ขอความเห็นชอบในการรับรองร่างผลการประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 4, 2009 16:37 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างปฏิญญาโตเกียวพร้อมภาคผนวก และอนุมัติให้นายกรัฐมนตรีรับรองเอกสารดังกล่าว ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ และหากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขเอกสารดังกล่าวที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก

สาระสำคัญของเรื่อง

ด้วยญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ในวันที่ 6-7 พฤศจิกายน 2552 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งนายกรัฐมนตรีตอบรับที่จะเข้าร่วมประชุมแล้ว

กระทรวงการต่างประเทศขอเรียนว่า ในระหว่างการประชุมดังกล่าว จะมีการรับรองปฏิญญาโตเกียว ซึ่งถือว่าเป็นเอกสารผลการประชุมของการประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ซึ่งมีหัวข้อหลักคือ “การจัดตั้งหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาใหม่เพื่ออนาคตที่รุ่งเรืองร่วมกัน” (Establishment of a New Partnership for the Common Flourishing Future) โดยได้กำหนดวิสัยทัศน์ในอนาคตและระบุประเด็นที่จะให้ความสำคัญ รวมทั้งระบุถึงกลไกการจัดการประชุมภายใต้กรอบความร่วมมือดังกล่าว สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

1. ญี่ปุ่นให้คำมั่นที่จะร่วมมือเพื่อพัฒนาภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและชื่นชมต่อการที่ประเทศลุ่มน้ำโขงมีความพยายามช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือของไทย ผู้นำประเทศลุ่มน้ำโขงชื่นชมที่ประเทศไทยมีคำมั่นในการพัฒนาภูมิภาคนี้ด้วย

2. วิสัยทัศน์ในอนาคตระบุ ดังนี้

  • เป็นภูมิภาคที่เปิดกว้างที่มีสันติภาพและเสถียรภาพที่ถาวรและตั้งอยู่บนค่านิยมสากลตามที่ระบุไว้ในกฎบัตรอาเซียน
  • เป็นภูมิภาคที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจและมีบทบาทสนับสนุนต่อบูรณาการของอาเซียนอย่างแข็งขัน รวมทั้งการจัดตั้งประชาคมเอเชียตะวันออกที่เปิดกว้างในระยะยาว และ
  • เป็นภูมิภาคที่มีการพัฒนาที่ยั่งยืน ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสามารถจัดการกับ ภัยคุกคามต่างๆ ที่เป็นอันตรายต่อมนุษยชาติและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

เพื่อให้วิสัยทัศน์ข้างต้นของอนาคตภูมิภาคลุ่มน้ำโขงมีผล ญี่ปุ่นย้ำความตั้งใจที่จะร่วมมือในภูมิภาค ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในลุ่มน้ำโขงและญี่ปุ่น ควรเป็นไปตามแนวทางดังนี้

  • สร้างความสัมพันธ์ที่เป็นประโยชน์ร่วมกันบนพื้นฐานภราดรภาพ ซึ่งเป็นแนวความคิดที่เคารพเสรีภาพและศักดิ์ศรีของปัจเจกบุคคล ในขณะที่เคารพต่อเสรีภาพและศักดิ์ศรีของผู้อื่น
  • เสริมสร้างสันติภาพและความรุ่งเรืองของอาเซียนและเอเชียตะวันออก ตลอดจนจัดตั้งชุมชน เอเชียตะวันออกที่เปิดกว้างในระยะยาว
  • เป็นหุ้นส่วนที่สำคัญร่วมกันทั้งในด้านการเมืองและเศรษฐกิจ

3. สาขาที่ให้ความสำคัญลำดับต้น ประกอบด้วย 1) การส่งเสริมการพัฒนาแบบครบถ้วนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ได้แก่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างพันธมิตรภาครัฐ-เอกชน การจัดทำกฎระเบียบร่วมกันในภูมิภาคในด้านเศรษฐกิจ 2) การจัดการกับประเด็นที่มีความท้าทาย ได้แก่ สิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดการกับประเด็นที่มีความเสี่ยง อาทิ ความเสี่ยงจากภัยพิบัติธรรมชาติ การระบาดของเชื้อโรค 3) การกระชับความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนระหว่างกัน ได้แก่ การเพิ่มพูนการแลกเปลี่ยนการพบปะกัน การส่งเสริมการท่องเที่ยว และการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม และการขยายความร่วมมือกับกรอบความร่วมมืออื่น ๆ ที่มีอยู่แล้วในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

4. ให้มีการจัดการประชุมในกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-ญี่ปุ่นอย่างสม่ำเสมอ และให้จัดการประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นขึ้นทุก ๆ สามปี โดยสลับกันระหว่างญี่ปุ่นกับประเทศลุ่มน้ำโขง

5. เอกสารภาคผนวกระบุรายละเอียดการนำเจตจำนงต่าง ๆ ภายใต้ปฏิญญาโตเกียวไปปฏิบัติเป็นรูปธรรม โดยเน้นการให้ความช่วยเหลือหรือส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานในแต่ละประเด็นที่ปรากฏในร่างปฏิญญาโตเกียว

กระทรวงการต่างประเทศมีความเห็นเพิ่มเติมว่า โดยที่ร่างปฏิญญาดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของทุกฝ่ายทางด้านการเมือง สังคม และความมั่นคง และเอกสารภาคผนวกเป็นรายละเอียดการนำปฏิญญาดังกล่าวไปปฏิบัติ เอกสารดังกล่าวจึงไม่เป็นสนธิสัญญาและไม่เข้าข่ายมาตรา 190 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ ฯ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ