูแลเพื่ออำนวยความสะดวกของการไหลเวียนข้อมูลดิจิทัลข้ามพรมแดนสำหรับการใช้งานรถยนต์ไร้คนขับในอาเซียน (Regulatory Pilot Space (RPS) to Facilitate Cross - Border Digital Data Flows to Enabling Self - Driving Car in ASEAN) เป็นการศึกษาด้านการกำกับดูแลกฎระเบียบของแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่ออำนวยความสะดวกในเรื่องการส่งผ่านข้อมูลดิจิทัลข้ามพรมแดนสำหรับการใช้งานรถยนต์ไร้คนขับในอาเซียน
                              2.8 ร่างเอกสารกรอบการดำเนินงานอาเซียนด้านโลจิสติกส์ของห่วงโซ่อุปทานเศรษฐกิจดิจิทัลสำหรับพื้นที่ชนบท เพื่อยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขัน ลดช่องว่างทางดิจิทัลและการพัฒนาโลจิสติกส์ของห่วงโซ่อุปทานในพื้นที่ชนบท ผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อเร่งรัดการเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียน ประกอบด้วย 4 เสาหลัก (1) ธรรมาภิบาลข้อมูล (2) โลจิสติกส์ (3) การพัฒนาเศรษฐกิจ และ (4) วัฒนธรรมดิจิทัล
                              2.9 ร่างเอกสารการประเมินความเกี่ยวข้องระหว่างโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและทักษะด้านดิจิทัล และการไหลเข้าของการลงทุนจากต่างประเทศสู่ภาคเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของอาเซียน: การระบุทางเลือกด้านนโยบายเพื่อปรับปรุงการดึงดูดด้านการลงทุน (Assessing the Relationship between ICT Infrastructure and Digital Skills and the Inflow of Foreign Investment to the ASEAN ICT Sector: Identification of Policy Options to Improve Investment Attraction) มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถประเมินระดับความพร้อมทางดิจิทัล และนำไปสู่การพัฒนาด้านกฎหมาย นโยบาย กฎระเบียบ และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
                              2.10 ร่างเอกสารการจัดทำมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลและสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติในภูมิภาคอาเซียน (Establishment of the Standard to Exchange Data and Information Related to Disaster in the ASEAN Region) เพื่อสร้างมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน โดยจะส่งผลให้มีการรับมือต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
                              2.11 ร่างเอกสารกรอบการดำเนินงานของคณะทำงานอาเซียนด้านการป้องกันปัญหาการหลอกลวงผ่านสื่อออนไลน์ (Operational Framework of the Working Group on Anti - Online Scam (WG - AS)) ซึ่งเป็นข้อเสนอของประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีสำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนในการประสานงานและร่วมมือกันในการเสริมสร้างศักยภาพ การฝึกอบรมและแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้กับการหลอกลวงทางออนไลน์ และการหลอกลวงผ่านช่องทางดิจิทัลและโทรคมนาคม รวมถึงเป็นเวทีสำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนหารือ และปรับใช้แนวทางการประสานงานเพื่อจัดการกับการหลอกลวงออนไลน์ ติดตามข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการต่อต้านการหลอกลวงทางออนไลน์จากสาขาความร่วมมืออาเซียนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และมีส่วนร่วมกับคู่เจรจาอาเซียนเพื่อต่อต้านการหลอกลวงทางออนไลน์
                    ทั้งนี้ กระทรวงการสื่อสารและสารสนเทศแห่งสาธารณรัฐสิงคโปร์ ( Ministry for Communications and Information) จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัล ครั้งที่ 4 (The 4th  ASEAN Digital Ministers? Meeting: The 4th  ADGMIN) และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 30 มกราคม - 2 กุมภาพันธ์ 2567 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ ภายใต้หัวข้อหลัก (Theme) ?การสร้างระบบนิเวศทางดิจิทัลที่ครอบคลุมและเชื่อถือได้? (Building an Inclusive and Trusted Digital Ecosystem)

24.  เรื่อง ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงการสื่อสารและสารสนเทศแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซียว่าด้วยความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ ดังนี้                              1. ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงการสื่อสารและสารสนเทศแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซียว่าด้วยความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล ทั้งนี้ ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องปรับปรุงถ้อยคำที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ขอให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมดำเนินการโดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก
                    2. อนุมัติให้ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมร่วมลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงการสื่อสารและสารสนเทศแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซียว่าด้วยความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล ตามข้อ 1
                    สาระสำคัญ
                    1. ความเป็นมา
                              1.1 ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยได้เข้าร่วมการประชุมหารือทวิภาคีกับหัวหน้าคณะผู้แทนสาธารณรัฐอินโดนีเซียจากกระทรวงการสื่อสารและสารสนเทศแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซียระหว่างการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านดิจิทัล ครั้งที่ 3 (The 3rd ASEAN Digital Senior Official?s Meeting : ADGSOM) และการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัลครั้งที่ 3 (The 3rd ASEAN Digital Ministers? Meeting : ADGMIN) ณ เกาะโบราเคย์ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์เมื่อวันที่ 6 - 10 กุมภาพันธ์ 2566 โดยได้หารือในประเด็นความร่วมมือด้านดิจิทัลที่ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญและต้องการผลักดันเพื่อจัดทำร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างสองประเทศ
                              1.2 ต่อมากระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้มีการยกร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงการสื่อสารและสารสนเทศแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซียในประเด็นความร่วมมือด้านดิจิทัล และได้นำส่งร่างบันทึกความเข้าใจฯ ผ่านทางกระทรวงการต่างประเทศ ต่อมาฝ่ายอินโดนีเซียได้นำส่งร่างโต้ตอบ (Counter Draft) ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมพิจารณาและได้มีการหารือร่วมกันและสามารถตกลงในร่างสุดท้ายของบันทึกความเข้าใจสองฝ่าย โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่าจะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจฯ โดยผู้นำเจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายไทย คือ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และฝ่ายอินโดนีเซีย คือ Ms. Mira Tayyiba เลขาธิการ กระทรวงการสื่อสารและสารสนเทศ ในระหว่างการประชุม ADGSOM ครั้งที่ 4 ซึ่งกำหนดจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 - 31 มกราคม 2567 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์
                    2. สาระสำคัญของร่างบันทึกความเข้าใจฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทวิภาคีและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างผู้เข้าร่วมทั้งสองฝ่ายในขอบเขตของเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร และการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล (digitalization)

25.  เรื่อง ร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมสภาความร่วมมือซาอุดี ? ไทย ครั้งที่ 1
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้
                    1. เห็นชอบต่อร่างเอกสารผลัพธ์การประชุมสภาความร่วมมือชาอุดี ? ไทย ครั้งที่ 1 ประกอบด้วย ร่างข้อริเริ่มความร่วมมือ (Initiative Card) จำนวน 78 ฉบับ ร่างบันทึกผลการประชุมของการประชุมคณะกรรมการร่วม 5 คณะ จำนวน 5 ฉบับ และร่างบันทึกผลการประชุมของการประชุมสภาความร่วมมือซาอุดี - ไทย ครั้งที่ 1 จำนวน 1 ฉบับ
                    2. อนุมัติให้ปลัดกระทรวงการต่างประเทศในฐานะประธานคณะกรรมการด้านการเมืองและการกงสุล เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติในฐานะประธานคณะกรรมการด้านความมั่นคงและการทหาร ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในฐานะประธานคณะกรรมการด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ปลัดกระทรวงพาณิชย์ในฐานะประธานคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจและการค้า และเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนในฐานะประธานคณะกรรมการด้านการลงทุน ภายใต้สภาความร่วมมือซาอุดี - ไทย หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย เป็นผู้ลงนามในร่างบันทึกผลการประชุมของการประชุมคณะกรรมการร่วมภายใต้สภาความร่วมมือฯ
                    3. อนุมัติให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ลงนามในร่างบันทึกผลการประชุมของการประชุมสภาความร่วมมือซาอุดี - ไทย ครั้งที่ 1 ซึ่งมีกำหนดจัดในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ประเทศไทย
                    4. เห็นชอบให้ประธานคณะกรรมการฝ่ายไทยภายใต้สภาความร่วมมือฯ มีอำนาจหน้าที่ในดำเนินการทั้งปวงที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน การติดตาม และการรายงานผลการดำเนินการภายใต้คณะกรรมการที่กำกับดูแล เพื่อให้ร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมสภาความร่วมมือฯ โดยเฉพาะร่างข้อริเริ่มความร่วมมือ (Initiative Card) มีผลในทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม
                    5.  เห็นชอบให้กระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามนัยข้อ 2 และ 3 ต่อไปได้ หากมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนจำนวนและถ้อยคำของร่างข้อริเริ่มความร่วมมือ (Initiative Card) ตลอดจนถ้อยคำของร่างบันทึกผลการประชุมในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญละไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นขอบไว้ให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการได้โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง โดยกระทรวงการต่งประเทศจะชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าวตามหลักเกณฑ์ของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 เรื่อง การจัดทำหนังสือสัญญาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ
                    สาระสำคัญ
                    1) ประเทศไทยและราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งสภาความร่วมมือซาอุดี - ไทย เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 เพื่อเป็นกลไกส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันในทุกมิติ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายเป็นประธานร่วม และมีการจัดตั้งคณะกรรมการ (committee) ภายใต้สภาความร่วมมือฯ ในสาขาต่าง ๆ โดยเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2566 กระทรวงการต่างประเทศจัดการประชุมพิจารณาโครงสร้างองค์กร ขั้นตอนการกำกับดูแล และกลไกการดำเนินงานภายใต้สภาความร่วมมือฯ ที่กระทรวงการต่างประเทศ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของฝ่ายไทยเข้าร่วมการประชุม โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบการแต่งตั้งคณะกรรมการ 5 คณะ และฝ่ายเลขานุการภายใต้สภาความร่วมมือฯ ดังนี้ (1) คณะกรรมการด้านการเมืองและการกงสุล (Political and Consular Committee) มีกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายเป็นประธานร่วม (2) คณะกรรมการด้านความมั่นคงและการทหาร (Security and Military Committee) มีสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นประธานฝ่ายไทย และมีกระทรวงมหาดไทยราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียเป็นประธานฝ่ายซาอุดีอาระเบีย (3) คณะกรรมการด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว (Cultural and Tourism Committee) มีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นประธานฝ่ายไทย และมีกระทรวงวัฒนธรรมราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียเป็นประธานฝ่ายซาอุดีอาระเบีย (4) คณะกรรมการด้านเศรษฐกิจและการค้า (Economic and Trade Committee) มีกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานฝ่ายไทย และมีสำนักงานการค้าต่างประเทศราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียเป็นประธานฝ่ายซาอุดีอาระเบีย (5) คณะกรรมการด้านการลงทุน (Investment Committee) มีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเป็นประธานฝ่ายไทย และมีกระทรวงการลงทุนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียเป็นประธานฝ่ายซาอุดีอาระเบีย (6) กรมเลขาธิการสภาความร่วมมือ (Secretariat-General of the STCC) มีกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายปฏิบัติหน้าที่เลขานุการร่วม
                    นอกจากนี้ ที่ประชุมยังให้การรับรองขั้นตอนการกำกับดูแล และกลไกการดำเนินงานของสภาความร่วมมือฯ ซึ่งระบุสาระสำคัญกี่ยวกับขั้นตอนการจัดทำข้อเสนอความร่วมมือของคณะกรรมการแต่ละคณะ และขั้นตอนการเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาความร่วมมือฯ ตลอดจนการกำหนดรูปแบบของเอกสารสำคัญที่จะใช้ในการดำเนินงานของคณะกรรมการและสภาความร่วมมือฯ
                    2) เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2566 ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน - คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (ASEAN - GCC Summit) ครั้งที่ 1 ที่กรุงริยาต ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย นายกรัฐมนตรีเข้าเฝ้าฯ เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด (H.R.H. Prince Mohammed bin Salman bin Abdulaziz Al Saud) มกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย โดยทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันที่จะให้มีการจัดทำแผนความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมระหว่างทั้งสองประเทศ ซึ่งครอบคลุมมิติความร่วมมือในทุกด้าน โดยอาศัยสภาความร่วมมือฯ เป็นกลไกการขับเคลื่อนการจัดทำแผนความร่วมมือดังกล่าว
                    3) คณะกรรมการทุกคณะของฝ่ายจัดการประชุมเตรียมการกับสมาชิกคณะกรรมการฝ่ายไทยเพื่อพิจารณาข้อเสนอความร่วมมือในประเด็นที่อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการและนำข้อเสนอข้างต้นไปหารือกับฝ่ายซาอุดีอาระเบียในการประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการของทั้งสองฝ่าย โดยทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันที่จะนำเสนอร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมคณะกรรมการทั้ง 5 คณะ ให้ที่ประชุมสภาความร่วมมือฯ ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 ให้การรับรอง ดังนี้
                              (1) ร่างข้อริเริ่มความร่วมมือ (Initiative Card) จำนวน 78 ฉบับ ซึ่งคณะกรรมการทั้ง 5 คณะ ของฝ่ายไทยและฝ่ายซาอุดีอาระเบียเห็นชอบให้นำเสนอต่อที่ประชุมสภาความร่วมมือฯ
                              (2) ร่างบันทึกผลการประชุมของการประชุมคณะกรรมการร่วมทั้ง 5 คณะ จำนวน 5 ฉบับ ระหว่างฝ่ายไทยและฝ่ายชาอุดีอาระเบีย โดยมีประธานคณะกรรมการหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายของทั้งสองฝ่ายลงนามให้ความเห็นชอบ มีสาระสำคัญสรุปภาพรวมความคืบหน้าของการดำเนินการในระยะที่ผ่านมา ตลอดจนกล่าวถึงร่างข้อริเริ่มความร่วมมือ (Initiative Card) ที่ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันให้นำเสนอต่อที่ประชุมสภาความร่วมมือฯ
                    4) นอกเหนือจากร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมที่นำเสนอโดยคณะกรรมการทั้ง 5 คณะ แล้ว กรมเลขาธิการฯ ของทั้งสองฝ่ายเห็นชอบให้มีการลงนามในร่างบันทึกผลการประชุมของการประชุมสภาความร่วมมือฯ จำนวน 1 ฉบับ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายจะลงนามร่วมกัน มีสาระสำคัญกล่าวถึงร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมของคณะกรรมการทั้ง 5 คณะ โดยร่างบันทึกผลการประชุมดังกล่าวจะเป็นเอกสารที่สะท้อนผลลัพธ์การหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีกับมกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2566 ที่ให้มีการจัดทำแผนความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมขึ้น
                    ประโยชน์และผลกระทบ
                    1) ร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมเป็นเอกสารที่แสดงเจตจำนงทางการเมืองระหว่างรัฐบาลของทั้งสองฝ่ายที่จะส่งเสริมความร่วมมือในทุกมิติระหว่างประเทศไทยและราชอาณาจักรชาอุดีอาระเบียผ่านการระบุข้อริเริ่มความร่วมมือที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมที่ทั้งสองฝ่ายจะมุ่งขับเคลื่อนให้เกิดผลที่จับต้องได้และเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน โดยไม่มีถ้อยคำหรือบริบทใดที่มุ่งจะก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่ก่อให้เกิดตราสารที่มีผลผูกพันทางกฎหมายต่อคู่ภาคีภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ
                    2) การกำหนดข้อริเริ่มความร่วมมือที่ชัดเจนโดยมีการมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การกำหนดผลลัพธ์สำคัญ (main deliverables) และกรอบเวลาในการดำเนินการ ตลอดจนกลไกการติดตามผลที่ชัดเจน จะเป็นประโยชน์ในการผลักดันให้ประเด็นต่าง ๆ เกิดผลเป็นรูปธรรมและคาดหมายความสำเร็จได้

26. เรื่อง รายงานผลการเจรจาการบินระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา
                      คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบ เห็นชอบ และอนุมัติ ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ดังนี้
                      1. รับทราบบันทึกความเข้าใจระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา ฉบับลงนามเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2560
                      2. เห็นชอบร่างความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา และหากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขเอกสารที่ไม่ใช่สาระสำคัญ หรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ขอให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการต่อไปได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง
                     3. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ลงนามร่างความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐสังคมนิยม ประชาธิปไตยศรีลังกา และให้กระทรวงการต่างประเทศออกหนังสือมอบอำนาจ (Full Powers) ให้แก่ผู้ที่ได้รับมอบหมายดังกล่าวด้วย
                      4. มอบให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการแจ้งเป็นหนังสือผ่านช่องทางทางการทูตถึงการดำเนินการตามกระบวนการเสร็จสิ้นเพื่อให้ความตกลงฯ มีผลใช้บังคับ

*นายกรัฐมนตรีมีกำหนดจะเดินทางเยือนศรีลังกาอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 3-4 กุมภาพันธ์ 2567 ในฐานะแขกเกียรติยศในโอกาสวันเอกราชศรีลังกาและเข้าร่วมพิธีลงนามความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศระหว่างระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา
                       สาระสำคัญและข้อเท็จจริง
                      คณะผู้แทนทั้งสองฝ่ายได้หารือและตกลงร่วมกันในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
                      1. การจัดทำความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศฉบับใหม่
                                ทั้งสองฝ่ายตกลงจัดทำความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศระหว่างกันฉบับใหม่ เพื่อใช้แทนที่ความตกลงฯ ฉบับเดิม ลงนามเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2493 เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของ สภาวการณ์การบินในปัจจุบัน และรองรับต่อกระบวนการภายในของทั้งสองประเทศ ทั้งนี้ รายละเอียดในความตกลงฯ เป็นไปตามร่างความตกลงฯ มาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ และไม่ขัดหรือแย้งกับกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องของประเทศไทย
                     2. การมีผลบังคับใช้
                               คณะผู้แทนทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่า เมื่อร่างฯ ความตกลงฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งประเทศไทยและรัฐบาลแห่งซีลอนซึ่งเกี่ยวกับบริการขนส่งทางอากาศ จัดทำ ณ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2493 และความตกลงฉบับอื่นใด ๆ จะยุติการมีผลบังคับใช้และถูกยกเลิกไปพร้อมกัน ทั้งนี้ ตัวบทของร่างความตกลงฯ ฉบับนี้จะมีผลใช้บังคับเป็นการชั่วคราวจนกว่ากระบวนการภายในของภาคีคู่สัญญาจะเสร็จสมบูรณ์สำหรับการลงนามเต็มและการมีผลบังคับใช้ของความตกลง
                      ประโยชน์ที่จะได้รับ
                      การจัดทำความตกลงฯ ฉบับใหม่ในครั้งนี้เป็นการยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่การเดินอากาศและสายการบินของภาคีคู่สัญญาให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติสากลที่นานาประเทศยอมรับ โดยมีรายละเอียดของร่างข้อบทที่สอดรับกับกระบวนการภายในและเป็นไปตามแนวทางที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศกำหนดไว้ ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับความตกลงฯ ฉบับเดิม ความตกลงฯ ฉบับใหม่มีความแตกต่าง ดังนี้
                                (1) มีการเพิ่มข้อบทสำคัญที่จำเป็นต่อการกำกับดูแลของเจ้าหน้าที่การเดินอากาศ ซึ่งไม่ปรากฏในความตกลงฯ ฉบับเดิม ได้แก่ ข้อ 6 (การผ่านแดนโดยตรง) ข้อ 4 (ความปลอดภัยการบิน) ข้อ 9 (การรักษาความปลอดภัยการบิน) ข้อ 12 (การแข่งขันที่เป็นธรรม) ข้อ 14 (พิกัดอัตราค่าขนส่ง) ข้อ 15 (การป้องกันการแข่งขัน) ข้อ 17 (กิจกรรมเชิงพาณิชย์) ข้อ 18 (การทำการบินโดยใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมกัน) ข้อ 19 (สถิติ) ข้อ 20 (การอนุญาตกำหนดการบิน) และข้อ 21 (การปรึกษาหารือ)
                                 (2) มีแนวทางการดำเนินงานที่ทันสมัยยิ่งขึ้น เช่น ข้อ 3 (การกำหนดสายการบิน และการอนุญาตดำเนินการ) มีการเพิ่มเงื่อนไขของการกำหนดสายการบินให้รองรับต่อความปลอดภัยการบิน และการรักษาความปลอดภัยการบิน ข้อ 4 (การระงับ การเพิกถอน และการจำกัดใบอนุญาตดำเนินการ) กำหนดเงื่อนไขให้สอดคล้องกับข้อ 3 ข้างต้น ข้อ 10 (ค่าภาระ) ส่งเสริมการปรึกษาหารือระหว่างผู้เรียกเก็บค่าภาระและผู้ถูกเรียกเก็บ ซึ่งเป็นการเสริมสร้างความโปร่งใสของการดำเนินงานในระยะยาว ข้อ 11 (ภาษีศุลกากร) ระบุกรอบการดำเนินงานของการละเว้นภาษีที่ชัดเจนและเป็นประโยชน์ต่อสายการบินทั้งสองฝ่ายมากยิ่งขึ้น และ ข้อ 13 (ความจุ) ปรับปรุงข้อบทให้สอดคล้องกับสิทธิการบินในปัจจุบันที่ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันตามบันทึกความเข้าใจลับ ลงนามเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2547

แต่งตั้ง
27. เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ
                      คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐขึ้นใหม่ ซึ่ง กค. ได้ทบทวนองค์ประกอบ หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว
                      องค์ประกอบที่เสนอแต่งตั้งใหม่
                     รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังที่กำกับดูแลกรมบัญชีกลาง เป็นรองประธานกรรมการ กรรมการประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปลัดกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ อธิบดีกรมบัญชีกลาง ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ โดยมี ที่ปรึกษาหรือรองอธิบดีที่อธิบดีกรมบัญชีกลางมอบหมาย ที่ปรึกษาหรือรองผู้อำนวยการที่ผู้อำนวยการ สคร. มอบหมาย และที่ปรึกษาหรือรองผู้อำนวยการที่ผู้อำนวยการ สบน. มอบหมาย เป็นกรรมการและเลขานุการร่วม
                     หน้าที่และอำนาจที่เสนอในครั้งนี้
                      1. ติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณทั้งรายจ่ายประจำ และรายจ่ายลงทุนของหน่วยรับงบประมาณ รวมทั้งติดตามเร่งรัดการใช้จ่ายภาครัฐอื่น ๆ และโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เป็นต้น
                      2. เสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาหรืออุปสรรคที่ทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐล่าช้า รวมทั้งกำหนดมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ และการใช้จ่ายภาครัฐประจำปีงบประมาณ และรายงานผลความก้าวหน้า ปัญหาอุปสรรค การดำเนินการ และเสนอแนะแนวทางแก้ไข ตามอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายต่อคณะรัฐมนตรี
                      3. เชิญหน่วยรับงบประมาณและองค์กรที่เกี่ยวข้อง มาชี้แจงให้ข้อมูล และแสดงความคิดเห็น ตามความจำเป็น หรือตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร
                      4. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงาน เพื่อช่วยปฏิบัติงานของคณะกรรมการได้ตามความจำเป็น
                      5. ดำเนินการอื่นใดตามที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย
                     ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2567 เป็นต้นไป



28. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักนายกรัฐมนตรี)
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นายสุพัฒน์ เมธีวรพจน์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการคณะคณะรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

29. เรื่อง การรับโอนข้าราชการตำรวจมาบรรจุเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สำนักนายกรัฐมนตรี)
                      คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอรับโอน พลตำรวจเอก รอย อิงคไพโรจน์ ข้าราชการตำรวจ ตำแหน่ง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มาบรรจุเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป โดยผู้มีอำนาจสั่งบรรจุทั้งสองฝ่ายได้ตกลงยินยอมในการโอนแล้ว

30. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) เสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ จำนวน 8 คน เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสี่ปี ดังนี้
                     1. นายชลธิศ สุรัสวดี                                ด้านการบริหารจัดการที่ดิน
                     2. นายคณิต สุขรัตน์                               ด้านทรัพยากรดิน
                     3. นายวีระชัย นาควิบูลย์วงศ์                     ด้านการปฏิรูปที่ดิน
                      4. นายมณฑล สุดประเสริฐ                     ด้านการผังเมือง
                      5. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ขวัญชัย ดวงสถาพร  ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
                      6. นายเสรี นนทสูติ                               ด้านกฎหมาย
                     7. รองศาสตราจารย์ชนินทร์ ทินนโชติ            ด้านเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ
                     8. นายกุลิศ สมบัติศิริ                               ด้านเศรษฐศาสตร์
                    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

31. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
                      คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 4 ราย ดังนี้
                      1. นางอัญชลี สุวจิตตานนท์ รองอธิบดี (นักบริหารระดับต้น) กรมส่งเสริมการเกษตร แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง
                     2. นางสาวนฤมล สงวนวงศ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวง (นักบริหารระดับต้น) สำนักงานปลัดกระทรวง แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง
                     3. นายถาวร ทันใจ รองอธิบดี (นักบริหารระดับต้น) กรมประมง แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง
                     4. นายกฤษ อุตตมะเวทิน รองอธิบดี (นักบริหารระดับต้น) กรมส่งเสริมการเกษตร แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง
                     ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เป็นดันไป

32. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการต่างประเทศ)
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงการต่างประเทศ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 9 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่างและสับเปลี่ยนหมุนเวียน ดังนี้
                      1. นายฉัตรชัย วิริยเวชกุล อธิบดีกรมเอเชียตะวันออก ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน
                     2. นายปิยภักดิ์ ศรีเจริญ เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมานามา ราชอาณาจักรบาห์เรน ให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมเอเชียตะวันออก
                     3. นางสาววิมลพัชระ รักษาเกียรติ เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออสโล ราชอาณาจักรนอร์เวย์ ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงซันติอาโก สาธารณรัฐชิลี
                     4. นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศ ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม
                     5. นายนิกรเดช พลางกูร เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมสารนิเทศ
                     6. นางสาวอุรวดี ศรีภิรมย์ เอกอัครราชทูต คณะผู้แทนถาวรไทยประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
                     7. นางพันทิพา เอี่ยมสุทธา เอกะโรหิต รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต คณะผู้แทนถาวรไทยประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย
                      8. นายไพศาล หรูพาณิชย์กิจ เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเม็กซิโก สหรัฐเม็กซิโก ให้ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
                     9. นางสาวนิธิวดี มานิตกุล เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออสโล ราชอาณาจักรนอร์เวย์
                      ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป ซึ่งการแต่งตั้งข้าราชการให้ไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำต่างประเทศทั้ง 5 รายดังกล่าว (ลำดับที่ 1, 3, 4, 6 และลำดับที่ 9) ได้รับความเห็นชอบจากประเทศผู้รับแล้ว

33. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ (กระทรวงการต่างประเทศ)
                      คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอแต่งตั้ง นายธานี แสงรัตน์ เอกอัครราชทูต (นักบริหารการทูต ระดับสูง) สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ไปดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต (นักบริหารการทูต ระดับสูง) สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี สำนักงานปลัดกระทรวง สืบแทนนายวิชชุ เวชชาชีวะ ซึ่งได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้นายวิชชุฯ พ้นจากตำแหน่งดังกล่าว และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต (นักบริหารการทูต ระดับสูง) สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว ญี่ปุ่น สำนักงานปลัดกระทรวง ตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2567 ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ ลงวันที่ 25 มกราคม 2567
                     ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

34. เรื่อง การแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
                     คณะรัฐมนตรีมีมติเป็นหลักการมอบหมายให้รัฐมนตรี เป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ตามความในมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 1 ราย ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค) ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ

35. เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการประเภทบริหาร ระดับสูง (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์)
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง จำนวน 4 ราย ดังนี้
                      1. เลื่อน นางเตือนใจ คงสมบัติ รองอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน ขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
                     2. เลื่อน นางสาวสนธยา บุณยภูษิต รองอธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
                     3. เลื่อน นางสาวนภาพร เมฆาผ่องอำไพ รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
                     4. เลื่อน นางสาวชวนชม จันทะวงษ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
                      ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

36. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
                      คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดังนี้
                      1. นายสิริฤกษ์ ทรงศิวิไล           เป็นประธานกรรมการ
                      2. นายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์           เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิทยาศาสตร์
                      3. นายวีระพงษ์ แพสุวรรณ           เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิทยาศาสตร์
                      4. นางปังปอนด์ รักอำนวยกิจ           เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านสังคมศาสตร์
                      5. นายอาร์ม ตั้งนิรันดร                      เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านมนุษยศาสตร์
                      โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

37. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการธนาคารอาคารสงเคราะห์
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) แทนตำแหน่งที่ว่าง ดังนี้
                      1. นายอัครุตม์ สนธยานนท์            ประธานกรรมการ
                      2. นายธะเรศ โปษยานนท์           กรรมการ
                      โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2567 เป็นต้นไป และให้ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งแทนอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งตนแทน

38. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอให้คณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทยมีจำนวนเกินกว่าสิบเอ็ดคนแต่ไม่เกินสิบห้าคน และแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย ดังนี้
                      1. พลตำรวจโท ประจวบ วงศ์สุข            ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารการกีฬา
                     2. ร้อยโท ปรีชาพล พงษ์พานิช              ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย
                      โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ