ขออนุมัติดำเนินการโครงการเขื่อนทดน้ำผาจุก จังหวัดอุตรดิตถ์

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 4, 2009 15:56 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทานดำเนินการโครงการเขื่อนทดน้ำ ผาจุก จังหวัดอุตรดิตถ์ แผนการดำเนินงานโครงการ 9 ปี (พ.ศ. 2553-2561) กรอบวงเงินของโครงการรวมทั้งสิ้น 10,500 ล้านบาท ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ สำหรับงบประมาณในการดำเนินโครงการให้กรมชลประทานเสนอของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 ต่อไปส่วนในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ให้พิจารณาปรับแผนการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 เพื่อดำเนินการไปพลางก่อน ซึ่งเป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ และให้กรมชลประทาน สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินการตามมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รายงานว่า

1. กรมชลประทานได้ดำเนินการสำรวจออกแบบรายละเอียดเขื่อนทดน้ำผาจุก จังหวัดอุตรดิตถ์ แล้วเสร็จเมื่อเดือนกันยายน 2551 สำหรับด้านการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม กรมชลประทาน ได้ดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการฯแล้วเสร็จเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2548 และส่งให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาในปี พ.ศ. 2549 ซึ่งคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ(คชก.) มีข้อเสนอแนะให้ปรับปรุงรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมบางส่วน กรมชลประทานจึงดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม แล้วเสร็จในเดือนมกราคม 2552 และเสนอรายงานดังกล่าวอีกครั้งซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2552 แจ้งตามหนังสือคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่ ทส (กกวล)1008/ว 4655 ลงวันที่ 22 มิถุนายน 2552

2. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดทำรายละเอียดประกอบการเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อขออนุมัติให้กรมชลประทานเริ่มดำเนินการก่อสร้างโครงการเขื่อนทดน้ำผาจุก จังหวัดอุตรดิตถ์ ระยะเวลาดำเนินการโครงการทั้งสิ้น 9 ปี (พ.ศ. 2553-2561) วงเงินทั้งสิ้น 10,500 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดโครงการดังนี้

2.1 สภาพปัญหาและเหตุผลความจำเป็น

ลุ่มน้ำน่านตอนล่างมีพื้นที่ลุ่มน้ำรวมทั้งสิ้น 21,098 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขต 4 จังหวัด ได้แก่ น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และพิจิตร ลักษณะของภูมิประเทศของลุ่มน้ำน่าน ตั้งแต่ท้ายเขื่อนสิริกิติ์ลงมาจะเป็นที่ราบสองฝั่งแม่น้ำ ซึ่งจัดได้ว่าเป็นที่ราบผืนใหญ่ที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย แต่การดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำที่ผ่านมายังไม่ครอบคลุมพื้นที่ทั้งลุ่มน้ำ ทำให้พื้นที่เพาะปลูกตั้งแต่เขตจังหวัดอุตรดิตถ์และบางส่วนของจังหวัดพิษณุโลก ยังประสบปัญหาความแห้งแล้งและการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง กรมชลประทานได้มีการศึกษาและมีแผนงานที่จะดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยการพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำและก่อสร้างระบบชลประทานหลายโครงการ แต่บางโครงการรวมถึงโครงการเขื่อนทดน้ำผาจุก จังหวัดอุตรดิตถ์ ได้ชะลอการดำเนินการออกไปเนื่องจากแหล่งเก็บกักน้ำที่มีอยู่ในขณะนั้น มีปริมาณน้ำต้นทุนเพื่อการชลประทานไม่เพียงพอ แต่ปัจจุบันการก่อสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จังหวัดพิษณุโลก ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ ทำให้สามารถส่งน้ำให้พื้นที่โครงการเจ้าพระยาใหญ่ในฤดูแล้งได้ 580,000 ไร่ ซึ่งเป็นการลดภาระการส่งน้ำเพื่อการชลประทานจากเขื่อนสิริกิติ์และเขื่อนภูมิพล ที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนของโครงการชลประทานเจ้าพระยาใหญ่ ทำให้มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนสิริกิติ์คงเหลือปีละประมาณ 506 ล้านลูกบาศก์เมตร เพียงพอที่จะสามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่การเกษตร ในเขตจังหวัดอุตรดิตถ์และบางส่วนของจังหวัดพิษณุโลกที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ นอกจากนั้นในปัจจุบันการใช้น้ำในพื้นที่เพาะปลูกของจังหวัดอุตรดิตถ์ต้องอาศัยโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการสูบน้ำเป็นจำนวนมาก จึงมีราษฎรเรียกร้องให้กรมชลประทานดำเนินการก่อสร้างโครงการเขื่อนทดน้ำผาจุก จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยเร็ว

2.2 ลักษณะโครงการ

2.2.1 วัตถุประสงค์ของโครงการ

  • เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำน่านตอนล่างเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ครอบคลุมพื้นที่ อำเภอเมือง อำเภอลับแล อำเภอตรอน อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ อำเภอพรหมพิราม และอำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก
  • เพื่อพัฒนาระบบชลประทาน ประมาณ 481,400 ไร่ (พัฒนาพื้นที่เกษตรน้ำฝนที่มีศักยภาพให้เป็นพื้นที่ชลประทาน ประมาณ 304,000 ไร่ และส่งน้ำสนับสนุนและปรับเปลี่ยนระบบส่งน้ำจากเดิมโดยการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าเป็นระบบส่งน้ำด้วยแรงโน้มถ่วง ประมาณ 134,800 ไร่ และพื้นที่โครงการชลประทานน้ำริด จังหวัดอุตรดิตถ์ ประมาณ 42,600 ไร่)

2.2.2 ที่ตั้งหัวงานโครงการเขื่อนทดน้ำผาจุก ตั้งอยู่ในแม่น้ำน่านบริเวณบ้านคลองนาพง หมู่ 7 ตำบลผาจุก อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ ประมาณพิกัดที่ 47 QPV 347517 ระวาง 5044II

2.2.3 องค์ประกอบโครงการ

โครงการเขื่อนทดน้ำผาจุกเป็นโครงการชลประทานขนาดใหญ่ ประกอบด้วย เขื่อนทดน้ำเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กและประตูบานระบายเหล็กโค้งขนาดของบานระบาย ความกว้าง 12.50 เมตร ความสูง 11.50 เมตร จำนวน 7 ช่อง ระบายน้ำได้สูงสุด 3,344 ลบ.ม./วินาที และระบบชลประทานฝั่งซ้ายและฝั่งขวา ส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานประมาณ 481,400 ไร่

2.2.4 แผนการดำเนินงานโครงการ 9 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 - 2561)

2.2.5 การวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ (ที่อัตราคิดลดร้อยละ 10 ณ ปี พ.ศ. 2552)

                       - มูลค่าปัจจุบันตอบแทนสุทธิ  (NPV)                   1,409.55  ล้านบาท
  • อัตราส่วนระหว่างผลตอบแทนต่อค่าลงทุน (B/C Ratio) 1.25 : 1
                       - อัตราผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ต่อปี  (EIRR)          12.24%

2.2.6 ผลประโยชน์ของโครงการ

  • การบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำน่านตอนล่างบริเวณ อำเภอเมือง อำเภอลับแล อำเภอตรอน อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ อำเภอพรหมพิราม และอำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลกเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
  • สามารถส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานในเขตโครงการประมาณ 481,400 ไร่
  • ส่งน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค อุตสาหกรรม และรักษาระบบนิเวศในแม่น้ำน่าน

2.3 สถานภาพโครงการ

2.3.1 การประชาสัมพันธ์ มวลชนสัมพันธ์ และการมีส่วนร่วม

กรมชลประทานดำเนินการด้านการประชาสัมพันธ์ มวลชนสัมพันธ์ และการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่โครงการตั้งแต่ขั้นตอนการศึกษาเพื่อกำหนดทางเลือกโครงการ ขั้นตอนการพิจารณาความเหมาะสม และขั้นตอนการสำรวจออกแบบตัวเขื่อนทดน้ำ โดยมีการประชุมหารือร่วมกับประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคราชการและภาคเอกชนในพื้นที่ ซึ่งจากการประเมินผลการประชุมปัจฉิมนิเทศ โครงการ จากแบบประเมินผล เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2548 ณ โรงแรมสีหราช จังหวัดอุตรดิตถ์ สรุปได้ว่า ผู้เข้าร่วมประชุมร้อยละ 97.03 มีความเข้าใจในผลการศึกษาของโครงการในระดับดี และกลุ่มเป้าหมายร้อยละ 99.65 เห็นด้วยกับโครงการในระดับมากเกือบทุกประเด็น สะท้อนทัศนคติเชิงบวกต่อโครงการ ทั้งนี้ กรมชลประทานยังมีแผนที่จะดำเนินการด้านการประชาสัมพันธ์ มวลชนสัมพันธ์ และการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งระหว่างการก่อสร้างและหลังการก่อสร้างโครงการอย่างต่อเนื่อง ต่อไป

2.3.2 การจัดหาที่ดิน แยกเป็น 2 บริเวณ คือ

  • บริเวณตัวเขื่อนทดน้ำและแนวถนนเข้าหัวงาน เนื้อที่ 1,231 ไร่ ดำเนินการจัดหาที่ดินบริเวณตัวเขื่อนทดน้ำและแนวถนนเข้าหัวงานแล้วเสร็จทั้งหมดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524
  • บริเวณที่จะก่อสร้างระบบชลประทาน กรมชลประทานจะได้ดำเนินการจัดหาที่ดินต่อไป

2.3.3 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เตรียมมาตรการจ่ายค่าทดแทนทรัพย์สิน และงบประมาณไว้ในค่าก่อสร้างของโครงการแล้ว และยังมีแผนปฏิบัติการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและแผนปฏิบัติการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ โดยได้เสนอตั้งงบประมาณให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมดำเนินการตามมาตรการลดผลกระทบและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้มีการวางแผนการดำเนินงานและแผนงบประมาณไว้ในค่าก่อสร้างของโครงการแล้ว

2.3.4 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า การก่อสร้างโครงการเขื่อนทดน้ำผาจุก จังหวัดอุตรดิตถ์ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาแหล่งน้ำในเขตพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอลับแล อำเภอ ตรอน อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ อำเภอพรหมพิราม และอำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก เพื่อประโยชน์ในการเกษตรกรรม การอุปโภคบริโภค การอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว ซึ่งจะเป็นการพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ของราษฎรให้ดีขึ้น

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ