คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงพาณิชย์รายงานความเคลื่อนไหวดัชนีราคาส่งออก-นำเข้าของประเทศในรูปเงินเหรียญสหรัฐ เดือนพฤษภาคม 2552 เทียบกับเดือนเมษายน 2552 ดัชนีราคาส่งออก และดัชนีราคานำเข้าของประเทศ สูงขึ้นในอัตราเดียวกันคือ ร้อยละ 2.1 ดังนี้
ดัชนีราคาส่งออก
1. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนพฤษภาคม 2552 เทียบกับเดือนเมษายน 2552 สูงขึ้น ร้อยละ 2.1 (เดือนเมษายน 2552 สูงขึ้นร้อยละ 1.2) เป็นการสูงขึ้นทุกหมวด โดยหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิงสูงขึ้นตามราคาตลาดโลก นอกจากนี้หมวดสินค้าเกษตรกรรม หมวดสินค้าอุตสาหกรรม และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ราคาปรับสูงขึ้นเช่นกัน
หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้นร้อยละ 11.4 (เดือนเมษายน 2552 สูงขึ้นร้อยละ 2.1) สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ แร่ดีบุก แร่สังกะสี น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป
หมวดสินค้าเกษตรกรรม ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้นร้อยละ 3.9 (เดือนเมษายน 2552 สูงขึ้นร้อยละ 0.6) เป็นการสูงขึ้นของสินค้ากสิกรรม โดยเฉพาะยางพารามีราคาสูงขึ้น จากความต้องการของจีนที่มีต่อเนื่อง เพื่อชดเชย สต๊อกที่ลดลง ขณะที่ปริมาณผลผลิตยางไทยมีน้อยเนื่องจากได้รับผลกระทบจากฝนตกหนักทางภาคใต้ สำหรับสินค้าอื่น ๆ ที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวโพด ถั่ว ผักสดแช่เย็น ดอกกล้วยไม้ กาแฟ และใบยาสูบ
หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้นร้อยละ 0.8 (เดือนเมษายน 2552 สูงขึ้นร้อยละ 0.7) สินค้าที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เม็ดพลาสติกและเคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ และเครื่องใช้ไฟฟ้า
หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้นร้อยละ 0.7 (เดือนเมษายน 2552 สูงขึ้นร้อยละ 0.2) สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป น้ำตาลทราย กากน้ำตาล
2. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนพฤษภาคม 2552 เทียบกับเดือนพฤษภาคม 2551 ดัชนีราคาส่งออกลดลงร้อยละ 3.1 เป็นการลดลงของหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 33.3 หมวดสินค้าเกษตรกรรม ร้อยละ 19.9 หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ร้อยละ 5.4 ขณะที่หมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.8
3. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเฉลี่ยเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2552 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 ดัชนีราคาส่งออกลดลงร้อยละ 1.6 จากการลดลงของหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ร้อยละ 33.4 หมวดสินค้า เกษตรกรรมร้อยละ 10.8 และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ร้อยละ 3.4 ขณะที่หมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 1.4
ดัชนีราคานำเข้า
1. ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนพฤษภาคม 2552 เทียบกับเดือนเมษายน 2552 สูงขึ้นร้อยละ 2.1 (เดือนเมษายน 2552 สูงขึ้นร้อยละ 0.9) สาเหตุหลักจากการสูงขึ้นของหมวดสินค้าเชื้อเพลิง เนื่องจากความต้องการของตลาดโลกเพิ่มขึ้นตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว รวมทั้งหมวดสินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค และหมวดสินค้าทุนมีราคาสูงขึ้นด้วย สำหรับหมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ดัชนีราคาลดลง
หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ดัชนีราคานำเข้าสูงขึ้นร้อยละ 8.6 (เดือนเมษายน 2552 สูงขึ้นร้อยละ 5.3) ทั้งนี้เป็นผลจากราคาน้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป และก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม
หมวดสินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ดัชนีราคานำเข้าสูงขึ้นร้อยละ 1.6 (เดือนเมษายน 2552 สูงขึ้นร้อยละ 0.1) สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ รถยนต์นั่ง
หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ดัชนีราคานำเข้าสูงขึ้นร้อยละ 0.1 (เดือนเมษายน 2552 สูงขึ้นร้อยละ 0.1) สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม และเครื่องใช้เบ็ดเตล็ด (กระเป๋าถือ กุญแจ)
หมวดสินค้าทุน ดัชนีราคานำเข้าสูงขึ้นร้อยละ 0.9 (เดือนเมษายน 2552 ดัชนีราคานำเข้าไม่เปลี่ยนแปลง) สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์โลหะทำด้วยทองแดง เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ
หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ดัชนีราคานำเข้าลดลงในอัตราเดียวกันกับเดือนเมษายนที่ผ่านมา คือลดลงร้อยละ 0.5 สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ ปลาทูน่าสด แช่เย็นแช่แข็ง เคมีภัณฑ์อินทรีย์ สินแร่อื่นๆ และผลิตภัณฑ์โลหะอื่นๆ (แท่งสังกะสี เฟอร์โรซิลิคอน) และปุ๋ย (ปุ๋ยยูเรีย โปรแตสเซียมคลอไรด์ ไดแอมโมเนียมฟอสเฟต) เนื่องจากเป็นช่วงที่ตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกามีความต้องการใช้ปุ๋ยลดลง
2. ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนพฤษภาคม 2552 เทียบกับเดือนพฤษภาคม 2551 ดัชนีราคานำเข้าลดลงร้อยละ 6.8 เป็นผลจากการลดลงในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะหมวดสินค้าเชื้อเพลิงลดลงมากถึง ร้อยละ 27.6 หมวดสินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ลดลงร้อยละ 4.2 หมวดสินค้าทุน ลดลงร้อยละ 3.6 หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ลดลงร้อยละ 2.9 และหมวดสินค้า อุปโภคบริโภค ลดลงร้อยละ 1.8
3. ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเฉลี่ยเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2552 เทียบกับช่วงเดียวกันของ ปี 2551 ดัชนีราคานำเข้าลดลงร้อยละ 5.8 สาเหตุสำคัญจากการลดลงของหมวดสินค้าเชื้อเพลิง โดยเฉพาะน้ำมันดิบ ลดลงร้อยละ 39.0
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 กรกฎาคม 2552 --จบ--