แนวทางการบริหารของคณะกรรมการองค์การมหาชน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 20, 2009 13:24 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีพิจารณาแนวทางการบริหารของคณะกรรมการองค์การมหาชน ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร.เสนอ แล้วมีมติดังนี้

1. เห็นชอบแนวทางการบริหารของคณะกรรมการองค์การมหาชน และมีมติให้องค์การมหาชนทุกแห่งนำไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติต่อไป

2. เห็นชอบการปรับปรุงมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2547 (เรื่อง การปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราเงินเดือนฯ หลักเกณฑ์การกำหนดเบี้ยประชุมฯ และการพัฒนาการดำเนินงานและการประเมินผลองค์การมหาชน) จากเดิม ที่อนุมัติตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 8(ฝ่ายกฎหมาย ระบบราชการและการประชาสัมพันธ์) ข้อ 2.4 ว่า “เห็นควรกำหนดกรอบวงเงินรวมสำหรับค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรสำหรับองค์การมหาชน เช่น เงินเดือน ค่าตอบแทน เบี้ยประชุม เป็นต้น ไว้ไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินอุดหนุนประจำปี หากองค์การมหาชนใดไม่สามารถดำเนินการให้อยู่ในกรอบวงเงินดังกล่าวได้ ให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณายกเว้นเป็นรายๆ ไป” เป็น “เห็นควรกำหนดกรอบวงเงินรวมสำหรับค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรสำหรับองค์การมหาชน เช่น เงินเดือน ค่าตอบแทน เบี้ยประชุม เป็นต้น ไว้ไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินอุดหนุนประจำปี หากองค์การมหาชนใดไม่สามารถดำเนินการให้อยู่ในกรอบวงเงินดังกล่าวได้ ให้นำเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เพื่อพิจารณาเป็นรายกรณี โดยให้ขอความเห็นของกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย”

สาระสำคัญของเรื่อง

1. สำนักงาน ก.พ.ร. รายงานว่า วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งองค์การมหาชนตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 ก็เพื่อรองรับกรณีที่รัฐบาลมีแผนงานหรือนโยบายด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะเพื่อจัดทำบริการสาธารณะและมีความเหมาะสมที่จะจัดตั้งหน่วยงานบริหารขึ้นใหม่แตกต่างจากส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ โดยมุ่งหมายให้มีการใช้ประโยชน์ทรัพยากรและบุคคลให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนี้ ต้องไม่เป็นกิจการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรเป็นหลัก อย่างไรก็ดี การบริหารงานของคณะกรรมการองค์การมหาชนบางแห่งยังไม่สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล สำนักงาน ก.พ.ร. จึงได้จัดทำแนวทางการบริหารของคณะกรรมการองค์การมหาชนเพื่อให้คณะกรรมการองค์การมหาชนนำไปใช้เป็นแนวปฏิบัติ เพื่อมุ่งให้คณะกรรมการองค์การมหาชนมีการบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาล

2. สาระสำคัญของแนวทางการบริหารของคณะกรรมการองค์การมหาชนประกอบด้วยแนวทางที่ต้องปฏิบัติและพึงปฏิบัติ ดังนี้

2.1 ที่มา

สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดทำข้อเสนอการกำหนดแนวทางการบริหารของคณะกรรมการองค์การมหาชน เพื่อให้คณะกรรมการองค์การมหาชนนำไปใช้เป็นแนวปฏิบัติ เพื่อมุ่งให้คณะกรรมการองค์การมหาชนมีการบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาลและการกำกับดูแลตนเองที่ดี

ทั้งนี้ แนวทางการบริหารของคณะกรรมการสามารถจำแนกได้เป็น 2 ประเภท คือ

2.1.1 แนวทางที่ต้องปฏิบัติตาม ซึ่งมีที่มาจากการมีข้อกฎหมายหรือมติคณะรัฐมนตรีกำหนดไว้ รวมทั้งแนวทางที่เป็นหลักการพื้นฐานในการบริหารตามหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี

2.2.2 แนวทางที่เป็นข้อเสนอแนะ ซึ่งมีที่มาจากตัวอย่างการบริหารจัดการที่ดีของคณะกรรมการของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอื่นๆ

2.2 วัตถุประสงค์

2.2.1 กำหนดมาตรฐานในการบริหารงานของคณะกรรมการองค์การมหาชน

2.2.2 คณะกรรมการองค์การมหาชนนำไปใช้เป็นแนวปฏิบัติ

2.2.3 เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้ในการประเมินผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการองค์การมหาชน

2.3 โครงสร้างคณะกรรมการองค์การมหาชน

2.3.1 องค์ประกอบและคุณสมบัติ (พึงปฏิบัติ)

คณะกรรมการองค์การมหาชนมาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐมนตรีและจะต้องมีจำนวนตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งแต่ต้องไม่เกินสิบเอ็ดคน และประธานกรรมการและกรรมการขององค์การมหาชนซึ่งมิใช่กรรมการโดยตำแหน่ง ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 20 และมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542

2.3.2 การสรรหาและแต่งตั้งกรรมการ (ต้องปฏิบัติ)

รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเป็นผู้กำหนดระเบียบว่าด้วยการสรรหาประธานกรรมการ กรรมการ และผู้ทรงคุณวุฒิ โดยกรรมการขององค์การมหาชนจะดำรงตำแหน่งเกินกว่าสามแห่งมิได้

2.3.3 การกำหนดค่าตอบแทนกรรมการ (ต้องปฏิบัติ)

การได้รับเบี้ยประชุมและประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานกรรมการ กรรมการ ที่ปรึกษา และอนุกรรมการขององค์การมหาชนเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2547 ส่วนการกำหนดประโยชน์ตอบแทนอื่น ให้ประธานกรรมการ กรรมการ ที่ปรึกษาได้รับประโยชน์ตอบแทนอื่นเฉพาะในกรณีเดินทางไปปฏิบัติงานขององค์การมหาชน เช่น ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าเช่าที่พัก ค่าพาหนะฯ ในอัตราที่ราชการกำหนดสำหรับข้าราชการพลเรือน ระดับ 10 ส่วนอนุกรรมการให้ได้รับในอัตราที่ราชการกำหนดสำหรับข้าราชการพลเรือน ระดับ 9 ซึ่งเป็นการเบิกจ่ายตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง

อนึ่ง สำหรับอัตราเบี้ยประชุมและประโยชน์ตอบแทนอื่นของคณะกรรมการตรวจสอบ ให้ได้รับในอัตราเดียวกับคณะอนุกรรมการ

2.3.4 คณะอนุกรรมการที่จำเป็น (ต้องปฏิบัติ)

คณะกรรมการสามารถแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อช่วยปฏิบัติงานในการบริหารองค์การมหาชนและเพื่อเชื่อมโยงการบริหารและติดตามงาน โดยควรกำหนดให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิดำรงตำแหน่งประธานคณะอนุกรรมการ

2.4 บทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ (ต้องปฏิบัติ)

อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการเป็นไปตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542

2.5 แนวทางการวางแผนยุทธศาสตร์ (พึงปฏิบัติ)

คณะกรรมการมีหน้าที่กำกับการวางแผนยุทธศาสตร์ โดยยึดแนวทาง ดังนี้

2.5.1 กระบวนการจัดทำแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติงาน

2.5.2 การทบทวนและปรับแผน

2.5.3 การควบคุมและติดตามผลการปฏิบัติตามแผน

2.6 แนวทางการบริหารการเงิน

คณะกรรมการมีหน้าที่กำกับการบริหารการเงินขององค์การมหาชนโดยยึดแนวทาง ดังนี้

2.6.1 ต้องกำกับให้มีการจัดวางระบบงานในด้านการเงิน การบัญชี การงบประมาณการพัสดุ และการจัดทำระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือข้อกำหนดเกี่ยวกับการเงิน การจัดซื้อจัดจ้าง

2.6.2 พึงกำกับให้มีการกำหนดตัวชี้วัดประสิทธิภาพขององค์การมหาชน

2.6.3 พึงกำกับให้องค์การมหาชนลดค่าใช้จ่ายและ/หรือหารายได้

2.7 แนวทางการบริหารทรัพยากรบุคคล

คณะกรรมการมีหน้าที่กำกับการบริหารงานบุคคลขององค์การมหาชนโดย

2.7.1 ต้องกำกับให้ฝ่ายบริหารจัดทำระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศหรือข้อกำหนดเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลและการบริหารงานทั่วไป ให้มีมาตรฐานไม่ต่ำกว่าการบริหารงานบุคคลของเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ มีความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานตามวัตถุประสงค์ขององค์การมหาชน

2.7.2 พึงใช้ระบบสัญญาจ้างกับเจ้าหน้าที่ขององค์การมหาชนทุกตำแหน่ง โดยพิจารณาจำแนกเป็นตำแหน่งบริหารและตำแหน่งผู้ปฏิบัติ

2.7.3 ต้องกำกับให้ผู้อำนวยการใช้ประโยชน์ทรัพยากรบุคคลให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

2.7.4 ต้องกำหนดอัตราเงินเดือนและประโยชน์ตอบแทนอื่นของผู้อำนวยการตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

          กลุ่ม          อัตราขั้นต่ำและขั้นสูงต่อเดือน (บาท)
          กลุ่มที่ 1           100,000-300,000
          กลุ่มที่ 2           100,000-250,000
          กลุ่มที่ 3           100,000-200,000
2.7.5 ต้องกำหนดอัตราเงินเดือนและสวัสดิการให้กับเจ้าหน้าที่และลูกจ้างที่เหมาะสม

2.7.6 พึงควบคุมค่าใช้จ่ายด้านบุคคล

2.7.7 ต้องกำกับให้มีการจัดทำระบบการประเมินผลการปฏิบัติงานในทุกตำแหน่ง

2.7.8 พึงส่งเสริมให้มีการนำแนวคิดสมรรถนะมาใช้ในกระบวนการบริหารทรัพยากรบุคคล

2.8 แนวทางการควบคุมภายใน (ต้องปฏิบัติ)

คณะกรรมการต้องกำหนดให้มีผู้ตรวจสอบภายในทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะอนุกรรมการตรวจสอบและประเมินผล และให้รับผิดชอบขึ้นตรงต่อคณะกรรมการ และต้องกำกับให้ฝ่ายบริหารจัดให้มีระบบการควบคุมภายในและการประเมินผล การควบคุมภายในตามแนวทางของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน

2.9 แนวทางการบริหารทั่วไป

2.9.1 คณะกรรมการต้องมีการพัฒนาตนเองอย่างสม่ำเสมอ

2.9.2 คณะกรรมการพึงส่งเสริมให้องค์การมหาชนนำแนวคิดความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (CSR : Corporate Social Responsibility) มาปรับใช้ในการดำเนินงาน

2.10 แนวทางการบริหารการประชุม

คณะกรรมการต้องกำกับให้มีการจัดประชุมทุกเดือนหรืออย่างน้อย 2 เดือนต่อครั้ง ตามความเหมาะสม นอกจากนี้ควรกำกับการบริหารการประชุมตามแนวทางที่กำหนดไว้

2.11 แนวทางการประเมินผลการปฏิบัติงาน (ต้องปฏิบัติ)

2.11.1 การประเมินหน่วยงาน

2.11.2 การประเมินตนเองของคณะกรรมการ

2.11.3 การประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้อำนวยการและผู้บริหารระดับสูง

2.12 การจัดทำประมวลจริยธรรมตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ (ต้องปฏิบัติ)

คณะกรรมการองค์การมหาชนต้องกำกับให้มีการจัดทำประมวลจริยธรรมขององค์การมหาชนซึ่งประกอบด้วย

2.12.1 ค่านิยมหลักของมาตรฐานจริยธรรม

2.12.2 จริยธรรมขององค์การมหาชน ประกอบด้วยจริยธรรมองค์การ จริยธรรมของคณะกรรมการ และจริยธรรมของผู้ปฏิบัติงาน

2.12.3 กลไกและระบบในการบังคับการให้เป็นไปตามประมวลจริยธรรม

2.12.4 ขั้นตอนการลงโทษตามความร้ายแรงของการกระทำ

3. ก.พ.ร. ในการประชุมครั้งที่ 2/2552 วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2552 ได้พิจารณาเรื่อง แนวทางการบริหารของคณะกรรมการองค์การมหาชนแล้ว มีมติเห็นชอบและเห็นควรให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 พฤษภาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ