ร่างพระราชบัญญัติความร่วมมือระหว่างประเทศในทางแพ่งว่าด้วยการละเมิดอำนาจปกครองเด็กพ.ศ. ....

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 10, 2010 10:22 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติความร่วมมือระหว่างประเทศในทางแพ่งว่าด้วยการละเมิดอำนาจปกครองเด็ก พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานอัยการสูงสุดเสนอ และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงานศาลยุติธรรมและสำนักงานตำรวจแห่งชาติไปประกอบการพิจารณา และส่งให้คณะกรรมการประสานงานด้านนิติบัญญัติพิจารณาก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป สำหรับค่าใช้จ่ายของผู้ประสานงานกลางในการดำเนินการตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ให้สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นผู้รับผิดชอบงบประมาณค่าใช้จ่ายดังกล่าวตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

ข้อเท็จจริง

สำนักงานอัยการสูงสุดเสนอว่า โดยที่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายในเรื่องความร่วมมือระหว่างประเทศว่าด้วยการละเมิดอำนาจปกครองเด็ก ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการปกป้องคุ้มครองเด็กให้พ้นจากภยันตรายอันเกิดจากการถูกเคลื่อนย้ายหรือหน่วงเหนี่ยวโดยมิชอบ และส่งคืนเด็กกลับสู่ประเทศซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ปกติโดยเร็ว รวมทั้งรับรองให้มีการคุ้มครองสิทธิที่จะได้พบและเยี่ยมเยียนซึ่งกันและกัน จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายให้อำนาจหน่วยราชการในการทำหน้าที่เป็น ผู้ประสานงานระหว่างประเทศในการติดตามสืบหาแหล่งที่อยู่ของเด็ก เพื่อจัดให้มีการส่งคืนตัวเด็ก รวมทั้งกำหนดกระบวนการทางศาลหรือฝ่ายปกครองในการส่งคืนตัวเด็กตามวิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในอนุสัญญาฯ ประกอบกับประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาดังกล่าวแล้ว

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. กำหนดให้อัยการสูงสุดหรือผู้ที่อัยการสูงสุดมอบหมายเป็นผู้ประสานงานกลาง และกำหนดอำนาจหน้าที่ของผู้ประสานงานกลาง (ร่างมาตรา 5 และร่างมาตรา 6)

2. กำหนดให้ผู้ร้องขอจากต่างประเทศหากประสงค์จะขอความช่วยเหลือให้ทำคำร้องขอความช่วยเหลือส่งไปยังผู้ประสานงานกลางและให้ผู้ประสานงานกลางเป็นผู้วินิจฉัยว่าสมควรให้ความช่วยเหลือหรือไม่ เมื่อได้รับคำร้องขอ (ร่างมาตรา 7 และร่างมาตรา 8)

3. กำหนดให้ผู้ร้องขออาจยื่นอุทธรณ์คำวินิจฉัยของผู้ประสานงานกลางที่ปฏิเสธการให้ความช่วยเหลือได้ (ร่างมาตรา 9)

4. กำหนดให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มีหน้าที่รับตัวเด็กไว้ปกครองดูแลจนกว่าการดำเนินการส่งตัวเด็กกลับคืนเสร็จสิ้น หรือจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น และให้ศาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวมีอำนาจพิพากษาคดีหรือมีคำสั่งคำร้องหรือคำขอยื่นต่อศาลตามพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 11 และมาตรา 12)

5. กำหนดให้ผู้ร้องขอในประเทศไทยที่ประสงค์จะร้องขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศให้เสนอเรื่องต่อผู้ประสานงานกลาง (ร่างมาตรา 20)

6. กำหนดให้พยานหลักฐานและเอกสารที่ได้มาตามพระราชบัญญัตินี้เป็นเอกสารที่รับฟังได้ตามกฎหมาย และให้คำร้องขอหรือเอกสารที่ยื่นต่อผู้ประสานงานจะต้องทำเป็นภาษาของประเทศผู้ร้องขอ และจะต้องมีคำแปลภาษาไทย หากไม่อาจทำได้ให้ทำคำแปลเป็นภาษาอังกฤษ (ร่างมาตรา 21 และมาตรา 22)

7. พระราชบัญญัตินี้ไม่ตัดสิทธิบุคคล สถาบัน หรือองค์กรอื่นใด ที่จะยื่นคำร้องต่อศาลตามพระราชบัญญัตินี้หรือศาลต่างประเทศ (ร่างมาตรา 23)

8. ห้ามมิให้ศาลหรือผู้ประสานงานกลางเรียกค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใดๆ และประกัน หลักประกัน หรือมัดจำไม่ว่าในลักษณะใด และให้ผู้ประสานงานกลางรับผิดอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ (ร่างมาตรา 24 และร่างมาตรา 25)

9. กำหนดให้บรรดาค่าใช้จ่ายต่างๆ ตามพระราชบัญญัตินี้ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง และกรณีที่มีเหตุสมควรศาลอาจมีคำสั่งกำหนดว่าค่าใช้จ่ายอันจำเป็นที่ผู้ร้องขอได้จ่ายไป ให้ผู้เคลื่อนย้ายหรือหน่วงเหนี่ยวเด็ก หรือผู้ขัดขวางการใช้สิทธิในการพบและเยี่ยมเยียนเด็กเป็นผู้รับผิดชอบชดใช้ (ร่างมาตรา 26 และร่างมาตรา 27)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ