คปภ. แนะประชาชนซื้อกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองทรัพย์สิน

ข่าวทั่วไป Friday June 1, 2012 13:46 —คปภ.

นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันสภาพอากาศในประเทศไทยมีความผันผวนจากภาวะโลกร้อน เกิดภัยธรรมชาติขึ้นบ่อยครั้ง เช่น ภัยจากพายุลูกเห็บ ลมพายุ แผ่นดินไหว ไฟลามทุ่ง รวมถึงน้ำท่วมเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับทรัพย์สินของประชาชนเป็นจำนวนมาก

สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนด้าน การประกันภัย มีความห่วงใยประชาชนเป็นอย่างยิ่ง แนะให้ประชาชน ผู้ประกอบการ รวมถึงภาคอุตสาหกรรมเห็นความสำคัญของการประกันภัยว่าเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง และทำประกันภัยให้มากขึ้น เพื่อแบ่งเบาภาระทางการเงิน ไม่ก่อให้เกิดปัญหาขาดสภาพคล่องเมื่อเกิดความเสียหายขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้ กรมธรรม์ประกันภัย ที่ให้ความคุ้มครองภัยธรรมชาติ และครอบคลุมความเสียหายในทรัพย์สินของประชาชน รวมถึงผู้ประกอบการ สามารถแยกประเภท ดังนี้

1. สำหรับบ้านที่อยู่อาศัย ประชาชนควรซื้อ “กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยและภัยพิบัติสำหรับที่อยู่อาศัย” ซึ่งจะให้ความคุ้มครองแยกออกเป็น 2 ส่วน คือ

1.1 ความเสียหายจาก 6 ภัย ได้แก่ ไฟไหม้ ฟ้าผ่า การระเบิดทุกชนิด ภัยเนื่องจากน้ำ ภัยจากอากาศยาน และภัยที่เกิดจากการเฉี่ยวชนของยานพาหนะ

1.2 ความเสียหายจากภัยพิบัติ 3 ภัย ได้แก่ ลมพายุ แผ่นดินไหว และน้ำท่วม

อย่างไรก็ตาม หากประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยธรรมชาติต้องการซื้อความคุ้มครองภัยธรรมชาติ ที่อาจเกิดขึ้น แต่ความรุนแรงไม่ถึงขั้นเป็นภัยพิบัติ ก็สามารถซื้อความคุ้มครองเพิ่มเติมได้เช่นกัน

2. สำหรับธุรกิจ SME และภาคอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการควรเลือกซื้อกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย หรือกรมธรรม์ประกันความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (IAR) และกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติในเบื้องต้นก่อน เพื่อให้ความคุ้มครองครอบคลุม ตัวอาคาร หรือโรงงาน รวมถึงทรัพย์สินภายในอาคาร เช่น เครื่องจักร เฟอร์นิเจอร์ สต๊อกสินค้า เป็นต้น แล้วจึงเลือกซื้อกรมธรรม์ประกันภัยอื่นเพิ่มเติม เช่น การประกันภัยโจรกรรม หรือกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก (Business Interruption) สำหรับผู้ประกอบการ

เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนตัดสินใจซื้อกรมธรรม์ประกันภัย ประชาชนและผู้ประกอบการ ควรศึกษาเงื่อนไขความคุ้มครอง และรายละเอียดของข้อยกเว้นให้เข้าใจเสียก่อน เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและตรงกับความต้องการได้มากที่สุด หากมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนประกันภัย 1186

ที่มา: http://www.oic.or.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ