ขออนุมัติยุบเลิกทุนหมุนเวียน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 13, 2010 14:24 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ทั้ง 3 ข้อ ดังนี้

1. อนุมัติให้ยุบเลิกทุนหมุนเวียน จำนวน 4 ทุน เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ยุบเลิกทุนหมุนเวียนจำนวนดังกล่าวแล้ว กระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลาง และส่วนราชการเจ้าของทุนหมุนเวียนจะดำเนินการตามขั้นตอนการยุบเลิกทุนหมุนเวียนตามนัยหนังสือกระทรวงการคลัง ที่ กค 0414/ว 10 ลงวันที่ 19 มกราคม 2548 ต่อไป

2.พิจารณาทบทวนประสิทธิภาพในการดำเนินงาน จำนวน 1 ทุน ได้แก่ กองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้าน กรมการจัดหางาน โดยให้กรมการจัดหางานพิจารณาปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินงานของกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้าน พร้อมทั้งพิจารณานำเงินกองทุนฯ ส่วนที่เกินความจำเป็นส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินภายใน 90 วัน หลังจากวันที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติในเรื่องดังกล่าว

3. พิจารณาทบทวนสถานภาพ จำนวน 1 ทุน ได้แก่ ทุนหมุนเวียนค่าเครื่องจักรกลของกรมทางหลวง โดยให้กรมทางหลวง พิจารณาทบทวนสถานภาพของเงินทุนหมุนเวียน ค่าเครื่องจักรกลของกรมทางหลวง และศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งหน่วยงานภายในกรมทางหลวงเป็นหน่วยงานบริการรูปแบบพิเศษ (SDU) พร้อมทั้งเร่งหาข้อสรุปจากผลการศึกษาดังกล่าว เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงสถานภาพของเงินทุนเป็นหน่วยงานบริการรูปแบบพิเศษ (SDU) ให้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 และให้รายงานความคืบหน้าให้กระทรวงการคลังทราบเป็นระยะ ๆ ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะทำหน้าที่ในการกำกับดูแลและติดตามประเมินผลการดำเนินงานดังกล่าว เพื่อรายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงการคลังรายงานว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 กระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลางได้จัดประชุมหารือร่วมกับผู้แทนของสำนักงบประมาณ และส่วนราชการเจ้าของทุนหมุนเวียน เพื่อทบทวนประสิทธิภาพการดำเนินงานทุนหมุนเวียน เห็นสมควรให้ยุบเลิก จำนวน 4 ทุน ประกอบด้วย

1. เงินทุนหมุนเวียนฝึกอาชีพเด็กและเยาวชนในสถานพินิจและคุ้มครองเด็ก กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จัดตั้งขึ้นเมื่อปีงบประมาณ พ.ศ. 2495 มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นทุนดำเนินการฝึกอาชีพเด็กและเยาวชนที่อยู่ในความควบคุมของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กให้มีความรู้ความสามารถที่นำไปประกอบอาชีพได้ภายหลังการปลดปล่อย และจากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา เงินทุนฯ มีการใช้จ่ายเงินย้อนหลังเฉลี่ยประมาณปีละ 0.298 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.74 ของเงินคงเหลือ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายจำนวนน้อย เนื่องจากเงินทุนฯ ประสบปัญหาในการดำเนินงานด้านการตัดเย็บที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กฯ บ้านกรุณา เกี่ยวกับเรื่องราคาวัสดุที่ใช้ในการผลิตมีราคาสูงกว่าผู้ผลิตรายอื่น เพราะการสั่งซื้อมีปริมาณน้อย แรงงานขาดความชำนาญในการผลิต จึงเกิดการสูญเสียวัสดุในการผลิตเป็นจำนวนมาก ทำให้เงินทุนฯ มีต้นทุนการผลิตสูงกว่าราคาขายในท้องตลาด สำหรับศูนย์ฝึกและ อบรมเด็กฯ บ้านอุเบกขาซึ่งเป็นการสอนด้านการพิมพ์ ประสบปัญหาไม่มีครูสอนต้องอาศัยลูกจ้างเป็นครูสอน โดยมีศาลยุติธรรมเป็นลูกค้าเพียงรายเดียว จากข้อจำกัดในการดำเนินงานดังกล่าว ทำให้ไม่คุ้มค่าในการลงทุน ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจะขอใช้เงินงบประมาณปกติในการดำเนินการแทนเงินทุนฯ ที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์เดิมของเงินทุนฯ ต่อไป

2. กองทุนเพื่อลดผลกระทบจากนโยบายสุราเสรีของรัฐ กรมโรงงานอุตสาหกรรม จัดตั้งขึ้นในปีงบประมาณ พ.ศ. 2544 มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา ค้นคว้า วิเคราะห์ วิจัยสุราเพื่อพัฒนาคุณภาพสุราให้ได้มาตรฐาน สนับสนุนด้านเทคนิคและด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการผลิตสุรารายย่อย จากลักษณะการดำเนินงานของกองทุนฯ ที่ผ่านมาไม่สอดคล้องกับความหมายของทุนหมุนเวียนตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. 2491 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยการใช้จ่ายเงินของกองทุนฯ เป็นลักษณะจ่ายขาด และไม่มีรายได้จากการดำเนินงานกลับเข้ามาสมทบในกองทุนฯ แต่อย่างใด มีเพียงเงินอุดหนุนจากงบประมาณประจำปีเท่านั้น ประกอบกับมีหน่วยราชการอื่น ซึ่งดำเนินงานด้านการวิจัยโดยเฉพาะ เช่น กรมสรรพสามิต และกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นต้น ดังนั้น กองทุนฯ จึงไม่มีความจำเป็นต้องดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวต่อไป

3. เงินทุนหมุนเวียนเพื่อซื้อขายอาวุธปืนผ่อนส่งให้แก่ข้าราชการตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดตั้งขึ้นในปีงบประมาณ พ.ศ. 2533 มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดซื้ออาวุธปืนพกขายให้แก่ข้าราชการตำรวจในราคาทุนโดยวิธีผ่อนชำระ จากผลการประเมินประจำปีบัญชี 2550 เงินทุนฯ ได้คะแนนเฉลี่ย 1.000 คะแนน เนื่องจากขั้นตอนการดำเนินงานจัดซื้ออาวุธปืนของเงินทุนฯ มีหลายขั้นตอน และใช้เวลาในการดำเนินการเป็นเวลานานมาก จึงขาดความคล่องตัวในการดำเนินงาน ทำให้ตั้งแต่จัดตั้งเงินทุนฯ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2533 ถึงปัจจุบัน มีการจัดซื้ออาวุธปืนเพียง 5 รุ่น จำนวน 8,583 กระบอก และรุ่นที่ 6 กำลังดำเนินการอีก จำนวน 1,300 กระบอก ประกอบกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติสามารถพิจารณาหาช่องทางอื่นในการจัดซื้ออาวุธปืนให้แก่ข้าราชการตำรวจได้ โดยจัดสวัสดิการหรือเข้าร่วมกับโครงการต่างๆ ที่ภาคเอกชนหรือหน่วยราชการอื่นจัดขึ้น ซึ่งมีราคาใกล้เคียงกับที่เงินทุนฯ จัดซื้อ เงินทุนฯ จึงหมดความจำเป็นที่จะดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวต่อไป

4. เงินทุนหมุนเวียนผลิตป้ายจราจร กรมทางหลวงชนบท จัดตั้งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2514 มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตป้ายจราจรชนิดต่างๆ ให้แก่หน่วยงานในสังกัดกรมทางหลวงชนบทและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เนื่องจากปัจจุบันได้มีการถ่ายโอนภารกิจด้านการซ่อม และสร้างถนนไปให้ อปท. แล้ว ทำให้การผลิตป้ายจราจรของเงินทุนฯ ลดลง ประกอบกับ อปท. สามารถจัดซื้อจัดจ้างจากเอกชนได้ และกรมทางหลวงชนบทมีนโยบายผลิตป้ายจราจรจำหน่ายให้หน่วยงานในสังกัดกรมทางหลวงชนบท หรือผลิตเพื่อใช้ทดแทนป้ายเดิม โดยใช้งบประมาณกิจกรรมบำรุงปกติ จึงเห็นสมควรให้กรมทางหลวงชนบทยุติการดำเนินงานเงินทุนหมุนเวียนผลิตป้ายจราจร และดำเนินการผลิตป้ายจราจร โดยใช้จ่ายจากเงินงบประมาณปกติ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 12 มกราคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ