การจัดงานเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 6, 2010 15:30 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การจัดงานเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในปี พ.ศ. 2555

เนื่องในโอกาสที่ครบ 150 ปี วันประสูติ และครบ 50 ปี ที่องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมสหประชาชาติ

(UNESCO) ถวายพระเกียรติให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ ทั้ง 2 ข้อ ดังนี้

1. ให้จัดงานเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในปี พ.ศ. 2555 เนื่องในโอกาสที่ครบ 150 ปี วันประสูติ และครบ 50 ปี ที่องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมสหประชาชาติ (UNESCO) ถวายพระเกียรติให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกในนามรัฐบาล และแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในปี พ.ศ. 2555 เนื่องในโอกาสที่ครบ 150 ปี วันประสูติ และครบ 50 ปี ที่องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมสหประชาชาติ (UNESCO) ถวายพระเกียรติให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก

2. ให้ปรับเพิ่มองค์ประกอบคณะกรรมการฯ ในข้อ 1 จำนวน 3 ราย ดังนี้ 1. ท่านผู้หญิงบุตรี วีรไวทยะ เป็นกรรมการ 2. พลตรี ม.ร.ว.ศุภวัฒย์ เกษมศรี เป็นกรรมการ และ 3. เลขานุการมูลนิธิสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (พันเอก ม.ล.กุลชาติ ดิศกุล) เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงมหาดไทยรายงานว่า

1. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นอกจากจะเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ที่รับผิดชอบงานด้านการปกครองที่ได้ทรงวางรากฐานการปกครองไว้อย่างมั่นคง ตลอดทั้งทรงประพฤติปฏิบัติพระองค์เป็นแบบอย่างของนักปกครองรุ่นหลังแล้ว ยังได้รับการยอมรับจากชาติตะวันตกว่า เป็นผู้ที่รอบรู้หรือเป็นผู้ที่สนใจ ทั้งด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลปะ พระพุทธศาสนา หลักศาสนาเปรียบเทียบ วรรณคดี กฎหมายปกครอง ปรัชญา ดนตรี วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทรงนิพนธ์หนังสือในเรื่องเหล่านี้จำนวนมากกว่า 200 เล่ม จึงถือได้ว่าทรงเป็นกำลังสำคัญในการบริหารประเทศหลายด้าน และพระอัจฉริยภาพด้านต่าง ๆ ก็ล้วนเป็นที่ประจักษ์แก่มหาชนทุกยุคทุกสมัย ดังจะเห็นได้จากการที่ UNESCO ได้ยกย่องพระองค์ให้เป็น “บุคคลสำคัญของโลก” คนแรกของประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2505 จึงเห็นควรที่รัฐบาลจะได้จัดงานเทิดพระเกียรติเพื่อรำลึกถึงพระเกียรติคุณ ผู้ทรงมีคุณูปการต่อแผ่นดินไทยเป็นอเนกอนันต์ เผยแพร่ พระอัจฉริยภาพ พระกรณียกิจ เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้และศึกษาผลงานด้านต่าง ๆ ตลอดจนงานพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งคณะกรรมการมูลนิธิสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เตรียมการยกร่างโครงการเผยแพร่พระเกียรติคุณของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพในเบื้องต้นแล้ว เช่น โครงการจัดทำสารคดีวีดิทัศน์พระประวัติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ โครงการชำระพระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ โครงการจัดทำดวงตราไปรษณียากร โครงการจัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกและเหรียญที่ระลึก เป็นต้น

2. ในโอกาสที่ปี พ.ศ. 2555 เป็นปีที่ครบ 150 ปี วันประสูติของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และครบ 50 ปี ที่ UNESCO ได้ยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกคนแรกของประเทศไทย จึงเห็นควรจัดงานเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ครบ 150 ปี วันประสูติ และครบ 50 ปี ที่ UNESCO ได้ยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก โดยแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการจัดงานฯ เป็นองค์กรรับผิดชอบ จำนวน 33 คน โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นรองประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้องหรือกระทรวงที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเคยทรงงาน ได้แก่ กระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงยุติธรรม กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการ ก.พ. ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อัยการสูงสุด เลขาธิการราชบัณฑิตยสถาน ผู้อำนวยการสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ นายทองต่อ กล้วยไม้ ณ อยุธยา นางสายไหม จบกลศึก ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล พันตรี ม.ร.ว.ดำรงเดช ดิศกุล และพันเอก ม.ล.กุลชาติ ดิศกุล เป็นกรรมการ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และเจ้าหน้าที่ของสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นฝ่ายเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่กำหนดแนวทางการจัดงานเทิดพระเกียรติฯ และอำนาจหน้าที่อื่นอีก 3 ประการ โดยในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดงานฯ ให้คณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการที่จะจัดตั้งขึ้นสามารถเบิกเบี้ยประชุมให้แก่คณะกรรมการฯ และคณะอนุกรรมการได้ตามมาตรา 6 (2) และมาตรา 7 (2) แห่งพระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ พ.ศ. 2547 โดยได้ตรวจสอบองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการแล้วมีความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

3. ต่อมากระทรวงมหาดไทยได้ขอปรับเพิ่มองค์ประกอบของคณะกรรมการอำนวยการจัดงานฯ (ข้อ 2) ให้มีบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นผู้มีความรู้และเชี่ยวชาญในด้านที่เกี่ยวข้อง รวมถึงมีผู้ที่ทราบถึงพระประวัติของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นอย่างดีร่วมเป็นคณะกรรมการ จำนวน 3 ราย ดังนี้ 1. ท่านผู้หญิงบุตรี วีรไวทยะ เป็นกรรมการ 2. พลตรี ม.ร.ว.ศุภวัฒย์ เกษมศรี เป็นกรรมการ และ 3. เลขานุการมูลนิธิสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (พันเอก ม.ล.กุลชาติ ดิศกุล) เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ (จากเดิมเป็นกรรมการ ขอปรับเป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 5 มกราคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ