การให้บริการผู้ประกันตนตามมาตรา 40

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 24, 2010 13:19 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการให้สำนักงานประกันสังคมเปิดบัญชีธนาคารเพื่อบริหารจัดการให้บริการผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เป็นการเฉพาะตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ โดยให้กระทรวงแรงงานรับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกาที่เห็นควรให้กระทรวงแรงงาน (สำนักงานประกันสังคม) พิจารณาด้วยว่าระเบียบคณะกรรมการประกันสังคมว่าด้วยการรับเงิน การจ่ายเงิน และการเก็บรักษาเงินกองทุน พ.ศ. 2547 มีความสอดคล้องกับการบริหารจัดการดังกล่าวแล้วหรือไม่ ไปดำเนินการด้วย ส่วนกรณีให้สำนักงานประกันสังคมมีหน่วยงานรับผิดชอบบริหารจัดการดำเนินงานให้บริการผู้ประกันตนตามมาตรา 40 แบบเบ็ดเสร็จและให้มีหน่วยบริการผู้ประกันตนในระดับอำเภอเช่นเดียวกับการให้บริการผู้ประกันตนในเขตกรุงเทพมหานครที่มีอยู่ 12 เขตพื้นที่แล้วนั้น ให้กระทรวงแรงงานบริหารจัดการโดยใช้โครงสร้างและอัตรากำลังที่มีอยู่ในปัจจุบัน

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงแรงงานรายงานว่า

1. ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของผู้ประกันตนตามมาตรา 40 พ.ศ. .... ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติ (5 สิงหาคม 2552) จะมีผลทันทีที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยประชาชนที่จะเข้าเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 จะได้รับสิทธิประโยชน์ตามจำนวนและเงื่อนไขที่แตกต่างจากผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และผู้ประกันตนตามมาตรา 39

2. คณะกรรมการประกันสังคมในการประชุมครั้งที่ 11/2552 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2552 มีความเห็นว่า

2.1 เนื่องจากข้อจำกัด (ตามข้อ 1) การบริหารเงินสมทบในส่วนของมาตรา 40 จำเป็นต้องบริหารเป็นองค์รวมทั้ง 5 กรณี และต้องแยกบัญชีเงินสมทบต่างหากไม่ปะปน ไม่รวมอยู่ในส่วนของมาตรา 33 และมาตรา 39 เพื่อประโยชน์และประสิทธิภาพในการพัฒนาเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ตามประสบการณ์การจ่ายประโยชน์แก่ผู้ประกันตนกลุ่มนี้ ซึ่งเกิดขึ้นจริงในอนาคตในโอกาสต่อไป

2.2 ประชาชนแรงงานนอกระบบที่จะเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ส่วนใหญ่มีภูมิลำเนากระจายอยู่ในตำบลและอำเภอ จึงมีความเห็นให้สำนักงานประกันสังคมเร่งขยายการให้บริการผู้ประกันตนทั้งการรับเงินสมทบ การวินิจฉัยประโยชน์ทดแทน ฯลฯ ให้ถึงระดับอำเภอเป็นอย่างน้อยเพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 40

3. พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 กำหนดให้จัดตั้งกองทุนประกันสังคมเพื่อเป็นทุนใช้จ่ายให้ผู้ประกันตน โดยการรับเงิน จ่ายเงิน และเก็บรักษาเงินให้เป็นไปตามระเบียบที่กระทรวงการคลังเห็นชอบ ทั้งนี้ ระเบียบปัจจุบันที่ใช้ปฏิบัติมาตั้งแต่ปี 2547 กำหนดให้การบริหารเงินกองทุนมีการแยกบัญชีออกเป็นบัญชีประโยชน์ทดแทน 4 กรณี (เจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย) บัญชีประโยชน์ทดแทน 2 กรณี (สงเคราะห์บุตรและชราภาพ) และบัญชีประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานโดยไม่ได้กำหนดให้แยกบัญชีประโยชน์ทดแทนกรณีผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ไว้เป็นการเฉพาะ

4. การให้บริการผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ซึ่งเป็น “ภาคบังคับ” และผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ที่ต่อเนื่องจากมาตรา 33 ปัจจุบันมีหน่วยงานให้บริการระดับจังหวัดในทุกจังหวัด สำหรับกรุงเทพมหานครมีการรวมเขตกรุงเทพมหานคร 3 — 4 เขต เป็น 1 พื้นที่ รวมจำนวน 12 พื้นที่เพื่อกระจายการให้บริการผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และมาตรา 39 ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเขตเมือง กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคมยังไม่มีหน่วยงานระดับอำเภอเพื่อให้บริการผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในชนบท ตำบล และหมู่บ้าน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ