คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการให้กองทุนประกันสังคมมีสถานะเป็นนิติบุคคลภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เพื่อจะได้ยกร่างแก้ไขพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ในประเด็นดังกล่าว และทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ก่อนจะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงแรงงานรายงานว่า
1. เนื่องจากกองทุนประกันสังคมมีเงินในกองทุนจำนวนมาก ปัจจุบันต้องใช้จ่ายเป็นประโยชน์ทดแทนรวม 7 กรณี และตั้งแต่ พ.ศ. 2557 จำเป็นต้องใช้จ่ายเป็นสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพตามมาตรา 78 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ทั้งนี้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ต้องดำเนินการจัดการกองทุนให้มีดอกผลเพื่อให้กองทุนมีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ จึงต้องมีการบริหารจัดการตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
2. ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มีข้อกำหนดไว้เพียงว่ากองทุนประกันสังคมจัดตั้งเพื่อใช้จ่ายให้ผู้ประกันตนได้รับประโยชน์ทดแทนและผู้มีสิทธิตามมาตรา 21 มาตรา 54 นำไปใช้จ่ายในการบริหารงานสำนักงานตามมาตรา 24 และการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุนต้องเป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการประกันสังคมกำหนด โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง ตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
3. ในการประชุมคณะกรรมการประกันสังคม ครั้งที่ 26/2550 เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2550 ที่ประชุมได้พิจารณาการจัดตั้งกองทุนประกันสังคมเป็นนิติบุคคลและได้ให้ความเห็นชอบในการแก้ไขพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 เพื่อกำหนดให้กองทุนประกันสังคมมีสถานะเป็นนิติบุคคลภายใต้การกำกับดูแลของ สปส.
4. ปัจจุบันกองทุนประกันสังคมมีสินทรัพย์ ณ วันที่ 30 พฤษภาคม 2551 จำนวน 534,282 ล้านบาท และต้องนำเงินมาใช้จ่ายเป็นประโยชน์ทดแทนให้กับผู้ประกันตนและผู้มีสิทธิ จึงจำเป็นต้องบริหารจัดการกองทุนให้มีเสถียรภาพ เพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อการให้บริการผู้ประกันตนตลอดจนกระทบต่อความมั่นคงของกองทุน การบริหารจัดการกองทุนประกันสังคมที่ผ่านมาประสบปัญหาข้อขัดข้องด้วยข้อกฎหมายตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ซึ่งมิได้กำหนดให้กองทุนเป็นนิติบุคคล กล่าวคือ
4.1 การบริหารกองทุนซึ่งมิได้เป็นนิติบุคคล ทำการลงทุนภายใต้ สปส. ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการทำให้ขาดความคล่องตัวในด้านการสรรหาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการลงทุน เนื่องจากบุคลากรในด้านนี้มีค่าตอบแทนที่สูง รวมทั้งขาดความคล่องตัวในการจัดซื้อจัดจ้างเทคโนโลยีที่ทันสมัยสำหรับค้นหาข้อมูลทางการลงทุนใช้ในการวิเคราะห์และตัดสินใจลงทุน
4.2 กองทุนไม่สามารถมีกรรมสิทธิ์ สิทธิครอบครองและทรัพย์สินต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง เช่น การถือหุ้นในบริษัทที่มีคุณภาพของรัฐ การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
4.3 กองทุนไม่สามารถหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินของกองทุนได้ เช่น การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เพื่อให้เช่าและเป็นรายได้ของกองทุน เนื่องจากทรัพย์สินต่างๆ ตกเป็นของรัฐ
4.4 มีผลกระทบต่อการลงทุนในหุ้นของกิจการแปรรูปจากรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากการซื้อหุ้นของกองทุนภายใต้ สปส. ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการอาจทำให้กิจการแปรรูปกลับสภาพเป็นรัฐวิสาหกิจ
4.5 กองทุนไม่สามารถก่อตั้งสิทธิหรือกระทำนิติกรรมใด ๆ ทั้งในและนอกราชอาณาจักรได้ด้วยตนเอง
5. หลักการที่จำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มีดังนี้
5.1 ให้กองทุนประกันสังคมมีลักษณะเป็นกองทุนนิติบุคคลภายใต้การกำกับดูแลของ สปส. ตลอดจนกำหนดอำนาจหน้าที่ของกองทุนให้กระทำกิจการต่างๆ รวมถึงอำนวยในการทำนิติกรรม การก่อตั้งสิทธิทั้งในและนอกราชอาณาจักร การถือกรรมสิทธิ์ การมีสิทธิครอบครอง ตลอดจนทรัพย์สินต่างๆ การให้กู้ยืมเงินเพื่อประโยชน์แก่ผู้ประกันตน การให้กู้ยืมเงินเพื่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของกองทุน การลงทุนหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินของกองทุน ตลอดจนทั้งการกระทำอย่างอื่นใดบรรดาที่เกี่ยวกับและเกี่ยวเนื่องในการจัดให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของกองทุน ซึ่งจำเป็นต้องกำหนดสถานะให้กองทุนไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ ดังนั้น รายรับที่ได้รับจากเงินสมทบ เงินเพิ่ม เงินค่าธรรมเนียม เงินที่ได้รับจากการบริจาคหรือเงินอุดหนุน เงินที่ตกเป็นของกองทุน เงินอุดหนุนหรือเงินทดรองราชการที่รัฐบาลจ่าย เงินค่าปรับจากการเปรียบเทียบตามกฎหมาย รายได้อื่นตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2537 รวมถึงทรัพย์สินอันได้มาจากการลงทุน ให้นำสมทบเข้ากองทุนโดยไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดินและเพื่อให้ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลด้วย
5.2 เพื่อให้การบริหารจัดการกองทุนเป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสมและมีประสิทธิภาพจะต้องมีองค์ประกอบ ดังนี้
5.2.1 มีระเบียบหรือข้อบังคับของกองทุนซึ่งจะต้องกำหนดให้มีคณะกรรมการสรรหาเพื่อให้ได้มาซึ่งคณะกรรมการบริหารเงินกองทุน และ/หรือผู้จัดการกองทุน และ/หรือคณะกรรมการตรวจสอบ
5.2.2 คุณสมบัติ องค์ประกอบ ที่มาและขั้นตอนของการสรรหา แต่งตั้ง คณะกรรมการบริหารเงินกองทุน และ/หรือผู้จัดการกองทุน และ/หรือคณะกรรมการตรวจสอบที่แสดงถึงศักยภาพและขีดความสามารถในการบริหารจัดการกองทุน
5.2.3 อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารเงินกองทุน และ/หรือผู้จัดการกองทุน และ/หรือคณะกรรมการตรวจสอบ
5.2.4 มีการวางโครงสร้างระบบการบริหารจัดการระบบทางการเงินและบัญชี และระบบการตรวจสอบที่แสดงถึงความโปร่งใสของคณะกรรมการบริหารเงินกองทุน และ/หรือผู้จัดการกองทุนในการบริหารจัดการกองทุน
5.2.5 มีการวางแผนเกี่ยวกับการปฏิบัติงานและกิจกรรมที่แสดงถึงการพัฒนากองทุนอย่างชัดเจนที่ก่อให้เกิดความเข็มแข็งและยั่งยืนของกองทุนในอนาคต
6. เมื่อมีการร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 แล้วให้ทำการประชาพิจารณ์ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย และรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลายเพื่อประโยชน์สูงสุดตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนต่อไป กระทรวงแรงงานจึงเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามที่เสนอดังกล่าว
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 --จบ--