รายงานการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว สำหรับรอบปี 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 10, 2009 14:36 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว สำหรับรอบปี 2551 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) รายงานว่า ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 กำหนดให้คณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวมีอำนาจหน้าที่ศึกษารวบรวม และจัดทำรายงานเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวเสนอต่อรัฐมนตรีปีละหนึ่งครั้ง ในรอบปี 2551 (1มกราคม 2551 — 31 ธันวาคม 2551) กระทรวงพาณิชย์ได้มีการดำเนินการตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ดังนี้

1. การอนุญาตและการออกหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว

ในปี 2551 มีผู้ได้รับอนุญาตและหนังสือรับรองทั้งสิ้น 521 ราย แยกเป็นธุรกิจที่ได้รับอนุญาต จำนวน 268 ราย และได้รับหนังสือรับรอง จำนวน 253 ราย โดยธุรกิจที่คนต่างด้าวให้ความสนใจเข้ามาลงทุน ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจบริการ เช่น บริการให้คำปรึกษาแก่บริษัทในเครือ / ในกลุ่มสำนักงานผู้แทนที่เข้ามารวบรวมข้อมูลทางธุรกิจให้สำนักงานใหญ่ในต่างประเทศใช้ในการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศ บริการรับจ้างผลิตสินค้าในอุตสาหกรรมต่างๆ ส่วนประเทศที่เข้ามาลงทุนมากที่สุดได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์ ตามลำดับ

2. การติดตามตรวจสอบการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว

ในรอบปี 2551 ได้มีการติดตามตรวจสอบการประกบธุรกิจของคนต่างด้าวในเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจภายใต้ขอบข่ายที่ได้รับอนุญาต การปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดเกี่ยวกับอัตราส่วนทุนต่อเงินกู้ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาตและจำนวนกรรมการหรือผู้รับผิดชอบที่เป็นคนต่างด้าว ซึ่งต้องมีอยู่ในราชอาณาจักร การนำส่งทุนขั้นต่ำมาในประเทศ และการดำเนินการตามแผนงานการถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมทั้งสิ้น 619 ราย ปรากฏว่ามีธุรกิจที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายจำนวน 29 ราย คิดเป็นร้อยละ 5 ของธุรกิจที่ตรวจสอบทั้งสิ้น ส่วนใหญ่เป็นการไม่แจ้งเลิก ประกอบธุรกิจ/ย้ายสำนักงานภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยเป็นผู้ประกอบธุรกิจจากประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ และฝรั่งเศส

3. การกำหนดหลักเกณฑ์และการศึกษาเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว

3.1 การเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542

เนื่องจากในปี 2550 พณ. โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้มีการเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 โดยสาระสำคัญที่เสนอแก้ไข คือ คำนิยาม “คนต่างด้าว” และไม่ควบคุมธุรกิจในบัญชีท้ายทีมีกฎหมายหรือหน่วยงานเฉพาะกำกับดูแล เช่น ธุรกิจธนาคาร ธุรกิจประกันภัย แต่ในรอบปีนั้นยังไม่สามารถเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ทันตามกำหนดเวลา ต่อมาในปี 2551 รัฐบาลมีนโยบายเร่งด่วนที่จะสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนโดยสร้างบรรยากาศที่ดีสำหรับการลงทุนและแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน จึงมีนโยบายที่จะไม่แก้ไขพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 เนื่องจากเป็นเรื่องที่อ่อนไหวและอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนของประเทศ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจึงได้ดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว โดยกำหนด แนวทางการบริหารงานตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ให้มีความคล่องตัว โปร่งใส และสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจไทย โดย

3.1.1 มีการพัฒนาปรับปรุงแนวทางการพิจารณาอนุญาตการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวเป็นรายธุรกิจให้ง่าย ชัดเจนโปร่งใส

3.1.2 ตรวจสอบการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวให้เป็นไปตามกฎหมายเพื่อให้เกิดธรรมาภิบาล (Good Governance)

3.1.3 ศึกษาธุรกิจที่ควบคุมภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 เพื่อพิจารณาทบทวนผ่อนปรนการควบคุมธุรกิจบางประเภทตามความเหมาะสมต่อไป

3.2 การแก้ไขกฎกระทรวงเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว

ขณะนี้อยู่ระหว่างการแก้ไขกฎกระทรวง 2 ฉบับ คือ

3.2.1 กฎกระทรวงเรื่องทุนขั้นต่ำและระยะเวลาในการนำส่งทุนขั้นต่ำเข้ามาในประเทศไทย (ฉบับที่ 2) โดยขยายระยะเวลาการนำหรือส่งทุนขั้นต่ำ สำหรับคนต่างด้าวที่ประกอบธุรกิจตามสนธิสัญญาหรือพันธกิจออกไปอีก 10 ปี

3.2.2 กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการแจ้งเพื่อขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2546 โดยให้ครอบคลุมถึงการออกหนังสือรับรองให้นิติบุคคลที่ประกอบกิจการอย่างมีนัยสำคัญในประเทศภาคี

3.3 การกำหนดแนวทางการพิจารณาอนุญาตของคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว

เพื่อดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน คณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวจึงได้มีการจัดทำแนวทางในการพิจารณาอนุญาตเป็นรายธุรกิจที่ชัดเจนและโปร่งใส เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาและประกาศให้ผู้ขออนุญาตทราบเป็นระยะๆ ซึ่งได้มีการประกาศเผยแพร่แนวทางไปแล้วประเภทธุรกิจ คือ สำนักงานผู้แทนสำนักงานภูมิภาค การให้บริการหรือประกอบธุรกิจอื่นกับภาครัฐหรือรัฐวิสาหกิจ การให้บริการกับบริษัทในเครือ/ ในกลุ่ม การให้บริการติดตั้ง ซ่อมแซมและบำรุงรักษา การบริการให้เช่า การบริการให้เช่าแบบลิสซิ่ง การให้บริการเช่าซื้อ การบริการแฟ็กเตอริง การบริการรับจ้างผลิต การบริการหรือประกอบธุรกิจอื่นโดยเป็นคู่สัญญากับภาคเอกชน โดยแนวทางดังกล่าวจะต้องมีการทบทวนแก้ไขปรับปรุงให้เหมาะสมกับลักษณะสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงด้วย

4. โครงการศึกษาการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว

ได้มีการจัดจ้างสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลังเป็นที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เพื่อนำผลการศึกษาไปเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาทบทวนประเภทธุรกิจตามบัญชีแนบท้ายพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 จำนวน 2 โครงการ คือ โครงการศึกษาการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในประเทศไทยเพื่อกำหนดทิศทางและวางแผนพัฒนาผู้ประกอบการไทยและโครงการศึกษาการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวตามบัญชีสามท้ายพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 กรกฎาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ