บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติและการพัฒนาความร่วมมือของตำรวจ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 11, 2009 15:30 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติและการพัฒนาความร่วมมือของตำรวจ ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอ และให้เสนอรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบต่อไป

ข้อเท็จจริง

สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอว่า เนื่องด้วยสำนักงานตำรวจแห่งชาติและสำนักงานตำรวจสหพันธรัฐออสเตรเลียได้มีการลงนามระหว่างกันในบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding) ว่าด้วยความร่วมมือในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ และการพัฒนาความร่วมมือของตำรวจเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกันในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ รวมทั้งความร่วมมืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจการตำรวจ โดยบันทึกความเข้าใจดังกล่าวได้จัดทำมาแล้ว 2 ฉบับ ซึ่งฉบับที่ 2 ใกล้จะครบกำหนดในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2552 ทำให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติและสำนักงานตำรวจสหพันธรัฐออสเตรเลีย เห็นพ้องกันที่จะจัดทำบันทึกความเข้าใจ ฉบับที่ 3

สาระสำคัญของเรื่อง

1. แนวคิดพื้นฐาน

1.1 ป้องกันการคุกคามที่เพิ่มขึ้นของอาชญากรรมข้ามชาติ

1.2 เสริมสร้างและผนึกกำลังความร่วมมือในด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร การประสานการปฏิบัติงาน และความร่วมมือในการให้ความช่วยเหลือ

1.3 นำบันทึกความเข้าใจมาใช้ปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฎหมายในระเบียบต่างๆ ของแต่ละประเทศ และให้สอดคล้องกับพันธะข้อผูกพันทางด้านกฎหมายระหว่างประเทศของภาคีทั้งสองฝ่าย

2. หลักเกณฑ์

ความร่วมมือและการดำเนินการภายใต้บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ ควรนำเรื่องดังต่อไปนี้ มาประกอบการพิจารณา

2.1 บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งออสเตรเลีย ว่าด้วยความร่วมมือในการต่อต้านการก่อการร้ายสากล ลงวันที่ 3 ตุลาคม 2545 และ

2.2 คำแถลงการณ์ของประธานร่วมในการประชุมรัฐมนตรีระดับภูมิภาค ว่าด้วยการลักลอบขนคน การค้ามนุษย์และอาชญากรรมข้ามชาติที่เกี่ยวข้อง ครั้งที่ 2 ณ เมืองบาหลี ระหว่างวันที่ 29-30 เมษายน 2546

3. เป้าหมายและวัตถุประสงค์

3.1 บันทึกความเข้าใจจัดทำขึ้นโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความตกลงในกรอบของการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะในเรื่องการป้องกันอาชญากรรมข้ามชาติ รวมทั้งการก่อการร้าย

3.2 เป้าหมายของบันทึกความเข้าใจ คือ การต่อสู้กับอาชญากรรมข้ามชาติ การก่อการร้ายและเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือของตำรวจ

4. รูปแบบของการดำเนินความร่วมมือ

การดำเนินความร่วมมือจะครอบคลุมในเรื่องต่าง ๆ คือ การแบ่งปันข้อมูลข่าวสารด้านการบังคับใช้กฎหมาย การประสานการปฏิบัติงาน เสริมสร้างความร่วมมือที่มีอยู่ และการให้ความร่วมมือด้านการสร้างขีดความสามารถและการพัฒนาวิชาชีพ

5. ยุทธวิธี

5.1 แบ่งปันข้อมูลข่าวสารทางด้านการบังคับใช้กฎหมาย

5.2 ประสานการปฏิบัติงานในการบังคับใช้กฎหมาย พัฒนายุทธวิธีและขั้นตอนเพื่อการประสานการปฏิบัติงาน จัดหาแนวทางที่จะประสานการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกัน

5.3 เสริมสร้างและผนึกกำลังเครือข่ายความร่วมมือที่อยู่ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น

5.4 ให้ความร่วมมือช่วยเหลือในด้านการสร้างขีดความสามารถและพัฒนาวิชาชีพ

6. การดำเนินความร่วมมือเกี่ยวกับประเด็นปัญหาอาชญากรรมประเภทต่าง ๆ

6.1 การก่อการร้าย 6.2 การค้ายาเสพติดและยาเสพติดผิดกฎหมายประเภทอื่นๆ 6.3 การลักลอบค้าอาวุธ 6.4 การกระทำผิดทางเพศข้ามชาติ 6.5 การฟอกเงิน 6.6 การลักลอบขนคนและการค้ามนุษย์ 6.7 อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ 6.8 อาชญากรรมทางเศรษฐกิจข้ามชาติ 6.9 การฉ้อโกงเกี่ยวกับเอกลักษณ์ของบุคคล 6.10 โจรสลัด 6.11 ปัญหาอื่น ๆ ตามที่คู่ภาคีร่วมกันกำหนด

7. การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร

7.1 ให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารต่อกันตามบันทึกความเข้าใจฯ ภายใต้กฎหมายและกฎระเบียบภายในประเทศที่เกี่ยวข้อง

7.2 ปกป้องรักษาข้อมูลข่าวสารใดๆ ที่ได้รับมา หรือเปิดเผยข้อมูลโดยไม่ได้รับอนุญาต

7.3 ไม่ให้หรือเปิดเผยข้อมูลข่าวสารหรือการข่าวใดๆ ที่ได้มาภายใต้บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ให้แก่ฝ่ายที่สาม โดยปราศจากความเห็นชอบภาคีอีกฝ่ายหนึ่งก่อน

8. การแถลงต่อสื่อมวลชน

การให้ข่าวแก่สื่อมวลชนจะต้องได้รับการประสานงานจากคู่ภาคีทั้งสองและควรกระทำไปเพื่อการสนับสนุนขีดความสามารถด้านต่าง ๆ ของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายและเพื่อขัดขวางการดำเนินการต่าง ๆ ของผู้ประทำผิดอาชญากรรมข้ามชาติรวมทั้งผู้ก่อการร้าย

9. การสนับสนุนทางการเงิน

คู่ภาคีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอาจร้องขอความช่วยเหลือจากอีกฝ่ายหนึ่งให้สนับสนุนทางการเงินในการประสานการปฏิบัติงานและเพื่อพัฒนาขีดความสามาถด้านต่างๆ ของหน่วยงาน

10. การยุติข้อพิพาท

คู่ภาคีจะใช้ความพยายามที่สมเหตุผลและเจรจากันด้วยความจริงใจ

11. การเพิ่มเติมและแก้ไข

11.1 คู่ภาคีอาจมีการเพิ่มเติมข้อตกลงอีกข้อหนึ่งหรือมากกว่านั้นในข้อตกลงด้านเทคนิค

11.2 บันทึกความเข้าใจฯ สามารถได้รับการแก้ไขได้บนพื้นฐานขอความเห็นชอบร่วมกันของคู่ภาคีที่เป็นลายลักษณ์อักษร

12. บทสรุป

ให้บันทึกความเข้าใจมีผลใช้บังคับใช้ในวันที่มีการลงนามโดยภาคีฝ่ายสุดท้ายและให้มีผลบังคับใช้เป็นเวลาสามปี และอาจขยายต่อไปได้อีกสามปีโดยความเห็นชอบร่วมกันที่เป็นลายลักษณ์อักษรของคู่ภาคี

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 พฤศจิกายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ