สรุปผลการประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม 5 ประเทศเรื่องมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ครั้งที่ 8

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 7, 2009 16:51 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม 5 ประเทศเรื่องมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ครั้งที่ 8 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ ดังนี้

1. ผู้แทนประเทศสมาชิกเข้าร่วมการประชุม ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาของประเทศเนการาบรูไน ดารุสซาลาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศมาเลเซีย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรน้ำของสาธารณรัฐสิงคโปร์ ผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญด้านอุตุนิยมวิทยาแห่งอาเซียน (ASEAN Specialized Metrological Centre : ASMC) ผู้แทนสำนักงานเลขาธิการอาเซียนและคณะผู้แทนจากประเทศสมาชิก สำหรับประเทศไทยมีอธิบดีกรมควบคุมมลพิษเป็นหัวหน้าคณะผู้แทน

2. ศูนย์ ASMC ได้พยากรณ์สภาพอุตุนิยมวิทยาและสถานการณ์หมอกควันจากปัจจุบันจนถึงเดือนธันวาคม 2552 ว่าจะมีการก่อตัวขึ้นของเอลนิญโญ่ระดับปานกลางถึงสูง (Moderate to strong EI Nino) ในช่วงไตรมาส สุดท้ายของปี 2552 หน้าแล้งของภูมิภาคมีแนวโน้มที่จะขยายเวลายาวนานไปจนถึงปลายเดือนตุลาคม 2552 คาดว่าจะพบจุดความร้อน (hotspot) และหมอกควันในพื้นที่เสี่ยงของเกาะสุมาตราและเกาะบอร์เนียวในช่วงหน้าแล้งดังกล่าว ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของมลพิษจากหมอกควันข้ามแดนได้

3. ที่ประชุม MSC มีมติเห็นชอบให้มีการห้ามการเผาในที่โล่งทุกประเภทในพื้นที่เสี่ยง (fire-prone area) ซึ่งรวมถึงการระงับการอนุญาตให้ดำเนินกิจกรรมการเผา จนกว่าจะพ้นช่วงหน้าแล้งของปี 2552 และที่ประชุมยังเห็นชอบกับการเพิ่มมาตรการบังคับใช้กฎหมาย และมาตรการเสริมสร้างความตระหนักของประชาชนในการควบคุมการเกิดไฟด้วย

4. ที่ประชุม MSC รับทราบว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สาธารณรัฐอินโดนีเซียได้พยายามดำเนินมาตรการเพื่อป้องกันการเกิดไฟป่า โดยเน้นการพัฒนาศักยภาพของชุมชน เช่น การสร้างความตระหนัก การจัดฝึกอบรม สนับสนุนอุปกรณ์ และให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคในการทำปุ๋ยหมัก ถ่านและเชื้อเพลิงชีวิภาพ ซึ่งมาตรการเหล่านี้ส่งผลให้จำนวน hotspot ในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟลดลง

5. ที่ประชุม MSC รับทราบรายงานผลสถานการณ์ไฟและหมอกควันในอนุภูมิภาคแม่โขงในหน้าแล้งตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเมษายน 2552 และรับทราบว่าคณะทำงานด้านไฟป่าและหมอกควันสำหรับอนุภูมิภาคแม่โขง (TWG-Mekong) ได้มีมติเห็นชอบให้มีการกำหนดเป้าหมายการลดจำนวนจุดความร้อนสะสม (Cumulative Hotspot Count) ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับชาติ เพื่อใช้เป็นตัวชี้วัดผลสำเร็จของการดำเนินงานในการแก้ไขปัญหาไฟและหมอกควัน ในอนุภูมิภาคแม่โขง

นอกจากนี้ ที่ประชุม MSC ยังได้รับทราบข้อเสนอการจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการควบคุมมลพิษจากหมอกควันข้ามแดนสำหรับอนุภูมิภาคแม่โขงของ TWG-Mekong โดยมีกำหนดการเบื้องต้นในช่วงปลายปี 2552

6. ที่ประชุม MSC รับทราบว่าประเทศอาเซียนได้ให้การรับรองกลไกต่างๆ เพื่อการอำนวยความสะดวก แก่การให้ความช่วยเหลือด้านการดับไฟแก่ประเทศสมาชิกแล้ว ซึ่งประเทศมาเลเซียแสดงความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือด้านการดับไฟแก่สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ในรูปแบบของทีมดับไฟและอุปกรณ์ โดยขอให้สาธารณรัฐอินโดนีเซียแจ้งข้อมูลต่าง ๆ ที่จำเป็น เพื่อให้สามารถจัดส่งความช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว

7. ที่ประชุม MSC เห็นชอบต่อข้อเสนอของสาธารณรัฐสิงคโปร์ในการเป็นเจ้าภาพจัดเวทีสาธารณะ Ministerial Steering Committee (MSC) Forum on Prevention and Mitigation of Land and Forest Fires ในวันที่ 28 ตุลาคม 2552 ต่อเนื่องกับการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 11 โดยมีตัวแทนของหน่วยงานท้องถิ่นจากประเทศสมาชิก MSC องค์กรระดับภูมิภาค และองค์กรระดับนานาชาติเข้าร่วมการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และประสานความร่วมมือในการป้องกันและบรรเทาปัญหาไฟบนดิน/ไฟป่าและมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน

8. ผู้แทนประเทศไทยได้รายงานสรุปผลการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านการจัดการป่าพรุในภูมิภาคอาเซียน (Workshop on ASEAN Peatland Forest Management ) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 28-29 พฤษภาคม 2552 ณ จังหวัดสงขลา และจังหวัดนราธิวาส ให้ที่ประชุม MSC ทราบ ซึ่งที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้ประเทศสมาชิกให้ความสำคัญต่อการจัดการป่าพรุ และรับข้อเสนอแนะที่ได้จากการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ในประเด็นการเพิ่มความร่วมมือระหว่างประเทศผ่านการดำเนินงานตาม ASEAN Peatland Management Initiative และ ของ IFAD/GEF Project on Rehabilitation and Sustainable Use of Peatland Forests in Southeast Asia

9. ที่ประชุม MSC มีมติเห็นชอบกำหนดจัดการประชุม MSC ครั้งที่ 9 ในเดือนเมษายน หรือพฤษภาคม 2553 ณ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ทั้งนี้ ที่ประชุม MSC ขอให้ TWG ติดตามสถานการณ์ไฟและหมอกควันอย่างใกล้ชิด และหากเห็นว่ามีความจำเป็นต้องจัดการประชุม MSC เป็นวาระด่วน ก็สามารถเสนอแนะเพื่อให้ MSC พิจารณากำหนด วันประชุมได้

10. รายงานการประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม 5 ประเทศเรื่องมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ครั้งที่ 8

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 ตุลาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ