การลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคไทยฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 20, 2009 14:57 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบบันทึกความเข้าใจ (MOU) ในการให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาผู้หนีภัยการสู้รบในพื้นที่พักพิงชั่วคราว บริเวณชายแดนไทย-พม่า ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ (UNHCR) ประจำภูมิภาคไทยฯ ในโครงการจัดทำทะเบียนผู้หนีภัยการสู้รบและการพิจารณาสถานะบุคคลสัญชาติพม่า ปี 2552 ที่กระทรวงมหาดไทยลงนามร่วมกับ UNHCR เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2551 แล้ว

สาระสำคัญของเรื่อง

1. ตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0204.2/2031 ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2552 กระทรวงมหาดไทย รายงานว่า สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ (UNHCR) ได้เสนอบันทึกความเข้าใจ (MOU) ในการให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาผู้หนีภัยการสู้รบในพื้นที่พักพิงชั่วคราว บริเวณชายแดนไทย-พม่า ของ UNHCR ในโครงการจัดทำทะเบียนผู้หนีภัยการสู้รบและการพิจารณาสถานะบุคคลสัญชาติพม่า ปี 2552 [09/AB/THA/CM/200 (1257000)] ให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาลงนาม ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการตรวจสอบบันทึกความเข้าใจ (MOU) ดังกล่าวแล้วเห็นว่า สาระสำคัญของบันทึกความเข้าใจดังกล่าวเป็นไปตามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เมื่อปี 2548 ที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2548 จึงได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ที่ UNHCR เสนอแล้ว เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2551 กระทรวงมหาดไทยจึงเสนอคณะรัฐมนตรีให้รับทราบ

2. ต่อมากระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนมาก ที่ มท 0204.2/4219 ลงวันที่ 23 เมษายน 2552 รายงานข้อมูลเพิ่มเติมว่า บันทึกความเข้าใจ (MOU) ในการให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาผู้หนีภัยการสู้รบในพื้นที่พักพิงชั่วคราว บริเวณชายแดนไทย-พม่า ของ UNHCR เป็นเรื่องการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาผู้หนีภัยสัญชาติพม่า ซึ่งประเทศไทยต้องรับภาระในการควบคุมดูแลและแก้ไขปัญหาผู้หนีภัยสัญชาติพม่า จึงเป็นความจำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือกับทุกฝ่ายโดยเฉพาะ UNHCR ในลักษณะของการแบ่งความรับผิดชอบ (RESPONSIBILITY SHARING) ตามหลักมนุษยธรรม โดยได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2548 ดังนั้น จึงเห็นว่า บันทึกความเข้าใจดังกล่าวไม่เข้าตามลักษณะของบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 190 วรรค 2 ที่กำหนดว่ามีหนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้เป็นไปตามหนังสือสัญญา หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 พฤษภาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ