รายงานผลการประชุมรัฐมนตรีด้านพลังงานภายใต้กรอบความร่วมมือ BIMSTEC ครั้งที่ 2

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 16, 2010 16:16 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบและอนุมัติตามที่กระทรวงพลังงานเสนอดังนี้

1. รับทราบรายงานผลการประชุมรัฐมนตรีด้านพลังงานภายใต้กรอบความร่วมมือ BIMSTEC ครั้งที่ 2 (The 2nd BIMSTEC Ministers on Energy’s Meeting) ที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 4 - 5 มีนาคม 2553

2. ยืนยันการอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายอำนาจจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นผู้ลงนามในบันทึกข้อตกลงเพื่อการจัดตั้งศูนย์พลังงาน BIMSTEC ในโอกาสแรกที่เป็นไปได้โดยประสานกับกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ต่อไป

3. อนุมัติให้ พน. ร่วมกับ กต. สามารถพิจารณาปรับปรุงถ้อยคำเล็กน้อยในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญของร่างบันทึกข้อตกลงเพื่อการจัดตั้งศูนย์พลังงาน BIMSTEC ได้ตามความเหมาะสมโดยให้สอดคล้องกับร่างบันทึกข้อตกลงฯ ที่เคยได้รับความเห็นชอบในหลักการจากคณะรัฐมนตรี (เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2552) และจากรัฐสภา (เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2552) ไว้ด้วย ก่อนที่จะมีการลงนามโดยผู้แทนของประเทศสมาชิกทั้ง 7 ประเทศของ BIMSTEC

โดยให้กระทรวงพลังงานรับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่เห็นควรให้กระทรวงพลังงานเร่งรัดการดำเนินการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคด้านเชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuels Hub) ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงพลังงาน (พน.) รายงานว่า

1. พน. ได้จัดประชุมรัฐมนตรีด้านพลังงาน BIMSTEC ครั้งที่ 2 (รวมทั้งการประชุมที่เกี่ยวข้อง) ณ โรงโรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 4 — 5 มีนาคม 2553 ซึ่งที่ประชุมมีติรับทราบรายงานความคืบหน้าของการดำเนินงานระหว่างประเทศในสาขาพลังงานต่าง ๆ 6 ด้าน รวมทั้งเห็นชอบแผนปฏิบัติการความร่วมมือด้านพลังงานที่จะมีต่อไป (Next Plan of Action for Energy Cooperation in BIMSTEC) ทั้งนี้ ประเทศไทยได้เสนอเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคด้านเชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuels Hub) ทั้งทางด้านการค้าและให้ความช่วยเหลือทางเทคนิค รวมทั้งจะเป็นเจ้าภาพจัดการฝึกอบรมการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในชุมชนและจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ รวมทั้งเห็นชอบในแถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรีด้านพลังงาน BIMSTEC ครั้งที่ 2 (Joint Ministerial Statement of the 2nd BIMSTEC Ministers on Energy’s Meeting) ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้

1.1 การติดตามความก้าวหน้าการจัดทำแผนงานการเชื่อมโยงสายส่งไฟฟ้าที่สนับสนุนการพัฒนาความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในภูมิภาค

1.2 การนำเทคโนโลยีสะอาดมาใช้สำหรับการพัฒนาด้านพลังงาน

1.3 การเร่งพัฒนาในโครงการพลังงานน้ำโครงการใหม่ ๆ

1.4 การแลกเปลี่ยนความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับโครงการการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพที่จะเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อม

1.5 การส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นพลังงานสะอาดในภูมิภาค โดยส่งเสริมให้เกิดการลงทุนร่วมกันระหว่างภาครัฐบาลและเอกชน เพื่อให้โครงสร้างพื้นฐานทางด้านท่อก๊าซธรรมชาติเป็นรูปธรรม

1.6 ความร่วมมือในการพัฒนาพลังงานทดแทน โดยการส่งเสริมให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี การแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการ ตลอดจนการลงทุนด้านเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยยินดีที่ประเทศไทยได้เสนอเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคด้านเชื้อเพลิงชีวภาพ อาทิ เอทานอลและไบโอดีเซล ทั้งทางด้านการค้าและให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

1.7 ความรับผิดชอบร่วมกันที่จะผลักดันให้มีการจัดตั้งศูนย์พลังงาน BIMSTEC ในอินเดียโดยเร็ว เพื่อที่ศูนย์พลังงาน BIMSTEC จะพร้อมให้บริการแก่ประเทศสมาชิกสำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ การถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมทั้งการจัดทำข้อกำหนดต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการบริหารดำเนินงาน การจัดทำงบประมาณ ขั้นตอนในการคัดสรร ผู้อำนวยการบริหารศูนย์พลังงาน BIMSTEC และเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อศูนย์พลังงาน BIMSTEC จะได้เป็นองค์กรระดับภูมิภาคที่ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิผล

1.8 การติดตามการดำเนินงานด้านพลังงานให้เป็นไปอย่างสม่ำเสมอในภูมิภาค BIMSTEC โดยจะให้มีการจัดประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านพลังงาน BIMSTEC ปีละ 1 ครั้ง และจะจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านพลังงานทุก 2 ปี

ทั้งนี้ ที่ประชุมยังได้มีมติเห็นชอบให้จัดการประชุมรัฐมนตรีด้านพลังงานภายใต้กรอบความร่วมมือ BIMSTEC ครั้งที่ 3 ในปี พ.ศ. 2555 โดยสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาลรับเป็นเจ้าภาพ

2. ในการประชุมรัฐมนตรีด้านพลังงาน BIMSTEC ครั้งที่ 2 นี้ ยังไม่สามารถลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOA) เพื่อการจัดตั้งศูนย์พลังงาน BIMSTEC หรือ BIMSTEC Energy Centre (BEC) ได้ เนื่องจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของอินเดียติดภารกิจเร่งด่วนทำให้ไม่สามารถเดินทางมาร่วมประชุมด้วยตนเองได้ (แต่ได้ส่งเอกอัครราชทูตอินเดียเป็นผู้แทน) อีกทั้งอินเดียได้แจ้งผ่าน กต. (เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553) ว่ายังมีข้อความที่คลาดเคลื่อนเล็กน้อย กล่าวคือ การตกลงกันล่าสุดในการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศของ BIMSTEC ครั้งที่ 11 ที่อินเดีย และที่ประชุมผู้นำ BIMSTEC Summit ครั้งที่ 2 ที่อินเดีย ได้มีการให้เพิ่มข้อความเกี่ยวกับ First Executive Director ของศูนย์พลังงาน BIMSTEC ที่จะเป็นคนอินเดียด้วย ซึ่งไม่ตรงกับร่างบันทึกข้อตกลงฯ ที่พน. นำเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาไว้ และก็ไม่ตรงกับร่างบันทึกข้อตกลงฯ ของประเทศสมาชิกอย่างน้อยอีก 4 ประเทศ (คือบังคลาเทศ ภูฏาน พม่า และศรีลังกา) ที่ใช้ร่างเดียวกันกับของไทยในการขอความเห็นชอบจากรัฐบาลของตน อย่างไรก็ดี ที่ประชุมเห็นตรงกันว่า ร่างบันทึกข้อตกลงฯ ฉบับที่ได้รับการยืนยันโดยที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ ครั้งที่ 11 ของ BIMSTEC ซึ่งได้รับฉันทานุมัติจากที่ประชุมฯ ให้ผู้บริหารคนแรก (First Executive Director) ของศูนย์ BEC เป็นคนอินเดีย] เป็นร่างที่ได้ตกลงกันไว้ อันเป็นการเพิ่มเติมถ้อยคำเพียงเล็กน้อยตามเจตนารมณ์ของที่ประชุม และไม่กระทบต่อสาระสำคัญของข้อตกลง ที่ประชุมจึงมีมติเห็นควรให้มีการเร่งรัดการลงนามในบันทึกข้อตกลงฯ โดยเร็ว โดยสมควรนัดหมายให้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงฯ ภายใน 3 เดือน นับจากนี้ไป (5 มีนาคม 2553) เพื่อให้การก่อตั้งศูนย์ BIMSTEC เดินหน้าต่อไปอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นประโยชน์กับสมาชิกต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 มิถุนายน 2553--จบ--


แท็ก รัฐมนตรี  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ