สรุปสถานการณ์ภัยแล้ง และการให้ความช่วยเหลือ (ข้อมูล ณ วันที่ 22 มีนาคม 2553)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 24, 2010 15:29 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปสถานการณ์ภัยแล้ง และการให้ความช่วยเหลือ (ข้อมูล ณ วันที่ 22 มีนาคม 2553) ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดหมายสภาวะอากาศในช่วงฤดูร้อนระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน 2553 ว่าจะมีอากาศร้อนอบอ้าวเกือบทั่วไป และอากาศร้อนจัดหลายพื้นที่บริเวณประเทศไทยตอนบน ส่วนมากในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยตลอดช่วงจะสูงกว่าค่าปกติ และสูงกว่าปีที่ผ่านมา มีปริมาณฝนตกน้อย โดยปริมาณฝนในช่วงฤดูร้อนนี้จะต่ำกว่าค่าปกติเล็กน้อย รวมทั้งผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้หลายพื้นที่ของประเทศไทย ต้องประสบกับความแห้งแล้ง เป็นเหตุให้ราษฎรขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค รวมทั้งน้ำเพื่อการเกษตร โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณนอกเขตชลประทาน ซึ่งขณะนี้ทุกหน่วยงานได้ระดมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยกระทรวงมหาดไทย ได้สรุปสถานการณ์ภัยแล้ง และการให้ความช่วยเหลือ รายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบอย่างต่อเนื่องแล้ว นั้น

กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ติดตามสถานการณ์ ภัยแล้งที่เกิดขึ้น (ข้อมูล ณ วันที่ 22 มีนาคม 2553) จึงขอสรุปสถานการณ์ดังกล่าว รวมทั้งผลการปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชน ดังนี้

1. สรุปสถานการณ์ภัยแล้ง และการให้ความช่วยเหลือ (ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2552 - 22 มีนาคม 2553)

1.1 พื้นที่ประสบภัย 52 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ตาก นครสวรรค์ น่าน พะเยา พิจิตร พิษณุโลก แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน สุโขทัย อุตรดิตถ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ บุรีรัมย์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด เลย หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี อุบลราชธานี นครพนม นครราชสีมา ยโสธร สกลนคร สุรินทร์ กาญจนบุรี ชัยนาท นครปฐม ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ตราด นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ระยอง ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช ระนอง สตูล สุราษฎร์ธานี และจังหวัดกระบี่ รวม 382 อำเภอ 2,499 ตำบล 19,704 หมู่บ้าน แยกเป็น

ข้อมูลหมู่บ้านที่ประสบภัยแล้งปี 2553 (ณ วันที่ 22 มีนาคม 2553)

ที่                         พื้นที่ประสบภัย                                                       ราษฎรประสบภัย
   ภาค       จังหวัด     อำเภอ     ตำบล      หมู่บ้าน     รายชื่อจังหวัด                           คน      ครัวเรือน
1  เหนือ         15       135      843      6,764     กำแพงเพชร เชียงราย ตาก         1,680,925      532,056
                                                     น่าน นครสวรรค์ พะเยา พิจิตร
                                                     แพร่ ลำปาง ลำพูน สุโขทัย
                                                     อุตรดิตถ์ เชียงใหม่ พิษณุโลก
                                                     แม่ฮ่องสอน
2  ตะวันออก      15       148    1,112      9,739     ขอนแก่น บุรีรัมย์ เลย              3,648,451      950,925
   เฉียงเหนือ                                          หนองบัวลำภู อุดรธานี อุบลราชธานี
                                                     ชัยภูมิ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด หนองคาย
                                                     นครพนม นครราชสีมา ยโสธร
                                                     สกลนคร สุรินทร์
3  กลาง          8        28      171      1,180     กาญจนบุรี ชัยนาท นครปฐม            353,516      107,000
                                                     ประจวบคีรีขันธ์  เพชรบุรี ราชบุรี
                                                     ลพบุรี สุพรรณบุรี
4  ตะวันออก       7        36      191      1,083     จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ตราด            582,478      109,914
                                                     นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ระยอง
5  ใต้            7        35      182        938     ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช ระนอง     217,234       55,205
                                                     สตูล สุราษฎร์ธานี กระบี่
รวมทั้งประเทศ     52       382    2,499     19,704                                   6,482,604    1,755,100

ตารางเปรียบเทียบข้อมูลหมู่บ้านที่ประสบภัยแล้งในรอบ 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา

ที่ ภาค         จำนวนหมู่บ้าน       26 ก.พ. 2553        8 มี.ค. 2553        15 มี.ค. 2553        22 มี.ค. 2553
                ทั้งหมด          หมู่     + เพิ่ม       หมู่       + เพิ่ม      หมู่       + เพิ่ม      หมู่      + เพิ่ม
                              บ้าน     - ลด       บ้าน       - ลด      บ้าน       - ลด      บ้าน      - ลด
1 เหนือ         16,590       4,388       603    5,310         922   5,926         616   6,764        838
2 ตะวันออก      33,099       4,827     2,459    6,525       1,698   8,720       2,195   9,739      1,019
  เฉียงเหนือ
3 กลาง         11,736         680        36      902         222     998          96   1,180        182
4 ตะวันออก       4,859         742       341      792          50   1,034         242   1,083         49
5 ใต้            8,660         363        67      446          83     687         241     938        251
  รวม          74,944      11,000     3,506   13,975       2,975  17,365       3,390  19,704      2,339

ตารางเปรียบเทียบข้อมูลหมู่บ้านที่ประสบภัยแล้งปี 2553 กับปี 2552 ในห้วงเวลาเดียวกัน

ที่   ภาค      จำนวนหมู่บ้าน              ข้อมูลปี  2553               ข้อมูลปี  2552             เปรียบเทียบข้อมูลภัย
               ทั้งประเทศ        (ณ วันที่ 22 มีนาคม 2553)      (ณ วันที่ 22 มีนาคม 2552)       แล้ง ปี 2553 กับปี 2552
                                หมู่บ้าน     คิดเป็นร้อยละ       หมู่บ้าน     คิดเป็นร้อยละ       จำนวน    คิดเป็นร้อยละ
                               ที่ประสบ    (ของหมู่บ้านทั้ง      ที่ประสบ    (ของหมู่บ้านทั้ง       หมู่บ้าน     ของหมู่บ้านที่
                                ภัยแล้ง        ประเทศ)       ภัยแล้ง      ทั้งประเทศ)      + เพิ่ม/    ประสบภัยแล้ง
                                                                                       - ลด        ปี 2552
1   เหนือ         16,590         6,764          40.77       5,433          32.75       1,331          24.5
2   ตะวันออก      33,099         9,739          29.42       9,721          29.37          18          0.19
    เฉียงเหนือ
3   กลาง         11,736         1,180          10.06       1,073           9.14         107          9.97
4   ตะวันออก       4,859         1,083          22.29         861          17.72         222         25.78
5   ใต้            8,660           938          10.83         438           5.06         500        114.16
    รวม          74,944        19,704          26.29      17,526          23.39       2,178         12.43

ปี 2553 มีจังหวัดที่ประสบภัยแล้ง 52 จังหวัด 382 อำเภอ 2,499 ตำบล 19,704 หมู่บ้าน (คิดเป็นร้อยละ 37.78 ของหมู่บ้านทั้งหมดในจังหวัดที่ประสบภัยแล้ง 52,860 หมู่บ้าน และร้อยละ 26.29 ของหมู่บ้านทั้งประเทศ 74,944 หมู่บ้าน)

เปรียบเทียบช่วงเวลาเดียวกันของปี 2552 มีจังหวัดที่ประสบภัยแล้ง รวม 49 จังหวัด 462 อำเภอ 2,291 ตำบล 17,526 หมู่บ้าน (คิดเป็นร้อยละ 30.65 ของหมู่บ้านทั้งหมดใน 49 จังหวัด ที่ประสบภัยแล้ง และคิดเป็นร้อยละ 23.39 ของหมู่บ้านทั้งประเทศ 74,944 หมู่บ้าน)

ปี 2553 หมู่บ้านที่ประสบภัยแล้ง มากกว่า ปี 2552 จำนวน 2,178 หมู่บ้าน หรือ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.43

1.2 ความเสียหาย

  • ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 6,482,604 คน 1,755,100 ครัวเรือน
  • พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหาย รวม 147,482 ไร่ แยกเป็น พืชไร่ 118,310 ไร่ นาข้าว 14,940 ไร่ พืชสวนและอื่นๆ 14,232 ไร่

1.3 การให้ความช่วยเหลือ

1) ใช้รถบรรทุกน้ำ 562 คัน แจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภคแล้ว จำนวน 78,326,990 ลิตร

2) ซ่อมสร้างทำนบ/ฝายชั่วคราวปิดกั้นลำน้ำ 3,645 แห่ง

3) ขุดลอกแหล่งน้ำ 3,985 แห่ง

4) งบประมาณดำเนินการใช้จ่ายไปแล้ว 318,739,492 บาท แยกเป็น

  • งบทดรองราชการของจังหวัด (งบ 50 ล้านบาท) 232,388,810 บาท
  • งบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 83,149,353 บาท (ข้อมูลกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น)
  • งบอื่น ๆ 3,201,329 บาท

5) กรมชลประทาน ได้จัดส่งเครื่องสูบน้ำ 689 เครื่อง ไปให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ 40 จังหวัด โดยแยกเป็นรายภาค ดังนี้ ภาคเหนือ 239 เครื่อง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 246 เครื่อง ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก 171 เครื่อง ภาคใต้ 33 เครื่อง และรถบรรทุกน้ำ 8 คัน

2. พายุฤดูร้อน ระหว่างวันที่ 16-17 มีนาคม 2553 ได้เกิดพายุฤดูร้อน ฝนฟ้าคะนองลมกระโชกแรง ในหลายพื้นที่ ทำให้ได้รับความเสียหายใน 4 จังหวัด 6 อำเภอ 9 ตำบล 38 หมู่บ้านราษฎรได้รับความเดือดร้อน 246 ครัวเรือน ดังนี้

2.1 จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2553 เวลาประมาณ 15.50 น. เกิดพายุฤดูร้อน สภาวะอากาศแปรปรวน ฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรง ในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอฟากท่า 1 ตำบล (ตำบลฟากท่า หมู่ที่ 2,3,4,7,10,11) และอำเภอน้ำปาด 2 ตำบล (ตำบลน้ำไผ่ หมู่ที่ 1-6,8 และตำบลห้วยมุ่น หมู่ที่ 5,6)รวม 2 อำเภอ 3 ตำบล 15 หมู่บ้าน บ้านเรือนราษฎรได้รับความเสียหายบางส่วน 82 หลัง กุฏิวัด 1 หลัง และสิ่งสาธารณประโยชน์อื่นๆ

2.2 จังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2553 เวลาประมาณ 20.00 น. เกิดพายุฤดูร้อน สภาวะอากาศแปรปรวน ฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรง ในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเขาค้อ 1 ตำบล (ตำบลเขาค้อ หมู่ที่ 8) อำเภอวิเชียรบุรี 2 ตำบล (ตำบลบึงกระจับ หมู่ที่ 1-5,10 และตำบลซับน้อย หมู่ที่ 10) รวม 2 อำเภอ 3 ตำบล 8 หมู่บ้าน บ้านเรือนราษฎรได้รับความเสียหายบางส่วน 58 หลัง และสิ่งสาธารณประโยชน์อื่นๆ

2.3 จังหวัดลพบุรี เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2553 เวลาประมาณ 17.30 น. เกิดพายุฤดูร้อน สภาวะอากาศแปรปรวน ฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรง ที่อำเภอเมือง 2 ตำบล (ตำบลโคกตูม หมู่ที่ 4,6-10,12-16 และตำบลนิคมสร้างตนเอง หมู่ที่ 10) รวม 1 อำเภอ 2 ตำบล 12 หมู่บ้าน บ้านเรือนราษฎรได้รับความเสียหายบางส่วน 92 หลัง

2.4 จังหวัดอ่างทอง เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2553 เวลาประมาณ 16.30 น. เกิดพายุฤดูร้อน สภาวะอากาศแปรปรวนฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรง ที่อำเภอเมือง 1 ตำบล (ตำบลบ้านแห หมู่ที่ 4-6) รวม 1 อำเภอ 1 ตำบล 3 หมู่บ้าน บ้านเรือนราษฎรได้รับความเสียหายบางส่วน 14 หลัง

การให้ความช่วยเหลือ จังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยเบื้องต้น และเร่งสำรวจเพื่อให้ความช่วยเหลือเป็นค่าวัสดุซ่อมแซมบ้านเรือนราษฎรที่ได้รับความเสียหาย ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการฯ ต่อไป

3. การคาดหมายลักษณะอากาศระหว่างวันที่ 22 - 27 มีนาคม 2553

3.1 กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายลักษณะอากาศว่า ในช่วงวันที่ 22-23 มีนาคม 2553 ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคกลางและภาคตะวันออก ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนขึ้นกับมีฟ้าหลัว ในตอนกลางวัน จากนั้นในช่วงวันที่ 24-27 มีนาคม 2553 บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนอีกระลอกหนึ่งจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยและทะเลจีนใต้ ทำให้บริเวณประเทศไทยมีพายุฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรงเกิดขึ้นได้ ส่วนภาคใต้จะมีฝนเพิ่มมากขึ้น และคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น

3.2 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ไว้ให้พร้อม เพื่อสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันต่อเหตุการณ์เมื่อเกิดสาธารณภัยขึ้น

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 มีนาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ