การค้าระหว่างประเทศของไทยในระยะ 5 เดือนแรกของปี 2552 (มกราคม-พฤษภาคม)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 10, 2009 14:27 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงพาณิชย์รายงานการค้าระหว่างประเทศของไทยในระยะ 5 เดือนแรกของปี 2552 (มกราคม-พฤษภาคม) สรุปได้ดังนี้

1. การส่งออก

1.1 การส่งออกเดือนพฤษภาคม 2552

1.1.1 การส่งออก มีมูลค่า 11,656.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 26.6 และเมื่อคิดในรูปเงินบาทการส่งออกมีมูลค่า 411,589.7 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 17.0

1.1.2 สินค้าส่งออก ส่งออกลดลงในทุกหมวด โดยสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรสำคัญลดลงร้อยละ 26.9 สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญลดลงร้อยละ 25.2 และสินค้าอื่นๆ ลดลงร้อยละ 31.6

(1) สินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรสำคัญ ส่วนใหญ่ส่งออกลดลงตามความต้องการในตลาดโลกที่ลดลง การแข่งขันที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ลูกค้าชะลอการสั่งซื้อและมีการต่อรองราคามากขึ้น ยกเว้น กุ้ง และน้ำตาลที่การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น รวมทั้งผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ไก่และผลไม้ที่ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้น

  • สินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ กุ้งสดแช่แข็งและแปรรูป ปริมาณและ มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.8 และ 11.8 ตามลำดับ น้ำตาล ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 และ 26.1 ตามลำดับ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ปริมาณเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.6 มูลค่าลดลงร้อยละ 26.1 ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป ปริมาณเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.9 มูลค่าลดลงร้อยละ 6.5 และ ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 มูลค่าลดลงร้อยละ 9.9
  • สินค้าที่ส่งออกลดลง ได้แก่ ข้าว ปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 15.9 และ 38.1 ตามลำดับ ยางพารา ปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 19.6 และ 56.0 ตามลำดับ อาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป (ไม่รวมกุ้ง) ปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 5.0 และ 21.7 ตามลำดับ และ อาหารอื่นๆ มูลค่าลดลงร้อยละ 26.0

(2) สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญ ส่วนใหญ่ส่งออกลดลง ที่สำคัญได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องเดินทาง และเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น รวมทั้งอัญมณีและเครื่องประดับ ที่ลดลงเป็นเดือนที่สองร้อยละ 11.4 (ทองคำเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.9)

(3) สินค้าอื่นๆ ลดลงร้อยละ 31.6 สินค้าที่สำคัญและลดลงในอัตราสูงได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป น้ำมันดิบและเครื่องจักรกลและส่วนประกอบลดลงร้อยละ 44.7, 17.8 และ 23.0 ตามลำดับ

1.1.3 ตลาดส่งออก ตลาดหลักยังลดลงต่อเนื่องจากช่วงปลายปี 2551 โดยลดลงร้อยละ 34.5 ขณะที่ตลาดใหม่การส่งออกปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยโดยลดลงร้อยละ 17.8

(1) ตลาดหลัก ส่งออกลดลงต่อเนื่องในทุกตลาด คือ อาเซียน(5) ญี่ปุ่นสหภาพยุโรป(15) และ สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 36.2 , 35.7 , 35.2 และ 29.9 ตามลำดับ

(2) ตลาดใหม่ ส่วนใหญ่ส่งออกลดลง ตลาดที่ส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ แอฟริกา เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.4 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของการส่งออกผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็ก ข้าว และผ้าผืน ตลาดที่ส่งออกลดลง ได้แก่ ลาตินอเมริกา(ร้อยละ 45.1) ยุโรปตะวันออก(ร้อยละ 39.4) ไต้หวัน(ร้อยละ 28.0) เกาหลีใต้(ร้อยละ 27.2) แคนาดา(ร้อยละ 23.8) ฮ่องกง(ร้อยละ 22.7) อินเดีย(ร้อยละ 22.4) ตะวันออกกลาง(ร้อยละ 18.7) และจีน(ร้อยละ 10.9)

1.2 การส่งออกในระยะ 5 เดือนแรกของปี 2552 (มกราคม-พฤษภาคม)

1.2.1 การส่งออก มีมูลค่า 55,872.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 22.9 และเมื่อคิดในรูปเงินบาทการส่งออกมีมูลค่า 1,951,107.5 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 16.4

1.2.2 สินค้าส่งออก ส่งออกลดลงในทุกหมวด โดยสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรสำคัญลดลงร้อยละ 22.0 สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญลดลงร้อยละ 20.9 และสินค้าอื่นๆ ลดลงร้อยละ 31.7

(1) สินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรสำคัญ ส่วนใหญ่ส่งออกลดลง ยกเว้น กุ้ง ไก่ และ น้ำตาล ที่การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น

  • สินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ กุ้งแช่แข็งและแปรรูป ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 และ 3.8 ตามลำดับ น้ำตาล ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.8 และ 26.6 ตามลำดับ และไก่สด แช่แข็งและแปรรูป มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 ปริมาณลดลงร้อยละ 2.7
  • สินค้าที่ส่งออกลดลง ได้แก่ ข้าว ปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 30.6 และ 24.2 ตามลำดับ ยางพารา ปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 10.1 และ 49.1 ตามลำดับ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 22.2 และ 38.0 ตามลำดับ อาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป(ไม่รวมกุ้ง) ปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 9.8 และ 15.2 ตามลำดับ ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 13.6 และ 13.7 ตามลำดับ และ อาหารอื่น ๆ มูลค่าลดลงร้อยละ 10.8

(2) สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญ ส่วนใหญ่ส่งออกลดลง

  • สินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ อัญมณี เพิ่มขึ้นร้อยละ 65.6 (เป็นการส่งออกทองคำที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 285.9) ผลิตภัณฑ์เภสัช/เครื่องมือแพทย์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 และ อาหารสัตว์เลี้ยง เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9
  • สินค้าที่ส่งออกลดลง ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์และส่วน ประกอบ เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก เฟอร์นิเจอร์ สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องเดินทางและเครื่องหนัง เป็นต้น

(3) สินค้าอื่นๆ ลดลงร้อยละ 31.7 ที่สำคัญและลดลงในอัตราสูงได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป น้ำมันดิบและเครื่องจักรกลและส่วนประกอบลดลงร้อยละ 50.0 , 38.2 และ 26.3 ตามลำดับ

1.2.3 ตลาดส่งออก ลดลงทั้งในตลาดหลักและตลาดใหม่ โดยตลาดหลักลดลงถึงร้อยละ 31.7 ขณะที่ตลาดใหม่ลดลงเพียงร้อยละ 13.5

(1) ตลาดหลัก ส่งออกลดลงต่อเนื่องในทุกตลาด คือ อาเซียน(5) สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 34.7 , 33.7 , 28.9 และ 28.0 ตามลำดับ

(2) ตลาดใหม่ ส่งออกลดลงเกือบทุกตลาด

2. การนำเข้า

2.1 การนำเข้าเดือนพฤษภาคม 2552

2.1.1 การนำเข้า มีมูลค่า 9,251.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมาลดลงร้อยละ 34.7 และเมื่อคิดในรูปเงินบาทมีมูลค่า 330,091.7 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 26.2

2.1.2 สินค้านำเข้า สินค้านำเข้าสำคัญมีการนำเข้าลดลงทุกหมวดสินค้าดังนี้

(1) สินค้าเชื้อเพลิง นำเข้าลดลงร้อยละ 29.4 สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันดิบ ปริมาณ 23.69 ล้านบาร์เรล (764,127 บาร์เรลต่อวัน) มูลค่า 1,303.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.3 และมูลค่า ลดลงร้อยละ 41.6

(2) สินค้าทุน นำเข้าลดลงร้อยละ 23.3 หากเทียบกับเดือนเม.ย. ที่ผ่านมามีแนวโน้มการปรับลดในอัตราที่ชะลอตัวลง สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ลดลงร้อยละ 26.7 เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ลดลง ร้อยละ 15.1 เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วน ประกอบ ลดลงร้อยละ 23.0

(3) สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป นำเข้าลดลงร้อยละ 45.6 หากเทียบกับเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.5 เนื่องจากมีคำสั่งซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ซึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในประเทศต่างๆ สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ อุปกรณ์ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ลดลงร้อยละ 21.8 เคมีภัณฑ์ ลดลงร้อยละ 43.8 เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 50.4 และ 67.0 ตามลำดับ ทองคำ ปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 67.4 และ 87.1 ตามลำดับ

(4) สินค้าอุปโภคบริโภค นำเข้าลดลงร้อยละ 15.8 สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ลดลงร้อยละ 19.3 เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด ลดลงร้อยละ 4.1 ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม ลดลงร้อยละ 11.7

(5) สินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์ นำเข้าลดลงร้อยละ 44.0 สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ลดลงร้อยละ 46.8 ส่วนประกอบและอุปกรณ์จักรยานยนต์และรถจักรยาน ลดลงร้อยละ 50.1 รถยนต์นั่ง ลดลงร้อยละ 31.0 รถยนต์โดยสารและรถบรรทุก ลดลงร้อยละ 32.7

2.2 การนำเข้าในระยะ 5 เดือนแรกของปี 2552 (มกราคม-พฤษภาคม)

2.2.1 การนำเข้า มีมูลค่า 45,817.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับระยะเดียวกันของปี 2551 ลดลงร้อยละ 36.8 เมื่อคิดในรูปเงินบาท มีมูลค่า 1,617,282.5 ล้านบาท เทียบกับระยะเดียวกันของปี 2551 ลดลงร้อยละ 31.4

2.2.2 สินค้านำเข้าสำคัญ

(1) สินค้าเชื้อเพลิง นำเข้าลดลงร้อยละ 47.7 เป็นการนำเข้าน้ำมันดิบปริมาณ 118.9 ล้านบาร์เรล เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.28 มูลค่า 5,758.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 53.4

(2) สินค้าทุน นำเข้าลดลงร้อยละ 24.5 เป็นการนำเข้าเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ลดลงร้อยละ 16.7 เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ลดลงร้อยละ 28.6 เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ลดลงร้อยละ 29.4

(3) สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป นำเข้าลดลงร้อยละ 42.7 เป็นการนำเข้าอุปกรณ์ส่วน ประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ลดลงร้อยละ 34.6 เคมีภัณฑ์ ลดลงร้อยละ 46.4 เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ลดลงร้อยละ 54.3 ทองคำ ลดลงร้อยละ 51.7

(4) กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค นำเข้าลดลงร้อยละ 18.2 เป็นการนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ลดลงร้อยละ 21.0 เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด ลดลงร้อยละ 20.0 ผลิตภัณฑ์เวชภัณฑ์และเภสัช ลดลงร้อยละ 8.7

(5) กลุ่มสินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่ง นำเข้าลดลงร้อยละ 37.1 เป็นการนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ลดลงร้อยละ 41.5 รถยนต์นั่ง ลดลงร้อยละ 6.7

3. ดุลการค้า

3.1 ดุลการค้าเดือนพฤษภาคม 2552 ไทยเกินดุลการค้า 2,405.0 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อคิดในรูปเงินบาท ไทยเกินดุลการค้ามูลค่า 81,498.0 ล้านบาท

3.2 ดุลการค้าในระยะ 5 เดือนแรกของปี 2552 (มกราคม-พฤษภาคม) ไทยเกินดุลการค้า 10,054.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อคิดในรูปเงินบาท ไทยเกินดุลการค้า 333,825.0 ล้านบาท

4. ข้อสังเกตุ

4.1 อัตราแลกเปลี่ยนของปี 2552 ที่อ่อนค่ากว่าปี 2551 เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกในรูปเงินเหรียญสหรัฐฯ ของปี 2552 ยังคงมีมูลค่าไม่สูงมากนัก เช่น การส่งออกเดือนพฤษภาคมมีมูลค่า 411,589.7 ล้านบาท เมื่อแปลงเป็นเงินเหรียญสหรัฐฯ ด้วยอัตราแลกเปลี่ยนเดือนพฤษภาคม 2552 (35.31 บาท/เหรียญสหรัฐฯ) แล้วมีมูลค่าเพียง 11,656.5 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่หากเป็นอัตราแลกเปลี่ยนเดือนพฤษภาคม 2551 (31.24 บาท/เหรียญสหรัฐฯ) แล้วจะมีมูลค่าถึง 13,175 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ กรมศุลกากรมีการจัดเก็บตัวเลขการส่งออกในรูปเงินบาท แล้วแปลงให้อยู่ในรูปเงินเหรียญสหรัฐฯ โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยแต่ละเดือน

4.2 มูลค่าการส่งออกเดือนพฤษภาคม 2552 หดตัวมากจากเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ฯ น้ำมันสำเร็จรูป ลดลงมากจากปี 2551 โดยการส่งออกของสินค้ากลุ่มดังกล่าวมีมูลค่าประมาณ 4,819 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนถึง 41 % ของมูลค่าการส่งออกรวม อย่างไรก็ดี สินค้าเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า มีสัญญาณการปรับตัวที่ดีขึ้น ซึ่งน่าจะทำให้มูลค่าการส่งออกกระเตื้องขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ มูลค่าการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปและทองคำที่สูงผิดปรกติในปี 2551 ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ฐานของมูลค่าการส่งออกปี 2551 สูงมาก จึงส่งผลให้อัตราการเติบโตของการส่งออกในปี 2552 ค่อนข้างต่ำ

4.3 มูลค่าการส่งออก (ไม่รวมทองคำ) ผ่านจุดต่ำสุดที่ 9,715 ล้านเหรียญสหรัฐ ไปแล้วตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปตามดัชนีมูลค่าการส่งออกและดัชนีคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ที่ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วตั้งแต่ช่วงปลายปี 2551 - ต้นปี 2552 ในขณะที่มูลค่าการส่งออก (รวมทองคำ) มีมูลค่าต่ำสุดในเดือนเมษายนที่ 10,429 ล้านเหรียญสหรัฐ

4.4 ขณะนี้ หลายประเทศมีการออกมาตรการให้โครงการของรัฐใช้สินค้าที่ผลิตภายในประเทศแทนการใช้สินค้านำเข้า ยกเว้นสินค้า/บริการบางประเภทที่ไม่สามารถหาได้ในประเทศ เช่นสหรัฐฯ (แผน Buy American) ตามด้วยจีน (แผน Buy China) และประเทศที่มีแนวโน้มที่จะใช้มาตรการนี้ในอนาคต เช่น ออสเตรเลีย สหภาพยุโรป แคนาดา เป็นต้น ซึ่งมาตรการเหล่านี้เป็นการกีดกันทางการค้า ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก มาตรการดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในอนาคต เนื่องจากประเทศที่ใช้และจะใช้มาตรการนี้ล้วนเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยทั้งสิ้น

4.5 อย่างไรก็ดี แนวโน้มการส่งออกน่าจะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ารวมทั้งของประเทศไทยเองเริ่มเห็นผล นอกจากนี้ การนำเข้าสินค้ากลุ่มวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูปของไทยก็มีสัญญาณดีขึ้น เมื่อเทียบกับ 4 เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากเริ่มมีคำสั่งซื้อสินค้าเข้ามามากขึ้น ทำให้การนำเข้ากลุ่มวัตถุดิบฯขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 กรกฎาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ