รายงานผลการประชุมผู้เชี่ยวชาญด้านมรดกโลก (Expert Working Group Meeting)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 30, 2010 15:44 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการประชุมผู้เชี่ยวชาญด้านมรดกโลก (Expert Working Group Meeting) ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) รายงานว่า การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนกระบวนการกำหนดกรอบแนวทางการดำเนินงานตามอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก (Operational Guidelines for Implemention of the World Heritage Convention) ซึ่งสรุปผลการประชุมได้ ดังนี้

1. ผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย

1.1 ประเทศภาคีสมาชิกจาก 21 ประเทศ จำนวน 39 คน ได้แก่ ประเทศออสเตรเลีย ชิลี บาร์บาดอส กัมพูชา อียิปต์ เอธิโอเปีย ฮังการี อิสราเอล ญี่ปุ่น จอร์แดน เคนยา ลิทัวเนีย มาลี มอริเชียส เม็กซิโก นอร์เวย์ แอฟริกาใต้ ศรีลังกา สวิตเซอร์แลนด์ ไทย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

1.2 องค์กรที่ปรึกษา ได้แก่ สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (International Union of Conservation or Nature and Natural Resources หรือ World Conservative Union : IUCN) สภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ (International Council on Monuments and Sites : ICOMOS) และผู้แทนจากศูนย์มรดกโลก กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส UNESCO กรุงเทพฯ

2. หัวข้อการประชุม ประกอบด้วย (2.1) ทบทวนกระบวนการ “upstream processes” ที่ดำเนินการในปัจจุบัน (2.2) วิเคราะห์อุปสรรคหลักของกระบวนการ upstream processes (2.3) นำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาต่ออุปสรรคหลักของกระบวนการ (2.4) จัดทำข้อเสนอแนะเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลก

3. ประเด็นหลักซึ่งที่ประชุมร่วมกันให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อการปรับปรุงกระบวนการ “upstream processes” มี 6 ประเด็น ดังนี้

3.1 จุดมุ่งหมายของการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก (Strong focus upon World Heritage) ควรให้ประเทศภาคีสมาชิกได้เข้าถึงกลไกทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติในการตระหนักและปกป้องแหล่งมรดก อีกทั้งให้ประเทศภาคีสมาชิกมีทางเลือกเบื้องต้นซึ่งให้ประเทศภาคีสมาชิกเข้าร่วมโดยความสมัครใจ เพื่อเข้ารับคำปรึกษาในกระบวนการขึ้นทะเบียนมรดกโลก

3.2 บทบาทของบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Role of Tentative Lists) ควรอธิบายขั้นตอนที่จำเป็นต่อการส่งบัญชีรายชื่อเบื้องต้น และรวบรวมเอกสารที่ใช้ในการอธิบายไว้ในกระบวนการฝึกอบรมพัฒนาชุดเครื่องมือเพื่อช่วยในการทำบัญชีรายชื่อเบื้องต้นและร่างเอกสารการขึ้นทะเบียนมรดกโลกเพื่อรับการประเมินและผลตอบรับจากศูนย์มรดกโลกและองค์กรที่ปรึกษา

3.3 การวิเคราะห์เปรียบเทียบและการศึกษาความเชื่อมโยง (Comparative analysis and thematic studies) ควรทำการแนะแนวแก่ประเทศภาคีสมาชิกในเรื่องการวิเคราะห์เปรียบเทียบที่ชัดเจนยิ่งขึ้น พร้อมทั้งให้องค์กรที่ปรึกษาช่วยเหลือประเทศภาคีสมาชิกในการพัฒนาการวิเคราะห์เปรียบเทียบะหว่างกระบวนการเตรียมเอกสารการขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลก

3.4 ความชัดเจนและความซับซ้อน (Clarity and complexity) ควรพัฒนาวิธีการและคำอธิบายที่เข้าใจง่าย เพื่ออธิบายกระบวนการและสิ่งที่จำเป็นต่อการขึ้นทะเบียนมรดกโลก รวมถึงคงความต่อเนื่องในการสร้างความเข้าใจแก่ประเทศภาคีสมาชิก โดยการให้มีส่วนร่วมในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก

3.5 การเสริมสร้างขีดความสามารถ (Capacity building) ควรให้ความสำคัญต่อกระบวนการเสริมสร้างขีดความสามารถ อีกทั้งควรพัฒนากระบวนการให้ง่ายขึ้นเพื่ออนุสัญญาฯ สามารถเป็นที่เข้าใจแก่ประเทศภาคีสมาชิกได้ง่ายขึ้น และมีสื่อเพื่อการอธิบายกระบวนการขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลก

3.6 การจัดงานในอนาคต (Managing expectation) ควรมีเครื่องมือใช้สำหรับสื่อสารและกระตุ้นเตือนอย่างต่อเนื่องและชัดเจนต่อผู้ที่เกี่ยวข้องทุกระดับ บรรจุไว้ในแหล่งข้อมูลด้านต่าง ๆ เช่น ในเว็บไซต์ของศูนย์มรดกโลก ในเอกสารต่าง ๆ หรือโดยผู้เชี่ยวชาญ

4. ข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการมรดกโลก

4.1 การดำเนินการปรับปรุง “upstream processes” ยังคงให้ดำเนินต่อไปเพื่อให้ได้ผลสรุปที่ชัดเจน

4.2 แนวทางการแก้ไขปัญหาที่ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณหรือใช้งบประมาณไม่มากหากผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการมรดกโลกสามารถดำเนินการได้ทันที

4.3 งบประมาณในการแก้ไขปัญหาจะต้องผ่านการพิจารณาและได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการมรดกโลกเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ

4.4 ให้ศูนย์มรดกโลกดำเนินงานร่วมกับองค์กรที่ปรึกษาปรับปรุง “upstream processes” ขึ้นใหม่ รวมถึงให้คำปรึกษาแก่ประเทศภาคีสมาชิก

4.5 ให้ศูนย์มรดกโลกและองค์กรที่ปรึกษานำเสนอผลสรุปของการประชุมครั้งนี้ต่อคณะกรรมการมรดกโลก โดยให้พิจารณาถึงความเป็นไปได้ของการแก้ไขปัญหาและโครงการนำร่องเพื่อทดสอบการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

4.6 แนวทางการดำเนินงานที่เกิดขึ้นใหม่นี้จะนำไปสู่กระบวนการดำเนินงานของคณะทำงานด้านอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกซึ่งจะจัดตั้งขึ้นในอนาคต

คณะผู้จัดประชุมจะได้นำผลการประชุมดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 34 ระหว่างวันที่ 25 กรกฎาคม — 3 สิงหาคม 2553 ณ สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล เพื่อพิจารณาให้ประเทศภาคีสมาชิกใช้เป็นแนวทางในการจัดทำบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) และการจัดทำเอกสารวิชาการ เพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก (Nomination Dossier) ตามลำดับ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 มิถุนายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ