รายงานผลการเดินทางไปราชการเพื่อติดตามและแก้ไขปัญหาการปิดด่านชายแดนของสหภาพพม่า

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 11, 2010 15:25 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง รายงานผลการเดินทางไปราชการเพื่อติดตามและแก้ไขปัญหาการปิดด่านชายแดนของสหภาพพม่า ณ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการเดินทางไปราชการเพื่อติดตามและแก้ไขปัญหาการปิดด่านชายแดนของสหภาพพม่า ณ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายอลงกรณ์ พลบุตร) และคณะข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2553 โดยสรุปผลการเดินทาง ดังนี้

1. การก่อสร้างเขื่อนริมตลิ่งแม่น้ำเมยที่ท่าอาด เป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่กรมโยธาธิการและผังเมืองได้อนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างตามคำขอขององค์การบริหารส่วนตำบลท่าสายลวด เพื่อป้องกันพื้นที่ริมตลิ่งบนแม่น้ำที่เป็นเส้นเขตแดนระหว่างประเทศไทยและสหภาพพม่า ซึ่งมีความยาว 600 เมตร โดยได้ดำเนินการก่อสร้างไปแล้วรวม 400 เมตร รวมทั้งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 กรมโยธาธิการและผังเมืองมีโครงการก่อสร้างที่จะก่อสร้างเขื่อนในลักษณะดังกล่าวอีกรวม 4 แห่ง

2. นับตั้งแต่การเริ่มก่อสร้างเขื่อนเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 สหภาพม่าได้ทำหนังสือประท้วงแจ้งให้ฝ่ายไทยทราบรวม 9 ครั้ง ซึ่งจังหวัดได้แจ้งให้กรมโยธาธิการและผังเมืองทราบแต่ยังไม่มีการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาในเรื่องดังกล่าว จนกระทั่งสหภาพพม่าได้มีการปิดด่านอย่างถาวร เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2553 กรมโยธาธิการจึงได้มีหนังสือถึงบริษัทคู่สัญญาที่ได้รับการว่าจ้างให้ยุติการก่อสร้างเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2553

3. กลไกในการดำเนินการแก้ไขปัญหาบริเวณชายแดนไทยกับสหภาพพม่ามีคณะกรรมการชายแดนร่วม (Town Border Committee: TBC) : ซึ่งประกอบไปด้วย หน่วยทหารและความมั่นคงในพื้นที่เป็นกรรมการ แต่เนื่องจากการดำเนินการก่อสร้างเขื่อนดังกล่าว กรมโยธาธิการและผังเมืองไม่ได้มีการประสานแจ้งข้อมูลรายละเอียดให้ TBC ทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายพม่าได้รับทราบและไม่ได้มีการประสานงานระหว่าง TBC ของทั้งสองฝ่ายจึงทำให้ปัญหาในเรื่องดังกล่าวลุกลามไปจนถึงการปิดด่านชายแดน และส่งผลกระทบต่อความสูญเสียรายได้จากการค้าชายแดนสูงถึงวันละ 88 ล้านบาท

4. ปัจจุบันสถานการณ์มีแนวโน้มที่ดีขึ้น เนื่องจากกรมโยธาธิการและผังเมืองได้สั่งให้ยุติการก่อสร้างเขื่อนดังกล่าวแล้ว อย่างไรก็ตามเนื่องจากยังมีโครงการก่อสร้างเขื่อนในลักษณะดังกล่าวในปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 อีกรวม 4 แห่ง ซึ่งได้มีการทำสัญญาว่าจ้างผู้ดำเนินการแล้ว ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นอีก จึงเห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลางและพื้นที่ได้มีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิดรวมทั้งการดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวกับเส้นเขตแดนระหว่างประเทศจะต้องดำเนินการแจ้งให้กับประเทศเพื่อนบ้านทราบรายละเอียดในเรื่องดังกล่าวด้วย

5. เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก กระทรวงพาณิชย์ได้หารือกับหน่วยงานที่ เกี่ยวข้องในพื้นที่และได้พิจารณาให้มีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าวในพื้นที่ป่าของทางราชการจำนวน 5,603 ไร่ ที่ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โดยจะกำหนดรูปแบบให้มีองค์กรบริหารพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษโดยเฉพาะ โดยจัดตั้งเป็นบริษัทมหาชนเพื่อดำเนินการทั้งด้านธุรกิจโดยตรงและให้เอกชนเข้าไปทำโครงการต่างๆ เช่น นิคมอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก ศูนย์กระจายสินค้า เขตพาณิชยกรรม ซึ่งผู้ลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าวจะได้รับการส่งเสริมการลงทุนมากกว่า หรือไม่น้อยกว่าสิทธิพิเศษที่ให้การส่งเสริมการลงทุนในเขตพื้นที่ 3 ตามกฎหมายของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เพื่อเป็นต้นแบบของเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน

6. การก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย — พม่า แห่งที่สอง จุดก่อสร้างสะพานที่เหมาะสมอยู่บริเวณบ้านวังตะเคียน ฝั่งไทย และบ้านเยปูฝั่งพม่า ระยะทาง 22 กิโลเมตร อยู่ในฝั่งไทย 16 กิโลเมตร และอยู่ในฝั่งพม่า 6 กิโลเมตร ความยาวสะพานที้ข้ามแม่น้ำเมย ประมาณ 400 เมตร โดยกรมทางหลวงได้มีการสำรวจพื้นที่เพื่อกำหนดตำแหน่งสะพานพร้อมแนวทางหลวงเรียบร้อยแล้ว และได้ประมาณการค่าใช้จ่ายในการสร้างสะพานและถนน ประมาณ 600 ล้านบาท ทั้งนี้ ภายหลังหารือในรายละเอียดของโครงการร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายพม่า (กรมทางหลวง) เมื่อวันที่ 29-30 มิถุนายน 2553 ณ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ฝ่ายไทยได้เสนอให้สร้าง ณ จุด c2 หรือ c3 ซึ่งอยู่บริเวณริมแม่น้ำเมย แต่ฝ่ายพม่ายังไม่ ตัดสินใจและขอหารือหน่วยงานกลางอีกครั้ง

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 สิงหาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ