การจัดทำความตกลงต่างตอบแทนว่าด้วยพนักงานวิทยุสมัครเล่นไทย-เบลเยียม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 18, 2009 15:58 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการจัดทำความตกลงต่างตอบแทนว่าด้วยพนักงานวิทยุสมัครเล่นไทย-เบลเยียม ในรูปหนังสือแลกเปลี่ยนทางการทูต ก่อนมอบให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการแลกเปลี่ยนหนังสือทางการทูตกับเบลเยียมต่อไป ตามที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติเสนอ สาระสำคัญของเรื่อง

สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) แจ้งตามที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เสนอว่า

1. รัฐบาลไทยได้เคยทำความตกลงต่างตอบแทนในรูปหนังสือแลกเปลี่ยนทางการทูตว่าด้วยพนักงานวิทยุสมัครเล่นกับรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ไปแล้ว 7 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรีย สวีเดน สหราชอาณาจักร เยอรมนี และลักเซมเบิร์ก

2. กทช. ได้พิจารณาความตกลงต่างตอบแทนว่าด้วยพนักงานวิทยุสมัครเล่นไทย-เบลเยียมต่อเนื่องจากกรมไปรษณีย์โทรเลข เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 และระเบียบคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติว่าด้วยกิจการวิทยุสมัครเล่น พ.ศ. 2550

3. รัฐบาลประเทศเบลเยียมได้มีหนังสือแจ้งความประสงค์ผ่านทางการทูตขอทำความตกลงว่าด้วยพนักงานวิทยุสมัครเล่นกับประเทศไทยในรูปหนังสือแลกเปลี่ยนทางการทูตเพื่อให้พนักงานวิทยุสมัครเล่นของประเทศเบลเยียมและไทยสามารถจัดตั้งสถานีวิทยุสมัครเล่นขึ้นในประเทศของอีกฝ่ายได้

4. ร่างความตกลงว่าด้วยพนักงานวิทยุสมัครเล่นตามหนังสือแลกเปลี่ยนทางการทูตที่ฝ่ายเบลเยียมเสนอมีดังนี้

4.1 ผู้มีสัญชาติไทยหรือสัญชาติเบลเยียมที่ได้รับอนุญาตให้ตั้งและดำเนินการสถานีวิทยุสมัครเล่นโดยใบอนุญาตที่ยังมีผลใช้บังคับซึ่งออกโดยพนักงานผู้มีอำนาจตามกฎหมายของประเทศตน อาจได้รับอนุญาตให้ได้รับใบอนุญาตที่เท่าเทียมกันจากเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจตามกฎหมายของอีกประเทศหนึ่งบนพื้นฐานของการถ้อยทีถ้อยปฏิบัติตามความตกลงฉบับนี้

4.2 การอนุญาตเช่นว่านั้นโดยผู้มีอำนาจอนุญาตต้องเป็นไปตามวิธีดำเนินการที่ระบุไว้ในกฎหมายภายในและข้อบังคับต่าง ๆ ของประเทศนั้น ทั้งนี้ มีสิทธิที่จะเปลี่ยนแปลง พักใช้ หรือยกเลิกการอนุญาตในเวลาใดๆ (โดยไม่มีข้อผูกพันที่จะต้องให้เหตุผลต่อการวินิจฉัยที่ได้กระทำไป)

4.3 ภาคีแต่ละฝ่ายต้องแจ้งให้ภาคีที่ให้การอนุญาตเดิมทราบถึงการละเมิดใด ๆ ที่กระทำโดยพนักงานวิทยุสมัครเล่นผู้มาเยือน

4.4 ตามความตกลงฉบับนี้ต้องเป็นไปตามข้อบังคับวิทยุของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) และกฎหมายที่ใช้อยู่ทั่วไปและข้อบังคับเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่ใช้บังคับอยู่ในประเทศภาคีทั้งสองฝ่าย

4.5 ในกรณีที่ความตกลงพหุภาคีเกี่ยวกับเรื่องนี้จะมีผลใช้บังคับกับภาคีทั้งสองฝ่ายให้บทบัญญัติของความตกลงนั้นมีอำนาจเหนือบทบัญญัติของความตกลงฉบับนี้

4.6 ความตกลงฉบับนี้จะยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปอีก 60 วัน ภายหลังจากวันที่ภาคีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแจ้งความต้องการของตนที่จะให้ความตกลงสิ้นสุดเป็นลายลักษณ์อักษรไปยังอีกฝ่ายหนึ่ง

5. กระทรวงการต่างประเทศมีความเห็นแจ้งต่อ กทช.ว่า ข้อความในวงเล็บท้ายประโยค ในข้อ 4.2 ที่ระบุ “โดยไม่มีข้อผูกพันที่จะต้องให้เหตุผลต่อการวินิจฉัยที่ได้กระทำไป” (without an obligation to give reasons for the decision taken) ในปัจจุบันข้อความนี้ขัดต่อพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 จึงเสนอให้ ตัดข้อความดังกล่าวออกเพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างมาตรฐานการปฏิบัติที่แตกต่างจากความตกลงต่างตอบแทนพนักงานวิทยุสมัครเล่นที่ไทยมีกับประเทศอื่นให้น้อยที่สุด และรัฐบาลเบลเยียมได้เห็นชอบต่อข้อเสนอของฝ่ายไทยแล้ว ดังนั้น จึงไม่มีข้อขัดข้องและเห็นสมควรดำเนินการขอรับความเห็นชอบจากคระรัฐมนตรีในการจัดทำความตกลงต่างตอบแทนว่าด้วยพนักงานวิทยุสมัครเล่นไทย-เบลเยียม ในรูปแบบหนังสือแลกเปลี่ยนทางการทูตต่อไป

6. กิจการวิทยุคมนาคมที่ดำเนินการโดยพนักงานวิทยุสมัครเล่นที่ได้รับอนุญาตมีประโยชน์ต่อการฝึกฝนตนเอง การติดต่อระหว่างกัน การทดลองตรวจสอบทางวิชาการเกี่ยวกับกิจการวิทยุคมนาคม ระบบการสื่อสาร การแจ้งเหตุอันตราย การรักษาความปลอดภัย และการป้องกันภัยพิบัติที่จะเกิดกับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและยังเป็นการสนับสนุนความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างประเทศด้วย

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ