ข่าวการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ของ บริษัท สัมพันธ์ประกันภัย จำกัด

ข่าวทั่วไป Wednesday March 25, 2009 16:06 —คปภ.

ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มีคำสั่ง ให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของ บริษัท สัมพันธ์ประกันภัย จำกัด ตามคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 380/2552 ลงวันที่ 23 มีนาคม 2552 เรื่อง เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัท สัมพันธ์ประกันภัย จำกัด นั้น

สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ขอสรุปข้อเท็จจริง ดังนี้

1. บริษัท สัมพันธ์ประกันภัย จำกัด ประสบปัญหามีฐานะการเงินไม่มั่นคง มีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สินจำนวนเงิน 748.15 ล้านบาท มีค่าสินไหมทดแทนค้างจ่ายที่มาร้องเรียนต่อสำนักงาน คปภ. เป็นจำนวน 16,585 ราย เป็นเงิน 701.41 ล้านบาท และมีการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกัน วินาศภัย พ.ศ. 2535

สำนักงาน คปภ. ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย และได้ให้เวลาบริษัทแก้ไขฐานะการเงินมาเป็นเวลานาน 1 ปี 8 เดือน นับตั้งแต่สั่งให้หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2550 เป็นต้นมา แต่บริษัทก็ไม่สามารถแก้ไขฐานะการเงินได้ เพียงแต่ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนไปเป็นจำนวน 1,757 ราย เป็นเงิน 12.78 ล้านบาท รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจึงใช้อำนาจ ตามมาตรา 59 สั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัท สัมพันธ์ประกันภัย จำกัด

2. มาตรการในการคุ้มครองประชาชนตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 และแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2551 ได้กำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนประกันวินาศภัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือเจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัย ในกรณีที่บริษัทถูกเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งกองทุนประกันวินาศภัยจะได้ดำเนินการเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับเงินจากมูลหนี้ที่เกิดจากสัญญาประกันภัยของบริษัท สัมพันธ์ประกันภัย จำกัด

3. การเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัท สัมพันธ์ประกันภัย จำกัด ในครั้งนี้ มิใช่เป็นผลสืบเนื่องมาจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในรอบนี้ แต่เกิดจากการบริหารงานภายในของบริษัทที่บริษัทไม่สามารถแก้ไขปัญหาฐานะการเงินที่เกิดขึ้น รวมทั้งไม่สามารถหาผู้ร่วมทุนรายใหม่เพื่อนำเงินมาชำระหนี้สินที่มีต่อผู้เอาประกันภัย และเจ้าหนี้อื่นๆ ของบริษัทได้ และจะไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจประกันวินาศภัย โดยรวมแต่อย่างใด ซึ่งสำนักงาน คปภ.คาดว่าเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงของธุรกิจประกันวินาศภัยในปีนี้จะขยายตัวในอัตราร้อยละ 5.6 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2551 ซึ่งมีการขยายตัวร้อยละ 5.3

4. สำนักงาน คปภ.ได้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและวิธีการในการกำกับบริษัทประกันภัย แนวใหม่ โดยมุ่งเน้นในการป้องกันไว้ล่วงหน้า เพื่อไม่ให้บริษัทมีเงินกองทุนต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยใช้ระบบสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้าในการกำกับบริษัท เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาก่อนที่จะลุกลามเป็นปัญหาใหญ่ได้ นอกจากนี้ ยังกำหนดให้บริษัทต้องมีทรัพย์สินที่มีคุณภาพเพียงพอต่อภาระหนี้สินของผู้เอาประกันภัย การบริหารความเสี่ยง ระบบธรรมาภิบาล และเปิดเผยข้อมูลฐานะการเงินต่อสาธารณะ

5. สำหรับผู้เป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยของบริษัท สัมพันธ์ประกันภัย จำกัด ให้ยื่นขอรับชำระหนี้ต่อผู้ชำระบัญชี และกองทุนประกันวินาศภัย ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2552 โดยให้นำเอกสารต้นฉบับพร้อมทั้งสำเนาเอกสาร จำนวน 2 ชุด ประกอบการยื่นด้วย ดังนี้ กรมธรรม์ประกันภัย บัตรประจำตัวประชาชน ใบเคลม ใบนัดชำระหนี้ หรือเอกสารอื่นใดที่แสดงถึงมูลหนี้ หนังสือรับรองการ จดทะเบียนนิติบุคคล (กรณีเป็นนิติบุคคล) หากไม่สามารถมายื่นได้ด้วยตนเองจะต้องมีหนังสือมอบอำนาจ พร้อมกับสำเนาบัตรประชาชนผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ ยื่นต่อผู้ชำระบัญชีของบริษัท สัมพันธ์ประกันภัย จำกัด ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2552 ได้ตามสถานที่ดังต่อไปนี้

5.1 ส่วนกลาง ยื่นได้ 3 แห่ง ดังนี้

(1) สำนักงาน คปภ. เลขที่ 44/100 ถนนนนทบุรี 1 ตำบลบางกระสอ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 11000

(2) สำนักงาน คปภ.เขต 1 เลขที่ 8/8 ซอยวิภาวดี 44 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900

(3) สำนักงาน คปภ.เขต 2 เลขที่ 287 ซอยรัชดาภิเษก 6 ถนนรัชดาภิเษก ท่าพระ แขวงบุคคโล เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร 10600

5.2 ต่างจังหวัด ยื่นที่ สำนักงาน คปภ. ภาค และสำนักงาน คปภ. จังหวัดทั่วประเทศ (ยกเว้นจังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดลำพูน จังหวัดแม่ฮ่องสอน และ จังหวัดนนทบุรี)

6. สำหรับเจ้าหนี้อื่นที่ไม่ใช่เจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัย ให้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อ ผู้ชำระบัญชี ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2552 ณ สถานที่ตามข้อ 5 ข้างต้น พร้อมทั้งนำเอกสารแสดงความเป็นเจ้าหนี้ ต้นฉบับพร้อมทั้งสำเนาเอกสาร จำนวน 1 ชุด ประกอบการขอยื่นชำระหนี้ ดังนี้ หลักฐานแสดงถึงมูลหนี้ บัตรประจำตัวประชาชน หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล (กรณีเป็นนิติบุคคล) หากไม่สามารถมายื่นได้ด้วยตนเองจะต้องมี หนังสือมอบอำนาจ พร้อมกับสำเนาบัตรประชาชนผู้มอบอำนาจ และผู้รับมอบอำนาจ

หากมีปัญหาหรือข้อสงสัย ขอให้ติดต่อสอบถามและขอความช่วยเหลือได้ที่ สายด่วนประกันภัย 1186

ที่มา: http://www.oic.or.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ