สรุปสถานการณ์ภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง และการให้ความช่วยเหลือ (ข้อมูล ณ วันที่ 28 มิถุนายน 2553)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 30, 2010 16:25 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบข้อมูลสรุปสถานการณ์ภัยแล้ง และการให้ความช่วยเหลือ (ข้อมูล ณ วันที่ 28 มิถุนายน 2553) ของกระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้น และการให้ความช่วยเหลือ ดังนี้

1. สรุปสถานการณ์ภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง และการให้ความช่วยเหลือ (ข้อมูล ณ วันที่ 22-28 มิถุนายน 2553)

1.1 พื้นที่ประสบภัย 27 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน ลำปาง ลำพูน พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ อุทัยธานี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ หนองบัวลำภู อุบลราชธานี ชัยนาท ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี และจังหวัดลพบุรี รวม 204 อำเภอ 1,481 ตำบล 13,212 หมู่บ้าน แยกเป็น

ข้อมูลหมู่บ้านที่ประสบภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง ปี 2553 (ข้อมูล ณ วันที่ 22-28 มิถุนายน 2553)

ที่                             พื้นที่ประสบภัย                                                   ราษฎรประสบภัย
   ภาค       จังหวัด     อำเภอ     ตำบล      หมู่บ้าน     รายชื่อจังหวัด                           คน      ครัวเรือน
1  เหนือ         12        76      482      4,183     กำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่       891,397      277,720
                                                     ตาก น่าน ลำปาง ลำพูน พิจิตร
                                                     พิษณุโลก พิจิตร สุโขทัย อุตรดิตถ์
                                                     อุทัยธานี
2  ตะวันออก      11       114      895      8,120     กาฬสินธุ์ ขอนแก่น นครราชสีมา       3,070,921     771,768
  เฉียงเหนือ                                           มหาสารคาม บุรีรัมย์ มุกดาหาร
                                                     ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ
                                                     หนองบัวลำภู  อุบลราชธานี
3  กลาง          4        14      104        909     ชัยนาท ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี         340,849      61,663
                                                     ลพบุรี
รวมทั้งประเทศ     27       204    1,481     13,212                                   4,303,167   1,111,151

ตารางเปรียบเทียบข้อมูลหมู่บ้านที่ประสบภัยแล้งในรอบ 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา

ที่ ภาค       จำนวนหมู่บ้าน     1-7 มิ.ย. 2553       8-14 มิ.ย. 2553      15-21 มิ.ย. 2553      22-28 มิ.ย. 2553
            ทั้งหมด          หมู่      + เพิ่ม       หมู่       + เพิ่ม       หมู่       + เพิ่ม        หมู่      + เพิ่ม
                           บ้าน      - ลด       บ้าน       - ลด       บ้าน       - ลด       บ้าน       - ลด
1 เหนือ          16,590   2,139      -732     1,452       -687     3,650     +2,198     4,183       +533
2 ตะวันออก       33,099   4,592    -4,463     4,116       -476     4,638       +522     8,120     +3,482
  เฉียงเหนือ
3 กลาง          11,736       0         0         0          0       397       +397       909       +512
  รวม           74,944   6,731    -5,195     5,568     -1,163     8,685     +3,117    13,212     +4,527

เปรียบเทียบกับสถานการณ์ภัยแล้ง ระหว่างวันที่ 15 มิถุนายน 2553-21 มิถุนายน 2553 ซึ่งมีพื้นที่ประสบภัยแล้ง รวม 18 จังหวัด 128 อำเภอ 928 ตำบล 8,685 หมู่บ้าน แต่เนื่องจากปริมาณฝนที่ตกยังไม่ทั่วทุกพื้นที่ ส่งผลให้จำนวนหมู่บ้านที่ประสบภัยแล้ง และฝนทิ้งช่วงในพื้นที่ต่างๆ เพิ่มขึ้น จำนวน 4,527 หมู่บ้าน

หมายเหตุ สถานการณ์ภัยแล้งปี 2553 ช่วงระยะเวลาที่มีสถานการณ์ภัยแล้งสูงสุดอยู่ในห้วงระหว่างวันที่ 12-19 เมษายน 2553 มีพื้นที่ประสบภัยแล้ง จำนวน 60 จังหวัด 463 อำเภอ 3,005 ตำบล 24,248 หมู่บ้าน

1.2 ความเสียหาย

พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหาย รวม 2,198,096 ไร่ แยกเป็น พืชไร่ 1,548,051 ไร่ นาข้าว 201,531 ไร่ พืชสวนและอื่นๆ 448,514 ไร่ โดยมีพื้นที่เกษตรกรเสียหายแล้ว จำนวน 1,012,381 ไร่ ในพื้นที่ 42 จังหวัด ได้แก่ ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ตาก น่าน พะเยา แพร่ ลำปาง สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิจิตร พิษณุโลก อุทัยธานี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา มุกดาหาร ยโสธร ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด เลย สกลนคร หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี อุบลราชธานี ชัยนาท พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี กระบี่ นครศรีธรรมราช ระนอง พัทลุง สตูล สุราษฎร์ธานี และจังหวัดตรัง

1.3 การให้ความช่วยเหลือ

1) ใช้รถบรรทุกน้ำ 602 คัน แจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภคแล้ว จำนวน 256,690,314 ลิตร

2) ซ่อมสร้างทำนบ/ฝายชั่วคราวปิดกั้นลำน้ำ 1,478 แห่ง

3) ขุดลอกแหล่งน้ำ 765 แห่ง

4) งบประมาณดำเนินการใช้จ่ายไปแล้ว 672,802,168 บาท แยกเป็น

  • งบทดรองราชการของจังหวัด (งบ 50 ล้านบาท) 434,457,748 บาท
  • งบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 230,752,859 บาท (ข้อมูลกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น)
  • งบอื่น ๆ 7,591,561 บาท

5) กรมชลประทาน ได้จัดส่งเครื่องสูบน้ำ 238 เครื่อง ไปให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ 30 จังหวัด โดยแยกเป็นรายภาค ดังนี้ ภาคเหนือ 20 เครื่อง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 32 เครื่อง ภาคกลาง 83 เครื่อง ภาคตะวันออก 25 เครื่อง และภาคใต้ 78 เครื่อง และรถบรรทุกน้ำ 33 คัน 3,628 เที่ยว รวมปริมาณน้ำจำนวนทั้งสิ้น 21,768,000 ลิตร

6) ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพบก ได้แจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภค ให้แก่ราษฎรผู้ประสบภัย จำนวน 3,292 เที่ยว รวมปริมาณน้ำจำนวนทั้งสิ้น 21,363,000 ลิตร

7) ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ได้แจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภค ให้แก่ราษฎรผู้ประสบภัย จำนวน 4,452 เที่ยว รวมปริมาณน้ำจำนวนทั้งสิ้น 30,399,000 ลิตร

8) กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ได้แจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภค ให้แก่ราษฎรผู้ประสบภัย จำนวน 836 เที่ยว รวมปริมาณน้ำจำนวนทั้งสิ้น 5,154,096 ลิตร

9) การประปาส่วนภูมิภาค ได้แจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภค ให้แก่ราษฎรผู้ประสบภัย โดยไม่คิดมูลค่าเป็นจำนวน 491,004,000 ล้านลิตร และคิดเป็นยอดเงินรวม จำนวน 7,856,064 บาท

10) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้จัดรถบรรทุกน้ำ 30 คัน เพื่อแจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภค ให้แก่ราษฎรผู้ประสบภัย รวมปริมาณน้ำจำนวนทั้งสิ้น 40.79 ล้านลิตร

11) กรมทรัพยากรน้ำ ได้แจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภค ให้แก่ราษฎรผู้ประสบภัย รวมปริมาณน้ำจำนวนทั้งสิ้น 1,346,000 ลิตร

12) กรมทรัพยากรน้ำบาดาล แจกน้ำจากจุดจ่ายน้ำถาวร 100 แห่ง ให้แก่ราษฎรผู้ประสบภัย รวมปริมาณน้ำจำนวนทั้งสิ้น 90.40 ล้านลิตร

13) กรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้แจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภค ให้แก่ราษฎรผู้ประสบภัย รวมปริมาณน้ำจำนวนทั้งสิ้น 236,000 ลิตร

14) สำนักฝนหลวงและการบินเกษตร ปฏิบัติการ 113 วัน จำนวน 3,129 เที่ยว ในพื้นที่ 63 จังหวัด

อนึ่ง เมื่อในวันที่ 24 มิถุนายน 2553 เวลาประมาณ 11.08 น. ได้เกิดแผ่นดินไหวในทะเล ขนาด 5.3 ริกเตอร์ บริเวณหมู่เกาะนิโคบาร์ ประเทศอินเดีย ห่างจากชายฝั่งทะเลจังหวัดภูเก็ต ประมาณ 705 กิโลเมตร หรือละติจูด 7.56 องศาเหนือ ลองจิจูด 91.84 องศาตะวันออก ไม่มีผลกระทบ ต่อประเทศไทย และเมื่อวันนี้ 25 มิถุนายน 2553 เวลาประมาณ 01.07 น. ได้เกิดแผ่นดินไหวในทะเล ขนาด 5 ริกเตอร์ บริเวณหมู่เกาะนิโคบาร์ ห่างจากชายฝั่งทะเลจังหวัดภูเก็ต ประมาณ 700 กิโลเมตร ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทยเช่นกัน

2. สิ่งของพระราชทานช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง

สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย ได้นำหน่วยรถผลิตน้ำดื่มไปบรรเทาทุกข์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งในพื้นที่อำเภอดอนมดแดง จังหวัดอุบลราชธานี อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม และอำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี รวมจ่ายน้ำให้กับประชาชนทั้งสิ้น จำนวน 2,910,500 ลิตร

3. สิ่งของพระราชทานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2553 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ (นายกกิตติมศักดิ์ตลอดชีพ) และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ประธานมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ทรงโปรดให้ ศาสตราภิชาน ดร.นายแพทย์พิชิต สุวรรณประการ รองประธานมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย เป็นผู้แทนพระองค์ มอบถุงพระราชทาน พร้อมตรวจเยี่ยมราษฎร และพระภิกษุสงฆ์ ที่ประสบอุทกภัย อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง จำนวน 726 ถุง และจำนวน 5 ถุง

4. การเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ปี 2553

4.1 กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดหมายลักษณะอากาศในช่วงฤดูฝนของประเทศไทย ประจำปี พ.ศ.2553 ว่าจะเข้าสู่ฤดูฝนประมาณสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนพฤษภาคม โดยมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ จะพัดนำความชื้นเข้าปกคลุมประเทศไทย กับมีร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านภาคกลาง และภาคตะวันออก และจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน ทำให้ประเทศไทย มีฝนเกือบทั่วไปและตกติดต่อกันหลายพื้นที่กับมีฝนหนักบางพื้นที่ จากนั้นประมาณครึ่งหลังของเดือนกรกฎาคมถึงกันยายนร่องความกดอากาศต่ำจะเลื่อนกลับลงมาพาดผ่านประเทศไทยตอนบนอีกครั้งหนึ่ง ทำให้มีฝนตกชุกเกือบทั่วไปโดยเฉพาะเดือนสิงหาคม และกันยายน จะมีฝนหนักถึงหนักมากและอาจเกิดน้ำท่วมฉับพลันในบางพื้นที่ ส่วนเดือนตุลาคมบริเวณประเทศไทยตอนบนฝน จะลดลงทั่วไป เนื่องจากร่องความกดอากาศต่ำจะเลื่อนลงไปพาดผ่านภาคใต้ และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ จะเริ่มเปลี่ยนเป็นมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุม ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะทางฝั่งตะวันออก สำหรับปีนี้ประเทศไทยตอนบนจะสิ้นสุดฤดูฝนประมาณกลางเดือนตุลาคม ส่วนภาคใต้ยังคงมีฝนต่อเนื่องไปจนถึงเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม คาดว่าจะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย 1-2 ลูก โดยก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือด้านทางตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ หรือทะเลจีนใต้ และเคลื่อนตัวมาทางทิศตะวันตกขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามเข้าสู่ประเทศไทยตอนบน หรือเคลื่อนตัวผ่านอ่าวไทยเข้าสู่ภาคใต้ของประเทศไทย

4.2 กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้เตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัยและดินถล่ม ที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝน ปี 2553 ตลอดจนการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ประสบภัย การฟื้นฟูบูรณะสิ่งสาธารณประโยชน์ ที่ชำรุดเสียหายให้กลับคืนสู่สภาพเดิม รวมทั้งการประสานงานและสนับสนุนการปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นไปตามแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ที่กำหนดอย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้ดำเนินการแล้ว ดังนี้

1. จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัยและดินถล่ม ปี 2553 ขึ้น ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย และแต่งตั้งเจ้าหน้าที่รับผิดชอบประจำศูนย์ฯ เพื่อปฏิบัติงานเตรียมความพร้อมและให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย

2. ให้จังหวัด ทุกจังหวัด จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่มระดับจังหวัด พร้อมทั้งให้อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจฯ ระดับอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขึ้นเช่นเดียวกัน พร้อมทั้งแต่งตั้งเจ้าหน้าที่รับผิดชอบประจำศูนย์ฯ โดยให้ดำเนินการ ดังนี้

2.1 ด้านการเตรียมการ (ก่อนเกิดภัย)

(1) ตรวจสอบและปรับปรุงข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัยจากอุทกภัย วาตภัยและดินถล่ม รวมทั้งข้อมูลพื้นที่ปลอดภัยเพื่อรองรับการอพยพให้เป็นปัจจุบัน

(2) จัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัยและดินถล่ม ระดับจังหวัด โดยกำหนดระบบบัญชาการเหตุการณ์ วิธีการปฏิบัติ ขั้นตอนการปฏิบัติ บุคลากรและหน่วยงานที่รับผิดชอบ ในแต่ละขั้นตอน สำหรับพื้นที่เสี่ยงภัยให้จัดวางระบบการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัย รวมทั้งแผนการอพยพ ที่ระบุถึงขั้นตอนการอพยพเส้นทางการอพยพ และพื้นที่ปลอดภัยรองรับการอพยพ ไว้ในแผนอย่างเป็นระบบ ชัดเจน และสามารถนำไปใช้ปฏิบัติได้ทันทีที่เกิดภัย

(3) จัดเตรียมกำลังคน วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือสื่อสารและโทรคมนาคมทั้งข่ายหลักและข่ายสำรอง ยานพาหนะ เรือท้องแบน เครื่องสูบน้ำ และเครื่องมือเครื่องใช้ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ไว้ให้พร้อมใช้การได้ทันที

(4) จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง ติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และคำเตือน จากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อย่างใกล้ชิด ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งตรวจสอบข้อมูลปริมาณน้ำฝน ระดับน้ำในแม่น้ำ (สูงกว่า/ต่ำกว่าตลิ่ง) ระดับน้ำทะเลหนุน (สำหรับจังหวัดที่อยู่ใกล้ทะเล) รวมทั้งบริเวณพื้นที่ลุ่มที่มักจะเกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่อย่างใกล้ชิด โดยให้ติดตามสถานการณ์ข้อมูลการพยากรณ์อากาศ แผนที่อากาศ ภาพถ่ายดาวเทียม เรดาร์กลุ่มฝน ปริมาณน้ำในลุ่มน้ำสายหลัก ฯลฯ จากข้อมูลในเว็บไซต์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน ฯลฯ) รวมทั้งประสานกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์และคาดการณ์แนวโน้มสาธารณภัยที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่รับผิดชอบ

(5) จัดให้มีระบบการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า ผ่านข่ายการสื่อสารของทางราชการ สื่อมวลชน วิทยุชุมชนในท้องถิ่น หอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนติดตามข่าวสารจากกรม อุตุนิยมวิทยา หรือหน่วยงานอื่น อย่างใกล้ชิด และใช้ประโยชน์จากอาสาสมัคร “มิสเตอร์เตือนภัย” ที่ผ่านการฝึกอบรมแล้ว เพื่อเตรียมพร้อมเฝ้าระวัง ติดตามรับสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ให้สามารถดำเนินการอพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยได้อย่างทันท่วงทีเมื่อเกิดสถานการณ์ขึ้น

(6) ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเตรียมความพร้อมในการเผชิญเหตุการณ์ สำรองอาหาร น้ำดื่ม ยารักษาโรคและอุปกรณ์ฉุกเฉิน สร้างพนังกั้นน้ำหรือแนวป้องกันดินถล่ม พร้อมทั้งติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เช่น สังเกตลม ฟ้า อากาศ การเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และพฤติกรรมของสัตว์ ตลอดจนเชื่อฟังคำเตือนและพร้อมปฏิบัติตามคำแนะนำของทางราชการ รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนตระหนักถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจากภาวะน้ำท่วมขังในบริเวณชุมชน เช่น อันตรายจากกระแสไฟฟ้าดูด รั่วหรือลัดวงจร รวมทั้งระมัดระวังป้องกันมิให้เด็กพลัดตกน้ำ หรือ ลงเล่นน้ำในช่วงที่มีสถานการณ์อุทกภัยเกิดขึ้น

(7) แจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ความสำคัญในการจัดหาพื้นที่รองรับน้ำ (แก้มลิง) พร้อมทั้งจัดงบประมาณเพื่อดำเนินการล้างท่อระบายน้ำในเขตชุมชน ขุดลอก คู คลอง แหล่งน้ำสาธารณะ รวมทั้งกำจัดวัชพืชสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อให้สามารถระบายน้ำออกจากพื้นที่ที่เกิดอุทกภัยได้อย่างรวดเร็วและสามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง

(8) ติดตั้งเครื่องแจ้งเตือนภัยและเครื่องวัดปริมาณน้ำฝน ณ ตำบลหรือหมู่บ้านเสี่ยงภัย พร้อมทั้งจัดผู้ดูแลและบันทึกข้อมูล (อาสาสมัคร “มิสเตอร์เตือนภัย”) เป็นประจำและต่อเนื่องตลอดจนเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ โดยให้แจ้งเตือนภัยให้ราษฎรหมู่บ้านทราบทันที เมื่อมีแนวโน้มว่าอาจเกิดสถานการณ์อุทกภัย น้ำป่าไหลหลากหรือดินถล่มเกิดขึ้น

(9) จัดให้มีการฝึกซ้อมแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยฯ ที่ได้จัดทำขึ้น ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชน และอาสาสมัครในพื้นที่ ทั้งนี้งบประมาณในการฝึกซ้อมให้พิจารณาขอรับการสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เข้าร่วมทำการฝึกซ้อมฯ ตามความจำเป็นและเหมาะสม

2.2 ด้านการปฏิบัติเมื่อเกิดภัย (ขณะเกิดภัย)

(1) ในขณะที่สถานการณ์อุทกภัย น้ำป่าไหลหลากกัดเซาะคอสะพานขาดน้ำท่วม ผิวจราจรในระดับสูงที่ไม่สามารถมองเห็นพื้นผิวจราจรได้ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งการกำชับแขวงการทาง ทางหลวงชนบทและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ติดป้ายเตือน/วางแผงปิดกั้นช่องทางจราจร เพื่อให้ประชาชนผู้ใช้เส้นทางถนนสายดังกล่าวได้ทราบ พร้อมกับจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจหรืออาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) ให้ความช่วยเหลือ และอำนวยความสะดวกการจราจรในจุดอันตรายดังกล่าว

(2) กรณีมีผู้สูญหายจากอุทกภัยที่เกิดขึ้น ให้จัดชุดเคลื่อนที่เร็ว โดยสนธิกำลังจากทุกภาคส่วนทั้งหน่วยทหาร ตำรวจ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตพื้นที่ อาสาสมัครฯ เข้าไปกู้ภัย ค้นหา ผู้สูญหายและผู้ติดค้างในพื้นที่ประสบภัย เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยด่วน

(3) ขณะที่เกิดภัย ให้จังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกับมูลนิธิ ภาคเอกชน จัดอาหาร (ปรุงสำเร็จพร้อมบริโภค) น้ำดื่ม เครื่องยังชีพที่จำเป็น ให้แก่ราษฎรในพื้นที่ประสบภัยให้ทั่วถึงและเพียงพอ รวมทั้งจัดหาที่พักอาศัยชั่วคราวให้แก่ราษฎรที่บ้านเรือนเสียหาย และช่วยเหลือดูแลผู้ประสบภัย ทั้งด้านอาหาร น้ำดื่ม เครื่องนอน เครื่องนุ่งห่มเวชภัณฑ์ และยารักษาโรค โดยใช้จ่ายจากเงินทดรองราชการของจังหวัด (งบ 50 ล้านบาท) หรือจากงบฉุกเฉินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้วแต่กรณี ทั้งนี้ให้ถือเป็นนโยบายสำคัญเร่งด่วน ที่จะต้องดูแลช่วยเหลือพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัยเป็นลำดับแรก

(4) ภายหลังน้ำลด ให้จังหวัดแจ้งแขวงการทาง ทางหลวงชนบทจังหวัด หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดเครื่องจักรกลเข้าซ่อมแซมเส้นทางคมนาคม คอสะพานถูกน้ำกัดเซาะ ให้สามารถใช้สัญจรไปมาได้เป็นการชั่วคราวโดยเร็วที่สุด หากความเสียหายมีมาก ให้ขอรับการสนับสนุนจากหน่วยบัญชาการทหารพัฒนาในพื้นที่หรือพื้นที่ใกล้เคียง หรือศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เข้าไปสนับสนุนช่วยเหลือ

(5) พื้นที่วิกฤติที่ไม่สามารถเดินทางเข้าไปในพื้นที่ประสบภัยทางรถยนต์ได้ ให้ประสานขอรับการสนับสนุนเฮลิคอปเตอร์จากหน่วยทหารหรือตำรวจในพื้นที่หรือพื้นที่ใกล้เคียง สำหรับเดินทางเข้าไปในพื้นที่วิกฤตเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยด่วน

2.3 ด้านการให้ความช่วยเหลือ และฟื้นฟูบูรณะ (หลังเกิดภัย)

(1) ประสานงานมูลนิธิ องค์กรการกุศล เพื่อให้การสนับสนุนในเรื่องการประกอบเลี้ยงผู้อพยพ และให้การสงเคราะห์ผู้ประสบภัย อาทิ มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง(ภาฯ)ยามยาก สภากาชาดไทย มูลนิธิปอเต็กตึ๊ง มูลนิธิร่วมกตัญญู หน่วยอาสาสมัครและองค์กรการกุศล ในพื้นที่

(2) พิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2549 และที่แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 3) พ.ศ.2552 ในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งมีงบฉุกเฉิน ในวงเงิน 50 ล้านบาท สามารถให้ความช่วยเหลือทั้งในด้านการเตรียมการป้องกัน เช่น วางแนวกระสอบทราย ปิดกั้นทางน้ำ กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ การขุดลอกเปิดทางน้ำเพื่อป้องกันความเสียหายหรืออันตรายต่อสาธารณะ ตลอดจนช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้านเครื่องอุปโภคบริโภค น้ำดื่ม สิ่งจำเป็นต่อการยังชีพ (ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 24 ชั่วโมง นับแต่เกิดภัย) การจ่ายเงินช่วยเหลือซ่อมแซมบ้านที่เสียหาย ค่าจัดการศพ (ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 วัน) และการซ่อมแซมถนน สะพาน เหมือง ฝาย ที่ชำรุดเสียหายให้กลับคืนสู่สภาพปกติโดยเร็ว (ควรดำเนินการภายหลังน้ำลดให้แล้วเสร็จภายใน 15 — 30 วัน)

สำหรับพื้นที่การเกษตรและปศุสัตว์ บ่อปลา นากุ้ง ที่ได้รับความเสียหาย ให้แต่งตั้งคณะทำงานรับผิดชอบเป็นการเฉพาะ ประกอบด้วย เกษตรอำเภอ ประมง ปศุสัตว์ ผู้แทน อปท. กำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน สำรวจความเสียหายที่แท้จริง และนำเสนอ ก.ช.ภ.อ.ให้ความช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

5. การคาดหมายลักษณะอากาศระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน-4 กรกฎาคม 2553

5.1 กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายลักษณะอากาศว่า ในวันที่ 28 มิถุนายน 2553หย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น ส่วนในช่วงวันที่ 28 มิถุนายน-2 กรกฎาคม 2553 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทย ทำให้ทางด้านรับลมมรสุม หรือด้านตะวันตกของประเทศและภาคตะวันออกมีฝนหนาแน่น และมีฝนตกหนักบางแห่ง หลังจากนั้น ในช่วงวันที่ 2 -4 กรกฎาคม 2553 มรสุมลมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมบริเวณดังกล่าว จะมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนลดลง

5.2 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ไว้ให้พร้อม เพื่อสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันต่อเหตุการณ์เมื่อเกิดสาธารณภัยขึ้น

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 มิถุนายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ