คปภ. ยกทัพลงพื้นที่เมืองย่าโม เปิดโครงการ “ขับขี่ปลอดภัย อุ่นใจไปกับ พ.ร.บ.” จัดคาราวานรณรงค์และสร้างความรู้ความเข้าใจตามกรมธรรม์ประกันภัยรถ พ.ร.บ. ให้ชาวนครราชสีมา

ข่าวทั่วไป Wednesday December 30, 2020 15:01 —คปภ.

คปภ. ยกทัพลงพื้นที่เมืองย่าโม เปิดโครงการ ?ขับขี่ปลอดภัย อุ่นใจไปกับ พ.ร.บ.? ? จัดคาราวานรณรงค์และสร้างความรู้ความเข้าใจตามกรมธรรม์ประกันภัยรถ พ.ร.บ. ให้ชาวนครราชสีมา พร้อมขับเคลื่อน ?ปากช่องโมเดล? เป็นต้นแบบกิจกรรมรณรงค์เพื่อให้เจ้าของรถ ตระหนักและเห็นความสำคัญของการจัดทำประกันภัยรถ

เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ ?ขับขี่ปลอดภัย อุ่นใจไปกับ พ.ร.บ.? ณ มูลนิธิสว่างวิชชาธรรมสถาน อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เพื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์และสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการประกันภัยรถตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2551 หรือ ประกันภัย พ.ร.บ. รวมถึงบทบาทหน้าที่และภารกิจของกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย โดยมีนายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ให้เกียรติกล่าวต้อนรับ พร้อมด้วยผู้บริหาร สำนักงาน คปภ. หัวหน้าส่วนภาครัฐ ผู้บริหารกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย ผู้บริหารกองทุนประกันชีวิต กองทุนประกันวินาศภัย บริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันภัย นายหน้าประกันภัย และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมงานกว่า 300 คน

เลขาธิการ คปภ. เปิดเผยว่า จากข้อมูลที่ได้รับรายงานทำให้ทราบว่า จังหวัดนครราชสีมา มีจำนวนรถที่จดทะเบียนสะสมกว่า 1.42 ล้านคัน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2563) ในขณะที่รถที่ทำประกันภัย พ.ร.บ. มีเพียง 0.76 ล้านคัน หรือประมาณ 53.52 % โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ที่มีการจดทะเบียนสะสมกว่า 0.73 ล้านคัน แต่มีรถที่จัดให้มีการประกันภัย พ.ร.บ. มีเพียง 0.41 ล้านคัน หรือประมาณ 56.16 % ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ายังมีรถที่อยู่นอกระบบการประกันภัย พ.ร.บ. และมีเจ้าของรถอีกจำนวนมากที่ยังไม่เข้าใจและไม่เห็นความสำคัญของการมีประกันภัย พ.ร.บ. หรือการประกันภัยรถภาคบังคับ ดังนั้น เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนรณรงค์ส่งเสริมการจัดทำประกันภัยรถตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2551 อย่างเป็นรูปธรรม และเพื่อรณรงค์ส่งเสริมให้เจ้าของรถได้รับทราบถึงประโยชน์การจัดทำประกันภัย พ.ร.บ. สำนักงาน คปภ. จึงได้จัดให้มีกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมการจัดทำประกันภัย พ.ร.บ. ผ่านโครงการ ?ขับขี่ปลอดภัย อุ่นใจไปกับ พ.ร.บ.? โดยมีกิจกรรมการเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในหัวข้อเรื่อง ?ประโยชน์ของการประกันภัย พ.ร.บ. และบทบาทหน้าที่ของกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย? พร้อมปล่อยขบวนคาราวานรถจักรยานยนต์กว่า 100 คัน และจัดกิจกรรมการออกบูธประชาสัมพันธ์ของกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย และหน่วยงานเครือข่าย ประกอบด้วย กองทุนประกันชีวิต กองทุนประกันวินาศภัย สมาคมตัวแทนและที่ปรึกษาทางการเงินจังหวัดนครราชสีมา ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขานครราชสีมา บริษัทประกันภัย และนายหน้าประกันภัย พร้อมรับฟังสภาพปัญหา รวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของประชาชนและภาคธุรกิจประกันภัยในพื้นที่ เพื่อศึกษาแนวทางและนำไปปรับปรุงการรณรงค์ส่งเสริมการทำประกันภัยรถตาม พ.ร.บ.ฯ ให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนผู้เป็นเจ้าของรถ รวมถึงให้คำแนะนำปรึกษาด้านการประกันภัยกับ ?คลินิกกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย? และการจัดมินิคอนเสิร์ตและกิจกรรมสันทนาการเล่นเกมแจกของรางวัลต่าง ๆ อีกมากมาย

เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการจัดกิจกรรมรณรงค์และประชาสัมพันธ์ในวันนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากสำนักงาน คปภ. ภาค 4 (นครราชสีมา) ได้จัดทำโครงการ ?ปากช่องโมเดล? เพื่อสำรวจข้อมูลและความคิดเห็นของประชาชนชาวอำเภอปากช่อง เกี่ยวกับปัญหาและสาเหตุของการไม่จัดทำประกันภัย พ.ร.บ. โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ ซึ่งพบว่า ปัญหาเกิดจากการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ด้านการประกันภัย พ.ร.บ. ยังไม่ทั่วถึง และประชาชนยังรับทราบข้อมูลไม่เพียงพอ ดังนั้น สำนักงาน คปภ. จึงได้เลือกอำเภอปากช่องเป็นพื้นที่ในการจัดกิจกรรมรณรงค์และประชาสัมพันธ์ ?ขับขี่ปลอดภัย อุ่นใจไปกับ พ.ร.บ.? เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการรณรงค์ส่งเสริมประชาสัมพันธ์อย่างเป็นรูปธรรม และได้กำหนดจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ ครั้งต่อไป ในวันที่ 23 ? 24 ธันวาคม 2563 ณ จังหวัดพิษณุโลก

นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. ยังมีภารกิจที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การคุ้มครองดูแลผู้ประสบภัยจากรถ ให้ได้รับการช่วยเหลือและเยียวยาจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย กรณีประสบภัยจากรถที่ไม่มีการจัดทำประกันภัย พ.ร.บ. หรือกรณีที่รถมีการประกันภัย พ.ร.บ. แต่ไม่อาจใช้สิทธิได้ ผ่านการจ่ายเงินค่าเสียหายเบื้องต้น ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยลดภาระทางการเงินแก่ผู้ประสบภัยจากรถแล้ว ยังลดภาระหรือก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้เกี่ยวข้องทั้งระบบ ตั้งแต่ครอบครัวผู้ประสบภัย ผู้ขับขี่และครอบครัว สถานพยาบาล หรือแม้แต่นายจ้างหรือเจ้าหนี้ของผู้ประสบภัย ซึ่งท้ายที่สุดจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยรวม ทั้งในเชิงลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจและลดปัญหาสังคมที่อาจเกิดขึ้นจากการที่ผู้ประสบภัยจากรถไม่ได้รับการเยียวยาได้อย่างเหมาะสมและรวดเร็ว โดยวงเงินค่าเสียหายเบื้องต้น แบ่งออกเป็น กรณีบาดเจ็บ จะได้รับค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริง ไม่เกิน 30,000 บาท หรือกรณีเสียชีวิตหรือสูญเสียอวัยะหรือทุพพลภาพถาวรตามกำหนดไว้ จะได้รับเงินชดเชย จำนวน 35,000 บาท และหากกรณีได้รับบาดเจ็บและต่อมาสูญเสียอวัยวะหรือทุพพลภาพถาวรหรือเสียชีวิต จะได้รับเงินชดเชยสูงสุดไม่เกิน 65,000 บาท แต่อย่างไรก็ตามเมื่อกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย ได้จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้กับผู้ประสบภัยจากรถแล้ว อีกหน้าที่หนึ่งของกองทุนที่ต้องดำเนินการ คือ การไล่เบี้ยเรียกคืนค่าเสียหายเบื้องต้นพร้อมเงินเพิ่มร้อยละ 20 จากเจ้าของรถที่ฝ่าฝืนไม่จัดให้มีการประกันภัย พ.ร.บ. นอกจากนี้เจ้าของที่ฝ่าฝืนไม่ทำประกันภัย พ.ร.บ. จะมีความผิดตามกฎหมาย มีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท และผู้ที่ใช้รถคันที่ไม่ทำประกันภัย พ.ร.บ. จะมีความผิดตามกฎหมาย มีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท เช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2551 มีเจตนารมณ์เพื่อให้ผู้ประสบภัยจากรถทุกคนได้รับการช่วยเหลือเยียวยาได้อย่างทันท่วงที และเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงให้กับประชาชนผู้ใช้รถได้อย่างเหมาะสม ดังนั้น สำนักงาน คปภ. จึงได้มีการปรับเพิ่มวงเงินความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ. ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 ในส่วนของกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง ปรับความคุ้มครองสูงสุด จากเดิม 300,000 บาท เป็น 500,000 บาท กรณีสูญเสียอวัยวะ จากเดิม 200,000 - 300,000 บาท เป็น 200,000 ? 500,000 บาท

ด้านนายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวด้วยว่า ขอขอบคุณสำนักงาน คปภ. ที่คัดเลือกจังหวัดนครราชสีมาเป็นพื้นที่ในการจัดกิจกรรมโครงการ ?ขับขี่ปลอดภัย อุ่นใจไปกับ พ.ร.บ.? ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นโครงการที่สร้างความรู้ความเข้าใจ ความตระหนักให้พี่น้องประชาชนผู้เป็นเจ้าของรถ โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ ได้รับทราบถึงสิทธิ หน้าที่ และความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2551 รวมถึงบทบาทหน้าที่ของกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย เพื่อนำไปใช้บริหารความเสี่ยงในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสม ถูกต้อง และเป็นธรรม

?สำนักงาน คปภ. มีความห่วงใยประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะใกล้ถึงช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 ซึ่งจะมีประชาชนเดินทางท่องเที่ยวและกลับภูมิลำเนาเป็นจำนวนมาก ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนบ่อยครั้ง จึงขอฝากมายังประชาชนควรใช้ความระมัดระวังในการใช้รถใช้ถนน โดยเฉพาะเส้นทางการจราจรที่ไม่คุ้นเคย และหมั่นตรวจสอบสภาพรถยนต์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น และที่สำคัญอย่าลืมตรวจวันหมดอายุกรมธรรม์ประกันภัยรถภาคบังคับ (ประกันภัย พ.ร.บ.) ตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งควรทำกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจและกรมธรรม์ประกันภัยอื่น ๆ ด้วย เพื่อที่ระบบประกันภัยจะได้เข้ามาช่วยบริหารความเสี่ยงและเยียวยาความสูญเสียต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ หากต้องการสอบถามข้อมูลประกันภัยเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่สายด่วน คปภ. 1186? เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

ที่มา: http://www.oic.or.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ