ดัชนีราคาส่งออก — นำเข้า ของประเทศ และดัชนีคาดการณ์ภาวะธุรกิจส่งออกเดือนเมษายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 10, 2009 11:31 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงพาณิชย์รายงานความเคลื่อนไหวดัชนีราคาส่งออก-นำเข้าของประเทศในรูป เงินเหรียญสหรัฐ เดือนเมษายน 2552 เทียบกับเดือนมีนาคม 2552 ดัชนีราคาส่งออกของประเทศ สูงขึ้นร้อยละ 1.2 และดัชนีราคานำเข้าของประเทศ สูงขึ้นร้อยละ 0.9 ดังนี้

ดัชนีราคาส่งออก

1. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนเมษายน 2552 เทียบกับเดือนมีนาคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 1.2 (เดือนมีนาคม 2552 ลดลงร้อยละ 0.8) ปรับราคาสูงขึ้นทุกหมวด โดยเฉพาะหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิงยังคงสูงขึ้นมากตามราคาตลาดโลก สำหรับหมวดสินค้าอุตสาหกรรม หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร และหมวดสินค้าเกษตรกรรม ความต้องการของต่างประเทศเริ่มมีมากขึ้น

หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้นร้อยละ 9.9 (เดือนมีนาคม 2552 ลดลงร้อยละ 1.6) สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ แร่ดีบุก แร่สังกะสี น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป

หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้นร้อยละ 0.7 (เดือนมีนาคม 2552 ลดลงร้อยละ 0.7) สินค้าที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เม็ดพลาสติก (เอทิลีน โพรพิลีน สไตรีน โพลิอะซิทัล) และเคมีภัณฑ์ มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น

หมวดสินค้าเกษตรกรรม ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้นร้อยละ 0.6 (เดือนมีนาคม 2552 ลดลงร้อยละ 1.3) เป็นการสูงขึ้นของสินค้ากสิกรรม โดยเฉพาะยางพารามีราคาสูงขึ้น จากความต้องการเพิ่มขึ้นของจีนเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ สำหรับสินค้าประมงและปศุสัตว์ ได้แก่ กุ้งและไก่ ความต้องการของตลาดในอียู ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกายังมีอยู่ สำหรับข้าว เนื่องจากผู้ซื้อส่วนใหญ่มีสต็อกในมือมากประกอบกับเวียดนาม และอินเดีย เริ่มส่งข้าวออกสู่ตลาด มีผลให้ราคาข้าวโดยเฉพาะข้าวขาวอ่อนตัวลง ส่วนข้าวหอมมะลิราคายังคงสูงขึ้น

หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้นร้อยละ 0.2 (เดือนมีนาคม 2552 ลดลง ร้อยละ 1.5) สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ น้ำตาลทราย สูงขึ้นตามราคาตลาดโลก

2. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนเมษายน 2552 เทียบกับเดือนเมษายน 2551 ดัชนีราคาส่งออกลดลงร้อยละ 3.1 เป็นการลดลงของหมวดสินค้าแร่และสินค้าเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 34.2 หมวดสินค้าเกษตรกรรม ร้อยละ 18.0 หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ร้อยละ 4.4 ขณะที่หมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 1.0

3. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเฉลี่ยมกราคม-เมษายน เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 ดัชนีราคาส่งออกลดลงร้อยละ 1.2 จากการลดลงของหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ร้อยละ 33.4 หมวดสินค้าเกษตรกรรม ร้อยละ 8.2 หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ร้อยละ 2.9 ขณะที่หมวดสินค้าอุตสาหกรรมสูงขึ้นร้อยละ 1.6

ดัชนีราคานำเข้า

1. ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนเมษายน 2552 เทียบกับเดือนมีนาคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 0.9 (เดือนมีนาคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 0.4) เป็นผลจากการสูงขึ้นของหมวดสินค้าเชื้อเพลิง หมวดสินค้าอุปโภคบริโภคและหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ขณะที่หมวดสินค้าวัตถุดิบ และกึ่งสำเร็จรูปลดลง สำหรับหมวดสินค้าทุน ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง

หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ดัชนีราคานำเข้าสูงขึ้นร้อยละ 5.3 (เดือนมีนาคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 3.1) ทั้งนี้เป็นผลจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่ม OPEC ลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบ และน้ำมันสำเร็จรูปปรับสูงขึ้น

หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ดัชนีราคานำเข้าสูงขึ้นร้อยละ 0.1 (เดือนมีนาคม 2552 ลดลงร้อยละ 1.3) เป็นการสูงขึ้นของสินค้าผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม ได้แก่ วิตามิน ฮอร์โมนและผลิตภัณฑ์เวชกรรม

หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ดัชนีราคานำเข้าสูงขึ้นร้อยละ 0.1 (เดือนมีนาคม 2552 ลดลงร้อยละ 2.0) สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ รถยนต์นั่ง

หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ดัชนีราคานำเข้าลดลงร้อยละ 0.5 (เดือนมีนาคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 0.3) สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ ปลาทูน่าสด แช่เย็นแช่แข็ง เนื่องจากปริมาณปลาทูน่าเข้าสู่ตลาดมาก สำหรับเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ราคาอ่อนตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก

หมวดสินค้าทุน ดัชนีราคานำเข้าไม่เปลี่ยนแปลง (เดือนมีนาคม 2552 ลดลงร้อยละ 0.9) แต่ในหมวดย่อยเปลี่ยนแปลงทั้งลดลงและสูงขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์โลหะทำด้วยทองแดง และทำด้วยเหล็กลดลง ขณะที่เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบสูงขึ้น

2. ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนเมษายน 2552 เทียบกับเดือนเมษายน 2551 ดัชนีราคานำเข้าลดลงร้อยละ 7.2 เป็นผลจากการลดลงในทุกหมวดสินค้าโดยเฉพาะหมวดสินค้าเชื้อเพลิง ลดลงมากถึง ร้อยละ 30.6 หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ลดลงร้อยละ 5.8 หมวดสินค้าทุน ลดลงร้อยละ 4.5 และหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ลดลงร้อยละ 1.2 และหมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ลดลงร้อยละ 0.9

3. ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเฉลี่ยเดือนมกราคม-เมษายน 2552 เทียบกับช่วงเดียวกัน ของปี 2551 ดัชนีราคานำเข้าลดลงร้อยละ 5.6 สาเหตุสำคัญจากการลดลงของหมวดสินค้าเชื้อเพลิง โดยเฉพาะน้ำมันดิบ ลดลงร้อยละ 39.7

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 มิถุนายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ