การจัดสถานะประเทศไทยตามกฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ ประจำปี 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 4, 2010 14:50 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบการจัดสถานะประเทศไทยตามกฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ ประจำปี 2553 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้

1. ภูมิหลัง

กฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ (Special 301) ได้กำหนดให้สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (United States Trade Representative — USTR) ประเมินสถานะการคุ้มครอง และการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศคู่ค้าสหรัฐฯ เป็นประจำทุกปี โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

(1) ประเทศที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญามากที่สุด (Priority Foreign Country - PFC)

(2) ประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (Priority Watch List - PWL)

(3) ประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List — WL)

สหรัฐฯ เคยจัดไทยไว้ในบัญชี PWL ในปี 2535-2536 ก่อนจะปรับเป็น WL ในปี 2537-2549 และปรับลดเป็น PWL ตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน

2. ผลการจัดอันดับประจำปี 2553

2.1 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2553 สหรัฐฯ ได้ประกาศผลการจัดสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทย ตามกฎหมายการค้าสหรัฐฯ ประจำปี 2553 โดยยังคงไทยเป็นประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (Priority Watch List - PWL) เช่นเดียวกับปี 2550-2552 เนื่องจากเห็นว่าไทยยังมีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่สีแดง คือ พันธุ์ทิพย์ คลองถม มาบุญครอง และสุขุมวิท แม้ว่าสหรัฐฯ จะได้รับความมั่นใจจากความพยายามดำเนินการยกระดับสถานการณ์ด้านทรัพย์สินทางปัญญาของรัฐบาลไทย ภายใต้การบริหารงานของนายกรัฐมนตรีที่ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน คณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ที่มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน รวมทั้งการ จัดทำแผนเร่งรัดการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา การแก้ไขกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้อง และการสร้างความตระหนักให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการคุ้มครอง และเคารพสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา

2.2 สหรัฐฯ ยังระบุด้วยว่า หวังว่ารัฐบาลไทยจะให้ความสำคัญกับการหารือกับเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาในสินค้ายา และดำเนินการด้วยความโปร่งใส เพื่อร่วมกันหาทางออกในการแก้ไขปัญหาการเข้าถึงยาของ ประชาชนไทย โดยวิธีการที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการคุ้มครองสิทธิบัตร การวิจัยและพัฒนา และการสร้างสรรค์ยาชนิดใหม่ อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ ยืนยันว่าตระหนักดีถึงสิทธิของไทยในฐานะสมาชิก WTO ที่จะใช้มาตรการยืดหยุ่นตามที่ระบุไว้ในความตกลง TRIPS

2.3 ในปี 2553 มีประเทศที่ถูกจัดเป็น PWL จำนวน 11 ประเทศ คือ จีน รัสเซีย อัลจีเรีย อาร์เจนตินา แคนาดา ชิลี อินเดีย อินโดนีเซีย ปากีสถาน เวเนซูเอลา และไทย โดยที่ไม่มีประเทศใดที่ถูกจัดเป็น PWL ในปี 2552 ได้รับการปลดจาก PWL ในปีนี้ สำหรับประเทศที่ถูกจัดเป็นประเทศที่ต้องจับตามอง (WL) มี 29 ประเทศ เช่น บรูไน ฟิลิปปินส์ เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย เม็กซิโก บราซิล เป็นต้น มีประเทศที่ได้รับการปลดจาก WL และไม่อยู่ในบัญชีใด ๆ เลย 3 ประเทศ คือ สาธารณรัฐเชค ฮังการี และโปแลนด์ และมีประเทศที่ได้รับสิทธิทบทวนสถานะนอกรอบ (OCR) 2 ประเทศ คือ ฟิลิปปินส์ และไทย

3. ข้อคิดเห็น

3.1 การจัดอันดับไทยตามกฎหมายการค้ามาตรา 301 พิเศษ เป็นมาตรการฝ่ายเดียวที่สหรัฐฯ ใช้กดดันให้ไทยปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของอุตสาหกรรมสหรัฐฯ โดยใช้ข้อมูลจากภาคเอกชนสหรัฐฯ เป็นหลัก ไม่ได้นำข้อมูลความคืบหน้าการดำเนินการที่สำคัญของไทย เช่น ความคืบหน้าการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์หนังสือตำราเรียน การแก้ไขกฎหมายเพื่อเอาผิดเจ้าของพื้นที่ขาย ผลิต และเก็บรักษาสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และการยกร่างกฎหมายป้องกันการแอบถ่ายในโรงภาพยนตร์ ที่ขณะนี้มีความคืบหน้าไปอย่างมากมาประกอบการพิจารณา จัดอันดับไทย รวมทั้งยังไม่ได้ใช้ความเห็นของ International Intellectual Property Alliance (IIPA) ซึ่งเป็นภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯ ตลอดจนสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ หลายท่าน ที่เห็นว่าไทยมีความคืบหน้าในการพัฒนาระบบการคุ้มครองและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และสมควรได้รับการปลดจาก PWL มาประกอบการพิจารณาแต่อย่างใด

3.2 อย่างไรก็ดี การที่สหรัฐฯ ให้สิทธิการทบทวนสถานะนอกรอบ (OCR) กับไทย ถือเป็นสัญญาณที่ดีว่าสหรัฐฯ ตระหนักถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา และพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์ และเครื่องหมายการค้า เพื่อเอาผิดเจ้าของพื้นที่ขาย ผลิต และเก็บรักษาสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งรวมถึงพื้นที่บน cyber space และการตรากฎหมายป้องกันและปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์โดยการแอบถ่ายในโรงภาพยนตร์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงพาณิชย์ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความ เห็นชอบโดยเร็วต่อไป อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์จะได้มีหนังสือสอบถามสาเหตุที่แท้จริงเกี่ยวกับการจัดอันดับไทยในครั้งนี้จาก USTR ต่อไป

3.3 ขณะนี้ไทยอยู่ระหว่างการยื่นขอให้สหรัฐฯ พิจารณาผ่อนผัน GSP สินค้า 10 รายการ เช่น เครื่องประดับเงิน ดอกกล้วยไม้สด ทุเรียนสด มะละกอตากแห้ง มะขามตากแห้ง เป็นต้น และขอคืนสิทธิ GSP สินค้า 7 รายการ คือ แป้งและธัญพืช เม็ดพลาสติก และกระเบื้องปูพื้นและผนัง ซึ่งเชื่อว่าผลการจัดอันดับประเทศไทยตามกฎหมายการค้ามาตรา 301 ในครั้งนี้ จะไม่ส่งผลกระทบต่อการพิจารณาสิทธิ GSP ของสหรัฐฯ ต่อสินค้าไทยแต่อย่างใด

3.4 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ และประธานคณะอนุกรรมการด้านการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการปราบปรามละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งดำเนินการตามแผนเร่งรัดการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาต่อไป และจะส่งข้อมูลความคืบหน้าในการดำเนินการแก่สำนักงานผู้แทนการค้า และภาคเอกชนสหรัฐฯ ทราบเป็นระยะ ซึ่งน่าจะช่วยสร้างความเข้าใจที่ดีขึ้น และส่งผลให้ไทยได้รับการจัดอันดับที่ดีขึ้นในการประเมินสถานะไทยนอกรอบในช่วงปลายปี 2553 นี้

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 มิถุนายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ