การจัดตั้งมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 25, 2009 17:04 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การจัดตั้งมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ และสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรม

ปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ และงบประมาณจัดตั้งมูลนิธิฯ และสถาบันฯ

คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่สำนักงาน ก.พ.ร.เสนอทั้ง 2 ข้อ ดังนี้

1. อนุมัติให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีจัดตั้ง มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ และสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ เพื่อเป็นหน่วยงานที่เป็นกลไกของรัฐ รับผิดชอบการจัดการความรู้และการส่งเสริมการพัฒนาตามแนวทางโครงการพระราชดำริอย่างเป็นระบบกว้างขวาง จนกระทั่งเป็นแนวทางการพัฒนาหลักของประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาล

2. ให้โอนภารกิจ ทรัพย์สิน และงบประมาณโครงการปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ จากสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) องค์การมหาชน จำนวน 560 ล้านบาท ตามมติคณะกรรมการส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ ในการประชุมครั้งที่ 5/2552 วันที่ 30 พฤษภาคม 2552

สาระสำคัญของการจัดตั้งมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ และสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ

คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2550 เห็นชอบให้สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) องค์การมหาชน ดำเนิน “โครงการเปิดทองหลังพระ” เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนนำแนวพระราชดำริไปพัฒนาต่อทั่วประเทศ ถวายเป็นพระราชกุศลในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ และเห็นชอบการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการโครงการเปิดทองหลังพระ โดยมี ฯพณฯ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี เป็นประธาน พร้อมทั้งอนุมัติงบประมาณสนับสนุนปีละ 220,000,000 บาท เป็นระยะเวลา 4 ปี (พ.ศ.2551-2554) และมอบให้ สสปน.เป็นผู้ดูแลโครงการ

โครงการเปิดทองหลังพระ เป็นโครงการฯ ที่มีภารกิจในการสืบสานแนวพระราชดำริขยายผลสู่ชุมชนท้องถิ่นอย่างกว้างขวาง เพื่อความอยู่ดีมีสุขของประชาชน โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2551 แต่โครงการฯ มีข้อจำกัดเนื่องจากเป็นหน่วยงานย่อยใน สสปน. การดำเนินการต้องอยู่ภายใต้กรอบภารกิจตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง สสปน.โดยเฉพาะการดำเนินการร่วมกับชุมชน ประชาสังคม ภาควิชาการ และหน่วยงานของรัฐที่มีความสนใจและเสนอความร่วมมือกับโครงการฯ แต่หลายกรณีโครงการฯ ไม่อาจตอบสนองความร่วมมือกับภาคี เนื่องจากข้อจำกัดของกรอบภารกิจตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง สสปน.

เพื่อให้รัฐบาลมีหน่วยงานเฉพาะในการรองรับภารกิจด้านการสืบสวนแนวพระราชดำริขยายผลสู่ชุมชนได้อย่างรวดเร็ว จึงควรตั้ง “โครงการปิดทองหลังพระฯ” เป็นมูลนิธิและสถาบันเฉพาะทาง โดยใช้ชื่อว่า “มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ” และ “สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ” ด้วยเหตุผลว่า

1. ภารกิจของโครงการปิดทองหลังพระ คือการรับผิดชอบการจัดการความรู้และการส่งเสริมการพัฒนาตามแนวทางโครงการพระราชดำริอย่างเป็นระบบกว้างขวาง จนกระทั่งเป็นแนวทางการพัฒนาหลักของประเทศ ตามแนวนโยบายของรัฐบาลนั้น เป็นภารกิจที่ไม่จำเป็นต้องดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐ แต่ควรดำเนินการโดยภาคประชาสังคมที่รัฐให้การสนับสนุน ซึ่งรูปแบบหน่วยงานหนึ่งของหน่วยงานที่ใช้อำนาจรัฐหรือเป็นกลไกของรัฐแต่ไม่เป็นองค์กรของรัฐ ได้แก่ สถาบันภายใต้มูลนิธิ ซึ่งเป็นกลไกของส่วนราชการ (มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2552 เรื่องการปรับปรุงหลักการจำแนกประเภทหน่วยงานของรัฐในกำกับของฝ่ายบริหาร)

2. การบริหารงานของโครงการปิดทองหลังพระเหมาะสมกับการดำเนินงานในรูปแบบของสถาบันภายใต้มูลนิธิ ซึ่งโครงสร้างการบริหารงานจะประกอบด้วยคณะกรรมการ 2 ระดับ คือ (1) คณะกรรมการมูลนิธิ เป็นผู้กำหนดนโยบาย ควบคุม ดูแล ติดตาม และประเมินผล คณะกรรมการประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานเจ้าสังกัด ภาคเอกชน ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ ตามสัดส่วนที่เหมาะสม และ (2) คณะกรรมการบริหารสถาบัน ซึ่งทำหน้าที่กำกับการบริหารของสถาบันให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์การจัดตั้ง โดยมูลนิธิมีฐานะที่เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย เป็นองค์กรรองรับด้านการเงินและในการทำนิติกรรมต่าง ๆ ส่วนสถาบันไม่มีสถานภาพเป็นนิติบุคคล งบประมาณที่ใช้จ่ายในการดำเนินงานของสถาบันและมูลนิธิมาจากรายได้ในการดำเนินงานและงบประมาณแผ่นดินที่รัฐบาลสามารถพิจารณาจัดสรรให้เป็นรายปีในหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปให้แก่มูลนิธิและสถาบัน ซึ่งจะมีส่วนราชการเจ้าสังกัดเป็นหน่วยงานจัดตั้งมูลนิธิและสถาบัน เพื่อรับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลและจัดสรรต่อให้มูลนิธิและสถาบัน โดยพิจารณาตามแผนงานและงบประมาณของโครงการปิดทองหลังพระฯ ในหัวข้อ 2.5 ของข้อเสนอการขออนุมัติจัดตั้งข้อเสนอการจัดตั้ง มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ และสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสาน แนวพระราชดำริ

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติเห็นชอบให้จัดตั้งหน่วยงานในรูปแบบนี้เช่น สถาบันเฉพาะทางภายใต้มูลนิธิของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมเฉพาะสาขาในระยะเริ่มแรก และเมื่ออุตสาหกรรมสาขานั้น ๆ มีความเข้มแข็งแล้ว ภาคเอกชนจะรับภารกิจนั้นไปดำเนินการเอง

3. โดยที่แนวทางการดำเนินงานของมูลนิธิฯ และสถาบันฯ ซึ่งมุ่งเน้นการบูรณาการความร่วมมือของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาสังคม สถาบัน วิชาการ ภาคธุรกิจ ภาครัฐ เพื่อให้น้อมนำแนวทางตามโครงการพระราชดำริไปเป็นหลักในการดำเนินงาน ซึ่งในส่วนของภาครัฐนั้นจำเป็นต้องอาศัยการอำนวยการ ประสานงานระหว่างกระทรวง ทบวง กรม เพื่อผลักดันการดำเนินงานของมูลนิธิฯ และสถาบันฯ รวมทั้งการประสานกับนโยบายของรัฐบาล จึงควรให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการประสานราชการระหว่างกระทรวง ทบวง กรม และมีหน้าที่ในการอำนวยการ ประสานงาน กำกับ ติดตามผล การจัดงานเฉลิมพระเกียรติ งานกิจการพิเศษตามที่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นหน่วยงานจัดตั้งมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ และสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 พฤศจิกายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ