ร่างพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. ....

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 17, 2010 14:57 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนนำเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. กำหนดเกี่ยวกับการใช้ชื่อทางธุรกิจ ชื่อ คำแสดงชื่อ หรือคำอื่นใดในธุรกิจของผู้รับใบอนุญาตจัดหางาน การโฆษณาการจัดหางาน และการแต่งตั้งพนักงานอัยการหรือเจ้าหน้าที่กรมการจัดหางานเพื่อให้มีอำนาจฟ้องคดีให้แก่คนหางานหรือทายาทโดยธรรม (ร่างมาตรา 6-ร่างมาตรา 9)

2. กำหนดเกี่ยวกับการจัดตั้งสำนักงานทะเบียนจัดหางานกลาง สำนักงานทะเบียนจัดหางานจังหวัด และสำนักจัดหางาน (ร่างมาตรา 10-ร่างมาตรา 11)

3. กำหนดให้การจัดหางานต้องได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน ทั้งนี้ ใบอนุญาตจัดหางานมี 3 ประเภท คือ ใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางานทำงานในประเทศ ใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ และใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศ โดยผู้ขออนุญาตต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดและต้องวางหลักประกันอันสมควรเพื่อประกันความเสียหายที่เกิดจากการดำเนินการของผู้ขออนุญาต จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งแสนบาทหรือไม่น้อยกว่าห้าล้านบาทแล้วแต่กรณี (ร่างมาตรา 12-ร่างมาตรา 14 และร่างมาตรา 21)

4. กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางานทำงานในประเทศเรียกหรือรับค่าบริการหรือค่าใช้จ่ายจากคนหางานได้ก็ต่อเมื่อนายจ้างรับคนหางานเข้าทำงานแล้ว ในกรณีที่คนหางานไม่ได้งานตรงตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจัดหางาน ผู้รับใบอนุญาตไม่มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าวและต้องจัดการให้คนหางานเดินทางกลับ หากผู้รับใบอนุญาตไม่ดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้นายทะเบียนจัดการให้คนหางานเดินทางกลับโดยใช้จ่ายเงินจากหลักประกันที่ ผู้รับใบอนุญาตได้วางไว้ แต่ในกรณีที่คนหางานไม่ประสงค์จะเดินทางกลับ ผู้รับใบอนุญาตไม่ต้องรับผิดชอบในการจัดการให้คนหางานเดินทางกลับ (ร่างมาตรา 30-ร่างมาตรา 31)

5. กำหนดห้ามมิให้ผู้รับใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศประกอบธุรกิจตามที่กำหนด และจะรับสมัครหรือประกาศรับสมัครคนหางานเป็นการล่วงหน้าได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน (ร่างมาตรา 33-ร่างมาตรา 34)

6. กำหนดแนวทางปฏิบัติและการดำเนินการให้แก่ผู้รับใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศในเรื่องการจัดส่งคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ การจัดให้นายจ้างในต่างประเทศส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อ ช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ และการเรียกหรือรับค่าบริการจากคนหางาน (ร่างมาตรา 35-ร่างมาตรา 36)

7. กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องให้ความช่วยเหลือคนหางานในกรณีที่คนหางานไม่ได้ทำงานตรงตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจัดหางาน และกำหนดสิทธิเรียกร้องของคนหางานในกรณีที่คนหางานได้ทำงานแล้วแต่ได้ค่าจ้างต่ำกว่าหรือได้ตำแหน่งงานหรือสิทธิประโยชน์อื่นไม่ตรงตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจัดหางาน (ร่างมาตรา 40)

8. กำหนดแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้รับใบอนุญาตในกรณีที่คนหางานได้ค่าจ้าง ตำแหน่งงาน และสิทธิประโยชน์อื่นตรงตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจัดหางาน แต่ไม่ปฏิบัติตามสัญญา หรือคนหางานได้ทำงานจนสัญญาจัดหางานสิ้นสุดลงแล้ว แต่คนหางานไม่ยอมเดินทางกลับภายในระยะเวลาที่กำหนด และกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องคืนค่าบริการและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เรียกเก็บจากคนหางาน ตามอัตราส่วนหรือความรับผิดชอบของผู้รับใบอนุญาตที่มีต่อคนหางาน (ร่างมาตรา 45)

9. กำหนดแนวทางปฏิบัติและการดำเนินการให้แก่ผู้รับใบอนุญาตจัดหาคนหางานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศในเรื่องการประกอบธุรกิจอื่น การแจ้งและชำระค่าธรรมเนียมการจ้างคนต่างด้าวให้ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว รวมทั้งกำหนดผู้รับผิดชอบในการจัดส่งคนหางานต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร ซึ่งหน้าที่ดังกล่าวอาจตกแก่นายจ้าง ผู้รับใบอนุญาต หรือนายทะเบียน แล้วแต่กรณี (ร่างมาตรา 47-ร่างมาตรา 50)

10. กำหนดให้การดำเนินการทดสอบฝีมือคนหางานต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และกำหนดแนวทางปฏิบัติหรือการดำเนินการของผู้รับใบอนุญาตดำเนินการทดสอบฝีมือคนหางานในเรื่องการแสดงใบอนุญาตดำเนินการทดสอบฝีมือคนหางาน การทดสอบฝีมือคนหางาน ผู้ควบคุมการทดสอบ ค่าทดสอบฝีมือ การจัดให้มีสมุดทะเบียนบัญชีและเอกสารเกี่ยวกับกิจการของตน รวมทั้งกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตฯ มีสิทธิในการอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพัฒนาการจัดหางานและคุ้มครองคนหางานกรณีที่นายทะเบียนไม่ออกใบอนุญาตหรือไม่ต่อใบอนุญาตดังกล่าวได้ (ร่างมาตรา 52-ร่างมาตรา 57)

11. กำหนดแนวทางปฏิบัติหรือการดำเนินการของผู้ที่ประสงค์จะเดินทางไปทำงานในต่างประเทศด้วยตนเองโดยมิได้ทำสัญญาจัดหางานกับผู้รับใบอนุญาต การพาลูกจ้างไปทำงานในต่างประเทศของนายจ้าง การส่งลูกจ้างไปฝึกงานในต่างประเทศของนายจ้าง และการรับสมัครเพื่อหาลูกจ้างในประเทศเพื่อไปทำงานในต่างประเทศของนายจ้างในต่างประเทศ รวมทั้งกำหนดให้คนหางานมีหน้าที่แจ้งเป็นหนังสือให้สำนักงานแรงงานไทยในประเทศที่คนหางานไปทำงาน สถานทูตไทย สถานกงสุลไทยที่รับผิดชอบในการดูแลคนไทยในประเทศนั้น หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบในการดูแลคนหางาน แล้วแต่กรณีทราบภายในระยะเวลาที่กำหนดนับแต่วันที่คนหางานเดินทางไปถึง (ร่างมาตรา 59-ร่างมาตรา 63)

12. กำหนดให้มี “กองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ” ในกรมการจัดหางาน เพื่อใช้จ่ายในกิจการที่กำหนด กำหนดให้มีคณะกรรมการกองทุนฯ วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง องค์ประชุมและอำนาจหน้าที่ (ร่างมาตรา 64-ร่างมาตรา 70)

13. กำหนดให้มี “คณะกรรมการพัฒนาการจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน” กำหนดอำนาจหน้าที่ และให้อำนาจคณะกรรมการในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการมอบหมาย (ร่างมาตรา 75-ร่างมาตรา 77)

14. กำหนดอำนาจของนายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่ และกำหนดให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย นายทะเบียน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาและมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา รวมทั้งกำหนดให้นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจในการควบคุมหรือกำกับดูแลให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ เช่น การยึดหรืออายัดเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการจัดหางาน (ร่างมาตรา 79-ร่างมาตรา 80)

15. กำหนดโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 88-ร่างมาตรา 111)

16. กำหนดบทเฉพาะกาลเพื่อรองรับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการกองทุนและคณะกรรมการพัฒนาการจัดหางานและคุ้มครองคนหางานให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และกำหนดให้ใบอนุญาตและใบอนุญาตดำเนินการทดสอบฝีมือคนหางานมีผลใช้ต่อไป รวมทั้งกำหนดบทเฉพาะกาลเพื่อรองรับบรรดาคำขอและคำอุทธรณ์ที่ได้ยื่นไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเป็นคำขอหรือคำอุทธรณ์ที่ได้ยื่นไว้ตามพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 112-ร่างมาตรา 116)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 สิงหาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ