สรุปสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตรปี 2553 ครั้งที่ 15

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 4, 2010 16:02 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สรุปสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตรปี 2553 ครั้งที่ 15 ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2553 ประกอบด้วย สถานการณ์น้ำ การเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2552/2553 และการดำเนินการตามแผนเตรียมรับสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตรปี 2553 สรุปได้ดังนี้

สถานการณ์น้ำ ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2553

1. สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ

สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศ (31 พฤษภาคม 2553) มีปริมาณน้ำทั้งหมด 35,185 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 48 ของความจุอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งหมด (ปริมาณน้ำใช้การได้ 11,340 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 15 ของความจุอ่างฯ)น้อยกว่าปี 2552 (40,922 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 56) จำนวน 5,737 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 8 ของความจุอ่างฯ

ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2553 มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 32.5 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำระบาย 80.7 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถรับน้ำได้อีก 36,041 ล้านลูกบาศก์เมตร

สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ และป่าสักชลสิทธิ์

หน่วย : ล้าน ลบ.ม.

อ่างเก็บน้ำ       ปริมาตรน้ำ     ปริมาตรน้ำ    ปริมาตรน้ำใช้การได้  ปริมาตรน้ำไหลลงอ่างฯ   ปริมาณน้ำระบาย  ปริมาณน้ำรับได้อีก
              ในอ่างฯ ปี52   ในอ่างฯ ปี53
           ปริมาตรน้ำ    %  ปริมาตรน้ำ   %   ปริมาตรน้ำ   %       วันนี้   เมื่อวาน      วันนี้  เมื่อวาน
ภูมิพล          5,436   40     4,336  32        536   4         0        0       12      12       9,126
สิริกิติ์          4,301   45     3,431  36        581   6      3.22     3.46     8.05     8.3       6,079
ภูมิพล+สิริกิติ์     9,737   43     7,767  34      1,117   5      3.22     3.46    20.05    20.3      15,205
ป่าสักชลสิทธิ์       369   38        88   9         85   9      1.25     0.41     1.07    1.07         872

อ่างเก็บน้ำที่อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯ จำนวน 13 อ่าง ได้แก่ แม่งัด(28) แม่กวง(14) แควน้อย(18) ห้วยหลวง(24) น้ำอูน(23) อุบลรัตน์(25) ลำปาว(29) มูลบน(25) ป่าสักฯ(9) ทับเสลา(17) กระเสียว(29) ขุนด่านฯ(8) และคลองสียัด(18)

สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำภาคตะวันออก

จังหวัดชลบุรี มีอ่างเก็บน้ำ 7 อ่าง รวมปริมาณน้ำ 74.5 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 42 ของความจุอ่างฯ (น้อยกว่าปี 2552 จำนวน 11.8 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 6) ปริมาณน้ำใช้การได้ 59 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 33 ของความจุอ่างฯ

จังหวัดระยอง มีอ่างเก็บน้ำ 4 แห่ง รวมปริมาณน้ำ 338.0 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 65 ของความจุอ่างฯ (น้อยกว่าปี 2552 จำนวน 52.7 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 10) ปริมาณน้ำใช้การได้ 309 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 59 ของความจุอ่างฯ

2. สภาพน้ำท่า

ภาคเหนือ แม่น้ำปิง ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ แม่น้ำวัง แม่น้ำยม และแม่น้ำน่าน ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แม่น้ำมูล ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย

ภาคกลาง แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำป่าสัก ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย

ภาคใต้ แม่น้ำท่าตะเภา แม่น้ำตาปี แม่น้ำโก-ลก ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย

3. คุณภาพน้ำ

กรมชลประทาน ติดตามตรวจสอบและเฝ้าระวังคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง ดังนี้

แม่น้ำ        จุดเฝ้าระวัง                    ข้อมูลวันที่     ค่า DO(mg/l)    ค่า Sal (g/l)      เกณฑ์
                                                                   ค่าสูงสุด      เวลา
เจ้าพระยา    ท่าน้ำจังหวัดนนทบุรี            21 พ.ค. 53        3.32         2.25      13.5   ค่า Sal สูงกว่าเกณฑ์
เจ้าพระยา    ปากเกร็ด* จังหวัดนนทบุรี       31 พ.ค. 53           -         1.06  03.00 น.   ปกติ
            ปากคลองสำแล *             31 พ.ค. 53           -         0.13  03.00 น.   ปกติ
            จังหวัดปทุมธานี
ท่าจีน        ที่ว่าการอำเภอสามพราน         6 พ.ค. 53        1.21         0.13         -   ค่า DO ต่ำกว่าเกณฑ์
            จังหวัดนครปฐม
แม่กลอง      ปากคลองดำเนินสะดวก         21 พ.ค. 53        4.19          0.1  00.10 น.    ปกติ
            จังหวัดราชบุรี
หมายเหตุ ค่า Do หมายถึง ค่าออกซิเจนละลายในน้ำ ไม่ต่ำกว่า 2 มิลลิกรัม/ลิตร
ค่า Sal หมายถึง ค่าความเค็มของน้ำ สำหรับการเกษตรไม่เกิน 2 กรัม/ลิตร
  • สถานีวัดค่าอัตโนมัติ

การจัดสรรน้ำและการปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2552/2553

ผลการจัดสรรน้ำ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 52 ถึง 30 เม.ย.53 (สิ้นสุดฤดูแล้งแล้ว) ปรากฏว่า จัดสรรน้ำไปแล้วจำนวน 22,417 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 108 ของแผนการจัดสรรน้ำ (เกินแผนที่กำหนดไว้ 1,697 ล้าน ลบ.ม.) ส่วนในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา ณ วันที่ 30 เม.ย.53 มีการใช้น้ำไปแล้ว 10,339 ล้าน ลบ.ม. (เกินแผนที่กำหนดไว้ 2,339 ล้าน ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 129 ของแผนการจัดสรรน้ำ

ผลการปลูกพืชฤดูแล้ง ณ วันที่ 14 พ.ค. 53 พื้นที่ปลูกแล้วทั้งสิ้น จำนวน 19.77 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 161 ของพื้นที่คาดการณ์ แยกเป็น ข้าวนาปรัง 16.81 ล้านไร่ พืชไร่ พืชผัก 2.96 ล้านไร่ โดยเก็บเกี่ยวแล้ว 10.37 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 53 ของพื้นที่ปลูกจริง แบ่งเป็น ข้าวนาปรัง 9.26 ล้านไร่ พืชไร่-พืชผัก 1.11 ล้านไร่

การดำเนินการตามแผนเตรียมสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร

ภัยแล้ง

ก่อนเกิดภัย ได้แจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ ให้เกษตรกรรับทราบสถานการณ์ภัยแล้งที่คาดว่าจะเกิดขึ้น และเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาล่วงหน้า ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2552 เป็นต้นมา โดยแจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ ได้แก่ สื่อสิ่งพิมพ์ 52 ครั้ง สื่อวิทยุ 42 ครั้ง และสื่อโทรทัศน์ 4 ครั้ง

ขณะเกิดภัย

1. การแจ้งเตือนผ่านสื่อต่างๆ ได้แก่ หนังสือพิมพ์ 4 ครั้ง สปอตวิทยุ 122 ครั้ง และสปอตโทรทัศน์ เรื่อง รณรงค์ให้เกษตรกรในเขตเจ้าพระยางดการปลูกข้าวนาปรัง ครั้งที่ 2 การปลูกพืชอายุสั้นใช้น้ำน้อยทดแทนข้าวนาปรัง การใช้น้ำอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ และสถานการณ์น้ำ

2. การจัดสรรน้ำ ได้ระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ณ วันที่ 30 เม.ย. 53 จำนวน 22,417 ล้าน ลบ.ม. (จากแผน 20,720 ล้าน ลบ.ม.) เพื่อสนับสนุนเกษตรกรปลูกพืชฤดูแล้งในพื้นที่เขตชลประทาน จำนวน 14.91 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวนาปรัง 10.44 ล้านไร่ พืชไร่-พืชผัก 0.62 ล้านไร่ และพืชอื่นๆ 3.85 ล้านไร่

3. การปฏิบัติการฝนหลวง ได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาค เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ภัยแล้งปี 2553 ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2553 เป็นต้นมา จำนวน 5 ศูนย์ ประจำภาคต่างๆ และได้ส่งเครื่องบิน จำนวน 21 ลำ ไปตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงแล้ว จำนวน 11 หน่วย ได้แก่ หน่วยเชียงใหม่ พิษณุโลก ลพบุรี กาญจนบุรี ขอนแก่น อุบลราชธานี นครราชสีมา ระยอง จันทบุรี ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน) และสุราษฎร์ธานี และฐานเติมสารฝนหลวง จำนวน 5 ฐาน ได้แก่ จังหวัดตาก นครสวรรค์ สระแก้ว ราชบุรี นครศรีธรรมราช

ผลการปฏิบัติการฝนหลวงประจำสัปดาห์ ช่วงวันที่ 21-27 พฤษภาคม 2553 ขึ้นปฏิบัติการ จำนวน 178 เที่ยวบิน มีจังหวัดที่มีรายงานฝนตก 60 จังหวัด วัดปริมาณน้ำฝนสูงสุดได้ 250.0 มิลลิเมตร ที่อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี

ผลการปฏิบัติการฝนหลวงสะสม ช่วงวันที่ 25 มกราคม - 27 พฤษภาคม 2553 ขึ้นปฏิบัติการ รวม 90 วัน จำนวน 2,374 เที่ยวบิน มีรายงานฝนตกในปฏิบัติการ รวม 79 วัน จำนวน 609 สถานี วัดปริมาณน้ำฝนรายวันสูงสุดได้ 250.0 มิลลิเมตร จังหวัดที่มีรายงานฝนตกรวม 63 จังหวัด จากจำนวนจังหวัดที่อยู่ในเป้าหมายทั้งหมด 70 จังหวัด

4. สนับสนุนเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ เพื่อช่วยเหลือการปลูกพืชฤดูแล้ง การอุปโภค-บริโภค ทั่วประเทศ ทั้งในพื้นที่เขตชลประทานและนอกพื้นที่เขตชลประทาน จำนวน 849 เครื่อง (เตรียมการไว้ 1,200 เครื่อง) ในพื้นที่ 46 จังหวัด แยกเป็น ภาคเหนือ 16 จังหวัด จำนวน 277 เครื่อง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10 จังหวัด จำนวน 249 เครื่อง ภาคกลาง 6 จังหวัด จำนวน 157 เครื่อง ภาคตะวันออก 5 จังหวัด จำนวน 84 เครื่อง และภาคใต้ 9 จังหวัด จำนวน 82 เครื่อง

5. สนับสนุนรถบรรทุกน้ำ เพื่อช่วยเหลือการอุปโภค-บริโภคและการเกษตร จำนวน 33 คัน 3,628 เที่ยว ปริมาณน้ำ 21,768,000 ลิตร ในพื้นที่ 11 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพิจิตร มหาสารคาม สุรินทร์ เพชรบุรี ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ระยอง ตราด พังงา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี

6. การสนับสนุนเสบียงสัตว์

ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2553 สนับสนุนแล้ว 171.62 ตัน จากที่สำรองไว้เพื่อช่วยเหลือภัยธรรมชาติ จำนวน 4,720 ตัน

7. การประเมินความเสียหายเบื้องต้น

ด้านพืช ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2553

พื้นที่การเกษตรประสบภัยทั้งสิ้น 39 จังหวัด จำนวน 1,783,176 ไร่ แบ่งเป็น

ช่วงที่ 1 (วันที่ 15 ธ.ค.52 ถึง 31 ม.ค.53) จำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย น่าน แพร่ สุโขทัย คาดว่าจะเสียหาย 113,860 ไร่

                ช่วงที่ 2 (วันที่ 1 ก.พ. ถึง 21 พ.ค. 53) จำนวน 39 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน แพร่ พะเยา พิจิตร ลำปาง สุโขทัย อุตรดิตถ์ อุทัยธานี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม บุรีรัมย์ มุกดาหาร ยโสธร เลย ศรีสะเกษ           หนองบัวลำภู หนองคาย ร้อยเอ็ด สกลนคร อุบลราชธานี อำนาจเจริญ อุดรธานี สระบุรี ชัยนาท กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ กระบี่ ระนอง ตรัง สตูล สุราษฎร์ธานี คาดว่าจะเสียหาย 1,669,316 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 126,927 ไร่ พืชไร่ 1,130,608 ไร่  พืชสวนและอื่นๆ 411,781 ไร่

ด้านปศุสัตว์ ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2553

พื้นที่ประสบภัย 11 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร แม่ฮ่องสอน ลำปาง น่าน สุโขทัย อุทัยธานี มุกดาหาร ตราด เพชรบุรี ชุมพร และตรัง เกษตรกร 1,325 ราย สัตว์ที่ได้รับผลกระทบ 13,165 ตัว แบ่งเป็น โค 11,956 ตัว กระบือ 366 ตัว แพะ 843 ตัว แปลงหญ้า 228 ไร่

ด้านประมง ไม่มีรายงานพื้นที่ได้รับผลกระทบ

หลังเกิดภัย

การช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเป็นเงิน

ช่วงที่ 1 ช่วงภัย วันที่ 15 ธ.ค. 52 ถึง 31 ม.ค. 53 สำรวจแล้วมีพื้นที่เสียหายเพียง 2 จังหวัด คือ จังหวัดจังหวัดเชียงรายและจังหวัดน่าน เกษตรกร 4,131 ราย พื้นที่เสียหาย 23,577 ไร่ เป็นเงิน 19,771,224 ล้านบาท ช่วยเหลือเสร็จสิ้นแล้ว

ช่วงที่ 2 ช่วงภัย วันที่ 1 ก.พ. ถึง 21 พ.ค. 53

  • สำรวจเสร็จเรียบร้อยแล้วและอยู่ระหว่างให้ความช่วยเหลือ 12 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ แพร่ ลำปาง อุทัยธานี นครพนม หนองคาย ร้อยเอ็ด เลย กาญจนบุรี กระบี่ เกษตรกร 28,559 ราย พื้นที่ 116,317 ไร่ วงเงิน 92,552,831 บาท แบ่งเป็น ช่วยเหลือด้วยงบจากท้องถิ่น 1 จังหวัด คือ จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 108,434 บาท เงินทดรองราชการในอำนาจนายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัด 5 จังหวัด คือ จังหวัดแพร่ ลำปาง นครพนม ร้อยเอ็ด กระบี่ จำนวน 12,226,208 บาท และอยู่ระหว่างรอเอกสารเพื่อจะของบกลาง 6 จังหวัด คือ จังหวัดเชียงราย อุตรดิตถ์ อุทัยธานี หนองคาย เลย กาญจนบุรี จำนวน 80,218,189 บาท
  • อยู่ระหว่างดำเนินการสำรวจความเสียหาย 26 จังหวัด ได้แก่ ตาก พะเยา พิจิตร น่าน สุโขทัย กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ บุรีรัมย์ มุกดาหาร ยโสธร ศรีสะเกษ หนองบัวลำภู สกลนคร อุบลราชธานี อำนาจเจริญ อุดรธานี ชัยนาท สุพรรณบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง สตูล สุราษฎร์ธานี และตรัง
  • ไม่มีพื้นที่การเกษตรเสียหาย 1 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสระบุรี

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 มิถุนายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ