ผลการสำรวจภาวะการครองชีพของข้าราชการพลเรือนสามัญ พ.ศ. 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 6, 2010 13:51 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการสำรวจภาวะการครองชีพของข้าราชการพลเรือนสามัญ พ.ศ. 2553 ตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเสนอ ดังนี้

ข้อเท็จจริง

เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจของประเทศมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และเพื่อสนองความต้องการของผู้ใช้ข้อมูลหลักคือ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ดังนั้นสำนักงานสถิติแห่งชาติ จึงได้ดำเนินการสำรวจภาวะการครองชีพของข้าราชการพลเรือนทุก 2 ปี เพื่อให้ได้ข้อมูลพื้นฐานของครอบครัวข้าราชการอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ข้อมูลเกี่ยวกับรายได้ ค่าใช้จ่าย ภาวะหนี้สิน โดยทำการเก็บรวบรวมข้อมูลจากข้าราชการ (ในสังกัด ก.พ.) ทุกประเภทและระดับตำแหน่ง ที่ตกเป็นตัวอย่างทุกจังหวัดทั่วประเทศทั้งสิ้น 12,886 ราย และได้จัดทำสรุปผลเบื้องต้นการสำรวจภาวะการครองชีพของข้าราชการพลเรือนสามัญ พ.ศ. 2553 เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

1. รายได้ของครอบครัวข้าราชการ

ครอบครัวข้าราชการทำประเภทและระดับตำแหน่งทั่วประเทศ มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 43,650 บาท ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 84.1) เป็นค่าตอบแทนที่ได้รับเป็นประจำ จากการทำงาน เช่น เงินเดือน/เงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มพิเศษ มีรายได้ที่ได้รับเป็นครั้งคราว เช่น ค่าเบี้ยประชุม/ค่าล่วงเวลา/โบนัส (ร้อยละ 2.8) นอกจากนี้ยังมีรายได้จากการประกอบธุรกิจส่วนตัว(ร้อยละ 8.1) จากการให้เช่าทรัพย์สิน (ร้อยละ 1.4) และรายได้อื่นๆ เช่น ดอกเบี้ย เงินปันผล และเงินช่วยเหลือจากบุคคลอื่น/รัฐ เป็นต้น (ร้อยละ 3.6)

2. ค่าใช้จ่ายของครอบครัวข้าราชการ (ไม่รวมค่าใช้จ่าย เพื่อการสะสมทุน เช่น ค่าชำระบ้าน/ที่ดิน ฯลฯ)

ครอบครัวข้าราชการทุกประเภทและระดับตำแหน่งทั่วประเทศ มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละ 32,386 บาท ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ (ร้อยละ 24.9) เป็นค่าอาหารและเครื่องดื่ม รองลงมาเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับยานพาหนะ การเดินทางและการสื่อสาร (ร้อยละ 19.6) ค่าซื้อยานพาหนะ เครื่องเรือน/เครื่องใช้ คอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ (ร้อยละ 14.6) การศึกษา (ร้อยละ 9.6) ค่าที่อยู่อาศัย (ร้อยละ 6.5) สำหรับค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าของใช้และบริการส่วนบุคคล ค่าภาษี ดอกเบี้ยเงินกู้ ค่าใช้จ่ายด้านสังคม ฯลฯ มีร้อยละ 14.5

3. หนี้สินของครอบครัวข้าราชการ

ครอบครัวข้าราชการทุกประเภทและระดับตำแหน่ง มีหนี้สินร้อยละ 84.1 มีจำนวนหนี้สินเฉลี่ย 872,388 บาท ต่อครอบครัวที่มีหนี้ และพบว่าข้าราชการประเภททั่วไปมีสัดส่วนของครอบครัวที่เป็นหนี้สูงสุด (ร้อยละ 87.1) รองลงมาคือข้าราชการประเภทวิชาการและอำนวยการ (ร้อยละ 83.0 และ 65.4) ในขณะที่ข้าราชการประเภทบริหาร มีสัดส่วนที่เป็นหนี้ต่ำสุด (ร้อยละ 39.2) แต่จำนวนเงินที่เป็นหนี้กลับมีจำนวนสูงสุด (1,657,690 บาท) และข้าราชการประเภททั่วไปมีหนี้สินเฉลี่ยต่อครอบครัวต่ำสุด (794,565 บาท) โดยจำนวนเงินที่เป็นหนี้ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นตามประเภทและระดับตำแหน่งที่สูงขึ้น

4. วัตถุประสงค์ของการมีหนี้ของครอบครัวข้าราชการ

ข้าราชการมีหนี้สินเพื่อที่อยู่อาศัยสูงที่สุดคือร้อยละ 56.4 รองลงมาเป็นหนี้สินเพื่อซื้อหรือซ่อมแซมยานพาหนะ (ร้อยละ 15.2) เพื่อใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภค (ร้อยละ 13.3) เป็นหนี้เพื่อการลงทุนในธุรกิจของครอบครัว (ร้อยละ 5.8) และเป็นหนี้สินเพื่อการศึกษาร้อยละ 3.9

5. การเปรียบเทียบรายได้ ค่าใช้จ่าย หนี้สิน และหนี้สินต่อรายได้ ในปี 2549 — 2553

ในปี 2549 — 2553 ครอบครัวข้าราชการมีรายได้เฉลี่ยสูงกว่าค่าใช้จ่ายซึ่งไม่รวมค่าใช้จ่ายเพื่อการสะสมทุน โดยรายได้และค่าใช้จ่ายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น กล่าวคือ รายได้เพิ่มจาก 36,276 บาทในปี 2549 เป็น 43,650 บาทในปี 2553 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 ต่อปี และค่าใช้จ่ายเพิ่มจาก 30,223 บาทในปี 2549 เป็น 32,386 บาทในปี 2553 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 ต่อปี สำหรับครอบครัวข้าราชการที่มีหนี้ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 81.6 ในปี 2549 เป็นร้อยละ 84.1 ในปี 2553 และมีจำนวนหนี้สินเฉลี่ยเพิ่มจาก 657,449 บาท เป็น 872,388 บาท นอกจากนี้พบว่าหนี้สินต่อรายได้ของครอบครัวข้าราชการเพิ่มขึ้นจาก 18.1 เท่าในปี 2549 เป็น 20.0 เท่าในปี 2553

6. ความคิดเห็นของข้าราชการ

สำหรับความคิดเห็นของข้าราชการเกี่ยวกับความต้องการให้รัฐปรับปรุงค่าตอบแทนและสวัสดิการประเภทต่าง ๆ นั้น พบว่า ในลำดับแรกมีข้าราชการถึงร้อยละ 91.9 ต้องการให้รัฐเพิ่มเงินเดือน รองลงมาต้องการให้เข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลเอกชนได้ โดยสามารถเบิกได้ทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก (ร้อยละ 47.8) เพิ่มค่าเบี้ยเลี้ยงสำหรับการเดินทางไปราชการ (ร้อยละ 44.4) และต้องการให้ยกเลิกค่าเช่าบ้านแต่ให้ข้าราชการทุกคนได้รับเงินช่วยเหลือเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย (ร้อยละ 44.0)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 5 ตุลาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ