คปภ. จับมือ สปสช. ลงนาม MOU เชื่อมระบบ E-Claim ร่วมดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน 3 กองทุนเมื่อประสบภัยจากรถ

ข่าวทั่วไป Wednesday May 27, 2015 13:40 —คปภ.

การพัฒนาความร่วมมือระหว่างสำนักงาน คปภ. และ สปสช. ก้าวหน้าขึ้นไปอีกระดับ โดยมีการ ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เชื่อมระบบสารสนเทศผ่านระบบสินไหมอัตโนมัติ (E-Claim) สนับสนุนการดูแลผู้ประสบภัยจากรถกรณีการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ช่วยให้ สปสช. สามารถทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลาง ในการจัดการธุรกรรมการเบิกจ่ายค่ารักษาเจ็บป่วยฉุกเฉินและระบบข้อมูลต่างๆ (Clearing House) ในระบบการประกันสุขภาพได้ดียิ่งขึ้น

นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ในวันนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ตกลงทำบันทึกความร่วมมือในการเชื่อมข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์สารสนเทศของระบบสินไหมอัตโนมัติ หรือระบบ E-Claim ระหว่างกัน ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะใช้ในรักษาสิทธิของประชาชนเมื่อประสบภัยจากรถ ให้สามารถใช้สิทธิได้ทั่วถึงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการใช้ข้อมูลระหว่างกันจะเป็นไปด้วยความระมัดระวัง และไม่ละเมิดสิทธิของประชาชน รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง ทุกฝ่าย ทั้งนี้ การตกลงความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี เป็นความก้าวหน้าที่จะทำให้เกิดความร่วมมือในการดูแลประชาชนในด้านต่างๆที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต

สำหรับ ระบบสินไหมทดแทนอัตโนมัติ หรือระบบ E-Claim สำหรับการประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับนั้น มีการพัฒนามาตั้งแต่ปี 2550 เป็นการริเริ่มร่วมกันของ 10 หน่วยงานได้แก่ สำนักงาน คปภ. กรมการแพทย์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สำนักการแพทย์กรุงเทพมหานคร สมาคมโรงพยาบาลเอกชน สมาคมประกันวินาศภัยไทย บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด โรงพยาบาลศรีนครินทร์ โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ และโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โดยมีข้อตกลงร่วมกันที่จะพัฒนาระบบการเรียกร้องค่ารักษาพยาบาล การจ่ายสินไหมทดแทนตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถโดยผู้ประสบภัยไม่ต้องสำรองค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ปัจจุบัน ระบบสินไหมทดแทนอัตโนมัติ หรือระบบ E-Claim ได้มีการพัฒนาระบบให้มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น มีโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนใช้ระบบสินไหมทดแทนอัตโนมัติ หรือระบบ E-Claim ในการเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลผู้ประสบภัยจากรถผ่านไปยังบริษัทประกันภัยหรือกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย เป็นจำนวนกว่าร้อยละ 90 ของโรงพยาบาลที่มีศักยภาพในการดูแลผู้ประสบภัยจากรถ

ที่มา: http://www.oic.or.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ