สรุปสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตรปี 2553 ครั้งที่ 6

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 24, 2010 15:10 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สรุปสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตรปี 2553 ครั้งที่ 6 ณ วันที่ 22 มีนาคม 2553 ประกอบด้วย สถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร สถานการณ์น้ำ การเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2552/2553 และการให้ความช่วยเหลือ สรุปได้ดังนี้

สถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร

1. ภัยแล้ง ช่วงภัย วันที่ 15 ธ.ค. 52 ถึง 5 มี.ค. 53 (ข้อมูล ณ วันที่ 19 มี.ค. 53) พื้นที่ประสบภัย 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย น่าน แพร่ ลำปาง สุโขทัย อุตรดิตถ์ หนองคาย กาญจนบุรี สตูล และตรัง แยกเป็น

ด้านพืช พื้นที่ประสบภัย 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย น่าน แพร่ สุโขทัย ลำปาง อุตรดิตถ์ หนองคาย กาญจนบุรี สตูล และตรัง พื้นที่การเกษตรประสบภัย 147,482 ไร่ แบ่งเป็น พื้นที่ไม่เสียหาย 87,160 ไร่ อยู่ระหว่างเฝ้าระวัง 36,745 ไร่ และพื้นที่เสียหายแล้ว 23,577 ไร่ โดยช่วยเหลือด้วยเงินทดรองราชการอำเภอแล้ว 0.46 ล้านบาท จะขอเงินทดรองราชการในอำนาจปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อีก 19.31 ล้านบาท

ด้านปศุสัตว์ พื้นที่ประสบภัย 3 จังหวัด คือ จังหวัดลำปาง สุโขทัย และตรัง สัตว์ที่ได้รับผลกระทบ คือ โค /กระบือ จำนวน 3,783 ตัว กรมปศุสัตว์ได้สนับสนุนพืชอาหารสัตว์ จำนวน 81.8 ตัน เพื่อช่วยเหลือแล้ว

2. ศัตรูพืช โรคพืช ระบาด

2.1 เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โรคเขียวเตี้ย และโรคใบหงิก

มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553 อนุมัติงบประมาณ วงเงิน 1,240 ล้านบาท เพื่อดำเนินการตามโครงการช่วยเหลือเกษตรกรแก้ไขปัญหาโดยการตัดวงจรเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โรคเขียวเตี้ย และโรคใบหงิก เกษตรกร 20,681 ราย พื้นที่ 398,577 ไร่

การดำเนินการ ขณะนี้ได้สิ้นสุดการรับสมัครเกษตรกรเรียบร้อยแล้ว ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น จำนวน 3,763 ราย พื้นที่ 68,718 ไร่ ขณะนี้อยู่ระหว่างประชาคม โดยผ่านการประชาคมแล้ว จำนวน 966 ราย พื้นที่ 13,942 ไร่ และผ่านการประชุม ก.ช.ภ.อ./ก.ช.ภ.จ.แล้ว 1 จังหวัด คือ จังหวัดอ่างทอง ส่วนที่ผ่านประชาคมแล้ว อยู่ระหว่างกรมพัฒนาที่ดินไถกลบพื้นที่

สาเหตุที่เกษตรกรเข้าร่วมโครงการน้อยกว่า เนื่องจาก อายุข้าวอยู่ในช่วงใกล้เก็บเกี่ยว ชาวนาจึงยอมเสี่ยง เนื่องจากราคาข้าวยังดีอยู่ และการทำลายต้นข้าวนี้ถือว่าเป็นการลบหลู่แม่โพสพ จะทำให้ไม่มีความเจริญรุ่งเรือง และยังมีน้ำอยู่

2.2 เพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง

มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2552 อนุมัติงบประมาณ วงเงิน 65.66 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการการจัดการเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง พื้นที่ดำเนินในโครงการ จำนวน 600,000 ไร่

การดำเนินการ จากการดำเนินการป้องกันและกำจัด โดยการให้ความรู้เกษตรกร 41,750 ราย อบรมเจ้าหน้าที่ 2,549 ราย แช่ท่อนพันธุ์ 151,639 ไร่ ฉีดพ่นสารเคมี 72,273 ไร่ ตั้งศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน 567 ศูนย์ ผลิตแมลงช้างปีกใสในพื้นที่ระบาด และการป้องกันกำจัดแบบผสมผสาน มีพื้นที่ระบาดคงเหลือ จำนวน 226,204 ไร่ และพื้นที่นอกโครงการ พบการระบาด จำนวน 899,604 ไร่ เป็นมันสำปะหลังอายุ 1-4 เดือน 536,483 ไร่ อายุ 4-8 เดือน 462,979 ไร่ มากกว่า 8 เดือน 126,346 ไร่ ขณะนี้ได้แนะนำให้เกษตรกรที่จะปลูกมันสำปะหลังใหม่แช่ท่อนพันธุ์เพื่อฆ่าเพลี้ยแป้งและใช้แมลงช้างปีกใสปล่อยเพิ่มในพื้นที่ปลูกมันเพื่อเป็นการทำลายโดยชีววิธีแทนการใช้สารเคมีซึ่งเป็นการทำลายแมลงตามธรรมชาติด้วย ทำให้ต้องใช้เวลาในการควบคุมต่อจากนี้ไปอีก 2-3 เดือน ส่วนมันที่อายุ 1-4 เดือน จะแนะนำถอนต้นมันสำปะหลังและไถตากดินประมาณ 15-30 วัน

สถานการณ์น้ำ ณ วันที่ 22 มีนาคม 2553

1. สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ

สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศ (22 มีนาคม 2553) มีปริมาณน้ำทั้งหมด 43,705 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ คิดเป็นร้อยละ 59 ของความจุอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งหมด (ปริมาณน้ำใช้การได้ 19,860 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 27 ของความจุอ่างฯ) น้อยกว่าปี 2552 (47,561 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 65) จำนวน 3,856 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 5 ของความจุอ่างฯ

ปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่สะสมในช่วงฤดูแล้ง ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.52 ถึง 22 มี.ค. 53 จำนวน 5,223 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณระบายสะสมในช่วงฤดูแล้งตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.52 ถึง 22 มี.ค. 53 จำนวน 17,053 ล้านลูกบาศก์เมตร

สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ และป่าสักชลสิทธิ์

                                                                                          หน่วย : ล้าน ลบ.ม.
อ่างเก็บน้ำ         ปริมาตรน้ำ       ปริมาตรน้ำ     ปริมาตรน้ำใช้การได้      ปริมาตรน้ำไหลลงอ่างฯ        ปริมาณน้ำระบาย
               ในอ่างฯ ปี52     ในอ่างฯ ปี53
             ปริมาตร %ความจุ  ปริมาตร  %ความจุ   ปริมาตร    %ความจุ  วันนี้   เมื่อวาน    สะสม    วันนี้  เมื่อวาน    สะสม
                 น้ำ   อ่างฯ      น้ำ    อ่างฯ       น้ำ      อ่างฯ                1 พ.ย.                 1 พ.ย.
                                                                                 52                     52
ภูมิพล          6,773     50   5,740      43    1,940        14    0        0     546   27.5    31.5   3,838
สิริกิติ์          5,835     61   4,040      42    1,190        13  2.2     3.18     660  14.48   17.13   2,541
ภูมิพล+สิริกิติ์    12,608     55   9,780      43    3,130        14  2.2     3.18   1,206  41.98   48.63   6,379
ป่าสักชลสิทธิ์       459     48     375      39      372        39    0        0     223   4.67     4.7     670

อ่างเก็บน้ำที่อยู่ในเกณฑ์น้ำมากกว่าร้อยละ 80 ของความจุอ่างฯ จำนวน 1 อ่าง คือ ศรีนครินทร์(84)

อ่างเก็บน้ำที่อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯ จำนวน 3 อ่าง ได้แก่ แม่กวง (19) น้ำอูน (28) และทับเสลา (18)

สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำภาคตะวันออก

จังหวัดชลบุรี มีอ่างเก็บน้ำ 7 อ่าง รวมปริมาณน้ำ 84.3 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 47 ของความจุอ่างฯ ปริมาณน้ำใช้การได้ 69 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 39 ของความจุอ่างฯ

จังหวัดระยอง มีอ่างเก็บน้ำ 4 แห่ง รวมปริมาณน้ำ 386.6 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 74 ของความจุอ่างฯ ปริมาณน้ำใช้การได้ 358 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 68 ของความจุอ่างฯ

2. สภาพน้ำท่า

ภาคเหนือ แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยม และแม่น้ำน่าน ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แม่น้ำมูล ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย

ภาคกลาง แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำป่าสัก ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย

ภาคใต้ แม่น้ำท่าตะเภา แม่น้ำตาปี แม่น้ำโก-ลก ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย

3. คุณภาพน้ำ (ข้อมูล ณ วันที่ 12 มี.ค. 53)

กรมชลประทาน ติดตามตรวจสอบและเฝ้าระวังคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำ แม่กลอง ดังนี้

แม่น้ำ        จุดเฝ้าระวัง                            ค่า DO(mg/l)   ค่า Sal (g/l)    เกณฑ์
เจ้าพระยา    ท่าน้ำจังหวัดนนทบุรี                           1.63          0.19        ค่า DO ต่ำกว่าเกณฑ์
ท่าจีน        ที่ว่าการอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม           2.12          0.12        ปกติ
แม่กลอง      ปากคลองดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี             3.85          0.10        ปกติ

หมายเหตุ ค่า Do หมายถึง ค่าออกซิเจนละลายในน้ำ ไม่ต่ำกว่า 2 มิลลิกรัม/ลิตร

ค่า Sal หมายถึง ค่าความเค็มของน้ำ สำหรับการเกษตรไม่เกิน 2 กรัม/ลิตร

การจัดสรรน้ำและการปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2552/2553

แผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2552/2553 (วันที่ 1 พ.ย.52-30 เม.ย. 53) จำนวน 20,720 ล้าน ลบ.ม. (เพื่อการอุปโภคบริโภค 1,836 ล้าน ลบ.ม. รักษาระบบนิเวศน์และอื่นๆ 5,539 ล้าน ลบ.ม. เกษตรกรรม 13,176 ล้าน ลบ.ม. และอุตสาหกรรม 169 ล้าน ลบ.ม.) โดยจัดสรรน้ำในลุ่มเจ้าพระยา 8,000 ล้าน ลบ.ม. (เขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์ 6,000 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 400 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนป่าสักฯ 600 ล้าน ลบ.ม. และลุ่มน้ำแม่กลอง 1,000 ล้าน ลบ.ม.)

ผลการจัดสรรน้ำ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 52 ถึง 22 มี.ค.53 จัดสรรน้ำไปแล้ว 17,306 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 84 ของแผนการจัดสรรน้ำ ยังเหลือปริมาณน้ำที่ใช้ได้ตามแผน 3,414 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 16 ทั้งนี้ เฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันน้ำที่ใช้ตามแผนจัดสรรน้ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้หมดลงแล้ว ทั้งที่ฤดูแล้งยังเหลือเวลาอีกกว่า 1 เดือนเศษๆ จึงจำเป็นต้องดึงน้ำสำรองที่จะเก็บไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนมาใช้ โดย ณ วันที่ 22 มี.ค.53 มีการใช้น้ำไปแล้ว 8,364 ล้าน ลบ.ม. (เกินแผนที่กำหนดไว้ 364 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 105 ของแผนการจัดสรรน้ำในลุ่มเจ้าพระยา) หากในช่วงต้นฤดูฝนปีนี้ มีฝนตกในเกณฑ์น้อย จึงมีแนวโน้มที่จะเสี่ยงต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงระยะเวลาดังกล่าวได้ ดังนั้น การงดทำนาปรังครั้งที่ 2 และการร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด จึงเป็นแนวทางที่ดีที่สุดที่จะลดความรุนแรงจากปัญหาการขาดแคลนน้ำที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

คาดการณ์พื้นที่ปลูกพืชฤดูแล้งทั้งประเทศ ปี 2552/2553 จำนวน 12.28 ล้านไร่ แยกเป็น ข้าวนาปรัง 9.50 ล้านไร่ (ในเขตพื้นที่ชลประทาน 7.50 ล้านไร่ และนอกเขตพื้นที่ชลประทาน 2.00 ล้านไร่) พืชไร่ พืชผัก 2.78 ล้านไร่ (ในเขตพื้นที่ชลประทาน 0.78 ล้านไร่ และนอกเขตพื้นที่ชลประทาน 2.00 ล้านไร่) และมีแผนการจัดสรรน้ำให้พืชอื่นๆ เช่น ไม้ยืนต้น อ้อย บ่อปลา บ่อกุ้ง จำนวน 3.64 ล้านไร่ (ในเขตพื้นที่ชลประทาน)

ผลการปลูกพืชฤดูแล้ง ณ วันที่ 19 มี.ค. 53 พื้นที่ปลูกแล้วทั้งสิ้น จำนวน 16.35 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 133 ของพื้นที่คาดการณ์ แยกเป็น ข้าวนาปรัง 13.43 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 141 ของพื้นที่คาดการณ์ (ในเขตพื้นที่ชลประทาน 8.46 ล้านไร่ และนอกเขตพื้นที่ชลประทาน 4.97 ล้านไร่) พืชไร่ พืชผัก 2.92 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 105 ของพื้นที่คาดการณ์ (ในเขตพื้นที่ชลประทาน 0.60 ล้านไร่ และนอกเขตพื้นที่ชลประทาน 2.32 ล้านไร่)

พืชอื่นๆ จำนวน 3.84 ล้านไร่

การให้ความช่วยเหลือ

1. สนับสนุนเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ จำนวน 689 เครื่อง ในพื้นที่ 39 จังหวัด ดังนี้

ภาคเหนือ 15 จังหวัด จำนวน 239 เครื่อง ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ (37 เครื่อง) ลำพูน (10 เครื่อง) แม่ฮ่องสอน (18 เครื่อง) ลำปาง (28 เครื่อง) น่าน (10 เครื่อง) พะเยา (5 เครื่อง) เชียงราย (7 เครื่อง) พิษณุโลก (11 เครื่อง) พิจิตร (16 เครื่อง) นครสวรรค์ (18 เครื่อง) อุตรดิตถ์ (4 เครื่อง)ตาก (16 เครื่อง) สุโขทัย (16 เครื่อง) แพร่ (33 เครื่อง) และกำแพงเพชร (10 เครื่อง)

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10 จังหวัด จำนวน 246 เครื่อง ได้แก่ จังหวัดอุดรธานี (8 เครื่อง) หนองคาย (17 เครื่อง) หนองบัวลำภู (7 เครื่อง) เลย (6 เครื่อง) สกลนคร (14 เครื่อง) ขอนแก่น (15 เครื่อง) มหาสารคาม (26 เครื่อง) ร้อยเอ็ด (85 เครื่อง) กาฬสินธุ์ (58 เครื่อง) และชัยภูมิ (10 เครื่อง)

ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคตะวันตก 12 จังหวัด จำนวน 171 เครื่อง ได้แก่ จังหวัด นครนายก (12 เครื่อง) ปราจีนบุรี (29 เครื่อง) ฉะเชิงเทรา (22 เครื่อง) จันทบุรี (6 เครื่อง) ตราด (1 เครื่อง) เพชรบูรณ์ (6 เครื่อง) ชัยนาท (41 เครื่อง) ลพบุรี (25 เครื่อง) สิงห์บุรี (10 เครื่อง) สระบุรี (3 เครื่อง) พระนครศรีอยุธยา(9 เครื่อง) และอ่างทอง (7 เครื่อง)

ภาคใต้ 3 จังหวัด จำนวน 33 เครื่อง ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช (30 เครื่อง) กระบี่ (1 เครื่อง) พังงา (2 เครื่อง)

2. สนับสนุนรถบรรทุกน้ำ จำนวน 8 คัน ในพื้นที่ 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา (1 คัน) จันทบุรี (7 คัน)

3. การปฏิบัติการฝนหลวง สำนักฝนหลวงและการบินเกษตร มีแผนการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ ฝนหลวง จำนวน 5 ศูนย์ 7 หน่วย ได้แก่ ภาคเหนือ (เชียงใหม่ พิษณุโลก) ภาคกลาง (นครสวรรค์) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(ขอนแก่น นครราชสีมา) ภาคตะวันออก(ระยอง) และภาคใต้(อ.หัวหิน ประจวบคีรีขันธ์) โดยเริ่มตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง ประจำปี 2553 ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2553 เป็นต้นมา เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้ง และเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่าไม้ ซึ่งขณะนี้ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงแล้ว จำนวน 5 ศูนย์ (8 หน่วยปฏิบัติการ) ได้แก่

1) ศูนย์ฯ ภาคเหนือ (หน่วยฯ จังหวัดเชียงใหม่)

2) ศูนย์ฯ ภาคกลาง (หน่วยฯ จังหวัดนครสวรรค์)

3) ศูนย์ฯ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (หน่วยฯ จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดอุบลราชธานี)

4) ศูนย์ฯ ภาคตะวันออก (หน่วยฯจังหวัดระยอง และจังหวัดจันทบุรี)

5) ศูนย์ฯ ภาคใต้ (หน่วยฯหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดสุราษฎร์ธานี

ผลการปฏิบัติการฝนหลวงประจำสัปดาห์ ช่วงวันที่ 5 — 11 มีนาคม 2553 ขึ้นปฏิบัติการ จำนวน 4 วัน 47 เที่ยวบิน มีรายงานฝนตกในพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ ระยอง จันทบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตราด ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี และราชบุรี วัดปริมาณน้ำฝนได้ 0.2 — 29.1 มิลลิเมตร

ผลการปฏิบัติการฝนหลวงสะสม ช่วงวันที่ 25 มกราคม — 11 มีนาคม 2553 ขึ้นปฏิบัติการ จำนวน 15 วัน 107 เที่ยวบิน มีรายงานฝนตกในพื้นที่ 11 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ ระยอง จันทบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตราด ปราจีนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี และราชบุรี วัดปริมาณน้ำฝนได้ 0.2 — 30.3 มิลลิเมตร

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 มีนาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ