ท่าทีไทยสำหรับการประชุมระดับรัฐมนตรี (MC) ขององค์การการค้าโลก (WTO) สมัยสามัญ ครั้งที่ 7

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 25, 2009 17:25 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบท่าทีไทยสำหรับการประชุมรัฐมนตรี (Ministerial Conference : MC) ขององค์การการค้าโลก (WTO) สมัยสามัญ ครั้งที่ 7 ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน — 2 ธันวาคม 2552 ในการขยายเวลาการยกเว้นอากรศุลกากรเป็นการชั่วคราวสำหรับการค้าที่ส่งผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ต่อไปจนกว่าจะถึงการประชุม MC ครั้งที่ 8 และการขยายเวลาการยกเว้นการใช้ TRIPS non-violation complaint ออกไปจนกว่าจะถึงการประชุม MC ครั้งที่ 8 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ทั้งนี้ ให้กระทรวงพาณิชย์รับความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศไปประกอบการพิจารณาด้วย

สรุปสาระสำคัญ

1. การขยายเวลาการยกเว้นการเก็บอากรศุลกากรชั่วคราวสำหรับการค้าผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Customs Duties Moratorium on Electronic Transmissions) พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ถูกหยิบยกขึ้นมาหารือเป็นครั้งแรกใน WTO ในการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก (MC) ครั้งที่ 2 เมื่อเดือนพฤษภาคม 2541 ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่ประชุมได้มีมติให้ประเทศสมาชิกคงสถานะการไม่เก็บอากรศุลกากรสำหรับการค้าผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ไว้ชั่วคราว เนื่องจากยังไม่เคยมีประเทศใดเรียกเก็บอากรศุลกากรกับการค้าแบบนี้มาก่อน และต่อมาได้มีการขยายระยะเวลาการยกเว้นดังกล่าวเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

การประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก (MC) ครั้งที่ 7 ที่จะถึงนี้ จะมีการพิจารณาการขยายเวลาการยกเว้นอากรศุลกากรเป็นการชั่วคราวสำหรับการค้าที่ส่งผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่อไปจนกว่าจะถึงการประชุม MC ครั้งที่ 8

2. การขยายเวลาการยกเว้นการใช้ TRIPS-non violation complaint

โดยทั่วไป กรณีพิพาทภายใต้องค์การการค้าโลก จะเกิดขึ้นเนื่องจากมีการละเมิดพันธกรณีที่ประเทศสมาชิกผูกพันไว้ภายใต้ WTO แต่สมาชิกก็อาจฟ้องร้อง โดยอ้างว่าตนได้รับความเสียหาย หรือเสียประโยชน์อันพึงได้รับจากพันธกรณีภายใต้ WTO จากการออกมาตรการใหม่หรือการปรับเปลี่ยนกฎหมาย/กฎระเบียบใด ๆ ของประเทศสมาชิกอื่น โดยไม่ได้ขัดกับพันธกรณีโดยตรง เรียกว่า Non-violation complaint ตามข้อ XXIII : 1(b) ของความตกลงแกตต์ เช่น การยกเลิกอัตราภาษีเดิมที่เคยกำหนดไว้ในระดับต่ำและใช้มาตรการอื่นแทน โดยที่ไม่ได้ขัดกับความตกลง WTO ใดๆ

ประเทศสมาชิก WTO ได้ตกลงไม่ให้นำการฟ้องร้องกรณีที่มิได้มีการละเมิดข้อตกลง (non-violation) มาใช้ภายใต้ความตกลง TRIPs ข้อ 64.2 เรื่อง การระงับข้อพิพาท เป็นเวลา 5 ปี (ตั้งแต่ความตกลง TRIPs มีผลบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2538) และได้มีการต่ออายุเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ ในการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก ครั้งที่ 7 จะมีการพิจารณาให้มีการขยายเวลาการยกเว้นการใช้ TRIPS non-violation complaint ออกไปจนกว่าจะถึงการประชุม MC ครั้งที่ 8 อันจะมีผลให้การนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาทของ WTO ในกรณีที่มิได้มีการละเมิดข้อตกลง (non-violation complaint) ยังไม่สามารถทำได้

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 พฤศจิกายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ